"ปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด ปรับการกระทำ"
เมื่อเรามีความคิด ความตั้งใจที่จะปฏิบัติ จงลงมือกระทำในทันที โดยการปรับจิตของเรา ให้เป็นกุศลจิตเสียก่อน
ด้วยการน้อมจิตของเราไปสู่สิ่งที่เป็นบุญกุศล ที่เราได้กระทำมาแล้ว และความดีนั้นมันเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจ
ประทับใจเราเสมอมา น้อมจิตระลึกนึกไปจนใจของเราเป็นสุข มีความรู้สึกเอิบอิ่มสบายใจ แจ่มใสและเบิกบาน
มีความสุขในการระลึกนึกถึงบุญกุศล จิตของเราจึงเป็นกุศลจิต เมือมีความรู้สึกเอิบอิ่มสบายใจแล้ว ให้เราน้อมจิตของเรามาดูที่ร่างกายของเรา ทำความรู้สึกให้รู้ตัวทั่วพร้อม น้อมจิตระลึกนึกจากส่วนบนของร่างกาย ตั้งแต่ศรีษะ เรื่อยลงมา จนถึงปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นมาสู่ศรีษะ มีสติและสัมปชัญยะ ให้รู้ตัวทั่วกาย แล้วน้อมจิตไปสู่องค์ภาวนา ที่เราศรัทธาและชอบใจ ตั้งสติไว้กับองค์ภาวนา ให้เรารู้ว่าลมหายใจของเราเข้าออกตามปกติที่เคยเป็นมา พยายามทำอย่างนี้จนมีความชำนาญ
การที่ให้ระลึกนึกถึงความดีบุญกุศลนั้น เป็นการฝึกสร้างอารมณ์ปิติ เพราะว่าบุญนั้นคิดถึงครั้งใดใจเป็นสุข
ใจที่มีความสุขความเอิบอิ่ม มันมีพลังในการทำงานหรือการปฏิบัติ และเพิ่มศรัทธา
ส่วนการระลึกรู้ดูร่างกายนั้น เป็นการเรียกสติและสัมปชัญยะให้มาอยู่กับกาย เรียกว่าเอาจิตมาคุมกายให้ใจ
มันอยู่กับเนื้อกับตัวจนเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม
ส่วนการน้อมจิตไปผูกติดไว้กับองค์ภาวนานั้น ให้ท่านวางอารมณ์แบบสบายๆอย่าไปตั้งใจและมุ่งหวังจนมากเกินไป มันจะทำให้เกิดอาการเครียดและเกร็งขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เพราะเราไปกดจิต มันจะเกิดการผิดปกติทางกายขึ้นมา เช่นมึนศรีษะ ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง แน่นหน้าอก ร้อนที่หน้าท้อง ปวดเอวปวดขาและปวดเข่า เพราะว่ากำลังสมาธิของเรายังไม่แข็งพอ ที่จะเข้าไประงับอาการเจ็บปวดทางกายได้ ถ้ามีอาการอย่างนั้น ให้เรารีบสลายแล้วกลับมาตั้งจิตใหม่ "เคลื่อยไหวทางกาย สลายทางจิต" ทำจนสติและสมาธิมีกำลังเพิ่มขึ้น แล้วจึงมาฝึกข่มความรู้สึกเจ็บปวดทางกายต่อไป
ฝากไว้ด้วยความปรารถนาดี และมิตรไมตรี
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
วจีพเนจร-คนรอนแรม
24 มีนาคม 2552 เวลา 23.50 น. ณ มุมหนึ่งของกรุงเทพมหานคร