หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล > สนทนาภาษาผู้ประพฤติ

...........จิต..........คืออะไร อยู่ที่ไหน.......

<< < (2/2)

ทรงกลด:
ขอบคุณที่มา และท่านwebmaster
http://nkgen.com/jit.htm
(ในต้นฉบับ มีการขยายความของคำต่างๆมากมายครับ)



(มหาตัณหาสังขยสูตร)

         จิตนั้นมีอยู่ แต่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของตัวตน  เกิดดับ เกิดดับ...ขึ้นตามเหตุปัจจัยการกระทบกันดังข้างต้นในมหาตัณหาสังขยสูตร  จึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุปัจจัย  จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวตนที่หมายถึงเราหรือของเรา จึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนาอย่างแท้จริง ที่หมายถึงเมื่อกระทบกันของอายตนะภายนอกและอายตนะภายในในผู้ยังดำรงขันธ์หรือชีวิตินทรีย์อยู่ ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ   แต่เพราะความที่ไปควบคุมเหตุบางประการได้ระยะหนึ่งเท่านั้ัน จึงเกิดมายาหลอกลวงจิตให้เห็นผิดไปว่าควบคุมบังคับมันได้  จิตจึงแปรปรวนไปตามเหตุหรือสิ่งที่กระทบสัมผัสอันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติ  โดยอาศัยส่วนหนึ่งของกายเป็นประตูหรือทวารเชื่อมอีกด้วยโดยอายตนะภายในต่างๆนั่นเอง  และกายก็ยังเป็นแหล่งแสดงผลของจิตอีกทางหนึ่งด้วย  ดังนั้นแม้แต่กายจริงๆแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งหรือเหตุปัจจัยหนึ่งของจิตอีกด้วย  ตลอดจนขันธ์ต่างๆของจิตเองอันมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต่างก็ล้วนเป็นสังขารสิ่งปรุงแต่งขึ้นทั้งสิ้นเช่นกัน จึงต่างก็ล้วนมีเหตุมีปัจจัยของมันเองทั้งสิ้น  ด้วยเหตุดังนี้นี่เอง จิตจึงเป็นสิ่งที่แปรปรวน ลึกลับสุดหยั่ง และควบคุมบังคับได้ยาก เพราะเกิดแต่เหตุปัจจัยมากหลายดังที่กล่าวมา  และยังมีมายาของจิตนั่นเองที่พยายามเสกสรรปั้นแต่งด้วยอำนาจของตัณหาอันยังให้เกิดอุปาทานให้เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นของตัวของตนอย่างแท้จริง

        ด้วยธรรมชาติของชีวิตดังนี้นี่เอง  เมื่อใจคิดนึกปรุงแต่ง กล่าวคือฟุ้งซ่าน ก็ย่อมเกิดจิตต่างๆขึ้นเป็นธรรมดา และเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องให้เกิดเวทนาต่างๆขึ้นอีกด้วยเป็นธรรมดา ดังได้กล่าวโดยละเอียดไว้แล้วในขันธ์ ๕  ด้วยเหตุนี้นี่เองจึงจำเป็นต้องมีสติรู้เท่าทันจิต กล่าวคือจิตสังขารที่ครอบคลุมทั้งเวทนาและจิตสังขารคิด แล้วหยุดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งเสีย กล่าวคือเมื่อยังปรุงแต่งฟุ้งซ่านอยู่ย่อมยังให้เกิดทุกขเวทนาขึ้นได้เป็นธรรมดา
        ดังนั้นเราจึงพอให้แค่ความหมายแก่จิต เพียงเพื่อใช้ในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจกันว่า
        จิต คือ องค์ประกอบอันสำคัญยิ่งของชีวิตทั้งหลาย ส่วนที่นอกเหนือไปจากส่วนรูปหรือรูปขันธ์(ร่างกายหรือตัวตน)  แต่ถึงกระนั้นกายนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของจิตอีกด้วย  หรือ
        จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ กล่าวคือ สภาวธรรมของชีวิตที่รับรู้อารมณ์ กล่าวคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่กระทบ,   สภาพที่นึกคิด,   ความคิด,   ใจ;

        ส่วนคำถามที่ว่า จิตอยู่ที่ไหน? นั้น เป็นคำตอบเดียวเช่นกับเงานั่นเอง กล่าวคือจิตไม่มีตัวตนแท้จริงเป็นอนัตตาเหมือนดังเงาดังที่กล่าวข้างต้น  เมื่อมีเหตุเป็นปัจจัยกัน จิตหนึ่งก็เกิดขึ้น  ไม่มีเหตุก็ไม่เกิด  จึงอิงหรือขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง  กล่าวคือในผู้มีชีวิตินทรีย์อยู่ เมื่ออายตนะภายนอกกระทบหรือประจวบกับอายตนะภายใน  จิตหนึ่งหรือวิญญาณหนึ่งก็ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
        จิตหรือวิญญาณ จึงเป็นไปดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ดีแล้ว ในมหาตัณหาสังขยสูตรตอนหนึ่งว่า
                ดูกรภิกษุทั้งหลาย  วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น
                เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ  ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี
        ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระเดชพระคุณเจ้าพระธรรมปิฏก ก็ได้กล่าวถึงจิตไว้ดังนี้   
         "จิต มีไวพจน์ คือ คำที่ต่างเพียงรูป แต่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน ใช้แทนกันได้หลายคำ เช่น มโน มานัส หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย์ และ วิญญาณ เป็นต้น คำเหล่านี้มีความหมายเกยกัน มิใช่ตรงกันโดยสมบูรณ์  ใช้แทนกันได้ในบางโอกาส มิใช่เสมอไป

        เมื่อจัดแบ่งสภาวธรรมทั้งหลายเป็นประเภทๆ ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕  จิตได้แก่ วิญญาณขันธ์.
        ส่วนคัมภีร์อภิธรรมรุ่นอรรถกถา ประมวลเรื่องจิตที่แสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎกแล้ว  แจงนับสภาพจิตทั้งหลายไว้ว่ามีจำนวน ๘๙  หรือโดยพิสดารมี ๑๒๑  เรียกว่า จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑

        แบ่ง โดยชาติหรือลักษณะของการเกิดแบบต่างๆ เป็น  อกุศลจิต ๑๒  กุศลจิต ๒๑ (พิสดารเป็น ๓๗)  วิปากจิต ๓๖ (๕๒)  และกิริยาจิต ๒๐;
        แบ่ง โดยภูมิ เป็น  กามาวจรจิต ๕๔  รูปาวจรจิต ๑๕  อรูปาวจรจิต ๑๒  และโลกุตตรจิต ๘ (พิสดารเป็น ๔๐)."

        ดังคำอรรถกถาธิบายข้างต้น  จะเห็นการจำแนกจิต   จิต โดยตามความเป็นจริงแล้วจึงเกิดได้หลายดวง  ดวงที่เป็นเพียงสรรพนามที่มีความหมายถึงอาการ จึงหมายถึงว่า จิตเกิดอาการของจิตได้หลายอาการในชั่วขณะหนึ่งเช่นกัน ดังเช่น เมื่อตากระทบรูป จิตหนึ่งหรือวิญญาณหนึ่งก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  และในขณะเดียวกันนั้นหูก็กระทบในเสียงก็ย่อมมีจิตอีกดวงย่อมเกิดขึ้นร่วมด้วยเป็นธรรมดา  และถ้าในขณะนั้นธรรมารมณ์(เช่นคิด)กระทบใจ ก็ย่อมมีอีกจิตหนึ่งร่วมเกิดขึ้นด้วยอีกเป็นธรรมดา ฯ.  จึงเกิดจิตได้หลายดวงหรืออาการในขณะหนึ่งๆ เพียงแต่ว่าจิตดวงใดเด่นหรือเป็นเอกอยู่ในขณะนั้นๆ หมายถึงแสดงอาการออกมาอย่างเด่นชัดที่สุดในขณะนั้นๆนั่นเอง  อุปมาได้ดังพลุที่ยิงขึ้นท้องฟ้าในงานเทศกาล อันย่อมประกอบด้วยพลุจำนวนมากนับสิบนับร้อย แต่ ณ ขณะหนึ่งๆนั้น ย่อมมีพลุที่งามเด่นในสายตาอยู่หนึ่ง  แต่แล้วต่างก็ล้วนต้องดับไปเป็นที่สุด  จิตก็เป็นไปเช่นดังพลุ   หรือดังเงาที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง

        เงานั้นเกิดแต่เหตุปัจจัย เช่น วัตถุทึบแสง และแสง เมื่อสิ่งเหล่านี้ กล่าวคือเหตุ มีอาการแปรปรวนอันใดเป็นธรรมดา  เงานั้นก็ต้องแปรปรวนหรืออิงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยนั้นๆ มิสามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เป็นไปตามปรารถนา  เพราะแปรปรวนหรืออิงกับเหตุอันมาเป็นปัจจัยแก่กันและกันเหล่านั้นเป็นธรรมดาอย่างจริงแท้แน่นอน  ไม่มีตัวตนที่แท้จริง หรือตัวตนไม่เป็นแก่นเป็นแกนอย่างแท้จริง  จิตก็เช่นเดียวกัน   แต่เงานั้นเมื่อมีอาการแปรปรวนไปเป็นธรรมดาแล้ว เป็นทุกข์ไหม?  ย่อมไม่เป็นทุกข์เพราะไม่มีตัณหาทะยานอยากหรือไม่อยากใดๆในเงานั้นนั่นเอง  อันเป็นสิ่งที่เราพึงต้องพยายามปฏิบัติให้เป็นเช่นนั้นต่อจิตหรือผลของจิตเช่นกัน

         เนื่องจากจิตเกิดแต่เหตุได้มากหลาย มาเป็นปัจจัยกัน   จิตจึงกวัดแกว่ง แปรปรวนได้ง่าย  ควบคุมบังคับได้ยาก  จึงต้องหัดควบคุมจิตไม่ให้กวัดแกว่ง แปรปรวน หรือฟุ้งซ่าน  เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการฝึกจิตให้มีสติ ระลึกรู้เมื่อปรุงแต่ง  และมีปัญญาอย่างแจ่มแจ้งไม่คิดนึกปรุงเพราะรู้เข้าใจว่า ถ้าคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านเสียแล้วย่อมก่อให้เกิดทุกข์อุปาทานขึ้นนั่นเอง

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version