ผู้เขียน หัวข้อ: บันเทิงธรรม...  (อ่าน 1168 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
บันเทิงธรรม...
« เมื่อ: 12 ม.ค. 2553, 12:07:30 »
ได้ อ่านบทความที่คุณสันตินันท์(หรือหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ในปัจจุบัน)เคยเขียนเอาไว้ ซึ่งมีประสบการณ์ธรรมะ และ ข้อคิดมากมาย อยากเก็บเอาไว้อ่านและอยากแบ่งปันให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ได้อ่านบ้าง อ่านแล้วจะทำให้มีกำลังใจในการปฎิบัติเพื่อความพ้นทุกข์


ความนำ

ผู้เขียนได้เขียนถึงแนวทางการปฏิบัติธรรมไว้แล้ว 2 ฉบับ. คือ
(1) แนวทางปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นการอธิบายวิธีการดูจิตตามแนวของพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล). โดยแจกแจงลงในหลักสติปัฏฐาน 4.และ
(2) แนวทางปฏิบัติธรรม ซึ่งอธิบายถึง ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ. แนวทางปฏิบัติธรรมทั้ง 2 ฉบับ นี้เน้นน้ำหนักที่ศาสตร์ของการปฏิบัติ. เพื่อให้ผู้สนใจทราบถึงหลักปฏิบัติที่สำคัญ จึงเป็นเสมือนแผนที่บอกทิศทางหลักของการเดินทาง.

แต่ เมื่อผู้อ่านแผนที่ลงมือเดินทางจริงๆ. อาจจะพบอุปสรรคต่างๆ นานาอีกหลายประการ. ซึ่งแม้จะเป็นรายละเอียดปลีกย่อย. แต่ก็อาจทำให้ผู้ปฏิบัติต้องเสียเวลาค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาในแต่ละขั้นตอน. ผู้เขียนซึ่งเคยผ่านความผิดพลาดต่างๆ มามากแล้ว. จึงอาสาที่จะบอกเล่าประสบการณ์ถึงรายละเอียดของเส้นทาง. รวมทั้งจะเล่าถึงกลวิธีเอาตัวรอดจากอุปสรรคต่างๆ นั้นด้วย. เพื่อผู้ที่เดินมาข้างหลังจะได้รับความสะดวกในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น. ขอย้ำว่าที่ผู้เขียนอาสามาเขียนเรื่องนี้. ไม่ใช่เพราะผู้เขียนเก่งกล้าสามารถอะไร. แต่เป็นเพราะผู้เขียนหย่อนความรู้ความสามารถ. จึงปฏิบัติผิดพลาดเอาไว้หลายแง่หลายมุม. มากกว่าหมู่เพื่อนบางท่านซึ่งมีความฉลาดแหลมคม ปฏิบัติได้ราบรื่นไม่พบอุปสรรคใดๆ.
ผู้ เขียนจะใช้ท่วงทำนองของการเล่าเรื่องเพื่อให้อ่านง่าย. ยิ่งกว่าการบรรยายอย่างมีศัพท์แสงเป็นวิชาการ. และไม่ได้เล่าตามลำดับเหตุการณ์เสมอไปเพื่อความสะดวกของผู้เขียนเอง. ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกับที่คนเฒ่าคนแก่เล่าเรื่องให้คนรุ่นหลังฟัง. คือนึกอะไรได้ ก็เล่าเรื่องนั้นก่อน.

1. พอเริ่มต้นก็ผิดเสียแล้ว
ผู้เขียนเริ่มปฏิบัติสมาธิภาวนาครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ. โดยคุณพ่อพาไปวัดอโศการามของท่านพ่อลี ธัมมธโร (พระ สุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์). และได้หนังสือการฝึกอานาปานสติมาจากท่านพ่อลี. ก็นำมาอ่านแล้วปฏิบัติด้วยตนเองไปตามความเข้าใจแบบเด็กๆ. เอาจิตไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก. พยายามหัดอยู่ทุกวันเพราะผู้เขียนเป็นคนกลัวผี. และเชื่อว่าถ้าภาวนาเป็นจะหายกลัวผี. การที่จิตจดจ่อกับลมหายใจโดยไม่ได้คิดคาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นนั้น. เป็นหลักการสำคัญของสมถกรรมฐาน. ดังนั้นเพียงไม่นาน จิตก็รวมวูบลง ปราศจากกาย. แล้วจิตก็อันตรธานไปปรากฏขึ้นในเทวโลก. เมื่อเวลาจะเดินทางไปมา ก็เพียงนึก แล้วกายทิพย์ก็ลอยไปเหนือพื้น.


ผู้ เขียนเที่ยวเล่นอยู่เช่นนี้ไม่นานวันนัก. ก็เกิดความเฉลียวใจว่า สมาธิไม่น่าจะมีประโยชน์เพียงแค่นี้. ทำไมเราจะต้องปล่อยให้จิตเคลิ้มแล้วมาเที่ยวอย่างนี้. นับจากนั้นก็กำหนดลมหายใจให้แรงขึ้น. เพื่อไม่ให้จิตตกภวังค์. จิตก็ไม่ออกเที่ยวภายนอกอีก.

2. กำหนดลมหายใจแบบแข็งกร้าว

การกำหนด ลมหายใจแรงๆ แม้จะทำให้จิตไม่เคลิ้มตกภวังค์. แต่จิตก็ไม่สามารถพัฒนาให้ยิ่งกว่านั้น. กลับทำความเหน็ดเหนื่อยให้อย่างมาก. แต่ผู้เขียนก็มิได้ย่อท้อ ยังคงกำหนดลมหายใจแรงๆ เช่นนั้นเสมอมา. แม้จะเหนื่อยเพียงใด ก็ทนเอา. เนื่องจากไม่มีสติปัญญา มีแต่แรงกระตุ้นของอดีตให้ต้องปฏิบัติ. ปฏิบัติลำบากเช่นนี้อยู่ถึง 21 ปี. โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ไม่ว่าสมาธิหรือปัญญา. ทั้งนี้เพราะผู้เขียนไม่ทราบว่า ที่ปฏิบัตินั้นทำไปเพื่อสิ่งใด. และไม่ทราบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องด้วย.

ผู้ ที่จะปฏิบัติธรรม จึงควรศึกษาถึงเป้าหมายของการปฏิบัติให้ชัดเจน. และเรียนรู้วิธีปฏิบัติให้เข้าใจเสียก่อน. อย่าได้ลำบากเหมือนผู้เขียนเลย.

3. ดูจิตได้เมื่อภัยมา
บ้าน เกิดของผู้เขียนเป็นตึกแถว. ด้านหน้าคือถนนบริพัตร ด้านหลังคือคลองโอ่งอ่าง. หมู่บ้านที่อยู่มีชื่อเป็นทางการว่า “บ้านบาตร” เพราะมีอาชีพทำบาตร. แต่ส่วนที่อยู่จริงเป็นหมู่บ้านโบราณอีกหย่อมหนึ่งเรียกว่า “บ้านดอกไม้” เพราะมีอาชีพทำดอกไม้ไฟ. ตอนเด็กๆ เกิดไฟไหม้บ้านดอกไม้ มีการระเบิดและมีคนตายจำนวนมาก. ผู้เขียนจึงกลัวไฟไหม้จับจิตจับใจ. วันหนึ่งเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ ขณะเล่นลูกหินอยู่ข้างถนนหน้าบ้าน. ได้เห็นไฟกำลังไหม้ตึกแถวเดียวกัน แต่ถัดไป 5 - 6 ห้องซึ่งเป็นร้านซ่อมรถยนต์.

ผู้เขียนเกิดความกลัวอย่างรุนแรง. ลุกพรวดขึ้นได้ก็วิ่งอ้าวเข้าบ้านเพื่อไปบอกผู้ใหญ่. พอวิ่งไปได้ 3 ก้าว จิตก็เกิดย้อนดูจิตโดย อัตโนมัติ. มองเห็นความกลัวดับวับไปต่อหน้าต่อตา. เหลือเพียงความรู้ตัว สงบ ตั้งมั่น. ตอนนั้นไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะอะไร. ได้แต่เดินไปบอกผู้ใหญ่ว่า ไฟไหม้. แล้วยืนดูคนอื่นตกใจกันวุ่นวาย.

หลาย ปีถัดมา ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า. ผลของการปฏิบัติสมาธิภาวนาที่เราทำไว้ในชาติก่อนๆ ไม่ได้หายไปไหน. แต่ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจของเรานั่นเอง. เมื่อถึงเวลา มันก็จะแสดงตัวออกมา. จุดอ่อนของผู้เขียนในขณะนั้นก็คือ. ผู้เขียนไม่มีครูบาอาจารย์ที่จะสรุปให้ฟังว่า เกิดอะไร เพราะอะไร. ผู้เขียนจึงลืมการดูจิตไปอีกครั้งหนึ่ง.

สิ่งหนึ่งที่อยาก กล่าวกับผู้อ่านก็คือ. คุณงามความดีทั้งหลายนั้น ขอให้สร้างไว้เถิด. ผลของมันไม่สูญหายไปไหน. เมื่อถึงเวลาย่อมให้ผลอย่างแน่นอน.


4. กลัวผีจนเจอดี
ดัง ที่เล่ามาแล้วว่า ผู้เขียนกลัวผียิ่งกว่าอะไรทั้งหมด. ทั้งที่ไม่เคยพบผีเลยแม้แต่ครั้งเดียว. จนกระทั่งปี 2521 จึงได้ไปบรรพชาอุปสมบทที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์. แล้วท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์คือพระธรรมโกศาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ) ก็เกิดจะเมตตาผู้เขียนเป็นพิเศษ. แทนที่จะให้ไปอยู่ในหมู่กุฏิหลังวัด. ซึ่งพระเณรอยู่กันเป็นจำนวนมาก. กลับให้ผู้เขียนอยู่กุฏิโดดเดี่ยวตามลำพังข้างเมรุและใกล้ช่องเก็บศพ. ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นกุฏิที่น่าอยู่มาก. เพราะปลูกอยู่ริมสระน้ำเล็กๆ มีต้นไม้ร่มรื่น. แต่ข้อเสียคือพอตอนฉันเพล. ได้พบโยมบางคนเขาบอกว่ากุฏินั้นผีดุ. เคยมีเณรไปอยู่แล้วตกกลางคืนร้องลั่นวิ่งหนีจากกุฏิเพราะมีผีมาเล่นกระโดด น้ำในสระ. ผู้เขียนแม้เป็นพระ ก็รู้สึกหวาดเสียวเป็นอย่างยิ่ง. พอตกกลางคืนหลังจากไปฝึกกรรมฐานที่ท้ายวัด ก็กลับเข้ากุฏิปิดไฟนอน. เวรกรรมแท้ๆ ผนังกุฏิช่วงล่างสัก 1 ฟุตเป็นกระจกโดยรอบ. จึงมองออกมาเห็นภาพภายนอกตะคุ่มๆ. พอหลับแล้วกลางดึกก็ต้องตกใจตื่น เมื่อได้ยินเสียงอะไรบางอย่างกระโดดน้ำดังตูม. บทสวดมนต์ต่างๆ มันเลื่อนไหลขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ. นอนกลัวจนถึงเช้าจึงออกไปดูที่สระน้ำ. ก็เห็นผี คือลูกมะพร้าวลอยตุ๊บป่องๆ อยู่ในสระ.

ผีในลักษณะ นี้ผู้เขียนได้พบเห็นอยู่เสมอเมื่อออกไปปฏิบัติธรรมตามวัดป่า. เช่นผีกระรอกขว้างหลังคากุฏิตอนดึกๆ. ผีตุ๊กแกจับแมลงโตๆ ฟาดฝากุฏิ. ผีนกร้องเสียงเหมือนยายแม่มด. ผีเปรตนกร้องกรี๊ดๆ บนยอดไม้สูงๆ เป็นต้น. ยิ่งเขาลือว่าตรงนั้นมีผี ตรงนี้มีผี ยิ่งชอบพิสูจน์ทั้งๆ ที่กลัว.

หลัง จากเจอผีมะพร้าวแล้วผู้เขียนก็ชักจะกระหยิ่มใจ. พอตกกลางคืนแม้จะเลิกปฏิบัติรวมกลุ่มจากศาลาท้ายวัดแล้ว. ก็ยังกลับมานั่งภาวนาต่อในกุฏิอีก. คืนหนึ่งจิตสงบลงและรู้สึกหน่อยๆ ว่าเมื่อยขา และเป็นเหน็บ. จึงนั่งเหยียดเท้าแล้วภาวนาต่อไป. แล้วจู่ๆ ก็รู้สึกได้ว่ามีใครคนหนึ่งมานวดขาให้. เพียงกดคราวเดียว เลือดลมก็เดินสะดวก หายปวดหายเมื่อย. จิตก็ส่งออกไปดู เห็นชายวัยเกษียณอายุคนหนึ่งแต่งชุดทหารอากาศกำลังนวดให้อย่างตั้งใจ. จิตในขณะนั้นไม่มีความกลัวเลย. หลังจากนั้น ผู้เขียนก็เห็นเขาคนนี้อยู่เสมอๆ.

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะ เป็นอุปาทานหรืออะไรก็แล้วแต่เถิด. ผู้เขียนได้ประสบมา ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง. เพื่อคลายความหนักในเนื้อหาของธรรมที่จะเล่าต่อไปข้างหน้า.

5. ดูจิต : จิตคืออะไร อยู่ที่ไหน แล้วจะเอาอะไรไปดู
ผู้ เขียนปฏิบัติตามยถากรรมมาโดยตลอด. เพิ่งจะมีครูบาอาจารย์จริงจังเอาเมื่ออายุ 29 ปี. เหตุที่จะพบอาจารย์นั้น ก็เพราะชอบเล่นเหรียญพระเครื่อง. จึงไปซื้อหนังสือทำเนียบเหรียญหลวงปู่แหวนมาเล่มหนึ่ง. ชื่อหนังสือ "ชีวิตและศาสนากิจ หลวงปู่แหวน". เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่ทางวัดสัมพันธวงศ์ จัดพิมพ์. ดูไปทีละหน้า พอถึงตอนท้ายๆ เล่ม. ผู้จัดพิมพ์หนังสือคงเห็นว่ามีที่ว่างเหลืออยู่. จึงนำธรรมะเรื่องอริยสัจจ์แห่งจิตของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มาลงไว้เป็นข้อความสั้นๆ ว่า. "จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย. ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์. จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค. ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ. อนึ่ง ตามสภาพที่แท้จริงของจิต. ย่อมส่งออกนอกเพื่อรับอารมณ์นั้นๆ โดยธรรมชาติของมันเอง. ก็แต่ว่า ถ้าจิตส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว. จิตเกิดหวั่นไหวหรือเกิดกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้น เป็นสมุทัย. ผลอันเกิดจากจิตหวั่นไหวหรือกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ เป็นทุกข์. ถ้าจิตที่ส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว. แต่ไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้นๆ มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมรรค. ผลอันเกิดจากจิตไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อม เพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นนิโรธ. พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออกนอก. จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม เป็นวิหารธรรม. จบอริยสัจจ์ 4.

(ข้อ ความจากหนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนสนใจคำสอนของหลวงปู่ดูลย์. นอกจากผู้เขียนแล้ว ยังมีนักปฏิบัติรุ่นไล่ๆ กับผู้เขียนอีก 2 ท่าน. เข้าไปเป็นศิษย์ของหลวงปู่ด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้. และท่านหนึ่งได้ครองสมณเพศมั่นคงในธรรมปฏิบัติ. มีศีลาจารวัตรงดงามบริบูรณ์ยิ่ง. ผู้เขียนและพระอาจารย์รูปนั้น. ยังปรารภด้วยความเคารพในหนังสือเล่มนั้นมาจนทุกวันนี้).

อ่านแล้วผู้เขียนเกิดความสะกิดใจว่า. จริงนะ ถ้าจิตไม่ทุกข์ แล้วใครจะเป็นผู้ทุกข์. ดังนั้นเมื่อมีโอกาสในช่วงวันมาฆบูชาปี 2525. ผู้เขียนพร้อมด้วยน้องในทางธรรม. ก็สุ่มเดินทางไปสุรินทร์ แล้วเที่ยวถามหาวัดบูรพาราม. ในตอนสายวันนั้น ก็ได้ไปนั่งอยู่แทบเท้าของหลวงปู่ผู้สูงวัยกว่า 90 ปี.

ผู้ เขียนกราบเรียนท่านว่า ผู้เขียนอยากปฏิบัติ. ท่านนั่งหลับตาเงียบๆ ไปครึ่งชั่วโมง แล้วสอนว่า. “การปฏิบัติไม่ยาก มันยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ. อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อแต่นี้ให้อ่านจิตของตนเองให้แจ่มแจ้ง”. แล้วท่านก็สอนอริยสัจจ์แห่งจิต เหมือนที่เคยอ่านมานั้น. แล้วถามว่า “เข้าใจไหม”. ผู้เขียนในขณะนั้นรู้สึกเข้าใจแจ่มแจ้งเสียเต็มประดา. จึงกราบเรียนท่านว่า เข้าใจครับ. แล้วลาท่านกลับไปขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ. พอรถไฟเริ่มเคลื่อนจากสถานีจังหวัดสุรินทร์. ผู้เขียนก็เพิ่งนึกได้ถึงความโง่เขลาอันร้ายแรงของตนเอง.

คือนึกขึ้นได้ว่า หลวงปู่สั่งให้ ดูจิต. ก็แล้ว จิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน แล้วจะเอาอะไรไปดู. นึกเสียใจที่ไม่ได้ถามปัญหาเหล่านี้จากหลวงปู่. แล้วคราวนี้จะปฏิบัติได้อย่างไร. นี่แหละความผิดพลาดที่ฟังธรรมด้วยความไม่รอบคอบ. เอาแต่ปลาบปลื้มใจและตื่นเต้นที่ได้พบครูบาอาจารย์. จนพลาดในสาระสำคัญเสียแล้ว. จะกลับไปถามหลวงปู่ก็ไม่สามารถกระทำได้แล้วในตอนนั้น.

ผู้เขียนแก้ปัญหานี้ ด้วยการทำใจให้สบายหายตระหนกตกใจ. แล้วพิจารณาว่า จิตเป็นผู้รู้อารมณ์. จิตจะต้องอยู่ในกายหรือในขันธ์ 5 นี้ ไม่ใช่อยู่ที่อื่นแน่. หากค้นคว้าลงในขันธ์ 5 ถึงอย่างไรก็ต้องพบจิต. แต่จะพบในสภาพใด หรือจะเอาอะไรไปรู้ว่าอันนี้เป็นจิต. ยังเป็นปัญหาที่พิจารณาไม่ตก ก็จับปัญหาแขวนไว้ก่อน.

ผู้ เขียนพยายามทำใจให้สบาย สลัดความฟุ้งซ่านทิ้ง. ตั้งสติระลึกรู้อยู่ในกายนี้ ตั้งแต่ปลายผมลงมาถึงพื้นเท้า. ก็เห็นว่ากายนี้ไม่ใช่จิต กายเป็นวัตถุธาตุเท่านั้น. แม้จะตรวจอยู่ในกายจนทั่วก็ยังไม่พบจิต. พบแต่ว่ากายเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น ไม่ใช่จิตที่เป็นผู้รู้. ผู้เขียนจึงพิจารณาเข้าไปที่เวทนา. ตั้งสติจับรู้ที่ความทุกข์ ความสุข และความเฉยๆ ที่ปรากฏ. ก็พบอีกว่า เวทนาก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ยังไม่ใช่จิต. ผู้เขียนก็วางเวทนา หันมีระลึกรู้สัญญาที่ปรากฏ. ก็เห็นว่าสัญญาคือความจำได้/หมายรู้ ก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกรู้อีก. ผู้เขียนก็หันมาดูสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งที่เกิดขึ้น. ก็เห็นความคิดนึกปรุงแต่งผุดขึ้นเป็นระยะๆ. เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ยังไม่ใช่จิตอีก.

ก่อนที่รถไฟจะถึงกรุงเทพฯ. ผู้เขียนสามารถแยกรูป เวทนา สัญญา และสังขาร ออกแล้ว. ทันใดผู้เขียนก็พบจิตผู้รู้ เป็นสภาพที่เป็นกลาง ว่าง และรู้อารมณ์. ผู้เขียนก็ตอบปัญหาได้แล้วว่า. จิตเป็นอย่างนี้. จิตอยู่ที่รู้นี้เอง ไม่ได้อยู่ที่กาย เวทนา สัญญา และสังขาร. ผู้เขียนรู้จิตผู้รู้ได้ด้วยเครื่องมือ คือ สติ. ซึ่งผู้เขียนได้ใช้สติเป็นเครื่องระลึกรู้. และใช้ปัญญาพิจารณาแยกขันธ์ จนเข้ามาระลึกรู้ จิตผู้รู้ได้.

ถ้า มีความรอบคอบ ถามครูบาอาจารย์มาให้ดี. ก็คงไม่ต้องช่วยตนเองขนาดนี้. แต่การที่คลำทางมาได้อย่างนี้. ก็สอนให้ผู้เขียนเคารพแต่ไม่ติดยึดอาจารย์. และซึ้งถึงคำว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ได้เป็นอย่างดี. และทำให้ผู้เขียนเคารพในศักยภาพของมนุษย์. เห็นว่าถ้าตั้งใจจริง ก็สามารถพัฒนาตนเองได้. เพราะขนาดผู้เขียนไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไร ก็ยังทำมาจนได้.

6. รู้จักจิต แล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี

ทันทีที่แก้ปัญหาแรกตก คือตอบได้ว่า. จิตคืออะไร อยู่ที่ไหน และเอาอะไรไปดู. ปัญหาใหม่ก็ตามมาทันทีว่า. เมื่อรู้แล้วจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป. เพราะหลวงปู่สอนมาสั้นๆ ว่าให้ดูจิต. เมื่อผู้เขียนได้จิตผู้รู้มาด้วยการแยกขันธ์ ออกจากจิต. ผู้เขียนก็ต้องระวังรักษาจิตเพื่อเอาไว้ดู. โดยการป้องกันไม่ให้จิตไหลเข้าไปปนกับขันธ์. เพราะถ้าจิตไหลเข้าไปปนกับขันธ์ ก็จะไม่มีจิตผู้รู้เอาไว้ให้ดู.

ใน ช่วงวันแรกๆ ที่แยกจิตกับขันธ์ออกจากกันได้นั้น. ผู้เขียนใช้ความพยายามอย่างมากรักษาจิตไม่ให้ไหลเข้าไปรวมกับขันธ์อีก. แต่ก็รักษาได้เพียงชั่วขณะสั้นๆ. แล้วกว่าจะพิจารณาแยกออกได้อีกก็ใช้เวลาเป็นวันๆ. ผู้เขียนผู้ไม่มีความรู้ใดๆ อาศัยความอดทนและความเพียรพยายาม. รวมทั้งอุบายทุกชนิดที่จะรักษาจิตผู้รู้เอาไว้ให้ได้. เช่นใช้กำลังจิตพยายามผลักสังขารขันธ์ไม่ให้เข้ามาครอบงำจิต. เมื่อจิตไปติดก้อนสังขารที่ปรากฏด้วยความรู้สึกเป็นก้อนแน่นๆ ที่หน้าอก. ก็พยายามเจาะ พยายามทุบทำลายก้อนนั้นด้วยพลังจิต. บางคราวทุบตีไม่แตก ก็พิจารณาแยกเป็นส่วนๆ. บางคราวแยกแล้วก็ไม่สำเร็จอีก. ก็กำหนดจิตให้แหลมเหมือนเข็ม แทงเข้าไปเหมือนแทงลูกโป่ง. วันใดทำลายก้อนอึดอัดได้ ก็รู้สึกว่าวันนี้ปฏิบัติดี. บางวันทำลายไม่ได้ ก็รู้สึกว่า วันนี้ปฏิบัติไม่ดี.

ต่อมาเป็นเดือนๆ ก้อนอึดอัดนี้ก็เล็กลงเรื่อยๆ. แล้วสลายไปกลายเป็นความรู้สึกที่เคลื่อนไหวได้. เช่นเห็นการเคลื่อนไหวไปมาบ้าง. เป็นความไหวตัวยิบยับบ้าง. แล้วก็พบว่าอารมณ์แต่ละตัวที่เกิดขึ้น จะมีสภาวะที่รู้ได้ไม่เหมือนกัน. เช่นความโกรธเป็นพลังงานและมีความร้อนที่พุ่งขึ้น. โมหะเป็นความมืดมัวที่เคลื่อนเข้ามาครอบงำจิต. ถ้าเป็นกุศลจิต ก็จะเห็นความโปร่งว่างเบาสบาย. ในเวลาที่จิตกระทบอารมณ์ เช่นตกใจเพราะเสียงฟ้าผ่า. ก็จะเห็นการหดตัววูบ. ในช่วงนั้น ผู้เขียนเอาแต่ชุลมุนวุ่นวายอยู่กับการเรียนรู้สภาวะต่างๆ. และคอยแก้อาการต่างๆ ที่จิตเข้าไปติดข้อง. ด้วยความสำคัญผิดว่า นี่แหละคือการดูจิต. บัดนี้เราเห็นจิตชัดเจนแล้ว ว่ามีอาการต่างๆ นานา. สมควรแก่เวลาที่จะไปรายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ทราบ. ซึ่งท่านคงจะอนุโมทนาด้วยดี. เพราะศิษย์ได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่านไม่หยุดหย่อนติดต่อกันมาแล้วถึง 3 เดือน.

ผู้เขียนไปนั่งอยู่แทบเท้าของหลวงปู่ผู้ชราภาพ. แล้วรายงานผลการปฏิบัติต่อท่านว่า. ผมเห็นจิตแล้ว. หลวงปู่ถามว่า จิตเป็นอย่างไร. ก็กราบเรียนท่านว่า จิตมีความหลากหลายมาก มันวิจิตรพิสดารเป็นไปได้ต่างๆ นานา ดังที่ได้พบเห็นมา. พอกราบเรียนจบก็ได้รับคำสอนที่แทบสะอึกว่า. "นั่นมันอาการของจิตทั้งนั้น ยังไม่ใช่จิต จิตคือผู้รู้ ผู้คิด ผู้นึก ให้กลับไปดูใหม่"

7. ตู้พระธรรมเคลื่อนที่
เพราะ การไปศึกษาครั้งแรกไม่ถามหลวงปู่มาให้ดี. จึงเสียเวลาและลำบากไป 3 เดือน เพราะไปหลงอาการของจิตว่าเป็นจิต. กลับจากสุรินทร์คราวนี้จะไม่ยอมพลาดอีกแล้ว. จึงเริ่มทำจิตให้สงบในเวลาที่มันฟุ้งซ่าน. ด้วยการกำหนดลมหายใจบ้าง การหายใจประกอบคำบริกรรมพุทโธบ้าง. พอจิตสงบดีแล้วก็เห็นความว่าง โปร่ง เบา. มีความรู้ตัวแจ่มใส เห็นอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นระยะๆ. โดยไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อทำลายอารมณ์ดังที่หลงทางมาแล้ว. วันหนึ่งขณะที่เห็นอารมณ์เกิดดับอยู่นั้น. จิตเกิดความอ่อนแอน้อมเข้าหาความสงบ. แล้วรวมลงนิ่งสนิทอยู่ช่วงหนึ่ง. พอจิตถอนขึ้นมาก็รู้สึกสว่างไสวไปหมด. มองสิ่งต่างๆ รู้สึกว่าชัดเจนไปหมด. กระทั่งมองอากาศว่างๆ ตรงหน้า. ก็ยังเห็นถึงอณูของอากาศ และฝุ่นละอองอันละเอียดที่แฝงในอากาศ. ก็เกิดระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า ท่านช่างสอนธรรมอันน่าอัศจรรย์นัก. จากนั้นจิตก็ระลึกถึงธรรมหมวดต่างๆ ได้เป็นอันมาก ไล่ตั้งแต่หมวด 1 หมวด 2 ไปจนหมวดเกิน 10. นึกถึงธรรมข้อใดก็เข้าใจแจ่มแจ้งไปทุกหัวข้อ. และพบว่าธรรมทั้งหลายเชื่อมโยงเป็นอันเดียว รวมลงในอริยสัจจ์ 4 ทั้งสิ้น. ผู้เขียนพิจารณาธรรมด้วยความเพลิดเพลิน. ยิ่งพิจารณายิ่งแตกฉาน ยิ่งแตกฉานก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจ พิจารณากว้างขวางออกไปอีก. เมื่อรู้ธรรมอันใดแล้ว ก็พยายามทรงจำไว้. ไม่นานเลย ผู้เขียนรู้สึกเหมือนตนเองกำลังแบกตู้พระไตรปิฎกไปไหนมาไหนด้วย. มันเป็นภาระอันหนักเหลือเกิน.

แล้วผู้เขียนก็ระลึกถึงหลัก ตัดสินพระธรรมวินัย ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างไรบ้าง. ก็รู้ว่า ท่านสอนธรรมเพื่อความละ ความคลาย ความสิ้นไปแห่งตัณหา. ผู้เข้าถึงธรรมจะต้องวางความยึดถือทั้งปวง. ก็เกิดความเฉลียวใจว่า อาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นคืออะไร. เพราะตรงกันข้ามกับหลักตัดสินที่ท่านสอนไว้. ก็เข้าใจขึ้นว่า นี้เป็นวิปัสสนูปกิเลส 2 ประเภทซ้อนกันอยู่. คือโอภาสอย่างหนึ่ง กับความแตกฉานในธรรมอีกอย่างหนึ่ง. พอรู้ทันแล้ว อาการนี้ก็หายไป เหมือนโยนภาระหนักทิ้งเสียได้.

8. เดินวิปัสสนา
ผู้ เขียนเพียรปฏิบัติด้วยการมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ. คือมีสติรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ. มีสัมปชัญญะรู้ตัว ไม่หลงไม่เผลอตามอารมณ์นั้น. จิตมั่นคงเป็นกลาง ปราศจากความยินดียินร้ายต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า. บางคราวที่จิตฟุ้งซ่านไม่สามารถจะดูอารมณ์ได้ชัดเจน. หรือจิตหลงเข้าไปเกาะอารมณ์อย่างเหนียวแน่น. ผู้เขียนก็จะทำความสงบด้วยการกำหนดลมหายใจบ้าง. บริกรรมพุทโธบ้าง. กำหนดลมหายใจประกอบการบริกรรมพุทโธบ้าง. เพ่งความว่างในจิตบ้าง. เมื่อมีกำลังแล้ว คือสามารถแยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ได้ชัดเจน. ก็มาตามรู้ความเกิดดับของอารมณ์ต่อไป. โดยไม่ได้คิดคำนึงว่า ดูแล้วจะได้อะไรขึ้นมา. เพราะทุกวันที่ดูนั้น มันเหมือนมีงานที่น่าสนใจติดตามให้ทำอยู่ตลอดเวลา.

ผู้เขียน ดำเนินวิปัสสนาในช่วงนี้อยู่ 4 เดือนนับแต่ไปกราบหลวงปู่เป็นครั้งที่ 2. จึงเข้าใจถึงสภาพที่จิตพ้นจากความปรุงแต่ง. รู้ชัดว่าความเป็นตัวตนของจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เมื่อปราศจากความปรุงแต่ง. ความดับ อยู่ตรงที่พ้นจากความปรุงแต่งนี้เอง.

ไป กราบหลวงปู่คราวที่ 3 นี้ ไม่ได้หวังว่าจะได้รับคำยืนยันผลการปฏิบัติจากหลวงปู่. เพียงต้องการไปกราบท่านเพื่อให้ท่านเห็นว่า. การดำรงขันธ์อยู่ของท่าน เป็นประโยชน์เพียงใด. แต่หลวงปู่ก็กรุณาแจกแจงสภาวธรรมต่างๆ ให้ฟังอย่างละเอียด. ตอนที่กำลังก้มลงกราบลาท่านกลับออกจากวัด. ท่านก็กล่าวด้วยเสียงที่อ่อนโยนและเยือกเย็นว่า. "ถึงพระรัตนตรัยแล้ว พึ่งตนเองได้แล้ว ต่อจากนี้ไป ไม่จำเป็นต้องมาหาอาตมาอีก"

ผู้ เขียนเดินออกจากวัดบูรพาราม ที่หน้าวัดกำลังมีงานช้างสุรินทร์. ท่ามกลางเสียงที่อึกทึกและผู้คนที่แน่นขนัดนั้น. ผู้เขียนมีความรู้สึกเหมือนเดินผ่านไปในกองธาตุ. ตาเห็นรูปก็สักว่าเห็น หูได้ยินเสียงก็สักว่าได้ยิน. ร่างกายของผู้เขียนก็เป็นอันเดียวกับสิ่งแวดล้อม. แต่สิ่งแวดล้อม ไม่เข้ามากระทบถึงจิตเลย. จิตเหมือนลมที่พัดผ่านสิ่งต่างๆด้วยความเท่าเทียมกัน. ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นช่อดอกไม้หรือซากศพ. ผู้เขียนระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ. และเคารพนอบน้อมแด่พระสาวกที่สืบทอดพระธรรมวินัยมาจนถึงยุคปัจจุบัน.

9. เจริญปัญญา ละเลยสมาธิ
การ ปฏิบัติหลังจากทำลายความเห็นผิดว่าจิตเป็นเราลงแล้ว. ก็ยังคงใช้วิธีการเดิม คือการรู้ความเกิดดับของอารมณ์ด้วยจิตที่เป็นกลาง. แต่สิ่งที่สะดวกมากขึ้นก็คือ จิตมีความเป็นกลางสม่ำเสมอมากขึ้น. การเกาะเกี่ยวอารมณ์ที่หยาบลดน้อยถอยลง. ความฟุ้งซ่านรำคาญใจน้อยลง. การเจริญปัญญามีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญ. ยิ่งรู้ความเกิดดับ ก็ยิ่งเพลิดเพลิน. เวลากิเลสใดๆ เกิดขึ้น. พอกระทบความรับรู้ของสติ กิเลสก็ดับวับไปทันที. เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ. ความเพลิดเพลินในการเจริญสติสัมปชัญญะ. ทำให้ละเลยการทำความสงบไปทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว.

ปฏิบัติเช่น นั้นอยู่ช่วงหนึ่ง. คราวนี้ไปพบเห็นอารมณ์ละเอียดอันหนึ่ง เป็นเพียงความไหวตัวยิบๆ เล็กๆ. เหมือนระลอกน้ำที่ไหวตัวเมื่อลมโชยแผ่ว.ความไหวยิบยับนี้เกิดขึ้นทั้งวัน ทั้งคืน. ก็ตามรู้ตามเห็นไปเป็นเดือนๆ จิตเกิดความอ่อนล้าและเร่าร้อนขึ้นมา. จึงเดินทางไปกราบหลงพ่อพุธ ฐานิโย ที่วัดป่าสาลวัน. หลวงพ่อก็เมตตาแสดงธรรมอบรมอยู่นาน แต่จิตไม่รู้สึกอิ่ม ไม่รู้สึกพอ. ท่านก็อุตส่าห์แจกแจงให้รู้ว่า. การปฏิบัติในขั้นละเอียดนั้น มันเหนือคำพูด เหนือบัญญัติ. เห็นเพียงสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นยุบยิบๆ เท่านั้น. แต่ถึงกระนั้นจิตของผู้เขียนก็ไม่คลายจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย. แม้จะมีความเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นสังขารละเอียดก็ตาม.

เมื่อ เหนื่อยล้ามากเข้า ก็คิดว่า วันนี้ของดดูจิตสักวันเถอะ. ก็ไม่สามารถงดได้ เพราะมันรู้เห็นจนเป็นอัตโนมัติไปแล้ว. อยู่มาวันหนึ่งก็หันมาทำความสงบ. พอจิตสงบลงได้พักถึงฐานเต็มที่ ความกระวนกระวายก็ดับไป. จึงรู้ว่า จิตนั้นต้องการพัก จะเอาแต่เจริญปัญญารุดหน้าไปฝ่ายเดียวไม่ได้.

ปัญหา ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก. และผู้เขียนก็โง่พอที่จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก. เช่นคราวหนึ่งเกิดความเครียดกับผู้อำนวยการกองซึ่งย้ำคิดย้ำทำ. งานเรื่องเดียวจะต้องแก้ไปเรื่อยๆ หลายสิบครั้งจนถึง dead line จึงยอมให้ผ่าน. รวมทั้งกร้าวร้าวรุกรานตลอดเวลา จนผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนเครียดและประสาทเสียไปตามๆ กัน. ผู้เขียนก็พยายามแก้ไขความเครียดนั้นด้วยปัญญา. พลิกแพลงพิจารณาสารพัด. เช่นพิจารณาว่า ทั้งเขาและเรา ต่างก็จะต้องตายจากกันในไม่ช้า เขาอยากทำอะไรก็ช่างเขา. หรือพิจารณาแยกธาตุทั้งตนเองและผู้บังคับบัญชา. หรือดูว่าความเครียดเป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดๆ ดับๆ ไม่ใช่จิต. แต่ไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไร จิตก็ไม่ปล่อยวางเรื่องนี้ เพราะมีผัสสะกระทบกระทั่งอยู่ตลอดเวลา.

ครั้งหนึ่งไปกราบหลวง ปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง. พระอุปัฏฐากท่านจะเมตตาผู้เขียนเป็นพิเศษ. เพราะทุกครั้งที่ไปจะมีธรรมะไปกราบเรียนถามหลวงปู่เสมอ. ท่านจะจัดให้นั่งที่มุมใกล้ๆ หลวงปู่. แต่ยังไม่ให้ถามอะไร จนกว่าญาติโยมที่มากราบหลวงปู่เป็นร้อยๆ คน จะกลับไปเสียก่อน. พอญาติโยมถวายข้าวของต่างๆ แล้ว หลวงปู่ก็จะยถาสัพพี อนุโมทนาทาน. ช่วงนั้นทุกคนก็จะประนมมือรับพร ผู้เขียนก็รับด้วย. และเนื่องจากเครียดเรื่องผู้บังคับบัญชาไม่หาย. ก็เลยอธิษฐานขอพรจากหลวงปู่ ขอให้พ้นจากหัวหน้าคนนี้เสียที. พอท่านให้พรเสร็จ ท่านก็หันมาพูดเบาๆ คำเดียวว่า "กรรม" จิตในขณะนั้นก็โล่งไปหมด เพราะรู้ว่า นี่เรากำลังใช้กรรมอยู่.

เครียด มาประมาณเดือนเศษๆ เช้าวันหนึ่งรู้สึกอ่อนล้าเหลือเกิน. ก็คิดว่าวันนี้จะขอทำสมถะสักหน่อย. พอกำหนดลมหายใจไปประมาณ 28 ครั้ง. จิตก็รวมพรึ่บลง ว่าง สงบ สว่างผ่องใส. พอถอยออกจากสมาธิ จิตก็ย้อนเข้ารู้ความเครียดโดยอัตโนมัติ. ความเครียดก็ขาดสะบั้นไปเองเหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ.

พบ เหตุการณทำนองนี้หลายครั้งเข้า. จิตที่เคยชินกับการเดินปัญญาก็ยังไม่หลาบจำ. จนเมื่อประมาณปลายปี 2538 ได้ไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน. เกี่ยวกับแนวทางที่กำลังดำเนินอยู่. โดยกราบเรียนท่านว่า ผมเจริญสติสัมปชัญญะอยู่เป็นปกติ. ท่านพระอาจารย์เทสก์ฯ ก็บอกว่ามันสุดทางที่จะดำเนินไปแล้ว. แต่นี่ผ่านมาหลายปี ผมยังไม่สามารถผ่านจุดนี้ไปได้. ท่านอาจารย์มองหน้าอยู่อึดใจหนึ่งก็ตอบว่า. "ตรงนี้สำคัญนะ ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาแล้วด้วยตนเอง. ที่ว่ามีสติสัมปชัญญะรู้อยู่ที่จิตนั้น มันรู้อยู่ไม่ได้นานหรอก. ไม่มีอะไรดีกว่าการบริกรรม. ให้บริกรรมกำกับเข้าไปที่ตรงรู้นั้นอีกทีหนึ่ง จึงจะผ่านจุดนี้ได้”. รวมความแล้วก็คือ ผู้เขียนติดการเจริญปัญญาและไม่เห็นความสำคัญของกำลังสมาธิมาแต่ไหนแต่ไร. กลายเป็นจุดอ่อนที่ต้องนำมาเตือนตนเองป็นประจำ.

10. กิเลสหลบใน
นับ ตั้งแต่จิตของผู้เขียนหลุดพ้นชั่วคราวครั้งแรก. ผู้เขียนก็จำขั้นตอนการบรรลุมรรคผลได้อย่างชัดเจน. หลังจากนั้นผู้เขียนก็ดูจิตเรื่อยมา. วันหนึ่งจิตรวมลงไป ดับความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหมด. แล้วสิ่งห่อหุ้มจิตก็แหวกออก เห็นความสว่างค่อยๆผุดขึ้น. เหมือนดวงอาทิตย์โผล่พ้นเมฆขึ้นมา. หลังจากนั้น จิตก็อุทานขึ้นเบาๆ ว่า จิตไม่ใช่เรา. จากนั้นจิตก็ถอนออกจากภาวะนั้น. ผู้เขียนรู้ชัดว่า นี่จิตมันพยายามเลียนแบบอาการของจิตที่เคยเห็นมา. สิ่งนี้เป็นมายาหลอกลวงของกิเลส

แต่มีความแปลกประหลาดอัน หนึ่งคือ. จิตของผู้เขียนไม่ถูกกามราคะมาแผ้วพานอีก. แต่ผู้เขียนไม่เชื่อว่า ด้วยภูมิธรรมของผู้เขียนจะสามารถละกามได้. ประกอบกับยังสังเกตเห็นความยินดีในรสอาหารอยู่. แสดงว่ากิเลสกามมันหลบซ่อนตัวอยู่เท่านั้น. จึงคิดจะล่อให้มันออกมาจากที่ซ่อน. โดยการไปหาหนังสือโป๊มาอ่าน. ประมาณ 7 วัน กามก็โผล่ตัวขึ้นมาให้เห็นอีก

เมื่อนำเรื่องนี้ไปเล่า ถวายหลวงปู่ดูลย์. ท่านก็บอกว่า มันเป็นนิมิตเท่านั้น ดีแล้วที่ไม่เชื่อมัน. และเมื่อนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนหลวงปู่เทสก์. ท่านยิ้มแล้วชมว่า ดีแล้วที่ไม่หลงเชื่อมัน.

การที่ผู้เขียน ไม่ถูกกิเลสหลอกลวง. ก็เพราะเคยรู้ปริยัติธรรมมาว่า ต้องระดับพระอนาคามีจึงจะละกามราคะได้. แล้วก็ใช้ความสังเกตจิตใจตนเองพบว่า. กามราคะยังเหลืออยู่ในรูปของความพอใจในรส. จากนั้นก็หาอุบายล่อลวงกิเลสให้ปรากฏตัวขึ้นมา.

11. ตกภวังค์ครั้งใหญ่
ตั้งแต่ เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ผู้เขียนจะนิยมการเจริญสติรู้ความเกิดดับของอารมณ์. เรื่องที่จิตจะน้อมไปหาความสงบนั้น ยากที่จะเกิดขึ้น. แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งในราว 1 เดือนก่อนจะเข้าพรรษาปี 2526. ผู้เขียนมีอาการตกภวังค์ตอนเวลา. ดูจิตเมื่อใดก็ตกภวังค์เมื่อนั้น และตกแบบหัวซุกหัวซุน. แม้จะยืนกำหนดหรือนั่งขัดสมาธิเพชรก็ยังตกภวังค์. พยายามกำหนดลมหายใจแรงๆ ก็ยังตกภวังค์. รวมความแล้วรู้สึกอับจนปัญญาที่จะแก้ไขอาการเช่นนี้. พอถึงวันอาสาฬหบูชา ผู้เขียนกับน้องชายในทางธรรม. ได้เดินทางไปกราบหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. ได้กราบขออุบายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะจนปัญญาจะช่วยตนเองแล้ว. หลวงปู่ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตามองหน้าผู้เขียนแล้วยิ้มๆ. กล่าวว่า "เป็นผู้รู้อย่างนี้แล้ว จะต้องถามใคร จะต้องสงสัยอะไร. อย่าสงสัยเลย ให้เร่งปฏิบัติไปเถิด แล้วจะได้ของดีในพรรษานี้แหละ". รวมความแล้วผู้เขียนก็ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจอะไรเกี่ยวกับอาการของจิตคราว นั้นเลย. แต่เมื่อเป็นคำของครูบาอาจารย์ ก็ต้องน้อมรับไว้ตามนั้น.

เช้า วันรุ่งขึ้นอันเป็นวันเข้าพรรษา ผู้เขียนก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยรถทัวร์. ระหว่างทางก็ดูจิตบ้าง สนทนาธรรมกับน้องชายบ้าง. อาการที่จิตตกภวังค์ก็เริ่มหายไปทีละน้อย. พอรถทัวร์มาถึงสี่แยกหลักสี่ น้องชายพูดว่า จิตของผมรวมอีกแล้ว. ฟังเท่านั้นจิตของผู้เขียนก็รวมลง. เพราะมีปัญญาเห็นว่าจิตเป็นอนัตตา. แล้วสิ่งห่อหุ้มจิตก็แหวกออก. จิตเข้าถึงความดับเพียงวับเดียว แล้วแสงสว่างก็ปรากฏขึ้น ความเบิกบานปรากฏขึ้น เป็นครั้งที่ 2 นับแต่ปฏิบัติธรรมมา.

ผู้ เขียนได้ความเข้าใจว่า ลักษณะนี้เองที่มีผู้รู้ธรรมขณะที่พระศาสดาทรงแสดงธรรม. แต่จนป่านนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่เข้าใจว่า. เหตุใดก่อนหน้านี้ผู้เขียนจึงตกภวังค์ขนานใหญ่. และหลังจากวันนั้น ก็ไม่ตกภวังค์อย่างนั้นอีกเลย. และผู้เขียนตระหนักชัดถึงญาณทัศนะอันแจ่มใสของหลวงปู่สิม มาตั้งแต่คราวนั้น.

12. พระอภิญญาเมื่อกล่าวถึงญาณทัศนะของหลวงปู่ สิม พุทธาจาโรแล้ว. ทำให้ผู้เขียนอดระลึกถึงพระอภิญญาองค์อื่นๆ ไม่ได้. การที่ผู้เขียนวนเวียนอยู่ตามสำนักครูบาอาจารย์สายพระป่านั้น. ทำให้ได้พบเห็นและรู้จักพระอภิญญาหลายองค์. จึงตระหนักชัดไม่มีข้อสงสัยแม้แต่น้อย เกี่ยวกับเรื่องอภิญญาในพระไตรปิฎก. ทราบซึ้งแก่ใจว่า การจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับอภิญญาในพระไตรปิฎก. ไม่ใช่เป็นอุบายดึงให้คนเคารพศรัทธาในพระศาสนา. แต่เป็นการกล่าวความจริงล้วนๆ. เพราะพระพุทธศาสนานั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็น่าเคารพศรัทธาเต็มเปี่ยมในจิตใจอยู่แล้ว. ไม่ต้องนำเรื่องอภิญญาหรือปาฏิหารย์มาเป็นอุบายล่อให้คนศรัทธา. และมีแต่ของจอมปลอมหลอกลวงเท่านั้น จึงต้องอาศัยอุบายล่อลวงให้คนนับถือ. แต่เรื่องราวของพระอภิญญามีมาก. ผู้เขียนจะเล่าเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมเท่านั้น. เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านที่น่าจะได้รับฟังสาระประโยชน์บ้าง. ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องสนุกๆ เท่านั้น.

มีช่วงหนึ่งประมาณสิบ ปีกว่ามาแล้ว. ผู้เขียนหัดเข้าสมาบัติอันหนึ่งซึ่งค้นพบโดยไม่ได้ตั้งใจ. คือในคราวแรกผู้เขียนกำหนดสติรู้อยู่ที่ผู้รู้. สักพักหนึ่งก็เห็นว่า น่าจะออกไปพิจารณาสิ่งภายนอกบ้าง. จึงกำหนดสติรู้ออกไปที่ความว่างซึ่งตั้งอยู่ตรงหน้า. เมื่อกระแสของจิตเคลื่อนออกไปสู่ความว่าง แต่ยังไม่เกาะเข้ากับความว่าง. ผู้เขียนก็ถอยกระแสจิตย้อนเข้ามาที่จิตผู้รู้อีก. ขณะที่กระแสจิตจะจับเข้ากับจิตผู้รู้ ผู้เขียนก็ส่งกระแสนั้น ย้อนไปที่ความว่างอีก. ย้อนไปมาเช่นนี้ 2 - 3 ครั้ง จิตก็หยุดอยู่ในระหว่างจิตผู้รู้กับอารมณ์. ไม่ยึดเกาะทั้งจิตและอารมณ์. ไปรู้อยู่บนความไม่มีอะไรเลย. แล้วดำเนินผ่านอรูปฌานละเอียดมาก พลิกเข้าสู่สภาวะอันหนึ่ง ซึ่งเหลือแต่ธรรมชาติล้วนๆ. ไม่มีความคิด ไม่มีสัญญา ไม่มีเวทนา. เป็นสภาพที่ว่างจากตัวตนและเวลา. เมื่อจิตถอนออก ก็ย้อนกลับเข้าด้วยวิธีเดิมอีก. ฝึกซ้อมหาความชำนาญในกีฬาทางจิตอยู่. เพราะโดยภูมิธรรมด้านปัญญาจริงๆ แล้ว ไม่สามารถทรงตัวอยู่ในสมาบัตินี้ได้อย่างเต็มภูมิ.

หลังจาก นั้นไม่นาน ผู้เขียนก็ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ที่วัดหินหมากเป้ง. กราบเรียนท่านถึงสิ่งที่กำลังเล่นอยู่. ท่านไม่ห้าม กลับกล่าวว่า "ฝึกไว้ให้ชำนาญเถอะ. เวลานี้ไม่ค่อยมีใครเข้าสมาบัติอันนี้เท่าไรแล้ว". ผู้เขียนก็กราบเรียนท่านว่า "ผมกลัวจะติดเหมือนกัน". ท่านตอบว่า "ไม่ต้องกลัว ถ้าติด อาตมาจะแก้ให้เอง". ผู้เขียนทราบเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ที่ต้องการให้สืบทอดเรื่องสมาธิต่างๆ. จึงปฏิบัติเรื่อยมา เพราะทราบว่า อารมณ์ของสมาบัติชนิดนี้เอานิพพานเป็นอารมณ์.

ต่อมาอีก ประมาณ 1 เดือน ผู้เขียนไปสัมมนาที่เชียงใหม่. ตกค่ำมีงานเลี้ยง ซึ่งผู้เขียนจะหนีงานเลี้ยงทุกครั้งที่ทำได้เพราะรู้สึกว่าเสียเวลามาก. พอหลบออกจากงานได้ก็ตรงไปวัดสันติธรรม. เพื่อกราบท่านอาจารย์ทองอินทร์ กุสลจิตโต. พอลงจากรถสามล้อเครื่องที่หน้าประตูวัดก็เป็นเวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ. ที่หน้าประตูวัดมืดสนิท ผู้เขียนคุ้นเคยสถานที่ ก็เดินเข้าไปอย่างไม่ลังเล. พอพ้นประตูวัดก็พบพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมายืนอยู่ในความมืด. จึงไหว้ท่านแล้วเรียนถามว่า ท่านอาจารย์ทองอินทร์อยู่หรือเปล่าครับ. ท่านก็ตอบว่า อยู่ แต่ตอนนี้ท่านอาจารย์บุญจันทร์มาพักเป็นพระอาคันตุกะอยู่ที่นี่. โยมไปหาท่านหน่อยสิ. ผู้เขียนก็เรียนท่านว่า ผู้เขียนไม่รู้จักท่านอาจารย์บุญจันทร์ เกรงจะเป็นการรบกวนเพราะค่ำมากแล้ว. จากนั้นผู้เขียนก็เข้าไปที่กุฏิท่านอาจารย์ทองอินทร์. สนทนาธรรมกับท่านประมาณชั่วโมงเศษ. พอออกจากกุฏิก็ต้องแปลกใจที่พบว่าพระหนุ่มยังรออยู่. ทั้งที่อากาศนอกกุฏินั้น กำลังหนาวเย็นและมืดมาก. ท่านกล่าวอีกว่า ไปพบท่านอาจารย์บุญจันทร์สักหน่อยเถิด. ผู้เขียนลังเล ท่านก็ขยั้นขะยอ. ผู้เขียนจึงเดินตามท่านไปที่กุฏิท่านอาจารย์บุญจันทร์.

ขึ้น บันไดไปชั้นบน ท่ามกลางความมืดก็เห็นเงาตะคุ่มๆ ของท่านอาจารย์บุญจันทร์. ท่านนอนคลุมผ้าอยู่บนตั่งไม้หน้ากุฏิ. ขณะนั้นอากาศหนาวมาก องค์ท่านก็สั่นมีอาการอาพาธ. พระหนุ่มที่ขึ้นบันไดมาก่อนได้หลบเข้าห้องไป. ผู้เขียนก็ก้มกราบท่านอาจารย์ด้วยความเคารพนอบน้อม. ท่านถามเสียงดังว่า ไง ปฏิบัติยังไง. ก็กราบเรียนถึงการฝึกเข้าสมาบัติ. พอกล่าวจบก็ถูกท่านดุเอาทันทีว่า. "นิพพานอะไรมีเข้ามีออก ไง จะปฏิบัติยังไงอีก". ผู้เขียนคิดว่าท่านไม่เข้าใจ ก็กราบเรียนซ้ำอีก. ท่านก็ดุอีกว่า "นิพพานอะไรอย่างนั้น มีเข้ามีออกอยู่อย่างนั้น เข้าใจไหม" ผู้เขียนนั้นจิตสว่างวาบออกมาเลย เพราะหมดความยึดถือสมาบัติ. รู้ว่าถึงฝึกไปก็ไม่ช่วยให้เข้านิพพานได้จริง. และนับแต่นั้น ผู้เขียนก็ไม่อาจเข้าสมาบัตินั้นได้อีก.

พอจิตของผู้เขียน สว่างวาบขึ้น ท่านอาจารย์ก็แกล้งทดสอบผู้เขียนอีก. โดยการหัวเราะออกมาดังๆ. ผู้เขียนกำลังเบิกบานใจก็หัวเราะตามท่าน. จู่ๆ ท่านกลับหยุดหัวเราะฉับพลัน. ผู้เขียนก็หยุดตามท่านทันที จิตเป็นปกติราบเรียบลง. ท่านว่า เออ ใช้ได้ ไปได้แล้ว. ผู้เขียนก็กราบลาท่านลงมาจากกุฏิ. ออกเดินจะไปหน้าวัด พระหนุ่มท่านก็รีบตามลงมา. ระหว่างรอรถสามล้อเครื่องอยู่นั้น ก็คุยกันไปเรื่อยๆ. พระหนุ่มท่านก็บอกว่า ท่านอาจารย์สั่งไว้ให้มารอโยมตั้งแต่ตอนเย็น. ยังไงๆ ก็ให้พาไปหาท่านให้ได้.

พระอภิญญาอีกองค์หนึ่งที่ผู้เขียน ได้ประโยชน์จากท่าน และประทับใจมาก. คือหลวงพ่อ หรุ่น สุธีโร. ผู้เขียนพบท่านที่วัดบวรสังฆาราม หน้าเรือนจำจังหวัดสุรินทร์. ตอนนั้นเป็นเวลาสายๆ หลังจากพระฉันอาหาร และฆราวาสรับประทานอาหารเสร็จแล้ว. ต่างก็ออกจากศาลาแยกย้ายกันไปทำกิจของตน. ผู้เขียนแปรงฟันหลังอาหารเสร็จแล้ว ก็เดินไปรอบๆ วัด. พบเก้าอี้หินใต้ร่มไม้ข้างสระน้ำใหญ่ที่เพิ่งขุดใหม่ ก็คิดว่าน่าจะนั่งภาวนาที่นี่. ทันใดก็ได้ยินเสียงหลวงพ่อหรุ่นตะโกนข้ามสระน้ำมาว่า. "โยม..คิดจะนั่งภาวนาก็ผิดแล้ว". หันไปมองเห็นท่านกำลังจะแปรงฟัน. มือหนึ่งถือขันน้ำ มือหนึ่งถือแปรงสีฟัน.

เดิมมานั้นผู้ เขียนเห็นแต่อารมณ์ที่เกิดดับ ไม่เคยเห็นตัณหาละเอียดคือความอยากภาวนา. นับแต่เมื่อท่านตะโกนบอกคราวนั้น. ผู้เขียนก็เห็นตัณหาในจิตอย่างชัดเจน. กระทั่งจิตอยากจะนั่งภาวนา ก็ยังเป็นตัณหาที่ต้องรู้และละเสีย. การภาวนาจึงจะสะอาดหมดจด เพราะไม่ได้ปฏิบัติไปตามความอยาก. แต่ปฏิบัติเพราะสมควรจะปฏิบัติเท่านั้น.

อีกคราวหนึ่งใน ปลายปี 2525 หรือต้นปี 2526 ผู้เขียนไปกราบหลวงปู่ดูลย์. หลังจากรายงานผลการปฏิบัติและฟังธรรมแล้ว หลวงปู่ไปสรงน้ำ. ผู้เขียนก็เดินเล่นไปมาในบริเวณสนามหน้ากุฏิของท่าน. บางทีก็แวะฟังน้องชายคุยกับพระอุปัฏฐากของหลวงปู่. แล้วจู่ๆ ผู้เขียนก็สัมผัสถึงกระแสบางอย่างที่ละเอียดอ่อน เยือกเย็น เป็นสุขอย่างยิ่ง. หันไปมองที่ประตูกุฏิ ก็เห็นว่าหลวงปู่สรงน้ำเสร็จแล้ว. สวมอังสะออกมานั่งที่เก้าอี้โยกหน้ากุฏิ. ท่านกำลังมองดูผู้เขียน. ผู้เขียนก็ทราบว่า ท่านดูจิตใจของผู้เขียนอยู่ จึงเข้าไปกราบท่านอีกคราวหนึ่ง. นับแต่นั้นมา ผู้เขียนก็สามารถรู้สภาวะจิตของผู้อื่นได้เหมือนสภาวะจิตของตนเอง. น้องชายก็เลิกคุยกับพระอุปัฏฐาก ตามมานั่งหน้าหลวงปู่ด้วย. เมื่อกราบท่านแล้วผู้เขียนก็นั่งสงบอยู่หน้าท่าน. ท่านก็กล่าวว่า "ให้ปฏิบัติเสียให้จบในชาตินี้นะ". ผู้เขียนก็ถามท่านว่า "ผมจะทำให้จบในชาตินี้ได้หรือครับ". หลวงปู่ตอบเสียงเฉียบขาดว่า "จบ.. จบแน่นอน".

คำกล่าวของท่านนี้ เป็นกำลังใจในยามเมื่อสิ้นท่านไปแล้ว. และสิ้นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นที่พึ่งพาใกล้ชิดของผู้เขียน.

อีก คราวหนึ่งผู้เขียนไปกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง. ท่านเมตตาให้พักที่กุฏิเก่าของท่าน. ซึ่งมองทางหน้าต่างจะเห็นภาพในกุฏิใหม่ของท่านชัดเจน เพราะห่างกันไม่มากนัก. ประมาณ ตี 2 เศษๆ ผู้เขียนเห็นท่านเดินจงกรมท่ามกลางแสงสลัวๆ. ก็เกิดความสงสัยว่า ท่านเดินจงกรมโดยวางมืออย่างใด. ทันทีที่คิด ท่านก็เดินแกว่งแขนให้ดูทันที. ผู้เขียนก็คิดได้ว่า ท่านสอนให้เราเจริญสติสัมปชัญญะในทุกอิริยาบถ. รู้ความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ธรรมดานั่นเอง.

ผู้เขียนเคย พบเห็นพระอภิญญาอีกหลายองค์ บางองค์ทำอะไรได้แปลกๆ น่าอัศจรรย์. แต่ที่นึกได้และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติของผู้เขียน. และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ก็มีตามที่เล่ามานี้.

13. เรื่องผีและเทวดามี คนรุ่นใหม่จำนวนมากคิดว่าเรื่องผีและเทวดาไม่มีจริง. เพราะพิสูจน์ยังไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์. และพาลคิดว่าเรื่องเหล่านี้ในพระไตรปิฎก เป็นเพียงอุบายสอนให้คนทำดี. แต่ผู้เขียนไม่ได้คิดเช่นนั้น. เพียงแต่ไม่ต้องการถกเถียงกับความเชื่อของผู้ใด. ใครจะเชื่ออย่างใด ก็เป็นสิทธิของผู้นั้น. เหตุที่ผู้เขียนเห็นว่า ผีและเทวดามีจริง ก็เพราะเคยพบเห็นอยู่เป็นประจำ. ดังจะนำมาเล่าสู่กันฟังบางเรื่อง.

ครั้ง หนึ่งผู้เขียนและน้องชาย ได้พาหลวงพ่อคืน ปสันโน, อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรสังฆาราม จังหวัดสุรินทร์, ไปนมัสการท่านพระอาจารย์เทสก์ ที่วัดหินหมากเป้ง. ช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว อากาศหนาวจัดมาก ขนาดห่มผ้านวมก็ยังสั่นอยู่ใต้ผ้านวม. ตกดึกผู้เขียนนอนเป็นห่วงหลวงพ่อคืน. เพราะท่านอายุมากแล้ว และร่างกายก็ไม่สมประกอบคือแขนขาลีบไปซีกหนึ่ง. นึกได้ว่าตอนหัวค่ำลืมหาผ้าห่มไปถวายท่าน. พอเช้ามืดผู้เขียนก็รีบต้มน้ำร้อน นำไปถวายท่าน. ไปถึงหน้ากุฏิที่ท่านพัก ก็เคาะประตูเรียกอยู่พักใหญ่ ท่านจึงเปิดประตูออกมา. ผู้เขียนชะโงกเข้าไปดูในห้อง ก็พบว่า ท่านมีเสื่อผืนเดียว ไม่มีผ้าห่มจริงๆ. ก็ถามท่านว่า หลวงพ่อหนาวไหมครับ. ท่านตอบว่าเมื่อคืนไม่หนาว แต่ตอนนี้หนาว. ก็ถามท่านว่าทำไมเมื่อคืนจึงไม่หนาว ตอนนี้ใกล้สว่างแล้วกลับหนาวมาก. ท่านตอบว่าเมื่อคืนพอเริ่มหนาวจัด. ท่านก็กำหนดจิตเข้าอัปปนาสมาธิ ดับความรับรู้ทางกายหมด. อำนาจของฌานได้รักษากายไว้ ไม่ให้กระทบกระเทือนเพราะความหนาว. ตอนนี้ออกจากฌานมา จึงหนาว. ผู้เขียนก็ถามท่านอีกว่า แล้วผมมาเรียก หลวงพ่อได้ยินไหม. ท่านตอบว่าไม่ได้ยิน แต่นี่เป็นเวลาที่ท่านตื่นนอนเป็นปกติอยู่แล้ว.

วัน นั้น ผู้เขียนพาท่านกับพระอนุจรนับสิบรูป. ไปวัดวังน้ำมอก สาขาของวัดหินหมากเป้ง. ที่นั้นมีถ้ำ มีเขาอยู่หลายแห่ง มีลำห้วยที่มีน้ำไหลอยู่ทั้งปี. พระเจ้าถิ่นท่านก็เมตตา พาชมสถานที่ไปทั่วๆ. บนลานหินแห่งหนึ่ง น้องชายของผู้เขียนไปพบกองอะไรขาวๆ ในขี้เถ้ากองหนึ่ง. จึงเอาเท้าไปเขี่ยๆ ดู แล้วหยิบสิ่งนั้นขึ้นมาดูชิ้นหนึ่ง. พระท่านหันมาเห็นเข้า ก็บอกว่า นั่นเป็นกระดูกศีรษะ. ตรงนี้เป็นป่าช้า ชาวบ้านจะเอาศพมาเผาที่นี่. น้องชายผมก็หัวเราะ แล้วโยนกระดูกศีรษะชิ้นนั้นลงเหวไป.

ตก บ่ายคณะของเราจึงเดินทางกลับหินหมากเป้ง. พอเข้าเขตวัดหินหมากเป้ง หลวงพ่อคืนก็หันมาสั่งผู้เขียนกับน้องชายว่า. คืนนี้ให้นอนกลางแจ้ง อย่าไปนอนใต้ต้นไม้นะ. ทั้งนี้เพราะปกติเวลาไปหินหมากเป้ง ถ้าหลวงปู่ไม่สั่งให้ไปอยู่กุฏิพระ. ผู้เขียนจะขออนุญาตหลวงปู่ไปตั้งเต็นท์นอนในป่า ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ๆ เต็มไปหมด. วันนั้นเมื่อได้ฟังหลวงพ่อคืนสั่ง จึงขยับเต็นท์ไปนอนกลางแจ้ง ห่างจากต้นไม้ทั้งหลาย.

ตกค่ำประมาณ 3 ทุ่มเศษ ผู้เขียนกับน้องชายก็เข้าไปในเต็นท์. นั่งหันหลังชนกันภาวนาไปตามปกติ. ระหว่างนั้นก็ได้ยินเสียงคนจำนวนมากมาเดินอยู่รอบๆ เต็นท์. ก็นึกว่าเป็นคนงานก่อสร้างศาลาในวัด. ผู้เขียนสงสัยว่ามาทำไมกัน ก็ลองมองออกทางช่องหน้าต่างของเต็นท์. พบว่ารอบเต็นท์มืดมาก ไม่มีใครเลย ได้ยินแต่เสียงไม่เห็นตัว. แล้วจู่ๆ น้องชายก็หัวเราะหึๆ ออกมา บอกว่าผมภาวนามานานแล้ว เพิ่งเคยมีนิมิตวันนี้เอง. ผู้เขียนถามว่านิมิตอย่างไร น้องชายก็ตอบว่า. เห็นหน้าเละๆ โผล่ขึ้นมา คิดว่าเป็นนิมิตเห็นตนเองเป็นอสุภะ. ก็เลยดึงภาพนั้นเข้ามาใกล้ๆ กำหนดจิตฉีกเนื้อแยกกระดูกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย. แต่ตลกดี ภาพนิมิตนั้นดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด แล้วสลัดหลุดหนีออกไปดิ้นเร่าๆ อยู่ไกลๆ. ผู้เขียนก็นึกว่า พ่อมหาจำเริญเอ๋ย. เมื่อกลางวันไปเหยียบกระดูกศิรษะเขา. พอตกค่ำก็จับพวกเขาแยกธาตุอีก เขาคงเจ็บใจน่าดู. แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้พูดว่ากระไร.

คราว นี้เสียงคนจ้อกแจ้กจอแจรอบๆ เต็นท์เงียบไปแล้ว. แล้วจู่ๆ ก็มีเสียงสุนัขหอนโหยหวนมาจากทางวัดวังน้ำมอก. หอนมาเป็นทอดๆ จนสุนัขในหินหมากเป้งก็หอนรับ. แล้วมีเสียงลมพายุพัดอื้ออึงมาจากทิศทางวังน้ำมอกเข้ามาที่หินหมากเป้ง. พักเดียวลมแรงก็กระโชกใส่เต็นท์อย่างรุนแรง. เสียงต้นหมากรากไม้หักโค่นโครมครามรอบเต็นท์. ผู้เขียนกำหนดจิตแผ่เมตตาออกไป ก็เห็นเท้าข้างหนึ่งเหยียบโครมลงมาข้างเต็นท์ใกล้ตัวผู้เขียน. เป็นเท้าสีเขียวๆ ที่โตมาก คะเนได้ว่า เจ้าของต้องสูงขนาดยอดยางใหญ่. ถึงตอนนี้จิตของผู้เขียนก็เห็นว่าจวนตัว จึงรวมวูบเข้ามา. พอถอนออกอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลาสว่างแล้ว. จึงพากันออกมานอกเต็นท์ ก็เห็นกิ่งไม้ใหญ่ๆ หักตกอยู่รอบเต็นท์. หากหลวงพ่อคืนไม่บอกไว้ก่อน คืนนี้คงถูกกิ่งไม้หักใส่เสียแล้ว. เช้านั้นหลวงพ่อคืนเจอผู้เขียนแล้ว หัวเราะหึๆ. บอกขึ้นลอยๆ ว่าเขาเป็นนักเลง เป็นนักไสยศาสตร์เก่า ก็เลยมีกำลังมาก.

อีกคราวหนึ่งผู้เขียนไปสัมมนาที่สกลนคร. ตกค่ำก็หนีงานเลี้ยงไปวัดป่าแห่งหนึ่ง เพื่อกราบพระธาตุของครูบาอาจารย์ใหญ่. ขณะที่เดินผ่านหน้าพระอุโบสถได้เห็นแม่ชีรูปหนึ่ง. เดินผ่านหน้าหายเข้าไปในต้นไม้ใหญ่ซึ่งขึ้นคู่กันหน้าพระอุโบสถ. ผู้เขียนก็แผ่เมตตา แล้วเดินไปขอร้องท่านรองเจ้าอาวาส. ให้เปิดพิพิธภัณฑ์ให้ผู้เขียนได้เข้าไปกราบพระธาตุ. ท่านซักว่ามาจากไหน พอทราบว่ามาไกลก็อนุโลมมาเปิดพิพิธภัณฑ์ให้. เมื่อไหว้พระธาตุแล้ว ผู้เขียนได้มานั่งคุยกับท่านที่บันไดหน้าพิพิธภัณฑ์. คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วผู้เขียนก็วกมาถามท่านตรงๆ ว่า. แม่ชีที่ต้นไม้นั้นมีความเป็นมาอย่างไร. ท่านมองหน้านิ่งอยู่หน่อยหนึ่ง ถามว่าโยมพบเขาแล้วหรือ. เรียนท่านว่าพบแล้ว. ท่านว่าเปรตนั้นเดิมเป็นชีที่อยู่โรงครัวของวัด. แล้วยักยอกอาหารของสงฆ์ และเงินค่าอาหารสงฆ์เพื่อประโยชน์ของตน. ตายแล้วมาเป็นเปรตดักอยู่หน้าโบสถ์. เพื่อขอความช่วยเหลือจากคนที่พอจะช่วยได้.

เมื่อช่วงปี 2527 ผู้เขียนไปซื้อทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียวอยู่แถวประชาชื่น. กลางดึกคืนหนึ่ง จิตของผู้เขียนได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งเดินร้องไห้ผ่านหน้าบ้าน. จิตก็ส่องออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น. ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง นุ่งผ้าถุง ผมเผ้ายุ่งเหยิง. เดินร้องไห้ผ่านหน้าบ้านไปตามถนนทางออกนอกหมู่บ้าน. เท้าของเธอลอยห่างพื้นถนนประมาณคืบหนึ่ง. ผู้เขียนแผ่เมตตาให้ เธอก็ไม่สนใจจะรับ เพราะจิตถูกความทุกข์ครอบงำอย่างหนัก. ผู้เขียนก็ทำจิตเป็นอุเบกขา แล้วหลับต่อไป. ช่วงสายๆ วันนั้นเองก็ได้ยินเสียงคนเอะอะหน้าบ้าน. ออกไปดูจึงทราบว่า หญิงที่อยู่ทาวน์เฮ้าส์ถัดไป 5 - 6 ห้อง ผูกคอตาย. เพราะสามีหนีไป และบ้านกำลังจะถูกธนาคารยึด. ผู้เขียนรู้สึกสลดสังเวชใจมาก ที่เธอลำบากเมื่อมีชีวิตอยู่. ฆ่าตัวตายโดยหวังว่าจะหนีความทุกข์ แต่ก็หนีไม่พ้น. เดินออกจากบ้านไปแบบไม่หันหลังกลับไปมองอีก เพราะความทุกข์มันท่วมท้นหัวใจ. เป็นชีวิตที่ขาดที่พึ่ง และไปด้วยความมืดมนธ์จริงๆ.

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องตลกๆ. คือผู้เขียนกับเพื่อนๆ พากันไปงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโธ. ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี. เสร็จงานก็รีบเดินทางไปวัดธาตุมหาชัย ที่อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม. ได้เข้าไปนอนพักที่ศาลาใหญ่. หมู่เพื่อนไปนอนรวมกลุ่มกัน ส่วนผู้เขียนแยกไปนอนตามลำพังอีกมุมหนึ่งของศาลาใหญ่นั้น. ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณตีสองครึ่ง ผู้เขียนนั่งภาวนาก่อนนอน ประมาณครึ่งชั่วโมงก็นอน. ขณะที่จิตกำลังจะตกภวังค์นั้น ได้ยินเสียงเด็กกลุ่มหนึ่งวิ่งเกรียวกราวตะโกนโหวกเหวก. เล่นไล่จับขึ้นบันไดศาลาทางด้านที่ผู้เขียนนอนอยู่. ผู้เขียนก็ดุว่า ดึกดื่นแล้ว ผู้ใหญ่จะหลับจะนอน ไปเล่นที่อื่นไป. เด็กก็เชื่อฟังพากันวิ่งไปทางด้านที่เพื่อนของผู้เขียนนอนรวมกันอยู่. แล้วไปดึงแขนดึงขาเพื่อนคนหนึ่งที่ชื่ออ้อย. รายนั้นก็ต่อสู้ด้วยวิธีเฉียบขาดคือคลุมโปงสวดมนต์. พอเช้าก็เล่าให้เพื่อนๆ ฟังปากคอสั่นว่า เมื่อคืนถูกผีเด็กตั้งฝูงมาหลอก. เวลานี้เพื่อนคนนี้ลาออกจากงาน ไปบวชปฏิบัติธรรมอยู่ทางสุรินทร์มาหลายปีแล้ว.

เรื่องผี เรื่องเปรตนั้น ผู้เขียนพบบ่อยๆ. แต่เป็นการรู้เห็นตามลำพัง ไม่มีพยาน จึงไม่ขอนำมาเล่า. ส่วนเรื่องเทวดาก็เช่นกัน จะขอนำมาเล่าเฉพาะเรื่องที่มีพยานรู้เห็น. เป็นเทพธิดาชั้นจาตุมหาราชซึ่งมาอาศัยอยู่ที่บ้านของผู้เขียน. เวลาทำสมาธิแล้วก็แผ่ส่วนบุญให้เธออนุโมทนา เธอก็พอใจเพียงนั้น ไม่รบกวนอะไร. คราวหนึ่งผู้เขียนไม่อยู่บ้านนั้น เพื่อนคนหนึ่งได้มาขอพักนอนคืนหนึ่ง. โดยเข้าไปนอนตรงที่ผู้เขียนนอนอยู่เป็นประจำ. (ผู้เขียนปูเสื่อนอนมาแต่ไหนแต่ไร). พอจะเคลิ้มหลับ ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งปรากฏกายเพียงครึ่งตัว ลอยอยู่ตรงหน้าต่าง. แล้วทำหน้าตาขึงขัง ทำเสียงเกรี้ยวกราดว่า. "ให้ไปนอนที่อื่น ที่นี้ไม่ใช่ที่ของเธอ". เพื่อนของผู้เขียนกลัวก็กลัว แต่ทำใจแข็งโต้เถียงว่า. ก็เจ้าของเขาอนุญาตแล้ว อย่ามาขับไล่เลย ขอนอนเพียงคืนเดียวเท่านั้น. หญิงนั้นก็ตอบว่า "ถ้าเช่นนั้นให้ไปนอนตรงที่อื่น อย่ามานอนตรงนี้". เพื่อนผู้เขียนก็เลยรีบย้ายที่นอนให้ห่างจากจุดเดิมเล็กน้อย. ก็หลับสบายได้ทั้งคืน.

มีวันหนึ่งผู้เขียนเหนื่อยๆ กลับมาบ้าน. อาบน้ำแล้วก็ลงนอนพักผ่อน ปลายเท้าชี้ไปทางโต๊ะเครื่องแป้ง. แล้วก็ได้ยินเสียงหญิงนั้นกล่าวอย่างแผ่วเบา แต่กังวานใสและชัดกริบว่า. "มีพระพุทธรูปอยู่ที่โต๊ะแป้งเจ้าค่ะ". ผู้เขียนก็รีบลนลานลุกขึ้น ก็เห็นมีพระพุทธชินราชเล็กๆ องค์หนึ่งแบบตั้งหน้ารถ วางอยู่ที่โต๊ะนั้นจริง. เพราะน้องสาวนำมาวางไว้โดยผู้เขียนไม่ทราบ. จึงอาราธนาไปไว้ที่โต๊ะบูชาพระทางหัวนอนแทน.

เมื่อผู้เขียน ย้ายบ้าน ก็ได้ชวนเธอผู้นี้มาอยู่ที่บ้านใหม่. โดยให้เธออยู่ในฐานพระเจดีย์ไม้จันทน์ที่บรรจุพระสารีริกธาตุ. เวลาผู้เขียนไม่อยู่บ้าน เธอจึงจะออกมาเดินเล่นไปมา.

14. การดูจิตที่ผิดพลาดในขั้นละเอียด
เมื่อ แรกที่ผู้เขียนภาวนา ผู้เขียนจะรู้ความเกิดดับของอารมณ์. โดยระวังไม่ให้จิตเคลื่อนเข้าไปเกาะอารมณ์. เป็นการพยายามแยกผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ออกจากกันเสมอๆ. เมื่อสิ้นหลวงปู่ดูลย์ไปแล้ว ผู้เขียนก็ยังวนเวียนไปศึกษากับหลวงพ่อคืนเป็นประจำ. วันหนึ่งหลวงพ่อคืนสอนผู้เขียนว่า. ทำไมไม่ย้อนจิตมาหยุดอยู่กับ "รู้" มัวแต่ดู "สิ่งที่ถูกรู้" เมื่อใดจะจบได้. ผู้เขียนก็กำหนดสติย้อนเข้ามาดูผู้รู้-ผู้ดู. แล้วก็เห็นว่า ผู้รู้กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ยังมีผู้รู้ซ้อนเข้าไปอีกเป็นชั้นๆ. ไม่ว่าจะทวนเข้าไปเท่าใด ผู้รู้ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ทุกที. จนผู้เขียนเกิดอาการหัวหมุนติ้วๆ เพราะใช้กระแสจิตดันกลับหลังเข้ามาที่ผู้รู้อยู่ตลอดเวลา. ถึงจุดหนึ่งผู้เขียนก็ทราบว่า วิธีนี้ใช้ไม่ได้. เพราะเป็นการจงใจละทิ้งอารมณ์ แล้วย้อนเข้ามาที่จิตผู้รู้ อันเป็นการกระทำด้วยตัณหา. ไม่ใช่ด้วยปัญญาที่เห็นอารมณ์เป็นไตรลักษณ์. แล้วปล่อยวางอารมณ์และย้อนมารู้จิตผู้รู้เองตามธรรมชาติ. ผู้เขียนได้ทราบว่า การเพ่งจ้องอารมณ์เป็นสมถะ. แม้การเพ่งจ้องจิตผู้รู้ ก็เป็นสมถะอีกเช่นกัน.

ผลการปฏิบัติผิดคราวนั้น ส่งผลเสียหายร้ายแรงมาอีกนาน. เพราะจิตมีความชำนาญในการจับเข้ามาที่ผู้รู้. จึงชอบมาหยุดอยู่ที่ผู้รู้ ในลักษณะเหมือนวิ่งเข้ามาในป้อมปราการ. ยิ่งกว่าจะออกไปเรียนรู้ เพื่อปล่อยวางอารมณ์ที่จิตยึดมั่นถือมั่น.

แท้จริงการดูจิต ไม่มีอะไรมาก. เพียงแต่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางจริงๆ ก็พอแล้ว. รู้อยู่ตรงที่รู้นั่นแหละ. ถ้าจิตเป็นกลางจริง จะสังเกตเห็นจิตผู้รู้แทรกอยู่ตรงนั้นเอง. เมื่อเห็นบ่อยๆ แล้ว ต่อไปก็ชำนาญ สามารถเห็นจิตผู้รู้ได้เสมอๆ. ตัวอย่างเช่น ขณะนี้กำลังเกิดความสงสัยในหลักการปฏิบัติ. เพราะไม่ทราบว่า ควรจะทำอย่างไรดี. วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การรู้เข้าไปที่อารมณ์สงสัยที่กำลังปรากฏ. ก็จะเห็นว่า ความสงสัยกำลังถูกรู้ แล้วก็จะรู้จักจิตผู้รู้ได้. หรือถ้าดูอารมณ์ภายในจิตไม่ออก ก็ลองมาดูอารมณ์ทางกาย. เช่นระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกด้วยจิตใจที่สบายๆ. แล้วเห็นว่า ลมหายใจกำลังถูกรู้ ถูกดูอยู่. ก็จะรู้จักจิตผู้รู้ ผู้ดูขึ้นมาได้โดยง่าย.

ธรรมชาติของกิเลสนั้น มันมักจะมาล่อหลอกให้เราทิ้งจิตผู้รู้. อันเป็นแก่นสารสาระของการปฏิบัติเสีย. แล้วหลงคิดไปตามความปรุงแต่งด้วยอำนาจของกิเลส. ถ้าเรารู้ทันลูกเล่นของกิเลสอย่างนี้แล้ว. เราก็อย่าหลงเชื่อกิเลส ทิ้งจิตผู้รู้ออกไปคิดค้นคว้าสิ่งต่างๆ ตามใจกิเลส. ตัวอย่างเช่นเมื่อมีความสงสัยในวิธีการปฏิบัติเกิดขึ้นมา. แทนที่เราจะรู้ว่าความสงสัยเกิดขึ้น แล้วดูมันจนมันดับไปเอง. เรากลับพยายามคิดค้นคว้าหาคำตอบ เพื่อจะแก้ความสงสัยนั้น. การหลงคิดค้นไปนั้นเอง คือการหลงกลกิเลส. เพราะเราลืม "รู้" ไปเสียแล้ว มีแต่ คิด คิด คิด เรื่อยไป.

การคิดเรื่อยไปนั้น ให้เราได้แค่ความรู้ความเข้าใจในระดับ "สัญญา". แต่การรู้ความเกิดดับของอารมณ์ต่างๆ แม้กระทั่งตัวความสงสัยเอง. กลับเป็นหนทางให้ได้มาซึ่ง "ปัญญาในทางพระพุทธศาสนา". เพราะปัญญาทางพระพุทธศาสนาไม่มีอะไรมาก. เพียงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา ล้วนแต่ต้องดับไปทั้งสิ้น. ปัญญาแค่นี้ก็พอจะพาให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์แล้ว. เนื่องจากพอเห็นว่าอารมณ์นั้นเป็นไตรลักษณ์. จิตก็ปล่อยวางอารมณ์ที่กำลังปรากฏ. เมื่อจิตปล่อยวาง ไม่ดีดดิ้นวิ่งโลดไปตามอารมณ์ ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย.

ผู้ ปฏิบัติบางคนคิดว่า ให้รู้เฉยๆ นั้น มันน้อยไป กลัวจะโง่หรือไม่พ้นทุกข์. จึงพยายามคิดเพื่อสนองความอยากรู้. โดยไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว "รู้" กับ "คิด" เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน. หลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงสอนว่า "คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดถึงจะรู้".

การเพ่งจ้องใส่ อารมณ์ หรือจิตผู้รู้นั้น ผิดตรงที่ผู้ปฏิบัติหลง "เพ่ง" อยู่. ส่วนการคิดไปตามแรงขับของกิเลส ก็ผิดตรงที่ "เผลอ" ไปตามแรงชักจูงของกิเลส. ผู้ดูจิต มักผิดพลาดตรงนี้แหละ. คือถ้าไม่เพ่ง ก็เผลอ. ไม่ใช่การรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตามความเป็นจริง. ด้วยจิตที่เป็นกลางที่แท้จริง. แต่ยังบังคับจิตบ้าง ปล่อยจิตให้เลื่อนไหลตามกิเลสไปบ้าง.

พระพุทธเจ้าท่านสอน ทางสายกลาง คือไม่หย่อนด้วยกาม และไม่ทรมานตนเอง. การเผลอไปตามอารมณ์ก็เสมือนหลงในกาม. การเพ่งบังคับจิตก็เหมือนการทรมานตนเอง. หากดำเนินจิตด้วยทางสายกลาง และเป็นกลางจริงๆ. จึงต้องทั้งไม่เผลอ และไม่เพ่ง.

15. การพิจารณารูปผู้ เขียนมีปกติชอบดูจิต. อันเป็นการเจริญ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ในส่วนที่เป็นเวทนาทางใจ). จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน. แต่ไม่ถนัดในการพิจารณารูปกาย. อันเป็นส่วนของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน. และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ในส่วนที่เป็นเวทนาทางกาย). เพราะผู้เขียนเห็นว่า รูปเป็นของหยาบ รู้เห็นง่าย. ไม่เหมือนกับการดูจิตที่เป็นของละเอียด มีอะไรแปลกๆ ให้ศึกษามากมาย. ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่ได้ฝึกฝนความชำนาญในด้านการพิจารณากายเท่าที่ควร.

คราว หนึ่งขึ้นไปนมัสการหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่อง. หลวงปู่ได้กรุณาตักเตือนว่า จิตเป็นของละเอียด ส่วนกิเลสเป็นของหยาบ อยู่นอกๆ นี่. ถ้าดูจิตอย่างเดียว เวลาพบกิเลสหยาบจะสู้ไม่ไหว. ผู้เขียนก็น้อมรับคำสอนของท่านกลับมาปฏิบัติที่บ้าน. โดยกำหนดจิตพิจารณาเส้นผม. พอจิตกระทบเส้นผมเส้นผมก็หายไปทันทีเหลือเพียงหนังศีรษะ. พอดูเข้าไปที่หนังศีรษะก็ทะลุถึงกระโหลก. พอดูเข้าที่กระโหลก คราวนี้เห็นกระดูกทั้งร่างนั่งขัดสมาธิอยู่. ยังไม่ทันจะพิจารณาอย่างใด กระดูกก็แตกเปรี๊ยะๆ กลายเป็นเม็ดเล็กๆ ใสๆ เหมือนก้อนกรวดแล้วสลายหายไปหมด. เหลือแต่จิตผู้รู้ทรงตัวอยู่อย่างเดียวเท่านั้น. รวมความแล้ว ผู้เขียนไม่สามารถพิจารณากายได้ดังที่ตั้งใจไว้. เพราะจิตทิ้งกายเข้ามาพิจารณาจิตอย่างรวดเร็วมาก.

ผู้เขียน ได้กราบเรียนเรื่องนี้กับหลวงปู่ดูลย์. ท่านก็กรุณาอธิบายว่า จริตของคนเราไม่เหมือนกัน การปฏิบัติจึงแตกต่างกัน. การจะพิจารณากาย หรือพิจารณาสิ่งใดๆ ก็ตาม. ก็เพื่อให้สามารถย้อนเข้ามารู้อยู่ที่จิต. เมื่อเข้ามาถึงจิตแล้ว จะย้อนออกไปหาสิ่งภายนอกอีกทำไม. ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนก็ไม่กังวลถึงการพิจารณากายอีก เพราะไม่ถูกจริตของผู้เขียน. แต่ผู้เขียนจะมีสติรู้กายอยู่ตามปกติ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม และพูดจา.

16. การพิจารณานามผู้ เขียนมีปกติชอบพิจารณาหรือระลึกรู้ นาม. อันประกอบด้วยเวทนาทางใจได้แก่ความรู้สึกเป็นทุกข์ เป็นสุข และเป็นกลาง. สัญญาคือความจำได้หมายรู้. สังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งของจิต ที่ดีบ้าง ชั่วบ้าง เป็นกลางบ้าง. และวิญญาณคือความหยั่งรู้อารมณ์ทาง ตา หู … ใจ. และจิตที่เป็นผู้รู้อารมณ์ทั้งปวง.

ครั้งหนึ่งผู้เขียนไป นมัสการหลวงพ่อเทียน ที่วัดสนามใน. ขณะนั้นท่านกำลังสอนญาติโยมจำนวนมากให้เคลื่อนไหวมือ. ผู้เขียนกำหนดจิตดูก็พบว่า นอกจากหลวงพ่อเทียนแล้ว ผู้อื่นไม่มีใครมีความรู้ตัวจริงเลย. มีแต่ส่งจิตไปอยู่ที่มือ คิดแต่เรื่องการเคลื่อนไหวมือเท่านั้น.

ผู้เขียนจึง เลี่ยงออกไปนอกศาลา ไปนั่งบนเก้าอี้ใต้ต้นไม้ แล้วดูจิตไปตามที่เคยทำมา. เพียงครู่เดียวจิตก็รวมลงถึงภวังคจิต. ต่อมาจิตเกิดความรับรู้ขึ้นมาในท่ามกลางความว่างเปล่า. จิตก็เอาความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ เข้าคู่อยู่กับความว่างเปล่า. จิตไม่รู้จักย้อนเข้ามาดูจิต มีแต่ดูออกไปภายนอก. แล้วความคิดปรุงแต่งก็ผุดขึ้นจากความว่าง เหมือนงูที่เลี้อยออกจากรู. แต่ขณะนั้นไม่ทราบว่าคิดเรื่องอะไร เพราะปราศจากสัญญา. เมื่อใจสัมผัสเข้ากับความคิด ก็เกิดวิญญาณทางใจขยายตัววูบออกปิดบังความว่างไว้. วิญญาณแผ่ออกกระทบรูป รูปก็ปรากฏ แผ่ออกกระทบนาม นามก็ปรากฏ. แล้วความมีอยู่ของขันธ์ 5 และอายตนะ 6 ก็ปรากฏ.

เมื่อรูปนามของผู้เขียนปรากฏแล้ว ผู้เขียนก็พิจารณาปฏิจจสมุปบาทต่อไปจนตลอดสาย. จนรู้ชัดว่า เมื่อจิตเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนเมื่อใด. จิตก็เป็นทุกข์เพราะความเป็นตัวตน เมื่อนั้น. แล้วเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นเพราะความไม่สมอยากในอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า. โดยมีการทำงานไปตามลำดับดังนี้

ในเวลาที่ตากระทบรูป ก็จะเห็นวิญญาณหยั่งลงทางตา แล้วจิตจึงรู้อารมณ์ทางตา. คล้ายกับเมื่อมีแมลงมากระทบใยแมงมุม. ความสั่นสะเทือนของใย ทำให้แมงมุม(จิต) รู้ถึงสิ่งที่มากระทบ. โดยก่อนการกระทบนั้น แมงมุมนอนหลับเงียบอยู่. เหมือนจิตที่ตกภวังค์เงียบอยู่. พอมีสิ่งเร้าแล้ว จิตก็ไหวตัวขึ้นจากภวังค์ แล้วส่งออกไปรับรู้สิ่งที่มากระทบนั้น. เหมือนแมงมุมวิ่งออกไปจับแมลงที่มากระทบใยกินเป็นอาหาร. คือจิตวิ่งเข้าไปเสวยอารมณ์นั้น. รู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ บ้าง. เมื่อมีความรู้สึกหรือเวทนาแล้ว จิตก็เกิดความทะยานอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น. แล้วเคลื่อนเข้าไปยึดอารมณ์. เกิดความเป็นตัวตนของจิตขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ต่อไป.

ในช่วง นั้น ผู้เขียนเห็นว่า จิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งแยกออกจากขันธ์ กระทั่งนามขันธ์. เพราะมองเห็นจิตอยู่โทนโท่. (แต่ไม่ได้เห็นเป็นรูป มันเป็นความรู้สึกของตัวสิ่งที่รู้อารมณ์ และเสวยอารมณ์ได้เท่านั้น). และพบว่าจิตไม่ใช่เวทนา สัญญา สังขาร หรือกระทั่งวิญญาณ. โดยเฉพาะวิญญาณนั้นมีความคล้ายกันในหน้าที่รู้อารมณ์. แต่ทำงานต่างจากจิต คือมันเป็นความรับรู้ทางอายตนะเท่านั้น. แต่จิตเป็นทั้งผู้คิด ผู้นึก ผู้ตัดสินและเสวยอารมณ์. (ความรู้ความเข้าใจนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างในภายหลัง)

17. พบผู้รู้ ให้ทำลายผู้รู้
ผู้ เขียนมีวาสนาได้ศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่ดูลย์เพียงปีเศษ. และได้ไปกราบท่านครั้งสุดท้ายในเดือนกันยายน 2526. เป็นเวลาเพียง 36 วันก่อนท่านจะละขันธ์. ผู้เขียนได้ฟังธรรมของท่านในช่วงเย็น จนกระทั่งค่ำ. สังเกตเห็นว่าหลวงปู่เหนื่อยมากแล้ว ถึงขนาดเริ่มหอบนิดๆ. เห็นสมควรแก่เวลาแล้วก็ลงกราบท่าน เรียนท่านว่าจะลากลับเพราะท่านเหนื่อยมากแล้ว. หลวงปู่ผู้มีวัยกว่า 96 ปี กลับมองหน้าผู้เขียนแล้วกล่าวว่า "จะกลับหรือ". แล้วไม่อนุญาตให้กลับ แต่กล่าวธรรมต่อไปอีก. ด้วยธรรมที่แปลกประหลาด ไม่เคยได้ยินได้ฟัง กระทั่งคิดมาก่อน. คือท่านกล่าวว่า "พบผู้รู้แล้ว ให้ทำลายผู้รู้ จิตจึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง". ท่านสอนอีกว่า "ถ้าเมื่อใดเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยปัญญา. ว่าจิตไม่ใช่จิต. เธอจะเข้าใจความจริงอันลึกซึ้งนั้นได้ในพริบตาเดียว".

ท่าน ถามว่า เข้าใจไหม. ก็กราบเรียนท่านว่า ผมจำได้แล้ว แต่ไม่เข้าใจ จะขอลองนำกลับไปปฏิบัติดูก่อนครับ. หลวงปู่กล่าวว่า "ดีแล้ว เอ้า ไปได้แล้ว". ตอนที่กราบลาท่านนั้น ไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า จะไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจากท่านอีกแล้ว.

วันรุ่งขึ้นผู้ เขียนแวะไปกราบหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ที่วัดป่าสาลวัน โคราช. อันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติตลอดมาเมื่อไปกราบหลวงปู่ดูลย์ที่สุรินทร์. เมื่อหลวงพ่อเห็นผู้เขียนก็ร้องทักว่า "เอ้าว่าอย่างไรนักปฏิบัติ คราวนี้หลวงปู่สอนอะไรให้อีกล่ะ". ก็กราบเรียนว่า หลวงปู่สอนว่า พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้. หลวงพ่อพุธทวนคำสอนของหลวงปู่ว่า. "อือ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ อันนี้เป็นสุดยอดของกรรมฐานแล้ว. เมื่อไม่กี่วันนี้หลวงพ่อไปกราบหลวงปู่. ท่านก็กล่าวกับหลวงพ่อว่า..เจ้าคุณ การปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ ก็เพียงเท่านี้เอง". แล้วหลวงพ่อก็ขยายความให้ฟังว่า "การทำลายผู้รู้ ก็คือการไม่ยึดมั่นในตัวผู้รู้". จากนั้นท่านก็แสดงธรรมเรื่องอื่นๆ ต่อไป. ก่อนที่ผู้เขียนจะลากลับ ท่านได้มอบหมายงานให้เรื่องหนึ่ง. คือสั่งว่า "หลวงพ่ออยากให้คุณเขียนประสบการณ์การปฏิบัติของคุณเองออกเผยแพร่. ท่านให้เหตุผลว่า "หลวงพ่อเป็นพระ ติดด้วยพระวินัย จะกล่าวธรรมที่ลุ่มลึกนักก็ไม่ได้. คนที่เขามีจริตนิสัยแบบคุณ และเป็นผู้มีอุปนิสัยยังมีอยู่. ถ้าเขาได้ฟังแล้ว เขาอาจจะทำตามได้ต่อไป".

หลายปีต่อมาผู้เขียนจึงเข้าใจได้ว่า. ถ้าไม่เคยฟังธรรมเรื่องการทำลายผู้รู้มาก่อน. ผู้เขียนคงไม่มีปัญญาผ่านด่านสุดท้ายที่พระอนาคามีพากันไปติดอยู่ได้. สิ่งที่หลวงปู่สอนไว้นั้น เป็นมรดกธรรมที่จะต้องเอาไว้ใช้ในอนาคต. ไม่ใช่ธรรมที่จะสามารถปฏิบัติได้ในขณะนั้น. นับเป็นความเมตตา และความละเอียดรอบคอบของครูบาอาจารย์อย่างยิ่ง. ที่มอบมรดกธรรมชิ้นนี้ไว้ให้ในนาทีสุดท้ายที่จะลาจากท่าน และไม่ได้พบกันอีกแล้วในสังสารวัฏนี้.
(12 มิถุนายน 2542)

18. ชาติก่อน มีจริงหรือใน ช่วงที่ผู้เขียนเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น. เป็นช่วงที่แนวความคิดของท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ มีอิทธิพลต่อนักศึกษาอย่างสูง. หลักการสำคัญของแนวทางนี้ก็คือ ท่านเน้นที่การดับทุกข์ในปัจจุบัน. ทำให้ลูกศิษย์ซึ่งฟังคำสอนอย่างไม่รอบคอบเข้าใจว่า. ท่านอาจารย์ปฏิเสธเรื่องชาติก่อนและชาติหน้า. คิดว่าท่านอาจารย์เชื่อว่าตายแล้วสูญ. คิดว่าท่านอาจารย์เห็นว่า โอปปาติกสัตว์ เช่นเทวดาและพรหม ไม่มีจริง. และทุกอย่างที่แปลกๆ จะถูกอธิบายด้วยเรื่องภาษาคน ภาษาธรรม. เช่นอธิบายว่าสวรรค์คือจิตที่เป็นสุข นรกคือจิตที่เป็นทุกข์. อธิบายว่าพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานในวันเดียวกัน. หมายถึงว่าการตรัสรู้ คือการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า. และกิเลสก็นิพพานจากพระทัยของท่านในขณะเดียวกัน เป็นต้น. มีการตีความธรรมะออกไปอย่างกว้างขวาง และสมเหตุสมผล. รวมทั้งสอนกันเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวง.

ผู้ เขียนเป็นศิษย์หน้าโง่ของท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างเต็มภูมิ. ตอนนั้นเชื่อสนิทว่า เมื่อตายแล้วก็สูญ. พระไตรปิฎกตัดทิ้งเสียบ้างก็ได้. พระพุทธรูปก็ไม่ต้องไหว้ เพราะเป็นก้อนอิฐและทองเหลือง. ตอนไปบวชที่วัดชลประทานก็ได้รับคำสอนว่า ให้รู้จักถือศีลอย่างฉลาด. กิเลสก็เลยพาฉลาดแกมโกงไปเลย เช่นฉันข้าวจนเกือบๆ จะเที่ยง เพราะไม่ถือมั่นในสิ่งทั้งปวง.

ขนาดรู้เห็นภพภูมิต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก. แต่พอเป็นวัยรุ่นที่ร้อนแรงเข้า กลับเชื่อลัทธิวัตถุนิยมเต็มหัวใจ. ความน่ากลัวของสังสารวัฏนั้น มันน่ากลัวขนาดนี้ทีเดียวครับ. คืออาจจะหลงผิดเมื่อไรก็ได้ แล้วแต่ความคิดปรุงแต่งจะพาไป.

บุญที่ผู้เขียนได้พบท่าน อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ (_/I\_). ท่านได้กรุณาชี้แจงให้ฟังว่า ผู้เขียนกำลังหลงผิดด้วยอุทเฉททิฏฐิ (คือเชื่อว่าตายแล้วขาดสูญ). ผู้เขียนจึงเริ่มเฉลียวใจ หันมาศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ด้วยจิตใจที่เปิดกว้างกว่าเดิม. แทนที่จะเชื่อตามๆ ที่ได้รับคำบอกเล่ามา. ตั้งใจอ่านพระไตรปิฎกจนจบ ส่วนใดสงสัยก็กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุชีพฯ เรื่อยมา.

เมื่อได้ครูบาอาจารย์ทางปฏิบัติอย่างหลวงปู่ ดูลย์ และหลวงปู่เทสก์. และปฏิบัติอย่างจริงจังจนเข้าใจจิตตนเองอย่างแจ่มแจ้งแล้ว. ผู้เขียนจึงทราบว่า ชาติก่อนและชาติหน้ามีจริง. แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจมาแต่เดิมว่า. พอร่างกายแตกดับ จิตก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่. ซึ่งทัศนะนั้นเกิดจากความเห็นผิดว่าจิตเป็นอัตตา.

เหตุผล ที่ทำให้ผู้เขียนเชื่ออย่างหมดใจก็คือ. เมื่อผู้เขียนมีสติระลึกรู้ลงในกายในจิตของตนเอง. ผู้เขียนเห็นสันตติ คือเกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลาของรูปและนาม. เหมือนสายน้ำที่ไหลผ่านมาอย่างไม่ขาดสาย. ส่วนที่ดับไปแล้วก็เป็นอดีต หาประโยชน์อะไรไม่ได้. ส่วนที่ยังมาไม่ถึง แต่มีเหตุปัจจัยอยู่ มันก็จะต้องมาถึงในอนาคต. จะห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้นก็ไม่ได้. ส่วนปัจจุบันเองก็สั้นจนหาระยะเวลาไม่ได้. แม้จะมีอยู่ ก็เหมือนไม่มีอยู่ เพราะจับต้องอะไรไม่ได้เลย. เพียงแต่ปรากฏแล้วก็ผ่านไป ๆ เท่านั้น. ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย จึงเป็นไปด้วยอำนาจของสัญญาและสังขาร. คือตามหลงสิ่งที่เป็นอดีตไปแล้วบ้าง. เพ้อเจ้อไปถึงสิ่งที่เป็นอนาคตบ้าง. ส่วนปัจจุบันจริงๆ เหมือนความกว้างของเส้นๆ หนึ่ง. คือไม่มีความกว้างพอที่สิ่งใดจะตั้งลงได้. เว้นแต่มหาสติเท่านั้น ที่จะหยั่งลงในปัจจุบันได้.

ผู้เขียนเป็นคนมีความจำดี. เรื่องที่ผ่านมาแล้วบางเรื่อง ที่เป็นอารมณ์อันรุนแรงประทับใจ. ก็ยังจำได้แม้วันเวลาจะผ่านไปนานนักหนาแล้ว. สิ่งนี้เป็นเครื่องมือเฉพาะตัว ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าชาติก่อนมีอยู่. แต่ไม่สามารถพิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นตามได้. ผู้เขียนจึงไม่เคยเปิดเผยมาก่อน นอกจากกับคนใกล้ชิดจริงๆ เท่านั้น. ไม่เหมือนการตามรู้วาระจิตผู้อื่น. ซึ่งผู้ถูกรู้สามารถเป็นพยานให้กับผู้เขียนได้. แต่เนื่องจากในลานธรรมแห่งนี้มีแต่กัลยาณมิตร. ปรึกษากับคุณดังตฤณแล้ว ก็เห็นว่าน่าจะพูดกันได้บ้าง.

ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างเล็ก น้อย เพียง 3 ชาติสุดท้ายนี้. ในช่วงประมาณสมัยต้นรัตนโกสินทร์. ผู้เขียนบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำใกล้จังหวัดนนทบุรี. จิตใจในชาตินั้นท้อแท้ต่อการค้นหาสัจจธรรมอย่างยิ่ง. เพราะไม่ว่าจะหันหน้าไปทางใด ก็มีแต่ผู้ไม่รู้เหมือนๆ กัน. ความทอดอาลัยนั้น ทำให้กลายเป็นพระขี้เกียจ. วันหนึ่งๆ เอาแต่นั่งเหม่ออยู่ที่ศาลาท่าน้ำบ้าง. ดูพระอื่นแกะสลักไม้ทำช่อฟ้าและหน้าบันบ้าง.

ในชาตินั้นผู้ เขียนอายุสั้น ด้วยผลกรรมในอดีตห่างไกลมาแล้ว. จึงเป็นลมตกน้ำตายตั้งแต่ยังหนุ่ม. และเพราะอกุศลกรรมที่สั่งสมในการปล่อยจิตหลงเหม่อไปเนืองๆ. ประกอบกับที่เป็นพระขี้เกียจ. ฉันข้าวของชาวบ้านโดยไม่ทำประโยชน์ใดๆ. ผู้เขียนจึงพลาดลงสู่อบายภูมิ ไปเกิดเป็นวัวของชาวบ้านข้างวัดนั้นเอง. และถูกนำตัวมาถวายวัด กลับมาอยู่ในวัดเดิมในฐานะใหม่.

เมื่อ สิ้นอายุขัยลง ผู้เขียนได้ตามครูบาอาจารย์ไปเกิดทางตอนใต้ของจีน แซ่ฉั่ว ชื่อเอ็ง. ต่อมาได้บวชเป็นเณรในวัดเซ็นอยู่บนเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง. ผู้เขียนก็หัดดูจิตอยู่เสมอๆ. ตอนเป็นหนุ่มขึ้นมาเกิดไปหลงรักสาวซึ่งถวายดอกลิลลี่มาให้. ประกอบกับทางบ้านไม่มีผู้สืบตระกูล จึงลาสิกขากลับมาทำนา. เรื่องนี้ชาวบ้านไม่ค่อยชอบใจอยู่แล้ว เพราะพระจีนนั้นเมื่อบวชแล้วมักนิยมบวชเลย. นอกจากนี้ ผู้เขียนยังทำตัวไม่เหมือนชาวบ้านทั้งหลาย. ซึ่งนอกจากจะทำนาแล้ว เพื่อนบ้านยังเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และจับปลา. ส่วนผู้เขียนสมาทานมั่นในศีลสิกขา แม้จะอดอยากเพียงใดก็ไม่ยอมฆ่าสัตว์. ชีวิตความเป็นอยู่จึงแร้นแค้นกว่าคนอื่นๆ. และเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของชาวบ้านทั่วไป. ว่าเป็นคนไม่รู้จักทำมาหากิน. กระทั่งพวกเด็กๆ เมื่อเจอผู้เขียน ก็ร้องเป็นเพลงเล่นว่า. ฉั่วเอ็งเป็นคนประสาท ฉั่วเอ็งเป็นคนอ่อนแอ. ผู้เขียนถือมั่นในศีลอยู่ท่ามกลางแรงกดดันนั้นด้วยความอดทนอย่างยิ่ง.

ต่อ มาเกิดฝนแล้งต่อกัน 2 - 3 ปี. คราวนี้ทั้งหมู่บ้านเผชิญกับความอดอยากอย่างยิ่ง. กระทั่งคนที่เคยจับปลาก็ไม่มีปลาให้จับ. ถึงตอนนั้นชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจำต้องทิ้งถิ่นเข้าไปหางานทำในเมือง. ผู้เขียนและครอบครัวก็ไปกับเขาด้วย. และไปพบการเกิดจราจลในเมือง พลอยถูกลูกหลงตายไปด้วย.

ในบรรดาศิษย์ของหลวงปู่ดูลย์ นั้น มีพระที่ทรงอภิญญาเลื่องชื่ออยู่หลายองค์. เช่นหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และเจ้าคุณโชติ แห่งวัดวชิราลงกรณ์. ส่วนในบรรดาศิษย์รุ่นหลัง ที่จะหาผู้ทรงอภิญญา. เสมอด้วยหลวงพ่อกิม ทีปธัมโม แห่งวัดป่าดงคู ผู้เขียนยังไม่เคยพบเลย.

หลวงพ่อกิมสนิทกับผู้เขียนมาก. แต่ท่านก็ไม่ค่อยยอมเล่าเรื่องแปลกๆ ให้ผู้เขียนฟังอย่างเปิดเผย. เพราะติดด้วยพระธรรมวินัย. แต่ถ้าแสดงธรรมอยู่แล้วพาดพิงไปถึง ท่านก็จะยอมเล่าให้ฟัง.

เคยถามท่านว่า อะไรเป็นเหตุให้ท่านเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ. ท่านตอบว่า ท่านเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด. บางชาติเกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์. บางชาติตกนรกหมกไหม้ หรือมาเป็นสัตว์เดียรัจฉาน. มีชาติหนึ่งเกิดเป็นวัว เจ้าของเอาไปผูกกับหลักไม้ไว้กลางนาตั้งแต่เช้า. แล้วเขาไปทำธุระโดยคิดว่าไม่นานจะกลับมา. ปรากฏว่าเขาติดธุระจนเย็นจึงกลับมาพาท่านกลับบ้าน. ท่านบอกว่าวันนั้นแดดร้อนจัด. ท่านกระหายน้ำทรมานมาก. พอเห็นคนเดินผ่านไปมา ก็นึกดีใจว่าเขาคงเอาน้ำมาให้ดื่มบ้าง. แต่คนกลับกลัววัวที่ดิ้นไปดิ้นมา ไม่กล้าเข้าใกล้. จนเย็นเจ้าของจึงมาพากลับเข้าคอก.

หลังจากท่านทิ้งขันธ์ แล้ว พระอุปัฏฐากท่านจึงเล่าเรื่องอันหนึ่งให้ฟังว่า. หลวงพ่อกิมท่านบอกว่าเมื่อชาติก่อนหลวงปู่ดูลย์ และหลวงพ่อกิมเป็นพระจีน. ในชาตินี้มาเกิดที่เมืองไทย และมีศิษย์ในยุคนั้นตามมาอีก 10 คน. ขณะที่ท่านเล่านั้น เป็นพระ 3 รูป อุบาสก 3 คน และอุบาสิกา 4 คน.

สังสารวัฏ นี้ยาวนานนัก ไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย. พระผู้มีพระภาคจึงทรงกล่าวว่า คนที่มาพบกันนั้น. ที่จะไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกันมา หาได้ยากนัก.

จาก การที่ผมจำอดีตได้ยาวไกลมาก. จึงได้ข้อสรุปมาอย่างหนึ่งว่า. นิสัยของคนเรานั้น หมื่นปี ก็ยังแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย. เว้นแต่จะตั้งอกตั้งใจพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง. จึงจะพัฒนาไปในทางที่ดีได้.

คนที่เคยขี้เกียจมาอย่างไร ก็มักจะขี้เกียจอย่างนั้น แล้วก็จะขี้เกียจต่อไปอีก. คนที่ชอบศึกษาปริยัติธรรม ก็จะชอบศึกษาปริยัติธรรม แล้วชาติหน้าก็จะชอบอย่างนั้นอีก.

สิ่ง เดียวที่จะเปลี่ยนแปลงคนได้เร็วที่สุด คือการเจริญมหาสติปัฏฐาน. แต่ถึงจะปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์แล้ว. บรรดาวาสนาคือความเคยชินต่างๆ ก็ยังติดอยู่เหมือนเดิม.

19. ชาติหน้ามีจริงหรือคราว นี้มากล่าวถึงเรื่องชาติหน้า หรือเรื่องตายแล้วเกิดบ้าง. ผู้เขียนเคยเห็นการตายและเกิดมาหลายคราวแล้ว. ในที่นี้จะเล่าถึงการตายแล้วเกิดสัก 4 ราย.

การตายแล้วเกิดนั้น ไม่ใช่ว่าพอร่างกายนี้แตกดับลง. จิตดวงเดิมก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่. เพราะจิตเองก็ตายและเกิดอยู่แล้วตลอดเวลา.

เรื่อง นี้ผู้เขียนเคยนั่งดูพ่อแท้ๆ ถึงแก่กรรม. ตอนนั้นพ่อป่วยหนักอยู่ที่ศิริราช. ในขณะที่จะตายนั้น ต้องนอนหายใจด้วยการขยับไหล่ขึ้นลง. เพราะกระบังลมไม่มีกำลังจะหายใจแล้ว. ขณะนั้นมีเวทนาทางกายอย่างรุนแรง สลับกับการตกภวังค์เป็นระยะๆ. ผู้เขียนก็เพียรแผ่เมตตาให้เรื่อยๆ ไป. ถึงจุดหนึ่งจิตของพ่อเคลื่อนขึ้นจากภวังค์ แต่ไม่ได้ออกมาสู่โลกภายนอก. เป็นสภาวะคล้ายๆ การฝันไปนั้นเอง. จิตของผู้เขียนได้สร้างกายทิพย์ขึ้นในรูปของภิกษุ. ส่วนจิตของพ่อก็สร้างกายทิพย์ขึ้นมาประนมมือไหว้พระลูกชาย. ผู้เขียนก็เตือนให้พ่อระลึกถึงบุญที่เคยบวชลูกชายหลายคน. จิตของพ่อก็เบิกบานอยู่ช่วงหนึ่งแล้วตกภวังค์. พอเคลื่อนจากภวังค์ จิตมีอาการหมุนอย่างรวดเร็ว. ที่ว่าตายเป็นทุกข์นั้น จุติจิตหรือจิตที่เคลื่อนที่หมุนนี้ มันก็แสดงทุกข์ออกมาอย่างสาหัส. ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับตัวเรานี้เหมือนลูกข่างที่หมุนติ้วๆ จนสลบเหมือด. มันเป็นการหมุนอยู่กับที่ ไม่ได้เคลื่อนออกจากกายไปทางไหนเลย. จากนั้นก็ตกภวังค์ขาดความเชื่อมโยงกับกาย. ขณะเดียวกันก็มีจิตอีกดวงหนึ่ง หมุนขึ้นมาในภพใหม่. แสดงความทุกข์ของการเกิด. แล้วตกภวังค์อีกทีหนึ่ง. พอจิตถอนขึ้นจากภวังค์ คราวนี้ความปรากฏแห่งอายตนะที่ยึดเป็นชีวิตใหม่ ก็เกิดขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์.

จึงเห็นว่า จิตไม่ได้ออกจากร่างไปเกิด. และทันทีที่ตาย ก็เกิดทันที มีภวังค์คั่นอยู่นิดเดียวเท่านั้น.

อีกราย หนึ่งเป็นพ่อของเพื่อน แต่สนิทคุ้นเคยกันดี. เพราะที่บ้านของเพื่อนคนนี้ สร้างกุฏิไว้ให้พระป่ามาพัก. ในเวลาที่พ่อของเขาเจ็บหนักนั้น. เขาได้นิมนต์ครูบาอาจารย์พระป่า 2 รูปไปแผ่เมตตาให้. ผู้เขียนก็ตามไปดูด้วย. คนเจ็บนอนหลับๆ ตื่นๆ อยู่ แล้วก็ร้องโวยวายว่า. นั่นมดดำเดินเต็มไปหมดเลย. ลูกก็ร้องไห้กระซิกๆ บอกว่าพ่อเจอมดดำเดินแถวไม่ได้. จะเอานิ้วโป้งรูดฆ่าทั้งแถวด้วยความสนุกเสนอ. ทั้งลูกและพระก็ช่วยกันเตือนสติ ว่าไม่มีมดดำ. จิตของแกก็ตกภวังค์ลงอีกครั้งหนึ่ง.

ขณะที่จิตเคลื่อนออก จากภวังค์ มาอยู่ตรงที่เหมือนฝันนั้น. แกนิมิตเห็นไก่บ้านตัวหนึ่ง. พระทั้งสองรูปและผู้เขียนก็เร่งแผ่เมตตาให้มากขึ้น. นิมิตไก่ก็ดับลง เกิดนิมิตของอสุรกาย แล้วจิตก็เคลื่อน. พอตกภวังค์ลง ก็ไปเกิดเป็นอสุรกายทันที.

บางคนไม่ทำกรรมดี แต่กะว่าตอนตายจะค่อยตั้งใจตายให้ดี. โดยจะท่องนามพระอรหันต์บ้าง พุทโธบ้าง. ขอเรียนว่า เป็นความคิดที่เหลวไหลสิ้นเชิง. เพราะพอจะตายจริงๆ นั้น จิตจะเกิดนิมิตขึ้นเหมือนกับฝันไป. สิ่งที่ตั้งใจท่องไว้นั้น จะลืมจนหมด. แล้ววิบากก็จะแสดงนิมิตขึ้นมาให้จิตผูกพันเข้าสู่ภพใหม่ตามกรรมที่ให้ผล.

ถ้า ควบคุมความฝันไม่ได้ ก็ควบคุมการเกิดข้ามภพข้ามชาติไม่ได้. รายพ่อของเพื่อนนั้น เมื่อเล่าให้เขาฟังว่าหวุดหวิดจะไปเป็นไก่. เขาก็สารภาพว่าพ่อนั้นตั้งแต่หนุ่มๆ ชอบดื่มเหล้า. ตกเย็นจะมีเพื่อนมาชุมนุมที่บ้าน. พ่อจะสั่งเชือดไก่เลี้ยงเพื่อนทุกวัน วันละตัว. กรรมชั่วที่สะสมจนเคยชินเป็นเวลาหลายสิบปี จึงจะมารอให้ผล. แต่อาศัยที่เคยทำบุญมาในช่วงปลายชีวิต. ในขณะสุดท้ายนิมิตเกิดเปลี่ยนแปลงไป. จึงรอดจากสัตว์เดียรัจฉาน ไปเกิดเป็นอสุรกาย. เรียกว่าดีขึ้นขั้นหนึ่ง แต่ยังต่ำกว่าเปรต.

หลัง จากตายไม่นาน คืนหนึ่งลูกสาวนั่งภาวนาแล้วนึกถึงพ่อ. ขอให้มารับส่วนบุญด้วยตนเอง. ทันใดนั้น ทั้งบ้านก็เหม็นเน่าตลบไปหมด. ทั้งลูกทั้งหลานกลัวกันลนลาน. รีบกำหนดจิตบอกว่า ไม่ต้องมารับเองก็ได้ จะอธิษฐานจิตไปให้. วันนั้นพอดีมีพระเถระรูปหนึ่งมาพักในบ้าน. พอรุ่งเช้าท่านก็บ่นขึ้นเองว่า ไม่น่าไปเรียกเขามาเลย.

อีกราย หนึ่งเป็นสุนัขในบ้านของผู้เขียน. เป็นหมาไทยธรรมดาไม่มีประวัติและดีกรี. ผู้เขียนไปอุ้มมาจากจุฬาฯ เอามาเลี้ยงไว้ตั้งแต่เล็ก. เขาเป็นสุนัชตัวเมียที่มีจิตใจงดงามมาก. รู้จักให้ทาน ให้ลูกสุนัขอื่นๆดูดนมได้. เวลากินอาหาร จะให้แมวและสุนัขอื่นๆ กินก่อน ตัวอื่นอิ่มแล้วเขาจึงจะกินข้าว. และแม้จะถูกสัตว์เล็กกว่ารังแก เขาก็จะเดินหนี ไม่ตอบโต้ทำร้าย ทั้งที่ทำได้. ในเวลาที่เขาตายนั้น เขานอนตาแป๋ว. มีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง. และไปสู่ภพภูมิที่สูงกว่าพ่อของผู้เขียนเสียอีก.

คนไปเกิดเป็นสัตว์ สัตว์ไปเกิดเป็นเทวดา. สังสารวัฏนี้เอาแน่นอนอะไรไม่ได้เลย. แต่มีความเที่ยงธรรมอย่างที่สุด.

ราย สุดท้ายเป็นยายห่างๆ ของผู้เขียน. แกเป็นคนขี้โมโหโทโส แถมเป็นนักเข้าทรงหลวงพ่อทวด. เป็นคนที่มีพลังจิตกล้าแข็งมาก. แกตายแล้วไปเกิดเป็นอสรุกาย มีผีหลายตัวเป็นบริวาร. ทั้งนี้โอปปาติกสัตว์นั้น. เขานับถือกันตามพลังอำนาจและบุญวาสนา.

ลูก หลานรู้สึกสงสารแก แต่ที่มากกว่าสงสารคือกลัวแก. เพราะญาติบางคนเห็นแกในสภาพที่น่ากลัวมาก. ผู้เขียนจึงเป็นต้นคิดจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ นอกเหนือจากการจัดงานศพตามประเพณี. โดยนำผ้าไตรไปถวายหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง. เมื่อถวายทานแล้ว ก็กำหนดจิตอุทิศส่วนกุศลให้. พอกำหนดจิตถึง ภาพของแกก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตามีผู้เห็นถึง 3 คน. ในภาพนั้นแกยังเป็นอสุรกาย แต่หน้าตาสดใสขึ้นบ้าง. ในมืออุ้มผ้าไตรไว้อย่างงงๆ ว่าแกจะเอาไปทำอะไร. ทั้งนี้เพราะแกเองไม่เคยทำบุญชนิดนี้. เป็นเพียงบุญที่ผู้อื่นอุทิศให้ จึงขาดความประทับใจเท่าที่ควร.

รุ่งเช้าถวายอาหารต่อพระ ทั้งวัดโดยนำเงินไปทำบุญที่โรงครัว ให้เขาจัดการให้. แต่ทำบุญแล้วลืมอุทิศส่วนกุศลให้. ตกเย็นก็นั่งรถสองแถวที่จ้างไว้ออกจากวัด. สิ่งที่พากันเห็นนั้นน่ากลัวมาก. คืออสรุกายยายพร้อมทั้งบริวารพากันติดตามมาจากวัด. ตอนขึ้นรถไฟที่หนองคาย ขณะที่รถวิ่งลงมาทางจังหวัดอุดรธานี. อสุรกายก็มาโผล่หน้าใหญ่เต็มหน้าต่างรถไฟ. เล่นเอาสะดุ้งไปตามๆ กัน. ผู้เขียนนึกได้ว่ายังไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้. จึงกำหนดจิตบอกยายว่า เมื่อเช้านี้ได้ทำทานถวายอาหารพระทั้งวัด เพื่ออุทิศให้กับเขา. เมื่อบอกกล่าวถึงตอนนี้ อสุรกายก็ระลึกได้ว่า. เมื่อสมัยยังสาวนั้น เขาชอบนำอาหารใส่ปิ่นโตไปถวายพระ. ภาพพระนั่งฉันอาหารเต็มศาลาก็ปรากฏทางมโนทวารของเขา. จิตในขณะนั้นเกิดความร่าเริงเบิกบานในบุญที่ตนเองเคยสร้างไว้. จิตก็เคลิ้มลงเรื่อยๆ. ขณะนั้นเกิดกลุ่มควันสีขาวพวยพุ่งขึ้นจากเท้าของเขา. แผ่ขยายจนคลุมตัวไว้ทั้งหมด. พอจิตตกภวังค์ดับวับลง กายอสุรกายก็สลายหายไป. เกิดรูปเทพธิดารูปหนึ่งลอยทะลุกลุ่มควันสีขาวนั้นขึ้นไป.

ความ ตายของโอปปาติกะนั้น เมื่อจิตจับนิมิตใหม่และดับลง รูปโอปปาติกะก็ดับลงด้วย. แล้วจิตดวงใหม่ในภพใหม่ก็เกิดขึ้น. แต่ผู้เขียนดูไม่ทันว่า รูปในภพใหม่เกิดก่อน หรือจิตเกิดก่อน.

สัตว์ ในภพอสุรกาย และภพอื่นๆ จะไม่รับส่วนบุญของผู้อื่น. อย่างมากก็เพียงอนุโมทนาบุญ. มีเพียงเปรตบางอย่างที่เป็นภพใกล้คนที่สุด จึงจะรับส่วนบุญจากผู้อื่นได้. กรณีที่เล่ามานี้ อสุรกายเพียงแต่อนุโมทนาบุญ และระลึกได้ถึงบุญของตนเอง.

อนึ่ง ธรรมดาสัตว์ตระกูลโอปปาติกะทั้งหลายนั้นมักจะอายุยืน. หากไม่มีบุญของตนเองเป็นที่พึ่งอาศัย. ก็จะอยู่ด้วยความยากลำบาก. เพราะจนลูกหลานเหลนตายหมดแล้ว สัตว์พวกนี้ก็ยังมักจะมีชีวิตอยู่. ดังนั้น ถ้ามีโอกาสทำบุญ ก็ควรจะทำไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งอาศัยในการท่องสังสารวัฏต่อไป.
(16 มิถุนายน 2542)

ขอขอบคุณที่มา... http://www.bangkokmap.com/pm/content/view/27/36/