ผู้เขียน หัวข้อ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๙ กย. ๕๔ ...  (อ่าน 2611 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ รวี สัจจะ...

  • รองประธาน
  • *****
  • กระทู้: 1137
  • รวี สัจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
    • ดูรายละเอียด
    • รวี สัจจะ สมณะไร้นาม (เคลื่อนไหวดุจสายลม)
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๙ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่  ๓๐  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
         ใช้เวลาตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงกับการฟังธรรมบรรยายของครูบาอาจารย์
ที่ได้เก็บบันทึกไว้ คิดและพิจารณาตามในอารมณ์ธรรมกัมมัฏฐานแต่ละกอง
ของแต่ละท่านที่ได้บรรยายไว้ ปรับความรู้ความเข้าใจในกัมมัฏฐานแต่ละกอง
ทดลองปฏิบัติกรรมฐานกองใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนนั้้นเพียงแต่ได้เรียนรู้ในตำราเท่านั้น
ยังไม่เคยนำมาปฏิบัติจริง  รู้เพียงตามตำรา แต่ไม่ได้รู้ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริง
เพราะยังไม่ได้ปฏิบัติ ลองปฏิบัติตามดูก็รู้สึกว่าดี จิตมันละเอียดขึ้น ความฉับไว
ของสติเพิ่มขึ้น คือการเจริญมหาสติปัฏฐาน ในฐานกายโดยการพิจารณาอิริยาบถ
ของกาย(อิริยาบทบรรพ)และพิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว (สัมปชัญญบรรพ)
ซึ่งเริ่มจากอาการทางกายอย่างหยาบๆไปสู่ความละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณา
จากสิ่งที่รวดเร็วกลับไปสู่สิ่งที่ช้าและละเอียดอ่อน  จิตตามดูตามรู้และตามเห็น
ในสิ่งที่เป็นไปทุกขณะจิต เป็นไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาทางจิต......
             ไม่ว่าจะเป็นกัมมัฏฐานกองหนึ่งกองใด ถ้าเราเข้าใจในหลักการปฏิบัติ
 และนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะปฏิบัติ แต่สิ่งที่ทำได้ยาก
ก็คือใจของเรา การที่จะทำให้ใจเรานั้นยอมรับความจริง ลดความถือตัวถือตน
ความยึดถือในความคิดของตน ให้ใจมันยอมละพยศความดื้อรั้นเท่านั้นก็เพียงพอ
ต่อการเข้าสู่พื้นฐานการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติในขั้นต่อไป.......
          ซึ่งสิ่งนั้นฟังดูง่าย พูดง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะก่อนที่จะทำให้จิตมันจะยอมรับ
ได้นั้นมันต้องใช้เวลา เราต้องทำความรู้จัก ทำความเข้าใจและทำความคุ้นเคยกับ
มันเสียก่อน  เราต้องรู้จักใจของเรา เห็นกิเลสของเรา คือเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา
เสียก่อน ว่ามันเป็นอย่างไร จึงจะเข้าไปจัดการจัดระเบียบใหม่ให้กับมันได้
โดยให้เป็นไปตามความเหมาะสม ตามกำลังความสามารถ ความพร้อมของ
กายและจิตของเราให้เหมาะกับกาลเวลา จังหวะ โอกาส สถานที่และบุคคล........
          เหมือนดั่งโบราณที่ท่านว่า " สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น สิบตาเห็น
ไม่เท่าหนึ่งมือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่ากับทำเอง" การเรียนรู้และการเข้าใจในตำรานั้น
 มันเป็นเพียงกระบวนการทางความคิด ความจำ แต่มันไม่ถึงสภาวะธรรมที่แท้จริง
เพราะเรายังไม่ได้ธรรม และสภาวะธรรมนั้นเป็นของเฉพาะตนคือความเป็น"ปัจจัตตัง"
สภาวะธรรมทั้งหลายนั้นมีเพียงความคล้ายคลึงกัน แต่จะไม่เหมือนกันไปหมดทุกอย่าง
 เพราะความเป็นของเฉพาะตนนั้นเอง แต่ถ้ามันเหมือนกันไปหมดเสียทุกอย่างแล้ว
 แสดงว่าเรากำลังสะกดจิตของเราสร้างอุปาทานให้เหมือนกับสิ่งที่เราเคยได้ยิน
ได้ฟังมา คือสะกดจิตตนเอง สร้างสภาวะธรรมให้เหมือนกับที่ครูบาอาจารย์ท่านได้พบมา
ซึ่งมันไม่ใช่สภาวะธรรมที่แท้จริงของตัวเรา บุคคลแตกต่างกันด้วยธาตุและอินทรีย์
บารมีธรรมจึงแตกต่างกัน จึงเพียงแต่คล้ายและใกล้เคียง แต่จะไม่เหมือนกัน.......
                   เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรทุกผู้คน
                                    รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๑.๕๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
ใช่หวังจะดังเด่น  จึงมาเป็นสมณะ
เพียงหวังจะลดละ  ซึ่งมานะและอัตตา
เร่ร่อนและรอนแรม ไปแต่งแต้มแสวงหา
สัญจรร่อนเร่มา  ผ่านร้อยป่าและภูดอย
ลาภยศและสรรเสริญ  ถ้าหลงเพลินจิตเสื่อมถอย
พาใจให้เลื่อนลอย  จิตเสื่อมถอยคุณธรรม
       ปณิธานในการปฏิบัติธรรม

ออฟไลน์ arada

  • เรียนๆ รักๆ ปากกาถูกลัก ไม่พักเรียน
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 1111
  • เพศ: ชาย
    • MSN Messenger - nuk_b@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๙ กย. ๕๔ ...
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 30 ก.ย. 2554, 07:35:36 »
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับผม
ธรณีนี่นี้             เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์    หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร     เราชอบ

เรา บ่ ผิดท่านมล้าง    ดาบนั้นคืนสนอง