ผู้สร้างวัดป่าแก้ว
ความจริงที่ยังไม่เปิดเผย
เกี่ยวกับเรื่อง วัดป่าแก้ว นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำอธิบายไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้ประทานข้อวินิจฉัยที่น่าสนใจไว้ ขอคัดมาเล่าสู่กันอ่านดังต่อไปนี้
เมื่อ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ เสด็จกลับถึงพระนครแล้ว ทรงพระพิโรธแม่ทัพนายกอง มีรับสั่งให้ปรึกษาโทษที่โดยเสด็จไปไม่ทัน ละแต่พระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ให้เข้าไปอยู่ในท่ามกลาง ศึก จะมีโทษฉันใดลูกขุนปรึกษาโทษประหารชีวิต แต่ สมเด็จพระวันรัตน ถวายพระพรขอโทษไว้ได้
ในพระราชพงศาวดาร ว่า สมเด็จพระวันรัตนวัดป่าแก้วถวายพระพรขอพระราชทานอภัยโทษข้าราชการไว้ ควรจะอธิบายเรื่องวัดป่าแก้วไว้ตรงนี้สักหน่อย
ในคำอธิบายของข้าพเจ้าในตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวถึงเรื่องนิกายพระสงฆ์ที่เข้ามาสู่ประเทศนี้ มีเนื้อความปรากฏถึงเรื่องนิกายพระสงฆ์ซึ่งเรียกว่า คณะป่าแก้ว เพราะเหตุที่แปลงมาในสำนัก พระวันรัตนมหาเถร ในเมืองลังกา
จึงเอานามวันรัตนนั้นมาแปลเป็นภาษาไทย เรียกชื่อนิกายสงฆ์ว่าคณะป่าแก้ว พระราชาคณะที่เป็นสังฆนายกของนิกายป่าแก้ว หรือที่เรียกว่า คณะใต้ จึงมีพระราชทินนามในสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระวันรัตน
แต่ที่อยู่วัดป่าแก้วนั้น ทำให้เข้าใจผิดอยู่ แม้ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสร้างวัดป่าแก้ว ที่จริงวัดนั้นเป็นวัดแก้วฟ้า วัดที่ชื่อป่าแก้วไม่มีในกรุงศรีอยุธยา
ปรากฏว่าได้ค้นหาวัดป่าแก้วกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จนเมื่อ พระยาโบราณราชธานินทร์ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าก็ได้ค้นหาวัดป่าแก้วอีก เคยพาข้าพเจ้าไปบุกรุกช่วยหาหลายหนก็ไม่พบ
เรื่องวัดป่าแก้วในกรุงเก่าเป็นที่ฉงนสนเท่ห์อยู่มาก ความคิดเพิ่งมาปรากฏแก่ข้าพเจ้าเมื่อไปเห็นหนังสือเก่าๆ ที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง
ในหนังสือเหล่านั้น ใช้คำคณะป่าแก้ว ติดเขาท้ายชื่อวัดทุกแห่ง ดังว่า วัดเขียนคณะป่าแก้ว วัดจะทิงคณะป่าแก้ว ดังนี้เป็นต้น ต้องกันกับชื่อวัดที่เคยเห็นในหนังสือพงศาวดารเหนือ ที่เรียกวัดทางเมืองสุโขทัยวัด ๑ ว่า วัดไตรภูมิ (คณะ) ป่าแก้ว
ข้าพเจ้านึกว่า วัดป่าแก้วในกรุงเก่าบางทีจะมีชื่ออื่นและเรียกคำป่าแก้วเข้าข้างท้าย อย่างเมืองสุโขทัยและเมืองนครศรีธรรมราช วัดในกรุงเก่าที่เป็นพระอารามหลวงใหญ่โตมีอยู่วัด ๑ ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกกันว่าวัดใหญ่ ครั้งกรุงเก่าเรียกกันว่าเจ้าพญาไทย วัดนี้ไม่มีชื่อในทำเนียบสมณศักดิ์ครั้งกรุงเก่า ในทำเนียบนั้นว่า สมเด็จพระวันรัตนอยู่วัดป่าแก้ว
เมื่อวัดป่าแก้วหาไม่พบ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าจะเป็นวัดเจ้าพาไทยหรือวัดใหญ่นี้เอง เพราะคำว่า ไทย เป็นศัพท์เก่า แปลว่า พระ ใช้ในหนังสือไตรภุมิพระร่วงและหนังสือสวดมาลัยมีอยู่เป็นพยาน ถ้าเจ้าไทยแปลว่า พระ เจ้าพญาไทยก็แปลว่า สังฆราชา วัดเจ้าพญาไทยแปลว่า เป็นที่อยู่ของสังฆราช
ทำเนียบสมณศักดิ์ครั้งกรุงเก่าว่าพระสังฆราชมี ๒ องค์ คือ สมเด็จพระอริยวงศ์อยู่วัดมหาธาตุ ยังปรากฏอยู่ สมเด็จพระวันรัตนเป็นสังฆราชอีกองค์ ๑ ว่าอยู่วัดป่าแก้ว
เมื่อวัดสังฆราชยังมีชื่ออีกวัด ๑ คือ วัดเจ้าพญาไทย ก็เห็นว่าคือวัดเจ้าพญาไทยนี้เอง เป็นวัดที่สมเด็จพระวันรัตนอยู่ จะเรียกว่าวัดสังฆราชคณะป่าแก้ว เมื่อเรียกสั้นลง จึงคงแต่คำว่า วัดป่าแก้ว เป็นชื่อหนึ่งของวัดเจ้าพระยาไทย
ความคิดเห็นของข้าพเจ้านี้ เมื่อมาอ่านตรวจหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้โดยถ้วนถี่ ได้ความว่า กรมหลวงธิราชวงศาสนิท ท่านทรงคิดเห็น และลงยุติเสียแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๔
ด้วยความตอนรบพม่า เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าสุริยาตรมรินทร์ มีแห่ง ๑ ในพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มว่า
พระยากำแพงเพ็ชร (คือ พระเจ้ากรุงธนบุรี) กับพระยาเพชรบุรี ยกกองทัพออกไปตั้งที่วัดใหญ่ ดังนี้จึงควรยุติได้ว่าที่ในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระวันรัตนอยู่วัดป่าแก้วนั้น คืออยู่วัดเจ้าพญาไทย ที่เรียกทุกวันนี้ว่า วัดใหญ่ มีพระเจดีย์สูง อยู่ริมทางรถไฟข้างตะวันออก เมื่อก่อนจะเข้ากรุงเก่านั่นเอง
พระนิพนธ์คำอธิบายฉบับพระราชพงศาวดารฉบับ พระราชหัตถเลขา ที่ยกมากล่าวข้างต้นนี้ ค้านข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่นับว่าสำคัญอยู่ตอนหนึ่ง คือที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างวัดป่าแก้วนั้น ที่แท้จริง วัดนั้นเป็น วัดแก้วฟ้า หาใช่ป่าแก้วไม่ พระวินิจฉัยของสมเด็จฯ น่าจะเป็นไปได้มาก เพราะสงฆ์คณะป่าแก้วนี้เพิ่งมามีในสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ฉะนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงไม่ได้สร้างวัดป่าแก้วแน่นอน แต่จะเป็นใครสร้าง และสร้างมาตั้งแต่เมื่อไรนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องค้นคว้ากันต่อไป
ผู้สร้างวัดใหญ่ชัยมงคล
ความจริงที่กระจ่างแล้ว
หลังจากที่วัดป่าแก้วได้ร้างลงเป็นเวลาร่วม ๒๐๐ ปี พระภิกษุฉลวย สุธมฺโม ได้นำพระภิกษุ สามเณร และแม่ชีจำนวนหนึ่งมาปฏิบัติธรรม ณ ที่แห่งนี้ จนกระทั่งท่านต้องการจาริกไปปฏิบัติธรรมยังที่อื่น จึงได้อาราธนา พระครูภาวนาพิริยคุณ ( เปลื้อง วิสฏฺโฐ ) เจ้าอาวาสวัดยม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มาสานต่อการบูรณปฏิสังขรณ์ และดูแลพระชี
เมื่อ พระครูภาวนาพิริยคุณ ( ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูภาวนารังสี ) เข้าบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคล จนได้รับการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น พระเจดีย์มีสภาพทรุดโทรมมาก เป็นเพราะการถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ ประการหนึ่ง เป็นเพราะคนไทยกันเอง ขุดคุ้ยทำลายเพื่อหาของมีค่าเป็นประโยชน์ส่วนตัวประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งพระเจดีย์มีอายุถึง ๔๐๐ ปี จึงชำรุดทรุดโทรมจนเหลือกำลังของวัดที่จะเข้าแก้ไขให้คงอยู่ต่อไป เนื่องจากพระเจดีย์นั้นมีลักษณะคล้ายจะล้มครืนลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อฝนตกพายุพัดจะมีเสียงลั่นเป็นที่น่าวิตกยิ่ง
พระครูภาวนารังสี จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะสายเกินไป
ปรากฏว่าอีกไม่นานต่อมากรมศิลปากรได้รับงบประมาณบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมพระ เจดีย์ชัยมงคล และบริเวณวัดใหญ่ชัยมงคล เฉพาะในเขตพุทธาวาส ๒๐ ล้านบาทเศษ กรมศิลปากรได้สั่งช่างเข้าดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จนงานได้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
ย้อนมองกลับหลัง
ภาพความยิ่งใหญ่ครั้งอดีต
สิ่งก่อสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ได้ร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ นอกจากพระเจดีย์ชัยมงคลแล้ว ยังมีอีกหลาย ๆ สิ่งที่น่าสนใจศึกษา
ทางด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์ชัยมงคลทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหญ่ยังมีซากให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ ได้แก่ ด้านเหนือพระอุโบสถปัจจุบัน มีผนังพระอุโบสถเดิม ก่อด้วยอิฐถือปูนหนาประมาณ ๔๐ ซม. เหลือซากให้เห็นอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์แต่ก็ซวนเซเต็มที อาศัยความหนาจึงทรงตัวอยู่ได้ ผนังด้านทิศใต้เหลือซากผนังด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถเพียงเล็กน้อยนอกนั้นกลายเป็นอิฐหักกากปูนทับถมกันอยู่ ซึ่งทางวัดได้ขนย้ายไปถมที่ลุ่มหมดแล้ว ตัวพระอุโบสถที่เห็นในปัจจุบันเป็นพระอุโบสถที่กรมศิลปากรออกแบบ แล้วทางวัดสร้างซ้อนไว้ในซากพระอุโบสถหลังเดิม
ทางด้านทิศตะวันตกของพระเจดีย์ชัยมงคล มีวิหารหลวง ที่เรียกว่า ศาลาดิน ซึ่งยังเหลือซากตอนฐานล่วงไว้ให้เห็น เข้าใจว่า คงเป็นสถานที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินบำเพ็ญพระราชกุศล
ติดกับศาลาดินด้านใต้ยังมี เกย สำหรับเจ้านายใช้เป็นที่เสด็จขึ้นลงยานพาหนะ
วิหารหลวงอีกหลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ ติดกับกำแพงวัดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์นั้น เข้าใจว่า เดิมน่าจะสร้างขึ้นเป็นทำนอง พระที่นั่งทรงธรรม มากกว่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เพราะภายในไม่ปรากฏว่ามีฐานชุกชีสำหรับตั้งพระพุทธรูป
นอกจากนี้ยังมี มุขเด็จ แบบมุขเด็จของพระมหาปราสาท ยื่นออกไปทางทิศใต้สำหรับเสด็จออก ให้ประชาชนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอีกด้วย
วัดเจ้าพระยาไท-ชัยมงคล หรือวัดป่าแก้ว มากลายเป็นวัดร้าง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๙ พม่าข้าศึกยกพลมาประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือออกจากพระนครไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว ทัพเรือไทยเสียทีข้าศึกจับพระยาเพชรบุรีได้ฆ่าเสียแล้วก็แตกกลับมา
พม่ายึดเอาวัดเจ้าพญาไทเป็นฐานปฏิบัติการ วัดใหญ่เจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วก็ถึงกาลวิปโยค...ฉิบหายลงด้วยน้ำมือข้าศึกผู้มีรากฐาน อุปนิสัยใจคอมาจากโจรป่าด้วยประการฉะนี้
ปัจจุบันวัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดเจ้าพญาไทชัยมงคล หรือวัดป่าแก้วเหลือแต่ซาก....
สิ่งเหล่านี้เองที่เหลืออยู่ให้เราศึกษา แต่ว่าอิฐทุกก้อน ปูนทุกชิ้นแม้จะแหลกราญอยู่กับพื้นดินก็ยังมีความรู้สึกท้าทายผู้ไปพบเห็น ที่แหล่งนี้ และเป็นที่ประกาศชัยชนะอันบันลือเกียรติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้ปรากฏไป ตราบกัลป์ปาวสาน"
(ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์)
วัดใหญ่ชัยมงคลในปัจจุบัน
สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หากเปรียบวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นคนสักคนหนึ่งแล้ว ช่วงแรก ที่หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม และ หลวงปู่พระครูภาวนารังสี ได้บุกบั่น ฝ่าฟัน ต่อสู้ จนวัดได้เป็นวัด คงจะเปรียบได้กับ เด็กทารกแรกเกิด ที่ต้องประคับประคอง ดูแลกันอย่างดี
จนปัจจุบัน ( พ.ศ. ๒๕๕๑ ) วัดใหญ่ชัยมงคล ที่ได้พระครูพิสุทธิ์บุญสาร ( แก่น ปุญฺญสมฺปนฺโน ) เป็นเจ้าอาวาส พระมหาสำรอง ชยธมฺโม และ พระมหาบรรณ์ ปญฺญาธโร เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส แม่ชีสมจิต ควรเลี้ยง เป็นหัวหน้าสำนักแม่ชี คงจะเปรียบได้กับคนหนุ่มที่มีกำลังวังชาดี มีความเข้มแข็งในทุก ๆ ด้าน เช่น
ด้านการพัฒนาวัตถุ วัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับการยกย่องให้เป็น วัดพัฒนาตัวอย่าง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และต่อมายังได้รับการยกย่องอีกว่าเป็น วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น พ.ศ. ๒๕๔๗
ด้านการพัฒนาบุคคลากร วัดใหญ่ชัยมงคล ได้พัฒนาบุคคลากรพระภิกษุจนเป็นที่ยอมรับ เห็นได้ชัดจาก การที่พระภิกษุจากวัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับการคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในเขต อำเภอพระนครศรีอยุธยา พร้อมกันถึง ๓ รูป ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑
ด้านการพัฒนาการศึกษาปริยัติธรรม วัดใหญ่ชัยมงคล มีการเรียนการสอนหลักสูตรพระปริยัติธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรนักธรรม หลักสูตรธรรมศึกษา เป็นต้น
ด้านการพัฒนาจิตใจ วัดใหญ่ชัยมงคล รักษามาตรฐานการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงปู่พระครูภาวนารังสี อดีตเจ้าอาวาส ที่เน้นในเรื่องของกิจวัตร และพระกรรมฐาน พร้อมทั้งเปิดกว้างให้ผู้ที่ใฝ่ในการปฏิบัติได้มาฝึกหัดขัดเกลาในขั้นเบื้องต้น จนที่สุด วัดใหญ่ชัยมงคลได้รับการคัดเลือกจากมหาเถรสมาคม ให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ ๓
ในวันข้างหน้า ไม่มีใครอาจทราบได้ว่าวัดใหญ่ชัยมงคลจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกันเข้าเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีวันรุ่งเรือง วันเสื่อม และวันสูญ วัดเจ้าพระยาไทย ในอดีตเคยรุ่งเรืองเป็นอันมาก แต่ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปในที่สุด วัดใหญ่ชัยมงคล ก็คงไม่พ้นจากความจริงในข้อนี้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้นอยากให้ทุกท่านมาร่วมกัน รับรู้ความยิ่งใหญ่ ของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ตลบอบอวลอยู่ทุกอณูของวัดใหญ่ชัยมงคล
หมายเหตุ : บทความร้อยละเก้าสิบเก้า คัดมาจาก หนังสือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดใหญ่ชัยมงคล, เพิ่มศักดิ์ วรรยางกูร เรียบเรียง, อัมรินทร์พรินติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๒๕๔๘, หน้า ๑๓๐-๑๓๗ อีกหนึ่งส่วนที่เหลือ อาตมภาพทำการปรับปรุงเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับเว็บไซต์ และเขียนเพิ่มเติมในส่วน "วัดใหญ่ชัยมงคลในปัจจุบัน" ขออนุโมทนากับโยมอาจารย์เพิ่มศักดิ์ ที่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น และได้ถวายให้ทางวัดได้ใช้ประโยชน์ มา ณ โอกาสนี้ ขออนุโมทนา - พระมหานัธนิติ สุมโน
ขอขอบคุณที่มา...http://www.watyaichaimongkol.net/index.php?mo=3&art=135129