กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล => ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: รวี สัจจะ... ที่ 12 ก.ค. 2553, 11:08:18

หัวข้อ: อุทานธรรม...พื้นฐานการเจริญสติภาวนาเบื้องต้น
เริ่มหัวข้อโดย: รวี สัจจะ... ที่ 12 ก.ค. 2553, 11:08:18
งานปริวาสกรรมวัดเพชรน้ำผึ้ง ลานสัก อุทัยธานี
วันจันทร์ที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
        ขออนุโมทนากับท่านผู้ใฝ่ในธรรมทั้งหลาย ที่ได้เสียสละความสุขส่วนตัว
สละเวลา กำลังทรัพย์และกำลังกาย เพื่อมาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรมในครั้งนี้
โดยมีกุศลจิตเป็นเครื่องนำพา โดยที่ทุกท่านต่างก็ปรารถนาเพื่อสร้างบุญบารมี
เพิ่มคุณงามความดีให้แก่ชีวิตของตน ขอบุญกุศลนี้จงบันดาลให้ท่านทั้งหลาย
ได้รับความสุขทั้งทางใจและทางกาย และขอให้ทุกท่านมีความเจริญในธรรม
       ก่อนที่เราจะเจริญสติ เจริญภาวนานั้น เราต้องเตรียมกาย เตรียมจิตให้มี
ความพร้อมเสียก่อน โดยการปรับกายปรับจิตปรับความคิดแล้วจึงเข้าสู่การปฏิบัติ
การปรับกายนั้น ให้เราสำรวจตรวจดูร่างกายของเรา ท่านั่งของเรา ว่าอยู่ในท่าที่
เหมาะสมหรือไม่ เส้นเอ็นเส้นประสาทถูกกดทับอยู่หรือไม่ หายใจคล่องหรือเปล่า
ขยับร่างกายให้กล้ามเนื้อคลายตัว สูดลมหายใจเข้าสุดกำลังเพื่อให้กล้ามเนื้อที่
หน้าท้องได้ขยายตัวเต็มที่ หายใจออกช้าๆจนสุดกำลังลม เพื่อล้างลมที่ติดขัด
ในท้องและปอด เพื่อให้หายใจได้โล่ง โปร่งเบาสบาย เรียกว่า..การปรับกาย
     เมื่อเราปรับกายให้เป็นปกติได้แล้ว ก็มาปรับจิต ปรับความคิดของเราเสียใหม่
เพื่อให้ลืมความคิดเก่าๆที่เป็นอกุศล โดยการเริ่มต้นคิดถึงสิ่งที่ดีงาม ที่เราได้เคย
กระทำมาแล้ว นึกย้อนทบทวนไป ว่าเราเคยทำความดีอะไรมาบ้างในชีวิตนี้ที่เราจำได้
มีความดีอะไรที่เราภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้ทำมาแล้วบ้าง ระลึกนึกไปเรื่อยๆจนรู้สึก
สบายใจ สดชื่น เอิบอิ่มใจ เพลิดเพลินใจในสิ่งที่เรากำลังคิดกำลังนึก
     การระลึกนึกคิดอย่างนี้ ก็เพื่อให้จิตของเราเป็นกุศลจิต คือการคิดในสิ่งที่ดี
การระลึกนึกคิดอย่างนี้เป็นการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง คือถ้าเราคิดถึงเรื่องทาน
ก็เป็น...จาคะนุสสติ  ถ้าเราคิดถึงศีลที่เรารักษาปฏิบัติมา ก็เป็น...สีละนุสสติ
ถ้าเราคิดถึงการที่เราหักห้ามใจไม่ให้กระทำผิดได้ ก็เป็น...เทวตานุสสติ คือ
เรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป อันเป็นคุณธรรมของการเป็นเทวดา
     การระลึกนึกคิดอย่างนี้  จะทำให้ใจของเรามีความสุขและใจเกิดปิติขึ้น
เพราะว่าบุญนั้น ระลึกนึกถึงครั้งใดใจเป็นสุข เกิดสมาธิเบื้องต้นในระดับขนิกสมาธิขึ้น
เมื่อจิตของเราเป็นกุศลจิตและมีความปิติเอิบอิ่มใจแล้ว เราจึงน้อมจิตมาสู่การภาวนา
ในลำดับต่อไป  การภาวนานั้นคือการทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้น ขึ้นพัฒนาขึ้นในสิ่งที่ดี
เมื่อเราเริ่มภาวนาด้วยจิตที่ดีที่เป็นกุศลจิตแล้ว  ความเจริญของกุศลจิตก็จะเพิ่มขึ้น
ความสุขความเอิบใจใจในบุญกุศลก็จะเพิ่มขึ้น เกิดความเพลิดเพลินในธรรมมากขึ้น
ลืมอาการปวดเมื่อย แล้วเราจะนั่งได้ทนนั่งได้นานยิ่งขึ้น
     การเจริญภาวนานั้นต้องเริ่มต้นด้วยพื้นฐานที่ถูกต้องแล้วความเจริญในธรรมก็จะเกิดขึ้น
การปฏิบัตินั้นอย่าได้ใจร้อน หวังผลโดยเร็ว ต้องค่อยเป็นค่อยไป สร้างพื้นฐานให้มั่นคงเสียก่อน
เมื่อพื้นฐานมั่นคงชำนาญแล้ว ก็จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป ไม่มีทางที่จะเสื่อมลง
ฝึกระลึกนึกคิด ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิดทุกครั้งก่อนที่จะเข้าสู่การภาวนา ทำอย่างสม่ำเสมอ
ทำให้เป็นความเคยชิน จนกลายเป็นนิสัยและเป็นอุปนิสัย ขั้นตอนต่อไปนั้นมันจะเป็นของมันเอง
เมื่อจิตของเราเข้าสู่กระแสธรรม จิตจะเดินไปตามสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักแห่งธรรม
ตามที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชอบแล้ว
     ขอความเจริญในธรรมทั้งหลายจงบังเกิดมีแก่ท่านผู้ใฝ่ธรรม
                  เจริญพร  เจริญสุข  เจริญธรรม
                      รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๒๓.๐๘ น. ณ วัดเพชรน้ำผึ้ง ลานสัก อุทัยธานี
หัวข้อ: ตอบ: อุทานธรรม...พื้นฐานการเจริญสติภาวนาเบื้องต้น
เริ่มหัวข้อโดย: ~เสน่ห์ack01~ ที่ 12 ก.ค. 2553, 11:20:31
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ
ขอบพระคุณสำหรับเบื้องต้นของการทำสมาธิครับ
หัวข้อ: ตอบ: อุทานธรรม...พื้นฐานการเจริญสติภาวนาเบื้องต้น
เริ่มหัวข้อโดย: ~@เสน่ห์เอ็ม@~ ที่ 13 ก.ค. 2553, 12:11:09
กราบมนัสการพระอาจารย์ที่เคารพ   :054:

ขอกราบขอบพระคุณสำหรับคำสั่งสอน ศิษย์พร้อมปฏิบัติทำตามและทบทวนใหม่ทุกครั้งที่เริ่มปฏิบัติ
 
ต้องขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับความรู้ที่ทำให้ได้เข้าใจหลักในการปฏิบัติอย่างถูกต้องเสมอมา
อนุโมทนาด้วย ครับ   :054:

หัวข้อ: ตอบ: อุทานธรรม...พื้นฐานการเจริญสติภาวนาเบื้องต้น
เริ่มหัวข้อโดย: derbyrock ที่ 13 ก.ค. 2553, 08:54:37
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ กราบขอบพระคุณที่ให้ความรู้เพื่อใช้ในการฝึกนั่งสมาธิครับ
หัวข้อ: ตอบ: อุทานธรรม...พื้นฐานการเจริญสติภาวนาเบื้องต้น
เริ่มหัวข้อโดย: อภิรัตน์ ที่ 13 ก.ค. 2553, 10:22:57
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ เป็นความรู้ที่มีค่ายิ่งสำหรับผู้ที่กำลังเรียนรู้การปฏิบัติอย่างผมและอีกหลายๆท่าน อนุโมทนา สาธุ ครับ  :054: