"ให้ระวังความคิด คิดมากๆมันจะกลายเป็นการกระทำ ให้ระวังการกระทำ กระทำมากๆจะกลายเป็นความเคยชิน ให้ระวังความเคยชิน เคยชินมากๆจะกลายเป็นนิสัย ให้ระวังนิสัยที่สังสมไว้ จะกลายเป็นอุปนิสัยติดภพติดชาติไป" นี่คือคำกล่าวของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี ซึ่งท่านได้กล่าวสั่งสอนไว้ ให้ศิษย์ทั้งหลายได้พิจารนา ซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาคิดและพิจารนาตาม จึงได้เข้าใจในหลักธรรมที่ท่านได้สอนไว้และอยากจะนำมาอธิบายขยายความให้ท่านทั้งหลายได้คิดและพิจารนาว่าที่ท่านได้กล่าวมามีเนื้อหาว่าอย่างไร
...เหตุที่ท่านให้ระวังความคิด ความคิดนั้นคืออกุศลจิต อกุศลกรรม เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและไม่ควรคิด ควรนำจิตออกห่าง เพราะมันจะเป็นหนทางสู่อบายภูมิ ท่านให้เราหันเข้ามาสู่กุศลจิต คือคิดถึงสิ่งที่ดีงาม เป็นการปรับเปลี่ยนแนวความคิดนำจิตเข้าสู่กุศล เป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ ให้เริ่มต้นด้วยกุศลจิต แล้วจึงเข้าสู่การภาวนา เพราะการภาวนานั้นหมายถึงทำให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้น ภาวนาคือพัฒนามาจากรากศัพย์ตัวเดียวกัน ฉะนั้นการภาวนาคือการทำให้ดีขึ้นเจริญขึ้น สิ่งที่ดีขึ้นและเจริญขึ้นก็คือกุศลจิต เราจึงต้องเริ่มต้นจากความคิด แล้วนำไปสู่การกระทำ นี่คือการปรับกาย ปรับจิต ปรับความคิด และปรับการกระทำ ให้เป็นกุศลกรรมเพื่อให้เกิดความเจริญในธรรม หลักของการปฏิบัติธรรมอย่างเรียบง่ายสบายๆก็คือการเริ่มจากการฝึกคิดให้จิตเป็นกุศล จนเกิดความเคยชินในกุศล มีกุศลจิตคุ้มครองตน เพราะเราจะอยู่กับสิ่งที่เป็นกุศลมากกว่า
สิ่งที่เป็นอกุศล ความเป็นมงคลของชีวิตก็เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ศรัทธาก็จะเพิ่มขึ้น จิตที่เป็นกุศลก็จะเพิ่มพูนพัฒนาน้อมเข้าหาหลักธรรม แล้วจะนำไปสู่การปฏิบัติพัฒนาทางจิต มีความคิดที่ดีงาม มีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองจิต มีความอ่อนน้อมถ่อมตน จิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตา ไม่เย่อหยิ่งอวดดี มีสัมมาคารวะลดละซึ่งอัตตา เพราะมีธรรมะคุ้มครองจิต รู้ถูกผิดและชั่วดี เพราะจิตนี้มีคุณธรรม มีหิริคือความละอายต่อบาปแม้นเพียงความคิดที่ผิดก็ไม่กล้าคิด โอตัปปะคือความเกรงกลัวต่อความคิดที่เป็นอกุศลก็ไม่กล้าคิดจิตนั้นประกอบด้วยคุณธรรม จึงขอนำมาอธิบายขยายความเพื่อประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย ได้คิดและพิจารนา เพื่อให้เกิดปัญญาที่จะนำมาสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง.....
เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต-แด่มวลมิตรผู้ใคร่ธรรม
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
วจีพเนจร-คนรอนแรม
28 มีนาคม 2552 เวลา 22.22น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย