ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  (อ่าน 47735 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด


   

หลวงพ่อสุ่นพระอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระผู้เป็นพระอาจารย์สองพระเกจิ
อาจารย์ชื่อดังคือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ทั้งสองพระเกจิอาจารย์จัดว่าเป็นสุดยอดพระอาจารย์ดัง
ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเลยทีเดียว 

               หลวงพ่อสุ่นถึงแม้ชื่อเสียงท่านจะไม่โด่งดังเท่ากับศิษย์รักทั้ง 2 รูปที่กล่าวมานั้น แต่ในตัวหลวงพ่อเองจัดว่าเป็นพระอาจารย์ที่สำเร็จกรรมฐาน เป็นพระหมอยาที่มีชื่อเสียงมาก เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ ชาวอำเภอเสนา อำเภอบางบาล บางไทร และใกล้เคียงต่างก็เคารพรักศรัทธาในตัวท่านมาก
             
                ประวัติหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอนั้น แทบจะหารายละเอียดไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะว่าสมัยท่านไม่มีใครบันทึกเรื่องราวเอาไว้  และผู้ที่พอจะรู้เรื่องของหลวงพ่อบ้างต่างก็เสียชีวิตกันหมดแล้ว  จึงเป็นที่น่าเสียดายมากสำหรับชีวประวัติ เรื่องราวของพระอาจารย์ดังที่เก่งในด้านวิชาอาคมต่างๆ ไม่มีการเล่าขานให้กระจ่างชัดเท่าที่ควร
       
                หลวงพ่อสุ่น เป็นสมภารปกครองวัดบางปลาหมออยู่นานพอสมควร อันว่าวัดบางปลาหมอนั้น ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยทางด้านทิศเหนือ อยู่ในท้องที่หมู่ 6  ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางบาลประมาณ 15 กิโลเมตร ใกล้กับค่ายสีกุกหรือวัดสีกุก ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยที่กรุงศรีอยุธยายังทำศึกกับพม่า  พระเจ้าหงสาวดีได้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งยกเข้ามาตั้งค่ายที่สีกุก  เพื่อล้อมกรุงศรีอยุธยาเอาไว้แล้วเข้าโจมตีภายหลัง   
 
                เขตวัดบางปลาหมอขึ้นอยู่กับอำเภอบางบาล เป็นเขตแดนติดต่อกับตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดบางปลาหมอในอดีตเคยเป็นวัดที่รุ่งเรืองมาก่อน เพราะหลวงพ่อสุ่นท่านเป็นพระแก่กล้าทางวิทยาคมกอปรด้วยความเมตตา ท่านยังเป็นพระหมอช่วยผู้ที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยให้พ้นทุกข์เวทนา  อีกทั้งท่านยังเป็นพระนักพัฒนาทำนุบำรุงเสนาสนะหมู่กุฏิสงฆ์ให้เจริญรุ่งเรืองทางถาวรวัตถุอีกด้วย เหตุนี้จึงมีผู้ให้ความเคารพนับถือท่านมาก นัยว่ามีเจ้านายจากกรุงเทพฯ เคยมาพักที่วัดให้ท่านรักษาโรคด้วย 
             
                วัดบางปลาหมอสร้างขึ้นเมื่อใดใครเป็นผู้สร้างไม่ปรากฏหลักฐาน สันนิษฐานว่าคงสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ส่วนที่ได้ชื่อว่า “วัดบางปลาหมอ” นั้น สมัยก่อนมักนิยมเรียกขานชื่อหมู่บ้านตามภูมิประเทศ และสิ่งแวดล้อมละแวกนั้น ที่หมู่บ้านบางปลาหมอเป็นพื้นที่ลาดลุ่มน้ำท่วมถึง  เข้าใจว่าคงจะมีปลาหมอมากกว่าปลาชนิดอื่นๆ ชาว- บ้านจึงเรียกชื่อสภาพแวดล้อมตามที่เป็นอยู่ว่า “บ้านบางปลาหมอ”             



                มีผู้ใหญ่เล่าสืบต่อกันมาว่า “มีชาวบ้านบางปลาหมอทูลเกล้าฯ ถวายต้มปลาหมอแก่ในหลวงฯ” แต่ไม่ทราบว่ารัชกาลใด เมื่อมีการสร้างวัดขึ้นมา จึงใช้ชื่อตามหมู่บ้านเรียกขานกันว่า “วัดบางปลาหมอ” สภาพของวัดเริ่มแรกเข้าใจว่าพอจะเป็นที่บำเพ็ญกุศลในทางศาสนาได้เท่านั้น  แล้วมาต่อเติมภายหลังจนเป็นวัดที่รุ่งเรืองมาทุกวันนี้ 
           
                สำหรับหลวงพ่อสุ่นนั้นไม่ทราบว่าท่านมาจากไหน  เพราะไม่มีหลักฐานหรือคำบอกเล่าปรากฏเลย และจากการลำดับเจ้าอาวาสของวัดเท่าที่ทราบ ก็มีหลวงพ่อสุ่นเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก แต่ก่อนหน้านี้จะมีเจ้าอาวาสก่อนหลวงพ่อสุ่นอีกหรือไม่ก็ไม่ทราบได้  ลำดับเจ้าอาวาสต่อจากหลวงพ่อสุ่นก็มีหลวงพ่อจ้อย, เจ้าอธิการเชื้อ, พระอธิการณรงค์, พระครูสิริพัฒนกิจ จากวัดโคกเสือ มารักษาการเจ้าอาวาสอยู่พักหนึ่ง สมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆรักษ์สงุ่น ต่อมาก็เป็นพระอธิการอู๋, พระครูโกวิทวิหารการ (ประยุทธ ชินวัฒน์) เป็นเจ้าอาวาสมาจนปัจจุบันนี้ 
     
                หลวงพ่อสุ่น เป็นพระวิปัสสนากรรมฐานผู้ทรงอภิญญา  มีวิชาอาคมไสยเวทย์เปี่ยมล้น นอกจากนี้ยังเป็นพระหมอรักษาไข้ ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่สาธุชนทั่วไปอีกด้วย  ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสุ่น ที่ปรากฏและเล่าสืบต่อกันมามีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน จากบันทึกของ “พระราชพรหมญาณ” หรือ “หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” ลูกศิษย์รูปหนึ่งของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ได้บันทึกไว้ว่า  “หลวงพ่อสุ่นเป็นพระอุปัชฌาย์หลวงพ่อปาน  ครั้นหลวงพ่อปานบวชแล้วก็ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อสุ่น ที่วัดบาง- ปลาหมอ  เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมต่างๆ จากพระอาจารย์ ซึ่งหลวงพ่อสุ่นเองก็รักใคร่ ในตัวของหลวงพ่อปาน  ถ่ายทอดวิชาอาคม ต่างๆ ให้”    หลวงพ่อปานนั้น  มีความรักอยากจะเรียนทางหมอรักษาคนไข้  แต่หลวงพ่อสุ่นอยากให้ศิษย์รักรับวิชาอาคมต่างๆ เอาไว้ด้วย  ดังนั้นการเรียนการสอนจึงมีทั้งไสยเวทย์และทางหมอยาควบคู่กันไปด้วย   
           
                หลวงพ่อสุ่นท่านสำเร็จทางด้านกสิณ ท่านก็ให้หลวงพ่อปานเรียนกสิณให้เรียนทางวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งหลวงพ่อปานท่านก็ตั้งใจมานะศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์จนสำเร็จอภิญญาได้กสิณต่างๆ จนครบ ทั้งวิปัสสนากรรมฐานท่านก็ได้มา การเรียนวิชาของหลวงพ่อปานใหม่ๆ นั้น หลวงพ่อสุ่นท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ไว้ให้ปรากฏหลายอย่างเช่น วันหนึ่งหลวงพ่อสุ่นท่านให้หลวงพ่อปานรดน้ำมนต์ให้คนไข้  หลวงพ่อปานเห็นน้ำมนต์ในตุ่มเหลือน้อยแล้ว ก็จะไปตักน้ำมาทำน้ำมนต์เพิ่มอีก หลวงพ่อสุ่ท่านก็ห้ามไว้ท่านบอกว่า “ไม่ต้องไปตักหรอกปานเอ๊ย พ่อตักไว้ให้แล้วรดไปเถอะ”     
     
                หลวงพ่อปานตักน้ำมนต์ในตุ่มรดคนไข้ ซึ่งหลวงพ่อปานเองมาเล่าให้ฟังภายหลังว่า วันนั้นรดน้ำมนต์ให้กับคนไข้ประมาณ 50 คน น้ำในตุ่มยังยุบไม่ถึงคืบ ตุ่มนั้นก็เป็นตุ่มเล็กๆ พอตอนหลังท่านไปถามหลวงพ่อสุ่นก็ได้รับคำ ตอบว่า “พ่อเอาใจตักแล้ว” จากนั้นท่านก็สอนวิชาใช้คาถาตักน้ำให้หลวงพ่อปาน ก็คือวิชาอาโปกสิณนั่นเอง
     
                หลวงพ่อสุ่นเป็นพระที่มีวิชาอาคมสูงมาก ท่านจะตรวจดูด้วยญาณทิพย์ของท่านเสมอ ก่อนที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แล้วก็รักษาตามโรคนั้น  ผู้ป่วยที่มาให้หลวงพ่อรักษาจะหายกลับไปทุกราย ยกเว้นผู้นั้นไปไม่ไหวถึงฆาตจริงๆ ก็ช่วยไม่ได้  ในเรื่องของอิทธิฤทธิ์ต่างๆ นั้น ท่านมักจะไม่ทำให้ผู้ใดเห็นเกรงว่าจะกลายเป็นพระผู้อวดคุณวิเศษไป  นอกจากหลวงพ่อปานที่ขณะเรียนวิชาอยู่กับท่านเท่านั้น  หลวงพ่อสุ่นอยู่วัดท่านก็ทำนุบำรุงซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ ไปเรื่อยๆ ต่อเติมสิ่งที่ชำรุดไปทีละอย่างสองอย่างตลอด 

               ปัจจัยที่ญาติโยมให้มาจากการรักษาโรคท่านก็นำมาซ่อมสร้างวัด จะปรากฏชัดเมื่อปลายๆ สมัยหลวงพ่อสุ่นประมาณปี พ.ศ.2403 ได้มีการก่อสร้างครั้งใหญ่อันมีหลวงพ่อสุ่น คณะสงฆ์ ทายกทายิกา ชาวบ้านต่างก็ร่วมมือกันทำนุบำรุงวางแผนผัง ก่อสร้างเสนาสนะภายในวัดต่างๆ กันใหม่ก็มีอุโบสถ มีลักษณะเป็นศิลปะแบบไทย ภายในมีภาพเขียนเรื่องราวประวัติของพระพุทธเจ้าฝีมือวิจิตรบรรจงสวยงาม  ส่วนพระประธานพุทธลักษณะงดงาม  ปัจจุบันทางวัดรื้อโบสถ์เก่าออก แล้วสร้างใหม่ขึ้นแทนเพราะของเก่าชำรุดทรุดโทรมเต็มที   
             
                วิหารพระพุทธไสยาสน์ อยู่หน้าอุโบสถ ศาลาการเปรียญเป็นเสาไม้แบบไทยๆ สร้างใหม่ของเดิมสร้างเมื่อ พ.ศ.2494 ประดิษฐานรูปปั้น “บรมครูแพทย์ชีวกโกมารทัต” ด้วย ในยุคของหลวงพ่อสุ่นนั้น  นอกจากท่านจะช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ประชาชนทั่วไปแล้ว ท่านยังเป็นพระเถระผู้มีความสามารถในทางเทศนาอบรมสั่งสอนสาธุชนอีกด้วย  ท่านจะขึ้นเทศน์บนศาลาการเปรียญ ชาวบ้านทั้งไกลและใกล้จะเดินทางมาฟังธรรมจากท่านเป็นจำนวนมาก  และก็มาอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดก็ไม่ใช่น้อย     
     
                วัดบางปลาหมอสมัยนั้นรุ่งเรืองมีผู้คนเข้าออกวัดแต่ละวันเป็นจำนวนมาก  มีทั้งไปปฏิบัติธรรมและไปรักษาไข้ หลวงพ่อสุ่นท่านละสังขารเมื่อปี พ.ศ. อะไรไม่ปรากฏแน่ชัด นับว่าเป็นการสูญเสียพระอาจารย์รูปสำคัญของชาวบ้านย่านบางปลาหมอเลยทีเดียว  ครั้นเมื่อสิ้นหลวงพ่อสุ่นไปแล้ว พระอธิการรูปต่อๆ มาขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทนวัดบางปลาหมอก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนยุคของหลวงพ่อสุ่น  บางระยะวัดแทบจะร้างไปเลยก็มี เสนาสนะต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมพังเป็นส่วนใหญ่  จนกระทั่งท่านพระครูโกวิทวิหารการ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเข้ามารับหน้าที่แทน ท่านก็ระดมกำลังทั้งสติปัญญาและแรงกายบูรณะวัดให้ฟื้นขึ้นใหม่ จนกระทั่งวัดเข้ารูปรอยเดิมและรุ่งเรืองยิ่งกว่าเดิม 

                พระครูโกวิทวิหารการ เดิมชื่อประยุทธ ชินวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 บิดาชื่อสุนทร  มารดาชื่อนางขาวผ่อง ชินวัฒน์  เป็นชาวตำบลน้ำเต้า อุปสมบทเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2512 ที่วัดโคกเสือ ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มี พระครูอดุลวรวิทย์(พระอดุลธรรมวาที) วัดบางซ้ายใน ตำบลเต่าเล่า อำเภอบางซ้าย อยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิหารกิจจานุยุต วัดบางนมโคเป็นพระอนุสาวนาจารย์  และพระครูสิริพัฒนกิจ วัดโคกเสือ อำเภอเสนา เป็นพระกรรมวาจาจารย์   
     
                พระครูโกวิทวิหารการ เข้าศึกษาเล่าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนวัดน้ำเต้า  จนจบชั้น ประถมปีที่ 4 หลังจากนั้นก็อุปสมบทแล้วก็ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมวินัย จนสอบได้นักธรรมโทเมื่อปี พ.ศ.2514 ที่สำนักเรียนวัดโคกเสือ  ต่อมาปี พ.ศ.2519 ได้มารักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ และขึ้นเป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520  เมื่อท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ก็พัฒนาวัดบางปลาหมอเป็นการใหญ่  จนทุกวันนี้วัดบางปลาหมอสวยงามเจริญรุ่งเรือง  นับว่าท่านเป็นพระนักพัฒนาอีกรูปหนึ่ง ที่สามารถบูรณะวัดที่ชำรุดทรุดโทรมมากให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ 

                สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อสุ่นนั้น เท่าที่สอบถามและค้นพบมา ทราบว่าท่านได้ จัดสร้างพระเนื้อดิน 3 แบบคือ พิมพ์กลีบบัว,พิมพ์กลีบบัฟันปลา, พิมพ์กลีบบัวปลายแหลม  เป็นพระที่หายากมาก ชาวบ้านบางปลาหมอให้ความนับถือ ใครมีต่างก็หวงแหนอย่างที่สุด  เพราะมีประสบการณ์มากมายในเรื่องของความคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย คุ้มครองเคหะสถานบ้าช่อง เรื่องลมพายุนั้น เล่ากันว่าใครมีพระเครื่องของหลวงพ่อสุ่น สามารถป้องกันภัยจากลมพายุฝนฟ้าคะนองได้ดีเยี่ยม เรื่องแคล้วคลาดคงกระพันชาตรีก็ไม่เป็นรองใคร วัตถุมงคลของหลวงพ่อสุ่นนั้นมีคนรู้จักน้อยมาก  เพราะชื่อเสียงท่านไม่ขจรขจายเป็นเพียงพระเกจิอาจารย์ดังในท้องถิ่น พระแต่ละรุ่นมีดังนี้ 
             
                พระพิมพ์กลีบบัว เล่าว่าปี พ.ศ.2494 เจดีย์องค์หน้าโบสถ์หลังใหม่ สร้างสมัยหลวงพ่อสุ่นเกิดแตกร้าว กรุพระเครื่องเนื้อดินเผาที่หลวงพ่อสุ่นสร้างบรรจุไว้แตกออกมา ชาวบ้านพบเห็นเข้าจึงเก็บเอาไปมากบ้างน้อยบ้าง พอทางวัดทราบเรื่องกรุพระกลีบบัวแตกก็รีบไปเก็บมารักษาไว้ แต่ก็เหลืออยู่ไม่เท่าไหร่แล้ว ลักษณะของพระพิมพ์กลีบบัว เป็นทรงแบบกลีบบัว เนื้อพระสีแดง แบบพระเนื้อดินเผาทั่วไป กับอีกสีหนึ่งคือสีดำเนื้อละเอียด พุทธลักษณะด้านหน้าเป็นองค์พระปฏิมานั่งปางสมาธิเพชร พระพักตร์กลม ไม่มีพระเนตรและพระโอษฐ์ ลักษณะลำพระองค์กลมหนา พระชานุ(เข่า) โตทั้งสองข้าง ไม่มีอาสนะเนื้อพระแห้งสนิทอัดแน่น 

               พระพิมพ์กลีบบัวฟันปลา กรุแตกออกมาเมื่อครั้งที่พระครูโกวิทวิหารการ  เจ้าอาวาสทำการรื้อวิหารพระพุทธไสยาสน์องค์เล็กที่ชำรุดทรุดโทรมสมัยหลวงพ่อสุ่นสร้างไว้  ทางวัดต้องการบริเวณที่ดังกล่าวสร้างฌาปนสถาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2528 ปรากฏว่าพบพระพิมพ์กลีบบัวฟันปลา  บรรจุอยู่ในตุ่มใบเล็กๆ ตรงช่วงหมอนรองรับพระเศียรของพระพุทธไสยาสน์ในตุ่มมีพระ อยู่  300 องค์เท่านั้น  ท่านเจ้าอาวาสจึงเอาออกมาให้แก่ผู้ที่มาขอบูชา  รายได้ทั้งหมดนำไปตั้งเป็นกองทุน “มูลนิธิหลวงพ่อสุ่น” และพระก็หมดไปเพียงไม่กี่วันเท่านั้น 
 
                ลักษณะพระพิมพ์กลีบบัวฟันปลานี้คล้ายกับพิมพ์กลีบบัว แต่ด้านบนสุดจะป้านไม่แหลมเหมือนกลีบบัว เรียกว่าไม่ได้ตัดกรอบพิมพ์นั่นเอง  ฐานล่างใต้อาสนะเป็นกลีบบัวเล็กๆ สลับกัน องค์พระอวบหนา พระชานุโต(เข่า) พระพิมพ์กลีบบัวปลายแหลม คล้ายพิมพ์กลีบบัวเนื้อพระออกแห้ง สีนั้นบางองค์ออกแดงออกเหลืองบางองค์ก็มีดำแทรกเนื่องจาก เวลาเผาพระสุดแล้วแต่ว่าองค์ไหนจะอยู่ใกล้ไกลไฟเผามากน้อยแค่ไหน พระจะปรากฎคราบกรุจากดินปลวกบ้างประปราย แต่บางองค์ก็ไม่มี นอกจากพระเนื้อดินที่หลวงพ่อสุ่นจัดสร้างขึ้นมาแล้ว ทางวัดบางปลาหมอยังได้จัดทำเหรียญของหลวงพ่อสุ่นออกมาอีกหลายรุ่น เหรียญรุ่นแรกทำเมื่อปี พ.ศ.2508 เป็น เหรียญเสมาหลวงพ่อสุ่นเนื้อทองแดงเหรียญนี้

                ท่านพระครูสิริพัฒนกิจ วัดโคกเสือสมัยที่มารักษาการเจ้าอาวาส ตอนนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆรักษ์สงุ่น เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นมา มีเนื้อเงินกับเนื้อทองแดง ต่อมาปี พ.ศ.2520 เมื่อ ครั้งที่พระครูโกวิทวิหารการ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดบางปลาหมอ อย่างเป็นทางการ ท่านก็ได้จัดสร้างเหรียญเสมาเนื้อทองแดงขึ้นมาเป็นที่ระลึก ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อสุ่นนั่งเต็มตัว ด้านหลังเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นเหรียญสองหน้าสวยงามมาก 
       
                ในปี พ.ศ.2526 ทางวัดจัดสร้างเหรียญขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง เป็นเหรียญที่ระลึกหารายได้ บูรณะซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์ เป็นเหรียญอาร์มเนื้อทองแดง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อสุ่น ครึ่งองค์ด้านหลังเป็นยันต์ระบุวันที่จัดสร้าง 13 พฤศจิกายน  2526 
   
                ปีพ.ศ. 2532 จัดสร้างรูปหล่อหลวงพ่อสุ่น เนื้อทองแดงหน้าตัก 5 นิ้ว และรูปหล่อชุด 3 คณาจารย์มีหลวงพ่อจง หลวงพ่อสุ่น และหลวงพ่อปาน นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อลอยองค์เล็ก เนื้อเงินแท้กับเนื้อทองแดง และเหรียญ 5 เหลี่ยมเนื้อทองแดงอีก 1 ชุด วัตถุมงคลที่กล่าวมาทั้งหมดขณะนี้แทบไม่มีแล้ว โดยเฉพาะพระเนื้อดินหายากมาก ใครพบเห็นที่ไหนเก็บไว้ให้ดีๆ เถิด จะเป็นสิริมงคล แก่ตนเองยิ่งนัก 
             
                วัดบางปลาหมอการคมนาคมสมัยก่อน จะต้องนั่งกระเช้าข้ามแม่น้ำน้อยไปวัด สมัยนี้ทางรถเข้าถึงวัดแล้ว  ตั้งต้นสี่แยกเสนา จากปทุมธานี เรื่อยไปถึงสี่แยกเสนาจะมีไฟเขียวไฟแดงให้ตรงไปข้ามสะพานข้ามแม่น้ำน้อยแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนเข้าหมู่บ้านประมาณ 4 กิโลเมตรถึงวัด  แต่ถ้าถึงสี่แยกเสนาตรงไฟเขียวไฟแดงแล้วเลี้ยวขวาไปทางอยุธยา  จะผ่านปากทางเข้าวัดบางปลาหมอเลยไปประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงทางเข้าวัด ไปทางนี้ต้องจอดรถเอาไว้แล้วไปขึ้น กระเช้าข้ามแม่น้ำน้อยเข้าวัด   
                                                             
 


               
ขอขอบคุณที่มา...http://www.mongkolsoros.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=120

ออฟไลน์ pepsi

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 325
  • เพศ: ชาย
  • ทําดี คิดดี พูดดี
    • ดูรายละเอียด
    • http://sbntown.com/forum/group.php?groupid=33
ชอบคุณครับ ในเนื้อหาดีๆของเกจิอาจารย์
กาลเวลาเป็นเครื่องชี้ตัวตนแห่งคน

ออฟไลน์ yout

  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 1742
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณครับ........ :090: :090: :114: :090: :090:.........

ออฟไลน์ A-Bangpra

  • ตติยะ
  • ***
  • กระทู้: 47
  • เพศ: ชาย
  • ศรัทธาเหนือความเจ็บปวด
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
หลวงพ่อสุ่น ที่สุดแห่งปฐพีไทย คือมีดหมอ ท่านสร้างเพื่อแจกให้กับชาวบ้านเนื่องด้วยสมัยนั้นมีโจรมาปล้นบ่อย ตามตำนานว่ากันว่าใครที่มีของดีอะไรก็เข้าเมื่อเจอมีดหลวงพ่อสุ่น สร้างไม่เกิน 100 เล่ม ถือเป็นสุดยอดอันดับ 1 ของมีดหมอ

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
กราบนมัสการหลวงพ่อสุน สุนทโร ครับ. 
ตอนนี้ใครที่จะไปกราบนมัสการหลวงพ่อสุ่น ง่ายแล้วครับ เพราะสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำน้อยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขับรถข้ามไปได้เลยสะดวกสบาย  ท่านศักดิ์สิทธิ์มากๆเลยนะ จะบอกให้ ใครไม่มีประสบการณ์ด้วยตัวเองไม่รู้หรอกครับ.  เอาไว้งวดหน้าผมจะมาเล่าให้ฟ้งนะครับ.

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
เอ๊ะ...รูปภาพไปไหน? ลองดูใหม่นะ.

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ขออีกครั้งนะครับ...ถ้าภาพยังไม่มาอีกขอผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยครับ.

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
วิธีโพสรูปลงบอร์ด...ลองศึกษาดูตามลิงค์ข้างล่างนี้ครับ...
http://www.bp.or.th/webboard/index.php/topic,2148.html

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ขอบคุณครับเดี๋ยวดึกๆจะลองดู ตอนนี้ขอทำงานก่อน.

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล


รูปหล่อหลวงพ่อสุ่น ที่มณฑปวัดบางปลาหมอ

ขอบคุณท่าน"ธรรมะรักโข" ที่ชี้แนะครับ.

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
หลวงพ่อสุ่น ท่านเป็นพระที่ยากต่อการค้นคว้าประวัติ ได้ยินแค่คำบอกเล่าจากเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันว่า ท่านเป็นคนในพระราชสำนักมาก่อนจากหลักฐานที่พอจะสัณนิษฐานได้ แต่ท่านเบื่อก็เลยหันมาทางธรรม.

ลายมือท่านสวยมากครับ จากการที่ได้เห็น(18 มีนาคม 2550)ในคัมภีร์ใบลานที่ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนำมาให้ชม.

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ท่านพระมหาประเสริฐ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันรูปนี้ได้เล่าให้ฟัง ถึงเรื่องราวของหลวงพ่อสุ่น ว่าหลวงพ่อสุ่นนั้นเป็นสหธรรมิก(เพื่อน) กับหลวงพ่อปั้น วัดพิกุลโสคัณธ์ (ข้างวัดพระขาว) เมื่อเวลาที่หลวงพ่อปั้น แจวเรือผ่านหน้าวัดบางปลาหมอ หลวงพ่อสุ่น ก็จะทักทายหลวงพ่อปั้น ว่า เอ้า...ท่านจะไปไหนล่ะ? หลวงพ่อปั้นบอกว่าจะไปในเมือง  หลวงพ่อสุ่น จึงพูดต่อว่า แล้วทำไมไม่ไปหล่ะ รออะไรอยู่ หลวงพ่อปั้น ก็พูดว่า ก็ท่านมาขวางไว้จะไปได้อย่างไรเล่า หลวงพ่อปั้นก็ถามหลวงพ่อสุ่น เช่นกันว่า แล้วท่านทำอะไรอยู่เหรอ หลวงพ่อสุ่น จึงว่า กำลังจะกินหมากน่ะ หลวงพ่อปั้น จึงพูดต่ออีก แล้วทำไมไม่ตำซะทีหล่ะ หลวงพ่อสุ่น บอกว่า จะตำได้ยังไงหล่ะ ก็ท่านขัดไว้เหมือนกันนี่.

ท่านมหาประเสริฐ (ท่านน่าจะอายุราวๆ 60 เห็นจะได้) บอกว่า เมื่อสมัยก่อนนั้น พระอุปัชฌาย์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีแค่ 4 รูปเท่านั้นเอง แล้วหลวงพ่อสุ่น ก็คือ 1 ใน 4 ครับ.

ออฟไลน์ ArDET

  • ตติยะ
  • ***
  • กระทู้: 63
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
นมัสการหลวงพ่อสุ่น ครับ.

ครั้งแรกเลยที่ไป วัดบางปลาหมอ ผมเองก็ยังไม่ได้สนใจเรื่องพระเครื่องหรือวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังหรอก แต่ก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้น (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ไปไหว้พระตามวัดวาอารามบ้าง ก็ไม่ได้สนใจ) เรื่องมีอยู่ว่า.....

วันที่ 18 มีนาคม 2550 ภรรยาได้ชวนไปวัดบางปลาหมอ แต่ไม่รู้หรอกว่าอยู่ตรงไหน รู้เพียงว่าอยู่พระนครศรีอยุธยา เพราะว่าได้ฟังจากรายการวิทยุตอนกลางคืนโดยคุณ"ปัญจศรี" ที่เล่าถึงเรื่องราวหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร ซึ่งมีหลวงพ่อสุ่น เป็นพระอาจารย์.

ภรรยาจึงพูดกับผมว่า ขนาดลูกศิษย์(หลวงพ่อปาน) ยังเก่งขนาดนี้ แล้วหลวงพ่อสุ่น ผู้เป็นอาจารย์จะเก่งขนาดไหน ก็เลยเกิดความศรัทธาจึงเดินทางไปกราบนมัสการท่าน โดยถามทางชาวบ้านมาเกือบตลอดทาง พอมาถึงวัดแล้ว ก็รับประทานน้ำแข็งไสก่อน เพราะร้อนมาก(ประมาณบ่าย2โมงกว่าๆ) จากนั้นภรรยา,คุณอา,ลูกสาวคนโตและเพื่อนบ้าน ได้ถามร้านค้าว่าจะไปกราบหลวงพ่อสุ่นได้ตรงไหน ทางร้านค้าก็ชี้ให้ดูว่า นั่นไง มณฑปท่าน โดยชี้ไปทางขวามือให้ขึ้นไปตรงนั้นหรือจะเดินผ่านกุฏิท่านเจ้าอาวาสก็ได้ ภรรยาจึงเดินไปทางขวา โดยไม่ผ่านกุฏิท่านเจ้าอาวาส(ไม่อยากผ่านเพราะถ้าเจอท่านแล้ว จะคุยกับพระไม่เป็น)แล้วบอกผมว่าเดี๋ยว มาเจอกันที่รถ ส่วนผมกับลูกสาวคนเล็กก็แยกไปถวายซีดีสวดมนต์กับท่านเจ้าอาวาส แต่ยังไม่ทันจะเดินไป(เพราะน้ำแข็งไสยังไม่หมดถ้วย) ก็เห็นภรรยา,คุณอา,ลูกสาวคนโตและเพื่อนบ้าน เดินย้อนกลับมาจากทางขวามือ ก็สงสัยอยู่ในใจว่า"ไหนบอกว่าจะขึ้นทางโน้นเลย ไม่อยากผ่านกุฏิท่านเจ้าอาวาส แต่ก็ยังเดินผ่านอยู่ดี" แต่ก็ไม่ได้ถาม ผมรีบไปถวายซีดีสวดมนต์ให้กับท่านเจ้าอาวาส ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ให้ไปกราบหลวงพ่อสุ่นก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยมาคุยกัน (พอดีท่านมีแขกอยู่2-3คน) หลังจากกราบหลวงปู่ที่มณฑปเสร็จแล้วก็ถามกับลูกสาวคนโตว่า "ไหนแม่บอกว่าจะขึ้นทางโน้นเลย ไม่เดินผ่านหน้ากุฏิหลวงพ่อ แล้วเดินย้อนกลับมาทำไม" ลูกสาวคนโตบอกว่า ไม่มีทางขึ้น เป็นกำแพง(ศาลาการเปรียญ)สูงทึบยาวตลอดแนวเลย ไม่มีทางขึ้น จึงได้เดินย้อนกลับมานี่ไงหล่ะ. ผมก็ชี้ไปที่บันได แล้วพูดว่า นั่นไม่ใช่บันไดหรอกหรือ มันจะไม่มีทางขึ้นได้ยังไงกัน ลูกสาวคนโต บอกว่าก็ที่เดินไปไม่เห็นบันไดจริงๆ ทั้ง 4 คนพูดเหมือนกันหมด
  จากนั้นก็ไปพบท่านเจ้าอาวาส ได้ถวายซีดีสวดมนต์ ท่านเจ้าอาวาสได้ให้รูปหลวงพ่อสุ่น ตอนมรณภาพ(นอนตะแครง) ท่านบอกว่าชาวต่างชาติ(สิงคโปร์ ,ฟิลิปปินส์)เคารพนับถือมาก ผมจึงถามว่าเอาไว้ในกระเป๋าสตางค์ได้มั๊ย? ท่านบอกว่าได้ และยังได้ให้เหรียญเสมาปี 2508 มาอีก(อาจจะปั๊มออกมาเพิ่มทีหลังอีก เพราะใหม่เหลือเกิน ) พร้อมกับพระเนื้อผงรูปเหมือนหลวงพ่อสุ่น หลังยันต์เกราะเพชร ปี2537 ท่านบอกว่าต้องเก็บซ่อนในกล่องไม้เปลี่ยนแม่กุญแจใหม่อยู่เรื่อย เพราะชอบมีคนมาขโมยไปขาย จากนั้นก็ลาหลวงพ่อเจ้าอาวาสกลับบ้าน.

เช้าวันที่19 มีนาคม 2550 ผมไปทำงานตอนเช้า ขับรถด้วยความเร็วประมาณ 80-90 กิโลเมตร/ชั่วโมง มาถึงทางตัดใหม่บางไผ่ ฝนเริ่มตกแรง ผมกำลังขับรถมอเตอร์ไซด์ลงทางลาดพอดี ด้วยเกรงว่าโทรศัพท์มือถือจะเปียกฝน จึงเบรครถทั้งที่คิดเสมอว่า ถ้าฝนเพิ่งเริ่มตกอย่าเบรคโดยทันทีทันใด เพราะจะทำให้รถล้มได้ แต่การกระทำไวกว่าความคิด ผลสรุปว่า รถล้มกลิ้งไม่เป็นท่า ศีรษะไถลพื้นไปพอประมาณ ล้อหน้าคด โช๊คคด แฮนด์เบี้ยว แต่ร่างกายมีรอยแผลถลอกที่ตาตุ่มขวาและข้างหัวเข่าขวา เลือดออกแค่ยางบอนเท่านั้นเอง. ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์เมื่อวานนี้ที่วัดบางปลาหมอ แล้วรูปท่านที่ได้รับมาผมได้ไว้ในกระเป๋าสตางค์แค่นั้นเอง ไม่มีวัตถุมงคลอื่นใดเลย แล้วผมก็ขับรถไปทำงานต่อแบบคดๆอย่างงั้นแหละ รอตอนเย็นออกเวร จึงไปหาที่ซ่อม มาถึงร้านซ่อมตีราคาค่าซ่อมที่ 1,600.-

ผมกลับบ้านมาคุยกับภรรยาว่า "หลวงพ่อสุ่น ท่านคงรู้ว่า เช้าวันที่ 19มี.ค.50 นี้ผมต้องได้รับอันตรายแน่ จึงดลบันดาลไม่ให้ภรรยาผมเห็นบันไดทางขึ้นมณฑปทางโน้น ยังไงต้องให้มาพบเจ้าอาวาสด้วย เพื่อที่จะได้รูปภาพตอนมรณะไปไว้ติดตัว เพื่อผ่อนหนัก ให้เป็นเบา  ผมจึงคุยกับภรรยาว่า งั้นจัดทอดผ้าป่า(ได้ยินท่านคุยกับแขกเรื่องทอดผ้าป่า ตอนที่กำลังจะไปกราบหลวงพ่อสุ่น) สร้างเขื่อนที่วัดบางปลาหมอ 1 กอง (ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 ได้เงินทั้งสิ้น สี่หมื่นแปดพันกว่าบาท.)




ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
นี่เป็นภาพบรรยากาศวันทอดผ้าป่าที่วัดบางปลาหมอ เมื่อ 5 พฤษภาคม 2550 (ผมใส่เสื้อเบอร์10ครับ)

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2551 ท่านเจ้าอาวาส เมตตานำที่ตำหมากของหลวงพ่อสุ่น มาให้ชม ผมจึงขออนุญาตถ่ายรูปไว้เพื่อเป็นศิริมงคลครับ.

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ขออนุญาตนำเรื่องราวบางตอน ของหลวงพ่อฤษีลิงดำ ที่ได้เขียนลงไปในหนังสือสนทนาธรรม มาให้ได้อ่านกันครับ.
... สำหรับ หลวงพ่อสุ่น นั้น คงจะทราบประวัติมาบ้างแล้ว ในหนังสือ "ประวัติหลวงพ่อปาน" หลวงพ่อสุ่นองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ มีความเคารพมาก

- มีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จไปจอดเรืออยู่หน้าวัด มองเห็นนกกระยางบินผ่านมาหน้าวัด ก็ยกพระแสงปืนยิง ปรากฏว่ายิงไม่ออก แล้วผลที่สุดจะหันปากกระบอกปืนไปทางไหนอากาศบริเวณวัดทั้งหมดนั้นยิงไม่ออก พระองค์มีความสงสัยเลยขึ้นไปหาท่านเจ้าอาวาส สมัยนั้นคือหลวงพ่อสุ่น

หลวงพ่อสุ่น เลยบอกว่า "อย่าว่าแต่อากาศเลย อะไรในวัดก็ยิงไม่ออกทั้งนั้น"

หลวงพ่อสุ่น ท่านบอกว่า "เป็นอำนาจพุทธานุภาพ" พระองค์ได้ฟังอย่างนั้นก็ปลื้มใจ เกิดปิติและมีความมั่นใจ ก็เลยถามว่า

"ถ้ากระผมอยากเป็นคนยิงไม่ออกบ้าง จะได้ไหมครับ?" ท่านก็บอกว่าได้ "ได้! แต่ต้องรับปากเสียก่อนว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในเขตบริเวณวัดทั้งหมด จะไม่ทำอันตรายต่อสัตว์ จะไม่ละเมิดของสงฆ์" ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ก็รับคำ แล้ว หลวงพ่อสุ่น ก็ขอพระแสงปืนประจำตัว เป็นปืนเล็กๆ กระบอกหนึ่ง เอามาเสกๆ แล้วก็ส่งให้

ท่านบอกว่า "นับตั้งแต่บัดนี้เป้นต้นไป ถ้าพระองค์ติดพระแสงปืนกระบอกนี้อยู่ละก้อ ยิงไม่ออก อาวุธทุกอย่างทำอะไรพระองค์ไม่ได้"

พระองค์ก็บอกว่า "อาวุธทุกอย่างอาจจะไม่ได้ติดตัวในบางขณะ และผมอยากจะให้ติดตัวผมเองไม่มีอันตรายจากอาวุธ"

หลวงพ่อสุ่นก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้น ก็ก้มพระเศียรมา"

ในหลวงท่านก็ก้มพระเศียรลงไป หลวงพ่อสุ่น ก็ลงกระหม่อมให้ แล้วก็บอกให้มหาดเล็กลองยิง ให้ยิงเดี๋ยวนั้น ปรากฏว่ายิงไม่ติด ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ ๖ มีความเลี่อมใสมาก

- นี่เป็นปฏิปทาอีกตอนหนึ่ง ของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของ หลวงพ่อปาน ที่นำประวัติของพระคู่สวด (หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล) และพระอุปัชฌาย์ของ หลวงพ่อปาน มาเล่าให้ฟัง ก็เพื่อจะได้ทราบว่า คนมีบุญญาธิการสูง มีบารมีมากอย่างหลวงพ่อปาน ท่านจึงพบแต่ครูบาอาจารย์ที่ดี มีความเป็นพระจริงๆ มีความเคร่งครัด มีศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิตั้งมั่น มีวิปัสสนาญาณแจ่มใส มีความรู้ความสามารถครบถ้วนทุกอย่าง และมีการสำเร็จมรรคผลมาก่อน จึงจัดว่าเป็นการเหมาะสมที่สุด สำหรับผู้ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อความเป็น พระพุทธเจ้า...

(คัดบางตอนจากหนังสือ สนทนาธรรม เล่ม ๓ หน้า ๔๑ - ๔๓ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)

ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
กราบนมัสการหลวงพ่อสุ่นครับ.

จากการที่ได้ลองสัณนิษฐานดูเล่นๆแต่ความเป็นไปได้ก็มี คือหลวงพ่อสุ่น ท่านน่าจะเกิดราวๆปีพ.ศ.2369-2373 นี่แหละ เพราะว่าท่านเป็นสหธรรมิก กับหลวงพ่อปั้น วัดพิกุลฯ (เกิด2376 มรณภาพ 2456) และ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย (เกิด2371 มรณภาพ 2451) น่าจะอายุอานามใกล้เคียงกัน

ส่วนปีมรณภาพของหลวงพ่อสุ่นนั้น ก็น่าจะประมาณปลายปี 2450 ถึง กลางปี 2451 เพราะมรณะก่อนที่หลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี จะมรณะไม่นาน(ตามหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน ท่านบอกกับหลวงพ่อปานว่า "ถ้าพ่อตายแล้ว ให้ไปหาท่านเนียมนะ ท่านก็เก่งเหมือนกัน" แล้วหลวงพ่อปานก็ได้เรียนวิชาอยู่กับหลวงพ่อเนียมได้อีกไม่นาน หรือประมาณ 3เดือนนี่แหละ แล้วหลวงพ่อเนียมก็มรณภาพลง).


ออฟไลน์ shs

  • ทุติยะ
  • **
  • กระทู้: 13
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
วันนี้(25 กรกฎาคม 2553 ) พระองค์ภาฯ ได้เสด็จฯพระราชดำเนิน ที่วัดบางปลาหมอด้วยนะ  เพราะว่า เมื่อวานนี้ 24/7/2553 ชาวบ้านและข้าราชการแถวๆละแวกนั้นมาร่วมกันทำความสะอาดวัดยกใหญ่ครับ.