พระนอนตะแคงซ้าย" วัดป่าประดู่ "จ.ระยอง
พระนอนตะแคงซ้าย
วัดป่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง
จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย มีชายฝั่งทะเล
ยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร มีเนื้อที่ ๓,๕๕๒ ตารางกิโลเมตร
จังหวัดระยอง เริ่มปรากฏชื่อในพงศาวดารเมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๑๓ ในรัชสมัยของ
สมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเมืองนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ
ปีพุทธศักราช ๑๕๐๐ ยุคที่ขอมมีอานุภาพเฟื่องฟูแถบดินแดนสุวรรณภูมิ
ปรากฏจากหลักฐานคือ ซากศิลาแลง คูค่ายที่ยังหลงเหลืออยู่
ในเขตอำเภอบ้านค่าย อันเป็นศิลปะการก่อสร้างแบบขอม
ประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเมืองระยอง ระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียทีแก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒
ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ ปีพุทธศักราช ๒๓๐๙ พระยาวชิรปราการ หรือพระยาตาก
พร้อมไพร่พลประมาณ ๕๐๐ คน ได้ตีฝ่าวงล้อมทัพพม่า มาหยุดพักไพร่พลที่เมืองระยอง
ก่อนเดินทัพต่อไปยังเมืองจันทบุรี เพื่อยึดเป็นที่มั่นในการกอบกู้อิสรภาพคืนจากพม่า ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๑
จังหวัดระยอง เป็นแหล่งอาหารทะเลและผลไม้นานาชนิด เป็นเมืองอุตสาหกรรม
และเป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งมีความสำคัญ
ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่สำคัญ
ระยองได้รับการขนานนามให้เป็นเมือง สุนทรภู่ เมืองแห่งกวีเอก ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
ผู้ประพันธ์วรรณกรรมประเภทร้อยกรอง ได้อย่างไพเราะสละสลวย และเต็มไปด้วยจินตนาการ
โดยเฉพาะนิทานกลอนสุภาพ เรื่องพระอภัยมณี ซึ่งฉากหนึ่งในนิทานเรื่องนี้
คือ หมู่เกาะน้อยใหญ่ และท้องทะเลที่สวยงามในจังหวัดระยอง
นอกจากธรรมชาติอันงดงามแล้ว ในขณะเดียวกันระยองยังมีสถานที่ท่องเที่ยว
ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่หลายแห่ง และถ้าเป็นรูปแบบพระพุทธรูปแล้ว
ก็ต้อง พระนอนตะแคงซ้าย (พระพุทธไสยาสน์)
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดป่าประดู่
ในเขตเทศบาลเมือง ถนนสุขุมวิท ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
เดิมองค์พระตั้งอยู่กลางแจ้ง ต่อมามีการสร้างพระวิหารครอบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔
วัดป่าประดู่ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประวัติความเป็นมาก่อนสร้างวัด
ประมาณเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๒ พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ อุปัชฌาย์เทียน เดิมจำพรรษาอยู่ที่ วัดเนิน
(หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดอินทรสมบัติ ปัจจุบันรวมกับวัดลุ่ม) ได้มาพบสถานที่แห่งนี้เป็นวัดร้าง
มีต้นตะเคียนเป็นจำนวนมาก มีซากวัดที่เหลือแต่ ซากโบสถ์ ซากพระพุทธรูปปางไสยาสน์
และ ซากองค์พระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์
วัดป่าประดู่แห่งนี้จึงเคยมีชื่อเดิมว่า วัดป่าเลไลยก์
อุปัชฌาย์เทียนจึงได้มาจำพรรษาเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่นี่ บรรดาชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
พากันศรัทธาเลื่อมใสในท่าน จึงชักชวนกันสร้างกุฏิถวาย และร่วมกันฏิสังขรณ์วัดนี้จนเจริญสืบมา
ต่อมา เพื่อให้สอดคล้องกับนามหมู่บ้านที่วัดตั้งอยู่คือ ตลาดท่าประดู่ อีกทั้งเพราะมีต้นประดู่ใหญ่
อยู่ภายในวัดเป็นจำนวนมาก (แต่ปัจจุบันเหลือเพียงต้นเดียวตรงปากประตูทางเข้าวัด)
และเพื่อมิให้ชื่อวัดพ้องกับวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรีด้วย
จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้เปลี่ยนนามวัดเป็น วัดป่าประดู่
ปัจจุบัน พระพุทธรูปทั้งสององค์ได้รับการบูรณะไว้ จึงถือเป็นพระเก่าแก่คู่บ้านเมืองของระยองแห่งหนึ่ง
วัดได้รับการพัฒนามาโดยตลอด ปัจจุบันกำลังก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่สวยงาม
วัดป่าประดู่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเป็นพระอารามหลวง เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชุมชน
ในการปฏิบัติศาสนกิจ และพิธีการทางศาสนาของประชาชนในเมืองระยอง
ที่วัดป่าประดู่ มีพระพุทธรูปนอนตะแคงซ้ายที่เก่าแก่ เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่แปลกที่สุดในประเทศไทย
โดยปกติแล้ว เมื่อมีการสร้างองค์พระปางสีหไสยาสน์ มักจะสร้างประทับอยู่ในท่านอนตะแคงขวา
แต่พระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าประดู่สร้างในท่านอนตะแคงซ้าย มีความยาว ๑๑.๙๕ เมตร สูง ๓.๖๐ เมตร ขนาดใหญ่
ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ พระครูสมุทรสมานคุณ (แอ่ว) อดีตเจ้าอาวาส ได้บูรณะองค์พระส่วนที่ชำรุดแล้วปิดทองเสียใหม่
มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นการสร้างตามพระพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้ากระทำยมกปาฏิหาริย์ให้พวกเดียรถีย์ชม
โดยมีพระพุทธนิมิตแสดงอาการอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้าเป็นคู่ ๆ เมื่อถึงอิริยาบถไสยาสน์
จึงผินพระพักตร์เข้าหากัน เป็นการนอนตะแคงซ้าย และขวาในลักษณะเดียวกัน
ผู้สร้างคงเจตนาสร้างให้มีนัยของพุทธปาฏิหาริย์ดังกล่าว จึงสร้างเป็นพระนอนตะแคงซ้าย.....
องค์พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าประดู่ มีลักษณะพิเศษกล่าวคือ มีการหนุนพระเศียรด้วยหัตถ์ซ้าย
สังเกตจากพระเกศ ไรพระศก จีวรแล้ว น่าจะอยู่ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา
จนกระทั่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ดูแลรักษาอย่างดี
วัดป่าประดู่ ได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๓
อยู่คู่บ้านคู่เมืองระยอง และมีงานสมโภชใหญ่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำทุกปี
ทุกวันจะมีประชาชนผู้ศรัทธา เดินทางเข้าไปกราบไหว้ขอพร เพื่อให้สมหวังในเรื่องต่างๆ
ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล อย่างไม่ขาดสาย
การเดินทางไปสักการะพระนอนตะแคงซ้าย (พระพุทธไสยาสน์) วัดป่าประดู่
สามารถใช้เส้นทาง ถ.สุขุมวิท เข้าตัวเมืองระยอง ใกล้กับโรงพยาบาลระยอง
และโรงเรียนวัดป่าประดู่ ถือเป็นการเดินทางที่สะดวกสบายที่สุด
พระวิหารวัดป่าประดู่ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระนอนตะแคงซ้าย
ด้านหน้าพระวิหารวัดป่าประดู่
พระอุโบสถวัดป่าประดู่
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือไหว้พระประธาน ๗๖ จังหวัด กองบรรณาธิการข่าวสด สำนักพิมพ์มติชน
__________________