ผู้เขียน หัวข้อ: มรรควิถีของพระอริยะ...  (อ่าน 1793 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
มรรควิถีของพระอริยะ...
« เมื่อ: 13 ม.ค. 2553, 06:04:49 »
มรรควิถีของพระอริยะ





. . . . . มรรค เส้นทาง ทางที่มุ่งไปสู่จุดหมายหรือผลลัพท์ของทางนั้น ส่วนผล หรือเป้าหมาย คือจุดหมายปลายทางของเส้นทาง เป็นประดุจรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับหลังภารกิจในการเดินทางนั้นจบสิ้นลง โดยไม่หลงทาง . . .

ใครหลายคนอาจนึกอยากเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ไม่สะเทือนกับโลก เป็นผู้มีจิตนิ่งประดุจภูผา ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ใดๆ ..หรือไม่ ก็อยากเป็นพระโสดาบัน เพราะเป็นผู้เข้าถึงกระแส มีทิฏฐิดีแล้ว มีความเห็นชอบดีแล้วในระดับหนึ่ง สะเทือนกับโลกน้อยลง มีแต่จะเจริญขึ้น ในทางที่จะก้าวไปสู่ความจริงสูงสุด คือ ไปนึกเอาถึงผลหรือจุดหมายปลายทาง หวังจะได้ผลแทนจะออกเดินทางไปหาผล

แต่คนเราหากไม่เดินทาง ..ย่อมไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง การนึกเอา-ปรารถนาเอา-ฝันเอา แล้วบอกว่าจะได้จะเป็น มันก็เป็นได้ แต่เป็นได้แค่ฝันแค่ปรารถนาแค่นึกเช่นกัน บางคนออกเดินทางจริงแต่เดินไปในอีกทาง หลงทาง แต่ทั้งคนที่นึกเอาปรารถนาเอาและคนที่หลงทาง กลับมั่นใจว่าตนมาถึงจุดหมายปลายทาง จะเห็นได้ว่าคนที่คิดว่าตนเป็นพระอริยะนี่มีจำนวนไม่น้อย ไปหวังเอาผล ศึกษาผล รู้ผล อยากได้ผล แต่ไม่รู้ทาง.. อาจเพราะยังรักอัตตาไว้อย่างเหนียวแน่น อยากจะเป็นพระอริยะขึ้นมาเพราะอัตตา หากถ้าจะให้ปล่อยอัตตาจริงๆ จะทำได้หรือเปล่า ?
มรรคญาณผลญาณของพระอริยะเกิดขึ้นได้จริงๆ เมื่อลงมือเดินทางจริง คือปฏิบัติจริง การเดินทางนี่ไม่ใช่เดินเล่นๆ แต่ต้องเอาจริง เดินให้ถูกทาง อริยมรรคนี่มีอยู่ แค่คิดฝันแล้วอ้างว่าจิตมีพลังจะทำให้เกิดผลอะไรแบบนั้นมันหลงทางนะ ฤทธิ์เดชนี่ก็ทำลายกิเลสไม่ได้ คือการบรรลุธรรมนี่ ไม่ได้กลายเป็นคนวิเศษขึ้นมา แล้วก็ไม่ได้บรรลุถึงสิ่งใดเลย นอกจากดับกิเลสไป

และหากจะตัดกิเลสนั้นต้องใช้ สติ-สมาธิ-ปัญญา หรือที่จริงก็คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา คือมีกำลังทั้งห้าพร้อม แล้วคนจะมีกำลังได้ก็ต้องออกกำลังบ่อยๆ คือลงมือทำจริง มรรคนี่ต้องเจริญบ่อยๆ ทำให้แจ้ง คือ อริยมรรคมีองค์แปด สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ..หมั่นเจริญแล้วมันต้องมีกำลังขึ้นมา อริยมรรคนี่ถ้าทำแล้วก็ต้องมีกำลังอย่างอริยะ

อริยมรรคมีองค์แปดหรือศีลสมาธิปัญญาหรือสติปัฏฐานสี่นี่เอง ที่จะสร้างกำลัง ไม่ใช่ไปทำบุญแล้วมาทำบาป ช่วยพระแล้วมาด่าคนอะไรแบบนั้น ไม่ได้ประโยชน์ นอกจากขึ้นๆ ลงๆ ตามภพภูมิไม่รู้จบ เดี๋ยวขึ้นสวรรค์เดี๋ยวลงนรก ไม่ได้เป็นกุศลคือหลุดจากการเวียนว่าย เมื่อไม่ได้เข้าทางเข้ามรรคมันก็จะไม่เกิดผล หรือไปหวังเอาผลแล้วไม่ลงมือทำ แล้วผลมันจะเกิดได้อย่างไร อริยมรรคนั้นต้องพากเพียร สติอย่าให้ขาด ปัญญาก็จะเกิด

ไม่ใช่อยากเป็นพระโสดาบันเพราะจะได้มีศีลห้าบริบูรณ์ แต่กลับไม่เจริญมรรค แทนที่จะรักษาศีลคือลงมือทำก่อน เพราะเห็นโทษในการผิดศีลซึ่งทำให้เกิดกิเลสอย่างหยาบ ทั้งฆ่ากันทำร้ายกันลักขโมยกันผิดคู่กันโกหกกันขาดสติ รังแต่จะทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์มาก เพราะเห็นโทษแบบนั้น ก็ข่มใจไม่ผิดศีล ไม่มุสา เป็นผู้รักษาสติ ตั้งใจจะไม่ผิดศีลไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เดินทางก่อน เจริญมรรคก่อน พอถึงจุดนึงจิตมันมีกำลังประหารกิเลส ผลมันต้องได้ กลายเป็นพระโสดาบันมีศีลรักษาตัวเองขึ้นมา คือมีความเป็นปกติ ..ชีวิตไม่เดือดร้อนเพราะผิดศีล

หรือไม่ใช่อยากเป็นพระสกทาคามีเพราะจะให้กิเลสราคะโทสะโมหะลดลง แต่เพราะเห็นโทษของการผิดศีลและโทษของกิเลสที่รุนแรง ก็ตั้งสติ เอาชนะกิเลสตัวเองให้ได้ ไม่ใช่เอาชนะคนอื่นด้วยกิเลสของตัว แต่ต่อสู้กับกิเลสของตัว เอาชนะความโกรธโลภหลงของตน มรรคของพระสกทาคามีเกิดขึ้นในใจ พอวันนึงจิตมันมีกำลังพร้อมเพราะเจริญมรรคบ่อยเข้า กำลังมันก็สมังคีประหารกิเลสไป กิเลสแห้งไป ผลมันก็ต้องเกิด คือเป็นพระสกทาคามีขึ้นมา

แล้วไม่ใช่อยากเป็นพระอนาคามีเพราะจะได้ไม่มีกามราคะหรือเป็นผู้ไม่หวั่นไหวกับโลก แต่เป็นเพราะเห็นโทษของกามว่าเป็นของร้อน เห็นโทษของความมีอารมณ์หวั่นไหวไปกับโลก เดี๋ยวหวาดกลัว กลัวตาย กลัวนั่นกลัวนี่ ชีวิตมีแต่ความกลัว เดี๋ยวพอใจไม่พอใจ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวชอบชัง หงุดหงิดรำคาญใจราวคนบ้า หาความสงบมั่นคงในใจไม่ได้ คนรักษาอารมณ์ไม่ได้ก็ต้องเต้นไปตามกิเลสตัวเอง เป็นทุกข์ร้อนใจมิได้ขาด เมื่อเห็นดังนี้ ก็หมั่นเจริญมรรคสูงขึ้น มีสติรอบคอบในการรักษาอารมณ์ไม่ให้หลงโลก เมื่อเจริญมรรคละเอียดขึ้น กำลังพร้อมเมื่อไหร่มันก็ประหารกิเลสตัณหาได้ เป็นผู้ไม่มีกามไม่มีปฏิฆะ เป็นพระอนาคามีขึ้นมา

สุดท้าย.. ไม่ใช่อยากเป็นพระอรหันต์เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ดับกิเลสได้หมด แต่เพราะเบื่อในความไม่บริสุทธิ์ ยังมีกิเลสยังไม่พ้นการเกิด เห็นโทษในวัฏฏะสังสารอันนองไปด้วยน้ำตา มีความเกิดแก่เจ็บตายไม่เที่ยง มีความพลัดพรากโศกเศร้าเสมอ จึงหาทางพ้นไปจากการเกิด แม้นแต่สังโยชน์เบื้องสูงอันน่ายินดี คือความสุขในรูปราคะและอรูปราคะ ก็ไม่ปรารถนา ความถือตัวก็ไม่ปรารถนา มีสติในการปล่อยวางเครื่องร้อยรัดใจอยู่เสมอ เมื่อมีสติบริบูรณ์ มรรคญาณมีกำลังมาก กิเลสตัณหาทั้งมวลก็ประหารได้ขาด หมดอาสวะกิเลสสิ้นเชิง เป็นผู้มีอิสระเหนือโลก ไม่มีความยินดีในโลกแห่งทุกข์อีก เป็นผู้บริสุทธิ์เหนือบุญบาป

พุทธพจน์ "ดูก่อนอานนท์ บุคคลใดจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือปฏิบัติธรรมถูกทาง ปฏิบัติตามตรงตามเป้าหมายแท้จริง บุคคลนั้นชื่อว่าสักการะ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม"

หากมีการเดินเข้ามรรคเข้าทางถูกแล้ว ย่อมเห็นสมมุติสัจจะอันไม่เที่ยง เมื่อเข้าใจสมมุติสัจจะแจ่มแจ้ง ก็ย่อมทะลวงเข้าสู่ปรมัตถ์สัจจะได้ หลุดจากสมมุติได้

เพราะความที่เห็นสมมุติสัจจะจนเบื่อหน่าย จิตก็เจริญอริยมรรคบ่อยๆ ในกรรมฐานก็ดี นอกกรรมฐานก็ดี หากเจริญมรรคจนถึงขั้นจิตทรงตัวอยู่ในอารมณ์โคตรภูญาณ คือมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ทว่ายังอยู่ระหว่างสองฝั่งคือโลกียะกับโลกุตตระ ส่วนจะข้ามฝั่งไปยังโลกกุตตระได้หรือไม่นี่ ย่อมอยู่ที่มรรคญาณจะกล้าแกร่งและมีกำลังประหารกิเลสหรือไม่ ถ้ากำลังไม่พร้อมก็ข้ามไปไม่ได้ แต่ถ้าเจริญสติต่อเนื่องมีกำลังพร้อมขึ้นมาเมื่อไหร่ แค่เสี้ยววินาทีมันได้ทันที คืออริยมรรคสมังคีนี่ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม กิเลสมันถูกประหารขาดได้ตามกำลัง ทุกที่ทุกเวลาทุกอิริยาบถ

ส่วนผลญาณคือจะเป็นอริยบุคคลขั้นไหนนี่ มันก็ตามแต่กำลังของมรรคญาณที่เจริญมานั่นเอง บางคนนั่งสมาธิภาวนาอยู่ก็อาจได้เห็นผลญาณคือจิตสว่างไสวที่ขาดจากสังโยชน์เพราะยังทรงตัวอยู่ในโลกุตตระฌาน แต่ถ้าเดินอยู่ หรืออยู่ในอิริยาบถทั่วไป ก็รู้สึกได้ว่าตัวมันเบา-จิตมันเบา กิเลสมันวูบขาดไป มันมีแต่วิชชาปัญญาเข้ามาแทน ถ้าขนาดตัดสังโยชน์สิบได้ขาดหมดนี่ มันเหมือนกับหลุดจากมายาภาพทั้งปวง มีแต่ความประจักษ์แจ้ง พิจารณาธรรมได้เข้าใจตลอดสาย ถ้าเป็นอริยะชั้นต้น มันก็เข้ากระแสนิพพาน ความเข้าใจมันเกิดขึ้น ความเห็นชอบคิดชอบมันก็ตามมา...

ขอขอบคุณ...เว็บพลังจิตดอทคอม