ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วยเรื่อง...ไสยเวทย์อาคม  (อ่าน 6283 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Oat

  • จตุตถะ
  • ****
  • กระทู้: 87
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ข้อมูลทั้งหมดจาก
http://www.horasaadrevision.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=13079


 :054: :054: :054:
ไสยศาสตร์ เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยปรากฎการณ์ของพลังงานเหนือธรรมชาติ เกี่ยวกับเวทมนต์คาถาและเลขยันต์ ประกอบกับการใช้อำนาจสมาธิจิต ทำการสาธยายเวทมนต์คาถาสวดบริกรรม ภาวนาปลุกเสก อันเป็นความลี้ลับมหัศจรรย์

ไสยศาสตร์แบ่งออกหลายแขนง ในสมัยโบราณบรรพชนคนไทยเราได้ศึกษาเล่าเรียนสืบทอดกันมา เพื่อใช้เป็นสรณะยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ได้บรรลุผลสำเร็จแห่งความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประจักษ์มาแล้ว

บรรพชนเหล่านั้น ท่านจึงได้จดจารึกไว้เป็นตำหรับตำรา และได้มีการคัดลอกกันสืบต่อๆกันมา เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในวิชานี้สืบไป

ไสยศาสตร์ทุกประเภท ล้วนแต่เป็นวิทยาการว่าด้วยเรื่องเวทมนต์คาถาและเลขยันต์ทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนจดจำกฎเกณฑ์ต่างๆจนจบหลักสูตรแล้ว จะนำเอาเวทมนต์เหล่านั้นไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ได้ผลสำเร็จสมความปรารถนาได้เลยทีเดียวก็หาไม่ ทั้งนี้จะต้องทำการฝึกหัดสมาธิจิตให้แน่วแน่มั่นคงควบคู่กันไปด้วย จึงจะได้ผลสำเร็จจนเป็นที่พอใจ

ความสำคัญของวิชาไสยศาสตร์ ขึ้นอยู่กับพลังจิต

ลัทธิไสยศาสตร์ ได้เกิดขึ้นมาก่อนพุทธกาล มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ชื่อ "ไตรเพท" ในลัทธิของพราหมณ์ คัมภีร์นี้ได้แยกออกเป็น 4 ประเภท คือ
1 มฤเวทย์ เป็นคำฉันท์ ใช้สำหรับสวดมนต์และสรรเสริญเทพเจ้า
2 ยชุรเวทย์ เป็นคำร้อยแก้ว ใช้สำหรับท่องบ่นเวลาบวงสรวงเทพเจ้า
3 สามเวทย์ เป็นคำฉันท์ ใช้สำหรับสวดมนต์ทำพิธีถวายน้ำโสม
4 อาถรรพเวทย์ เป็นคัมภีร์ประกอบด้วยเวทมนต์คาถา เรียกผีสางเทวดา ให้ช่วยป้องกันภัยอันตรายให้ และให้มีการแก้อาถรรพ์ ทำพิธีสาปแช่งให้เป็นอันตรายได้ด้วย

มฤเวทย์ เป็นปรากฎการณ์แห่งความคิดของพวกอาริยัน บุคคลพวกนี้ มีความเชื่อถือเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในโลก สรรพสิ่งทั้งหลายถือว่าอยู่ภายใต้อำนาจแห่งเทพเจ้าทั้งสิ้น เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดลบันดาลให้มนุษย์และสัตว์โลก มีความเป็นไปต่างๆนาๆได้ทุกประการ
พวกอาริยัน จึงได้ประพันธ์บทสวดมนต์สรรเสริญเทพเจ้าไว้ 1,017 องค์ พวกอาริยันถือเอาความสำคัญของเทพเจ้าเป็นใหญ่
ยชุรเวทย์ เป็นบทสวดมนต์และวิธีใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา
สามเวทย์ เป็นคำสวดพิธีถวายน้ำโสม ซึ่งเป็นน้ำเมาชนิดหนึ่ง แด่ปวงทวยเทพเทวดา โสมได้รับการสถาปนาให้เป็นสมมุติเทพองค์หนึ่งด้วย
อาถรรพเวทย์ เป็นหลักของไสยศาสตร์ ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทางไสยศาสตร์ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์

พระเวทย์ทั้ง 4 ประเภทนี้ เป็นคัมภีร์อันยิ่งใหญ่ของพราหมณ์ พระเวทที่สำคัญยิ่ง คือ อาถรรพเวทย์ อันเป็นคัมภีร์แสดงถึงความศักดิ์สิทธ์ทางเวทมนต์คาถา มี 8 ประเภท คือ
1 พระเวทย์แก้โรคต่างๆ
2 พระเวทย์ประสาน
3 พระเวทย์สะเดาะ
4 พระเวทย์ป้องกันตัว
5 พระเวทย์แสดงปาฎิหารย์
6 พระเวทย์ให้โทษต่อผู้อื่น
7 พระเวทย์แก้ภูตผีปีศาจ
8 พระเวทย์ทำเสน่ห์

อาถรรพเวทย์ในคัมภีร์ไสยศาสตร์ แยกออกเป็น 2 นิกาย คือ
1 นิกายขาว White magic เป็นวิชาที่ใช้ในทางดี คือ ช่วยเหลือมนุษย์ให้มีความปลอดภัยและมีความสุข
2 นิกายดำ Black magic เป็นวิชาที่ใช้ในทางชั่ว คือ ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น

ลัทธิไสยศาสตร์ คือ การรวมอำนาจจิต ซึ่งได้รับการอบรมและฝึกฝนให้มีความยึดมั่นเชื่อถืออย่างจริงจัง ดำเนินการไปตามหลักของไสยศาสตร์ ก็จะสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย์ได้ ด้วยกระแสคลื่นแห่งพลังอำนาจจิตอันแรงกล้า ของมโนสมาธิ จิตตานุภาพ จึงเป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่

ตามหลักของศาสนาพุทธ ผู้บำเพ็ญตนทางวิปัสสนาญาณ ได้ฌานสมาบัติแล้ว ก็สามารถแสดงปาฎิหารย์ได้ตามภูมิของตน เมื่อครั้งพุทธกาล พระเถรเทวทัต ผู้สำเร็จรูปฌาน ก็ยังสำแดงฤทธิ์ปาฎิหารย์ จำแลงแปลงกาย ให้พระเจ้าอชาตศัตรูราชกุมารทรงเลื่อมใสได้

ส่วนอารมณ์ของรูปฌานนั้น ใช้กสิณบ้าง ใช้คาถาอาคมบ้าง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดพลังจิตอันแน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสำเร็จกิจในการสำแดงอิทธิปาฎิหารย์ต่างๆ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมิได้ทรงปฎิเสธเสียทีเดียวว่า การกระทำฤทธิ์แสดงปาฎิหารย์นั้นเป็นสิ่งไม่บังควร แต่พระองค์ยังทรงยกย่องอิทธิปาฎิหารย์บ้างเหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้ให้พระโมคคัลลาเถระ ไปทรมานบุคคลต่างๆที่มีทิษฐิมานะแรงกล้า ด้วยการแสดงฤทธิ์อิทธิวิธีให้ยอมจำนนได้ แต่การใช้อิทธิวิธีต่างๆ ไม่ใช่หนทางแห่งความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดใน วัฎสงสาร ได้ ถึงแม้จะสำแดงฤทธิ์ได้ ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวงจรแห่งความทุกข์อยู่ดี

วิชาวิปัสสนากรรมฐานได้เจริญท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน มีพระคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสั่งสอนเวทมนต์ต่างๆ ได้แก้ไขดัดแปลงวิชาไสยศาสตร์ โดยการคัดเอามนต์ต่างๆของพราหมณ์ออก นำเอาพระพุทธมนต์ของพระพุทธเจ้าใส่แทน และปะปนกับมนต์ของพราหมณ์บ้าง โดยถือว่า มนต์ของพราหมณ์ยังมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์อยู่ แต่ก็ยังเชื่อว่า พระพุทธมนต์ของพระพุทธเจ้าจะต้องมีอานุภาพมากกว่ามนต์ของพราหมณ์ จึงได้ทำการร้อยกรอง แล้วนำไปใช้ในวิชาไสยศาสตร์ ปรากฎว่า ได้ผลดียิ่ง จึงได้มีการร่ำเรียนสืบต่อกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ไสยเวทย์เกี่ยวพันกับโหราศาสตร์อย่างไร :016:

การสะเดาะเคราะห์ มีประวัติสืบมาตั้งแต่พุทธกาล มีเรื่องอยู่ในตำนานพระปริต และเมตตาสูตร และมีนิทานวัตถุปรากฎอยู่ในอรรถกถาธรรมบท ตอนสหัทสุวรรค กล่าวเนื่องด้วย "อายุวัฒนะกุมาร" อย่างไรก็ดี เรื่องบูชาเทวดานพเคราะห์ ซึ่งคาถาสวดทั้งฝ่ายพระพุทธศาสนา และทางไสยศาสตร์เจือกันนั้น ยัญญพิธีใดๆ อันเป็นคติทางพุทธศาสนา บัณฑิตทั้งหลายย่อมถือเอาทางที่ชอบ ซึ่งสำเร็จเป็นทานศีลภาวนา และละเว้นเสียจากกรรมอันเป็นบาป มีการฆ่าสัตว์บูชายันต์เป็นต้น

ไสยศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์อย่างไร และมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์หรือไม่ ในการแสดงปาฐกถาพิเศษโดย อ.เทพย์ สาริกบุตร ณ.สมาคมโหรแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2504 มีความว่า

ก่อนอื่นขอให้ได้โปรดทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ ในความหมายของคำว่า "ไสยศาสตร์" เสียก่อนว่า ไสยศาสตร์ แปลความหมายได้ว่า เป็นลัทธิอันเนื่องด้วยการใช้เวทมนต์คาถาในศาสนาพราหมณ์ ตามลัทธิพราหมณ์นั้น เขาแบ่งพระเวทของเขาไว้ 3 ประการ เรียกว่า "ไตรเภท" อันได้แก่
1 มฤคเวท เป็นคำฉันท์สำหรับสวดอ้อนวอนเทพเจ้า
2 ยชุรเวท เป็นคำร้อยแก้วใช่ท่องในเวลาบูชาบวงสรวงเทพเจ้า
3 สามเวท เป็นคำฉันท์ใช้สวดในพิธีถวายน้ำโสม

พระเวททั้งสามนี้ เขาถือว่าเป็นศรุติ คือ ได้ยินและได้รับมาจากพระโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้าเอง มิได้เขียนและแต่งตั้งขึ้นโดยลำพัง ต่อมาภายหลังได้เพิ่มพระเวทขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง เรียกว่า "อาถรรพเวท" เป็นคัมภีร์ที่ประกอบด้วยคาถาอาคม เรียกร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตลอดจนวิญญาณภูตผีให้ช่วยเหลือให้พ้นภัย หรือสาปแช่งให้มีอันเป็นไปได้ตามใจปรารถนา

ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า ชาวไทยเรานั้นนอกจากจะมั่นคงในบวรพุทธศาสนาแล้ว ยังยึดถือมั่นในคติประเพณีที่มาจากศาสนาพราหมณ์อีกประการหนึ่งด้วย และพระพุทธศาสนาของเรานั้น พื้นฐานเดิมก็มาจากศาสนาพราหมณ์นั่นเอง แต่เดิมพุทธศาสนิกชนเรานั้น มั่นคงเลื่อมใสอยู่ในศาสนาพราหมณ์มาก่อน ครั้นต่อมาภายหลังจึงหันมาเลื่อมใสในพุทธศาสนา แม้ว่าการเชื่อถือในศาสนาพราหมณ์จะค่อยๆเลือนหายไปจากการเชื่อถือศรัทธา แต่ทว่า ก็ยังคงเหลือควันหลงเอาไว้ มิได้หมดสิ้นไปทีเดียว ยังคงนับถือปฎิบัติควบกันไปจนกระทั่งในปัจจุบันนี้ เรามิอาจจะแยกกันให้ออกไปได้ว่า อย่างใดเป็นพราหมณ์ อย่างใดเป็นพุทธ พระพุทธศาสนาแพร่ไปถึงไหน ก็มีคตินิยมในศาสนาพราหมณ์แผ่ตามไปด้วย

ตามธรรมชาติของมนุษย์เรานั้น เป็นผู้มีจิตใจสูง เมื่อเกิดทุกข์ภัยขึ้นก็ย่อมเสวงหาที่พึ่งที่อาศัย เพื่อให้รอดพ้นจากทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น เหตุใดมนุษย์เราจึงจำต้องหาที่พึ่ง เรื่องที่พึ่งนี้มนุษย์เราได้ค้นคว้าหากันมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว เพราะมนุษย์เราตั้งแต่เริ่มเกิดมา ก็พกเอาความกลัวประจำติดตัวมาด้วย ความกลัวของมนุษย์มีมากเท่าไร เป็นเหตุให้แสวงหาที่พึ่งมากเท่านั้น ในที่สุดแม้กระทั่งต้นไม้และภูเขาก็กลายเป็นที่พึ่งของมนุษย์เราได้ตามเหตุการณ์ สำหรับที่พึ่งกล่าวตามลัทธิพุทธศาสนานั้น ที่พึ่งที่ดีอย่างแท้จริงและมั่นคงนั้น ได้แก่ พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า จัดว่าเป็นที่พึ่งอันดีเลิศ สามารถช่วยให้หมดทุกข์หมดภัย ตามข้อความในพุทธภาษิตยืนยันเอาไว้ว่า

พาหุง เว ยันติ........................ปัพพะตานิ วะนานะ จะ
อารามะรุกขะ เจตยะนิ..............มะนุสสา ภัยตัชชิตา
เนตัง โข สะระณัง เขมัง........... เนตัง สะระณะ มุตตะมัง
เนตัง สะระณะ มาคัมมะ............สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ


พวกมนุษย์ถูกภัยคุกคาม พากันยึดถือวัตถุเป็นอันมาก คือ ภูเขาทั้งหลายบ้าง ป่าไม้ทั้งหลายบ้าง อารามพฤกษาและเจดีย์ทั้งหลายบ้าง เป็นสรณะที่พึ่ง วัตถุมีภูเขาเป็นต้นนั้น มิใช่ที่พึ่งอันปลอดโปร่ง มิใช่ที่พึ่งอันสูงสุด มนุษย์จะมาพึ่งภูเขา ว่าเป็นสรณะที่พึ่งแล้ว จะพ้นจากทุกข์หาได้ไม่

โย จะ พุทชัช จะ ธัมมัญ จะ สังฆัญ ตะ สะระณัง คะโต
จัตตาริ อะริยะ สัจจานิ สัมนะปัญญายะ ปัสสะติ
ทุกขัง ทุกขะ สะมุบปาทัง ทุกขัสสะ จะ อะติกกะมัง
อะริยัญ จัฎฐังคิกัง มะคะคัง ทุกขูปะสะมะคามินัง
เอตัง โขสะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุต ตะมัง
เอตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ

ส่วนบุคคลใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง บุคคลนั้นย่อมเห็นอริยสัจจ์ทั้ง 4 คือ ทุกข์เหตุเป็นแดนเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ การก้าวล่วงทุกข์เสียได้ และหนทางมีองค์ 8 ที่ได้ดำเนินถึงความดับทุกข์ได้ด้วยปรีชาอันชอบ พระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น และเป็นที่พึ่งอันปลอดโปร่ง เป็นสถานที่พึ่งอันสูงสุด มนุษย์มาถึงพระพุทธเจ้า เป็นต้นว่า เป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ได้

ด้วยเหตุตามที่กล่าวนี้ ท่านโบราณคณาจารย์จึงได้หาทางดับความหวาดกลัว อันเป็นสัญชาตญาณประจำตัวของมนุษย์เราทุกคน ด้วยการผูกประพันธ์คาถาคำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยด้วยประการต่างๆ เพื่อให้เรารำลึกถึงมั่นคงอยู่ในพระคุณพระรัตยตรัย จะได้เป็นเครื่องคุ้มภัยระงับอันตรายทั้งปวง เป็นมูลเหตุให้เกิดการใช้คาถาบริกรรมภาวนาขึ้น

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คติประเพณีที่พุทธศาสนิกชนไทยเรายึดมั่นปฎิบัติมานั้น มีทั้งลัทธิทางพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ของพราหมณาจารย์ระคนปะปนกันอยู่ เมื่อท่านโบราณคณาจารย์ได้ริเริ่มประพันธ์คาถาสำหรับระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เพื่อใช้ระงับความหวาดกลัวและอันตรายต่างๆ วิธีการดังกล่าวนี้ได้เจริญแพร่หลายมากขึ้น หนักเข้าก็หันไปคิดดัดแปลงแก้ไขคาถาอาคม หากแต่ได้ตัดเอามนต์ของพราหมณ์ออกทิ้งไป โดยบรรจุพระพุทธมนต์เข้าไปแทน เพราะเห็นว่า แม้มนต์ของพราหมณ์จะมีอานุภาพมากมาย ถ้าหากเป็นพระพุทธมนต์จะต้องมีอานุภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเป็นแน่ เช่น การเป่า ปลุกเสก ลงเลขยันต์ ในปัจจุบันนี้ เดิมทีเป็นลัทธิทางไสยศาสตร์ของพราหมณ์ ครั้นต่อมาได้ดัดแปลงเอาพุทธมนต์เข้าไปแทน เมื่อปฎิบัติกระทำเข้าได้รับผลเป็นที่พึงพอใจ ความนิยมนับถือจึงได้แพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ ฉะนั้นจึงขอได้โปรดทำความเข้าใจไสยศาสตร์ยุคปัจจุบันนี้ เฉพาะที่ใช้อยู่ในประเทศไทยเรานั้น เราต้องอาศัยเค้าโครงมาจากไสยศาสตร์ของพราหมณ์มาแต่ครั้งเดิมเท่านั้น ส่วนเนื้อแท้ที่จริงก็คือ มาจากพุทธศาสตร์นั่นเอง มิใช่ไสยศาสตร์ที่ใช้กันในลัทธิพราหมณ์ เป็นสิ่งที่พึงควรเคารพ หาใช่สิ่งเหลวไหลที่เข้าใจกันไม่ และเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถระงับความกลัว อันมีประจำอยู่ในกายมนุษย์เราทุกคนให้สูญสิ้นไปได้ :015: :015:

ปัญหาขั้นต่อไปก็คือ ไสยศาสตร์เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์อย่างไร สำหรับปัญหาในเรื่องโหราศาสตร์และไสยศาสตร์นั้น เป็นเรื่องที่มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น เพราะศาสตร์ทั้ง 2 นี้ เป็นของพราหมณ์นำมาเผยแพร่พร้อมกัน การศึกษาวิชาโหราศาสตร์โดยเฉพาะอย่าง วิชาโหรในระบบนิรายนะ ซึ่งได่แพร่หลายในกลุ่มภารตะ ไทย พม่า มอญ เขมร ฯลฯ หลักวิชาส่วนใหญ่ที่ใช้ศึกษากัน พอจะอนุมานได้เป็นหลักใหญ่ๆ รวม 3 ประการด้วยกัน คือ

ประการที่ 1 ได้แก่ ภาคคำนวณ ก็ได้แก่การศึกษาการคำนวณการโคจรของดาวเคราะห์ตามคัมภีร์สุริยาตร์ คำนวณหาจุดอุปราคาตามคัมภีร์สารัมภ์ ฯลฯ

ประการที่ 2 ได้แก่ ภาคพยากรณ์ คือ การศึกษาในการพยากรณ์ดวงชะตาของบุคคล พยากรณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง

ประการที่ 3 ได้แก่ ภาคพิธีกรรม คือ เมื่อพยากรณ์ดวงชะตาดูแล้ว เห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีเคราะห์ร้าย ก็จัดพิธีกรรม สะเดาะพระเคราะห์ให้ หรือเมื่อคราวจะเปลี่ยนเทวดามหาทักษาตามคัมภีร์ทักษาพยากรณ์ ก็ประกอบพิธีส่งเทวดาองค์ที่จะหมดหน้าที่เสวยอายุ และประกอบพิธีรับเทวดาองค์ที่จะเข้ามาเสวยอายุใหม่ ในกาลกำหนดฤกษ์มงคล เมื่อกำหนดได้แล้วก่อนจะเริ่มกระทำ ก็ต้องมีการบูชาฤกษ์ พิธีกรรมเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของโหรจะต้องเป็นผู้จัดทำทั้งนั้น

พิธีการที่จัดทำก็จัดโดยนำวิธีการไสยศาสตร์มาใช้ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ชัดว่า โหราศาสตร์กับไสยศาสตร์ มีส่วนสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นจริงๆ

ผู้เรียนวิชาโหราศาสตร์เจนจบ หรือเรียกกันว่าโหรนั้น แต่เดิมมาก็ได้แก่พวกพราหมณ์ปุโรหิต ต่อมาเมื่อมีการพระราชทานบรรดาศักดิ์กันขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มพวกโหร ได้รับพระราชทานทินนามบรรดาศักด์เป็นที่ "พระยาโหราธิบดี" ซึ่งแปลว่า อธิบดีของพวกโหรนั่นเอง แต่ตำแหน่ง "โหราธิบดี" นี้ เป็นตำแหน่งพิเศษผิดแผกกว่าตำแหน่งอื่นของพวกพราหมณาจารย์ เพราะเหตุว่า ตำแหน่งของพวกพราหมณ์นั้น มักจะสืบช่วงกันในสายสกุล เช่น พวกพราหมณ์พิธีอันได้แก่ตำแหน่ง "พระมหาราชครูพิธี" เมื่อบิดาสิ้นไป บุตรก็ได้รับทายาทครองตำแหน่งสืบทอดช่วงแทน นอกจากจะมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ จึงจะเปลี่ยนสายสกุลอื่นขึ้นเป็นแทน

สำหรับตำแหน่ง โหราธิบดีนั้น จะรับช่วงทายาทกันได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้ ความสามารถพอแก่การจริงๆจึงจะเป็นได้ ถ้าปราศจากองค์คุณสมบัติ ถึงแม้จะเป็นบุตรก็รับสืบทอดช่วงมิได้ และโดยปกติแล้วผู้ที่เป็น "พระยาโหราธิบดี" ทุกท่าน ได้เปิดการอบรมสั่งสอนกุลบุตรให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนวิชาโหร โดยมิได้เลือกว่า ผู้ที่อยู่ในตระกูลพราหมณ์หรือตระกูลไทย ต้องการแต่จะเลือกเฟ้นเอาผู้มีความรู้ ความสามารถจริงๆว้แทนตัว ฉะนั้นตำแหน่ง "โหราธิบดี" ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนจากพราหมณ์เป็นไทย เพราะเหตุที่มีคุณสมบัติพอที่จะปฎิบัติการได้

การประกอบพิธีกรรมในหน้าที่โหร ซึ่งแต่เดิมมามีพราหมณาจารย์ เป็นผู้ประกอบพิธีดำเนินหลักการไปตามลัทธิไสยศาสตร์ของพราหมณ์ คือ มีการกระทำยัญญกิจพิธี ฆ่าสัตว์บูชายันต์ เมิ่อวิชานี้ได้แพร่ถึงเมืองไทย และมีคติทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเจือปนอยู่ด้วย ประกอบทั้งท่านที่ทำหน้าที่โหร ก็เป็นคนไทยเป็นส่วนมาก พิธีการทางไสยศาสตร์ดั้งเดิมของพราหมณ์ จึงถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกกับกาลเทศะ เพราะคติทางพุทธศาสนาเราหลีกเลี่ยงการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

พิธียัญญกิจแต่ดั้งเดิมจึงสลายไป คงเหลือแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น มิใช่กระทำไปตามพิธีไสยศาสตร์ของพราหมณ์โดยแท้จริงก็หาไม่

ในเรื่องการสะเดาะพระเคราะห์เหล่านี้ มีบางท่านอาจจะเห็นว่าเป็นสิ่งเหลวไหลไร้สาระ ความจริงนั้น แม้ในพระพุทธศาสนาเราก็ยกย่องรับรองว่าเป็นจริง เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ยังโปรดให้ชีวิตมนุษย์และเทวดา ที่ถึงคราวชะตาขาดได้มีชิวิตอยู่ยั่งยืนตลอดไป ซึ่งจะขอยกมาเป็นอุทาหรณ์สัก 2 เรื่องดังนี้ คือ

เรื่องที่ 1
เมื่อคราวสมเด็จพระพุทธองค์ เสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาในชั้นดุสิต มีเทพยดาองค์หนึ่งชื่อว่า "สุปติฎฐิตเทพบุตร" ซึ่งเป็นเทพบุตรที่ถึงคราวจะต้องจุติจากสวรรค์ มีความอาลัยมิอยากจะจากสวรรค์ลงมาเกิดเลย พระอินทร์ก็สงสารจึงได้ทรงกราบทูลขอความอนุเคราะห์จากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้โปรดทรงเอื้อเฟื้อต่อสุปติฎฐิตเทพบุตร เพราะอีก 7 วัน จะสิ้นอายุในเมืองสวรรค์แล้ว พระพุทธเจ้าจึงทราบ โปรดประทานอุณหิสวิชัยคาถาให้สุปติฎฐิตเทพบุตร เพื่อต่ออายุด้วยอานุภาพที่สุปติฎฐิตเทพบุตรได้เจริญอุณหิสวิชัยคาถา ก็กลับเจริญต่อไปได้อีกสองพุทธธันดร

เรื่องที่ 2
เป็นเรื่องของกุมารคนหนึ่ง ซึ่งพราหมณาจารย์ได้พยากรณ์ชะตาชีวิตไว้ว่า จะถึงแก่ความตายในระยะ 7 วัน นับแต่วันพยากรณ์ไป บิดามารดาของกุมารนั้นอ้อนวอน ให้พราหมณาจารย์หาทางแก้ไขให้กุมารผู้เป็นบุตรนั้น ให้รอดชีวิตอยู่สืบต่อไป พราหมณาจารย์ผู้นั้นก็หมดปัญญาที่จะกระทำ จึงได้แนะนำให้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ทรงโปรดพยากรณ์ว่า กุมารนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 7 วัน บิดามารดากุมารนั้น จึงกราบทูลขอให้ทรงพระกรุณาอนุเคราะห์ เพื่อช่วยให้กุมารได้เจริญชนมายุต่อไป

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงโปรดประทานพระคุณแต่กุมารนั้น โดยทรงแนะนำให้บิดามารดาของกุมารไปจัดที่ๆเหมาะสมให้กุมารนั้นนอน แล้วนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดพระปริตตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน พระองค์ก็ทรงเสด็จไป ณ ที่นั้นด้วย ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จไป หมู่เทพยดาก็พากันมาแวดล้อมอยู่อย่างแน่นขนัดหาที่จะประมาณมิได้

ในวันถ้วนคำรบ 7 วัน มัยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า อสุอวรุทธโก ได้มุ่งมาเพื่อจะเอากุมารนั้นไปกิน แต่ครั้นเมื่อมาใกล้ที่กุมารนั้นอยู่ ก็ไม่สามารถเข้าไปใกล้กุมารได้ เพราะเกรงแก่พุทธอำนาจและอานุภาพพระปริต กุมารนั้นจึงรอดพ้นภัยไป บิดามารดาจึงขนานนามว่า "อายุวัฒณกุมาร" ภายหลังเมื่อเติบใหญ่ขึ้น ก็ได้เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา

การที่ยกอุทาหรณ์มาประกอบนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในการประกอบพิธีสะเดาะพระเคราะห์ โดยอาศัยวิธีการทางไสยศาสตร์นั้น ทางพระพุทธศาสนาเราก็มีเหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งที่ได้ปฎิบัติทำกันอยู่ทุกวันนี้ เนื้อแท้ที่จริงนั้นกระทำขึ้นโดยอาศัยพุทธานุภาพ และพระปริตเป็นส่วนใหญ่ เพราะเหตุไสยศาสตร์ตามลัทธิพราหมณ์ แต่ดั้งเดิมนั้นได้สลายตัวไปแล้ว โดยมีพุทธศาสตร์เข้าไปแทรกอยู่แทนที่ แต่อาศัยชื่อของไสยศาสตร์คงไว้เท่านั้นเอง

การบวงสรวงเทวดา

ในเรื่องการบวงสรวงบูชาเทวดา อันเป็นคติประเพณีตามลัทธิไสยศาสตร์ แต่ในทางพุทธศาสนาเราก็มิได้ปฎิเสธว่า เทวดาเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ยังคงได้รับคำรับรองว่าเป็นสิ่งมีจริง แม้ท่านนักปราชญ์ในพระพุทธศาสนาเรา นับแต่ครั้งโบราณมาก็มิได้เป็นผู้คัดค้าน ล้วนแต่ได้มีความเชื่อถืออย่างแน่นแฟ้นทั้งนั้น อาทิเช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 4 แห่งรัตนโกสินทร์นี้ เมื่อได้ตรวจดูพระราชประวัติของพระองค์ ท่านทรงเป็นเอตทัคคะ ในทางพุทธศาสตร์ รัฐศาสตร์ และโหราศาสตร์ ขณะใดที่พระองค์ท่านทรงประสบโชคเคราะห์ ก็ได้ทรงรับสั่งว่า เป็นด้วยมหิทธานุภาพของเทวดา และได้จัดการตั้งพระราชพิธีบวงสรวงเทวดา ขอบพระทัยเทวดา ไม่ให้ถูกเคราะห์โดยเต็มที่นัก ท่านโหราจารย์แต่ปางก่อน จึงพยายามหาทางออกให้ผู้เคราะห์ร้าย โดยให้ได้รับเคราะห์เพียงเบาๆ ไม่ถึงกับหนักหนา เช่น ประกอบพิธีสะเดาะพระเคราะห์

เพราะการสะเดาะพระเคราะห์นั้น ผู้กระทำก็จำเป็นต้องเสียทรัพย์สินเงินทอง จัดเครื่องบูชาเทวดาเป็นอามิสพลี และการประกอบการบุญเป็นธรรมพลีอีกประการหนึ่ง แต่การเสียชนิดนี้เป็นการเสียเพื่อดี ทั้งเป็นเครื่องบำรุงขวัญให้ผู้ประสบเคราะห์กรรมนั้นหายหวาดกลัว จะได้มีสติต้านทานเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้

พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์นั้ ตามที่ได้ปฎิบัติกันทุกวันนี้ นอกจากจะจัดเครื่องเทวะพลีเพื่อบูชาเทวดา ขอให้ระงับโทษแล้ว ยังมีพิธีทางพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระปริตด้วย

การประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ ซึ่งจัดทำแต่ดั้งเดิมโดยลัทธิไสยศาสตร์ที่แท้จริงนั้น เป็นการจัดทำโดยพิธียัญญกิจ และมีการร่ายเทวบูชาเทวดา

แต่เมื่อตกทอดมาถึงพวกเราในยุคปัจจุบันนี้ พิธีกรรมได้ถูกดัดแปลงแก้ไขจากของเดิม แม้โหรผู้กระทำแต่เดิมมาก็เป็นพราหมณ์ ขณะนี้ก็เป็นโหรไทยแท้ทั้งนั้น ยัญญกิจก็ลดคงเหลือแต่เพียงบัตรพลีและเครื่องสังเวยบูชาพอสมควร มนต์ที่ได้ร่ายในการบูชาปัดเป่า ก็กลับกลายเป็นพระพุทธมนต์ โดยนำพระปริต 12 ตำนานมาสวด เลือกตำนานที่ตรงกับเทวดาดาวพระเคราะห์องค์ที่บูชานั้นสวด และผู้สวดแทนที่จะเป็นพราหมณ์ก็กลับนิมนต์พระสงฆ์เป็นผู้สวด เรื่องร้ายที่จะปรากฎขึ้นก็กลับระงับไป ถึงแม้จะมีก็เป็นเพียงเบาบางเท่านั้น เมื่อปรากฎผลดีขึ้นเช่นนี้ จึงมีผู้นิยมทำกันเป็นส่วนมาก บางท่านที่ศรัทธาแก่กล้า ถึงแม้จะไม่มีเคราะห์อะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อจะจัดทำบุญอายุ หรือทำบุญวันเกิดก็มักจะให้โหรจัดพิธีขึ้น เพื่ออุทิศที่ได้ทรงอนุกูลแด่พระองค์ท่าน ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่า เรื่องเทวดานี้มิใช่เรื่องเหลวไหล คงเป็นสิ่งที่เชื่อถือกันทั้งทางไสยศาสตร์และพุทธศาสตร์ ผู้ที่จะได้เป็นเทวดานั้น ต้องเป็นผู้ที่อบรมคุณงามความดีไว้เป็นอย่างมาก จนบารมีแก่กล้าพอที่จะเป็นเทวดาได้ ฉะนั้นการเคารพบูชาเทวดา ก็คือการเคารพต่อผู้มีคุณงามความดีนั่นเอง สมดังพุทธภาษิตว่า "ปูชา จะ ปูชะนียัง เอตัง มังคะละมุตตะมัง" การบูชาผู้ที่มีคุณงามความดี อันควรแก่การบูชานั้น เป็นมงคลอันประเสริฐหาโทษมิได้เลย

เทวดาที่กล่าวไว้ในตำราโหราศาสตร์ เท่าที่บันดาลอิทธิพลให้แก่ดวงชะตาบุคคลทั่วๆไปนั้น ได้แก่ เทวดาพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระเสาร์ พระพฤหัสบดี พระราหู พระศุกร์ พระเกตุ รวม 9 องค์ด้วยกัน หรือเรียกว่า เทวดานพเคราะห์ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์และอุปเคราะห์อันแสดงปรากฎการณ์อยู่บนฟากฟ้า นับถือมั่นกันว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธ์ ที่สามารถหันเหียนชะตาชีวิตมนุษย์เราให้ประสบโชคเคราะห์ได้ และการที่จะทราบได้ว่า เทวดาองค์ใดที่จะบันดาลคุณโทษให้นั้นก็รู้ได้จากโหร ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ ผู้ชี้บอกด้วยอาศัยการคำนวณพยากรณ์ ในระยะใดที่เข้าเขตข่ายเคราะห์ ก็ยังความตื่นเต้นหวาดกลัวให้แก่เจ้าชะตา ทั้งนี้ก็เพราะเหตุตามที่กล่าวมาแล้ว ว่ามนุษย์เรามีความกลัวเป็นต้นทุนประจำอยู่แล้ว และมนุษย์เป็นผู้มีสัญชาตญาณสูง เมื่อรู้ตัวว่าตนเองจะได้รับเคราะห์ภัย ก็ดิ้นรนหาทางหลีกเลี่ยง ซึ่งสุดแล้วแต่จะมีทางพอที่จะเอาตัวรอดไปได้ เช่นรู้ตัวตัวว่าจะมีเคราะห์ ก็หาทางออกด้วยการเดินทางโยกย้ายเปลี่ยนแปลงที่อยู่ หรือทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ขออำนาจพุทธานุภาพ เทวานุภาพ ให้ช่วยคุ้มครองบรรเทาโทษร้ายให้แปลเป็นคุณ และยังมีวิธีการอื่นๆอีกมาก

การต้องเคราะห์ร้ายของบุคคลเรานั้น มีอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น การเจ็บไข้ เสียทรัพย์สินเงินทอง ถูกฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกอุบัติภัย พลัดพรากจากบุตรภรรยาหรือสามี ฯลฯ เหล่านี้เป็นเคราะห์ร้ายของบุคคลทั้งนั้น เมื่อโหรพยากรณ์ว่า ชะตาต้องประสบเคราะห์ร้าย ก็มักจะไม่แคล้วที่จะพบกับเคราะห์กรรมดังกล่าวนี้ ในประการใดประการหนึ่งตามที่กล่าว ควรที่จะหลีกเลี่ยง ไปทำกุศลให้กับเทวดาที่คุ้มครองดวงชะตา

พิธีกรรมทางไสยศาสตร์

เกี่ยวกับการใช้เวทย์มนต์ เลขยันต์ที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์นั้น มีหลายวิธี เช่น วิธีผูกดวงพิชัยสงครามขึ้นไว้สักการะบูชา รอบๆดวงชะตานั้น จะมีการลงยันต์พิชัยสงครามและคาถาล้อมรอบดวงชะตา แต่ก็เป็นลัทธิไสยศาสตร์ที่ถูกตัดเป็นพุทธศาสตร์แล้ว กล่าวคือ คาถาที่ลงนั้นก็ลงด้วยอักขระพุทธคุณทั้งสิ้น เพียงแต่ถอดเป็นตาม้าหมากรุก หรือถอดเป็นกลบทที่เรียกว่า " อิ ติ ปิ โส 8 ทิศ " คาถา ฆะเตสิ ฯลฯ ในพระธรรมบทคาถา อะโจ ภะ ยะ สิ กะรา วาเต ฯลฯ ในคัมภีร์วชิรสาร และคาถาพระพุทธเจ้า 16 พระองค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นคาถาที่ประพันธ์ขึ้นตามหลักพระพุทธศาสนาทั้งนั้น บางทีก็นำดวงชะตาที่ทำขึ้นนี้ บรรจุใส่ในใต้ฐานพระโพธิ์ปางห้ามสมุทร (แกะสลักด้วยไม้ศรีมหาโพธิ์) บรรจุใส่พระวันเกิด เพื่อหวังจะได้บังเกิดศิริมงคลแก่ดวงชะตา และถ้าจะออกรบจับศึกก็ทำเป็นตะกรุดติดตัวไป เพื่อให้มีชัยชนะในสงคราม จึงเรียกดวงชะตาที่ประกอบขึ้นทางโหราศาสตร์และไสยศาสตร์นี้ว่า " ดวงพิชัยสงคราม " แปลตามความหมายก็ได้ความว่า เป็นสิ่งที่ทำให้มีชัยชนะแก่ข้าศึกนั่นเอง

ลัทธิทางพุทธศาสนา ได้ยกย่องปาฎิหารย์ไว้เป็น 2 ประการ คือ อิทธิปาฎิหารย์ ฤทธิ์อันเป็นมหัศจรรย์ประการหนึ่ง อนุสาสนีปาฎิหารย์ คำสอนอันเป็นมหัศจรรย์ประการหนึ่ง

สำหรับอิทธิปาฎิหารย์นั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงยกย่องเท่ากับอนุสาสนีปาฎิหารย์ แม้กระนั้นก็ยังทรงแต่งตั้งให้พระโมคคัลลานะเถระไว้เป็นยอดของพระภิกษุ ผู้มีฤทธิ์และอิทธิปาฎิหารย์ สามารถแสดงฤทธิ์เดชได้เป็นอัศจรรย์ ตามทางในพุทธศาสนานี้ ที่แท้จริงก็ได้แก่สิ่งที่เราเข้าใจกันว่า ไสยศาสตร์ในปัจจุบันซึ่งผิดแผกไปจากไสยศาสตร์ในลัทธิพราหมณ์ และมีประโยชน์ที่สำคัญยิ่งต่อมวลพุทธศาสนิกชนทุกคน เพราะเป็นเครื่องน้อมนำให้มั่นคงในอานุภาพของคุณพระรัตนตรัย บันดาลให้หายจากความกลัวต่อภัยอันตรายต่างๆ มีคำของท่านโบราณจารย์ท่านกล่าวไว้ดังนี้

พุทธานุสสะติ อันว่าความตามระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้ามีคณานุภาพมากหลาย ห้ามกันเสียซึ่งความหวาดเสียวต่อภยันตรายต่างๆ มีพุทธภาษิตในธชัคคสูตร แสดงไว้ดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าความกลัวหรือความหวาดเสียว หรือขนพองสยองเกล้าเกิดแก่ท่านผู้ไปสู่ป่าก็ดี สู่โคนต้นไม้ก็ดี สู่เรือนเปลี่ยวก็ดี สมัยนั้นท่านทั้งหลาย พึงตามระลึกถึงเราอย่างนี้ว่า

" อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิสัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธภะคะวาติ "

เมื่อท่านทั้งหลายตามระลึกถึงเราอยู่ ความหวาดกลัวหรือความหวาดเสียว หรือขนพองสยองเกล้าจักหายไป เพราะตถาคตเป็นอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ไม่กลัวไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจ ไม่หนี

ตามระลึกถึงพระพุทธคุณ หรือการภาวนาคาถา "อิติปิโส" มีคุณานุภาพตามที่ท่านได้กล่าวมานี้ ฉะนั้นท่านโหราจารย์แต่ปางก่อน ท่านจึงได้น้อมนำเอาพระคาถา "อิติปิโส" มาประกอบกับดวงชะตาจัดทำเป็นดวงพิชัยสงคราม เพื่อสร้างศิริมงคลและคุ้มครองป้องกันอันตรายให้แก่เจ้าชะตา และเมื่อถีงคราวดวงชะตาเข้าสู่เกณฑ์ร้าย ตามที่เรียกว่า ต้องฆาตทั้งลัคน์และจันทร์ ก็ได้น้อมนำเอาพระพุทธคุณ และพระปริตมาเป็นคาถาสวดปัดเป่า บรรเทาเคราะห์ให้หายไปตามนัยแห่งเรื่อง "อายุวัฒณกุมาร" ซึ่งได้ยกมากล่าวอ้างไว้นั้น เพราะความสำคัญดังนี้ ในหลักสูตรการเรียนโหราศาสตร์ ท่านจึงบรรจุหลักการเกี่ยวกับการใช้คาถาอาคม สำหรับปัดเป่าเคราะห์ร้ายที่จะบังเกิดขึ้น ในดวงชะตาหรือเพื่อส่งเสริมดวงชะตา ให้ประสบความเจริญรุ่งเรือง เข้าไว้ในหลักสูตรชั้นสูงของวิชาโหราศาสตร์ ซึ่งท่านที่จะผ่านการเป็นโหรครบถ้วนสมบูรณ์แบบ จำเป็นจะต้องเล่าเรียนให้รู้ไว้ เพราะเป็นวิชาการใช้คาถาอาคม เลขยันต์ หรือที่เรียกว่า "ไสยศาสตร์ " นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เกี่ยวพันกับวิชาโหราศาสตร์อยู่ตลอดไป อาทิเช่น จะทำดวงพิชัยสงครามขึ้นสักดวงหนึ่ง ถ้าปราศจากความรู้ในทางไสยศาสตร์แล้ว ก็ไม้สามารถที่จะจารึกอักขระมนต์ในแผ่นดวงได้เลย

ตามที่ได้กล่าวถึงไสยศาสตร์มาแล้วนี้ กล่าวเฉพาะเพียงผิวเผิน แต่ถ้าจะกล่าวลงไป ให้ลึกซึ้งถึงแก่นของความจริงแล้ว คำว่า "ไสย" นั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า ประเสริฐ ฉะนั้น คำว่า ไสยศาสตร์ ก็คือ ศาสตร์อันประเสริฐ หรือวิชาอันประเสริฐนั่นเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากพลังสมาธิจิต ซึ่งจัดว่าเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักฟิสิกส์และเคมี ขอได้โปรดพิจารณาหลักการที่สำคัญในพระพุทธศาสนา จุดสำคัญอยู่ที่การอบรมสมาธิจิตเป็นหัวข้อใหญ่ ตามหลักพุทโธวาท ซึ่งทรงแสดงไว่ว่า
"สะมาธิ ภิกเวถะ สะมาหิโต ยะถาภูตังประชานาติ" แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงยังสมาธิให้เกิด ชนผู้มีจิตเป็นสมาธิ ย่อมรู้ตามความเป็นจริง

การอบรมจิตให้เป็นสมาธิ ตามหลักในพระพุทธศาสนา ดำเนินเป็นขั้นๆไป เริ่มตั้งแต่ฌาณก่อน เมื่อเจริญฌาณแก่กล้าแล้ว จึงเลื่อนอันดับเข้าถึงวิปัสสนาญาณ อันเป็นญาณอันดับต้นในวิชา 8 ประการ

การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงปาฎิหารย์ให้ปรากฎเห็นได้เป็นอัศจรรย์ ก็เพราะเหตุที่พระองค์ท่านทรงเพรียบพร้อมด้วยวิชา 8 ประการนี้ สมดังคาถาสรรเสริญถึงพระพุทธคุณที่ว่า "วิชชาจะระณะสัมปันโน" ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชา 8 และจะระณะ 15
วิชา 8 ประการ ตามที่กล่าวมา คือ

1 วิปัสสนาญาณ (ญาณอันนับเข้าไปในวิปัสสนา)
2 มโนยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ)
3 อิทธิวิธี (แสดงฤทธิ์ได้)
4 ทิพยโสต (หูทิพย์)
5 เจโตปริยญาณ (รู้กำหนดใจผู้อื่น)
6 ปุพเพนิวาสนุสสติ (ระลึกชาติได้)
7 ทิพยจักขุ (ตาทิพย์)
8 อาสวักขยญาญาณ (รู้จักกำจัดอาสวะให้สิ้นไป)


วิชาทั้ง 8 ประการ เมื่อตรวจดูแล้ว ในข้อที่ 6 คือ ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ การระลึกชาติได้ ทำให้นึกถึงวิชาโหราศาสตร์ โหราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สามารถใช้พยากรณ์เหตุการณ์ในปัจจุบันได้ สามารถจะพลิกฟื้นไปตรวจดูกรรมเก่าในอดีตชาติได้ และศาสตร์อันประเสริฐที่เกิดจากพลังทางสมาธิจิต หรือไสยศาสตร์นั้น ก็สามารถที่จะหยั่งรู้ถึงกรรมเก่าในอดีตชาติได้

ฉะนั้นศาสตร์ทั้งสองนี้ จึงเป็นสิ่งที่พัวพันกันอยู่ โดยมีท่วงทำนองความเป็นไปคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันที่ว่า สามารถหยั่งพยากรณ์ลงไปได้ตื้นลึกกว่ากันเท่านั้น ซึ่งพอที่จะอนุมานได้ว่า โหราศาสตร์ คือ บันไดขั้นแรกของไสยศาสตร์นั่นเอง
 :053: :053: :053:

ออฟไลน์ poommv41

  • ตติยะ
  • ***
  • กระทู้: 79
  • เพศ: ชาย
  • จะยอมตายหมายให้เกียติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
    • MSN Messenger - poommv41@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: ว่าด้วยเรื่อง...ไสยเวทย์อาคม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 15 ต.ค. 2551, 09:41:41 »
ขอบคุณครับ   อ่านไม่หมดอะนะ  555+ตาลาย

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)
ตอบ: ว่าด้วยเรื่อง...ไสยเวทย์อาคม
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 15 ต.ค. 2551, 10:00:56 »
ขอบคุณข้อมูลครับท่าน  :053: