คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๘ ตค. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
แต่ละวันที่ผ่านไปนั้น มีเรื่องราวมากมายที่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิต
ที่ทำให้เราคิดและต้องทำ มีผัสสะสิ่งกระทบมากมาย ให้เรานั้นได้รับรู้
เราจึงควรจะจดจำเพียงสิ่งที่มีประโยชน์และเป็นสาระ ส่วนสิ่งที่เป็นขยะ
ทางความคิดลบมันไปไม่จดจำ ใช้สติใคร่ครวญ ทบทวนสิ่งผ่านเข้ามา
ว่าสิ่งไหนเป็นสาระ สิ่งไหนไม่เป็นสาระ พิจารณาให้เห็นคุณ เห็นโทษ
เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา พิจารณา
เข้าสู่่่ความเป็นกุศลและอกุศล มีสติเตือนตนให้อยู่ในความไม่ประมาท
ไม่ปรุงแต่งในอกุศลประคองจิตของตนให้อยู่ในธรรม น้อมนำจิตเข้าสู่
ความสงบนิ่ง มองทุกสรรพสิ่งให้เป็นธรรมะ.......
เมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นสมาธิ มีความสงบนิ่งอยู่ มีสติระลึกรู้ในสภาวะ
แห่งความสงบ เราก็จะพบกับความเป็นจริง ทุกสิ่งจะเข้าสู่ความเป็นระบบ
จิตที่ทำหน้าที่บันทึกความจำ จะทำหน้าที่ แยกแยะข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่่
และบันทึกไว้ในความทรงจำ ข้อมูลไม่สับสน ความคิดของเรานั้นจะเป็นระบบ
เพราะมีความสงบควบคุมอยู่ รู้ในสิ่งที่ควรรู้ จำในสิ่งที่ควรจำ ทำในสิ่งที่ควรทำ
สิ่งนั้นเกิดจากจิตที่มีสมาธิ และมีสติระลึกรู้ควบคุมอยู่.....
สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตนั้น ไม่ใช่ความฝันหรือจินตนาการ แต่เป็นการที่เกิดจาก
การฝึกจิต ฝึกคิด ฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดความชำนาญในการคิดและการทำ
เกิดจากการเจริญรักษาสติ สมดั่งคำที่ว่า " เมื่อเรารักษาสติให้ดีแล้ว สตินั้นจะรักษาเรา "
กายและจิตจะเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะการรู้เท่าทันในกายและจิต รู้เท่าทันความคิด
และการกระทำ รู้ในสิ่งที่ควรจำและไม่ควรจำ คือการปฏิบัติอย่างเรียบง่ายสบายๆ
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการทำที่จิต เพราะไม่มีความคิดที่จะแสดงออกมาให้
ใครรู้ว่าเราปฏิบัติธรรมอยู่ มิใช่การโชว์หรือการโอ้อวด.....
การปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการกระทำเฉพาะตน ไม่ได้หวังผลที่จะโอ้อวดใคร
มิได้เป็นไปเพื่อหวังในโลกธรรม ๘ อันได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นไปเพื่อ
ความดับทุกข์และความสุขในธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ทำ
ยังไม่เรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรม เป็นได้เพียงผู้ชื่นชมในธรรม ผู้วิจารน์ธรรมเท่านั้นเอง
หาใช่ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ เพราะยังมิได้ทรงไว้ในธรรม.....
สติและสัมปชัญญะ การระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อม ที่น้อมเข้าหาธรรม
จะนำมาซึ่งสุขและความสงบ เป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยจิต มันเป็นความรู้สึกที่รู้ได้
เฉพาะตน สิ่งนั้นคือความเป็น ปัตจัตตัง เมื่อเรานั้นได้ย้อนมาดูกายจิตของเรา
เราย่อมได้รู้ถึงสภาวะที่เป็นอยู่ของกายจิตเรา สุขหรือทุกข์ สับสนวุ่นวายหรือสงบ
สิ่งนั้นไม่มีใครจะมารู้ดีกว่าตัวของเราเอง ดั่งที่เคยกล่าวไว้เสมอว่า ไม่มีใครรู้ซึ้ง
เท่าหนึ่งจิต หากเราให้เวลาแก่ชีวิต หันมาพิจารณาตัวของเราเอง ........
เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดีในทางธรรม
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๐.๑๔ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี