กราบนมัสการหลวงพี่ครับ อยากให้แนะนำเรื่องนั่งสมาธิอีกครับ ช่วงนี้นั่งแล้วไม่คืบหน้าไปไหน แถมเหมือนถอยหลังด้วยครับ
:053:การที่เราปฏิบัติธรรมแล้วความเจริญในธรรมไม่บังเกิดขึ้นนั้นล้วนแล้วแต่มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นซึ่งพอจะสรุปโดยย่อได้ดังนี้
๑.สภาวะความไม่พร้อมของใจ คือเราฝืนใจทำทั้งที่ใจเรายังไม่พร้อม มันเลยขาด"ฉันทะ"ความพึงพอใจในการปฏิบัติ ทำแล้วจะเกิดความอึดอัดฟุ้งซ่าน หงุดหงิด จิตไม่สงบ ซึ่งมีแนวทางแก้ไขดังนี้คือ เราต้องปรับใจของเราให้มีความพร้อมเสียก่อน โดยใช้กุศโลบายหลอกจิต คือว่าภาวนาทันทีที่นั่ง ให้เรานั่งคิดระลึกนึกถึงคุณงามความดีที่เราเคยได้กระทำมาที่มันประทับใจเรา คิดถึงแล้วมันสุขใจ สบายใจเกิดปิติภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว เรียกว่าการชักนำจิตมาสู่กุศลจิต มันจะเกิดความยินดีและมีศรัทธาขึ้นมาทันที เมื่อเรารู้สึกสบายใจแล้วจึงค่อยหันมาภาวนาต่อไป
๒.ตั้งจิตหนักเกินไป(ตั้งใจทำมากเกิดไป) มันทำให้เป็นการกดดันตัวเอง เรียกว่าเราไปกดจิตของเราให้มันนิ่งในทันที เพราะเรามีความอยากมากเกินไปคืออยากจะให้มันสงบในทันที ทั้งที่มันยังไม่พร้อม เหมือนรถยนต์เราอยากจะให้มันออกตัวเร็วเร่งความเร็วเป็น100ในทันที เข้าเกียร์5เลย มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องค่อยๆเรงความเร็วขึ้นไปตามลำดับ ไล่เกียร์ไปตามลำดับ1 2 3 4 5 เพื่อปรับเครื่องยนต์ให้มีความพร้อม ไม่งั้นเครื่องมันจะพัง เกียร์มันจะเสีย ถ้าเราไปกดจิตมันจะเกิดอาการ แน่นอึดอัดที่ทรวงอก มึนศีรษะ ร้อนที่หน้าท้อง หายใจไม่คล่อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะธาตุในกายเรามันเริ่มจะผิดปกติ ปั่นปว่น เกิดจากธาตุลมที่เราเข้าไปบังคับให้มันเข้าให้มันออก มันไม่ได้เข้าออกตามปกติตามจังหวะของมัน มันเลยพลอยทำให้ธาตุอื่นปั่นป่วนไปด้วย...การแก้ไขคือให้เราทำใจสบายๆค่อยๆดูค่อยๆภาวนา ทันบ้างไม่ทันบ้างก็ตามดูไปเรื่อยๆไม่ท้งมัน จนตามทันลมหายใจของเรา
๓.เราเกร็งและเคร่งเกินไปทำให้เกิดความเครียด และอาการปวดเมื่อยตามร่างกายขึ้นมา ซึ่งเกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ดี
เช่นถ้าเราไปเกร็งที่แขน เพื่อให้ท่านั่งวงแขนมันดูดี มันก็จะปวดที่ไหล่ สะบักและต้นคอ ถ้าเราไปเกร็งกล้ามเนื้อที่หน้าท้อง เพื่อจะให้ตั้งกายให้นั่งตัวตรง เราก็จะปวดที่หลังที่สะเอว เพราะว่ากล้ามเนื้อที่หน้าท้องมันจะดึงไป และถ้าเราไปเกร็งที่ขาเพื่อให้นั่งเรียบสนิทติดกับพื้น มันก็จะปวดหน้าขาและสะบ้าหัวเข่า การแก้ไขก็คือเมื่อเราลงมือนั่งให้เราปรับกายของเราเสียก่อนคือให้หายใจเข้าสุดกำลังให้ท้องมันพองเต็มที่ แล้วหายใจออกให้สุดกำลังให้หน้าท้องมันยุบลงเต็มที่ เพื่อปรับกล้ามเนื้อที่หน้าท้องให้มันได้ผ่อนคลาย แล้วเดินจิตให้ทั่วกาย คือให้ระลึกนึกถึงตัวเราตั้งแต่หัวจรดเท้าทำความรู้สึกให้รู้ตัวทั่วพร้อมซึ่งเป็นการเพิ่มสัมปชัญญะ เรียกว่าเอาจิตมาคลุมกาย แล้วมาทำความรู้สึกเหมือนเราปลดปล่อยน้ำหนักของเราลงสู่เบื้องล่าง
เรียกว่าทิ้งน้ำหนักทั้งตัวลงสู่พื้นที่สัมผัส มันจะทำให้เราลดการเกร็งลงไปได้
๔.เราดับอารมณ์เก่าได้ไม่หมดเรียกว่ายังมีอารมณ์ค้าง เวลานั่งภาวนามันจะคิดฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยไม่ยอมหยุด เราต้องแก้โดยใช้จิตถามจิด แบ่งตัวเราออกเป็นสองความคิด จิตหนึ่งอยากภาวนา อีกจิตหนึ่งไม่อยากภาวนา แล้วถามกันไปถามกันมาว่า ทำไมต้องคิด คิดเพื่ออะไร แล้วมันได้อะไร คิดแล้วทำได้ไหม เวลานี้เราควรทำอะไร ใช้เวลาที่จะต้องคิดเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ถามไปตอบไปจนให้จิตมันล้าหรือว่าจบปัญหา ไม่มีคำถามไม่มีคำตอบ
จนเห็นเหตุแห่งการคิดที่ฟุ้งซ่านว่ามันมาจากไหน เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ ของการคิดฟุ้งซ่านนั้น จนความคิดมันดับ แล้วจึงกลับมาภาวนา เรียกว่าใช้ปัญญาเข้าแก้ไข
หากมีอะไรสงสัยให้ถามมาใหม่ได้เลยยินดีที่จะตอบคำถาม
ด้วยความปรารถนาดี
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๕๒ น. ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง อุทัยธานี