สมาธิ หมายถึง การที่จิตตั้งมั่น ไหวั่นไหวไปกับอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ จะอยู่นิ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งลักษณะของสมาธินั้นมีความประณีตขึ้นไปเป็นลำดับ จนถึงสมาธิในวิปัสสนาคือความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง
การแบ่งประเภทของสมาธิก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ อาทิแบ่งเป็น สัมมาสมาธิ(สมาธิในทางที่ถูก)กับมิจฉาสมาธิ(สมาธิในทางที่ผิด) ,อุปจารสมาธิ(สมาธิเป็นไปเฉียดๆ)กับอัปปนาสมาธิ(สมาธิอันแน่วแน่) ,สุญญตสมธิ(สมาธิพิจารณาเห็นความว่าง),อนิมิตตสมาธิ(สมาธิพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต),อัปปณิหิตสมาธิ(สมาธิพิจารณาธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา) เป็นต้น
สมาธิเป็นอุบายทำจิตให้มั่นคง เมื่อบุคคลเจริญขึ้นแล้วก็จะเกิดผลตามมาเป็นลำดับเริ่มจากสมถไปจนถึงระดับวิปัสสนา จากรูปฌานไปเป็นอรูปฌาน จากโลกียะไปเป็นโลกุตระ หรือจะเรียกว่าการบรรลุธรรมขั้นสูงก็ได้(เรียกว่า "สมาบัติ ๘") องค์ของฌานก็จะมีความปราณีตขึ้นไปตามลำดับ กล่าวคือ
ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก(หมายถึงยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เช่น การภาวนา กำหนดลมหายใจเข้าออก การเพ่งกสินเป็นต้น),วิจาร(หมายถึงประคองจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์วิตกนั้นนั้น),ปีติ(หมายถึงความอิ่มเอิบใจในอารมณ์ของวิตกและยกขึ้นสู่วิจารจนประคองอารมณ์นั้นได้),สุข(หมายถึงโสมนัสเวทนามีความสุขทางใจสงบกายสงบใจ),เอกัคคตา(หมายถึงความที่จิตมีอารมณ์เดียวคือสงบอารมณ์อยู่กับที่ตนเพ่ง,ภาวนาเท่านั้นไม่ส่งใจไปในอารมณ์อื่น)
ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ปีติ,สุขและเอกัคคตา ละวิตกกับวิจารได้
ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ สุข กับเอกัคคตา ละปีติได้
จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ ละสุขได้ จะมีแค่อุเบกขากับเอกัคคตา รวม ๔ ข้อนี้ เรียกว่า รูปฌาน
อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อีก ๔ ข้อนี้คือ อรูปฌาน
เมื่อเข้าถึงสมาบัติตามนี้แล้ว กิเลสก็จะมารบกวนในใจไม่ได้ ด้วยกำลังแห่งฌานที่กดทับกิเลสไว้ แต่หากกำลังฌานเสื่อมลงกิเลสก็กลับมาในใจได้อีก
เมื่อละอัตภาพมนุษย์นี้ไปแล้ว ก็จะบังเกิดในชั้นพรหม เกิดด้วยอำนาจของฌานที่ได้เจริญไว้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ คือ รูปฌานก็จะเกิดเป็นรูปพรหม มี ๑๖ ชั้น แบ่งตามความละเอียดประณีตของกำลังฌาน อรูปฌานก็จะเกิดเป็นอรูปพรหม ๔ ชั้น
ตั้งแต่นรก ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑ ดิรัจฉาน ๑ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ รูปพรหม ๑๖ อรูปพรหม ๔ รวมทั้งสิ้น ๓๑ ภพภูมิ ทั้งหมดนี้ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เพราะอวิชชา(ความไม่รู้ในอริยสัจ)เป็นปัจจัยเบื้องต้นเริ่มแรก จนนำมาสู่ผลคือมีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ทางเดียวที่หลุดพ้นจากภพ ๓๑ หยุดการเวียนว่ายตายเกิด ก็โดยกิเลสจะต้องถูกกำจัดไปได้อย่างสิ้นเชิง เป็นได้ด้วยธรรมอันยอดเยี่ยมของโลก ทำให้พ้นวิสัยของโลก นั้นคือ โลกุตรธรรม มี ๙ คือ มรรค ๔(โสดาปัตติมรรค,สกทาคามิมรรค,อนาคามิมรรค,อรหัตตมรรค) ผล ๔(โสดาปัตติผล,สกทาคามิผล,อนาคามิผล,อรหัตตผล) นิพพาน ๑(หมายเอาอนุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับทั้งกิเลสดับทั้งเบญจขันธ์)
*ลองใช้พิจารณาประกอบการนั่งสมาธิดูครับ เชื่อว่าผลตามนี้จะเกิดตามมาแน่นอน ถ้าปฏิบัติจริง!!
มีอยู่ ๓ พวกที่ทำไม่ได้และไม่ได้ผลคือ ๑.คนบ้า ๒.คนตาย และ ๓."คนไม่ได้ทำ".