ผู้เขียน หัวข้อ: คลังความรู้ “ทุ่ม-โมง-นาฬิกา” โดย ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ  (อ่าน 12519 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ หลวงพี่เก่ง

  • สำนักงานวัดบางพระ
  • ล่องลอย
  • *****
  • กระทู้: 146
  • เพศ: ชาย
  • สุเมโธภิกฺขุ
    • ดูรายละเอียด
    • http://facebook.com/bangphra
    • อีเมล
 
คลังความรู้ “ทุ่ม-โมง-นาฬิกา” โดย ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ

คำพูดที่เราใช้เกี่ยวกับเวลานั้น มักจะใช้กันไม่ค่อยถูก ในปัจจุบันนี้มักใช้คำว่า “โมง” กันอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน เช่น ๗ โมงเช้า ๘ โมงเช้า หรือบางทีแม้แต่เวลากลางคืนก็ยังพูดว่า ๘ โมง ๙ โมง ในเรื่องนี้จะใช้อย่างไรจึงจะถูก และคำว่า “นาฬิกา” กับ “โมง” และ “ทุ่ม” ใช้ต่างกันอย่างไร

เรื่องการใช้คำว่า “โมง” นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยพระราชทานกระแสพระราชดำริในเรื่องการตั้ง “สมาคมรักษาภาษาไทย” ไว้ครั้งหนึ่ง เมื่อรัตนโกสินทรศก (รัด-ตะ-นะ-โก-สิน-สก) ๑๒๖ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๔๕๐ ตอนหนึ่งว่า “ยังมีคำพูดไม่มีภาษา เช่น ๖ โมง ๓ ทุ่ม จะเป็นภาษาฝรั่งก็ไม่ใช่ ภาษาไทยก็ไม่ใช่” ทั้งนี้เพราะในภาษาไทยเรา เวลากลางวัน เราแบ่งเวลาออกเป็นภาคเช้ากับภาคบ่าย ภาคเช้าเวลา ๗ นาฬิกา เราพูดว่า “๑ โมงเช้า” หรือ “โมงเช้า” เวลา ๘ นาฬิกา ก็พูดว่า “๒ โมงเช้า” เวลา ๙ นาฬิกา ก็พูดว่า “๓ โมงเช้า” เวลา ๑๐ นาฬิกา ก็พูดว่า “๔ โมงเช้า” หรือตามชนบทบางทีก็เรียกว่า “น้องเพล” เวลา ๑๑ นาฬิกา มักไม่พูดว่า “๕ โมงเช้า” แต่มักพูดว่า “เพล” หรือ “เวลาเพล” และ เวลา ๑๒ นาฬิกา ก็พูดว่า “เที่ยง” หรือ “เที่ยงวัน”

ภาคบ่าย เวลา ๑๓ นาฬิกา ก็พูดว่า “บ่ายโมง” หรือ “บ่าย ๑ โมง” เวลา ๑๔ นาฬิกา ก็พูดว่า “บ่าย ๒ โมง” เวลา ๑๕ นาฬิกา ก็พูดว่า “บ่าย ๓ โมง” เวลา ๑๖ นาฬิกา ก็พูดว่า “บ่าย ๔ โมง” หรือ “๔ โมงเย็น” เวลา ๑๗ นาฬิกา ก็พูดว่า “บ่าย ๕ โมง” หรือ “๕ โมงเย็น” เวลา ๑๘ นาฬิกา ไม่พูดว่า “บ่าย ๖ โมง” เพราะเกินบ่ายแล้ว พูดว่า “๖ โมงเย็น” หรือ “ย่ำค่ำ” เพราะตอน ๖ โมงเย็น พระท่านมัก “ย่ำกลอง” บอกเวลาว่าถึง ๖ โมงเย็นแล้ว ถ้าเป็นภาษาวรรณคดี ท่านก็เรียกว่า “ย่ำสนธยา”

คำว่า “ย่ำ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ “ก. เหยียบหนัก ๆ ซ้ำ ๆ, ถ้าเหยียบในลักษณะเช่นนั้นอยู่กับที่ เรียกว่า ย่ำเท้า, เดินในลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น; ตีกลอง หรือฆ้องถี่ ๆ หลายครั้งเพื่อบอกเวลาสำหรับเปลี่ยนยาม เรียกว่า ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง, ย่ำยาม ก็เรียก, ถ้ากระทำในเวลาเช้า เรียกว่า ย่ำรุ่ง (ราว ๖ นาฬิกา), ถ้าทำในเวลาค่ำ เรียกว่า ย่ำค่ำ (ราว ๑๘ นาฬิกา).”

ในเวลา ๑๘ นาฬิกานั้นตามวัดต่าง ๆ ในชนบทท่านมักจะ “ย่ำกลอง” หรือ “ย่ำฆ้อง” “ย่ำระฆัง” เพื่อบอกเวลาให้ชาวบ้านรู้ เพราะในสมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่เจริญอย่างในปัจจุบันนี้ นาฬิกามักจะมีเฉพาะตามวัดเท่านั้น พระท่านก็ต้องตีกลองหรือฆ้องระฆัง เป็นสัญญาณบอกให้ทราบเวลาเป็นระยะ ๆ ไป เดี๋ยวนี้ชาวบ้านมักมีนาฬิกาใช้กันทั่วไปแล้ว การย่ำกลอง ย่ำฆ้อง หรือย่ำระฆัง ในปัจจุบันจึงชักค่อย ๆ หมดไป

การที่เรามักเรียก ๖ นาฬิกาว่า “๖ โมงเช้า” หรือ “๖ โมง” นี้เอง เป็นสาเหตุอันสำคัญทำให้เรียก “๗-๘-๙ นาฬิกา ฯลฯ” ว่า “๗ โมง ๘ โมง ๙ โมง ฯลฯ” ไปด้วย เพราะถ้าหากเรียก ๖ นาฬิกาว่า “๖ โมง” แล้วจะเรียก ๗ นาฬิกา ว่า “๑ โมง” หรือ “โมงเช้า” ได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้มีผู้ถามว่า ถ้าเราไม่เรียก ๖ นาฬิกาว่า “๖ โมง” แล้ว จะเรียกว่าอย่างไร คำว่า “๖ นาฬิกา” เป็นภาษาทางราชการ ถ้าจะพูดให้เป็นภาษาที่ชาวบ้านทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะชาวชนบทพูดกัน ให้เข้าชุดกับ “โมง” ก็ต้องใช้คำว่า “ย่ำรุ่ง” ให้เข้าคู่กับ ๑๘ นาฬิกา หรือ ๖ โมงเย็น ที่เรียกว่า “ย่ำค่ำ”

เมื่อคราวที่แล้ว ได้พูดถึงเรื่องการเรียกเวลาว่า “ทุ่ม-โมง” ยังไม่จบ ได้กล่าวถึงเฉพาะเวลาในตอนกลางวันเท่านั้นต้องเรียกว่า “โมง” ส่วนเวลากลางคืนยังมิได้กล่าวถึง เวลากลางคืนท่านก็แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาคแรกตั้งแต่หลัง ๑๘ นาฬิกา ถึง ๒๔ นาฬิกา ภาคหลังตั้งแต่หลัง ๒๔ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกา

เวลาช่วงแรกของกลางคืน ท่านใช้ว่า “ทุ่ม” มีตั้งแต่ ๑ ทุ่ม ถึง ๖ ทุ่ม เวลา ๑๙ นาฬิกา พูดว่า “๑ ทุ่ม” หรือ “ทุ่มหนึ่ง” เวลา ๒๐ นาฬิกา พูดว่า “๒ ทุ่ม” เวลา ๒๑ นาฬิกา พูดว่า “๓ ทุ่ม” เวลา ๒๒ นาฬิกา พูดว่า “๔ ทุ่ม” เวลา ๒๓ นาฬิกา พูดว่า “๕ ทุ่ม” เวลา ๒๔ นาฬิกา ตามปรกติก็ควรเป็น “๖ ทุ่ม” แต่ท่านนิยมใช้ว่า “๒ ยาม” หรือ “เที่ยงคืน” การที่มีผู้เรียกเวลาในช่วงแรกของกลางคืนว่า “โมง” จึงนับว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

ช่วงหลังของกลางคืน ตั้งแต่ ๑ นาฬิกา ถึง ๕ นาฬิกา เรียกว่า “ตี ๑” ถึง “ตี ๕” ส่วน ๖ นาฬิกา ซึ่งควรจะเป็น ตี ๖ เพราะแขกยามหรือไทยยามจะตีบอกยาม ๖ ครั้ง แต่ท่านนิยมเรียกว่า “ย่ำรุ่ง”

ในเรื่อง “ทุ่ม-โมง” นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” ตอนหนึ่ง ดังนี้

“เมื่อวันแรกไปถึงเมืองพาราณสี เวลาค่ำฉันนั่งกินอาหารกับพวกที่ไปด้วยกัน และพวกข้าราชการอังกฤษ ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พอเวลายามหนึ่ง (๒๑:๐๐ นาฬิกา) ได้ยินเสียงตีฆ้องโหม่งทางประตูวังย่ำลา ๑ เช่นเดียวกันกับตีฆ้องตีระฆังย่ำยามในเมืองไทย ฉันนึกประหลาดใจ จึงถามข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองนั้นว่า ตีฆ้องย่ำเช่นนั้นหมายความว่าอย่างไร เขาตอบว่า “เป็นสัญญาเรียกคนมาเปลี่ยนพวกที่อยู่ยาม” พอฉันได้ยินอธิบายก็จับใจแทบจะร้องออกมาว่า “อ๋อ” เพราะวิธีตีฆ้องระฆังยามในเมืองไทย เมื่อถึงเวลาเช้า ๖:๐๐ นาฬิกา เวลาเที่ยงวัน (๑๒:๐๐ นาฬิกา) เวลาค่ำ (๑๘:๐๐ นาฬิกา) และเวลากลางคืน ยาม ๑ (๒๑:๐๐ นาฬิกา) เวลาเที่ยงคืน (๒๔:๐๐ นาฬิกา) เวลา ๓ ยาม (๓:๐๐ นาฬิกา) ก็ตีย่ำทำนองเดียวกับได้ยินที่เมืองพาราณสี แม้คำที่ไทยเราพูด ก็เรียกเวลา ๖ นาฬิกาเช้า ว่า “ย่ำรุ่ง” คำที่พูดว่า “ย่ำ” คงมาจากย่ำฆ้องระฆังนั่นเอง แต่ฉันยังไม่คิดมาแต่ก่อนว่าเหตุใดจึงตีย่ำ เมื่อได้ฟังอธิบายที่เมืองพาราณสีก็เข้าใจซึมซาบในทันทีว่า “ย่ำ” เป็นสัญญาเรียกคนเปลี่ยนยาม เห็นว่าประเพณีไทยแต่โบราณ เวลากลางวันให้คนอยู่ยามผลัดละ ๖ ชั่วนาฬิกา แต่กลางคืนผลัดระยะ ๓ นาฬิกา และยังแลเห็นสว่างต่อไปอีก ด้วยประเพณีตีระฆังยามที่พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ เมื่อตีย่ำระฆัง แล้วมีคนเป่าแตรงอน และเป่าปี่ตีมโหรทึกประโคมต่อไปอีกพักหนึ่ง  และเวลานี้พระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย ตลอดจนศพขุนนางผู้ใหญ่บรรดาที่มีกลองชนะประโคมย่อมประโคมกลองชนะตรงกับย่ำฆ้องระฆังยามทั้งกลางวันและกลางคืน  อาการประกอบกันให้เห็นว่า การย่ำฆ้องระฆังเป็นสัญญาเรียกคนมาเปลี่ยนยาม การประโคมเป็นสัญญาบอกว่าพวกอยู่ยามใหม่ได้เข้ามาประจำหน้าที่พร้อมกันแล้ว มูลของประเพณีย่ำฆ้องระฆังยามและประโคมพระศพในเมืองไทย เห็นเป็นดังกล่าวมาและอาจจะได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์”

จากพระนิพนธ์ ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็พอจะทำให้เรามองเห็นเค้าของการใช้คำว่า “ทุ่ม-โมง” บอกเวลาบ้างแล้ว เรื่องนี้ต้องขอนำมาเสนอต่อในคราวหน้าอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อ ๒ คราวที่แล้ว ข้าพเจ้าได้กล่าวถึง “ทุ่ม-โมง” ยังไม่จบ วันนี้จะขอกล่าวถึงสาเหตุที่เรียกเวลาในตอนกลางวันว่า “โมง” และในตอนกลางคืนว่า “ทุ่ม” ต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

สาเหตุที่เรียกเวลากลางวันว่า “โมง” และเวลากลางคืนว่า “ทุ่ม” นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” อีกตอนหนึ่งดังนี้

“จะเลยเล่าแถมถึงประเพณีตีบอกเวลาในเมืองพม่า ซึ่งฉันได้ไปรู้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ต่อไป เพราะได้เค้าที่เหมือนกับไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่ในพระราชวังเมืองมัณฑะเล มีหอนาฬิกาหลังหนึ่ง เป็นหอสูง ข้างล่างมีห้องสำหรับไว้นาฬิกา ข้างบนเป็นหอโถง สำหรับแขวนกลองกับฆ้องตีบอกเวลา เขาว่าเคยมีหอเช่นนั้นทุกราชธานี ในเมืองพม่าแต่ก่อนมาฉันถามว่า ฆ้องกับกลองที่แขวนไว้บนหอนั้นตีต่างกันอย่างไร ไม่มีใครบอกอธิบายได้ เพราะเลิกราชประเพณีพม่ามาเสียหลายสิบปีแล้ว ฉันนึกจับหลักได้ ฆ้องสำหรับตีกลางวัน กลองสำหรับตีกลางคืน หลักนั้นอยู่ในคำพูดของคนไทยเราเอง ที่เรียกเวลากลางวันว่า “โมง” เช่นว่า ๔ โมง ๕ โมง แต่ตอนเวลากลางคืนเรียกว่า “ทุ่ม” เช่นว่า ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม คำ โมง กับ ทุ่ม มาแต่เสียงฆ้องและกลองนั่นเอง ในเมืองไทยแต่โบราณก็เห็นจะใช้ฆ้องและกลองตีบอกเวลาอย่างเดียวกันกับในเมืองพม่า”

จากพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทำให้เราทราบสาเหตุที่เรียกเวลาในตอนกลางวันว่า “โมง” เพราะในสมัยโบราณใช้วิธีตีฆ้องบอกเวลาในตอนกลางวันนั่นเอง เสียงฆ้องจะดัง “โมง” ๗ นาฬิกา ตีฆ้องทีเดียวก็เป็น “๑ โมง” ๘ นาฬิกา ตีฆ้อง ๒ ที ก็เป็น “๒ โมง” เรื่อย ๆ ไปเช่นนี้ ส่วนในเวลากลางคืน ใช้ตีกลองบอกสัญญาณ เสียงกลองก็ดัง “ตุม” “ตุ้ม” หรือ “ทุ่ม” เวลา ๑๙ นาฬิกา ตีกลอง ๑ ที ก็เป็น ๑ ทุ่ม เวลา ๒๐ นาฬิกา ตีกลอง ๒ ที ก็เป็น ๒ ทุ่ม ฯลฯ เรื่อย ๆ ไปจนถึง ๒๔ นาฬิกา ตีกลอง ๖ ที จึงเรียกว่า ๖ ทุ่ม

คำว่า “ทุ่ม” ในส่วนที่เกี่ยวกับเวลานั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ “น. วิธีนับเวลาตามประเพณีสำหรับ ๖ ชั่วโมงแรกของกลางคืน ตั้งแต่ ๑๙ นาฬิกา ถึง ๒๔ นาฬิกา เรียกว่า ๑ ทุ่ม ถึง ๖ ทุ่ม, แต่ ๖ ทุ่ม นิยมเรียกว่า ๒ ยาม.”

ส่วนคำว่า “โมง” นั้น พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามความหมายไว้ดังนี้ “น. วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางวัน, ถ้าเป็นเวลาก่อนเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๗ นาฬิกาถึง ๑๑ นาฬิกา เรียกว่า โมงเช้า ถึง ๕ โมงเช้า ถ้าเป็น ๑๒ นาฬิกา นิยมเรียกว่า เที่ยงวัน ถ้าหลังเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๑๓ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา เรียกว่า บ่ายโมง ถึง บ่าย ๕ โมง ถ้า ๑๘ นาฬิกา นิยมเรียกว่า ๖ โมงเย็นหรือ ย่ำค่ำ.”

ถ้าหากจะใช้คำว่า “นาฬิกา” บอกเวลา ก็นับว่าเป็นสากล ใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ตั้งแต่ ๑ นาฬิกา คือ ตี ๑ จนถึง ๒๔ นาฬิกา คือ ๒ ยาม จงอย่าใช้ให้สับสนกันจะกลายเป็น “ภาษาพันทาง” เช่น ๗ โมงเช้าอย่างนี้ไม่ถูก ถ้าไม่พูดว่า “๗ นาฬิกา” ก็ควรพูดว่า “โมงเช้า” หรือ “๑ โมงเช้า”

คำว่า “ย่ำสนธยา” ก็คือ “ย่ำค่ำ” นั่นเอง เพราะ “ยามสนธยา” เราหมายถึง เวลาโพล้เพล้เข้าไต้เข้าไฟ เพราะ “สนธยา” มาจากคำว่า “สนธิ” ซึ่งแปลว่า “การต่อ, ที่ต่อ” ตามปรกติ “สนธยา” จะหมายถึงช่วงเวลาที่ต่อระหว่างกลางคืนกับกลางวัน คือ ตอนเช้ามืด หรือระหว่างกลางวันกับกลางคืน คือ ตอนพลบค่ำ ก็ได้ แต่ตามที่เข้าใจโดยทั่ว ๆ ไป มักจะหมายถึง “ตอนพลบค่ำ” หรือ “ยามโพล้เพล้เข้าไต้เข้าไฟ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า twilight คำว่า “สนธยา” นี้ พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ “น. เวลาโพล้เพล้พลบค่ำ, บางทีก็ใช้ว่า ย่ำสนธยา: ช่วงเวลาที่ต่อระหว่างกลางวันกับกลางคืน คือเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตก.”

ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๒๒๙-๒๓๗.
http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1273*/
 

ออฟไลน์ รุท หมัดหนักครับ

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 2312
  • เพศ: ชาย
  • ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
    • MSN Messenger - bassudza501@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
กราบนมัสการหลวงพี่เก่ง :054: :054: :054:ครับ แถวบ้านผมก็เหมือนกันครับ อย่างทุ่มนึงเรียกเจ็ดโมงครับ งงครับ ขอขอบคุณหลวงพี่ที่นำสาระดีๆมาให้อ่านครับ
รักและศรัทธา

ออฟไลน์ l2owNieW

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 9
  • ทุกสิ่งทูกกำหนดไว้แล้ว ย่อมต้องเป็นไปตามนั้น
    • ดูรายละเอียด
กราบนมัสการครับ

ผมอยู่โคราช ที่โคราชเรียก ตามที่หลวงพี่เกิ่ลตอนแรกครับ

1โมง 2 โมง (7 โมงเช้า 8 โมงเช้าอ่ะครับ) แต่พอไปพูดกลับคนภาคกลางเค้าชอบถามผมว่า 1โมง 2 โมง คือเท่ารัย อิอิ

ที่แท้คือผมพูดถูกแล้ว(ใช้มั้ยเอ่ย)  :095:

"กุให้ เท่าที่กุจะให้ด้าย" ทุกสิ่งถูกกำหนดไว้แล้ว