ผู้เขียน หัวข้อ: ดูของดีที่"วัดใหญ่" ไหว้พระพุทธชินราชคู่เมือง 2 แคว  (อ่าน 5091 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด


พระพุทธชินราช พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก
 
 
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยนั้นมีอยู่หลายองค์ด้วยกันที่เป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในเมืองนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ ฯลฯ สำหรับจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างอย่าง "พิษณุโลก" หรือ "เมือง 2 แคว" นั้น "พระพุทธชินราช" ถือเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของคนในแถบนี้อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งนอกจากจะเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกแล้ว ก็ยังเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่ได้รับยกย่องว่ามีพุทธลักษณะที่งดงามเป็นหนึ่งในเมืองไทยอีกด้วย

นั่นจึงทำให้ทริปนี้ "ตะลอนเที่ยว" เลือกที่จะเดินทางมานมัสการพระพุทธชินราชที่ "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ" หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า "วัดใหญ่" วัดงามริมฝั่งแม่น้ำน่านแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่ากลางเมืองพิษณุโลก พร้อมชื่นชมของดีมากมายที่หลายคนไม่ค่อยรู้ในวัดแห่งนี้

 
 
พระพุทธชินสีห์องค์จำลอง
 
 
วัดใหญ่เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก หรือพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัยในสมัยนั้นทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้น พร้อมทั้งรับสั่งให้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์เพื่อประดิษฐานในพระวิหารทั้ง 3 หลัง ภายในวัด

พระพุทธรูปทั้งสามองค์นั้นก็คือ "พระพุทธชินราช" "พระพุทธชินสีห์" และ "พระศรีศาสดา" นั่นเอง พระพุทธรูปสามองค์นี้เรียกได้ว่าเป็นพระพี่น้องกัน เพราะสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน อีกทั้งยังมีพุทธลักษณะคล้ายกันอีกด้วย

 
 
พระศรีศาสดาองค์จำลอง
 
 
"ตะลอนเที่ยว" เข้ามากราบพระพุทธชินราชภายในพระวิหารเพื่อความเป็นสิริมงคลกันก่อน พระพุทธชินราชนั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ได้รับยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดองค์หนึ่งของประเทศ เส้นพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วที่คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา

แต่กว่าเททองหล่อพระพุทธชินราชออกมาได้งดงามขนาดนี้ก็มีอุปสรรคไม่น้อย โดยมีเรื่องเล่าต่อกันมาเมื่อคราวปั้นหุ่นพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ขึ้น ได้ใช้ช่างจากทั้งเมืองเชียงแสน เมืองสวรรคโลก และเมืองหริภุญชัย ช่วยกันปั้นขึ้น หุ่นพระทั้งสามองค์งดงามเป็นที่ยิ่ง แต่เมื่อถึงคราวเททองหล่อพระ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อออกมาได้สมบูรณ์งดงาม แต่องค์พระพุทธชินราชนั้นกลับเททองหล่อไม่สำเร็จ ทองแล่นไม่เสมอกันทั่วทั้งองค์ แม้จะปั้นหุ่นและเททองหล่อใหม่อีกหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ แต่ต่อมาได้มีชีประขาวคนหนึ่งมาช่วยปั้นหุ่นพระพุทธรูป ช่วยทำงานทั้งกลางวันกลางคืนจนกระทั่งเททองหล่อพระได้งดงามเป็นผลสำเร็จ ส่วนชีประขาวผู้นั้นต่อมาได้เดินหายออกจากประตูเมืองไปทางตำบลหนึ่ง ย่านนั้นจึงมีชื่อว่า บ้านตาประขาวหายมาจนถึงทุกวันนี้

 
 
พระอัฎฐารส  
 
แต่ที่พระพุทธชินราชยังคงความงดงามมาถึงปัจจุบันนี้ก็ได้มีการบูรณะองค์พระมาหลายครั้ง ทั้งในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แห่งกรุงศรีอยุธยา สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และล่าสุดก็มีการบูรณะองค์พระในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อปี 2547 ซึ่งการบูรณะครั้งนี้ก็เกิดกระแสว่าทำให้พระเกศขององค์พระหายไป รวมไปถึงพระพักตร์ของพระพุทธชินราชแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งก็อาจเป็นเพราะแสงและเงา ทำให้องค์พระดูแปลกไปก็เป็นได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ศรัทธาของผู้คนต่อพระพุทธชินราชลดน้อยลงไปเลย ภายในวิหารที่ "ตะลอนเที่ยว" เห็นอยู่นี้ก็ยังคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มากราบไหว้ท่านมากมาย

และเมื่อได้กราบสักการะพระพุทธชินราชเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมไปกราบสักการะพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาที่วิหารด้านหลังด้วย แต่ก่อนจะเดินออกจากวิหารไป ขอให้ลองสังเกตดูบานประตูประดับมุกอันงามวิจิตรด้วยลวดลายของสัตว์ในวรรณคดี ทั้งราชสีห์ ครุฑ กินรี ฯลฯ ว่ากันว่าเป็นบานประตูประดับมุกที่งามที่สุดในเมืองไทย

 
 
วิหารพระเหลือ
 
 
นอกจากความงามแล้ว ก็ยังมีของดีอยู่บนประตูประดับมุกสองบานนี้อีกด้วย นั่นก็คือ "นมอกเลา" หรือ "อกเลา" แผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่ใช้กั้นไม่ให้คนภายนอกงัดไม้คานที่พาดเพื่อลงกลอนประตูได้ มักพบเห็นอกเลาได้ตามบานประตูวัดและวังหรือบ้านเรือนไทยโบราณ รัชกาลที่ 5 เคยตรัสถึงอกเลาเมื่อเสด็จมานมัสการพระพุทธชินราชว่า "นี่แหละ ของวิเศษมีอยู่ที่นี่" เนื่องจากคนสมัยก่อนมักจะนำผ้าขาวมาวางทาบบนอกเลาแล้วซับด้วยหมึกให้ลวดลายของอกเลาประทับมาที่ผืนผ้า เป็นผ้ายันต์เพื่อนำติดตัวหรือติดบ้านไว้เป็นเครื่องราง และสำหรับผ้ายันต์อกเลาของวัดใหญ่นี้ เชื่อกันว่ามีคุณด้านป้องกันอัคคีภัย ดูจากที่วิหารพระพุทธชินราชรอดจากไฟสงครามมาได้หลายต่อหลายครั้ง และว่ากันว่า เมื่อเกิดไฟไหม้เมืองพิษณุโลกครั้งใหญ่ปี 2500 บ้านที่รอดพ้นจากเปลวเพลิงนั้นมีผ้ายันต์อกเลาติดบ้านไว้

เรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาไปกราบสักการะพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาที่วิหารด้านหลังกันแล้ว พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้วัดใหญ่นี้เป็นองค์จำลอง ส่วนองค์จริงนั้นปัจจุบันได้ย้ายไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์พระพุทธชินราชเองนั้นก็เกือบจะต้องมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เช่นกัน โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้เสด็จมาเยือนเมืองพิษณุโลก และทรงมีพระราชดำริจะอัญเชิญพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลกมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถที่วัดเบญจมบพิตรที่กำลังสร้าง แต่ชาวเมืองพิษณุโลกได้แสดงความหวงแหน เพราะทั้งพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกอีกสององค์ก็ได้ถูกอัญเชิญลงมายังพระนครแล้ว จึงได้กราบบังคมทูลยับยั้ง พระองค์จึงโปรดฯ ให้ช่างหล่อรูปจำลองของพระพุทธชินราชมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมฯแทน

 
 
พระพุทธเจ้าเข้านิพพาน อันซีนแห่งวัดใหญ่
 
 
นอกจากพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้แล้ว ที่วัดใหญ่ก็ยังมีพระพุทธรูปที่น่าสนใจอีกหลายองค์ ที่ "ตะลอนเที่ยว" ได้มีโอกาสไปสักการะมา เช่น "พระอัฎฐารส" อยู่ที่บริเวณด้านหลังพระวิหารพระพุทธชินราชมี พระอัฎฐารสเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ สูง 18 ศอก แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารขนาดใหญ่ แต่ตัววิหารได้พังไปจนหมดแล้ว เหลือเพียงฐานรากและเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่อยู่ไม่กี่ต้นเท่านั้น ต่อมาจึงเรียกบริเวณที่เคยเป็นวิหารนี้ว่าเนินวิหารเก้าห้อง

"วิหารพระเหลือ" บริเวณหน้าวิหารพระพุทธชินราช ก็มีที่มาน่าสนใจ โดยหลังจากสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว พระมหาธรรมราชายาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือนำมารวมกันหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก จึงเรียกพระองค์นี้ว่า "พระเหลือ" และยังเหลือเศษทองอีกเล็กน้อยจึงได้หล่อพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองหล่อพระพุทธรูปได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี และปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชีนั้น เรียกว่าโพธิ์สามเส้า ส่วนระหว่างต้นโพธิ์นั้นคือวิหารพระเหลือ ที่หลายคนเชื่อกันว่า หากได้มากราบไหว้แล้วจะมีเงินทองเหลือกินเหลือใช้สมชื่อของท่าน

 
 
พระปรางค์แห่งวัดใหญ่
 
 
ส่วนพระพุทธรูปในวิหารอีกหนึ่งแห่งที่ไม่ควรพลาดชมและกราบไหว้ นั่นก็คือ "วิหารพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน" ที่อ้างถึงพุทธชาดกตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน แต่ยังไม่สามารถถวายพระเพลิงพระบรมศพได้ เนื่องจากพระมหากัสสปะเถระ ซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญยังไม่ได้มากราบพระบรมศพของพระพุทธเจ้า และเมื่อพระมหากัสสปะเดินทางมาถึง พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงปาฏิหาริย์ ยื่นพระบาทออกมาจากหีบศพเพื่อให้พระมหากัสสปะและสาวกคนอื่นๆได้นมัสการพระบรมศพเป็นครั้งสุดท้าย ภายในวิหารพระพุทธเจ้าเข้านิพพานนี้เราจึงได้เห็นพระพุทธรูปปางที่มีหีบศพสีทอง และมีพระบาทพระพุทธเจ้ายื่นออกมา 2 ข้าง พร้อมด้วยสาวกมีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพอยู่รอบๆ ส่วนผู้ที่มาเยือนวิหารแห่งนี้ก็มักจะเข้าไปกราบที่พระบาทของพระพุทธเจ้าที่ยื่นออกมานั้นเช่นกัน

มาที่วัดเดียวแต่ได้กราบนมัสการพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ แต่ที่วัดใหญ่ก็ยังไม่หมดของดีเพียงเท่านี้ เพราะยังมี "พระมหาธาตุ" ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหลังพระอัฎฐารส รูปทรงเป็นแบบพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ สันนิษฐานว่าเดิมคงจะมีรูปทรงเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกบัวตูม) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ ต่อมาได้ถูกดัดแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา อีกทั้งภายในวัดก็ยังมี "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระพุทธชินราช" จัดแสดงข้าวของมีค่าของวัด นักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือน "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ" ที่เมืองพิษณุโลก จึงได้ทั้งความอิ่มใจในการทำบุญไหว้พระ และอิ่มเอมกับพุทธศิลป์และของล้ำค่าทั้งหลายภายในวัดใหญ่แห่งนี้

 
 
เครื่องถ้วยชามจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์

"วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร" ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก บนถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก หากนักท่องเที่ยวไหว้พระเสร็จแล้วจะนั่งรถรางชมเมืองพิษณุโลกก็มีรถรางให้บริการอยู่ภายในวัด รถรางพร้อมทั้งผู้บรรยายจะพาวิ่งชมสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมืองพิษณุโลก เช่น สถานีรถไฟ คูเมืองเก่า วัดวิหารทอง เนินอะแซหวุ่นกี้ เป็นต้น ใช้เวลาประมาณ 40 นาที มีรถรางให้บริการทุกวัน ค่าใช้จ่ายผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงก็ยังมีวัดสำคัญๆ อย่างวัดนางพญา วัดราชบูรณะ และไม่ควรพลาดชมพิพิธภัณฑ์บ้านจ่าทวี พิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งในตัวเมืองพิษณุโลก


 

ขอขอบคุณ...Travel - Manager Online

ออฟไลน์ A_hatyai

  • ฉัฏฐะ
  • *
  • กระทู้: 338
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
แล้ว " พระเหลือ " ที่เขาเล่ากันว่าเอาทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชมาหล่อเป็นพระอีกองค์ และ ตั้งชื่อว่า " พระเหลือ  " ไม่ทราบว่าประดิษฐานที่ใดครับ

ออฟไลน์ เด็กวัดหนัง

  • ของดีมาอยู่กับตัว จงรักษาไว้ ตามเท่าชั่วชีวิต.
  • ฉัฏฐะ
  • *
  • กระทู้: 453
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
    • MSN Messenger - P_1_P_2_880@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง2แควจริงๆครับ... :054:
พระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)

ออฟไลน์ ~เสน่ห์ack01~

  • ผู้คุมกฎ
  • *****
  • กระทู้: 5330
  • เพศ: ชาย
  • " ไม่เมาเหล้าแล้วเรายังเมารัก"
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณท่านธรรมะรักโขครับ วัดใหญ่มีอะไรมากกว่าที่รู้จักจริงๆครับ :016:

ทำบุญ วันคล้ายวันเกิด หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ
วันอาทิตย์ ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ 

ออฟไลน์ gottkung

  • จะหมึกหรือน้ำมันไม่สำคัญ จงตั้งมั่นให้อยู่ในความดี
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 4088
  • เพศ: ชาย
  • "จะลูกใครนั้นไม่สำคัญ เป็นศิษย์ฉันเท่ากันทุกคนไป "
    • ดูรายละเอียด
    • www.gottkung.multiply.com
ถ้ามีโอกาสคงได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อพระพุทธชินราชพร้อมกับถ่ายภาพสวยๆเก็บไว้บ้างครับ :001:
เราเป็นศิษย์คิดมีครูดูก่อนเถิด อย่าละเมิดคำครูที่พร่ำสอน
ปุถุชนคนธรรมดาพึงสังวรณ์ ครูท่านสอนมอบสิ่งดีแก่เราๆ