คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๖ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
ศุกร์ที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ใช้เวลาไปกับการทบทวนธรรม เปิดอ่านบันทึกเก่าๆที่ได้เคยเขียนไว้
ในช่วงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งได้เขียนบันทึกมาเป็นประจำทุกปี ตลอดเวลา ๙๐ วัน
ของการอยู่จำพรรษา เพื่อเป็นการตรวจสอบตนเอง ถึงสิ่งที่เราได้กระทำมาแล้ว
ทั้งในเรื่องทางโลกและเรื่องทางธรรม ได้เห็นถึงการพัฒนาหรือความเสื่อมของจิต
เมื่อเราได้นำบันทึกเหล่านั้นมาทบทวน เราจะเห็นถึงสิ่งทั้งหลายที่แปรเปลี่ยนไป
ดั่งที่เคยได้เขียนบันทึกไว้ในเรื่อง วิถีทางสู่ความเป็นจอมยุทธ .......
" วิถีทางสู่ความเป็นจอมยุทธ" เป็นคำพูดหรือวลีหนึ่งที่มักจะเอ่ยถึงกัน
สำหรับนักปฏิบัติธรรมคือการกระทำการปฏิบัติ คล้ายกับการฝึกวิทยายุทธในนิยาย
กำลังภายในของจีน ซึ่งนิยายกำลังภายในของจีนนั้น ก็เอาหลักการของพุทธศาสนา
มาเป็นแนวทาง มีหลักคุณธรรมเข้ามาสอดแทรกให้คติเตือนใจ การปฏิบัติธรรมนั้น
ก็เช่นกันคือ " ทำของที่ยังไม่มีให้มีขึ้นเกิดขึ้น ของที่มีแล้วเกิดขึ้นแล้วนั้น รักษาไว้
ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้สูญหายสลายไป ทำของที่มีที่เกิดขึ้นแล้วและได้รักษาไว้ดีแล้ว
ให้เหมือนกับไม่มี " นี้คือกระบวนยุทธของการปฏิบัติธรรม...ทำของที่ไม่มีให้มีขึ้น
ให้เกิดขึ้น คือการฝึกฝนปฏิบัติ เจริญสติเพื่อให้มีสมาธิจิตที่สงบนิ่ง นั่นคือการเจริญ
ภาวนาปฏิบัติกรรมฐานตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนมา ตามแนววิชากรรมฐาน
ของแต่ละสำนัก เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติแล้ว ก็ต้องรักษาทรงไว้ซึ่งสมาธินั้น
ให้มั่นคง มีความชำนาญแคล่วคล่องในการเข้าออกในอารมณ์สมาธินั้น คือความเป็นวสี
รู้วิธีเข้าออกในอารมณ์ฌาน ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อจิตมีสมาธิ
ที่มั่นคงแล้ว เข้าใจในสภาวะขององค์ฌาน อธิษฐานเข้าออกได้ตามที่ต้องการแล้ว
ก็ถึงกระบวนการยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐาน คือเห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง
เห็นความเป็นจริงในพระไตรลักษณ์ เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และ
มิใช่ประโยชน์ของสรรพสิ่ง เห็นรูปเห็นนาม ตามความเป็นจริง จิตละทิ้งจากการยึดถือ
เข้าสู่ขบวนการ ลดมานะ ละทิฏฐิ ถอนอุปาทาน ตามรู้เห็นดูจิตอยู่กับปัจจุบันธรรม........
การปฏิบัติธรรมนั้นเปรียบได้กับ การแสวงหา ยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังนี้ว่า
เหมือนเราแสวงหาของที่เรายังไม่มี เราอยากจะได้สิ่งของสิ่งนี้ เราต้องมีความพยายาม
หาเหตุหาปัจจัยเพื่อที่จะได้มา สะสมเงินทองเพื่อให้พอที่จะซื้อหาหรือพยายามกระทำ
สร้างมันขึ้นมา จนมันสำเร็จตามความปรารถนาได้สิ่งที่ต้องการมา และเราต้องเก็บรักษา
สิ่งของสิ่งนั้น ทำความรู้จักกับมัน ใช้งานมันจนชำนาญแคล่วคล่องคุ้นเคย เก็บรักษามัน
ไว้ในที่อันสมควร เมื่อถึงเวลาก็หยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องถืออวดอยู่ตลอดเวลา
เก็บรักษาไว้ในที่อันเหมาะสม.......
นักปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ต้องรู้จักครอบงำประกาย ไม่ควรโอ้อวดตัว โชว์อวด
ให้เขารู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัตธรรมนั้น มิใช่การแสดง มิใช่เป็นไปเพื่อ
การโอ้อวดประกวดกัน เพื่อให้เขากล่าวสรรเสริญยกย่อง แต่เป็นไปเพื่อความสงบ สะอาด
สว่าง ละวางจากทิฏฐิมานะและอัตตา และเพื่อความจางคลายของกิเลส ตัณหา อุปาทาน
ซึ่งการปฏิบัติธรรมนั้น ต้องเกิดจากความคิดจิตที่เป็นกุศล การเริ่มต้นที่ที่ต้องและดีงาม
ความเจริญในธรรมจึงบังเกิด เพราะคำว่า " ภาวนานั้นคือการกระทำให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น
สิ่งที่เรียกว่าพัฒนาขึ้น ดีขึ้นนั้น ก็คือความดี คือกุศลธรรมทั้งหลาย.......
จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย โปรดได้นำไปคิด
และพิจารณาใคร่ครวญดูว่า " เรามีความปรารถนาในการปฏิบัติธรรมเพราะอะไร สิ่งที่เราคาดหวัง
ตั้งใจไว้นั้น มันเป็นกุศลจิตหรือไม่ " ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต สิ่งที่เรานึกคิดเรารู้อยู่แก่ใจ
ว่าเราคิด เราหวังอะไร ในการปฏิบัติธรรม...
เชื่อมั่น-ศรัทธาในธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๓๐ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี