ผู้เขียน หัวข้อ: อายุยืนอย่างมีคุณค่า...  (อ่าน 1494 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
อายุยืนอย่างมีคุณค่า...
« เมื่อ: 24 พ.ย. 2552, 09:26:23 »


พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตฺโต)
วัดญาณเวศกวัน  ต.บางกระทึก  อ.สามพราน  จ.นครปฐม
อายุยืนอย่างมีคุณค่า
มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งในอังคุตตรนิกาย ตรัสไว้ว่า
“ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นสิ่งที่คนปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของหาได้ยากในโลก
กล่าวคือ อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์”
“ธรรม ๕ ประการนี้ เราไม่กล่าวว่าจะพึงได้มาด้วยการอ้อนวอน หรือด้วยความปรารถนา ถ้าการได้ธรรม ๕ ประการนี้ จะมีได้ด้วยการอ้อนวอนหรือเพียงด้วยปรารถนาเอาแล้วไซร้ ใครๆ ในโลกนี้จะพึงพลาดขาดอะไร”
“อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ ไม่ควรอ้อนวอนหรือมัวเพลิดเพลินกับอายุ เพราะเห็นแก่อายุนั้นเลย แต่อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ พึงดำเนินตามข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่ออายุ เพราะข้อปฏิบัติ อันเป็นไปเพื่ออายุ ที่ดำเนินตามแล้วนั่นแหละ จึงจะเป็นไปเพื่อการได้อายุ อริยสาวกนั้นก็จะเป็นผู้ได้อายุไม่ว่าจะเป็นของทิพย์หรือของมนุษย์”
“อริยสาวกผู้ปรารถนา วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ ก็ไม่ควรอ้อนวอนหรือมัวเพลิดเพลินกับวรรณะ สุข ยศ สวรรค์ เพราะเห็นแก่วรรณะ สุข ยศ สวรรค์นั้นเลย แต่อริยสาวกผู้ปรารถนาวรรณะสุข ยศ สวรรค์ พึงดำเนินข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อวรรณะ สุข ยศ สวรรค์…”

 


อายุ: พลังขับเคลื่อนชีวิต
ความมีชีวิตยืนยาว
คำสำคัญที่พึงเน้นในโอกาสนี้ คือ ‘อายุ’ อายุนั้น ตามความหมายทั่วไป เช่นในพจนานุกรมไทย แปลว่า เวลาที่ดำรงชีวิตอยู่ เวลาชั่วชีวิต ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง พูดสั้นๆ ว่า ช่วงเวลาแห่งชีวิต หรือช่วงชีวิตนับแต่เกิดมา แต่อายุที่เป็นคำเดิมในภาษาบาลีมีความหมายลึกลงไปอีก หมายถึงเนื้อตัวของชีวิต หรือพลังที่เป็นแกนของชีวิต ก็ได้ คือ  หมายถึงพลังที่ทำให้ชีวิตสืบต่อดำเนินไป หรือพลังที่ช่วยให้องค์ประกอบต่างๆ ของชีวิตเจริญงอกงามขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ในบาลีมากมายหลายแห่งอายุจึงหมายถึงความมีชีวิตยืนยาว หรือการเป็นอยู่สืบต่อไปได้ยาวนาน อย่างที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘อายุยืน’ แม้คำว่าอายุในพุทธพจน์ที่ยกมากล่าวข้างต้น ก็มีความหมายตามนัยอย่างหลังที่ได้เสดงมานี้
อายุเป็นตัวนำ เป็นแกนเป็นพื้นฐานรองรับคุณสมบัติอย่างอื่นๆ ทั้งหมด เพราะเหตุว่าต่อเมื่อยังทรงอายุคือมีชีวิตเป็นไปอยู่ คุณสมบัติอย่างอื่นๆ เช่น วรรณะ สุข ยศ และความไร้โรคเป็นต้น จึงจะมีได้และจึงจะบังเกิดประโยชน์แก่ผู้นั้นได้ ฉะนั้น อายุคือพลังขับเคลื่อนชีวิตและความมีชีวิตยืนยาว จึงเป็นธรรมสำคัญที่คนทั่วไปปรารถนา
ข้อปฏิบัติเพื่อให้มีอายุยืน
ข้อปฏิบัติที่จะทำให้มีอายุยืน หรือเรียกอย่างสำนวนบาลีว่า ปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อการได้อายุนั้น แยกได้เป็น ๒ ด้าน คือ ด้านร่างกายหรือฝ่ายรูปธรรม กับด้านจิตใจหรือฝ่ายนามธรรมทางด้านรูปธรรม อายุย่อมอาศัยความมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมีสุขภาพดี ไม่มีโรคร้ายเบียดเบียน หรือมีโรคเบาบาง การรู้จักบำรุงร่างกายอย่างมิใช่ปรนเปรอ การระวังรักษาสุขภาพ การป้องกันและบำบัดโรค การรู้จักบริโภคปัจจัยสี่และปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมด้วยใช้ปัญญาอย่างที่เรียกว่ามี ‘โยนิโสมนสิการ’
ในทางพระพุทธศาสนา ท่านมองเห็นความสำคัญของการรักษาสุขภาพทางกายเพื่อดำรงอายุไว้ โดยถือว่าเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของชีวิตที่ดีในระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ดังตัวอย่างพุทธโอวาทที่ประทานแก่พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศล
เรื่องมีว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลมักเสวยกระยาหารมาก เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงประทับนั่งอึดอัด ทั้งพระวรกายก็อุ้ยอ้าย พระพุทธเจ้าทรงประสงค์จะอนุเคราะห์ จึงตรัสแนะนำด้วยพุทธโอวาทคาถาหนึ่ง ซึ่งแปลเป็นไทยได้ความว่า
“คนที่มีสติอยู่ตลอดเวลา รู้จักประมาณในการบริโภค ย่อมมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า ครองอายุอยู่ได้นาน”
พระเจ้าโกศล ทรงให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งจำคาถานั้นไว้ และคอยกล่าวในเวลาเสวยทุกครั้งเป็นเครื่องเตือนพระสติให้ทรงยับยั้งไม่เสวยเกินประมาณ ต่อมาไม่นานนักก็ทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงสามารถวิ่งขับจับม้าจับกวางได้ มีพระดำรัสชื่นชมพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้าว่า ได้ทรงอนุเคราะห์พระองค์ทั้งด้วยประโยชน์ที่มองเห็นและด้วยประโยชน์ที่เลยสายตา
พุทธดำรัสที่ตรัสย้ำอยู่เสมอก็คือคำแนะนำให้บริโภคสิ่งต่างๆ ด้วยโยนิโสมนสิการ คือรู้จักพิจารณากินใช้ด้วยคำนึงถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ เพื่อให้พอดีที่จะไม่เกิดโทษ แต่ให้เป็นคุณประโยชน์ เป็นเครื่องส่งเสริมชีวิตที่ดีงาม เช่น กินอาหารมิใช่เพื่อเห็นแก่สนุกสนานมัวเมา แต่เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นอยู่ผาสุก สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐได้ ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันและบรรเทาหนาวร้อนลมแดด คุ้มภัย พักผ่อน ใช้ชีวิตส่วนตัวเป็นต้น มิใช่เพื่อฟุ้งเฟ้อแข่งขัน หรือเมาเกียรติเมายศอวดข่มใครๆ ผู้ใดคุมตนให้ปฏิบัติได้ตามที่ปัญญาบอกอย่างนี้ ท่านเรียกว่ามีนิสสรณปัญญา คือ มีปัญญาที่ทำชีวิตให้เป็นอิสระ หรือมีปัญญาพาไปสู่ความรอด หรือมีปัญญาสำหรับปลดปล่อยตัวให้เป็นอิสระ ถ้าสามารถปลดปล่อยตัวให้เป็นอิสระได้แล้ว ก็นับว่ามีความพร้อม หรือมีคุณสมบัติพื้นฐานที่จะไปช่วยปลดปล่อยผู้อื่นต่อไปได้อย่างดี เมื่อชีวิตเป็นอิสระปลอดโปร่ง ปราศจากสิ่งบีบคั้น ก็ย่อมเกื้อกูลแก่การที่อายุจะดำรงอยู่ได้ยืนนาน...


ออฟไลน์ nantawat

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 21
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: อายุยืนอย่างมีคุณค่า...
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 24 พ.ย. 2552, 09:37:51 »
อนุโมทนา สาธุ ครับ  :017: