ผู้เขียน หัวข้อ: พระเจ้าล้านตื้อ...กลางน้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย  (อ่าน 14393 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ กระเบนท้องน้ำ

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 275
  • เพศ: ชาย
  • การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
    • MSN Messenger - krabentongnam2511@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • บ้านกระเบนท้องน้ำ


ฉันรู้จักยายครั้งแรกที่วัดพระธาตุจอมกิตติเมื่อครั้งไปกราบนมัสการพระธาตุในปีพ.ศ. ๒๕๓๗ ยายบอกว่า ยายมากราบหลวงพ่อเจ้าอาวาส ( พระครูวิกรมสมาธิคุณ ) ฉันรู้สึกถูกชะตากับยายมาก ฉันชอบมาฟังเทศน์หลวงปู่กฤษณ์ สปฺปุณฺโณ เป็นพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งของวัดพระธาตุจอมกิตติ และ ปวารณาเป็นศิษย์ของท่าน ฉันได้พบปะและพูดคุยกับยายบ่อยขึ้น ทำให้ทราบมาทีหลังว่า ยายเป็นโยมอุปัฏฐากของหลวงปู่ จึงทำให้มีความรู้สึกเป็นกัลยาณมิตรกันอย่างแนบแน่นภายในเวลาอันรวดเร็ว

เมื่อฉันไปเยี่ยมยายที่บ้าน และในโอกาสที่มีเวลาอยู่กับยายตามลำพัง ยายมักจะเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฉันฟังเสมอๆ คล้ายกับว่า อยากถ่ายทอดเรื่องราวที่ยายประทับใจให้ลูกหลานได้ซึมซับเรื่องราวในอดีต และสืบทอดเรื่องราว ความดีงามซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน

พ่อของยายย้ายครอบครัวมาจากประเทศลาว มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ละทิ้งตำแหน่งเจ้าพระยาสรรพศรีสมบูรณ์ ที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์และผู้แทนพระองค์ ของประเทศลาวในสมัยนั้น ด้วยเหตุผลที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับฝรั่งเศสผู้ล่าอาณานิคม

ยายเล่าว่าประวัติศาสตร์ของประเทศลาวที่พ่อของยายเคยเรียน ได้กล่าวถึงพระเจ้าล้านตื้อไว้ว่า พระเจ้าล้านตื้อเป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ มีลักษณะงดงามมาก ในสมัยพระเจ้าอนุวงศ์เป็นกษัตริย์ปกครองประเทศลาว อยากได้เมืองเชียงแสนเป็นเมืองขึ้น จึงยกทัพมาตี หลายครั้งหลายครา แต่ไม่เคยสำเร็จเพราะชัยภูมิของเมืองดีมากได้เปรียบเรื่องที่ตั้งจึงออกอุบายโดยให้กล่อม*(กะ–หล่อม) ขุดร่องเปลี่ยนทิศทางแม่น้ำโขง เพื่อให้กระแสน้ำเซาะกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เป็นผลทำให้กำแพงเมืองพังทลาย และยังกัดเซาะวัดที่ตั้งเรียงรายเป็นแนวเลียบแม่น้ำโขงไปทางทิศใต้ ล่มจมลงไปในแม่น้ำโขง ราว ๒๐ วัด รวมถึงวัดที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านตื้อด้วย

เมื่อพ่อของยายย้ายมาอยู่เมืองเชียงแสนแล้ว ท่านได้คิดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เคยเรียนมาเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา จึงทำให้ท่านเกิดความคิดที่จะอัญเชิญพระเจ้าล้านตื้อขึ้นมาจากแม่น้ำโขง

วันหนึ่งในราวต้นปี พ.ศ.๒๔๘๘ พ่อก้อนแก้ว สุ่มใจยา ไปหาปลาที่แม่น้ำโขง บริเวณเหนือเกาะดอนแห้ง พ่อก้อนแก้วได้เหวี่ยงแหลงไป แล้วแหไปเกี่ยวกับวัตถุใต้น้ำ ทำให้ดึงแหไม่ขึ้น ท่านจึงดำลงไปงมเพื่อที่จะปลดแห ปรากฏว่าแหได้เกี่ยวกับเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ใต้น้ำ พ่อก้อนแก้วบอกว่าท่านยืนบนอังสาของพระพุทธรูปแล้วเขย่งเท้าจึงจะสามารถแตะปลายติ่งพระกรรณของพระพุทธรูปองค์นั้น พ่อก้อนแก้วสูงประมาณ ๑๗๐ เซนติเมตร ทำให้ทราบว่าพระพุทธรูปองค์นี้ใหญ่มาก ประมาณจากสัดส่วนพระพุทธรูปองค์นี้ จะมีหน้าตักกว้างราว ๑๑ - ๑๒ เมตร

พ่อของยายที่ชาวเชียงแสนเรียกว่า “ เพียสมบูรณ์ หรือพ่อพระยาสมบูรณ์ “ ทราบเรื่องจึงคิดที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาจากแม่น้ำโขง ด้วยความศรัทธาในพระเจ้าล้านตื้อ ศรัทธาในชาวเมืองเชียงแสน ที่สามารถสร้างพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่เพียงนี้ อยากกราบไหว้ ชื่นชมเป็นขวัญตา และเพื่อให้เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธทั้งสองฝั่งโขง มิได้คิดที่จะลบหลู่แต่ประการใด ตำแหน่งที่พบและขนาดของพระพุทธรูป ตามที่พ่อก้อนแก้วบอกเล่า ท่านบอกยายว่า พระพุทธรูปองค์นี้แหละคือ “ พระเจ้าล้านตื้อ “ ล้านตื้อคือหน่วยนับจำนวนโบราณของล้านนา มีค่าเท่ากับสิบล้านล้านในปัจจุบัน

หลังจากเสร็จสงครามเชียงตุง ประเทศพม่าราวปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พ่อของยายจึงรวบรวมสมัครพรรคพวก มีผู้พันเกษม ผู้บังคับการทหารม้าที่ ๒ สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๘) ขณะนั้นกองร้อยนี้ตั้งฐานอยู่ที่บริเวณโรงเรียนบ้านห้วยเกี๋ยง และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ อำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน ท่านได้นำทหารในบังคับบัญชาทั้งกองร้อยเข้าร่วมกับพ่อของยาย เพื่อที่จะอัญเชิญพระเจ้าล้านตื้อ
เพียสมบูรณ์ พ่อของยาย และคณะพร้อมด้วยทหารประมาณกว่าร้อยนาย ลงเรือไปยังเกาะดอนแห้ง แล้วจัดพิธีบวงสรวง สร้างศาลเพียงตาที่เกาะดอนแห้งเพื่ออัญเชิญพระเจ้าล้านตื้อ

ทันทีที่พิธีเริ่มขึ้น ก็เกิดพายุอย่างรุนแรง เศษหินและทรายปลิวว่อน ทั่วทั้งบริเวณ พ่อของยายและคณะรวมทั้งทหารจึงต้องรีบลงเรือกลับฝั่ง แต่พ่อของยายยังไม่ละความพยายามที่จะอัญเชิญพระเจ้าล้านตื้อขึ้นมาจากแม่น้ำโขงอีก

หลังจากนั้นเจ็ดวัน ท่านได้จัดเตรียมพิธีบวงสรวงเพื่ออัญเชิญพระเจ้าล้านตื้ออีกครั้ง โดยมีคณะพร้อมทั้งทหารชุดเดิม ลงเรือไปร่วมพิธี ในครั้งนี้ได้นำเชือกหวาย และเชือกมะนิลายาวประมาณเส้นละหนึ่งร้อยเมตรไปด้วย พ่อของยายเป็นผู้ประกอบพิธีเอง พิธีที่ว่านี้เรียกว่า”พิธีคนสวาทน้ำ” คือจัดคนเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๕ - ๖ คน กลุ่มแรก ให้มีหน้าที่ดำน้ำสำรวจโดยนำเชือกหวายและเชือกมะนิลาที่เตรียมมาไว้ใช้สำหรับผูกองค์พระเพื่อฉุดลาก กลุ่มหลัง มีหน้าที่เฝ้ารักษาเปลวเทียนที่จุดเท่าจำนวนคนที่ดำน้ำและต้องไม่ให้เทียนดับ เพื่อรักษาลมหายใจของคนที่ดำน้ำ

เมื่อเริ่มพิธีกลุ่มคนดำน้ำก็ดำลงไป พอเจอองค์พระก็โผล่ขึ้นมาเพื่อบอกตำแหน่งที่พบ นายทหารที่อยู่บนเกาะก็ส่งเชือกให้คนดำน้ำ เพื่อให้คนดำน้ำนำเชือกไปผูกองค์พระ ยังไม่ทันที่จะใช้เชือกผูกองค์พระ ก็เกิดพายุฝนกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรง น้ำท่วมเกาะซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 54 ไร่ เพียงเวลาอึดใจ พ่อของยายจึงต้องพาคณะลงเรือกลับฝั่งอย่างรวดเร็ว

หลังจากที่พ่อของยายทำพิธีอัญเชิญพระเจ้าล้านตื้อขึ้นจากแม่น้ำโขงแล้วไม่สำเร็จ ผู้คนในละแวกนั้น หรือแม้กระทั่งตัวของยายเอง ได้พบเห็นงูใหญ่ สีดำเมื่อม เกล็ดเลื่อม ลำตัวขนาดต้นมะพร้าว ความยาว ๖ – ๘ เมตร ตาสีเขียวเหลือบแดง มักโผล่มาเล่นน้ำ ที่หัวเกาะดอนแห้งแล้วเลื้อยไปทางทิศใต้ บางทีก็ขึ้นฝั่งที่ท่าทัพม่าน บริเวณที่ตั้งด่านศุลกากรในปัจจุบัน

ข่าวนี้เลื่องลือสะพัดไปทั่วเมือง ชาวเมืองเชียงแสนเกิดความกลัวไม่กล้าลงเล่นน้ำไปช่วงเวลาหนึ่ง โดย เฉพาะเมื่อตะวันลับฟ้าไปแล้ว ยิ่งเด็กๆ ก็ยิ่งไม่กล้าลงไปเล่นแม่น้ำโขงตามลำพัง ปกติในฤดูหนาวกับฤดูร้อน แม่น้ำโขงจะไม่ขุ่น แต่ถ้าปีไหนที่น้ำในแม่น้ำโขงขุ่นตลอดปี ผู้ใหญ่มักเตือนห้ามไม่ให้เด็กๆ ลงไปเล่นน้ำกันตามลำพัง เพราะมีความเชื่อว่า แม่น้ำโขงจะกินคน ประกอบกับมักมีอุบัติเหตุทางน้ำทำให้คนเสียชีวิต จึงเป็นการตอกย้ำความเชื่อดังกล่าว ให้ระลึกว่าเหตุการณ์ที่เล่าขานนั้นเป็นจริง

พญานาค… หรืองูใหญ่ มีรูปลักษณะคล้ายงู ตาโปนสีเขียวเหลือบแดง เกล็ดสีเขียวเหลือบดำ ผิวมันเลื่อม มีกลิ่นกายเหม็นคาวมาก บางตัวมีรูจมูกเรียงกันเหนือริมฝีปาก ๓ รู บางตัวมีถึง ๖ รู ชาวบ้านไม่อาจระบุได้ว่าสิ่งที่ตนเองพบเห็นนั้นคืออะไรกันแน่ เพราะลักษณะไม่อาจเทียบเคียงกับสัตว์ที่ตนเองพบเห็นในโลกปัจจุบัน แต่มันสามารถสั่นคลอนความกล้าหาญของผู้คนลงไปได้อย่างไม่มีเหตุผล

เรื่องราวเหล่านี้พ่อพระยาสมบูรณ์ได้เล่าให้ลูกหลานของท่านฟังทุกคน ลูกหลานของพ่อพระยาสมบูรณ์ทราบและเข้าใจในความตั้งใจของท่านดี เมื่อพ่อพระยาสมบูรณ์สิ้นบุญ หลานชายพ่อพระยา ฯ จำนวน ๙ คน ได้อุปสมบท ณ วัดพระธาตุจอมกิตติ ซึ่งมีพระครูวิกรมสมาธิคุณ เป็นเจ้าอาวาส หลังการอุปสมบท ก็ได้ปรึกษากับญาติ และพระผู้ใหญ่ คือหลวงพ่อแม้น ขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุจอมกิตติ ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสันธาตุ ตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน โดยปรึกษากันคิดที่จะสร้างพระพุทธรูปปูนปั้น ให้มี รูปร่างลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระเจ้าล้านตื้อ ในที่ประชุมได้ตกลงขอสร้างพระพุทธรูปที่บริเวณบ่อน้ำทิพย์ วัดพระธาตุจอมกิตติ เมื่อขออนุญาตพระครูวิกรมสมาธิคุณ เจ้าอาวาส ท่านก็อนุญาต เมื่อสร้างเสร็จ ลูกหลานพ่อพระยาสมบูรณ์จึงร่วมกันถวายชื่อองค์พระพุทธรูปองค์นี้ว่า “ พระเจ้าล้านตื้อ “ เพื่อเป็นพุทธบูชา และทดแทนพระคุณแผ่นดินทั้งในฐานะที่เป็นลูกหลานของพ่อพระยาสมบูรณ์

นอกจากนั้นยายยังเล่าว่า ได้ทำพิธีอัญเชิญหัวใจพระเจ้าล้านตื้อในแม่น้ำโขงมาประดิษฐานไว้ในพระเจ้าล้านตื้อองค์ใหม่ ด้วยความศรัทธาในพระเจ้าล้านตื้อ ตามรอยศรัทธาของพ่อพระยาสมบูรณ์

ปัจจุบันเกาะดอนแห้งได้หายไปจากลำน้ำโขง เนื่องจากกฎของธรรมชาติ กฎของกาลเวลา และกฎของอนิจจัง ความไม่เที่ยง คนรุ่นใหม่ไม่สามารถระบุได้ว่าหัวเกาะอยู่ที่ไหน ท้ายเกาะอยู่ที่ใด ความเชื่อและความศรัทธาก็อาจถูกลบเลือนไปเหมือนเกาะดอนแห้ง ทั้งนี้มิได้รวมถึงลูกหลานของพ่อพระยาสมบูรณ

เมื่อมีผู้เฒ่าผู้นี้มาเล่าขาน เราสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือพระเจ้าล้านตื้อจะเหลือเป็นแค่เพียงตำนานที่นับวันจะถูกลบเลือนไปกับกาลเวลา

กล่อม*ในที่นี้หมายถึงขมุหรือกำมุ
ขอขอบคุณ...คุณยายมณีจันทร์ พงษ์สวรรค์ และลูกหลานพ่อพระยาสมบูรณ์ทุกท่าน


ขอบคุณ
ผู้เขียนมิตาพร

ออฟไลน์ ~เสน่ห์โจรสลัด~

  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 7913
  • เพศ: ชาย
  • " ถ้ามุ่งมั่นจะเป็นที่หนึ่งคุณจะเป็นที่หนึ่ง "
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณมากครับผม ...  :016:

ออฟไลน์ gottkung

  • จะหมึกหรือน้ำมันไม่สำคัญ จงตั้งมั่นให้อยู่ในความดี
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 4088
  • เพศ: ชาย
  • "จะลูกใครนั้นไม่สำคัญ เป็นศิษย์ฉันเท่ากันทุกคนไป "
    • ดูรายละเอียด
    • www.gottkung.multiply.com
ขอบคุณสำหรับบทความครับ เคยไปสักการะท่านอยู่บ่อยครั้งเหมือนกันครับ
บริเวณรอบๆขององค์พระล้วนสวยงามน่าไปเที่ยวพักผ่อนยิ่งนักครับ
เราเป็นศิษย์คิดมีครูดูก่อนเถิด อย่าละเมิดคำครูที่พร่ำสอน
ปุถุชนคนธรรมดาพึงสังวรณ์ ครูท่านสอนมอบสิ่งดีแก่เราๆ