ผู้เขียน หัวข้อ: 13/02/2549  (อ่าน 1602 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ 8

  • นับถือเพราะมีราคา
  • ประธาน
  • *****
  • กระทู้: 136
  • ฤา คุณค่านั้นมาจากใจ
    • ดูรายละเอียด
13/02/2549
« เมื่อ: 13 ก.พ. 2549, 05:44:57 »
http://www.dhammathai.org :100:



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 มิ.ย. 2550, 11:31:34 โดย เว็บ... »
someone like this..........

ออฟไลน์ 8

  • นับถือเพราะมีราคา
  • ประธาน
  • *****
  • กระทู้: 136
  • ฤา คุณค่านั้นมาจากใจ
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: 13/02/2549
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 13 ก.พ. 2549, 05:50:57 »
อานาปานสติ ก็เป็นการทำสมาธิอีกวิธีหนึ่ง โดยหลักการที่สำคัญก็คือการเพ่งลมหายใจเข้าออก คือจะรวมจิตไว้ที่การรับรู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อไม่ให้จิตซัดส่ายคิดไปในเรื่องต่างๆ
โดยปรกติแล้วจะยึดจิตไว้ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากด้านบน ตรงจุดที่รู้สึกถึงการกระทบ ของลมหายใจ ที่ชัดเจนที่สุด

(อาจารย์บางท่านแนะนำว่า ผู้ชายให้ยึดจิตไว้ที่จุดกระทบของลมหายใจจากรูจมูกข้างขวา
ผู้หญิงให้ยึดจิตไว้ที่จุดกระทบของลมจากรูจมูกข้างซ้าย)

แล้วคอยสังเกตลักษณะของลมหายใจอยู่ที่จุดนั้น โดยไม่ต้องเลื่อนจิตตามลมหายใจ เหมือนเวลาเลื่อยไม้ ตาก็มองเฉพาะที่จุดที่เลื่อยสัมผัสกับไม้เพียงจุดเดียว ไม่ต้องมองตามใบเลื่อย ก็จะรู้ได้ว่าตอนนี้กำลังเลื่อยเข้าหรือเลื่อยออก เมื่อจิตอยู่ที่จุดลมกระทบเพียงจุดเดียว ก็จะรู้ทิศทาง และลักษณะของลมได้เช่นกัน

การสังเกตนั้น คือสังเกตว่ากำลังหายใจเข้าหรือออก ลมหายใจยาวหรือสั้น ลมหายใจเย็นหรือร้อน ลมหายใจหยาบหรือละเอียด (ดูเรื่องอานาปานสติสูตร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ)

พร้อมกันนั้นก็มีคำบริกรรมประกอบไปด้วย เช่น หายใจเข้าบริกรรมว่าพุท หายใจออกบริกรรมว่าโธ หรืออาจจะบริกรรมตามลักษณะของลมหายใจในขณะนั้น เช่น เข้า-ออก หรือ ยาว-สั้น หรือ เย็น-ร้อน หรืออาจจะใช้วิธีการนับเลข 1 - 10 ก็ได้ ( ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ ในตอนกลางๆ ค่อนไปทางท้าย เกี่ยวกับวิธีแก้ไขอุทธัจจกุกกุจจะ จะมีคำอธิบายวิธีนับลมหายใจอธิบายเอาไว้อย่างละเอียด )
 
คำว่าจริยา หมายถึงลักษณะอันเป็นพื้นฐานของจิต หรือนิสัยอันเป็นพื้นเพของบุคคลแต่ละคน
คำว่าจริต ใช้เรียกบุคคลที่มีจริยาอย่างนั้นๆ เช่น คนมีโทสจริยา เรียกว่า โทสจริต

จริตนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 6 ประเภท หรือ 6 จริต คือ

๑.ราคจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางราคะ รักสวยรักงาม ละมุนละไม ชอบสิ่งที่สวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ สัมผัสที่นุ่มละมุน และจิตใจจะยึดเกาะกับสิ่งเหล่านั้นได้เป็นเวลานานๆ
๒.โทสจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อน วู่วาม หงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง โผงผาง เจ้าอารมณ์
๓.โมหจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโมหะ เขลา เซื่องซึม เชื่อคนง่าย งมงาย ขาดเหตุผล มองอะไรไม่ทะลุปรุโปร่ง
๔.วิตักกจริต หรือวิตกจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนี้ทีเรื่องนั้นที เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สามารถยึดเกาะกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ
วิตก แปลว่าการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือการเพ่งจิตสู่ความคิดในเรื่องต่างๆ ไม่ได้หมายถึงความกังวลใจ วิตกจริตจึงหมายถึง ผู้ที่เดี๋ยวยกจิตสู่เรื่องโน้น เดื๋ยวยกจิตสู่เรื่องนี้ ไม่ตั้งมั่น ไม่มั่นคงนั่นเอง
๕.ศรัทธาจริต หรือสัทธาจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางศรัทธา น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสได้ง่าย ซึ่งถ้าเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกก็ย่อมเป็นคุณ แต่ถ้าไปเลื่อมใสในสิ่งที่ผิดก็ย่อมเป็นโทษต่างจากโมหจริตตรงที่โมหจริตนั้นเชื่อแบบเซื่องซึม ส่วนศรัทธาจริตนั้นเชื่อด้วยความเลื่อมใส เบิกบานใจ
๖.ญาณจริต หรือพุทธิจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางชอบคิด พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ชอบใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผล

โดยความเป็นจริงแล้ว คนเรามักมีจริตมากกว่า 1 อย่างผสมกัน เช่น ราคโทสจริต ราคโมหจริต โทสโมหจริต ราคโทสโมหจริต สัทธาพุทธิจริต สัทธาวิตกจริต พุทธิวิตกจริต สัทธาพุทธิวิตกจริต เป็นต้น เมื่อรวมกับจริตหลัก 6 ชนิด จึงได้เป็นบุคคล 14 ประเภท หรือ 14 จริต

ซึ่งบุคคลแต่ละจริตก็เหมาะที่จะทำกรรมฐานแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป

 
กรรมฐานสำหรับแต่ละจริต

ย่อความจากพระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 21 ขุททกนิกาย
มหานิทเทส สาริปุตตสุตตนิทเทส

ในพระสูตรนี้ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเอาไว้ ดังนี้

[๘๘๑] ...

[๘๘๙] ...... พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคลนี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นโทสจริต บุคคลนี้เป็นโมหจริต บุคคลนี้เป็นวิตักกจริต บุคคลนี้เป็นศรัทธาจริต บุคคลนี้เป็นญาณจริต.

พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต. ย่อมตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่บุคคลผู้เป็นโทสจริต. ทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ตั้งอยู่ในการเรียน ในการไต่ถาม ในการฟังธรรมตามกาลอันควร ในการสนทนาธรรมตามกาลอันควร ในการอยู่ร่วมกับครู. ย่อมตรัสบอกอานาปานสติแก่บุคคลผู้เป็นวิตักกจริต. ย่อมตรัสบอกพระสูตรอันเป็นนิมิตดี ความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม ความปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์ และศีลทั้งหลายของตน อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส แก่บุคคลผู้เป็นศรัทธาจริต. ย่อมตรัสบอกธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา ซึ่งมีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตา แก่บุคคลผู้เป็นญาณจริต.

วิเคราะห์/เพิ่มเติม

1.) การเจริญสมถกรรมฐานนั้นมีหลายวิธี ในพระพุทธศาสนานั้นได้รวบรวมเอาไว้ได้ถึง 40 วิธี (ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องสมาธิ 40 วิธี ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ) ซึ่งกรรมฐานแต่ละชนิดนั้นก็เหมาะสมกับแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับจริต พื้นฐาน ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม เวลา โอกาส และบุญบารมีที่เคยสั่งสมมาของแต่ละคน การเจริญกรรมฐานที่เหมาะสมกับตน ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าได้รวดเร็วกว่ากรรมฐานชนิดอื่น
2.) ผู้เป็นราคจริตนั้น เป็นผู้ที่มีกิเลสหนักไปทางด้านราคะ คือความเพลิดเพลินยินดี ซึ่งเป็นโลภะชนิดหนึ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงให้กรรมฐานที่เป็นปฏิปักษ์กัน คืออสุภกรรมฐาน คือให้พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งาม เป็นของเน่าเหม็น น่ารังเกียจของสิ่งต่างๆ ตลอดไปจนถึงซากศพ ซึ่งเป็นสภาพที่จะต้องเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในอนาคต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดกิเลสด้านนี้ลงไป
3.) ผู้เป็นโทสจริตนั้น เป็นผู้ที่มีจิตใจเร่าร้อน มักโกรธ ขัดเคืองใจได้ง่าย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เจริญเมตตาภาวนา คือการแผ่เมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ออกไปในทิศต่างๆ อย่างไม่มีประมาณ ซึ่งเป็นสภาวจิตที่ตรงข้ามกับโทสะ เพื่อปรับพื้นฐานจิตให้เย็นขึ้น
ผู้เป็นวิตักกจริตนั้น จิตใจมักซัดส่ายไปมาอยู่เสมอ จึงทรงให้อานาปานสติ คือให้ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องยึดจิตเอาไว้ ไม่ให้ซัดส่าย
ที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้ เป็นการให้กรรมฐานตามจริต แต่ความเหมาะสมของกรรมฐานสำหรับแต่ละบุคคลนั้น นอกจากเรื่องของจริตแล้ว ก็ยังมีเหตุปัจจัยในด้านอื่นๆ อีก ดังที่กล่าวแล้วในข้อ 1. ดังนั้น ชนิดของกรรมฐานจึงมีมากกว่าที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้
 

 
 
นั่งแล้วตัวสั่นและขาขยับได้เอง

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

คำถาม

เมื่อผมนั่งสมาธิมันจะมีอาการที่เกิอขึ้นกับร่างกายแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลยครับ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ครั้งงนี้ที่ผมทำมันมีอาการแปลกๆครัล คือขณะที่นั่งไปได้ไม่นานนักจะมีอาการสั่นของร่างกายเกิดขึ้น นานพอสมควรหลังงจากนั้นจะเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อขา(คล้ายกับเป็นตะคริว) หลังจากนั้นขาก็เหยียดออกและหดเข้า จากนั่งสมาธิชาขวาทับขาซ้าย เปลี่ยนไปเป็นนั่งสมาธิท่าอื่นๆ ซึ่งมันเกิดการเปลึ่ยนแปลงไปหลายท่า ซึ่งมันทำให้ผมเสียสมาธิพอสมควร แต่ผมก็พยายามกำหนดพุทโธไว้ ไม่ทราบว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไร

ตอบ

ความจริงอาการที่เล่ามานั้น ก็คืออาการที่รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติของมันให้เห็นนั่นแหละครับ คือแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความแปรปรวนไป ความไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฯลฯ (ดูเรื่องรูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ)

สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ *** อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่ากังวลใดๆ ทั้งสิ้น *** เพราะการทำสมาธิ หรือวิปัสสนาก็ตาม จะมีสิ่งแปลกๆ เกิดขึ้นได้เสมอ บางครั้งอาจจะแปลกอย่างไม่น่าเป็นไปได้เลยก็ได้ ถ้าไม่หายกลัวจริงๆ ก็หยุดนั่งก่อน แล้วไหว้พระสวดมนต์ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเพื่อเป็นกำลังใจ เพราะถ้านั่งด้วยความกลัวอาจเสียสติได้ (ถ้านั่งไม่ได้ก็ใช้วิธีเดินจงกรมไปก่อน อย่าฝืนนั่งด้วยความกลัว หรืออาจนั่งโดยมีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ ด้วย)

เมื่อหายกลัวแล้วจึงนั่งต่อไป แล้วก็รับรู้ตามสภาพที่ปรากฏในขณะนั้น อาจใช้คำบริกรรมประกอบตามอาการที่กำลังเกิดขึ้นนั้นด้วย (เช่น สั่น เหยียดขา ฯลฯ เพื่อเพิ่มความหนักแน่นของจิต และสติ) แล้วก็คอยดูคอยสังเกตมันต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะแสดงธรรมชาติของมันออกมาเรื่อยๆ ต่อไปอีก

ที่สำคัญอีกอย่างคือต้องมีสติให้มั่นคง อย่าเผลอ ถ้ามีอาการทางกาย วาจา หรือทางใจอย่างไรเกิดขึ้น (ทั้งในขณะทำกรรมฐาน และเวลาอื่นๆ) ก็ให้มีสติยั้งคิด พิจารณาว่าสิ่งนั้นสมควรหรือไม่ ถ้าสมควรทำก็ทำ ถ้าไม่สมควรก็อย่าเผลอปล่อยกาย ปล่อยใจไปตามนั้น (เช่น ถ้าคิดว่ายังไม่ควรเหยียดขาก็อย่าเหยียดออกไป)

ถ้าห้ามไม่ได้จริงๆ ก็หยุดพักจากการนั่งสมาธิในครั้งนั้นก่อน แล้วเดินจงกรมแทน โดยมีสติอยู่ที่การเคลื่อนไหวของเท้า ซึ่งจะเรียกสติได้ง่ายกว่าการนั่งสมาธิ (ถ้าเผลอปล่อยให้เป็นไปโดยขาดสติ จะถูกจิตใต้สำนึก หรืออะไรก็แล้วแต่ครอบงำเอาได้ แล้วต่อไปจะแก้ได้ยาก อาจถึงขั้นเพี้ยนได้ง่ายๆ)

อาการสั่นของร่างกายนั้น เมื่อเกิดขึ้นก็ขอให้ทำความรู้สึกตัวไปทั่วร่างกาย (มีสัมปชัญญะ) โดยเฉพาะจุดที่สั่นนั้น พร้อมกับมีสติประกอบด้วย แล้วทำความรู้สึกผ่อนคลายที่กล้ามเนื้อส่วนที่สั่นนั้น อย่าให้กล้ามเนื้อเกร็ง แล้วประคองสติเอาไว้ให้ได้ตลอด อย่าเผลอปล่อยกายใจไปโดยไม่ได้พิจารณาว่าควรหรือไม่ควร อย่าปล่อยให้จิตใต้สำนึก หรือสิ่งใดมาครอบงำจิตได้

ถ้าไม่หายก็ลืมตาสักพัก หรืออาจต้องเดินจงกรมสลับเป็นช่วงๆ (ก่อนนั่งทุกครั้งควรเดินจงกรมเพื่อฝึกสติก่อน) ถ้าอาการลักษณะนี้เกิดขึ้น อย่าได้เสียดายสมาธิครับ ต้องรีบเพิ่มกำลังของสติก่อน ก่อนที่จะมีปัญหาอื่นตามมา

เพราะอาการเช่นนี้มักเกิดจากการที่สติมีกำลังอ่อนกว่าสมาธิ จนตามสมาธิไม่ทัน ต้องฝึกสติโดยเดินจงกรมให้มากๆ ครับ รวมทั้งในชีวิตประจำวันก็ควรกำหนดรู้ในทุกอิริยาบถที่กระทำ และมีสติยั้งคิด พิจารณาว่าควรหรือไม่ควรก่อนพูด ทำ คิดในสิ่งต่างๆ และคอยห้ามใจไม่ให้เผลอกระทำในสิ่งที่ไม่สมควร ก็จะเพิ่มกำลังของสติได้มาก เพื่อปรับอินทรีย์ให้สมดุลกัน (อินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ถ้าสมดุลกันแล้วกรรมฐานก็จะเจริญก้าวหน้าได้ดี)
 

ออฟไลน์ 8

  • นับถือเพราะมีราคา
  • ประธาน
  • *****
  • กระทู้: 136
  • ฤา คุณค่านั้นมาจากใจ
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: 13/02/2549
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 13 ก.พ. 2549, 05:55:13 »
๏ หลักการทำสมาธิเบื้องต้น ๏
จิตของคนทั่วๆ ไปที่ไม่เคยทำสมาธินั้น ก็มักจะมีสภาพเหมือนม้าป่าพยศที่ยังไม่เคยถูกจับมาฝึกให้เชื่อง มีการซัดส่ายไปในทิศทางต่างๆ อยู่เป็นประจำ การทำสมาธินั้นก็เหมือนการจับม้าป่านั้นมาล่ามเชือก หรือใส่ไว้ในคอกเล็กๆ ไม่ยอมให้มีอิสระตามความเคยชิน เมื่อตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ม้านั้นก็ย่อมจะแสดงอาการพยศออกมา มีอาการดิ้นรน กวัดแกว่ง ไม่สามารถอยู่อย่างนิ่งสงบได้ ถ้ายิ่งพยายามบังคับ ควบคุมมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดิ้นรนมากขึ้นเท่านั้น

การจะฝึกม้าป่าให้เชื่องโดยไม่เหนื่อยมากนั้นต้องใจเย็นๆ โดยเริ่มจากการใส่ไว้ในคอกใหญ่ๆ แล้วปล่อยให้เคยชินกับคอกขนาดนั้นก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ลดขนาดของคอกลงเรื่อยๆ ม้านั้นก็จะเชื่องขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่แสดงอาการพยศอย่างรุนแรงเหมือนการพยายามบีบบังคับอย่างรีบร้อน เมื่อม้าเชื่องมากพอแล้ว ก็จะสามารถใส่บังเหียนแล้วนำไปฝึกได้โดยง่าย

การฝึกจิตก็เช่นกัน ถ้าใจร้อนคิดจะให้เกิดสมาธิอย่างรวดเร็วทั้งที่จิตยังไม่เชื่อง จิตจะดิ้นรนมาก และเมื่อพยายามบีบจิตให้นิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ จิตจะยิ่งเกิดอาการเกร็งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นจะหมายถึงความกระด้างของจิตที่เพิ่มขึ้น (จิตที่เกร็งจะเป็นจิตที่กระด้าง ซึ่งต่างจากจิตที่ผ่อนคลายจะเป็นจิตที่ประณีตกว่า) แล้วยังจะทำให้เหนื่อยอีกด้วย ถึงแม้บางครั้งอาจจะบังคับจิตไม่ให้ซัดส่ายได้ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าจิตมีอาการสั่น กระเพื่อมอยู่ภายใน

เหมือนการหัดขี่จักรยานใหม่ๆ ถึงแม้จะเริ่มทรงตัวได้แล้ว แต่ก็ขี่ไปด้วยอาการเกร็ง การขี่ในขณะนั้นนอกจากจะเหนื่อยแล้ว การทรงตัวก็ยังไม่นิ่มนวลราบเรียบอีกด้วย ซึ่งจะต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับการขับขี่ของคนที่ชำนาญแล้ว ที่จะสามารถขี่ไปได้ด้วยความรู้สึกที่ผ่อนคลายอย่างสบายๆ ราบเรียบ นุ่มนวล ไม่มีอาการสั่นเกร็ง

หลักทั่วไปในการทำสมาธินั้น พอจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1.) หาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำสมาธิให้มากที่สุดก่อนที่จะทำสมาธิ เพื่อจะได้ประหยัดเวลาไม่ต้องลองผิดลองถูก และไม่หลงทาง ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ หรือเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังป้องกันความฟุ้งซ่านที่อาจจะเกิดขึ้นจากความลังเลสงสัยอีกด้วย

2.) เลือกวิธีที่คิดว่าเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด แล้วลองทำไปสักระยะหนึ่งก่อน ถ้าทำแล้วสมาธิเกิดได้ยากก็ลองวิธีอื่นๆ ดูบ้าง เพราะจิตและลักษณะนิสัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีที่เหมาะสมของแต่ละคนจึงต่างกันไป บางคนอาจจะเหมาะกับการตามดูลมหายใจ ซึ่งอาจจะใช้คำบริกรรมว่าพุทธ-โธ หรือ เข้า/ออก ประกอบ บางคนอาจจะเหมาะกับการแผ่เมตตา บางคนถนัดการเพ่งกสิณ เช่นเพ่งวงกลมสีขาว ฯลฯ

ซึ่งวิธีการทำสมาธินั้นมีมากถึง 40 ชนิด เพื่อให้เหมาะกับคนแต่ละประเภท แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมากที่สุด ก็คืออานาปานสติ คือการตามสังเกต ตามรู้ลมหายใจเข้าออกนั่นเอง (ดูรายละเอียดได้ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ในหัวข้อวิธีแก้ไขนิวรณ์ 5/อุทธัจจกุกกุจจะ และในเรื่องอานาปานสติสูตร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ) เพราะทำได้ในทุกที่ โดยไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ใดๆ เลย ทำแล้วจิตใจเย็นสบาย ไม่เครียด

3.) อยู่ใกล้ผู้รู้ หรือรีบหาคนปรึกษาทันทีที่สงสัย เพื่อไม่ให้ความสงสัยมาทำให้จิตฟุ้งซ่าน

4.) พยายามตัดความกังวลทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นออกไปให้มากที่สุด โดยการทำงานทุกอย่างที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะทำสมาธิ หรือถ้าทำสมาธิไปแล้ว เกิดความกังวลถึงการงานใดขึ้นมา ก็ให้บอกกับตัวเองว่าตอนนี้เป็นเวลาทำสมาธิ ยังไม่ถึงเวลาทำงานอย่างอื่น เอาไว้ทำสมาธิเสร็จแล้วถึงไปทำงานเหล่านั้นก็ไม่เห็นเสียหายอะไร ถ้าแก้ความกังวลไม่หายจริงๆ ก็หยุดทำสมาธิแล้วรีบไปจัดการเรื่องนั้นๆ ให้เรียบร้อยก่อนก็ได้ ถ้าคิดว่าขืนนั่งต่อไปก็เสียเวลาเปล่า เมื่องานนั้นเสร็จแล้วก็รีบกลับมาทำสมาธิใหม่

5.) ก่อนนั่งสมาธิถ้าอาบน้ำได้ก็ควรอาบน้ำก่อน หรืออย่างน้อยก็ควรล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้าก่อนจะทำให้โล่งสบายตัว เมื่อกายสงบระงับ จิตก็จะสงบระงับได้ง่ายขึ้น

6.) ควรทำสมาธิในที่ที่เงียบสงบ อากาศเย็นสบาย ไม่พลุกพล่านจอแจ

7.) ก่อนนั่งสมาธิควรเดินจงกรม (เดินกลับไปกลับมาช้าๆ โดยยึดจิตไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งในเท้า ข้างที่กำลังเคลื่อนไหว เช่น ปลายเท้า หรือส้นเท้า โดยควรมีคำบริกรรมประกอบ เช่น ขวา/ซ้าย ฯลฯ) หรือสวดมนต์ก่อน เพื่อให้จิตเป็นสมาธิในระดับหนึ่งก่อน จะทำให้นั่งสมาธิได้ง่ายขึ้น

8.) การนั่งสมาธินั้นควรนั่งในท่าขัดสมาธิ หลังตรง (ไม่นั่งพิงเพราะจะทำให้ง่วงได้ง่าย) หรือถ้าร่างกายไม่อำนวย ก็อาจจะนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ นั่งบนพื้นที่อ่อนนุ่มตามสมควร ทอดตาลงต่ำ ทำกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลาย อย่าเกร็ง (เพราะการเกร็งจะทำให้ปวดเมื่อย และจะทำให้จิตเกร็งตามไปด้วย) นั่งให้ร่างกายอยู่ในท่าที่สมดุล มั่นคง ไม่โยกโคลงได้ง่าย มือทั้ง 2 ข้างประสานกัน ปลายนิ้วหัวแม่มือแตะกันเบาๆ วางไว้บนหน้าตัก หลับตาลงช้าๆ หลังจากนั้นส่งจิตไปสำรวจตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้ทั่วทั้งตัว เพื่อดูว่ามีกล้ามเนื้อส่วนใดที่เกร็งอยู่หรือไม่ ถ้าพบก็ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้หายเกร็ง โดยไล่จากปลายเท้าทีละข้าง ค่อยๆ สำรวจเลื่อนขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงสะโพก แล้วย้ายไปสำรวจที่ปลายเท้าอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นเดียวกัน จากนั้นก็สำรวจจากสะโพก ไล่ขึ้นไปจนถึงยอดอก แล้วสำรวจจากปลายนิ้วมือทีละข้าง ไล่มาจนถึงไหล่ เมื่อทำครบสองข้างแล้ว ก็สำรวจไล่จากยอดอกขึ้นไปจนถึงปลายเส้นผม ก็จะเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ทั่วร่างกาย จากนั้นหายใจเข้าออกลึกๆ สัก 3 รอบ โดยมีสติอยู่ที่ลมหายใจ ตรงจุดที่ลมกระทบปลายจมูก พร้อมกับทำจิตใจให้รู้สึกผ่อนคลายลงเรื่อยๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มทำสมาธิตามวิธีที่เลือกเอาไว้

9.) อย่าตั้งใจมากเกินไป อย่าไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนั้นวันนี้จะต้องได้ขั้นนั้นขั้นนี้ เพราะจะทำให้เคร่งเครียด จิตจะหยาบกระด้าง และจิตจะไม่อยู่กับปัจจุบัน เพราะมัวแต่ไปจดจ่ออยู่กับผลสำเร็จซึ่งยังไม่เกิดขึ้น จิตจะพุ่งไปที่อนาคต เมื่อจิตไม่อยู่ที่ปัจจุบันสมาธิก็ไม่เกิดขึ้น

ให้ทำใจให้สบายๆ ผ่อนคลาย คิดว่าได้แค่ไหนก็แค่นั้น แล้วค่อยๆ รวมจิตเข้ามาที่จุดที่ใช้ยึดจิตนั้น (เช่นลมหายใจ และคำบริกรรม) แล้วคอยสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในขณะนั้น (เช่น ความหยาบ/ละเอียด ความยาว ความลึก ความเย็น/ร้อน ของลมหายใจ) จิตก็จะอยู่ที่ปัจจุบัน แล้วสมาธิก็จะตามมาเอง ถ้าฟุ้งซ่านไปบ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของจิต อย่ากังวล อย่าอารมณ์เสีย (จะทำให้จิตหยาบขึ้น) เพราะคนอื่นๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น เมื่อรู้ตัวว่าฟุ้งออกไปแล้ว ก็ใจเย็นๆ กลับมาเริ่มทำสมาธิใหม่ แล้วจะดีขึ้นเรื่อยๆ เอง

10.) ใหม่ๆ ควรนั่งแต่น้อยก่อน เช่น 5 - 15 นาที แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 20, 30, 40, ... นาที ตามลำดับ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจค่อยๆ ปรับตัว เมื่อนั่งไปแล้วหากรู้สึกปวดขาหรือเป็นเหน็บ ก็ขอให้พยายามอดทนให้มากที่สุด ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ จึงจะขยับ เพราะทุกครั้งที่มีการขยับตัวจะทำให้จิตกวัดแกว่ง ทำให้สมาธิเคลื่อนได้ และโดยปรกติแล้วถ้าทนไปได้ถึงจุดหนึ่ง เมื่ออาการปวดหรือเป็นเหน็บนั้นเกิดขึ้นเต็มที่แล้ว อาการปวดหรือเป็นเหน็บนั้นก็จะหายไปเอง และมักจะเกิดความรู้สึกเบาสบายขึ้นมาแทนที่ ซึ่งเป็นอาการของปิติที่เกิดจากสมาธิ

11.) การทำสมาธินั้น เมื่อใช้สิ่งไหนเป็นเครื่องยึดจิต ก็ให้ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวเราทั้งหมดไปรวมเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ อยู่ที่จุดยึดจิตนั้น เช่น ถ้าใช้ลมหายใจ (อานาปานสติ) ก็ทำความรู้สึกว่าตัวเราทั้งหมดย่อส่วนเป็นตัวเล็กๆ ไปนั่งอยู่ที่จุดที่รู้สึกว่าลมกระทบอย่างชัดเจนที่สุด เช่นปลายรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง หรือริมฝีปากบน เป็นต้น ให้ทำความรู้สึกที่จุดนั้นเพียงจุดเดียว ไม่ต้องเลื่อนตามลมหายใจ เหมือนเวลาเลื่อยไม้ ตาก็มองเฉพาะที่จุดที่เลื่อยสัมผัสกับไม้เพียงจุดเดียว ไม่ต้องมองตามใบเลื่อย ก็จะรู้ได้ว่าตอนนี้กำลังเลื่อยเข้าหรือเลื่อยออก เมื่อจิตอยู่ที่จุดลมกระทบเพียงจุดเดียว ก็จะรู้ทิศทาง และลักษณะของลมได้เช่นกัน

12.) ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่ากังวล เพราะทั้งหมดเป็นเพียงอาการของจิต พยายามตั้งสติเอาไว้ให้มั่นคง ตราบใดที่ไม่กลัว ไม่ตกใจ ไม่ขาดสติ ก็จะไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ทำใจให้เป็นปรกติ แล้วคอยสังเกตสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ถ้าเห็นภาพที่น่ากลัวปรากฏขึ้นมา หรือรู้สึกว่าได้สัมผัสกับสิ่งที่น่ากลัวใดๆ ก็ตาม ให้แผ่เมตตาให้สิ่งเหล่านั้น แล้วคิดว่าอย่าได้มารบกวนการปฏิบัติของเราเลย ถ้าไม่หายกลัวก็นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางใจ แล้วพยายามอย่าใส่ใจถึงสิ่งที่น่ากลัวนั้นอีก ถ้าแก้ไม่หายจริงๆ ก็ตั้งสติเอาไว้ หายใจยาวๆ แล้วค่อยๆ ถอนจากสมาธิออกมา เมื่อใจเป็นปรกติแล้วถึงจะทำสมาธิใหม่อีกครั้ง สำหรับคนที่ตกใจง่าย ก็อาจนั่งสมาธิหน้าพระพุทธรูป หรือนั่งโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย ก่อนนั่งก็ควรสวดมนต์ไหว้พระก่อน แล้วอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครอง

13.) ถ้าจิตไม่สงบ ก็ลองแก้ไขตามวิธีที่ได้อธิบายเอาไว้ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ซึ่งได้อธิบายเอาไว้อย่างละเอียดแล้ว

14.) เมื่อจะออกจากสมาธิ ควรแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายก่อน โดยการระลึกถึงความปรารถนาให้ผู้อื่น และสัตว์ทั้งหลายมีความสุขด้วยใจจริง จากนั้นก็อุทิศส่วนกุศลที่ได้จากการทำสมาธินั้น ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ผู้มีพระคุณ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย (ระลึกให้ด้วยใจ) แล้วหายใจยาวๆ ลึกๆ สัก 3 รอบ พร้อมกับค่อยๆ ถอนความรู้สึกจากสมาธิช้าๆ เสร็จแล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้น บิดเนื้อบิดตัวคลายความปวดเมื่อย แล้วจึงค่อยๆ ลุกขึ้นยืนช้าๆ

15.) เมื่อตั้งใจจะทำสมาธิให้จริงจัง ควรงดเว้นจากการพูดคุยให้มากที่สุด เว้นแต่เพื่อให้คลายความสงสัยที่ค้างคาอยู่ในใจ เพราะการคุยกันนั้นจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน คือในขณะคุยกันก็มีโอกาสทำให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ ทำให้จิตหยาบกระด้างขึ้น และเมื่อทำสมาธิก็จะเก็บมาคิด ทำให้ทำสมาธิได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการคุยกับคนที่สมาธิน้อยกว่าเรา นอกจากนี้ ควรเว้นจากการร้องรำทำเพลง การฟังเพลง รวมถึงการดูการละเล่นทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มกามฉันทะ ซึ่งเป็นนิวรณ์ชนิดหนึ่ง (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ) อันเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 มิ.ย. 2550, 11:32:50 โดย เว็บ... »