กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล => ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: ธรรมะรักโข ที่ 04 ม.ค. 2553, 10:53:48

หัวข้อ: ปฏิจจสมุปบาท...หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ธรรมะรักโข ที่ 04 ม.ค. 2553, 10:53:48
(http://img85.imageshack.us/img85/158/normal1x.jpg)

ปฏิ จ จ ส มุ ป บ า ท
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (พันธ์ อินทผิว)

ปฏิจจสมุปบาท
(“การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน”)
 

เมื่อไม่มี อวิชชา (การไม่รู้)
สายโซ่ซึ่งยังให้เกิดทุกข์ก็ขาดสะบั้นลง
เพราะการรู้เข้าไปแทนที่

เธออาจจะเคยได้ยินมาว่า

พระพุทธเจ้าทรงตัดผมของพระองค์เพียงครั้งเดียว
และผมของพระองค์ก็ไม่ขึ้นมาอีกเลย

ข้อนี้เป็นปริศนาธรรม

เมื่อผมถูกตัดออกไป
มันไม่อาจจะกลับมาติดได้ดั่งเดิม

ข้อนี้ฉันใด การตัดอวิชชาออกไปอย่างเด็ดขาด
โดยที่มันไม่อาจจะหวนกลับมาได้อีก ก็เป็นฉันนั้น

นี้กฏตายตัวของธรรมชาติ
ดุจดั่งเชือกที่ขึงตึงไว้กับเสาสองต้น
เมื่อเราตัดให้ขาดออกจากกันที่ตรงกลาง
ก็ไม่อาจกลับมาผูกติดกันได้อีก

เมื่อเราเห็นมาถึงจุดนี้เราจะรู้ว่า
ภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในคน

แล้วทำไมมันจึงกลายเป็นเรื่องที่ยากเย็น
มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย
มันเป็นสิ่งที่ทั้งยากและง่าย


ขอขอบคุณที่มา...บางตอนจาก : “แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว"
( โดย หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ, หน้า ๓๓)
หัวข้อ: ตอบ: ปฏิจจสมุปบาท...หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: รวี สัจจะ... ที่ 04 ม.ค. 2553, 03:09:20
ขยายความเรื่องปฏิจจสมุปบาท....
     เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว พระองค์ทรงใคร่ครวญธรรมเรื่อง"ปฏิจจสมุปบาทเป็นเวลานาน
ตามที่พระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ โพธิกถา ได้เล่าถึงเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ไว้ดังนี้
" สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อแรกตรัสรู้ ได้ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
เขตตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข อยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
เป็นเวลา ๗ วัน ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลมตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม
และปัจฉิมยามแห่งราตรี"
    ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เพราะอวิชาเป็นปัจจัย       สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย      วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย    นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย      สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย  ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย        เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย       ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย       อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย    ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย          ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย         ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปยาสจึงมี
    กองทุกข์ทั้งมวลเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
        ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ   สังขารจึงดับไป
เพราะสังขารดับไป       วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับไป    นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับไป      สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับไป  ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับไป       เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับไป      ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับไป      อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับไป   ภพจึงดับ
เพราะภพดับไป         ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับไป        ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปยาสจึงดับ
     กองทุกข์ทั้งมวลมีการดับด้วยอาการอย่างนี้ (วิ.ม.๑/๑-๓)
องค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทแต่ละประการนั้น ต่างก็เป็นเหตุและปัจจัยส่งผลต่อเนื่องกัน เป็นห่วงโซ่ของเหตุและผล
ต่อเนื่องกันไปเป็นทอดๆอำนาจของปฏิจจสมุปบาทในฝ่ายที่เกิดมีผลให้เกิดสังสารวัฏเป็นทุกขสัจ ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน
เป็นวงกลม ยากที่จะสลัดให้หลุดพ้นออกมาได้ยาก ซึ่งการที่จะหลุดพ้นออกจากอำนาจของปฏิจจสมุปบาทได้นั้น
เราต้องกำหนดรู้ทุกข์จนเห็นสมุทัยสัจ กำหนดรู้สมุทัยจนละสมุทัยได้ และทำให้เห็นแจ้งในนิโรธสัจ ส่วนปฏิจจสมุปบาทในฝ่ายดับ
ต้องใช้มรรคสัจ คืออริยมรรคองค์๘ จนเกิดผลเป็นนิโรธคือความดับทุกข์ขึ้น ทั้งหมดจึงเป็นของยาก เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก
และทำให้หลุดพ้นได้ยาก...
                       ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                          รวี สัจจะ-สมณะชายขอบ
๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๐๙ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย