ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา  (อ่าน 1624 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา
วันพุธ ที่ 08 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น 


  ความรู้จักคิด (โยนิโสมนสิการ) และ การมีมิตรดี (กัลยาณมิตร) ที่กล่าวมาข้างต้นทำงานร่วมกันอย่างไร เกื้อกูลหนุนส่งกันอย่างไร จะเห็นได้จากกรณีศึกษาผ่านชีวประวัติของบุคคลสำคัญดังจะกล่าวต่อไปนี้
   
๑. พระเจ้าอโศกมหาราช ( พ.ศ. ๒๗๐–๓๑๒)
   
๒. กิสาโคตมี (มีชีวิตอยู่ในพุทธกาล)
   
๓. หลุยส์ เบรลล์ (ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๕๒)
   
๔. อัลเฟรด  โนเบล (ค.ศ. ๑๘๓๓–๑๘๙๖)


อโศกมหาราช

จากทรราชกระหายสงครามเป็นมหาราชโลกไม่ลืม
   
  พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นราชโอรสของพระเจ้าพินทุสาร แห่งราชวงศ์โมริยะ แคว้นมคธ  ทรงมีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๓ (พ.ศ. ๒๗๐–๓๑๒) เมื่อครั้งที่พระราชบิดายังทรงพระชนม์อยู่นั้น ทรงแต่งตั้งให้พระองค์ไปดำรงตำแหน่งอุปราช ณ กรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี ครั้นพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์ทรงกรีธาทัพมายึดอำนาจทางการเมืองจากพระเชษฐาธิราช โดยทรงสังหารผลาญราชนิกุลร่วมสายโลหิตเดียวกันไปกว่า ๙๙ องค์ เหลือเพียงพระอนุชาหนึ่งองค์เท่านั้น
   
  จากนั้น ทรงจัดการการเมืองภายในอีก ๔ ปี (ตามคัมภีร์ฝ่ายพุทธ ระบุว่า ทรงยึดอำนาจ พ.ศ. ๒๑๔) เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว จึงทรงทำพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดา (พ.ศ. ๒๑๘)
   
  ในยุคต้นของการครองราชสมบัตินั้น พระเจ้าอโศกทรงกระหายสงครามมาก ทรงรุกรบไปทุกหนทุกแห่ง เข่นฆ่า สังหาร ผลาญชีวิตผู้คนไปมากมายนับไม่ถ้วน จนได้รับพระราชสมัญญาว่า “จัณฑาโศก” แปลว่า “อโศกทมิฬ”
   
  ด้วยเดชานุภาพทางการรบอันหาใครเปรียบไม่ได้ ทำให้อาณาจักรของพระเจ้าอโศกแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมากมายเสียยิ่งกว่าประเทศอินเดียในปัจจุบันหลายเท่า แต่แล้ว อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ทรงกรีธาทัพไปทำสงครามยึดแคว้นกาลิงคะนั้นเอง จุดเปลี่ยนแห่งชีวิตของพระองค์ก็เดินทางมาถึง
   
  กล่าวกันว่า สงครามกับแคว้นกาลิงคะคราวนั้น กองทัพของพระองค์เข่นฆ่าทหาร ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไปมากมายหลายแสนคน เลือดนองแผ่นดินกาลิงคะดังหนึ่งทะเลเลือดกว้างไกลไปสุดลูกหูลูกตา ความเสียหายอันใหญ่หลวงคราวนี้ ก่อให้เกิดความ “สลดพระทัย” แก่พระเจ้าอโศกอย่างที่ไม่เคยทรงเป็นมาก่อน ทำให้พระองค์ทรงหันมาตั้งคำถามกับตนเองว่า สิ่งที่ทรงทำลงไปนั้นคุ้มกันหรือไม่กับชีวิตประชาชนที่ต้องมาสังเวยความกระหายสงครามของตนเอง
   
  ในที่สุด ผลของการรู้จักใช้ “โยนิโสมนสิการ” โดยมี “ชีวิตของผู้วายชนม์ในสงครามหลายแสนคน” เป็นกัลยาณมิตร ก็ทำให้พระองค์ทรงได้คำตอบว่า สิ่งที่ทรงทำอยู่นั้น ไม่ถูกต้อง หลังจากที่ทรงได้คิดคราวนั้นแล้ว ทรงเปลี่ยนพระทัยไปเป็นคนละคน
   
  กล่าวคือ จากอโศกทมิฬผู้กระหายเลือดกระหายสงคราม มากระหายธรรมคือความดีงามและสันติภาพแทน นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินของพระองค์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คือ จากนโยบาย “สงครามวิชัย” (มุ่งชัยชนะด้วยการทำสงครามขยายอาณาเขต) มาเป็น “ธรรมวิชัย” (มุ่งชัยชนะด้วยการเผยแผ่ธรรมไปยังอาณาเขตที่ยึดมาได้ทั้งหมด).

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
ที่มา
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=143635&categoryID=671
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 22 มิ.ย. 2554, 07:25:29 »
ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา (๒)
วันพุธ ที่ 15 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น 


ข้อความในศิลาจารึกที่พระองค์โปรดให้จัดทำขึ้นในเวลาต่อมา บันทึกเหตุการณ์สำคัญอันเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ในคราวนั้นเอาไว้ว่า
   
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้ จากแคว้นกลิงคะนั้นประชาชนจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนได้ถูกจับไปเป็นเชลย จำนวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่า และอีกหลายเท่าของจำนวนนั้นได้ล้มตายไป
   
นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้วการทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการทรงอบรมสั่งสอนธรรม ก็ ได้เกิดมีขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ
   
การที่ได้ทรงปราบปรามแคว้นกลิงคะลงนั้น ทำให้พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความสำนึกสลดพระทัย...
   
ในคราวยึดครองแคว้นกลิงคะนี้ จะมีประชาชนที่ถูกฆ่าล้มตายลง และถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม แม้เพียงหนึ่งในร้อยส่วน หรือหนึ่งในพันส่วน (ของจำนวนที่กล่าวนั้น) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงสำนึกว่า เป็นกรรมอันร้ายแรงยิ่ง...
   
สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดได้แก่ ธรรมวิชัย (ชัยชนะโดยธรรม) และธรรมวิชัยนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ทรงกระทำสำเร็จแล้ว ทั้ง ณ ที่นี้ (ในพระราชอาณาเขตของพระองค์เอง) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวง ไกลออกไป ๖๐๐ โยชน์...
   
ทุกหนทุกแห่ง (ประชาชนเหล่านี้) พากันประพฤติปฏิบัติตามคำสอนธรรมของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ...
   
ด้วยเหตุเพียงนี้ ชัยชนะนี้เป็นอันได้กระทำสำเร็จแล้วในที่ทุกสถานเป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส พรั่งพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจ เป็นปีติที่ได้มาด้วยธรรมวิชัย...
   
ชัยชนะอันแท้จริงนั้น จะต้องเป็นธรรมวิชัยเท่านั้น ด้วยว่าธรรมวิชัยนั้นเป็นไปได้ทั้งในโลกบัดนี้ และโลกเบื้องหน้า
   
ขอปวงความยินดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นความยินดีในความพากเพียรปฏิบัติธรรม เพราะว่าความยินดีนั้น ย่อมอำนวยผลทั้งในโลกบัดนี้ และในโลกเบื้องหน้า”
   
ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา (วินย.อ.๑/๔๓) ผลงานของพระพุทธโฆษาจารย์เล่าถึงแรงจูงใจในการที่ทรงหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาว่า (นอกจากเกิดจากความสลดพระทัยในหายนะภัยที่เกิดแต่สงครามแล้ว) พระองค์ได้ทรงพบกับกัลยาณมิตร คือ สามเณรนิโครธซึ่งเป็นพระนัดดาของท้าวเธอเอง
   
ในการพบปะกันในวันหนึ่ง ทรงสอบถามถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สามเณรนิโครธ ได้แสดงหลักธรรมเรื่อง “ความไม่ประมาท” อันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาให้พระองค์สดับ หลังจากทรงสดับแล้ว ทรง “คิดได้” (โยนิโสมนสิการ) จึงทรงหันมาปฏิวัติการใช้ชีวิตของพระองค์ชนิดตรงกันข้ามกับที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง ทรงเปลี่ยนพระองค์เองจาก “อโศกทมิฬ” มาเป็น “ศรีธรรมาโศกราช” (พระเจ้าอโศกผู้ทรงเป็นศรีแห่งธรรม) พระพุทธวัจนะในพระธรรมบทที่มีผลต่อการเปลี่ยนพระทัยมานับถือพระพุทธศาสนาของพระองค์มีอยู่หนึ่งบท ประกอบด้วยสี่บาท ดังนี้
   
“ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย  ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย  คนไม่ประมาทไม่มีวันตาย  คนประมาทไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว”   
   
ความเสียหายอันใหญ่หลวงในสงครามที่ทำให้สลดพระทัยเมื่อมาบวกกับพุทธธรรมจากกัลยาณมิตรอย่างสามเณรนิโครธ คงจะทำให้พระเจ้าอโศกทรงหันกลับมาพิจารณาชีวิตของพระองค์อย่างลึกซึ้ง ว่ามรรคาที่ทรงดำเนินอยู่นั้น เป็นหนทางอันตราย เป็นวิถีแห่งการก่อทุกข์ ก่อเวรกรรมอันใหญ่หลวงแก่เพื่อนมนุษย์ ยังความเสียหายเกินประมาณให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัว และบั่นทอนสันติภาพ สันติสุขของสรรพชีพ สรรพสัตว์โดยแท้ นับแต่วันที่ทรงสลดพระทัยและได้อาศัยการแนะนำจากกัลยาณมิตรแล้ว ต่อมาทรงฝักใฝ่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นถึงขนาดที่ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เองจากพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์แห่งยุคสมัย ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพก็ถึงกับทรงสละราชสมบัติชั่วคราวมาบวชเป็นภิกษุในบวรพุทธศาสนา.

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
ที่มา
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=145042&categoryID=671

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 22 มิ.ย. 2554, 07:29:06 »
ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค2 กรณีศึกษา (3)
วันพุธ ที่ 22 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น 

ภายหลังจากที่พระเจ้าอโศกทรงกลับพระทัยจากผู้กระหายสงครามมาเป็นผู้เผยแผ่ธรรมแล้ว ทรงยังคุณูปการเป็นอันมากให้เกิดขึ้นแก่อาณาจักรและศาสนจักรดังต่อไปนี้
   
(๑) ในทางอาณาจักร ทรงเปลี่ยนนโยบายการเมืองการปกครองจากสงครามวิชัย (เอาชนะโดยสงคราม) มาเป็นธรรมวิชัย ทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนจากกลียุคเพราะภัยสงครามเข้าสู่ยุคแห่งสันติภาพอันยาวนาน
   
(๒) ทรงเป็นผู้นำในการเปลี่ยน

แปลงค่านิยม ระบบความเชื่อ หรือกระบวนทัศน์แบบเดิมของอินเดียจากเดิมที่มีสาระไม่มากนักให้มีสาระมากขึ้น หรือในบางกรณีทรงยกเลิกของเดิมแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ในรัชสมัยของพระองค์  เช่น
   
- ทรงเปลี่ยนวิหารยาตรา ที่พระราชาเสด็จไปทรงพักผ่อนเพื่อทรงล่าสัตว์และแสวงหาความสำราญส่วนพระองค์มาเป็นธรรมยาตรา ที่พระราชาเสด็จไปทรงนมัสการพระสงฆ์ผู้ทรงศีล ปรึกษา สอบถาม เรียนรู้ธรรมะ ถวายไทยธรรม ตลอดถึงเสด็จประพาสเพื่อสอดส่องดูสารทุกข์สุกดิบของปวงอาณาประชาราษฎร์ พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ
   
- ทรงเปลี่ยนสมาช ที่เป็นงานสโมสรรื่นเริงสนุกสนานด้วยการเสพสุรายาเมา นำสัตว์ต่าง ๆ มาแข่งขัน ต่อสู้กัน ซึ่งเป็นเรื่องเริงรมย์สนุกสนานการโลกีย์ล้วน ๆ มาเป็นวิมานทรรศน์ คือ การจัดนิทรรศการสิ่งดีมีคุณค่าที่จรรโลงจิตใจให้ประชาชนได้เห็นสิ่งที่ดีงามอันจะน้อมนำไปสู่การมีใจสูง
   
- ทรงเปลี่ยน
พิธีมงคล ที่เป็นการเชื่อในโชคลางผ่าน
พิธีกรรมขรึมขลังขมังเวทย์มาเป็นธรรมมงคลที่เน้นการปฏิบัติต่อกันและกันให้ถูกต้อง (ตามแนวทิศ ๖) เป็นต้น
   
- ทรงเปลี่ยนเภรีโฆษ ที่เป็นเสียงกลองศึก อันหมายถึง การเกิดขึ้นของสงครามที่มาพร้อมกับความหายนะ เป็นธรรมโฆษ ที่เน้นการเชิญชวนประชาชนมาฟังธรรม
   
- ทรงยกเลิกการฆ่าสัตว์ทั้งเพื่อการบริโภคและการบูชายัญอย่างชนิดที่พลิกระบบความเชื่อของคนในยุคสมัยก่อนหน้านั้นรวมทั้งในยุคสมัยของพระองค์อย่างชนิดเป็นตรงกันข้าม จนเป็นที่สังเกตกันในหมู่ผู้ศึกษาพุทธศาสนาในอินเดียว่า บางที การที่ทรงยกเลิกการบริโภคเนื้อสัตว์และการบูชายัญนี่เอง อาจเป็นจุดเริ่มต้นของค่านิยมการรับประทานอาหาร “มังสวิรัติ” ในเวลาต่อมาจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นได้ ในศิลาจารึก ฉบับที่ ๑ ระบุถึงวัตรปฏิบัติในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า
   
“ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้โปรดให้จารึกไว้
   
   ณ ถิ่นนี้  บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์มีชีวิตใด ๆ เพื่อการบูชายัญ ไม่พึงจัดงานชุมนุมเพื่อการเลี้ยงรื่นเริง (สมาช) ใด ๆ เพราะว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมองเห็นโทษเป็นอันมากในการชุมนุมเช่นนั้น ก็แลการชุมนุมบางอย่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงเห็นชอบว่าเป็นสิ่งที่ดี มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง  (ต่างหาก)
   
   แต่ก่อนนี้ ในโรงครัวหลวงของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ สัตว์ได้ถูกฆ่าเพื่อทำเป็นอาหาร วันละหลายแสนตัว ครั้นมาในกาลบัดนี้  เมื่อธรรมโองการนี้อันพระองค์โปรดให้จารึกแล้ว สัตว์เพียง ๓ ตัวเท่านั้นที่ถูกฆ่า คือ นกยูง ๒ ตัว และเนื้อ ๑ ตัว ถึงแม้เนื้อนั้นก็ไม่ได้ถูกฆ่าเป็นประจำ ก็แลสัตว์ทั้งสามนี้ (ในกาลภายหน้า) ก็จักไม่ถูกฆ่าอีกเลย”
   
(๓) ทรงแต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์  ให้เป็นตัวแทนพระองค์เดินทางไปยังหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ราชธานีต่าง ๆ เพื่อสอนธรรมแก่ประชาชนทั่วทุกหนทุกแห่ง
   
(๔) ทรงสร้างถนน ขุดบ่อน้ำสร้างที่พักริมทาง สร้างโรงพยาบาล
(อโรคยสาลา) สวนสาธารณะมากมายทั่วราชอาณาจักร
   
(๕) ทรงส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชน โดยผ่านการเรียนธรรมและเผยแผ่ธรรม เป็นเหตุให้มีประชาชนรู้หนังสือกันอย่างแพร่หลาย
   
(๖) ทรงโปรดให้ทำศิลาจารึก   บันทึกหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าประดิษฐานยังชุมชนเมือง และสถานที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทุกแห่งทั่วทั้งพระราชอาณาจักร.

ว.วชิรเมธี สถาบันวิมุตตยาลัย
ที่มา
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=146516&categoryID=671

ออฟไลน์ saken6009

  • อย่ากลัวคนจะมาตำหนิ แต่จงกลัวว่าตัวเองจะทำผิด อย่ากลัวที่จะรับรู้ความบกพร่องของตน แต่จงกลัวว่าตนจะเป็นคนที่ดีได้ไม่จริง
  • ก้นบาตร
  • *****
  • กระทู้: 893
  • เพศ: ชาย
  • ชีวิตของข้า เชื่อมั่นศรัทธา หลวงพ่อเปิ่น องค์เดียว
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 23 มิ.ย. 2554, 05:31:47 »
ธรรมะอินเทรนด์ ภาค2 กรณีศึกษา 36; 36;
                                               
ขอบคุณท่าน ทรงกลด ที่นำบทความดีมากๆมาให้พี่น้องศิษย์วัดบางพระได้อ่านครับ :053: :053:
 
ติดตามอยู่ครับ อ่านแล้วเพลินดีมากๆครับ และ ได้สาระความรู้มากๆครับผม :016: :015:
   
(ขออนุญาตเข้ามาอ่าน เพื่อเป็นความรู้ ขอบคุณครับผม) :033: :033:
   
 

กราบขอบารมีหลวงพ่อเปิ่น คุ้มครองศิษย์ทุกๆท่าน ให้แคล้วคลาด ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง สาธุ สาธุ