ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร  (อ่าน 7846 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด


หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร(ศิษย์ หลวงปู่มั่น)
หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ เดิมชื่อ กงมา วงศ์เครือศร เกิดวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน
๑๒ ปีชวด ณ บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนสุดท้องของนายบู่ นางนวล วงศ์เครือศร
ซึ่งมีพี่ร่วมท้องเดียวกัน ๖ คน มีรายนามดังต่อไปนี้
๑. นางบัวทอง ผาใต้ (มารดาของพระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺโม)
๒. นางบาน ทาศรีภู
๓. นางเบ็ง วงศ์เครือศร
๔. นายพิมพา วงศ์เครือศร
๕. นายบุญตา วงศ์เครือศร
๖. พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ
ในวัยหนุ่มมีร่างกายกำยำล่ำสันสูงใหญ่ใบหน้าคมคาย เป็นนักต่อสู้ชีวิต แบบเอางานเอาการเมื่อท่านเป็นฆราวาส เป็นพ่อค้าขายโค กระบือ และเป็นหัวหน้าได้นำกระบือเข้ามาขายทางภาคกลางทุก ๆ ปีจนฐานะท่านมั่นคง การเป็นพ่อค้าขายโค กระบือ ในสมัยนั้นไม่ใช่ทำกันได้ง่าย ๆ พระอาจารย์วัน อุตฺตโมได้เขียนไว้ในอัตโนประวัติของท่านเอง เกี่ยวกับการค้าขายโคกระบือไว้ดังนี้ตามธรรมเนียมของพวกพ่อค้าควาย พ่อค้าวัว ต้องมีวัวต่างสำหรับบรรทุกสัมภาระบางอย่างไปด้วย ๒ - ๓ ตัวพ่อค้าแต่ละพวก จะต้องมีหัวหน้านำหมู่คณะหนึ่งคน เรียกกันว่า “นายฮ้อย” สำหรับนายฮ้อยนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบของหมู่คณะทุกประการ ประกอบด้วยลักษณะดังนี้ คือ
๑.) เป็นผู้ชำนาญทาง
๒ .) เป็นผู้พูดจาคล่องแคล่ว
๓.) เป็นผู้รู้กฎหมายระเบียบและประเพณีของท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นผู้มีปัญญา ความฉลาดในการติดต่อสังคม
ในการซื้อขาย ในการรักษาทรัพย์ ในการรักษาชีวิตเป็นต้น
๔.) เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต โอบอ้อมอารี มีเมตตาจิต ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน ไม่คดโกง ฉ้อฉล
เบียดบังเอาเปรียบในลูกน้องของตน
๕.) เป็นผู้มีความแกล้วกล้าสามารถอาจหาญ มีการยอมเสียสละ ต่อสู้เหตุการณ์โดยไม่หวั่นไหว
๖.) เป็นผู้เก่งทางอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออก ฟันแทงไม่เข้า ตีไม่แตก จับไม่อยู่ เป็นต้น
๗.) เป็นผู้ฉลาดในการวางแผน เช่น จะออกเดินทางในเวลาใด ควรจะให้ใครออกก่อน อยู่ท่าม และอยู่ตามหลัง
พักกลางวันและพักค้างคืนที่ใด จะให้น้ำให้หญ้าแก่สัตว์อย่างไร ไปช้าไปเร็วขนาดใด เป็นต้น
๘.) เป็นผู้รู้จักสอดส่องมองรู้ทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ที่จักเกิดขึ้น
นี่คือ ลักษณะผู้เป็นนายฮ้อย ผู้ที่จะเป็นนายฮ้อยนั้น ไม่มีการหาเสียงอย่างผู้แทนราษฎรหรือนักการเมืองทั้งหลาย เป็นความเห็นดีเห็นชอบของเพื่อนฝูง หรือเฒ่าแก่บ้านเมือง โดยเพื่อนฝูงหากขอร้องให้เป็น และพร้อมกันยกยอกันขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องเคารพนับถือเชื่อฟังกัน
ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ร่วมเป็นร่วมตายกัน สมัยนั้นพวกพ่อค้าวัว พ่อค้าควาย ต้องไล่ต้อนสัตว์ลงไป จะต้องผ่านเขตเขาใหญ่ ซึ่งมีมหาโจรเขาใหญ่คอยสกัดทำร้ายเป็นประจำ ด่านผู้ร้ายที่สำคัญขนาดเขตอันตรายสีแดง ก็คือ “ปากช่อง” “ช่องตะโก” พวกพ่อค้าทั้งหลายจะขี้ขลาดตาขาวลาวพุงดำไม่ได้ ต้องกล้าเก่ง ฮึกหาญ เตรียมต่อสู้ทุกคน ไม่เขาก็เราขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชาย ต้องบุกให้ผ่านพ้นอันตรายให้จนได้ นายฮ้อยต้องมีปืนมีดาบติดตัวเสมอ เมื่อมีเวลาเหตุการณ์ ต้องออกหน้าออกตาในการต่อสู้ ถ้านายฮ้อยดีก็ปลอดภัยทั้งขาไปขากลับ การเป็น “นายฮ้อย”
คุมลูกน้องเพื่อนำโคกระบือมาขายยังภาคกลางต้องอาศัยคุณสมบัติพิเศษตามที่อ้างถึงข้างต้น เป็นการชี้ให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ และความเด็ดเดี่ยวในการดำเนินชีวิตของท่านได้เป็นอย่างดี มีครอบครัว เมื่อท่านพยายามสร้างฐานะของท่านจนมั่นคงดีแล้วจนอายุได้ประมาณ ๒๔ - ๒๕ ปี จึงได้สมรสกับนางสาวเลาอยู่ร่วมกันมาจนกระทั่งนางเลาผู้ภรรยาตั้งครรภ์ ภรรยาและบุตรในครรภ์ถึงแก่กรรมในวันคลอดจึงทำให้ท่านเกิดความสังเวชสลดใจ และเศร้าโศกเป็นอย่างยิ่ง เห็นความแปรปรวนของสังขารทั้งหลาย เห็นว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการออกบวชเป็นพระ เมื่อตกลงใจดีแล้วท่านจึงได้ลาบิดามารดาและญาติออกบวชเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. ๒๔๖๘นั้นเองที่วัดบ้านตองโขบ ต.ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมีพระอาจารย์โท เป็นพระอุปัชฌาย์เป็นพระในสังกัดมหานิกายการอยู่ในเพศบรรพชิตของท่านในขณะนั้นก็ยังไม่เป็นไปอย่างที่ท่านนึก
เพราะวัดที่ท่านบวชนั้นไม่ได้มีการประพฤติปฏิบัติอะไรพระเณรในวัดก็ยังไม่อยู่ในศีลาจาริยวัตรที่เรียบร้อยงดงาม มีอยู่คืนวันหนึ่งขณะที่ท่านจำวัดอยู่รวมๆกันในกุฏิ มีพระภิกษุรูปหนึ่งคาดว่าไปเที่ยวกลางคืน กลับมาดึก อาจจะเมามาได้มาเหยียบตัวท่านอย่างแรงจนสะดุ้งตื่นขึ้น ท่านก็มีความขัดใจอย่างยิ่ง และท่านก็โดนเช่นนั้นหลายครั้งจึงคิดว่าเราอาจจะอยู่วัดนี้ไม่ได้ และอาจจะทำให้เกิดความผิดตามมาท่านจึงได้พยายามไต่ถามญาติโยมทั้งหลาย ว่ามีวัดไหนบ้างที่มีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้รับคำแนะนำว่าวัดที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภูพาน (ข้ามภูพานไปทาง จ.กาฬสินธุ์) เจ้าอาวาสชื่อว่าพระอาจารย์วานคำเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง จึงไปขอพักอาศัยอยู่ด้วย อาจารย์วานคำฯ ก็ได้ให้ความรักใคร่แก่ท่านเป็นพิเศษ
ได้สอนให้ทำสมาธิตามวิธีของท่านอยู่ประมาณ ๑๐ เดือน แต่ก็มีวัตรปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างที่ท่านไม่พอใจคือ ตอนค่ำ ๆ พระจะต้องไปถอนหญ้าถางป่า ตัดต้นไม้ ซึ่งอาจารย์วานคำบอกว่าเราทำอย่างนี้มันก็ผิดวินัยอยู่ แต่จำต้องทำ เมื่อพระอาจารย์กงมาทราบว่าการปฏิบัติดังกล่าวผิดวินัย
ก็ไม่อยากจะทำ แต่ก็จำต้องทำด้วยความเกรงใจอยู่มาวันหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านอาจารย์กงมาฯ ได้ทราบข่าวว่า
มีตาผ้าขาวคนหนึ่งธุดงค์มาปักกลดอยู่ใกล้ ๆ แถว ๆ นั้น มีผู้คนไปฟังเทศน์กันมาก ก็เกิดความสนใจขึ้นเมื่อได้โอกาสจึงได้ไปหาตาผ้าขาวคนนั้น เมื่อได้พบก็เกิดความเลื่อมใส เพราะเห็นกิริยามารยาทประกอบกับมีรัศมีผ่องใส จึงได้ถามว่า ท่านมาจากสำนักไหน ตาผ้าขาวบอกว่า มาจากสำนักท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ถามว่า อยู่กับท่านมากี่ปี ตาผ้าขาวบอกว่า ๓ ปี และตาผ้าขาวได้อธิบายวิธีทำกัมมัฏฐานแบบของท่านอาจารย์มั่น ฯ ให้ฟัง ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างจริงจังขึ้นถามว่า เวลานี้ท่านอาจารย์มั่นฯ อยู่ที่ไหน ตอบว่าอยู่ที่บ้านสามผง ดงพะเนาว์ อ. วานรนิวาส ท่านอาจารย์กงมาจึงตั้งใจจะไปหาท่านอาจารย์มั่นฯ ให้ได้และได้ลาตาผ้าขาวคนนั้นกลับวัด เมื่อกลับมาที่วัดแล้วก็มาขอลาท่านอาจารย์วานคำเพื่อไปหาท่านพระอาจารย์มั่น แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตแม้จะพากเพียรขออนุญาตตั้งหลายครั้ง อยู่มาวันหนึ่ง อาจารย์วานคำมีธุระไปฟากภู (ข้างหนึ่งของภูพาน) เป็นโอกาสของท่านอาจารย์กงมาฯจึงได้ชวนพระบุญมี เป็นเพื่อนองค์หนึ่ง พากันหนีออกจากวัดนั้นไป ท่านและพระบุญมีเดินทางเป็นเวลา ๒ วัน ก็ถึงเสนาสนะป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนมใกล้กับวัดโพธิ์ชัย ที่ที่ท่านอาจารย์มั่นฯและคณะส่วนหนึ่งได้จำพรรษาตามคำอาราธนานิมนต์ของพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโรขณะไปถึง ท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณรอยู่ ณ ที่ศาลามุงหญ้าคาหลังเล็ก ๆซึ่งภาพที่ได้เห็นได้ทำให้ท่านอาจารย์กงมาฯ รู้สึกว่าตื่นเต้นระทึกใจเหมือนกับว่ามีปีติตกอยู่ในมโนรมณ์ ตัวชาไปหมด จึงนั่งรอพักอยู่ในที่แห่งหนึ่งใต้โคนไม้เมื่อท่านอาจารย์มั่น ฯ เสร็จจากการให้โอวาทพระภิกษุสามเณรแล้วทั้งสองก็ได้เข้าไปนมัสการขอฝากตัวเป็นศิษย์กับท่านอาจารย์มั่น ฯท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้ให้พระไปพาขึ้นมา โดยบอกว่า นั่น พระแขกมาแล้ว และทั้งสองมีความตั้งใจองค์หนึ่ง
อีกองค์หนึ่งเพียงแต่ตามมาเท่านั้น และเมื่อท่านอาจารย์กงมา ฯ นั่งแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯก็ให้กัมมัฏฐานเลยทีเดียว โดยไม่ต้องรอกาลเวลา และก็บอกให้ไปอยู่ที่กุฏิหลังหนึ่งที่เปลี่ยวที่สุดพระอาจารย์กงมา รับโอวาทครั้งแรกจากท่านพระอาจารย์มั่นเมื่อท่านได้รับโอวาทครั้งแรกของท่านอาจารย์มั่น ฯ นั้น ทำให้ท่านซาบซึ้งอย่างยิ่งจึงได้เริ่มต้นเร่งความเพียรอย่างเต็มความสามารถ ท่านได้กระต๊อบเล็กหลังหนึ่งอยู่ในป่าดงพะเนาว์
ป่านี้เป็นดงใหญ่ เต็มไปด้วยสิงห์สาราสัตว์ดุร้ายต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นดงมาเลเรียถ้าผู้ใดอยู่โดยไม่ระมัดระวังแล้วเป็นไข้มาเลเรียมีหวังตาย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นที่สงบวิเวกเป็นอย่างยิ่งหลังจากได้บำเพ็ญความเพียรมาเป็นลำดับตามที่ได้รับอุบายวิธีมาจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ทำให้เกิดสมาธิ
ปีติเยือกเย็นใจลึกซึ้งเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน ความก้าวหน้าของการบำเพ็ญจิตเป็นพลวัตคือดำเนินเข้าไปหาความยิ่งใหญ่โดยไม่หยุดยั้ง ทุก ๆ วัน
ท่านจะเข้าไปปรึกษาไต่ถามท่านอาจารย์มั่นฯ มิได้ขาด เนื่องด้วยความเป็นไปของสมาธิได้เป็นไปอย่างรวดเร็วท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้แก้ไขให้เกิดศรัทธาอย่างไม่มีลดละ ทำให้ท่านมุมานะบากบั่นอย่างไม่คิดชีวิตวันหนึ่งท่านไปนั่งสมาธิอยู่ใต้โคนค้นไม้ พอจะพลบค่ำ ยุงได้มากันใหญ่
แต่พอดีกับท่านกำลังได้รับความรู้ทางในแจ่มแจ้งน่าอัศจรรย์ จึงไม่ลุกจากที่นั่ง ได้นั่งสมาธิต่อไปยุงได้มารุมกัดท่านอย่างมหาศาล และยุงที่นี้เป็นยุงอันตรายทั้งนั้น เพราะมันมีเชื้อมาเลเรียแต่ท่านก็ไม่คำนึงถึงเลย มุ่งอยู่แต่ความรู้แจ้งเห็นจริงที่กำลังจะได้อยู่ในขณะนั้น
พระอาจารย์วิริยังค์
ในเรื่องนี้ท่านได้เล่าให้พระอาจารย์วิริยังค์ฟังว่าเราได้ยอมสละแล้วซึ่งชีวิตนี้ เราต้องการรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมอันท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้แนะนำให้
ในการนั่งครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งพิเศษมากเพราะมันเกิดความสว่างอย่างไม่มีอะไรปิดบังเราลืมตาก็ไม่สว่างเท่า ดูมันทะลุปรุโปร่งไปหมด ภูเขาป่าไม้ไม่มีอะไรมาขวางกั้นได้เลยและมันเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นแก่เรา แม้จะพิจารณากายสังขารก็แจ้งกระจ่างไปหมด จะนับกระดูกกี่ท่อนก็ได้
เกิดความสังเวชสลดจิตยิ่งนัก หวนคิดไปถึงคุณของท่านอาจารย์ว่าเหลือล้นพ้นประมาณคิดว่าเราถ้าไม่ได้พบท่านอาจารย์มั่นฯ เหตุไฉนเราจะได้เป็นเช่นนี้หนอ ท่านได้นั่งสมาธิจนรุ่งสว่าง พอออกจากสมาธิ ปรากฏว่าเลือดของยุงที่กัดท่านหยดเต็มผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง)
เต็มไปหมด พอท่านลุกขึ้นมาตัวเบา แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ายุงเหล่านี้มีพิษสงร้ายนักแต่ท่านก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะที่ท่านได้รับธรรมนั้นวิเศษนักแล้วแต่ท่านก็หาได้จับไข้หรือเป็นมาเลเรียเลย นับเป็นสิ่งอัศจรรย์อยู่มากทีเดียวความเป็นมาในวันนี้ท่านได้นำไปเล่าถวายท่านอาจารย์มั่น ฯ
ได้รับการยกย่องสรรเสริญในท่ามกลางพระสงฆ์ทั้งหลายที่มาประชุมกัน และได้พูดว่า ท่านกงมานี้สำคัญนัก แม้จะเป็นพระที่มาใหม่ แต่บารมีแก่กล้ามาก ทำความเพียรหาตัวจับยากสู้เสียและให้ยุงกินได้ตลอดคืน ควรจะเป็นตัวอย่างแก่ผู้ตั้งใจปฏิบัติทั้งหลาย และท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้แสดงถึงมหาสติปัฏฐานโดยเฉพาะ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้ท่านฟังอย่างแจ่มแจ้งท่านเล่าให้พระอาจารย์วิริยังค์ฟังต่อไปว่า
เมื่อเราอยู่ที่บ้านสามผงดงพะเนาว์นี้ การทำความเพียรได้บำเพ็ญทั้งกลางคืน และกลางวันมีการพักหลับนอนในเวลากลางคืนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนตอนกลางวันเราจะเอนหลังลงนอนไม่ได้เลยแม้ว่าเราต้องการจะเอนหลังพักผ่อนบ้าง เพราะความเหน็ดเหนื่อย แต่พอเอนหลังลงเท่านั้น
จะมีอีกาตัวหนึ่งบินโฉบมาจับที่หลังคากระต๊อบของท่าน แล้วใช้จะงอยปากสับตรงกลางหลังคาเสียงดังทันทีถ้าท่านไม่ลุกขึ้น มันก็จะสับอยู่อย่างนั้น พอท่านลุกขึ้นมันก็จะหยุด เป็นอยู่อย่างนี้มาหลายเวลาทีเดียวจนท่านไม่กล้าจะพักจำวัดเวลากลางวันท่านได้เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ต่อไปอีกว่า
“มีคราวหนึ่งที่ท่านต้องหนักใจอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์มั่น ฯใช้ให้ท่องพระปาฏิโมกข์ให้ได้เสียก่อนจึงจะญัตติเป็น พระธรรมยุต เหมือนกับท่านอาจารย์มั่น ฯเพราะท่านบวชเป็นพระมหานิกายอยู่ก่อน ค่าที่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งและต้องการที่จะเป็นศิษย์ที่แท้จริงของ ท่านอาจารย์มั่น ฯ เราจึงต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะท่องพระปาฏิโมกข์ให้ได้ ซึ่งเป็นการขัดข้องเหลือเกินเนื่องจากเราอ่านหนังสือเขียนหนังสือไทยไม่ได้มาก ถึงได้ก็ไม่ ชำนาญที่จะอ่านถึงหนังสือพระปาฏิโมกข์แม้จะเป็นเรื่องยากแสนยากนักสำหรับตัวเรา ก็ถือว่าแม้แต่การปฏิบัติจิตใจที่ว่ายากนัก
เราก็ยังได้พยายามจนได้รับผลมาแล้ว จะมาย่อท้อต่อการทั้งพระปาฏิโมกข์นี้เสียทำไมเราจึงพยายามทั้งกลางวันกลางคืนเช่นกัน แกะหนังสือไปทีละตัวถึงกับขอให้พระอื่นที่อ่านหนังสือได้ช่วยต่อให้ เราพยายามอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็สำเร็จให้แก่เราจนได้เป็นอันว่า เราท่องพระปาฏิโมกข์จบอยู่ที่บ้านสามผง ดงพะเนาว์นี้เอง”และในปีนี้เอง ก็เป็นปีที่มีการทำพิธีญัตติกรรม พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร
พร้อมกับพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ ในจำนวนพระเณรที่มาทำการญัตติมีพระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นสามเณรรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่งโดยได้กระทำพิธีที่อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) หนองสามผง สำหรับโบสถ์น้ำที่ท่านพระอาจารย์มั่นฯจัดสร้างขึ้นนี้ ใช้เรือ ๒ ลำลอยเป็นโป๊ะ เอาไม้พื้นปูเป็นแพ แต่ไม่มีหลังคาเหตุที่สร้างโบสถ์น้ำทำสังฆกรรมคราวนี้ ก็เพราะในป่าจะหาโบสถ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยไม่ได้การทำญัตติกรรมครั้งนี้ ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูชิโนวาทธำรง มาเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และท่านพระอาจารย์มั่นฯ นั่งหัตถบาสร่วมอยู่ด้วยพระอาจารย์กงมาได้เล่าถึงเมื่อครั้งได้มีโอกาสอยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นในช่วงหนึ่งของชี
วิตไว้ว่า“การอยู่ร่วมกับท่านอาจารย์มั่น ฯ เป็นเวลานานเป็นปี ๆ นั้น เป็นการอยู่อย่างมีความหมายจริง ๆ
วันและคืนที่ล่วงไปไม่เคยให้เสียประโยชน์แม้แต่กระเบียดนิ้วเดียวเราจะไต่ถามความเป็นไปอย่างไรในจิตที่กำลังดำเนิน ท่านจะแก้ไขให้อย่างแจ่มแจ้งและท่านยังรู้จักความก้าวหน้าถอยหลังของจิตของเราเสียอีก บอกล่วงหน้าให้ได้เลยในการบางครั้งทำให้เราเกิดความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง คราวใดที่เราเคร่งครัดการทำความเพียรเกินควรท่านก็จะทัดทานแนะนำให้ผ่อนลงมา คราวใดเราชักจะหย่อนไป ท่านก็จะเตือนให้ทำหนักขึ้น และบางคราวบางเดือน สมควรที่จะให้ไปห่างจากท่าน ท่านก็จะบอกชี้ทางให้ออกไปว่า ไป ณ ที่ถ้ำนั้นภูเขาลูกนั้น ป่านั้น เพื่อความวิเวกยิ่งขึ้น เราก็จะไปตามคำสั่งของท่าน ทำการปรารภความเพียรในที่ไปนั้นเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ยิ่งชัดเจนในความสามารถของท่านอย่างไม่มีอะไรจะมาเปรียบปานครั้นได้กาลเวลาท่านก็เรียกให้กลับ เพื่อความที่จะแนะนำต่อเรารู้สึกว่าเมื่อกลับมาจากการไปวิเวกแล้วมาถึง ท่านจะแลดงธรรมวิจิตรจริง ๆ ให้ซาบซึ้งอย่างยิ่งคล้ายกับว่าท่านได้ล่วงรู้ความเป็นไปต่าง ๆ ที่เราได้กระทำมานี้ก็ทำให้เราอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งอีกเช่นกัน การกระทำเช่นนี้มิใช่ว่าจะแนะนำให้แก่เราแต่ผู้เดียว ทุก ๆองค์ที่อยู่กับท่านๆ ก็จะแนะนำเช่นเดียวกัน”ท่านอาจารย์กงมาท่านเล่าเรื่องต่าง ๆ ของท่านในอดีตให้พระอาจารย์วิริยังค์ฟังต่อไปอีกว่า “ครั้งหนึ่งที่เราได้อยู่กับท่านอาจารย์มั่นผ่านมาเป็นเวลา ๒ ปีเศษ ได้พบเห็นเหตุการณ์ต่างๆ
เช่นพระภิกษุสามเณรที่มาอยู่กับท่าน ทุก ๆ องค์ต่างก็สนใจในธรรมอย่างแท้จริงมิได้มีองค์ใดเลยที่ย่อหย่อน และทุกๆ องค์ต่างได้ผลทางใจกันทั้งนั้นเพราะเมื่อผู้ใดมีอะไรเกิดขึ้นจากการบำเพ็ญจิตแล้ว ก็จะนำมาเล่าถวายท่านฟังและในเวลาที่ประชุมกันฟังทำให้รู้สึกขนพองสยองเกล้าเอาทีเดียว เมื่อได้ยินแต่ละองค์พูดถึงความจริงที่ตนได้รับบางองค์ก็พูดเหมือนเรากำลังเป็นอยู่แล้ว และท่านก็แก้ไขให้องค์นั้น เราเองก็พลอยถูกแก้ไขไปในตัวเสร็จ บางองค์พูดขึ้นลึกซึ้งเหลือที่เราจักรู้ได้ ก็ทำให้เราอยากรู้อยากเห็นต่างองค์ก็ต่างไม่สงสัยซึ่งกันและกันว่าคำพูดเหล่านั้นจะไม่จริง ทำให้เรานี้นึกย้อนหลังไปถึงอดีตว่าแม้ครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ก็คงจะเป็นเช่นนี้เองเลยทำให้เหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังงั้นแหละถึงอย่างไรก็ตาม เราเองเลื่อมใสยิ่ง ทั้งท่านและพระภิกษุสามเณรที่อยู่กับท่าน
เพราะเหตุที่เห็นการปฏิบัติและปฏิปทาน่าเลื่อมใสและที่ได้เปล่งวาจาแห่งความจริงที่เกิดขึ้นในจิตของแต่ละท่าน”หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้วท่านอาจารย์มั่นซึ่งจำพรรษาอยู่ที่บ้านสามผงก็ได้พาคณะซึ่งมีพระอาจารย์กงมารวมอยู่ด้วยเดินทางมาที่บ้านโนนแดง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนมพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป ณ ที่นี้เองก็ได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแพร่ธรรมและไปโปรดเทศนาญาติโยมที่เมืองอุบลและได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ
เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน จากนั้นท่านพระอาจารย์ใหญ่ท่านปรารภถึงเรื่องที่จะนำ “โยมแม่ออก” (มารดาของท่านพระอาจารย์มั่นซึ่งบวชเป็นชี)ไปส่งมอบให้น้องสาวท่านที่จังหวัดอุบลช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ท่านชรามาก อายุ ๗๘ ปีแล้วเกินความสามารถท่านผู้เป็นพระจะดูแลได้แล้ว พระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่นต่างก็อาสาที่จะเป็นผู้นำโยมแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของพระอาจารย์แก่มากหมดกำลังต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบล ฯ ได้การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่งเพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้นการเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วย ท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนญาติโยมตามรายทางด้วยการสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกัมมัฏฐาน และการถึงพระไตรสรณาคมน์ ที่ให้ละการนับถือภูตผีปีศาจต่าง ๆ นานาเป็นการทดลองคณะศิษย์ไปในตัวด้วยว่า องค์ใดจะมีผีมือในการเผยแพร่ธรรม ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถ ก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมายการเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลายและก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้านประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างดีและต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลังโดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้นโดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณร ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกัมมัฏฐานอย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็ไปพบกันอีกที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์และงานศพพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์มั่นก็ธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี โดยไปทางบ้านเหล่าโพนค้อได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป แวะพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมาย ท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์สิงห์ขนฺตยาคโมซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้วเกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนาชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่านพ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้ท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้พักอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนา



ส่วนพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระมหาปิ่นจำพรรษาที่บ้านหัวตะพาน บริเวณใกล้เคียงกันครั้นออกพรรษาในปี ๒๔๗๐ แล้ว ท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานีก็ได้นำโยมแม่ออกท่านไปมอบให้น้องสาวท่านในเมืองอุบล ฯ ท่านและคณะศิษย์พักที่วัดบูรพา คณะสานุศิษย์เก่าๆ ทั้งหลาย อันมีอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, อาจารย์อ่อน ญาณสิริ, อาจารย์ฝั้น อาจาโร, อาจารย์เกิ่งอธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์ อาจารย์หลุย อาจารย์กว่า สุมโน, อาจารย์คูณ, อาจารย์สีลา อาจารย์ดี(พรรณานิคม) อาจารย์บุญมา (วัดป่าบ้านโนนทัน อุดรธานี ในปัจจุบันนี้) อาจารย์ทอง อโสโก อาจารย์บุญส่ง(บ้านข่า) อาจารย์หล้า หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) เมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่น ฯ
เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเดือน ๓ เพ็ญ บรรดาศิษย์ทั้งหมดมีหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างที่เคย ๆ ปฏิบัติกันมาพระอาจารย์ลี ธมฺมธโรเข้าเป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่น

ย้อนเวลากลับมา ในขณะที่พระอาจารย์กงมากำลังธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นมายังอุบลราชธานีนั้นทางด้านพระอาจารย์ลี ซึ่งขณะนั้นบวชเป็นพระอยู่ ได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดโนนรังใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบจังหวัดอุบลราชธานี ก็ไปพบพระกรรมฐานองค์หนึ่ง กำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์
เกิดเลื่อมใสในโวหารของธรรมะที่เทศน์ จึงได้ไต่ถามญาติโยมว่า ท่านองค์นั้นเป็นใคร มาจากไหน ได้รับตอบว่า“ เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ชื่ออาจารย์บท” ท่านได้พักอยู่ในป่ายางใหญ่ใกล้บ้านราว ๒๐ เส้นพองานมหาชาติเสร็จ พระอาจารย์ลีก็ได้ติดตามไปดู...ได้เห็นปฏิปทาความประพฤติของท่านก็เกิดความเลื่อมใสจึงถามท่านว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านตอบว่า “ พระอาจารย์มั่น พระ อาจารย์เสาร์เวลานี้พระอาจารย์มั่นได้ออกเดินทางจากจังหวัดสกลนคร ไปพักอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี”พอได้ความเช่นนั้นก็รีบเดินทางกลับบ้านลาบิดาและญาติเดินทางไปตัวเมืองอุบลราชธานี

เมื่อถึงแล้วก็ได้ไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดบูรพา กราบเรียนความประสงค์ของตนต่อพระอาจารย์มั่น ท่านก็ได้ช่วยแนะนำสงเคราะห์เป็นที่พอใจ สอนคำภาวนาให้ว่า “พุทโธๆ” เพียงคำเดียวเท่านี้พอดีท่านกำลังอาพาธ ท่านได้แนะนำให้ไปพักอยู่บ้านท่าวังหิน ซึ่งเป็นสถานที่เงียบ สงัดวิเวกดีที่นั่นมีพระอาจารย์สิงห์ พระมหาปิ่น มีพระภิกษุสามเณรราว ๔๐ กว่าองค์พักอยู่ได้เข้าไปฟังธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์มั่นทุกคืน
ท่านพระอาจารย์ลีได้เล่าไว้ในอัตโนประวัติของท่านที่ท่านได้เขียนขึ้นว่า“พอดีได้พบเพื่อนที่หวังดี ๒ องค์นั้นคือพระอาจารย์กงมาและและพระอาจารย์สาม ได้พากเพียรพยายามภาวนาอยู่เสมอทั้งกลางวันกลางคืนเมื่อ ได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ชวนพระอาจารย์กงมา
ออกเดินทางไปเรื่อยๆ ไปพักตามศาลเจ้าผีปู่ตาของหมู่บ้านตำบลต่างๆ”ขณะนั้นเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู)
อดีตเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามขึ้นมาจากกรุงเทพ ฯ พักอยู่ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานีและท่านเจ้าคุณปัญญา ฯ นี้ ได้เป็นเพื่อนสหธัมมิกกับพระอาจารย์มั่น ฯจึงขอให้เป็นอุปัชฌาย์ญัตติบวชใหม่ให้ท่านอาจารย์กงมาและท่านอาจารย์ลี โดยพระอาจารย์กงมาเป็นนาคขวา
พระอาจารย์ลีเป็นนาคซ้าย จากนั้น ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ เวลา ๐.๔๐น.ท่านได้ให้ลูกศิษย์ทั้งสององค์คือพระอาจารย์กงมาและพระอาจารย์ลีทำพิธีทัฬหิกรรมญัตติเป็นภิกษุในคณะธรรมยุตติกนิกาย ที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระอาจารย์เพ็งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ โดยพระอาจารย์กงมาได้ฉายาว่า “จิรปุญโญภิกขุ” และ พระอาจารย์ลีได้ฉายาว่า
“ธมฺมธโรภิกขุ”เพราะเหตุนี้ท่านทั้งสองคือ พระอาจารย์กงมาและพระอาจารย์ลี จึงได้มีการสนิทสนมและเคารพนับถือซึ่งกันและกันตลอดมา
พระอาจารย์มั่นฯ ปรารภเรื่องปลีกตัวออกจากหมู่เพื่อวิเวกในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนาก็ได้ปรารภขึ้นในใจว่า
“จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติให้ได้รับความเข้าใจชัดเจน และแจ่มแจ้งเข้าไปอีกแล้วจะได้เอาปฏิปทาอันถูกต้องนั้นฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมากยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้ ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และตามปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้นเมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูก ๆเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติดีทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรมหรืออาจถึงกับป่วยการไม่เป็นประโยชนแก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลสให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้นซึ่งไม่สมกับว่าพระธรรมวินัยเป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวไนยสัตว์ทั้งหลาย“อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะจะต้องมีภาระการปกครอง ตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่าง ๆซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ ถ้าแลเราปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวกซึ่งไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้นผลประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ”

ครั้นท่านปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านจึงได้เรียกศิษย์ทั้งหลาย มีหลวงปู่สิงห์เป็นต้น มาประชุมกันท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้นจึงได้มอบหมายให้อำนาจแต่หลวงปู่สิงห์และท่านมหาปิ่นเป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอนตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านก็กลับไปที่บ้านของท่านอีก ได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่มารดาของท่านจนได้รับความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลามารดาของท่าน และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีลผู้น้องสาวเป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ กับเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระจำพรรษาที่วัดสระปทุม และเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ได้ติดตามพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)ไปจำพรรษายังจังหวัดเชียงใหม่
ไปจังหวัดขอนแก่น
ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ระหว่างนี้พระอาจารย์กงมาก็ได้ติดตามหลวงปู่สิงห์ กับคณะพระภิกษุสามเณรรวมกันประมาณ ๘๐ รูปเดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ ก็ได้เทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของเจ้าเมืองอุบลฯเมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธรซึ่งเป็นบ้านญาติหลวงปู่สิงห์ในช่วงที่หลวงปู่สิงห์อยู่ที่บ้านหัวงัว ท่านก็ได้ทราบข่าวจาก เจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูพิศาลอรัญญเขต เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น เจ้าอาวาสวัดศรีจันทราวาสตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นญาติของหลวงปู่ด้วย ว่าทางขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดีขณะนั้นพระอาจารย์ฝั้นซึ่งจำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ ที่หนองน่อง บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอีจังหวัดนครพนมก็ได้มากราบนมัสการและได้ร่วมปรึกษาหารือกับหลวงปู่สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่นในเรื่องดังกล่าว และเห็นควรลงไปช่วยพระครูพิศาลอรัญเขต (จันทร์ เขมิโย) เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทาง โดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่ที่วัดเหล่างาขอนแก่น
เมื่อเป็นดังนั้น ชาวอำเภอยโสธร มีอาจารย์ริน อาจารย์แดง อาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน
ท่านและคณะได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ไปพักแรมอยู่ จ.ร้อยเอ็ด ๑ คืนแล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่ จ.มหาสารคามที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านกล่าวกันว่าผีดุมีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์มากมาย จากนั้นเดินทางต่อไปถึงบ้านโนนยาง อ.เมือง
จ.ขอนแก่น เดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ และได้ไปรวมกันอยู่ที่วัดเหล่างา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่น
เหตุการณ์ไม่สู้ดีที่ขอนแก่น

ที่เมืองขอนแก่น นั้นคณะหลวงปู่สิงห์และพระมหาปิ่นได้พบว่าเหตุการณ์ก็ไม่สู้ดีตามที่พระครูพิศาลอรัญเขตว่าไว้ ซึ่งเรื่องนี้หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
ซึ่งในสมัยนั้นท่านได้ร่วมอยู่ในคณะด้วย ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ อัตโนประวัติของท่าน ว่า“ข้าได้พักอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ฟังเสียงพวกโยนคนเมืองขอนแก่น ไม่เคยเห็นพระกรรมฐานตื่นเต้นกล่าวร้ายติเตียนกันไปสารพัดต่างๆ นานา มิใช่ เขาตื่นเต้นไปทางกลัวทางเสื่อมใส
ดังพวกชาวเมืองราชคฤห์ ตื่นเต้นคราวได้เห็นพระพุทธเจ้าออกบรรพชาใหม่ไปเที่ยวบิณฑบาตนั้นเมืองขอนแก่นพากันตื่นเต้นอย่างเห็นพระกรรมฐานเป็นสัตว์ เรียกพวกพระกรรมฐานว่า “พวกบักเหลือง” คำว่า “บักเหลือง” นี้เขาว่าพระกรรมฐานทั้งหลายเป็นงูจงอาง อีหล้าคางเหลือง
ฉะนั้นจึงมีคนเขาออกมาดูพวกพระกรรมฐาน เขาจำต้องมีมือ ถือไม้ค้อนกันมาแทบทุกคน เมื่อมาถึงหมู่พวกข้าแล้ว ถือค้อนเดินไปมาเที่ยวดูพระเณรที่พากันพักอยู่ตามร่มไม้และร้านที่เอากิ่งไม้ แอ้ม และมุงนั้นไปๆ มาๆแล้วก็ยืนเอาไม้ค้อนค้ำเอว ยืนดูกันอยู่ก็มีพอควร แล้วก็พากันกลับบ้าน
เสียงร้องว่าเห็นแล้วละพวกบักเหลือง พวกอีหล้าคางเหลือง พวกมันมาแห่น (แทะ) หัวผีหล่อน (กะโหลก) อยู่ป่าช้าโคกเหล่างา มันเป็นพวกแม่แล้ง ไปอยู่ที่ไหนฝนฟ้าไม่ตกเลยจงให้มันพากันหนีถ้าพวกบักเหลืองไม่หนีภายในสามสี่วันนี้ ต้องได้ถูกเหง้าไม้ไผ่ค้อนไม้สะแกไปฟาดหัวมันดังนี้ไปต่างๆ นานาจากนี้ไปก็มีเขียนหนังสือปักฉลากบอกให้หนี ถ้าไม่หนีก็จะเอาลูกทองแดงมายิงบูชาละ ดังนี้เป็นต้นไปบิณฑบาตไม่มีใครยินดีใส่บาตรให้ฉัน จนพระอาจารย์สิงห์ภาวนาคาถาอุณหัสสวิชัย ว่าแรงๆ ไปเลยว่า ตาบอดๆหูหนวกๆ ปากกืก ๆ (ใบ้) ไปตามทางบิณฑบาตนั้นแหละ
ทั้งมีแยกกันไปบิณฑบาต ตามตรอกตามบันไดเรือนไปเลย จึงพอได้ฉันบ้างทั้งพระอาจารย์ก็มีการประชุมลูกศิษย์วันสองวันต่อครั้งก็มี
ท่านให้โอวาทแก่พวกลูกศิษย์ได้มีความอบอุ่นใจไม่ให้มีความหวาดกลัวอยู่เสมอแต่ตัวข้าก็ได้อาศัยพิจารณากำหนดจิตตั้งอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึนี้อยู่เรื่อยไป”
แยกย้ายกันไปตั้งวัดใหม่

ที่วัดเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดวิเวกธรรม) พระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้ประชุมตกลงให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าฝ่ายอรัญวาสีขึ้นหลายแห่งในจังหวัดขอนแก่นเพื่อเผยแผ่ธรรม เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจและให้ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์ โดย ได้แยกกันอยู่จำพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ตามสำนักสงฆ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์หลุยอยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ วัดป่าวิเวกธรรม ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๒. พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ปธ.๕ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านพระครืออำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๓. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านผือ ตำบลโนนทันอำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๔. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าชัยวัน บ้านสีฐานอำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๕. พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านคำไฮ ตำบลเมืองเก่า อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น
๖. พระอาจารย์อุ่น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านทุ่ง อำเภอพระลับจังหวัดขอนแก่น
๗. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านโคกโจด อำเภอพระ ลับจังหวัดขอนแก่น
๘. พระอาจารย์ซามา อุจุตฺโต พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าบ้านยางคำจังหวัดขอนแก่น
๙. พระอาจารย์นิน อยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งเป็นพรรษา ๓ (นับพรรษาใหม่เมื่อทำญัตติกรรม) ท่านอาจารย์กงมาได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านพระครือ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ร่วมกับพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสีพ.ศ. ๒๔๗๔ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญจำพรรษาที่ภูระงำ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น กับพระอาจารย์ฝั้น ซึ่งก่อนที่จะมาที่ภูระงำนั้นได้มีอาการอาพาธมาก่อนและก็ยังไม่ทุเลาดีนักเมื่อพระอาจารย์ฝั้นมาจำพรรษาที่ภูระงำอาพาธเดิมก็เกิดกำเริบหนัก ท่านได้ภาวนาสละตายจนจิตรวมสงบเวทนาดับเหลือแต่เอกาจิตตังตลอดคืนยันรุ่ง ตั้งแต่ทุ่มเศษจนกระทั่ง ๙ โมงเช้า
อาการอาพาธปวดเมื่อยหายไปหมด พ้นจากการทุกข์ทรมาน เบาตัว เบากาย สบายเป็นปกติออกพรรษาคราวนั้น พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ลงจากภูระงำ กับพระอาจารย์ฝั้นเที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานเทศนาธรรมสั่งสอนชาวบ้านไปเรื่อย ๆ จนถึงอำเภอน้ำพอง ซึ่งที่นั่น ท่านได้พบพระอาจารย์สิงห์พระอาจารย์มหาปิ่น และพระเณรอีกหลายรูปซึ่งต่างก็เที่ยวธุดงค์กันมาจากสถานที่ที่จำพรรษาด้วยกันทั้งนั้นและที่อำเภอน้ำพองนี่เอง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เจ้าคณะมณฑลอีสานเมื่อครั้งยังเป็นพระพรหมมุนีได้มีบัญชาให้พระอาจารย์สิงห์นำพระภิกษุสามเณรในคณะของท่านเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ซึ่งพระอาจารย์กงมาก็ได้ร่วมเดินทางไปกับพระภิกษุสามเณรคณะนี้ด้วยเมื่อถึงนครราชสีมา พ.ต.ต. หลวงชาญนิยมเขต ได้ถวายที่ดินหลังสถานีรถไฟ จำนวน ๘๐ ไร่เศษ ให้สร้างเป็นวัดซึ่งต่อมาก็คือวัดป่าสาลวัน นั่นเองจากนั้นพระอาจารย์มหาปิ่นก็ได้พาหมู่ศิษย์อีกหมู่หนึ่งไปสร้างเสนาสนะที่ข้างกรมทหาร ต. หัวทะเล อ. เมืองจ. นครราชสีมา ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นป่าช้าที่ ๒ สำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ เช่นอหิวาตกโรค และกาฬโรค ฯลฯ เป็นต้น ให้ชื่อว่าวัดป่าศรัทธารวม ในพรรษานี้ พ.ศ. ๒๔๗๕วัดป่าศรัทธารวมก็มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาด้วยกันรวม ๑๔ รูป คือนอกจากพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญแล้วยังมีพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี, พระอาจารย์ภุมมีฐิตธมฺโม, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร, ฯลฯ รวมพระภิกษุ ๑๐ รูป และสามเณรอีก ๔ รูปภายในปีเดียวเกิดมีวัดป่าพระกรรมฐานขึ้นสองวัดเป็นปฐมฤกษ์ของเมืองโคราชออกพรรษาปีนั้น คือ พ.ศ. ๒๔๗๕ พอเข้าเดือน ๖ นายอำเภอขุนเหมสมาหารได้อาราธนาพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ,พระอาจารย์อ่อน, พระอาจารย์ฝั้นไปจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ใกล้สถานีรถไฟบ้านใหม่สำโรง ตำบลลาดบัวขาวอำเภอสีคิ้ว คือวัดป่าบ้านใหม่สำโรง หรือวัดสว่างอารมณ์ในปัจจุบัน เสร็จแล้วพระอาจารย์ฝั้นได้ธุดงค์กลับไปโคราช พระอาจารย์กงมา ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์นี้ ๓พรรษา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๙
พบศิษย์คนสำคัญ
ที่บ้านใหม่สำโรงนี้เองก็เป็นบ้านของศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของท่าน คือ พระอาจารย์วิริยังค์ซึ่งเกิดที่ปากเพรียว จังหวัดสระบุรี แต่หลังจากที่บิดาซึ่งรับราชการเป็นนายสถานีรถไฟปากเพรียวนานพอสมควรแล้ว ทางการได้สั่งย้ายมารับตำแหน่งนายสถานีรถไฟ บ้านใหม่สำโรง อำเภอสี่คิ้ว
จังหวัดนครราชสีมา ท่านขุนผู้เป็นบิดาจึงได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านใหม่สำโรงซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของครอบครัวเด็กชายวิริยังค์ อย่างยิ่งที่จะได้มาพบพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญผู้เป็นศิษย์รูปสำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เมื่อพระอาจารย์วิริยังค์อายุได้ประมาณ ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๔๗๗) ก็ได้บวชเป็นผ้าขาว และได้บรรพชาเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๗๘ ณ วัดสุทธิจินดา ต.โพธิ์กลาง อ.เมืองจ.นครราชสีมา โดยพระธรรมฐิติญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วก็กลับมาอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์กับท่านพระอาจารย์กงมา

พระเครื่องของหลวงปู่...บางส่วน







ขอขอบคุณที่มา...http://www.nabia10.com

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
สร้างวัดแรกของท่านและการเผยแผ่ธรรมะ

พระอาจารย์วิริยังค์ได้เล่าถึงการสร้างวัดแรกคือวัดป่าบ้านใหม่สำโรง หรือวัดสว่างอารมณ์ของพระอาจารย์กงมาและการเผยแผ่ธรรมะแก่ชาวหมู่บ้านใหม่สำโรง ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว ไว้ดังนี้

“การก่อสร้างวัดที่ชื่อว่า “วัดสว่างอารมณ์” ตำบลลาดบัวขาว อ. สีคิ้ว จ. นครราชสีมา อันเป็นวัดแรกที่ท่านได้จัดการก่อสร้างขึ้น ก็เริ่มด้วยกุฏิศาลาที่เป็นอาคารชั่วคราวมุงด้วยจาก แต่นั่นเป็นสิ่งที่ท่านมิได้เอาใจใส่มากนัก ท่านได้แนะนำสั่งสอนธรรม แก่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายนั้นเป็นประการสำคัญดังที่จะเห็นได้ว่าตอนเวลาค่ำคืนจะมีจำพวกหนุ่มสาว เฒ่าแก่หลั่งไหลไปหาท่าน โดยท่านจะสอนธรรมหรือไม่ก็ต่อมนต์ คือคนในละแวกนั้นอ่านหนังสือไม่ออก ท่านต้องต่อให้ทีละคำ ๆ จนกระทั่งจำได้ทั้งทำวัตรเช้า และทำวัตรค่ำ อาราธนาศีล อาราธนาเทศน์

คนในบ้านใหม่สำโรงในขณะนั้นเป็นบ้านป่า ไกลความเจริญ แต่เป็นแหล่งทำมาหากินดี เพราะมีป่าว่างมาก หลายหมู่บ้านหลายแห่งพากันอพยพมาตั้งหลักแหล่งกัน ฉะนั้นคนในละแวกนี้จึงมาจากหลาย ๆ กรุ๊พ ทำให้เกิดความไม่ใคร่จะลงรอยกัน คงเป็นพรรคเป็นพวกก่อความทะเลาะกันเนือง ๆ

ท่านอาจารย์กงมา ท่านเห็นเหตุนี้แล้วท่านก็เริ่มโปรยปรายธรรมเข้าสู่จิตใจประชาชน และก็ได้ผลดือท่านได้หาอุบายให้คนทั้งหลายเหล่านั้นได้เข้าวัด ท่านก็พยายามพร่ำสอนให้เข้ามารักษาอุโบสถบ้าง ฟังธรรมบ้าง บำเพ็ญกุศลอื่น ๆ บ้าง จนจิตใจอ่อนลง ข้าพเจ้าเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกความดึงดูดของท่านได้เข้ามาปฏิบัติธรรม

ภายหลังปรากฏว่าชาวบ้านใหม่สำโรงอยู่ในศีลธรรมมากขึ้น จนมีศูนย์กลางคือวัด ได้ร่วมสังสรรค์จนเกิดความสามัคคีธรรมขึ้น กลับกลายเป็นบ้านที่มีความสุข อยู่ด้วยความพร้อมเพรียง งานชิ้นนี้ของอาจารย์กงมา เห็นงานชิ้นโบว์แดงชิ้นแรกของชีวิตท่าน จนกระทั่งประชาชนเห็นดีเห็นชอบได้ช่วยกันสร้างถาวรวัตถุจนเป็นวัดโดยสมบูรณ์ขึ้นในภายหลัง

ท่านได้ใช้เวลาอยู่ที่นี่ ๓ พรรษา ในเวลา ๓ ปีนี้ ท่านขยันสอนทั้งฝ่ายพระภิกษุ สามเณร และประชาชน ทางด้านพระภิกษุสามเณรนั้นท่านจะกวดขันเรื่องการปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง โดยให้ฉันหนเดียว ฉันในบาตร บิณฑบาตไม่ให้ขาด ทำวัตรเช้าเย็น บำเพ็ญกัมมัฏฐานภาวนา ทั้งนั่งสมาธิและเดินจงกรม ภายในบริเวณวัดท่านจะจัดสถานที่วิเวกไว้เป็นแห่ง ๆ คือมีทางจงกรมภายใต้ร่มไม้เป็นทางยาวพอสมควรประมาณ ๑๐ วา หัวทางจงกรมจะมีแท่นสำหรับนั่งสมาธิ มีอยู่ทั่วไปตามรอบ ๆ วัด สถานที่ที่ท่านจัดขึ้นให้โอกาสทุกองค์ได้เลือกเอาเพื่อไว้เป็นที่บำเพ็ญกัมมัฏฐาน ปรากฏว่าผลที่ได้รับคือความสงบทางใจอย่างยิ่งแก่ผู้มาพึ่งพาอาศัยท่าน แม้แต่ข้าพเจ้าก็ได้รับผลมาจากครั้งกระนั้นเองเป็นขั้นต้น

ขณะถึงกาลออกพรรษาหน้าแล้ง ท่านจะพาศิษย์ที่สมัครใจออกเที่ยวธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อแสวงหาที่สงบวิเวก”

พาสามเณรวิริยังค์ออกฝึกธุดงค์

พ.ศ. ๒๔๗๘ เมื่อบวชสามเณรวิริยังค์ได้ ๑๐ วัน ท่านก็ประกาศว่า ถ้าใครไม่กลัวตายไปธุดงค์กับเรา สามเณรวิริยังค์ก็ขอสมัครไปกับท่านทันที แล้วพระอาจารย์กงมาก็นำเอาอดีตชาติในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระอริยะสาวกคือ พระพาหิยะ ซึ่งเป็นพระอสีติมหาสาวกในสมัยพุทธกาลมาเล่าให้ฟังถึงการบำเพ็ญความเพียรของท่านว่า

“มีพระเถระที่เป็นเพื่อนสหธรรมมิก ๔ รูปด้วยกันปรารถนาความเพียรอย่างยิ่งเป็นที่ตั้ง แม้จะพยายามสักเพียงใดก็ไม่พอใจ คิดว่าพวกเราทั้ง ๔ ยังมีความประมาทอยู่ จึงชักชวนกันธุดงค์ไปในกลางดงใหญ่มีทั้งเหว น้ำ ถ้ำ ภูเขา ทั้ง ๔ องค์ได้ไปพบภูเขาสูงชันอยู่แห่งหนึ่ง จึงเดินเข้าไปใกล้ มองดูข้างบนเห็นถ้ำอยู่หน้าผา จึงให้ตัดไม้ทำเป็นบันไดต่อขึ้นไปจนถึงถ้ำนั้นแล้วทั้ง ๔ องค์นั้นก็พร้อมกันขึ้นไปบนถ้ำ เมื่อพร้อมกันอยู่ที่ถ้ำนั้นเรียบร้อยแล้วก็พร้อมใจกันอธิษฐานว่า เรามาทำความเพียรอันอุกฤษฏ์ไม่ต้องคำนึงถึงชีวิต แม้จะตายก็ช่างมัน ถ้าบันไดยังพาดอยู่ปากถ้ำ คนเราก็ยังถือว่าห่วงชีวิตอยู่ เราไม่ต้องห่วงชีวิตแล้ว ถ้าไม่บรรลุธรรมก็ให้หายไปเสียเถิด จึงพร้อมใจกันผลักบันไดทิ้ง เป็นอันว่าทั้ง ๔ รูปก็ไปทางไหนไม่ได้แล้วก็จึงปรารภความเพียรอย่างหนัก

เมื่อทั้ง ๔ องค์ปรารภความเพียรอยู่นั้น ๗ วันล่วงไป องค์ที่หนึ่งได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ก็เหาะไปบิณฑบาต เพื่อมาเลี้ยง ๓ องค์ที่ยังอยู่ ๓ องค์ไม่ประสงค์เพราะยอมตายแล้ว ล่วงไปอีก ๗ วัน องค์ที่สองได้บรรลุพระอนาคาเหาะไปบิณฑบาตมาเลี้ยง แม้ ๒ องค์ ไม่ปรารถนาที่จะฉัน ห้ามเสียแล้ว ๒ องค์ แม้นจะพยายามสักเท่าใดก็ไม่อาจบรรลุได้ ได้อดอาหารจนมรณภาพไปทั้ง ๒ องค์ ทั้ง ๒ องค์นี้ได้มาเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าของเรา องค์หนึ่งได้นามว่าพระพาหิยะได้บรรลุพระอรหัตเมื่อฟังธรรมของพระพุทธองค์ ขณะที่บิณฑบาต อีกองค์หนึ่งชื่อ กุมารกัสสปะไปทำความเพียรอยู่ในป่าผู้เดียว ได้ฟังธรรมกามาทีนวกถาได้บรรลุพระอรหัตเช่นเดียวกัน”

ในการออกธุดงค์ในครั้งนั้น นอกจากท่านพระอาจารย์กงมา ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะแล้ว ก็มีพระ ๑ รูป ชื่อพระสังฆ์ สามเณร ๒ รูป สามเณรเที่ยงและสามเณรวิริยังค์ รวม ๕ รูปด้วยกัน ออกเดินธุดงค์เข้าดงพญาเย็น พบสถานที่ใดเป็นที่สงบ ท่านก็จะทำความเพียรอยู่หลายวัน ในครั้งนั้นในป่าแถบนั้นไม่มีบ้านคนเลย ล่วงเลยไปถึงวันที่ ๕ ก็ยังไม่ได้ฉันอาหารกันเลย ได้ฉันแต่น้ำเท่านั้น พวกคณะธุดงค์อดอาหารกันทุก ๆ องค์ แต่ก็ยังเดินกันไหว ท่านอาจารย์กงมาท่านก็ให้กำลังใจแก่พวกคณะศิษย์ว่า

เรารักความเพียร เรารักธรรมมากกว่าชีวิต

แต่สามเณรวิริยังค์ซึ่งขณะนั้นอายุ ๑๔ ปีเท่านั้น รู้สึกว่ามันหิวกระหายเบาไปหมดทั้งตัว ต้องพยายามทำจิตให้แน่วแน่ไว้ตลอดเวลา การพูดคุยไม่ต้องพูดกับใคร ก้มหน้าก้มตากำหนดจิตมิให้ออกนอกได้ เพราะจิตออกไปเวลาใดขณะใด จะเกิดทุกขเวทนาขณะนั้น

พระอาจารย์วิริยังค์ได้เล่าไว้ใน หนังสือ “ใต้สามัญสำนึก” ถึงการฝึกเดินธุดงค์ช่วงการหยุดพักนอน ไว้ตอนหนึ่งว่า

“ขณะที่พวกเราหยุดพักนอน ท่านก็ใช้ให้ไปกางกลดให้ไกลกันให้มาก ข้าพเจ้าก็ต้องออกห่างท่าน ไปอยู่ไกล เอาแต่เพียงกู่กันได้ยินน้อย ๆ ก็คืออยู่กันคนละลูกภูเขา การทำเช่นนี้เป็นการหยั่งถึงความจริงของลูกศิษย์ท่าน ว่าจะเอาจริงกันแค่ไหน ข้าพเจ้าแม้จะกลัวแสนกลัวที่จะกลัว ก็จำต้องออกไปอยู่ให้ไกลที่สุด แต่พอตกกลางคืนเข้าแล้วไม่ทราบว่าความกลัวมันประดังกันเข้ามาอย่างไรกันนักก็ไม่ทราบ รู้สึกว่ามันเสียวไปทั้งตัวเลย แต่ข้าพเจ้าได้ให้คำมั่นกับท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าไว้แล้วว่าไม่กลัวตาย แต่ในใจคิดว่าอยากไปนอนให้ใกล้ ๆ ท่านที่สุด แต่ก็ไม่กล้า จำเป็นที่จะต้องอยู่ห่างไกล เสียงเสือคำราม เสียงช้างมันร้อง ดูรู้สึกว่ามันจะมากินข้าพเจ้าไปเสียแล้ว แต่ก็เป็นเหตุให้เกิดมรณานุสสติอยู่ตลอดเวลา เลยทำให้เกิดผลทางใจขึ้นอย่างยิ่ง

ธรรมดาว่าใจของคนเรานี้ต้องอาศัยฝึกหัดทำ ทำไปเหมือนคนฝึกหัดไปกับกิเลส เช่นฝึกแสดงภาพยนตร์ ดนตรีต่าง ๆ ก็เป็นได้ ถ้านึกในทางธรรมก็เป็นได้ แต่ทุก ๆ อย่างก็ต้องอาศัยกรรมวิธีแต่ละอย่าง การแสวงหาธรรมก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีกรรมวิธีที่จะนำมาใช้ให้ได้ผล เช่นเดียวกันกับข้าพเจ้าที่กำลังถูกกรรมวิธีของอาจารย์ข้าพเจ้าทรมานอยู่ในขณะนี้นั่นเอง”

ปราบพยศมหาโจรอุง

เมื่อธุดงค์พ้นจากดงพญาเย็นมาถึงหางดงนั้น แถบนี้เป็นแหล่งที่พวกมหาโจรทั้งหลายพากันมาส้องสุมกันอยู่จำนวนมาก ท่านอาจารย์กงมาก็พาคณะศิษย์พักอยู่บริเวณนั้น เมื่อคณะท่านพักกันเรียบร้อยแล้ว พวกโจรประมาณ ๒๐ คน ได้เข้ามาล้อมคณะพระธุดงค์ ในมือมีทั้งดาบและปืนน่าสะพรึงกลัว

ท่านอาจารย์กงมา เคยเล่าให้สามเณรวิริยังค์ฟังว่า พวกโจรดงพญาเย็นนี้ร้ายกาจนัก มันจับพระธุดงค์ฆ่าเสียมากต่อมากแล้ว คราวหนึ่งมีพระธุดงค์จำนวน ๙ รูป ธุดงค์มาเจอพวกโจรเขาใหญ่ดงพญาเย็นนี้ มันจับเอาไว้หมด ค้นดูย่ามว่าจะมีเงินไหม พระธุดงค์ทั้ง ๙ รูปไม่มีเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียว พวกโจรก็โกรธ จึงจับเอาพระให้เอาศีรษะชนกัน ชนค่อย ๆ ก็ไม่ยอม ชนจนศีรษะได้เลือด แต่มีอีกหนึ่งรูปไม่มีคู่ พวกโจรเลยให้ชนหัวคันนา พวกโจรชอบใจหัวเราะกัน พระรูปไม่มีคู่เดือดดาลในใจนักจึงค่อย ๆ คลานไปจนถึงปืนที่โจรวางไว้ คว้าปืนยิงโจรตายไป พวกโจรก็หนีเตลิดไป

พระอาจารย์วิริยังค์ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ดังนี้

“ข้าพเจ้านึกถึงที่ท่านเล่ามาให้ข้าพเจ้าฟังได้ก็ให้เสียวว่าเราจะโดนอีท่าไหนหนอ จากนั้นท่านอาจารย์กงมา ท่านก็เริ่มอธิบายธรรมต่าง ๆ ให้พวกโจรมันฟัง แต่มันก็หาได้เคารพพระอาจารย์แต่อย่างใดไม่ พวกมันนั่งยอง ๆ เอาปลายดาบปักลงที่ดิน วางท่าทางน่ากลัว ข้าพเจ้าก็นั่งรับใช้ท่านอาจารย์ข้าง ๆ นั้นนั่นเอง ท่านอาจารย์ก็ไม่ยอมลดธรรมเทศนา อธิบายเรื่อย ๆ ไป ข้าพเจ้าจำได้ตอนหนึ่งว่า

‘พวกเธอเอ๋ย แม้พวกเธอจะมาหาทรัพย์ ตลอดถึงการผิดศีลของพวกเธอนั้นน่า ก็เพื่อเลี้ยงชีวิตนี้เท่านั้น แต่ชีวิตนี้ก็ไม่ใช่ของพวกเธอ มันจะสิ้นกันไม่รู้วันไหน เป็นเช่นนี้ทุกคน พวกเธอฆ่าเขา ถึงจะฆ่าไม่ฆ่าเขาก็ตาย เธอก็เหมือนกัน มีความดีเท่านั้นที่ใคร ๆ ฆ่าไม่ตาย อย่างเรานี้จะตายเมื่อไรก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะความดีเราทำมามากแล้ว’

ข้าพเจ้าแทบจะไม่เชื่อในสายตาของข้าพเจ้าเลยทีเดียว ในขณะนั้นพวกโจรทั้งหมดพากันวางมีดวางปืนหมด น้อมตัวลงกราบอาจารย์ของข้าพเจ้าอย่างอ่อนน้อม ข้าพเจ้าโล่งใจไปถนัดและพอใจที่พวกโจรมันยอมแล้ว หัวหน้าโจรชื่อนายอุง เป็นคนล่ำสันมาก กรากเข้ามาหาอาจารย์ ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์

อีกครั้งเหมือนกันที่ข้าพเจ้าไม่ยอมเชื่อสายตาของข้าพเจ้าว่า ทำไมโจรจะยอมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ทำไมช่างง่ายดายอะไรอย่างนี้ และก็เป็นจริงเช่นนั้น ท่านอาจารย์กงมา ท่านก็บัญชาให้พระที่ไปกับท่านโกนผมเสียเลย บวชเป็นตาผ้าขาวติดตามท่านไป

เดี๋ยวนี้หัวหน้าโจรได้กลายเป็นผู้ทรงศีลไปเสียแล้ว มันจะเป็นไปได้หรือท่านผู้อ่านทั้งหลาย เพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้นโจรทั้งคณะมายอมแพ้อาจารย์ของข้าพเจ้า มันเป็นไปแล้วแหละท่านทั้งหลาย ต่อมาเมื่อมหาโจรอุง มาเป็นตาผ้าขาวอุงแล้วก็สนิทสนมกันกับข้าพเจ้าอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าแม้ขณะนั้นอายุเพียง ๑๕ ปี เป็นสามเณร ถึงจะยังไม่เจนต่อโลกมากนัก แต่สามัญสำนึกของข้าพเจ้าได้บอกตัวเองว่า น่าอัศจรรย์ น่าอัศจรรย์ที่อาจารย์ได้สอนคนที่จะต้องฆ่าคนอีกมากให้หยุดจากการกระทำบาปเช่นนี้ ข้าพเจ้าในสามัญสำนึกก็ต้องยอมรับแล้วว่า อาจารย์ของข้าพเจ้านี้แก่งมาก ข้าพเจ้านึกชมอยู่ในใจ แม้กระทั่งบัดนี้ ข้าพเจ้าก็จะยังไม่ยอมลืมต่อเหตุการณ์ในวันนั้นได้เลย นี่ถ้าหากว่าอาจารย์ของข้าพเจ้าเกิดทรมานโจรไม่สำเร็จ พระเราก็จะถูกพวกมันบังคับให้เอาหัวชนกัน เมื่อไป ๕ องค์ ข้าพเจ้าซิจะถูกมันบังคับให้เอาหัวชนคันนา ข้าพเจ้าจะกล้าหรือไม่กล้าที่จะยิงมัน แต่อย่าคิดดีกว่า เพราะท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าได้ทรมานมหาโจรสำเร็จแล้ว”

พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้ปราบมหาโจรอุง จนยอมทุกสิ่งทุกอย่างโดยอาศัยวาทศิลป์แห่งพระสัทธรรม และความจริงแห่งการปฏิบัติในพระธรรมวินัยที่เคร่งครัดของท่าน ตลอดถึงอาจาริยมรรยาทที่น่าเลื่อมใส ทำให้มหาโจรอุงได้ยอมเข้ามาถือบวช แต่พระอาจารย์กงมาก็ให้เป็นเพียงตาผ้าขาว นุ่งขาวห่มขาวสมาทานศีล ๘ เพราะมหาโจรผู้นี้ได้ฆ่าคนมามาก

พระอาจารย์วิริยังค์ได้เล่าเรื่องนี้ต่อไปว่า

“มหาโจรอุง ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นตาผ้าขาวอุงไปแล้วนั้น ก็ได้ติดตามอาจารย์มาจำพรรษาร่วมอยู่ที่วัดนี้ เธอตั้งใจจะปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างเต็มความสามารถ และก็เป็นผล ทำให้จิตใจของเธอได้รับความสงบและเยือกเย็นเป็นอย่างยิ่ง การทำความเพียรของเธอนั้นทำอย่างยิ่ง บางครั้งนั่งสมาธิตลอดคืนยังรุ่ง บางครั้งเมื่อสมาธิได้ผล เธอจะอดอาหาร ๒ วัน ๓ วัน เป็นการทรมานตน

ข้าพเจ้าได้ถามเธอว่า ตอนเป็นโจรได้ฆ่าคนไปแล้วกี่คน

เธอบอกว่า ๙ คน นับเป็นบาปกรรมอย่างยิ่ง แต่อาศัยธรรมของพระอาจารย์กงมา ที่ได้พร่ำสอนอยู่เนืองนิตย์ ทำให้เธอได้รับผลจากคำสอนเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าถามเธอเรื่องการปล้นฆ่าทีไรเป็นได้เรื่องทุกที

เธอบอกว่า เมื่อได้เล่าเรื่องความหลัง ในเวลาบำเพ็ญสมาธิจะแลเห็นในนิมิตว่า มีตำรวจนับไม่ถ้วนมารุมล้อมจะฆ่าเอาเสียให้ได้ มันเป็นนิมิตที่คอยมาหลอกหลอนตัวเองอยู่เสมอ

เธอได้เล่าต่อไปว่า

มีคราวหนึ่งเขาจับผมได้ เขาประชาทัณฑ์จนผมสลบไป พวกเขานึกว่าผมตายแล้วจึงหามเอาผมไปโยนทั้งในป่าแห่งหนึ่ง พอกลางดึกน้ำค้างตกถูกหัวผม ผมได้รู้สึกตัวและได้ฟื้นขึ้น พวกชาวบ้านรู้ว่าผมฟื้นไม่ตาย พวกเขายิ่งกลัวกันใหญ่ อกสั่นขวัญแขวน ผมเองมารู้สึกตัวตอนฟื้นชีพว่า คนเราเกิดแล้วต้องตายแน่ เรามาประพฤติตัวเป็นมหาโจรอยู่เช่นนี้ ก็คงจะได้รับบาปกรรมอันใหญ่หลวงต่อไปเป็นแน่

แต่แม้จะได้คิดเช่นนี้ก็ตาม สัญชาตญาณของความเป็นโจรของผมก็ไม่สิ้นไป ต้องคุมสมัครพรรคพวกเข้าปล้นสะดมเขาเหมือนเดิม แต่คราวนี้ผมได้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ฆ่าใครอีกต่อไป เหมือนกับบุญปางหลังมาช่วยผม อีกไม่ช้าไม่นานนัก ก็พอดีมาพบกับท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พร้อมกับเมื่อมองเห็นท่านครั้งแรกก็อัศจรรย์ใจแล้วครับ ให้เกิดความเลื่อมใสในองค์ท่านตั้งแต่ยังไม่ฟังธรรมจากท่าน อาจถึงคราวหมดบาปกรรมแล้ว พอได้ฟังธรรมจากท่านเท่านั้น ก็เกิดความสลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ จิตของผมเหมือนกับถูกชโลมด้วยน้ำอมฤต กลายเป็นจิตที่ให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่าง ละตัวออกจากพวกมหาโจรทั้งหลาย

ผมเองก็พยายามเกลี้ยกล่อมลูกน้องให้ตามผมมาบวช แต่มันไม่ตามมา ผมก็เลยปล่อย แต่ในที่สุดลูกน้องของผมทั้งหมดมันก็เลิกเป็นโจร เข้ามาอยู่ในบ้านทำมาหากินตามปกติ ผมเองจึงบวชเป็นตาผ้าขาว ผมรู้ตัวผมดีว่าทำบาปกรรมไว้มาก ผมจึงขอสละชีวิตเพื่อการทำสมาธิอย่างยิ่งยวด

ตาผ้าขาวอุงได้อยู่ปฏิบัติกับพระอาจารย์กงมา อยู่เป็นเวลาหลายปี เป็นผู้เคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่งจนวาระสุดท้ายของชีวิตในวันหนึ่ง ตาผ้าขาวอุงนั่งสมาธิอยู่ภายในกลด เป็นเวลา ๒ วันไม่ออกมา ตามธรรมดาจะออกมารับประทานอาหารพร้อมพระ ในวันนั้นไม่ออก พระภิกษุสามเณรก็สงสัย แต่บางครั้งตาผ้าขาวอุงจะอดอาหาร ถึง ๕-๗ วัน ก็มี จึงทำให้ไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก แม้ว่าจะไม่ออกจากกลดตั้งหลายวัน วันนี้พวกเรานึกสงสัยมากกว่าทุกวัน จึงพากันเข้าไปเพื่อจะเปิดดูว่า ตาผ้าขาวอุงทำอะไรอยู่ข้างใน แต่โดยส่วนมากพระอาจารย์กงมาท่านห้าม เพราะเป็นเวลาที่เขานั่งสมาธิอยู่ เราไปทำให้เสียสมาธิของคนอื่น จึงทำให้เกิดความลังเลที่จะเปิดกลดของตาผ้าขาวอุง

ครั้นเมื่อเห็นว่าไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลานานผิดปกติ พวกเราจึงตัดสินใจเปิดกลด เมื่อเปิดกลดแล้วทุก ๆ คนที่เห็นก็ต้องตกตะลึง เพราะตาผ้าขาวอุงไม่มีลมหายใจเสียแล้ว แต่ว่ายังคงนั่งสมาธิอยู่ตามปกติไม่ล้ม พวกเราจับตัวดูเย็นหมด แข็งทื่อเป็นท่อนไม้ แต่ว่าคราวนั้นอยู่กันในป่า เป็นวัดป่า เรื่องก็ไม่เป็นข่าวโกลาหล ซึ่งถ้าเป็นอย่างปัจจุบันนี้ เข้าใจว่าจะเป็นข่าวอึกทึกครึกโครมอย่างมหาศาลทีเดียว น่ากลัวว่า พวกที่นับถือเรื่องโชคลาง จะพากันแตกตื่นไปหากันใหญ่ แต่ว่าขณะนั้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในที่สุดพระอาจารย์ก็ได้พาญาติโยมพระภิกษุสามเณรทำฌาปนกิจศพตามมีตามได้ จนกระทั่งเหลืออยู่แต่เถ้าถ่านเท่านั้น.”

ธุดงค์อยู่ในถ้ำเขาภูคา นครสวรรค์
ถ้ำภูคา นครสวรรค์
 
ภายหลังจากที่พระอาจารย์กงมา ได้พาสามเณรวิริยังค์และพวก เที่ยวธุดงค์หาวิเวกไปตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ จนถึงจังหวัดนครสวรรค์ ไปที่สถานีรถไฟหัวหวาย เดินเข้าไปจนถึงถ้ำแห่งหนึ่ง ชื่อว่าถ้ำภูคา ถ้ำนี้อยู่ที่ภูเขาไม่ใหญ่นัก แต่ถ้ำใหญ่มาก กว้างขวาง และเป็นถ้ำขึ้นไม่ใช่ถ้ำลง มีปล่องหลายปล่อง ทำให้ภายในถ้ำสว่างไม่มืด และมีซอกเป็นที่น่าอยู่มากแห่ง พระอาจารย์พาคณะอยู่ ณ ที่ถ้ำนี้เป็นเวลาหลายเดือน เพราะเป็นที่วิเวกดี ท่านได้พาชาวบ้านใกล้ ๆ นั้นขุดดินทำทางเดินจงกรมในถ้ำได้หลายทาง แต่ขณะที่ขุดดินทำทางเดินจงกรม ได้พบเบ้าหลอมทองเก่าแก่ ตุ้มหู ต่างหู เป็นทองคำและกะโหลกศีรษะ อะไรต่าง ๆ มากมาย เป็นของโบราณ

ณ ที่ถ้ำแห่งนี้ พระอาจารย์กงมาได้แนะนำพร่ำสอนเรื่องการปฏิบัติจิตใจให้แก่สามเณรวิริยังค์อย่างเต็มที่ และตัวสามเณรวิริยังค์เองก็ปรารภความเพียรอย่างเต็มกำลัง ได้ผลเป็นที่พอใจ ตั้งใจว่าจะจำพรรษาอยู่ที่นี้ แต่พอจวนจะเข้าพรรษา ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้โทรเลขไปเรียกให้ท่านอาจารย์กงมากลับ คณะธุดงค์จึงได้กลับนครราชสีมา และได้กลับมาอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์ บ้านใหม่สำโรง

ไปจันทบุรีตามคำอาราธนาของพระอาจารย์ลี
 
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
 
ทางฝ่ายพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้เดินธุดงค์ไปจนถึงจังหวัดจันทบุรี ได้เผยแผ่ธรรมะจนเป็นที่นิยมเลื่อมใสเป็นอันมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีหมู่พวกที่อิจฉาริษยาคอยกลั่นแกล้งอยู่เช่นกัน ต่อมาขุนภูมิประศาสน์ นายอำเภอท่าใหม่ต้องการนิมนต์ให้ไปอยู่บ้านนายามอาม เพื่อเป็นการช่วยทางบ้านเมืองปราบปรามโจรผู้ร้าย พระอาจารย์ลีจึงได้รับปากว่าจะหาพระให้ แล้วท่านก็ได้มีจดหมายไปนมัสการท่านพระอาจารย์สิงห์ขอให้ท่านจัดส่งพระมาช่วยเผยแผ่ธรรมะ พร้อมกันนั้นก็มีจดหมายถึงท่านอาจารย์กงมา ฯ ขอให้ไปช่วยในการเผยแพร่ธรรมดังกล่าวแล้ว หลังจากท่านอาจารย์กงมา ฯ ได้รับจดหมายแล้ว ก็นำไปปรึกษาท่านอาจารย์สิงห์ ก็ได้รับอนุมัติให้ไปจันทบุรี

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙  พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พร้อมด้วยคณะรวม ๕ รูปมี พระอาจารย์ปาน (ทองปาน) มหาอุตฺสาโห พระอาจารย์เงียบ สามเณรวิริยังค์ บุญทีย์กุล (อีกรูปหนึ่งไม่ได้ระบุชื่อไว้) ออกธุดงค์ไปภาคตะวันออก แต่ได้ไปพักอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อน นางถม ลิปิพันธ์ เลื่อมใสในท่านอาจารย์กงมา ได้ถวายค่าโดยสารเรือไปจันทบุรีองค์ละ ๕ บาท การเดินทางครั้งนั้นได้โดยสารเรือทะเลมา ชื่อเรือภาณุรังสี

เมื่อพระอาจารย์กงมาได้มาถึงจันทบุรี ก็ได้มาพักอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง อันเป็นวัดกัมมัฏฐานวัดแรกของจังหวัดจันทบุรีที่พระอาจารย์ลีได้มาริเริ่มก่อสร้างขึ้น ไม่นานก็เดินทางไปตั้งสำนักขึ้นที่บ้านนายายอาม ตามคำนิมนต์ของ ขุนภูมิประศาสน์ นายอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี หมู่บ้านดังกล่าวโจรผู้ร้ายชุกชุม คนขาดศีลธรรม นายอำเภอปราบไม่สำเร็จ บ้านนี้เป็นบ้านที่อัตคัดขาดแคลนมาก จะหาแม้เพียงเสียมขุดหลุมปักเสากุฏีก็หาไม่ได้

พระอาจารย์ลีได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในอัตโนประวัติของท่านไว้ดังนี้

“เมื่อได้ส่งพระไปจัดตั้งสำนักเรียบร้อยแล้ว ก็ได้พาญาติโยมไปเยี่ยม อาทิ คุณนายหงส์ ภริยาหลวงอนุทัยฯ คุณนายกิมลั้ง ภริยาขุนอำนาจฯ เป็นหัวหน้าคณะญาติโยม พอไปถึงสำนักที่พักตำบลนายายอาม ได้เห็นภาวะความเป็นอยู่ของชาวบ้านและพระเณรที่ได้ส่งไป อยู่ในฐานะอัตคัดขาดแคลน คุณนายกิมลั้งทำท่าทางโฉงฉางแล้วพูดเอ็ดขึ้นว่า พาเอาพระมาอดๆ อยากๆ ตกระกำลำบาก ขอพวกท่านอย่าอยู่กันเลย กลับไปอยู่ จ.จันทบุรีเสียเถิด พระอาจารย์กงมาซึ่งเป็นหัวหน้าอยู่ที่สำนักพอได้ยินเช่นนี้ก็ใจเสีย คิดกลับจันทบุรีจริงๆ ในที่สุดสำนักนี้ก็เลยร้างไม่มีพระอยู่จำพรรษาต่อไป”

 
 ประตูทางเข้าวัดทรายงาม
พระอาจารย์กงมาจึงได้กลับมาอยู่ที่วัดคลองบางกุ้ง ต่อมาชาวบ้านหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ได้มีความประสงค์ที่จะได้พระอาจารย์กัมมัฏฐานไปแนะนำข้อปฏิบัติในถิ่นของตน ได้เคยพยายามมาติดต่อท่านอาจารย์ลีอยู่เสมอ เพื่อขอพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิไปสร้างวัด เพื่อให้เป็นสถานที่อบรมการปฏิบัติ พอได้ข่าวว่า พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ผู้เป็นศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดคลองบางกุ้ง จึงได้แต่งตั้งตัวแทน ๖ คน เดินทางมานิมนต์ให้ท่านไปจำพรรษาที่บ้าน

เรื่องนี้มีเล่าอยู่ในหนังสือ “ประวัติ พระครูสุทธิธรรมรังษี หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ไว้ดังต่อไปนี้

“ชาวบ้านผู้ที่อาสาจะไปนิมนต์พระอาจารย์กงมา มาอยู่ที่วัดทรายงาม มีนายเสี่ยน, นายหลวน, ผู้ใหญ่อึก, นายจิ๊ด, นายซี่, นายแดง รวมเป็น ๖ คน เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๔๗๙

เมื่อได้พบกับท่านอาจารย์กงมา ก็เข้าไปนิมนต์ ท่านอาจารย์จึงพูดขึ้นว่า

“ให้พวกโยมอธิษฐานดูเสียก่อน ถ้าดีก็มารับ ถ้าไม่ดีก็อย่ามา ให้พากันกลับไปเสียก่อน ให้ไปเสี่ยงความฝัน ถ้าฝันดีคอยมารับ ถ้าฝันไม่ดีก็อย่ามา”

ในขณะนั้นนั่นเองนายหลวนก็พูดขึ้นว่า

“ท่านอาจารย์ขอรับ กระผมฝันดีมาแล้ว ฝันก่อนจะมาเมื่อคืนนี้ คือฝันว่าได้ช้างเผือกสองตัวแม่ลูก รูปร่างสวยงามมาก แต่เมื่อเอามือลูบคลำเข้าแล้ว ช้างเผือกสองแม่ลูกเลยกลับกลายเป็น ไก่ขาว ไป”

ท่านอาจารย์ได้สดับเช่นนั้น นั่งนิ่งพิจารณาว่า

“เออ! ดี แล้วถ้าอย่างนั้นเราก็ตอบตกลงที่จะไปบ้านหนองบัว วันพุธขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑๗ มีนาคม (๒๔๗๙) ให้มารับ”

เมื่อถึงวันที่กำหนดชาวบ้านก็พากันมารับ ๔ คน คือ นายสิงห์, นายแดง, นายซี่, นายเสี่ยน

ถึงเวลาบ่าย ๔โมงตรง ไปกัน ๒ รูป คือพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ กับสามเณรวิริยังค์อีกหนึ่งองค์ เมื่อมาถึงแล้วได้เข้าพักที่ป่าช้าผีดิบ (วัคทรายงามปัจจุบัน) ญาติโยมทั้งหลายที่รออยู่ได้กุลีกุจอพากันทำกระท่อมพอได้อาศัย พอตกเย็น ๆ มีคนพากันมาฟังเทศน์เป็นจำนวนมาก เมื่อท่านแสดงธรรมเสร็จทุกคนพากันเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง”

เรื่องความฝันว่าได้ช้างเผือกสองตัวแม่ลูก รูปร่างสวยงามมาก แต่เมื่อเอามือลูบคลำเข้าแล้ว ช้างเผือกสองแม่ลูกเลยกลับกลายเป็น ไก่ขาว ไปนั้น ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ ได้เล่าไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันที่อ้างข้างต้นว่า

อัศจรรย์ไก่ขาว

ขอย้อนกลับไปเรื่องไก่ขาว ที่โยมหลานเป็นคนฝัน แกฝันว่าได้ช้างเผือก ๒ เชือก แม่ลูก เมื่อลูบคลำแล้ว กลับกลายเป็นไก่ขาวไป

 
พระอุโบสถวัดทรายงาม
 
เรื่องความฝันน่าจะเป็นเรื่องเล่น แต่ถ้าความฝันกลายเป็นความจริงขึ้นมาแบบเป็นตัวเป็นตนนี้ความฝันนั้นมันก็น่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย เรื่องไก่ขาวตัวนี้ก็เช่นกัน ทำให้ชาวบ้านทั้งพระทั้งเณรพากันแตกตื่น เหมือนกับทุกคนจะบอกว่า มันแปลกดีนะ

ไก่ขาวตัวนี้เป็นไก่ของเจ๊กเบ๊ ห่างจากป่าช้าที่พระอาจารย์กงมาพักระยะทาง ๑ ทุ่งนา และต้องข้ามไปอีก ๑ ดอน (ประมาณ ๑ กม.) ในบ้านเจ๊กเบ๊นั้นมีไก่เยอะแยะ คืนวันที่พระอาจารย์กงมา มาถึงป่าช้าผีดิบ ก็เป็นวันเดียวกันกับที่เจ้าของไก่จะจับมันไปต้มยำมาเลี้ยงพระในตอนเช้า เจ๊กเบ๊เข้าไปไล่ตะลุมบอนจับมันในเล้า ตัวไหนก็ไม่เอา กะจะเอาตัวนี้มันอ้วนพีดีนัก เล้ามันสูงจับยังไงก็ไม่ได้ มันหนีตายสุดฤทธิ์ ในที่สุดเจ๊กเบ๊หมดความพยายาม คิดไว้ในใจว่าพรุ่งนี้จะเอาใหม่ คือจะฆ่าด้วยวิธีใหม่ กลางคืนฆ่ายาก จะพยายามฆ่ากลางวันแสก ๆ ด้วยการยิงเป็นต้น พอคิดอย่างนี้เสร็จก็เข้านอนเพราะความเหนื่อยล้าที่ไล่ฆ่าไก่ขาวไม่ได้

พอวันรุ่งขึ้นวันใหม่เท่านั้นแหละไก่ขาวตัวนั้นก็ได้ขันแต่เช้ากว่าเพื่อนเหมือนจะระบายอะไรบางอย่างที่อัดอั้นตันใจ ที่เขาเลี้ยงมาใช่อื่นใดนอกจากฆ่า สัตว์อื่นนอกจากเรานี้หนาไม่มีสัตว์อะไรที่จะซวยเท่า คือเขาเลี้ยงดีอย่างไร ก็เพื่อฆ่าแกงเท่านั้น เพื่อนที่ซวยที่อยู่ไม่ไกลนักอยู่ข้างคอกใกล้เคียงก็คือหมู ตอนเล็กๆ เจ๊กเขาก็เลี้ยงดีเหมือนกันกับเรา แต่พอโตขึ้นอ้วนๆ หายไปทุกที สงสัยไปตาย คิดอย่างนี้ไก่ขาวก็จิตใจไม่ดี เดินกระวนกระวายระมัดระวังภัยในวันนี้เป็นพิเศษเพราะ เมื่อคืนนี้รอดมาได้ วันนี้อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น คิดๆ เสร็จก็คุ้ยเขี่ยหาอาหารแต่เช้ามืด เพื่อตุนเอาแรง พร้อมๆ กับความไม่มั่นใจในการลอบหนีออกจากบ้าน

พอได้เวลาอรุณรุ่ง มองเห็นพอสลัวๆ แต่พอมองออกว่าอะไรเป็นอะไร เป็นเวลารำไร เมื่อพระอาทิตย์อุทัยส่องแสง ไก่ขาวก็รีบขัน กระโจนพุ่งโบยบินออกจากเล้า บินร่อนไปจับกิ่งไม้ขันไปเรื่อยๆ แต่มันไม่ไปที่อื่น มันดันตรงมาที่ชายวัดที่ท่านอาจารย์กงมาอยู่พอดิบพอดี เจ้าของคือเจ๊กเบ๊... ก็ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด พยายามไล่จับและไล่กลับ ไล่มันกลับไปที่บ้านตัวเองได้ถึง ๓ ครั้ง ๓ หน

ครั้งที่ ๓ นี้มันสำคัญมาก ที่จะต้องจารึกไว้ในชีวประวัติของไก่ขาวตัวนี้ มันหนีมาแล้วบุกตะลุยแหวกผู้คนมาถึงกุฏิท่านอาจารย์กงมาเลยทีเดียว เจ๊กเบ๊ก็ไม่กล้าเข้าไปตาม มันก็อยู่ที่นั่นไม่ไปที่ไหนเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ท่านอาจารย์ หากินอยู่ที่นั่น นอนอยู่ที่นั่น แสดงถึงความเป็นผู้เจอะเจอที่สัปปายะ คนทั้งหลายก็มาดูมันอยู่ที่นั่น

อยู่มากันหนึ่งท่านอาจารย์ย้ายไปนอนกุฏิอื่นเจ้าไก่ขาวมันก็ตามไปด้วยท่านย้ายไปหลังไหนวันไหน มันก็ย้ายตามไปหลังนั้นวันนั้นเหมือนกัน เป็นอย่างนี้อยู่โดยตลอด ท่านอาจารย์สั่งสอนให้มันขึ้นไปนอนบนต้นไม้ต้นไหน มันก็ขึ้นต้นนั้น บอกให้หยุด...มันก็หยุด! บอกให้เดิน...มันก็เดิน! มันทำให้ท่านรักสงสารเหมือนมันรู้ภาษาท่านพูด

เมื่อท่านอาจารย์อ่านหนังสือวินัย เจ้าไก่ขาวก็ไปอยู่ข้าง นั่งอยู่ข้าง ๆ นอนอยู่ข้าง ๆ อย่างน่าอิจฉา มันเหลือบตามองบ้างดูบ้าง ดูหนังสือที่ท่านจับอยู่นั้น คนทั้งหลายก็เฮฮากันมาดู ต่างก็พูดว่า “ไก่ตัวนี้มันเป็นอะไร”

ครั้นต่อมาอีกไม่นานนัก คนทั้งหลายก็เที่ยวล้อเล่นกับมัน หลอกมันต่าง ๆ นานา ด้วยความน่ารัก มันก็ชักจะรำคาญจึงเกิดการเตะตีคนขึ้น เป็นอันว่าใครมากวนมัน มันเตะเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น

เด็กน้อยเด็กเล็กมากัด มาเล่นกับมัน มันเตะหมด ไม่มีใครกล้าทำอะไรมันเพราะมันเป็นไก่ท่านอาจารย์ไปแล้ว มันเตะคนก็อันตรายเพราะเดือนมันยาวๆ

ทายกทายิกาทั้งหลายภายในวัด จึงพากันคิดจะตัดเดือยมัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่คน แต่เรื่องนี้เจ้าไก่ขาวมันคงคิดว่าเกิดอันตรายแก่มันในที่สุดมันถูกตัดเดือย ถูกตัดความเป็นผู้กล้าของมันออก

“แหม่... มันโมโหเป็นวรรคเป็นเวร โกรธจัดเหลือกำลัง วิ่งไปขันไปทั่วๆ บริเวณวัด มันแหกปากร้องจนน่ารำคาญ แต่ไม่ทำลายสิ่งของ ขี้ก็ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ขี้เป็นที่เป็นทางดี แต่มันไม่ยอมเล่นกับใคร ๆ ไม่ปันใจให้ใครอีกต่อไป”

ในที่สุดเมื่อคนไล่มัน เล่นกับมันมากเข้า ไม่สงบ มันจึงไม่มาถิ่นแถวที่คนอยู่อีกต่อไป ไปอยู่ตัวเดียว หากินอยู่ตัวเดียว อยู่เดี่ยว ๆ เดียวดาย สงัดกาย สงัดจิตที่ศาลามุงกระเบื้องไกล ๆ โน้น เมื่อมันไปอยู่ที่ไกลๆ คนก็ตามไปกวนล้อเล่นกับมันอีก เพราะมันน่ารักตัวใหญ่ เป็นไก่โอก เป็นไก่เชื่อง ๆ

ในที่สุดมันรำคาญมนุษย์มากเข้าก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเจ๊กเบ๊ด้วยความเศร้าสร้อยเหงาหงอย เดินคอตก มันเดินไปมองดูก็รู้ว่ามันคอตก ๆ เป็นไก่เศร้าขาดความอบอุ่น เสียความรู้สึกที่ดี ๆ กับคนมาวัด แล้วก็ไม่เดินทางกลับมาอีกเลย มันคงคิดได้ว่า “ถึงแม้เราจะอยู่ที่ใด เขาก็คงไม่คิดว่าเราเป็นคนดอก เขาคงเห็นเราเป็นไก่ ตายเกิดเอาชาติใหม่ดีกว่า มนุษย์นี้นอกจากจะยุ่งกับตัวเองก็ยังไม่พอ ยังมายุ่งกับเราส่งเป็นไก่ ไม่มีสัตว์ประเภทใดที่จัดทำให้มนุษย์พอใจในการละเล่น มนุษย์นี้เป็นเหมือนสัตว์ที่เป็นโรคประสาท เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อีชอบอีก็ชม อีชังอีก็แช่ง ขนาดเราเป็นไก่ยังอดทนไม่ได้ มนุษย์เล่า! จะทนกันและกันได้อย่างไร?”

เรื่องไก่ขาวนี้ ทำให้ฆราวาสญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์กงมา เปลี่ยนแปลงไปเยอะ บางคนถึงกับเลิกคิดจะฆ่าสัตว์ตลอดชีวิต บางคนตั้งสัจจะอธิษฐานจะรักษาศีลตลอดชีวิต บางคนก็เสียใจในสิ่งที่ตนได้กระทำกับไก่ไว้ แสดงอาการรู้สึกผิด แต่สำหรับบางคน มาดู ๆ แล้วก็ไป เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง เรื่องไก่ขาวยังไม่จบ แต่กลัวจะยาวเกินไปจึงขอจบเพียงแค่นี้

น่าอัศจรรย์! น่าอัศจรรย์จริงๆ ความฝันกลายเป็นความจริง ก็คือโยมหลวนทำไมฝันได้แม่นยำอะไรขนาดนั้น ฝันว่าได้ช้างเผือก ๒ เลือกแม่ลูก อันหมายถึง พระอาจารย์กงมากับสามเณร แล้วเมื่อลูบคลำไปมา ช้างเผือกกลับกลายเป็นไก่ขาว และในที่สุดไก่ขาวตัวนั้นก็มาจริง ๆ ชนทั้งพลายที่รู้เรื่องนี้ก็อัศจรรย์ไปตาม ๆ กัน

และเรื่องไก่ขาวนั้นยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า “ชะรอยจะมีบุคคลผู้มีบุญวาสนาเข้ามาบวช มาเกิดที่วัดทรายงาม จนกลายเป็นพระที่บริสุทธิ์สะอาดเหมือนดั่งขนของไก่ขาว และมีจิตใจอาจหาญในธรรมเหมือนไก่ขาวที่ไม่กลัวความตาย ไก่ขาวนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี และไก่ขาวตัวนี้อาจจะกลายเป็นช้างเผือกตัวขาวตลอดในวงการพระพุทธศาสนา”

การสร้างวัดทรายงามนี้ ท่านอาจารย์กงมาท่านได้สร้างคน หมายความว่าท่านได้สร้างคุณธรรมให้แก่คนในละแวกนั้นอย่างเต็มที่ เพราะตั้งแต่วันมาถึง ท่านได้เปิดการแสดงธรรมทุกวัน ก็มีประชาชนสนใจมาฟังทุกวันมิได้ขาด นอกจากแสดงธรรมแล้ว ท่านก็นำบำเพ็ญสมาธิ จนปรากฏว่ามีผู้ได้รับธรรม จนเกิดปีติภายในกันมากในระยะ ๓ เดือนแรก ท่านอาจารย์ได้แสดงธรรมอย่างวิจิตรพิสดารทำให้ชาวบ้านนั้นเกิดศรัทธา ได้ช่วยสร้างศาลาการเปรียญและกุฏิอย่างรวดเร็ว พอกับพระ ๕ รูป สามเณร ๑ รูปในปีนั้น


ขอขอบคุณ...http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-kongma/lp-kongma-hist-02.htm