ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องของวาสนา...  (อ่าน 1756 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ suwatchai

  • การนิ่งเงียบต่อคนโง่คนสามหาว เป็นทางยาวสู่เกียรติที่ใฝ่ฝัน ทั้งรักษาในศักดิ์ศรีเป็นเกราะกัน ไม่หุนหันฉันท์หมาวัดที่จัญไร เราจงดูราชสีห์น่าเกรงขาม ทุกผู้นามเกรงกลัวได้ไฉน ไม่เคยเห่าเคยหอนไล่ผู้ใด แล้วไซร้ใยมีเกียรติเป็นราชันต์...
  • สมาชิกที่ถูกแบน
  • **
  • กระทู้: 241
  • เพศ: ชาย
  • Death Is Beautiful & Sweet ....
    • MSN Messenger - suwatchai.com@windowslive.com
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
เรื่องของวาสนา...
« เมื่อ: 05 พ.ย. 2552, 12:38:39 »
ภาษาไทยของเรานั้น ส่วนมากได้รับอิทธิพลมาจากภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาบาลีสันสกฤตมากกว่าภาษาอื่น สังเกตได้จากคำศัพท์ที่ใช้สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวันจะมีภาษาบาลีหรือสันสกฤตมากเป็นพิเศษ บางคำเรานำมาใช้นานจนชินหูชินตา จนลืมว่าเป็นภาษาต่างชาติไปเลยก็มี

ชื่อและนามสกุลของคนไทย ส่วนมากมีรากมาจากภาษาสองภาษาดังกล่าวข้างต้นทั้งนั้น  ขอยกชื่อคนดังมาเป็นตัวอย่างสักกรณี " บรรหาร ศิลปอาชา" ไม่มีคำไทยสักคำเลย " บรรหาร " เป็นคำสันสกฤต " ศิลป" ก็สันสกฤต " อาชา"  เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต หรืออย่างชื่อ " ทักษิณ ชินวัตร"  ชิน" เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต นอกนั้นเป็นคำสันสกฤต

ถามว่าทำไมคำบาลีและสันสกฤต จึงมามีอยู่ในภาษาไทยมากมายปานนั้น คำตอบก็คือเพราะทั้งสองภาษานี้ติดมากับพระพุทธศาสนา ซึ่งแพร่มาสู่ภูมิภาคแถบนี้ เมื่อคนไทยรับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำชาติ ภาษาทั้งสองนี้ก็เลยมาปะปนกับภาษาไทยด้วย

เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะทราบว่าเดิมทีพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน (เถร วาท) ซึ่งใช้ภาษาบาลีเป็นภาษาศาสนาแพร่เข้ามาก่อนในราวพุทธศตวรรษที่ 3 ในยุคนั้นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอยู่ที่จังหวัดนครปฐมในปัจจุบันนี้

ต่อมาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานตามเข้ามา มหายานถือภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศาสนา คนไทยก็เลยได้อิทธิพลจากภาษาสันสกฤตอีก กอปรกับศาสนาพราหมณ์ฮินดู ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตก็แพร่เข้ามาสมทบอีกด้วย ภาษาสันสกฤตจึงหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น

แม้ว่าจากสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาที่ประชาชนคนไทยนับถือจะเป็นฝ่ายหินยาน (เถรวาท) และภาษาบาลีเองพระภิกษุสามเณรก็เล่าเรียนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็ตาม ยังมีอิทธิพลต่อภาษาไทยน้อยกว่าภาษาสันสกฤตอยู่ดี

พูดง่าย ๆ ก็คือว่าภาษาสันสกฤตครองความเป็นแชมป์ว่าอย่างนั้นเถอะ

การนำภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาของตนของคนไทย มิได้เอามาทั้งดุ้น หากเปลี่ยนแปลงรูปและเสียง พร้อมทั้งเปลี่ยนความหมายด้วยในบางครั้ง ยกตัวอย่าง เช่นคำข้างต้น

"วาสนา" เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต อ่าน "วา-สะ-นา" ไทยเราอ่านเพื่อให้เข้ากับหูไทยๆ ว่า "วาด-สะ-หนา" ความหมายเดิม หมายถึง "สิ่ง" ที่สั่งสมอยู่ในจิตสันดานยาวนานมาก นอนเนื่องอยู่ภายในจิตเราแน่นแฟ้นและลึกมาก จนแกะไม่ออก เทียบกับคำไทยว่า "สันดาน" นั่นแหละ

ในทางพระพุทธศาสนา "วาสนา" มิใช่เรื่องดีนัก ว่ากันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงละวาสนาได้ พร้อมกับกิเลสทั้งปวง พระอรหันต์นั้นละได้เฉพาะกิเลสเท่านั้น ไม่สามารถละวาสนาได้ ว่ากันอย่างนั้น

แต่ "วาสนา" ในความหมายไทยๆ กลับเป็นเรื่องดี คือหมายถึง " บุญญาบารมี" บางทีก็พูดควบคู่กันว่า "บุญวาสนา" ใครที่ประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต คนเขากล่าวขวัญถึงว่า "เขา(หรือเธอ)มีบุญวาสนาหรือ  "เป็นวาสนาของเขา (หรือเธอ) น่ะ" อะไรทำนองนี้

มีเรื่องเล่าในแวดวงผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่ 2 เรื่อง แสดงถึงอิทธิพลของวาสนา... 

เรื่องแรกคือเรื่อง " พระปิลินทวัจฉะ" ท่านผู้นี้มีคำพูดติดปากว่า "วสลิ" (แปลว่า ไอ้ถ่อย) พบใครก็จะถามว่า "ไปไหนมา ไอ้ถ่อย" "สบายดีหรือ ไอ้ถ่อย" อย่างนี้เสมอ คำพูดดูจะเป็นคำหยาบ ไม่สุภาพ แต่จิตใจท่านมิได้หยาบไปด้วย ท่านพูดด้วยจิตเมตตา เป็นคำพูด "ติดปาก" ท่าน แก้ไม่หาย ชาวบ้านที่รู้ว่าอะไรก็ไม่ถือสาท่าน ยกให้ท่าน นอกจากคนต่างถิ่นเท่านั้น ที่ได้ยินเข้า อาจฉุนว่าพระอะไร (วะ) พูดคำหยาบ แต่เมื่อทราบความจริงแล้วก็มิได้ถือสา

ก้อคงเหมือนกับหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ แห่งเมืองโคราชกระมัง ท่านก็ติดคำ "กู" "มึง" เวลาสนทนา หลวงพ่อคูณนั้นเป็นที่รู้กันว่าท่านเป็นพระมีเมตตามาก คนเขาเอาเงินเอาทองมาถวายเท่าไร ท่านก็นำไปสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล และสาธารณสถานหมด ไม่เก็บไว้ร่ำรวยจนเป็น "พระเสี่ย" เหมือนดังเกจิดังอื่นๆ ท่านพูด กูมึง กับใคร ก็ไม่มีใครถือว่าเป็นคำหยาบ กลับฟังแล้วน่ารักเสียอีก

ตรงกันข้าม ถ้าหลวงพ่อคูณท่านเปลี่ยนมาพูดคำไพเราะกับใครเข้า ใครคนนั้นคงตกใจ นึกว่าหลวงพ่อด่าแน่นอน

ย้อนกลับมาพูดถึงหลวงพ่อปิลินทวัจฉะต่อ วันหนึ่งท่านเห็นชายคนหนึ่งขับเกวียน บรรทุกดีปลีผ่านมา จึงร้องถามว่า "บรรทุกอะไร ไอ้ถ่อย" ชายคนนั้นพอได้ยินดังนั้นก็ฉุนกึกทันที พระอะไรวะ พูดจาไม่เข้ารูหูคน จึงตะโกนตอบด้วยเสียงขุ่นๆ ว่า "บรรทุกขี้หนูเว้ย"

เขาขับเกวียนไปเรื่อยๆ หารู้ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับดีปลีของตน พอไปถึงตลาดนัดกลางเมือง ก็จอดเกวียน เตรียมขนดีปลีลงมาวางขาย

ปรากฏว่า ดีปลีได้กลายเป็นขี้หนูหมดเลย ประชาชนมามุงดูกันด้วยความประหลาดใจว่าคนพิเรน (ไม่มี ทร การันต์นะครับ) อะไรวะ เอาขี้หนูมาขาย ชายหนุ่มเจ้าของดีปลีก็ทำอะไรไม่ถูก ยืนเซ่ออยู่พักใหญ่ ได้เล่าเรื่องราวให้คนที่มามุงดูฟัง ชายคนหนึ่งบอกเขาว่า คงเป็นเพราะเขา (ชายหนุ่ม) ล่วงเกินพระอรหันต์เข้า จึงได้เกิดเรื่องเช่นนี้ ทางที่ดีควรไปกราบขมาท่านเสีย

ไม่รอช้า ชายหนุ่มกลับไปกราบขอขมาท่าน ท่านยิ้ม กล่าวว่า

"ไม่เป็นไร ไอ้ถ่อย อาตมายกโทษให้"

เมื่อเขากลับมา ก็ปรากฏว่า ขี้หนูได้กลายเป็นดีปลีตามเดิม

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องพระสารีบุตรอัครสาวก ว่ากันว่าท่านมีอารมณ์ศิลปิน หรือถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็ว่า มีอารมณ์โรแมนติคมิใช่น้อย คือเวลาท่านพบสถานที่ที่สวยงดงาม ท่านคล้ายจะ "ลืมตัว" ไปพักหนึ่ง

วันหนึ่งท่านเดินทางผ่านป่าแห่งหนึ่ง พร้อมภิกษุจำนวนมาก ท่านเห็นลำธารใส ไหลเย็น ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรอันร่มรื่น ท่านก็กระโดดหย็องแหย็งๆ ด้วยความดีใจ

พระสงฆ์ที่ติดตามเห็นเช่นนั้น ก็ไม่สบายใจ แต่ไม่กล้าพูดอะไร เพียงแต่นึกตำหนิในใจว่าพระอัครสาวกผู้ใหญ่ ทำไมทำอย่างนี้ ไม่เหมาะสมเอาเสียเลย

เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าพระสงฆ์เหล่านั้นคิดอะไรอยู่ จึงตรัสกับพวกเธอว่า

"ภิกษุทั้งหลายเราทราบว่าพวกเธอคิดอย่างไรกับสารีบุตร สารีบุตรทำอย่างนั้น มิใช่เพราะ "ติด" ในความสุนทรีย์ของบรรยากาศแห่งภูมิประเทศที่เธอพบเห็นดอก หากแต่เป็น "วาสนา" ของเธอ"

แล้วพระองค์ก็ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ในอดีตกาลอันนานไกลโพ้น พระสารีบุตรเคยเกิดเป็นลิงติดต่อกันหลายร้อยหลายพันชาติ มาชาตินี้จึงติด "วาสนา" ของลิงมา คือชอบเต้นหย็องแหย็งๆ เมื่อมีความดีใจ ว่ากันอย่างนั้น

เรื่องอย่างนี้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ทางพระศาสนา ถึงจะเป็นคัมภีร์รุ่นหลังจากพระไตรปิฎก ฟังๆ ไว้ ก็ไม่เสียหลาย ปุถุชนคนสามัญอย่างเราท่าน ภูมิปัญญาหรือความสามารถ ยังห่างไกลเกินกว่าจะไปชี้ว่าเรื่องนี้จริงไม่จริง เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ จริงไหม ?

ว่ากันไปแล้ว เรื่องนี้เป็นวิบากหรือผลของการกระทำที่ทำสืบเนื่องกันยาวนานจน "ติด" ตัวไปไม่รู้กี่อสงไขยกัปว่าอย่างนั้นเถอะ ติดจนแกะไม่ออก แม้ว่ากิเลสตัณหาจะละได้ แต่ "สิ่ง" ที่ว่านี้กลับละไม่ได้ ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

เพราะฉะนั้น บางคนจึงมี "วาสนา" แปลกๆ แก้ไม่หาย ดังพระปิลินทวัจฉะและพระสารีบุตร เป็นต้น หรือที่เห็นชัดๆ ก็หลวงพ่อคูณนั่นแหละ วาสนาของท่านชอบพูดคำสมัยพ่อขุน และมีท่านั่งพิเศษคือนั่งยองๆ ไม่ชอบนั่งพับเพียบเหมือนพระภิกษุทั่วไป

เมื่อมีคนถามว่า ทำไมหลวงพ่อชอบนั่งยองๆ หลวงพ่อตอบว่า กูไม่ชอบดอก ไอ้หลานเอ๊ย มันนั่งของมันอย่างนี้เอง

เมื่อถามอีกว่า นั่นสิครับหลวงพ่อ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อตอบด้วยสำเนียงชาวโคราชว่า "กูว่า มันเป็นท่าเตรียมพร้อมคือกูจะลุกยืนก็ลุกได้ทันที กูจะนั่งพับเพียบก็นั่งได้ทันที นั่งยองๆ นี่ก็มันดีแท่ๆ เด๊ "



ออฟไลน์ @ZeRo@

  • จตุตถะ
  • ****
  • กระทู้: 301
  • เพศ: ชาย
  • CPW 17
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: เรื่องของวาสนา...
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 05 พ.ย. 2552, 01:24:17 »

"วาสนา" เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต อ่าน "วา-สะ-นา" ไทยเราอ่านเพื่อให้เข้ากับหูไทยๆ ว่า "วาด-สะ-หนา" ความหมายเดิม หมายถึง "สิ่ง" ที่สั่งสมอยู่ในจิตสันดานยาวนานมาก นอนเนื่องอยู่ภายในจิตเราแน่นแฟ้นและลึกมาก จนแกะไม่ออก เทียบกับคำไทยว่า "สันดาน" นั่นแหละ


ต่างกันนิดเดียวตรงที่ตัวบุคคล ถ้าเป็นคนดีเรียกวาสนา ถ้าเป็นคนบ้าเรียกสันดาน
ขอบคุณคุณsuwatchaiมากครับกับบทความดีๆ พร้อมตัวอย่างเกี่ยวกับความเคยชิน


ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด    ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในหัวใจคน