ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติพระปลัดประสิทธิ์ ธมฺมโชโต (หลวงพี่ต้อย คงประจักษ์)  (อ่าน 7280 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)

ประวัติพระปลัดประสิทธิ์ ธมฺมโชโต (คงประจักษ์)

        พระปลัดประสิทธิ์ ธมฺมโชโต หรือนามที่ลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิดมักเรียกว่า “หลวงพี่ต้อย” ตามเอกสารทะเบียนราษฎรเกิดเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๗ (แจ้งเกิดล่าช้าประมาณ ๒ ปี) ที่บ้านตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โยมบิดาชื่อนายยม คงประจักษ์ โยมมารดาชื่อนางถนอม มามะเริง มีพี่น้องร่วม ๘ คน คือ

        ๑.   นายสนั่น
        ๒.     พระปลัดประสิทธิ์ ธมฺมโชโต
        ๓.   นางสาวเจนจิรา
        ๔.   นายสุนันท์ (ถึงแก่กรรม)
        ๕.   นายจำลอง
        ๖.   นายปฐพี
        ๗.   นางสาวมัทนิน
        ๘.   นางสาววันเพ็ญ
        และมีน้องสาวต่างมารดา ๒ คน คือ
        ๑.   นางสาวพเยาว์
        ๒.   นางสาวประทุมทิพย์



        ในวัยเด็ก หลวงพี่ต้อยมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงนัก โยมแม่จึงพาไปหาพระอาจารย์เปลี่ยน ปัดรังควานเพื่อเป็นสิริมงคลให้ และยกหลวงพี่ต้อยเป็นบุตรบุญธรรมของเตี่ยยุง แม่หนู นุชจำเริญ

   หลวงพี่ต้อยได้รับความรักและการดูแลอย่างดีจากเตี่ยยุง แม่หนู รวมทั้งญาติๆ ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะอางานและอาตุ๊ ส่งผลให้หลวงพี่ต้อยเป็นคนมีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจเย็น เป็นมิตรกับทุกๆ คน

   เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดบางพระ ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ที่วัดโคกเขมา โดยมีพระอธิการเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นเจ้าอาวาส





   ปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้อุปสมบทที่วัดบางพระ จำพรรษาได้ครบ ๑ พรรษา จึงลาสิกขาเพื่อไปช่วยเหลือครอบครัวประกอบอาชีพ

   หลวงพี่ต้อยช่วยงานในครอบครัวเท่าที่สุขภาพร่างกายจะพอรับได้ ไม่เคยวางเฉย ทั้งๆ ที่ตัวเล็กนิดเดียว หลวงพี่ต้อยไม่เคยท้อที่จะต้องช่วยเตี่ยยุงใช้ระหัดชกมวยวิดน้ำเข้าสวน

   หลวงพี่ต้อยหารายได้ช่วยครอบครัวด้วยการเป็นกระเป๋ารถเมล์สายบางพระ-นครปฐม ผู้โดยสารโดยเฉพาะนักเรียนที่ต้องใช้บริการรถเมล์ทุกวัน เห็นกระเป๋ารถเมล์ผู้มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกับผู้โดยสารด้วยถ้อยคำสุภาพ สนุกสนานอยู่เป็นนิจ หลวงพี่ต้อยจึงเป็นกระเป๋ารถเมล์ที่เป็นขวัญใจของผู้โดยสารในยุคนั้นอย่างแท้จริง





   ยามว่างในช่วงชีวิตของความเป็นวัยรุ่น หลวงพี่ต้อยร่วมเป็นสมาชิกชมรมพัฒนาวัดบางพระ ที่มีสมาชิกเป็นวัยรุ่นทั้งชายและหญิงหลายสิบคน โดยมีคุณครูเทพ ปิ่นเวหา เป็นหัวหน้าชมรม รวมพลังกันสร้างความดี ทำงานเพื่อส่วนรวม กิจกรรมใดๆ ที่ต้องการกำลังงานจากชมรม หลวงพี่ต้อยและสมาชิกทุกคนจะพร้อมใจกัน ไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย ช่วยกันดายหญ้าหน้าวัด หน้าโรงเรียน ขายทองงานประจำปีของวัด ขนทราย เทปูนในวัด และหลวงพี่ต้อยก็มักทำตัวเป็นชูรสของกลุ่มทำงานอยู่เสมอ เพราะขณะทำงานเหนื่อยๆ ก็หาเรื่องราวมาเล่าให้สนุกสนานไปกับการทำงานได้เป็นอย่างดี

   การใช้ชีวิตในความเป็นฆราวาสช่วงนี้ เป็นสิ่งที่หลวงพี่ต้อยต้องทบทวนเพื่อหาคำตอบให้กับตัวเอง และสิ่งที่เป็นคำตอบคือ
“ขอบวชอีกครั้ง”

   ปี พ.ศ.๒๕๒๒ หลวงพี่ต้อย อุปสมบทครั้งที่ ๒ เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี ณ พัทธสีมาวัดบางพระ โดยมีพระครูปัญญาประยุต (หลวงพ่อมาก ปญฺญายุตฺโต) วัดสุขวัฒนาราม (บางระกำ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุนทรวุฒิคุณ (หลวงพ่อพุฒ สุนฺทโร) วัดกลางบางพระ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์






   เมื่อบวชเป็นพระ สิ่งที่หลวงพี่ต้อยมุ่งมั่นด้วยใจที่แน่วแน่คือการศึกษาพระธรรมวินัย จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ และสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปี พ.ศ.๒๕๒๕

   นอกจากศึกษาพระธรรมวินัยแล้ว หลวงพี่ต้อยยังได้ศึกษาวิชาความรู้และศาสตร์ต่างๆ จากพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) ซึ่งเป็นปู่แท้ๆ ของหลวงพี่ต้อย และได้ยึดถือเป็นต้นแบบทั้งการทำหน้าที่ของสงฆ์ การวางตัว ความมีเมตตา และสิ่งสำคัญที่หลวงพี่ต้อยปฏิบัติมาโดยตลอดคือ
“การเป็นผู้ให้”

   ปี พ.ศ.๒๕๓๘ หลวงพี่ต้อยได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระปลัด” ฐานานุกรมในพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) เจ้าอาวาสวัดบางพระ ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม






   หลวงพี่ต้อยเป็นพระที่มีเมตตาสูง จึงทำให้มีลูกศิษย์มากมาย และด้วยแรงศรัทธาเหล่านั้น ทั้งเงินและสิ่งของที่ลูกศิษย์นำมาถวาย หลวงพี่ต้อยจะเก็บรวบรวม และให้กับบุคคลหรือสถานที่ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมทั้งสิ้น หลวงพี่ต้อยยิ่งให้ หลวงพี่ต้อยยิ่งได้รับ เป็นความจริงในข้อนี้ เพราะหลวงพี่ต้อยไม่มีเงินเดือน ไม่มีรายได้ประจำ แต่หลวงพี่ต้อยได้รับศรัทธา และส่งแรงศรัทธาเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังจะเห็นได้ว่าหลวงพี่ต้อยร่วมสร้างถาวรวัตถุร่วมกับพระเดชพระคุณพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) เช่น สร้างอุโบสถวัดหนองกรับ จ.สุพรรณบุรี สร้างอุโบสถวัดหนองผักไร จ.นครราชสีมา บูรณะศาลาการเปรียญวัดหลักร้อย จ.นครราชสีมา บูรณะศาลาการเปรียญวัดสายโทรเลข จ.ตาก สร้างศาลาการเปรียญวัดอมราวดี จ.ตาก สร้างฌาปนสถาน ณ สำนักสงฆ์หนองกิ่งฟ้า จ.ตาก ทอดกฐินสามัคคี วัดเวียงแก้ว จ.เชียงราย สร้างอุโบสถวัดมาตานุสรณ์ จ.ตาก สร้างอาคารเรียน ห้องคอมพิวเตอร์ โรงเรียนวัดบางพระ สร้างสะพานข้ามคลองเข้าวัดเกษตราราม สร้างห้องคอมพิวเตอร์ โรงเรียนวัดเกษตราราม อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นต้น และสิ่งสุดท้ายที่หลวงพี่ต้อยหมดห่วงคือ จัดหารถพยาบาลสำหรับรับ-ส่ง ผู้ป่วย มอบให้กับโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เป็นที่เรียบร้อย

   ด้วยแรงศรัทธาของลูกศิษย์ และด้วยหัวใจอันเปี่ยมล้นของความเป็นผู้ให้ หลวงพี่ต้อยต้องเดินทางไม่ว่าใกล้หรือไกล หลวงพี่ต้อยไปประเทศจีน ทั้งเมืองคุณหมิง ปักกิ่ง และฮ่องกง กิจนิมนต์บ้านลูกศิษย์ที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย หลวงพี่ต้อยก็ไปเพื่อเป็นการฉลองศรัทธาของลูกศิษย์ที่มีต่อหลวงพี่ต้อย นับเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันสมบูรณ์ยิ่ง ตลอด ๓๘ พรรษา ของหลวงพี่ต้อย







   ปี พ.ศ.๒๕๕๓ หลวงพี่ต้อยเริ่มมีอาการอาพาธหายใจไม่ออก ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ญาติ และบรรดาลูกศิษย์ที่ทราบข่าวอาการอาพาธของหลวงพี่ต้อยพากันวิตกกังวล ด้วยผลการตรวจของแพทย์ทางโรงพยาบาลทรวงอกที่แจ้งว่า ตรวจพบมะเร็งปอดระยะสุดท้ายถึง ๕ ก้อน ซึ่งอยู่ในบริเวณอวัยวะสำคัญ ผ่าตัดได้ไม่หมด ทำให้เชื้อมะเร็งลุกลามอย่างรวดเร็ว

   ปี พ.ศ.๒๕๕๗ เชื้อมะเร็งลามขึ้นสมอง แพทย์รักษาด้วยวิธีการฉายแสงถึง ๑๓ ครั้ง ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ทุกๆ คนที่อยู่ใกล้ชิดจะทราบดีว่า ขณะที่หลวงพี่ต้อยอาพาธเจ็บปวดเพียงใด หลวงพี่ต้อยจะเก็บซ่อนความรู้สึกไม่ให้ใครเป็นทุกข์ไปด้วย แม้ขณะนอนอยู่ในโรงพยาบาล ทุกๆ คนที่ไปเยี่ยมจะพบกับใบหน้ายิ้มแย้ม และท่านจะเล่าเหตุการณ์ในการรักษาของแพทย์เป็นเรื่องตลกขบขันให้ฟังเป็นส่วนใหญ่

   ปี พ.ศ.๒๕๕๘ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ลงความเห็นว่า เชื้อมะเร็งลามมาที่กระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกผุลงมาทับเส้นประสาท ส่งผลให้เดินไม่ได้

   ท้ายสุดแห่งชีวิต หลวงพี่ต้อยขอกลับมารักษาตัวอยู่ที่วัด บรรดาลูกศิษย์และญาติพี่น้องพากันแวะเวียนมาเยี่ยมมิได้ขาด สิ่งที่ทุกๆ คนได้เห็นคือ สายตาที่เปี่ยมด้วยความเมตตา และพยายามพูดคุยกับทุกคนให้คลายกังวลกับอาการอาพาธของหลวงพี่ต้อย ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่หลวงพี่ต้อยจะให้กับทุกคนได้


   หลวงพี่ต้อยมรณภาพอย่างสงบ ท่ามกลางความรักความอาลัยของแพทย์ พยาบาล ญาติพี่น้อง และลูกศิษย์ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๑๖.๔๓ น. สิริอายุได้ ๖๒ ปี (นับอายุจริง ๖๔ ปี) ๕ เดือน ๑๒ วัน








   
แสงตะวัน ลาลับ ดับขอบฟ้า   เหลือเพียงแต่ หยดน้ำตา ที่รินไหล
พระประสิทธิ์ ผู้เป็น ดั่งร่มไทร      มาจากลา อาลัย ไม่กลับมา
   ต่อไปนี้ จะไม่มี ท่านอีกแล้ว   ร่มโพธิ์แก้ว ต้นใหญ่ ใบดกหนา
ให้ร่มเงา ดับร้อน ด้วยเมตตา      ต้องร้างลา จากไป ให้จาบัลย์
   อานิสงส์ ผลบุญ ที่ท่านสร้าง   คุณความดี ทุกอย่าง ที่สร้างสรรค์
จะสถิต ในใจคน จนนิรันดร์       ศรัทธานั้น จะคงอยู่ ตลอดกาล
   ยี่สิบเจ็ด ตุลา ปีห้าเก้า         คือวันที่ แสนโศกเศร้า มหาศาล
ยกมือไหว้ ด้วยใจ อันร้าวราน      กราบนมัสการ ด้วยศรัทธา และอาลัย

ประพันธ์โดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น

:089: :089: :089: :089: :089: :089: :089: :089: :089:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ต.ค. 2561, 01:34:07 โดย ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์) »

ออฟไลน์ Dartagnan

  • Dartagnan
  • ปฐมะ
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
ชอบครับเอาเรื่องของพระแต่ล่ะองค์มาให้อ่านกัน

ออฟไลน์ Hacino

  • Hacino
  • ปฐมะ
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
ดีมากเลยครับทำให้ได้รับความรู้ที่ดีมาก