ผู้เขียน หัวข้อ: รอยเท้าแฝงธรรมะของหลวงพ่อเดิมเทพเจ้าแห่งหนองโพ  (อ่าน 3458 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ ประเทศไทยต้องถูกญี่ปุ่นเข้ายึดไว้เป็นทางผ่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้สัมพันธมิตรประกาศสงครามกับไทยไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ ลำพังประกาศสงครามธรรมดาคงไม่เป็นไร แต่นี่เล่นแห่กันเอาระเบิดมาทำลาย มาถล่มใส่ที่มั่นของฝ่ายญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างหนัก ผลของการทิ้งระเบิดทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยพินาศไปไม่น้อย ผู้คนต่างก็หวาดกลัวภัยสงครามกันแทบเป็นบ้า ข้าวยากหมากแพงอดอยากกันทั่วหน้า
ประชาชนชาวนครสวรรค์และใกล้เคียงต่างก็พากันเสาะหาของขลังติดบ้าน ติดตัว กลัวภัยระเบิด ที่มีสตางค์ก็ไปบูชาวัตถุมงคลมาไว้เป็นกำลังใจ โดยเฉพาะวัดหนองโพนั้น วันหนึ่ง ๆ คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาเช่าแหวน รูปหล่อ เหรียญ มีด พระงาแกะ สิงห์งาแกะกันเป็นจ้าละหวั่น คนที่ไม่มีเงินก็ได้แต่หน้าเศร้าเพราะกรรมการวัดเขาสร้างวัตถุมงคลต้องลงทุนด้วยเงิน เขาก็ให้เช่าบูชา ส่วนที่เกินทุนออกมา หลวงพ่อเดิมท่านก็เอาไปสร้างโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญตามวัดต่าง ๆ ให้เจริญยิ่งขึ้น
จะเป็นใครเป็นผู้ริเริ่มนั้นยืนยันไม่ได้ แต่ปรากฏว่ามีผู้นำเอาผ้าขาวมาให้หลวงพ่อเดิมเหยียบรอยเท้า สีที่ใช้ก็คือ ความลงผสมน้ำนี่เอง เอามาทาฝ่าเท้าหลวงพ่อเดิมแล้วให้ท่านเหยียบ
การเหยียบตอนแรกเหยียบกับกระดาษเปล่า ติดชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ก็ว่ากันไปตามสะดวก ต่อมามีผู้ไปเกิดประสบการณ์ต่าง ๆ เช่น ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า ตีไม่แตก บางทีก็เอาไปโบกไล่เครื่องบินให้วนไปที่อื่น หรือโบกปัดระเบิด บางบ้านรอบ ๆ บ้านพินาศยับเยินด้วยแรงระเบิดทำลาย แต่บ้านที่มีรอยเท้าหลวงพ่อเดิมกลับปลอดภัย ไม่มีกระเบื้องแตกสักแผ่น เล่าลือกันหนักเข้า หลวงพ่อเดิมก็ต้องนั่งประทับรอยเท้าจนขาเมื่อย
ทางวัดได้จัดบริการแบบใหม่คือ หาหมอนมารองเป็นที่ประทับรอยเท้าหลวงพ่อเดิม เมื่อเอาครามทาฝ่าเท้าหลวงพ่อเดิมแล้ว ก็วางผ้าขาวลงไปบนหมอน แล้วหลวงพ่อเดิมท่านก็ประทับรอยเท้าลงไป ปรากฏว่าไม่ต้องออกแรงมาก ลายเท้าติดชัดเจนเรียบร้อย
วันหนึ่ง หลวงพ่อห้อยเท้าเหยียบรอยเท้าเป็นชั่วโมง ๆ จนศิษย์สงสาร พากันอุ้มหลวงพ่อเดิมหนีเข้ากุฏิไป หลวงพ่อเดิมท่านก็ร้องว่า อย่าเลย ๆ เขาต้องการพบฉัน อย่าให้เขาเสียศรัทธา พอศิษย์วางลงผู้คนก็ฮือกันเข้าไปใหม่ เล่นกันเหงื่อไหลไคลย้อย
หลวงพ่อน้อย (ท่านพระครูนิพันธ์ธรรมคุต) อดีตเจ้าอาวาสหนองโพ เคยขอเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิม ท่านไม่ขัดข้อง แต่ท่านได้ให้คติไว้ข้อหนึ่งว่า
“อยากได้วิชา ฉันไม่หวง แต่เมื่อเป็นแล้วละก็ จะมานึกถึงตัวภายหลังจะได้ไม่มาว่ากัน ว่าไม่บอกเสียก่อน”
เมื่อหมดผู้คนที่มาหลวงพ่อเดิม เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพ จึงปรารภเป็นทำนองขบขันกับศิษย์ว่า
“มันทำเหมือนฉันเป็นหนูถีบจักร เหนื่อยเหลือเกิน”
ปู่โคน อินยิ้ม อดีตมัคทายกวัดหนองโพได้กล่าวถึงการเหยียบรอยเท้าหลวงพ่อเดิม ท่านเหยียบรอยเท้าต้องยกเท้าขึ้นลงอย่างนั้นว่า
“หลวงพ่อท่านบอกเป็นปริศนาว่าฉันใช้กรรมเขาให้หมด กรรมที่ฉันตกปลอกช้างที่จับเอามาช่วยงานไงละ มันไปไหนไม่ได้ ก็ยกขาขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อให้หายเหนื่อย ฉันก็เลยผ่อนใช้กรรมเขาไป”
เมื่อหลวงพ่อเดิมท่านประทับรอยเท้าครั้งหนึ่งก็จะเอามือสองข้างกดที่หัวเข่าแล้วเป่าเพี้ยงลงไปพ้วงหนึ่ง ทุกครั้งเป็นการกำกับ และเมื่อท่านไปเหยียบรอยเท้าครั้งใหญ่ที่ค่ายจิรประวัติ มณฑลทหารบกจังหวัดนครสวรรค์ ท่านเคยใช้นะปัดตลอดเหยียบรอยเท้าทะลุ ครั้งละ ๑๐ ผืน เพื่อให้ทันกับเวลาและจำนวนทหาร ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เพราะหลวงพ่อเดิมท่านไม่อาจเลี่ยงได้ เพราะท่านไม่คาดว่าเขาจะให้ท่านเหยียบมากมายขนาดนั้น
ครามที่ใช้ผสมน้ำนั้นมีหลายสี สีน้ำเงินแก่ก็มี น้ำเงินอมฟ้าก็มี น้ำเงินอมดำก็มี และที่ออกม่วงก็เคยพบ แต่ที่เหมือนกันก็คือ ถ้าถูกน้ำแล้วจะละลาย เพราะครามกลัวน้ำเป็นอย่างยิ่ง สีจะซีดจางหรือไม่ อยู่ที่การรักษาสภาพไม่ให้ถูกความชื้น ถูกแดดหรือถูกเหงื่อจนชุ่ม นั่นคือผ้ารอยเท้าของเทพเจ้าแห่งวัดหนองโพ
อาตมาเรียนถามหลวงพ่อเดิมเรื่องรอยเท้าของท่านว่า
“ที่หลวงพ่อเหยียบรอยเท้าให้เขาไปนั้น มันดีอย่างไรครับ บอกให้กระผมได้ตาสว่างสักครั้งหนึ่งเถิดขอรับ”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพมองดูหน้าอาตมาก่อนจะกล่าวตอบด้วยน้ำเสียงอันดังกังวานว่า
“เอ้อ ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย หูดีก็ได้ หูร้ายก็เสีย”
อาตมาถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก เพราะหลวงพ่อเดิมท่านตอบไม่ตรงคำถาม จึงรุกเข้าไปถามใหม่
“ไม่ใช่อย่างนั้นหลวงพ่อครับ กระผมต้องการรู้ว่าที่เขาเอาไปใช้กันน่ะดีทางไหนกันแน่ ถึงได้มาขอกันจนเหยียบไม่ได้หยุด”
“เอ้องั้นเรอะ ฟังนะ เขาว่าดีเอาไปโพกหัวแล้วยิงไม่ออก โพกหัวแล้วตีไม่แตก นั่นว่ากันอย่างนั้น ฉันไม่ได้ว่านะ เขาว่ากันไปเองแหละ”
“อ้าวแล้วอย่างนั้นหลวงพ่อให้เขาเอาไปทำไมกันล่ะครับ ถ้าหลวงพ่อไม่ได้ว่าดี เขาว่ากันเองล่ะก็”
“เรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับฉันนี่คุณ ธรรมะของฉันที่ฉันฝากไว้ในรอยเท้ามันไม่ใช่อย่างที่เขาเล่าลือกัน”
“ธรรมะอะไรกันครับหลวงพ่อ ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจหน่อย ผมงงไปหมดแล้ว”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพนิ่งสักครู่ เหมือนจะรวบรวมจิตแสดงธรรมให้อาตมา ซึ่งเป็นภิกษุหนุ่มฟัง อาตมาก็นิ่งคอยฟัง หลวงพ่อเดิมได้เผยธรรมะในรอยเท้าของท่านอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งอาตมาเชื่อแน่ว่าผู้ที่มีรอยเท้าของท่านคงไม่มีโอกาสรู้ เพราะมัวแต่ไปคิดว่ามหาอุด คงกระพัน กันลูกปืนเสียเป็นส่วนใหญ่ หลวงพ่อเดิมท่านว่าอย่างนี้
“รอยเท้าของฉันเหยียบไว้เป็นที่ระลึกว่า ฉันคือหลวงพ่อเดิม ที่ในหลวงท่านพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ หมายถึงว่า เป็นที่ตั้งแห่งธรรมทั้งปวง ฉันปฏิบัติในกรอบแห่งความดี ฉันไม่เบียดเบียน ฉันสร้างความเจริญในถิ่นกันดาร ฉันทำดีเพื่อให้พระศาสนารุ่งเรือง เมื่อได้รอยเท้าของฉันไปแล้วก็จงระลึกว่า หลวงพ่อเดิมท่านทำดี เราควรทำความดีเจริญรอยตามรอยเท้าของท่านไปเป็นคนดี คิดดี ทำดี อยู่แต่ในศีลธรรมอันดีงาม นั่นแหละรอยเท้าของฉันจึงจะขลัง ไม่ใช่เอาไปโพกหัวแล้วยิงไม่ออก แต่ไม่เคยมีใครถามฉันสักราย เห็นแต่เอารอยเท้าไปติดตัวแล้วหายเงียบไป”
อาตมาได้ฟังจบลงแล้วน้ำตาคลอ มันซาบซึ้งใจจริง ๆ ตั้งแต่บวชมาจนคิดจะสึกก็เพิ่งพบหลวงพ่อเดิมนี่แหละที่ท่านมีปรัชญาอันซาบซึ้งใจของอาตมา อาตมากล้าพูดได้ว่า หกเดือนที่อยู่วัดหนองโพ ทำให้อาตมาเป็นพระเต็มตัว ความคิดสึกหมดไป เพราะเห็นแล้วว่าพระที่ดีอย่างหลวงพ่อยังมี พระที่ไม่ดีที่เราเคยเห็นมานั้นเทียบกับท่านไม่ได้ เหมือนเพชรกับแก้วที่ไม่อาจมาเคียงคู่กันได้เลย
หลวงพ่อเดิมยังให้แง่คิดกับอาตมาอีกอย่างหนึ่งในวาระนั้นว่า
“คุณฟังฉันให้ดี ๆ นะ คนที่มาวัดนั้นร้อยละแปดสิบเป็นพวกคนโง่ จ้องจะมาเอาแต่ของขลัง เพราะเขายังห่างธรรมะ ร้อยละยี่สิบเข้ามาหาธรรมะมาสนทนาธรรมกับฉัน มีเพียงไม่กี่คนที่ถามฉันเหมือนที่คุณถามฉัน ก็จะบอกกับเขาว่า
“เอารอยเท้าฉันไปนะ ฉันเป็นอุปัชฌาย์ของเธอ ฉันเป็นพระที่เธอนับถือ ฉันไม่เก่งอะไรหรอก แต่ฉันสร้างความดี เธอจงเอารอยเท้าฉันไปดูให้ติดตา แล้วทำความดีตามรอยเท้าฉัน แล้วจะประสบความสุขความเจริญทั่วหน้า”
หลวงพ่อเดิมท่านสอนเรื่องการบวชโดยกล่าวกับอาตมาว่า
“นี่แน่ะคุณ คุณลองนึกย้อนกลับไปดูซิว่า ก่อนที่คุณจะกล่าวคำขอบวชน่ะ ต้องพากเพียรท่องขานนาคขนาดไหน ต้องสวมเสื้อครุยแบบเนติบัณฑิตขลิบทองสวยงาม เข้าขบวนแห่ พ่อแม่ญาติพี่น้องก็ดีใจกันใหญ่ว่า เออ ลูกหลานเราได้บวชแล้ว จะได้เป็นบัณฑิตสมกับที่ได้ตั้งใจนำตัวเข้าอุปสมบท
เข้ามาแล้ววนโบสถ์สามรอบวันทาเสมาเข้ามาในพระอุโบสถ กล่าวคำขออุปสมบทกับเหล่าสงฆ์ต่อเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระประธานในโบสถ์ที่แทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทีละคำ ๆ ไม่ใช่บวชได้เลยนะ ต้องเอาผ้าไตรถวายอุปัชฌาย์แล้วออกไปให้พระกรรมวาจาจารย์ถามแล้วสอบอีกว่า ครบถ้วนตามพุทธบัญญัติไหม ครบแล้วก็จะมาบอกกับอุปัชฌาย์ว่าครบแล้ว
ต้องทำตามขั้นตอนกว่าจะได้บาตรมาสะพาย กว่าจะสำเร็จเป็นองค์พระสงฆ์ต้องสวด ญัตติจตุตถกรรม จึงสำเร็จเป็นภิกษุสภาวะ ตายจากฆราวาส มีนามใหม่เป็นนามสำหรับภิกษุ เช่น หลวงพ่ออุปัชฌาย์ท่านจะกล่าวว่า “พุทธสโรนามะเต แปลว่า เจ้ามีนามว่า พุทธสโรภิกขุ”
เห็นไหมล่ะว่าการเป็นภิกษุนั้นยากแค่ไหน แต่เวลาสึกซีง่ายเหลือเกิน เพียงแต่ไปคุกเข่าต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ แล้วกล่าวคำสั้น ๆ ว่า
“ข้าพเจ้าขออกจากการเป็นสงฆ์”
พระอุปัชฌาย์ก็จะเอื้อมมือไปปลดสังฆาฏิออกจากบ่า แล้วกล่าวคำให้สึกได้ง่าย แต่คุณเห็นไหมว่าสำคัญแค่ไหน
สึกออกไปแล้วบางคนแทนที่จะไปเป็นบัณฑิตหรือทิด เปล่าเลยพอสึกเช้า ค่ำก็กินเหล้าเมาหยำเป กลับกลายเป็นหมาไป อย่างน่าเสียดายที่สุด ดูเถิดบวชเรียนมาสามเดือน พอสึกเสร็จกลายเป็นหมาไปแล้ว”
คำว่า พอสึกเช้า ค่ำไปกินเหล้าเป็นหมา เป็นคำพูดจากปากหลวงพ่อเดิม อาตมาไม่ได้แต่งเติมเสริมแต่ง หลวงพ่อเดิมท่านเป็นพระที่พูดตรงไม่อ้อมค้อม ท่านพูดออกมาจากใจของท่านจริง ๆ
กล่าวจบหลวงพ่อเดิมท่านชี้ไปที่เสื้อนาคที่ทางวัดมีไว้ให้สวมเวลาเป็นนาค ท่านย้ำอีกว่า
“นั่นเห็นไหมล่ะ มีตะลอมพอกเป็นเทวดา สึกเช้า เมาเย็นพวกนี้ไม่สมกับได้บวชได้เรียน ไม่เป็นบัณฑิตกลับเป็นหมาไปได้”
อาตมาก็เลยถามหลวงพ่อเดิมต่อไปว่า “ก็แล้วบวชพรรษาเดียวกับหลายพรรษามันแตกต่างกันอย่างไรขอรับ”
หลวงพ่อเดิมท่านก็หัวเราะหึ หึ เหมือนเคยก่อนจะอธิบายว่า
“บวชสามพรรษาเขาว่าได้ปริญญาตรี เจ็ดพรรษาปริญญาโท สิบพรรษาปริญญาเอก บวชพรรษาเดียวสองพรรษายังเป็นทิดไม่ได้ รู้ไหมล่ะ ทิดมาจากคำว่าบัณฑิต”
แล้วท่านก็ชี้ไปที่สุดสำหรับแต่งบวชนาคของวัดหนองโพ เห็นเป็นเสื้อครุยแบบปริญญาแล้วก็มีมงกุฎแบบตะลอมพอกพร้อมอยู่สำหรับให้พ่อนาคใส่ ดูสวยงามแล้วท่านก็อธิบายต่อไปว่า
“คนเราเป็นฆราวาส เป็นหนุ่ม มันสุก ๆ ดิบ ๆ แล้วมาบวช พอเป็นพ่อนาคก็ต้องเป็นเทวดา คือสวมชุดตะลอมพอกอย่างนั้น เรียกว่าเป็นเทวดาไม่ใช้มนุษย์ธรรมดาแล้ว เพราะจะได้เป็นสงฆ์ เป็นบัณฑิต พอเข้าไปอยู่หน้าอุปัชฌาย์ก็เป็นพรหมแล้ว ทีนี้พอบวชเสร็จแล้วสึกบางคนแทนที่จะเป็นบัณฑิต หรือเป็นทิด กลับกลายเป็นเดรัจฉานไปเสียทันตาเห็น”
อาตมาเรียนถามหลวงพ่อเดิมเมื่อเห็นท่านค้างคำพูดเอาไว้เพื่อให้รู้ตลอด
“เป็นเดรัจฉานได้อย่างไรขอรับ”
“เป็นซี่ ทำไมจะไม่เป็น ก็พอสึกตอนเช้าก็กินเหล้าเมาเย็นหยำเปอย่างนี้ เรียกว่าบวชไม่ได้ประโยชน์ สึกแล้วกลายเป็นเดรัจฉานไป”
นี่คือแนวคิดของหลวงพ่อเดิม ท่านเกลียดคนกินเหล้า เกลียดพวกบวชแล้วสึกออกไปเป็นคนชั่ว เป็นขี้เหล้า ท่านไม่ชอบคนกินเหล้าเมายา
ตอนที่อาตมานวดให้หลวงพ่อเดิม ตอนหนึ่งท่านก็เล่าให้ฟังว่า
“เธอฟังไว้นะ สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา เมื่อท่านเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แห่งกรุงกบิลพัศดุ์นั้น ท่านเล่าเรียนเชี่ยวชาญในวิชาการทุกด้าน ไตรเวทก็ทรงเชี่ยวชาญ การใช้ศรชัยไปจนถึงตำรับพิชัยสงครามต่าง ๆ เรียนการปกครองคนหมู่มาก แต่แล้วก็ทรงได้พระสติว่า วิชาหนึ่งที่ไม่ได้เรียนก็คือ วิชาการพ้นจากกองทุกข์ การเวียนว่ายตายเกิด จึงทรงออกแสวงหาความหลุดพ้น เป็นพระบรมศาสดาในที่สุด”
อาตมาฟังแล้วก็เกิดสติคิดขึ้นมาว่า หลวงพ่อเดิมองค์นี้ท่านมิได้เก่งแต่เพียงวิชาอาคม เพี้ยง ดี เพี้ยง ดี แต่อย่างเดียว แต่ท่านยังมีธรรมะที่ลึกซึ้งและกินใจ สำหรับสั่งสอนผู้คน แม้แต่ตัวของอาตมาเองที่ต้องการจะสึก ยังไม่อาจสึกได้เหมือนที่ต้องการ
“มีหลายรายเอารอยเท้าฉันไป แล้วเอาไปประกอบกรรมชั่ว ไปปล้นเขา ไปจี้เขา ไปลักวัวลักควายเขา ถูกยิงตายคาที่ หายโหง รอยเท้าฉันอยู่กับตัวช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้เดินตามรอยเท้าฉันไปในทางที่ดี กลับแหกคอกไปในทางชั่วแล้วจะมาหวังพึ่งอะไรได้เล่า”
ดังนั้นมีมีรอยเท้าหลวงพ่อเดิมแล้ว จะใช้ในทางที่ดี ๆ เดินตามรอยเท้าหลวงพ่อเดิมไปให้ตลอดแล้วจะไม่ตายโหง อย่าเดินคนละทางกับรอยเท้าหลวงพ่อเดิมท่าน มิฉะนั้นจะลำบากภายหลัง
นี่คือปรัชญาชีวิตในรอยเท้าหลวงพ่อเดิมที่ฝากเอาไว้กับบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายให้ได้คิดกันต่อมา
ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-home-hist-index-page.htm

ออฟไลน์ ~เสน่ห์ack01~

  • ผู้คุมกฎ
  • *****
  • กระทู้: 5330
  • เพศ: ชาย
  • " ไม่เมาเหล้าแล้วเรายังเมารัก"
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณบทความ แฝงธรรมมะ เรื่องรอยเท้าของหลวงพ่อเดิมครับ...

ทำบุญ วันคล้ายวันเกิด หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ
วันอาทิตย์ ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕