ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ  (อ่าน 5995 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
« เมื่อ: 01 ก.ค. 2554, 10:28:16 »
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

จากหนังสือปกติ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กลุ่มเทียนสว่างธรรม
มีนาคม 2532


หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

กำเนิด

   หลวงพ่อเกิดที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่5 กันยายน พ.ศ. 2454 ตรงกับวันอังคารเดือนสิบ ปีกุน ขึ้น 13 ค่ำบิดาของท่านชื่อจีน มารดาชื่อโสม นามสกุลอินทผิว

   หลวงพ่อมีนามจริงว่าพันธ์ อินทผิว เหตุที่ท่านเป็นที่รู้จักในนามหลวงพ่อเทียน ก็เนื่องจากท้องถิ่นของท่านนิยมเรียกชื่อกันตามชื่อของลูกคนหัวปี บุตรชายคนแรกของหลวงพ่อชื่อเทียน ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจึงเรียกท่านว่าพ่อเทียน ภรรยาของท่านชื่อหอม ก็ได้รับการเรียกขานว่าแม่เทียนเช่นเดียวกัน

    ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 6 คน คนแรกเป็นชายชื่อ สาย คนที่สองเป็นชายชื่อ ปุ้ย คนที่สามเป็นชายชื่อ อุ้น คนที่สี่เป็นหญิงชื่อ หวัน พิมพ์สอน ท่านเองเป็นคนที่ห้า และคนที่หกเป็นชายชื่อ ผัน พี่น้องของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่คือพี่สาวคนเดียวของท่านชื่อ หวัน พิมพ์สอน หรือป้าหนอม พี่น้องคนอื่น ๆ ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วทั้งสิ้น

ปฐมวัย

หลวงพ่อมีชีวิตในวัยเด็กเช่นเดียวกับเด็กชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกลความเจริญทั่วไป ตื่นเช้าท่านก็ออกไปช่วยพ่อแม่ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตกเย็นก็ไล่ต้อนวัวควายกลับบ้าน ท่านเล่าว่าท่านไม่เคยได้มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียน เนื่องจากในท้องถิ่นของท่านยังไม่มีโรงเรียน ถ้าจะเรียนก็ต้องเดินทางไปเรียนในท้องถิ่นที่เจริญกว่า ในสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก หลวงพ่อจึงไม่สามารถจะเดินทางไปเรียนในโรงเรียนที่อยู่ไกลจากบ้านท่านได้ ท่านเล่าว่าในท้องถิ่นของท่านไม่มีความเจริญทางวัตถุแต่อย่างใด รถไฟ รถยนต์ เครื่องบินหรือแม้แต่จักรยาน ท่านก็ยังไม่เคยเห็น สำหรับเครื่องบินนั้นแม้แต่ชื่อก็ยังไม่เคยได้ยิน

บรรพชาเป็นสามเณร


บริเวณที่หลวงพ่อเคยเดินจงกรมกับหลวงน้า
สมัยที่บวชเป็นสามเณรที่วัดภู หรือวัดบรรพตคีรี

   เมื่อหลวงพ่ออายุได้ราว 10 ขวบ หลวงน้าของท่านซึ่งไปเรียนหนังสือมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้มาขอกับบิดามารดาของท่านให้ท่านบวชเป็นเณรคอยรับใช้หลวงน้า เรียกว่าเณรใช้ หลวงน้าของท่านชื่อยาคูผอง นามสกุลจันทร์สุข อุปสมบทเมื่ออายุยังน้อยและครองเพศบรรพชิตมาโดยตลอด หลวงพ่อเล่าว่าทางบ้านเกิดของท่านมีประเพณีรดน้ำพระภิกษุที่บวชมานาน รดครั้งแรกเรียกสมเด็จ รดครั้งที่สองเรียกซา รดครั้งที่สามเรียกยาคู และในพิธีรดน้ำครั้งต่อ ๆ ไปก็เรียกยาคูทั้งสิ้น

   ก่อนที่หลวงพ่อจะบรรพชาเป็นสามเณรนั้น หลวงพ่อไปวัดหลวงน้าอยู่เป็นประจำทุกเช้า เย็น วัดที่หลวงน้าจำพรรษาอยู่นั้นชื่อวัดภูหรือวัดบรรพตคีรี อยู่ไม่ห่างจากบ้านหลวงพ่อ ตอนเช้าหลวงพ่อต้องนำอาหารและดอกไม้ไปกราบหลวงน้าแล้วจึงไปนา ตอนเย็นหลังจากตักน้ำที่คลองน้ำแล้วท่านก็จะไปวัด

   ขณะที่บวชเป็นเณรอยู่กับหลวงน้า หลวงน้าสอนหลวงพ่อให้ท่องนะโม ตัสสะ ทำวัตรเช้า วัตรเย็น อาราธนาศีล อาราธนาธรรมดูฤกษ์ยาม ทำกรรมฐาน เดินจงกรม หลวงพ่อได้เรียนตัวลาวหรือตัวไทยน้อย และอักษรธรรมซึ่งเขียนบนใบลานกับหลวงน้า สำหรับการเรียนการสอนนี้เป็นแบบปากเปล่า ไม่มีการเขียน ใช้วิธีจดจำ เวลากลางคืนหลังจากเลิกเรียนหนังสือแล้ว หลวงน้าจะพาหลวงพ่อเดินจงกรม หลวงน้าเป็นพระที่ขยันปฏิบัติ บางครั้งท่านก็ลุกขึ้นเดินจงกรมในเวลาดึก ทางเดินจงกรมของหลวงน้ายาวราว 20 วา หลวงพ่อเดินห่างจากหลวงน้า 4-5 วา

   สำหรับการฝึกกรรมฐานนั้น หลวงน้าให้หลวงพ่อนั่งขัดสมาธิเพชรหลับตาแล้วภาวนา หายใจเข้าให้ว่า“ พุท” หายใจออกให้ว่า“ โธ” ในเวลานั้นหลวงน้ามีเพื่อนพระภิกษุที่สอนกรรมฐานอยู่หลายรูป หลวงพ่อจำได้ว่าเพื่อนหลวงน้ารูปหนึ่งที่สอนกรรมฐานให้หลวงพ่อชื่ออาจารย์เสา เมื่ออาจารย์เสาเห็นหลวงพ่อภาวนา “พุทโธ” ท่านให้ความเห็นว่า เวลาขึ้นต้นไม้จะขึ้นปลายที่เดียวไม่ได้ ต้องขึ้นตั้งแต่ต้น ๆ ท่านให้นับหนึ่ง สอง สาม หายใจเข้าให้ภาวนาว่า หนึ่ง หายใจออกให้ภาวนาว่า สอง เรื่อยไปจนถึงสิบ เมื่อถึงสิบให้นับย้อนหลังลงมาถึงหนึ่ง แล้วตั้งต้นจากหนึ่งถึงสิบ ทำเช่นนี้เรื่อยไป อาจารย์เสาท่านบอกว่า การภาวนาเช่นนี้ทำให้เกิดความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าถูกของมีคมบาดเป็นแผล ให้ภาวนาตามวิธีการดังกล่าวแล้วเป่าที่แผลเลือดจะหยุดทันที เมื่อไปนอนตามป่าตามดง มีเสือมีผี ให้เสกก้อนหินด้วยการภาวนาดังกล่าว แล้วเอาก้อนกรวดก้อนหินวางเรียงรายไว้รอบตัว จะนอนได้อย่างปลอดภัย เสือและผีจะกลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้


บนภูทอกน้อย อ. เชียงคาน จ.เลย

   หลวงพ่อเล่าว่าหลวงน้าได้สอนการเพ่งกสิณให้ท่าน โดยให้ใช้เท้าขีดวงกลมให้ห่างจากสายตาราว 1 เมตร เพ่งกสิณลงไปให้เห็นเป็นแสงเวลาเช้าให้จ้องดวงอาทิตย์โดยไม่กะพริบตา จนกระทั่งสายตาสู้แสงพระอาทิตย์ได้ หลวงน้าบอกท่านว่าถ้าทำได้จะเป็นฤษีตาไฟ ถ้าจ้องมองไปที่ใครคนนั้นจะล้มทันที หรือจะทำให้เป็นไฟไหม้ก็ยังได้ นอกจากนี้หลวงน้ายังมีคาถาย่อแผ่นดิน ซึ่งหลวงพ่อเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หลวงน้าของท่านรูปร่างสูงและผิวขาวเหมือนฝรั่ง เวลาติดตามหลวงน้าไปไหน หลวงน้าเดินแต่หลวงพ่อต้องวิ่ง หลวงพ่อจึงมาคิดได้ในภายหลังว่า ที่หลวงน้าบอกว่ามีคาถาย่อแผ่นดินให้หดเข้านั้นเป็นอย่างนี้เอง เวลาเดินหลวงน้าท่านขายาว ท่านก็ก้าวเพียงก้าวเดียว ในขณะที่หลวงพ่อต้องก้าวถึงสามก้าวจึงจะเดินทันท่าน

   ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้ติดตามหลวงน้าไปอยู่ที่เมืองลาว แต่ด้วยความที่ยังเป็นเด็กเมื่อใครพูดถึงบ้าน ท่านก็ร้องไห้คิดถึงบ้าน ในที่สุดก็ต้องเดินทางกลับมาบ้านเกิดของท่าน

   หลวงพ่อบวชเป็นสามเณรอยู่กับหลวงน้าเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ได้เรียนมนต์คาถาจากหลวงน้าพอสมควร เนื่องจากขณะที่หลวงน้าไปเรียนมูลกัจจายน์ที่อุบลฯ ท่านได้เรียนเวทมนต์คาถาอาคมของเขมรด้วย เช่น คาถาไส้หนังบังควัน วัวธนูดูหน้าน้อย ซึ่งเป็นอาคมไล่ผี เมื่อหลวงพ่อลาสิกขาบทแล้ว ท่านยังรู้สึกเสียดายช่วงเวลาที่บวชอยู่กับหลวงน้า ด้วยในขณะนั้นท่านอยากมีความรู้ทางไสยศาสตร์ อยากมีหูทิพย์ ตาทิพย์เหาะได้ หายตัวได้ ย่อแผ่นดินได้ มีคาถาอาคม ฟันไม่เข้ายิงไม่ออกเหมือนกับหลวงน้า ในสมัยนั้นในท้องถิ่นที่หลวงพ่ออาศัยอยู่ยังมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจกันอยู่มาก ลูกผู้ชายต้องมีเวทมนต์ไว้รักษาตัวเองและคุ้มครองรักษาคนในครอบครัวรวมทั้งญาติพี่น้อง หลวงน้าจึงได้เมตตาอบรมสั่งสอนหลวงพ่ออย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์เมื่อสึกออกมาเป็นผู้ครองเรือน

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-thien/lp-thien-hist-index.htm
http://www.fungdham.com/monk-history/history-tien.html
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 01 ก.ค. 2554, 11:14:39 »
อุปสมบทครั้งแรก


หลวงพ่อเมื่อครั้งเป็นฆราวาส

    เมื่ออายุครบบวช หลวงพ่อก็ได้มาบวชอยู่กับหลวงน้าอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระครูวิชิตธรรมาจารย์ เจ้าคณะอำเภอเชียงคานเป็นอุปัชฌาย์ ท่านได้ฝึกวิชาต่าง ๆ กับหลวงน้าต่อไปเช่นเดิม คือฝึกกรรมฐานและเรียนเวทมนต์คาถาต่าง ๆ ท่านเล่าว่าไม่มีวิชาอะไรเพิ่มขึ้น แต่ทำที่สอนไว้ให้เจริญขึ้น นอกจากนั้นก็มีการเดินธุดงค์ ซึ่งเป็นการทำตามประเพณี ยังไม่เข้าใจว่าธุดงค์หมายถึงอะไร การธุดงค์ที่หลวงพ่อทำในขณะนั้นคือ ไปอยู่ตามป่าช้า ตามสวน ใกล้ ๆ บ้านคน หรือตามกระต๊อบปลายนาไม่ห่างจากบ้านคนมากนัก เพื่อให้ออกบิณฑบาตได้โดยไม่ลำบากจนเกินไป

ครองเรือน


นางหอมโยมผู้หญิงของท่าน

หลวงพ่อบวชเป็นพระอยู่ได้ 6 เดือน จึงลาสิกขาบท มารดาของท่านได้จัดการให้ท่านมีครอบครัวเมื่ออายุราว 21 หรือ 22 ปี ภรรยาของท่านชื่อหอม เป็นญาติกับท่าน มารดาของภรรยาท่านเป็นน้องของบิดาของท่าน ซึ่งท่านเรียกว่าแม่อา ทั้งท่านและภรรยาต่างก็เป็นกำพร้าบิดามาตั้งแต่เด็ก

ท่านอยู่กับภรรยามานานยังไม่มีบุตร จึงได้นำบุตรของพี่สาวภรรยาท่านซึ่งแยกทางกับพี่เขยมาเลี้ยง ต่อมาท่านจึงมีบุตรชาย 3 คน ชื่อ เนียม เทียน และเหียม เมื่อมีบุตรคนแรกชื่อเนียม ใคร ๆ จึงเรียกท่านว่า พ่อเนียม ตามประเพณีนิยมของคนในท้องถิ่นนั้นที่เรียกร้องกันตามชื่อลูกคนหัวปี ต่อมาบุตรคนแรกของหลวงพ่อ ที่ชื่อเนียม ถึงแก่กรรม เมื่ออายุได้เพียง 5 ปี ท่านจึงได้รับการเรียกขานตามชื่อลูกคนที่สองตราบเท่าทุกวันนี้ บุตรคนที่สองของท่านถึงแก่กรรมลงก่อนที่ท่านจะมรณภาพราว 2 ปีเศษ

เวทย์มนต์คาถา


หลวงพ่อกับนายเหียม บุตรคนสุดท้อง

หลวงพ่อเล่าว่า ช่วงระยะที่หลวงพ่อครองเพศฆราวาสอยู่นั้น ท่านได้ใช้เวทย์มนต์คาถาที่ร่ำเรียนมาจากหลวงน้าอยู่เนือง ๆ สมัยนั้นยังเชื่อเรื่องผีสางกันอยู่มาก บางครั้ง เพื่อนบ้านก็มาขอให้ท่านไปเป็นหมอมนต์ ไล่ผีให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย สำหรับในครอบครัว ท่านก็เป็นผู้คุ้มครองคนในบ้าน และญาติพี่น้อง ที่เข้ามาให้คุ้มครอง ซึ่งเรียกว่ามาเข้าของรักษา

หลวงพ่อเล่าว่าในขณะนั้นท่านก็ยังพอใจคาถาอาคม เวทย์มนต์ต่าง ๆ อยู่ อยากมีฤทธิ์เดช อิทธิปาฏิหาริย์ หายตัว ดำดิน มุดน้ำ เหาะได้เหมือนนก ทั้งนี้เนื่องจากท่านได้รับอิทธิพลจากนิทานใบลานหลายเรื่อง อาทิ การะเกด สินชัย สุริวงศ์ แตงอ่อน ลิ้นทอง เป็นต้น

ท่านได้พยายามแสวงหาวิชาอาคมเรื่อยมา เมื่อเรียนกับหลวงน้าจนหมดสิ้นแล้ว ท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์อื่น ๆ ต่อไป หลังจากหลวงน้ามรณภาพแล้ว ท่านได้ข่าวว่ามีอาจารย์ที่เก่งกว่าหลวงน้าอยู่ที่เมืองลาวชื่อยาคูบุญมาดอนพุง ยาคูท่านนี้เลี้ยงนกยูงไว้ ท่านทำปลอกใส่ขานกยูงแล้วปล่อยไป ฝรั่งเอาปืนมายิงก็ยังยิงไม่ออก หลวงพ่อจึงไปอยู่กับยาคูบุญมาพรรษาหนึ่ง

หลวงพ่อเล่าว่าท่านได้ความรู้หรือจะเรียกว่าความโง่จากยาคูบุญมาหลายเรื่อง อันได้แก่ เวทย์มนต์คาถาอยู่ยงคงกะพันต่าง ๆ ที่หลวงพ่อจำได้คือ “โอม ธุลี ๆ นอกมีแผ่นทองกั้นพร้า หน้าผากกูแกร่งปานหิน ตีนกูแกร่งปานเหล็ก ขนแข้งกูเท่าหนามคา ขนขากูเท่าขนเม่น กูจักเต้นไปร้อยโยชน์พันวา พญามนต์ทั้งหลายจงมาบัง มากั้นตนกู”

เมื่อหลวงพ่อไปปฏิบัติธรรมะจนรู้ธรรมะแล้ว หลวงพ่อจึงเข้าใจว่าคอหลวงพ่อไม่มีแผ่นเหล็กแผ่นทอง หน้าผากหลวงพ่อชนโน่นชนนี้ก็ต้องแตก เท้าหลวงพ่อก็ไม่ได้แข็งเหมือนเหล็ก ถ้าเดินไปตามถนนหนทาง เหยียบขวดเหยียบแก้ว ก็ต้องบาด เหยียบหนามก็ต้องตำ ท่านว่า คนโง่สอนคนฉลาดไม่ได้ คนฉลาดสอนคนฉลาดหรือสอนคนโง่ ให้ฉลาดได้

อุปนิสัยในเรื่องการทำบุญู


บ้านเดิมของหลวงพ่อที่ตำบลบุฮม

หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อเป็นนักแสวงบุญตั้งแต่อายุยังน้อย และได้เป็นผู้นำชาวบ้านทำบุญเสมอมา ในขณะนั้นท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านมีคนเคารพนับถืออยู่มาก ท่านเองอายุอยู่ในราว 27-28 ปี ท่านได้ชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในการทำบุญ แม้แต่ผู้ที่ได้ทำกรรมหนักถึงขั้นอนันตริยกรรม ท่านก็ได้หาโอกาสให้ได้ร่วมทำบุญด้วย

ท่านเล่าว่าการทำบุญที่บ้านของท่านมีหลายวิธี เช่นมีการแจกข้าวตอนพระจำพรรษา ถึงวันพระชาวบ้านจะนิมนต์พระไปแสดงธรรมที่บ้าน ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญที่บ้านนั้น มีการตัดใบตองห่อข้าวต้มมัดทำขนมมาแจกกันกิน คนหนุ่มคนสาวมีหน้าที่ทำขนมจีนแจกกันไปกินที่บ้าน มีการจีบหมากจีบพลู มวนบุหรี่ถวายพระ ซึ่งหลวงพ่อได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านทำไปเพราะท่านยังไม่รู้ หลังจากปฏิบัติธรรมแล้วท่านจึงเข้าใจว่าการถวายหมากพลูบุหรี่แก่พระ ไม่ใช่เรื่องทำบุญ เป็นเรื่องพอกพูนความชั่วให้พระมีความผิด เรียกว่าเอากิเลสไปให้พระ เราอยากละกิเลส แต่เราไม่รู้จักกิเลส เรานึกว่าทำดี การทำดีนี้ หลวงพ่อพูดว่าคนอื่นว่าดีแต่เราเห็นว่ามันไม่ดี ไม่ต้องทำ คนอื่นว่าผิด แต่เราเห็นว่าดี เราต้องทำหลวงพ่อจึงเลิกถวายหมากพลูบุหรี่พระสงฆ์ พร้อมทั้งห้ามคนในครอบครัวของท่านถวายสิ่งของดังกล่าวแก่พระสงฆ์ด้วย สำหรับครอบครัวคนอื่นนั้นหลวงพ่อไม่ได้ห้าม และท่านมิได้สนใจว่าคนอื่นจะเห็นชอบหรือติฉินแต่อย่างใด

ในช่วงระยะเข้าพรรษาคนเฒ่าคนแก่ต้องไปจำศีลที่วัดในวันพระคนหนุ่มคนสาวบางคนก็ไป บางคนก็ไม่ไป ขึ้นอยู่กับศรัทธา ท่านเล่าว่าท่านเองชอบไปวัดเพราะหลวงน้าสอนไว้

เดือนสิบเอ็ด หลังออกพรรษาแล้ว มีการทอดกฐิน ชาวบ้านเริ่มทำกองกฐินกันตั้งแต่ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 บ้านไหนจะไปทอดกฐินต้องไปปักหมายไว้ที่วัด เรียกว่าไปจอง วัดที่จะรับกฐินได้ต้องมีโบสถ์ ถ้าไม่มีโบสถ์ต้องทำโบสถ์จำลองขึ้นกลางน้ำเรียกว่า สีมน้ำ (สิม : ภาษาถิ่นอีสานแปลว่าโบสถ์)

นอกจากทำบุญกองกฐินแล้วก็มีทำบุญประจำปี คือทำบุญบั้งไฟในเดือน 5 หรือเดือน 6 หลายบ้านมาร่วมกันทำบุญ เรียกว่าใช้ฎีกา ไปฎีกาเก้าบ้าน สิบบ้าน ยี่สิบบ้าน สามสิบบ้าน ปลุกถามรอบวัด มีทั้งคนหนุ่มคนสาวคนแก่คนเฒ่า ทุกบ้านไปรวมกัน นิมนต์พระมาเทศน์ ซึ่งหลวงพ่อเล่าว่าการเทศน์ดังกล่าวเป็นการอ่านจากใบลานเท่านั้น คนหนุ่มคนสาวเล่นหมอลำกันเป็นที่สนุกสนาน ผู้ชายถามปัญหา ผู้หญิงต้องตอบ ใครตอบไม่ได้ก็แพ้ การร้องหมอลำนี้ใช้แคนเป็นดนตรีประกอบ


บ้านที่อำเภอเชียงคาน ท่านย้ายเข้ามาอยู่ในตัวอำเภอเพื่อให้ลูก ๆ ของท่านได้เข้าโรงเรียน

บุญประจำปีเช่นนี้ต้องมีทุกหมู่บ้าน ตั้งแต่เดือน 5 เดือน 6 จนถึงเดือน 7 เดือน 8 จวนจะเข้าพรรษาจึงหยุด ที่เรียกว่าบั้งไฟนั้นเขาก็จุดเหมือนจรวดขึ้นไป เวลาจุดเสียงดังเหมือนเสียงเครื่องบิน บั้งไฟที่ใช้จุดทำขึ้นขนาดต่าง ๆ กัน เรียกว่า บั้งไฟมะกอก บั้งไฟห่อหมก บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน เมื่อหลวงพ่อรู้ธรรมะแล้ว ท่านจึงให้เลิกการจุดบั้งไฟนี้ทั้งหมด เพราะหากยิงขึ้นไป แล้วตกใส่บ้านเรือนก็อาจเป็นอันตรายกับชีวิตหรือทรัพย์สินได้ ทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองอีกด้วย

นอกจากนี้ก็มีการทำบุญมหาชาติ การเทศน์มหาชาตินี้ต้องเทศน์ให้จบภายในวันเดียว ถ้าไม่จบ ถือว่าได้บุญไม่มาก

หลวงพ่อได้เล่าถึงการทำบุญอีกแบบหนึ่งคือการทำบุญสังฮอม (สำรวม) ธาตุ ซึ่งถือกันว่าหากทำไม่ถูกไฟจะไหม้บ้าน หลวงพ่อไปทำบุญสังฮอมธาตุที่วัดภู ซึ่งเป็นวัดที่หลวงน้าของท่านเคยจำพรรษาอยู่ ปัจจุบันมีเชื่อว่าวัดบรรพตคีรี ของที่ถวายพระในการทำบุญนี้ได้แก่ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ผ้าไตร มีเทศน์ไม่ยาวนัก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เทศน์จากหนังสือใบลาน 4 ผูก พระที่นิมนต์มาเทศน์ต้องเป็นพระที่เทศน์เก่ง
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-thien/lp-thien-hist-index.htm
http://www.fungdham.com/monk-history/history-tien.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ก.ค. 2554, 11:15:25 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 01 ก.ค. 2554, 11:21:53 »
อาชีพ

หลังจากลาสิกขาบทแล้วหลวงพ่อได้ยึดอาชีพทำนา ทำสวน และค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งหลวงพ่อได้เริ่มทำมาตั้งแต่สึกจากสามเณรแล้ว ต่อมาหลวงพ่อจึงมีเรือกระแชง 7 ลำ ค้าขายขึ้นล่องระหว่างหนองคายและเชียงคาน การค้าขายได้ผลดีขึ้นเรื่อย ๆ หลวงพ่อเล่าว่าบิดาของท่านชำนาญในการเดินเรือค้าขาย แต่ก็ได้เสียชีวิตลงตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก

ภายหลังมีการตั้งกรมเกษตรขึ้น และมีการสั่งห้ามขนย้ายสินค้าเกษตรกรรมบางชนิด หลวงพ่อจึงได้ไปค้าขายอยู่ที่เมืองลาว แต่ครอบครัวของท่านยังคงอยู่ในเมืองไทย ท่านได้ทำการค้าฝ้ายมีกำไรงดงาม ได้ขายเรือกระแชงและซื้อเรือกลไฟ ทำการค้าขึ้นล่องตามลำแม่น้ำโขง หลวงพ่อเล่าว่า แม้ท่านจะประสบความสำเร็จในการค้าขายเป็นอย่างดี แต่ท่านก็ไม่มีความสุข แม้เวลาจะนอนก็มีแต่ทุกข์ คิดถึงแต่เรื่องเงินทอง และสินค้าที่จะซื้อจะขาย

เหตุที่ท่านออกแสวงหาสัจธรรม

หลวงพ่อเล่าว่าก่อนที่ท่านจะออกมาปฏิบัติธรรมจนได้รู้ธรรมะตามวิธีของท่านนั้น ท่านได้ทำกรรมฐานมาพอสมควร แต่กรรมฐานก็ไม่อาจช่วยให้หลวงพ่อหมดทุกข์ได้

ได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ก่อนที่หลวงพ่อจะออกมาปฏิบัติธรรมนั้นท่านมีความทุกข์อย่างไร

หลวงพ่อเล่าว่า ครั้งหนึ่งคนที่เมืองลาวมาขอให้ท่านนำกฐินไปทอดที่เมืองลาว ในครั้งนั้นมีการทำกฐินถึง 5 กอง เนื่องจากมีหลายบ้านขอร่วมไปทอดด้วย และในการทำกองกฐินจะต้องมีมหรสพ เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ให้คนชม หลวงพ่อได้ตกลงกับภรรยาไว้แล้วว่า การใช้จ่ายต่าง ๆ และการจัดหาอาหารให้แขก ยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน ตัวท่านเองจะรับอุโบสถศีลและรับแขกทางไกล

ครั้นเวลาเช้า ภรรยาของท่านมาถามท่านว่า จะต้องจ่ายเงินค่าหมอลำเท่าไร ท่านรู้สึกโกรธมาก ท่านเล่าว่า “ มันหนักจนลุกแทบจะไม่ได้ มันตำเข้าในใจ” แต่ท่านข่มอารมณ์ไว้ มิได้แสดงให้ภรรยาของท่านทราบ กลับตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน แต่ความโกรธนั้นยังอยู่ในใจของท่าน

หลังจากนำกฐินไปถวายที่ฝั่งลาว และกลับมารับประทานข้าวมื้อเย็นพร้อมกับภรรยาและบุตรทั้งสอง ท่านได้กล่าวเปรยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนเช้าว่า “คนไม่รู้จักเคารพนับถือก็อย่างนี้แหละ”

ท่านกล่าวซ้ำหลายครั้งจนภรรยาของท่านรู้สึกสะดุดใจ เมื่อภรรยาของท่านพาบุตรทั้งสองไปนอนแล้ว จึงมาถามว่า ท่านโกรธที่ถามเรื่องค่าหมอลำใช่หรือไม่ เมื่อท่านตอบว่าใช่ ภรรยาของท่านจึงพูดว่า สามีภรรยาถามกันเรื่องการจับจ่ายใช้สอยถือว่าผิดด้วยหรือ

หลวงพ่อเล่าว่า ท่านเห็นด้วยกับคำพูดของภรรยา ท่านรู้ว่าท่านผิด มีมานะทิฐิอยากจะเอาชนะ

ภรรยาของท่านพูดว่า “เจ้าไม่พอใจละสิ โอ ! ข้อยบ่รู้จักเจ้าไม่พอใจ ก็นั่งหน้าตาดีอยู่นี่นะ โอ ! เจ้าตกนรกแล้ว”

หลวงพ่อท่านเห็นจริงตามคำพูดของภรรยาท่าน คำพูดนี้กระทบใจท่านมาก จนท่านถือว่าภริยาของท่านเป็นครูท่าน มีบุญคุณต่อท่านที่สุด

แต่ก่อนท่านไม่เข้าใจว่า ความโกรธนี้เป็นความทุกข์ หนักเหมือนตกนรก ภรรยาของท่านเองก็ไม่เข้าใจแต่พูดไปตามอารมณ์ “เจ้าตกนรกแล้ว แม้ทำกองกฐินก็บ่ได้บุญดอกเจ้า”

หลวงพ่อท่านเล่าว่าท่านเองก็เข้าใจว่า ท่านคงจะไม่ได้บุญเพราะท่านหนักใจอยู่ทั้งวัน เมื่อภรรยาท่านพูดว่าท่านเช่นนี้ ทำให้ท่านสบายใจขึ้น ออกจากความคิดแบบนั้นได้ แต่ยังไม่รู้จักวิธีที่จะออกจากความคิด ท่านคิดในใจว่า หากท่านยังเอาชนะความทุกข์แบบนี้ไม่ได้ ก็จะไม่เลิกละในการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อคิดถึงเรื่องนี้อยู่เป็นเวลาหลายปี ท่านพยายามทำการซื้อขายให้น้อยลง ในที่สุดท่านตัดสินใจว่าจะไม่ทำมาหากินอีกต่อไป ท่านจึงได้สะสางบัญชีและเงินที่ตกค้างอยู่กับผู้ที่ค้าขายอยู่กับท่านให้เป็นที่เรียบร้อย

หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อท่านจะทำอะไร ท่านต้องคิดเตรียมไว้นาน ๆ ไม่ใช่ปุบปับทำ กว่าท่านจะจัดการเรื่องเงินทองต่าง ๆ เรียบร้อยก็เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี

ในคราวที่หลวงพ่อกลับจากปากลายหรือล้านช้าง ซึ่งเป็นระยะที่หลวงพ่อจะเลิกทำการค้าขายแล้วนั้น หลวงพ่อได้มาพบเพื่อนคนหนึ่งซึ่งบวชเป็นพระอยู่ ชื่อพระมหาศรีจันทร์ ได้เปรียญ 5 ประโยค อายุอ่อนกว่าหลวงพ่อราว 2-3 ปี พระมหาศรีจันทร์ได้เคยเดินทางขึ้นล่องระหว่างเชียงคานและหนองคาย กับเรือกลไฟของหลวงพ่อ และได้ธุดงค์ไปตามถ้ำ ตามป่าช้า ท่านอยู่ที่ตำบลพันพร้าว ซึ่งเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายในปัจจุบัน หลวงพ่อได้เคยอุปัฏฐาก ถวายจังหันถวายเพลแก่ท่าน เมื่อท่านเดินทางขึ้นล่องไปกับเรือกลไฟของหลวงพ่อ

เมื่อได้พบกันที่หนองคายครั้งหลังนี้ หลวงพ่อได้คุยกับพระมหาศรีจันทร์เรื่องการทำกรรมฐาน ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า หลวงพ่อได้ถามปัญหาพระมหาศรีจันทร์หลายเรื่อง ในที่สุดพระมหาศรีจันทร์ท่านก็บอกหลวงพ่อว่า เรื่องวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากจะถามไปเท่าไรก็ไม่มีวันจบสิ้น ผู้ใดอยากรู้ต้องลงมือปฏิบัติเอง

หลวงพ่อท่านได้ครุ่นคิดเรื่องการปฏิบัติที่พระมหาศรีจันทร์กล่าวกับท่านอยู่เป็นเวลากว่า 3 ปี เวลานั้นท่านยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ยังคงแสวงหาอาจารย์ต่อไป


ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-thien/lp-thien-hist-index.htm
http://www.fungdham.com/monk-history/history-tien.html

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 01 ก.ค. 2554, 11:27:01 »
ตัดสินใจออกไปปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อเล่าว่า เมื่อหลวงพ่ออายุได้ 40 กว่าปี ท่านเลิกทำการค้าขายโดยเด็ดขาด ไม่มีงานการอะไรต้องทำ ท่านจึงเฝ้าแต่ครุ่นคิดไม่หยุดหย่อนว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย ไม่เห็นมีอะไรไปด้วย คนรวยก็ตาย คนจนก็ตาย ไม่เห็นมีอะไร มีแต่บาปกับบุญ ในที่สุดท่านจึงตัดสินใจออกปฏิบัติธรรม เพื่อหาทางพ้นทุกข์ให้ได้

ท่านได้บอกความตั้งใจของท่านกับภรรยา ภรรยาของท่านจึงได้จัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าให้ท่าน ท่านไม่ได้บอกภรรยาของท่านว่าจะไปอยู่ที่ใด และจะไปนานเท่าไร เพียงแต่บอกว่า หากท่านไม่ตายเสียก่อนก็จะกลับมาอีก

เมื่อหลวงพ่อไปถึงตำบลพันพร้าว อำเภอท่าบ่อ ซึ่งเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ในปัจจุบัน ท่านจึงได้ทราบว่า เพื่อนของท่านคือมหาศรีจันทร์ ที่ท่านตั้งใจจะมาศึกษาธรรมะด้วยนั้น ไปจำพรรษาอยู่ที่หลวงพระบาง มีแต่หลวงพ่อวันทอง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นปลัดอำเภอ ปลดเกษียณแล้วจึงมาบวชเป็นพระ มีพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งชื่ออาจารย์ปาน เป็นผู้สอบอารมณ์ปฏิบัติให้หลวงพ่อ อาจารย์ปานผู้นี้ท่านเป็นชาวลาว อยู่ที่สุวรรณเขต ได้ไปเรียนวิธีติงนิ่ง* และวิธีพองยุบมาจากพม่า

(ติงนิ่ง : การเจริญสติโดยวิธีการเคลื่อนไหว ประกอบคำบริกรรม ติง-นิ่ง เมื่อเคลื่อนมือให้บริกรรม “ติง” เมื่อหยุดให้บริกรรม “นิ่ง” และให้รู้ว่าเคลื่อนไหว หรือ นิ่ง ซึ่งแตกต่างจากวิธีที่หลวงพ่อทำ คือ เมื่อเคลื่อนมืออยู่หรือหยุดอยู่ก็ให้รู้สึกเท่านั้น ไม่มีการแยกแยะว่าเคลื่อนไหวอยู่หรือหยุดอยู่ หรือ ฯลฯ)

เมื่อหลวงพ่อมาถึง หลวงพ่อได้จ้างคนญวนซึ่งมาจากเวียงจันทน์ให้ปลูกกุฏิให้ โดยรื้อยุ้งข้าวมาปลูก ให้ทำกุฏิทำส้วมให้เรียบร้อย

หลวงพ่อเล่าว่า ท่านเป็นคนพยศ เสื้อผ้าที่จะนุ่งจะใส่ต้องรีดให้เรียบ ถ้าไม่รีด ท่านก็ไม่อยากนุ่งอยากใส่ ท่านจึงได้ว่าจ้างคนให้มาช่วยซักรีดเสื้อผ้า ทำอาหาร ส่งปิ่นโต โดยหลวงพ่อจ่ายเงินให้เดือนละ 300 บาท

แต่ในที่สุดทางสำนักที่หลวงพ่อไปปฏิบัติไม่ยินยอม ด้วยเหตุผลว่า การว่าจ้างคนมาทำงานให้ระหว่างปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้คนอื่นอาจคิดไปว่า ถ้าใครไม่มีเงินก็ไม่สามารถมาปฏิบัติได้ จึงเสนอให้หลวงพ่อมอบเงินให้กับส่วนกลางเพื่อใช้เป็นค่าอาหารสำหรับพระเณรและญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมด้วย

หลวงพ่อท่านก็ยอมตามนั้น แต่ท่านขอให้มีคนซักรีดเสื้อผ้า และขอให้ส่งโอวัลตินกับขนมให้ทุกเช้า ทางสำนักก็ยินยอมตามความประสงค์ของท่าน

ผู้ที่ร่วมปฏิบัติธรรม

ในคราวที่หลวงพ่อไปปฏิบัติธรรมนั้น มีผู้ร่วมปฏิบัติ 30 กว่าคน เป็นพระ 23 รูป โยม 5 คน เป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 3 คน ผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 19 ปี อีก 2 คนอายุ 20 ปี

พระสงฆ์ที่มาปฏิบัติในครั้งนี้ล้วนบวชมาแล้วหลายพรรษา อย่างน้อยที่สุด 2 พรรษา บางรูปบวชมาแล้ว 5 พรรษา บางรูป 8 พรรษา บางรูป 12 พรรษา 15 พรรษาก็มี

หลวงพ่อเล่าว่ามีพระรูปหนึ่ง เป็นพระครูมาจากอำเภอท่าบ่อ ตีตะปูอยู่เรื่อย กุฏิที่เขาสร้างไปแล้ว ท่านก็ไปรื้อไปซ่อมตีตะปูดังโป๊ก ๆ หลวงพ่อท่านก็ได้แต่คิดว่า เมื่อไรจึงจะแล้วเสร็จสักที

โยมที่มาปฏิบัติธรรมอีกคนหนึ่งคือ นายฮ้อย * พ่อมุก ซึ่งมีความคุ้นเคยกับหลวงพ่อและเป็นผู้ให้ความรู้กับหลวงพ่อในเรื่องการทำมาหากิน จนถึงขนาดที่ท่านพูดว่า ทำให้ท่านสามารถทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้

(นายฮ้อย หรือ นายร้อย ในภาษาถิ่นอีสานใช้เรียกผู้ที่เป็นพ่อค้า)

หลวงพ่อเล่าว่า นายฮ้อยพ่อมุกชอบมาชวนท่านคุยในขณะที่ปฏิบัติ ภายหลังเมื่อท่านเห็นนายฮ้อยพ่อมุกเดินมาหา ท่านก็รีบเอาผ้าโพกศีรษะแล้วไปเดินจงกรมกลางแดด บริเวณนั้นเป็นท้องนาไม่มีร่มไม้ หลวงพ่อได้จ้างคนญวนยกท้องร่องให้ และทำถนนกลางท้องนา

หลวงพ่อทำเช่นนี้หลายครั้ง นายฮ้อยพ่อมุกจึงคิดว่าหลวงพ่อเกลียด แต่ความจริงแล้วหลวงพ่อไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น ท่านเห็นว่า เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้วก็ควรจะปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ควรเสียเวลาไปกับการคุยเล่น หรือทำสิ่งอื่นซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับการปฏิบัติ

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-thien/lp-thien-hist-index.htm
http://www.fungdham.com/monk-history/history-tien.html

มีต่อ 2 ช่วงยาวๆ