ผู้เขียน หัวข้อ: หมู่บ้านมอญในบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี  (อ่าน 6146 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด



หมู่บ้านมอญในบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี


               ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง" เป็นเส้นทางหนึ่งซึ่งบรรพชนมอญใช้ไปมาหาสู่กันนอกเหนือจากการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและดำรงชีวิตในด้านอื่น ๆ ณ แหล่งที่สายน้ำแห่งนี้ไหลผ่านในเขตอำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีชนเผ่าที่เป็นญาติพันธุ์ของเรากลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เขาคือ หรือ มอญ เป็นที่รู้จักกันว่าคนไทยเชื้อสายมอญญาติพันธุ์มอญเหล่านี้ยังคงสืบทอดวิถีชีวิตความเป็นมอญไว้ทุกด้านคือ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและภาษา

               แม้วิถีชีวิตของคนมอญจะต้องปรับไปตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ จุดเด่นของคนไทยเชื้อสายมอญบ้านโป่งได้ปรากฏอยู่ในคำขวัญของอำเภอบ้านโป่งว่า "เมืองคนงาม สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ย่านอุตสาหกรรม" พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนี่แหละคือพิพิธภัณฑ์มอญบ้านโป่ง ซึ่งแสดงถึงประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตทุก ๆ ด้าน ของชาวมอญ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

               ถ้าไม่ทบทวนเรื่องลึกลงไปถึงยุคทวารวดี จะพบว่ามีชุมชนมอญเก่าแก่ที่สุดบริเวณที่ราบภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ที่ลุ่มน้ำแม่กลองนี่เอง โดยเฉพาะบริเวณวัดนครชุมน์ ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี..."

               ก็ได้ทราบกันแล้วว่ามอญบ้านโป่งเป็นญาติพันธุ์ที่เก่าแก่ เพียงใด เป็นที่เล่าขานกันในครอบครัวและในชุมชนว่าแต่ครั้งเทียดทวดโน้น เขาได้พากันไปเดิงโม่นหรือเมืองมอญ เพื่อกราบนมัสการพระเกศาธาตุที่เดิงเลียะเกิงหรือเมืองร่างกุ้งโดยใช้เส้นทางลุ่มน้ำแม่กลองถึงด่านเจดีย์สามองค์แล้วเดินทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรีไปเมืองร่างกุ้ง แหล่งที่อยู่ของมอญบ้านโป่ง ก็คือลุ่มน้ำแม่กลองทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก อยู่ต่อเนื่องกับมอญโพธาราม ด้านตะวันออกเป็นชุมชนใหญ่และหนาแน่นมี ๓ หมู่บ้าน คือ ๑. บ้านท่าอิฐ หรือกวานดอด วัดประจำหมู่บ้านคือวัดตาผา ๒. บ้านนครชุมหรือกวานเจียะโนก วัดประจำหมู่บ้านคือวัดใหญ่นครชุมน์ ๓.บ้านหัวหิน หรือกวานแวงตะเมาะ วัดประจำหมู่บ้านคือวัดหัวหิน ส่วนด้านตะวันตกก็เป็นชุมชนใหญ่หนานแน่นเช่นกันมี ๖ หมู่บ้าน คือ ๑. บ้านในคุ้งหรือกวานปีเลิ่ม ๒.บ้านปากลัด หรือกวานเปียะโยม วัดประจำทั้งสองหมู่บ้านคือวัดตาล ๓. บ้านโพหรือกวานสั่ว วัดประจำหมู่บ้านคือวัดโพธิโสภาราม ๔. บ้านมะขามหรือกวานแม่งโกลน วัดประจำหมู่บ้านคือวัดมะขาม ๕. บ้านม่วงหรือกวานเกริก วัดประจำหมู่บ้านคือวัดมั่วง ๖.บ้านบัวงามหรือกวานบัวงาม วัดประจำหมู่บ้านคือวัดบัวงาม
                                                 
               วัดใหญ่นครชุมน์ เป็นศาสนสถานที่เก่าแก่ สร้างโดยชาวมอญที่อพยพมาจากกรุงหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ได้เสด็จตามลุ่มน้ำแม่กลองโดยเรือพระที่นั่งได้หยุดแวะชมอุโบสถและกราบนมัสการพระประธานในโบสถ์ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งส่วนพระองค์ ได้ทรงแวะนมัสการเจ้าอาวาสและพระประธานในโบสถ์แล้วทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทให้ประชาชนและทายกทายิกา ให้บำรุงรักษาพระอารามที่อยู่ในพระพุทธศาสนานี้ให้งดงามตามประเพณี และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณโดยยึดหลักรักษาประเพณีมอญไว้ให้ดี ให้คงการสวดมนต์ภาษามอญไวอย่าให้สูญหายไป รักษาลวดลายหน้าบันพระอุโบสถไว้ให้ดี ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในสมัยนั้นและเล่าบอกต่อกันจนถึงปัจจุบันพระองค์ท่านได้ทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ในเขตวัดไว้ ๓ ต้น และต้นแสงจันทร์ ๑ ต้น ปัจจุบัน ต้นไม้ นั้นยังอยู่คู่กับวัดใหญ่นครชุมน์และวัดนี้เป็นจุดศูนย์รวมพระภิกษุและชาวบ้านในการประชุมหารือในสมัยนั้นตราบจนปัจจุบัน เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาพระภิกษุสงฆ์จากวัดในชุมชนมอญทั้งสองฝั่งลุ่มน้ำแม่กลองทุกวัดไปทำพิธีสังฆกรรมที่วัดใหญ่นครชุมน์แห่งนี้
                                                 
               ณ ที่ศาลาริมน้ำของวัดนี้ มีจุดเด่นอยู่อย่างหนึ่งคือ รูปปั้นพ่อค้ามอญ ๒ พี่น้องที่ไปค้าขายที่ประเทศอินเดีย ชื่อตะเปากับตะปอ นุ่งคุกเข่าพนมมือไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เฝ้ากราบนมัสการ ถวายพระกระยาหารและสิ่งของนานาประการ ด้วยพระมหากรุณาธิ คุณของพระพุทธองค์ จึงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นลูบพระเกศาพระเกศาธาตุจำนวน ๘ เส้น ได้ติดพระหัตถ์มาและมอบให้แก่พ่อค้ามอญสองพี่น้องนั้น ครั้งกลับไปถึงเมืองมอญ ได้อัญเชิญพระเกศานั้นมอบให้พระเจ้าเอิกกะลาปะ พระมหากษัตริย์มอญ พระองค์มีความปีติโสมนัสยิ่งนัก จัดฉลองสมโภชอย่างมโหฬาร ได้สร้างองค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมเกศาธาตุให้ผู้คนได้กราบไหว้ พระเจดีย์นั้นก็คือกญาจเลียะเกิง หรือพระเจดีย์ชเวดากองในปัจจุบัน
                                                 
             วัดตาผา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของชาวมอญในชุมชนนั้น แม้ว่าวัดนี้ตั้งอยู่ห่างจากวัดใหญ่นครชุมน์ประมาณ ๑ กิโลเมตร เท่านั้น แต่ชาวมอญมีความเชื่อว่าการสรางวัดได้บุญบารมีสูง อีกทั้งมีความสะดวกสบายในการปฏิบัติศาสนกิจไม่ต้องเดินทางไกล เพราะการคมนาคมในสมัยก่อนไม่สะดวก ชาวบ้านท่าอิฐจึงร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้น ด้านหน้าวัดมีป้ายชื่อเป็นภาษามอญป้ายใหญ่และโดดเด่นกว่าวัดอื่น ๆ ในลุ่มน้ำแม่กลอง
                                                 
                วัดหัวหิน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีเจดีย์ทรงหงสาวดี ๒ องค์ ผู้ดำเนินการสร้างวัดคือนายเปิด ได้ชักชวนชาวบานบริจาคทรัพย์สร้างเสนาสนะ เพื่อใช้เป็นที่พักสงฆ์และบำเพ็ญกุศล ผู้บริจาคที่ดินสร้างวัดคือ นางเงี่ย
                                                 
             วัดม่วง ในทะเบียนของกรมศาสนาได้ระบุว่าวัดม่วงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) แต่จากการค้นคว้าและอ่านคัมภีร์ใบลาน ภาษามอญที่จารเก่าแก่ที่สุด คือคัมภีร์มายเลข ๓๒๑ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระปริตร (๑๒ ตำนาน) ในตอนท้ายจารไว้ว่า "... ศักราช ๑๐๐๐ เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ วันศุกร์ จารเสร็จเมื่อตะวันบ่าย กระผมชื่อ อุตตมะจารเอาไว้ในวัดม่วง เป็นชื่อเมื่อตอนเป็นพระ...." ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔

               ศักราช ๑๐๐๐ นั้นเป็นจุลศักราช เมื่อเทียบเป็นพุทธศักราชจะเท่ากับ ๒๑๘๑ (๑๐๐๐ + ๑๑๘๑) ตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๑๙๘) และหลังรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรประมาณ ๓๐ ปีเศษ จึงอาจเป็นไปได้ว่าชาวมอญรุ่นแรกของบ้านม่วงอาจอพยพมาในราวสมเด็จพระนเรศวรจริง ใช้เวลาในการตั้งชุมชนและสร้างวัดรวมทั้งจารคัมภีร์ใบลานเป็นเวลาต่อมาอีก ๓๐ ปีเศษ ฉะนั้นชุมชนมอญบ้านม่วงจึงมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๖๗ ปี อพยพมาก่อนกรุงหงสาวดีแตกหรือก่อนมอญเสียแผ่นดินไม่ต่ำกว่า ๑๑๙ ปี เป็นการหนีภัยจากการคุกคามของข้าศึกศัตรูซึ่งมุ่งทำลายล้างเผ่าพันธุ์ แย่งชิงบ้านเมืองมาโดยตลอด
                                                 
                จุดเด่นของวัดม่วงก็คือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งแสดงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชาวมอญ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านม่วงและมหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาและน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมมหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเพทรัตนราชสุดาฯ บรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖

ต่อมาทางวัดม่วงได้รับความร่วมมือจากจากบริษัทมติชนจำกัด มหาชน ร่วมกับภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดตั้งศูนย์มอญศึกษาขึ้น เพื่อดำเนินการทั้งจัดแสดงและบริการข้อมูล ไดทำการเปิดศูนย์ฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการศูนย์มอญศึกษาด้วย จึงเห็นได้ว่าวัดม่วงนอกจากเป็นศาสนาสถานแล้ว ยังมีบทบาทเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์มอญที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่ามอญในชุมชนบ้านม่วง พูดภาษามอญลงเสียงหนัก ฐานเสียงมาจากลำคอมากกว่ามอญในชุมชนอื่นตามลุ่มน้ำแม่กลอง เขตจังหวัดราชบุรีและมอญในแหล่งอื่น ๆ ของประเทศไทยนับว่าเป็นความแตกต่างอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่ามอญบ้านม่วงน่าจะอพยพมาจากกวานเกลาะซอด แปลว่าบ้านสวนหมาก จากเมืองมะละแหม่งหรือเมาะลำเลิง เพราะมอญเมืองนี้พูดลงเสียงหนักคล้ายมอญบ้านม่วง

               วัดตาล สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ชุมชนมอญแห่งนี้ได้สร้างวัดมาเป็นเวลา ๒๒๕ ปี มีเจดีย์ทรงมอญอยู่ในลำเรือ เสาหงส์ประดับมุก หงส์กางปีกบิน เสาหงส์ขนาบด้วยเสาเล็ก ๑ คู่ มีกินนร เกล้าผมจุกนั่งคุกเข่าพนมมือไหว้ ลักษณะงดงามมาก เป็นเอกลักษณ์มอญที่โดดเด่น ปัจจุบันหงส์ดังกล่าวได้ชำรุดและอันตรธานไปแล้ว
                                                   
               วัดโพธิโสภาราม ชื่อเดิมคือ วัดโพธิรามัญ ชาวบ้าน เรียกว่า วัดโพธิมอญ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ จุดเด่นของวัดนี้คือ หอเรียนพระไตรปิฏกมีลักษณะเป็นทรงไทยจัตุรมุขยอดปราสาทเสาและพื้นไม้ มุงกระเบื้องเคลือบดินเผา มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ขนาดกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สูง ๕๐ เมตร สวยงามมาก มีแห่งเดียวในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เป็นที่ภาคภูมิใจยิ่งที่บรรพชนชาวมอญในชุมชนแห่งนี้มีความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นเยี่ยม จากกาลเวลาที่สร้างมานานเกือบ ๘๐ ปี หอพระไตรปิฎกแห่งนี้ได้ชำรุดทรุดโทรม แต่ก็ยังเห็นร่องรอยของความงดงามอยู่ จุดเด่นอีกแห่งหนึ่งของวัดนี้ก็คือ หอพระไตรปิฎกมีลักษณะเป็นเรือนไม้เสาเดียวยอดมณฑป ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๓ เมตร สูง ๒๕ เมตร ตั้งอยู่กลางน้ำ นับเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดในการเก็บพระไตรปิฎก คัมภีร์ใบลานให้พ้นอันตรายจากปลวก
                                                   

                                                   
วัดมะขาม สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๑ วัดนี้ตั้งอยู่ระหว่างวัดโพธิโสภารามกับวัดม่วง ห่างจากวัดทั้งสองประมาณครึ่งกิโลเมตร เป็นที่ประจักษ์ว่าชาวมอญมีความศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา การสร้างวัดเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา จึงเชื่อว่าผู้สร้างวัดไดรับบุญกุศลมาก ดังนั้นทุกชุมชนมอญจึงมีวัดอยู่ในชุมชนของตนเอง การทำบุญก็สลับกันระหว่าง วัดโพธิโสภารามกับวัดมะขาม
                                                   
                วัดบัวงาม สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๙ วัดนี้อยู่ในชุมชนบ้านม่วงซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ ชาวบานต้องเดินทางไปทำบุญไกล พระอาจารย์เกเล ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดม่วง ในขณะนั้นได้เห็นความลำบากของชาวบ้าน ท่านจึงปรึกษากับชาวบ้านและพร้อมใจกันสร้างวัดขึ้นมา จุดเด่นของวัดนี้คือ จัดการเรียนการสอนภาษามอญที่วัดมายาวนานกว่าวัดอื่น ๆ เพิ่งยุติการสอนภาษามอญเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้ดำเนินการอยู่ที่โรงเรียนวัดม่วง

     สำหรับสายใยมอญสองแผ่นดิน คือมอญในลุ่มน้ำแม่กลองกับมอญในลุ่มน้ำสาละวินยังคงมีต่อเนื่องจากบรรพชนสมัยเทียดทวดปู่ย่าตายาย สู้อุตส่าห์เดินทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรี พักแรมในป่าด้วยการเสี่ยงอันตรายและความยากลำบากนานัปการ ใช้เวลาแรมเดือนเพื่อไปกราบนมัสการพระเกศาธาตุที่เดิงเลียะเกิงหรือที่เมืองร่างกุ้ง และได้พบปะกับชาวมอญในเมืองมอญด้วย ชาวมอญรุ่นสุดท้ายที่ใช้เส้น ทางดังกล่าวคือปู่อัง สันทอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ชักชวนกันไปจำนวน ๑๒ คน จากชุมชนมอญทั้งสองฝั่งลุ่มน้ำแม่กลอง โดยพระสงฆ์จากเมืองมอญชื่อ พระอาจารย์ชอนเตียะ จากวดชุกละ ที่เข้ามาเยี่ยม พระภิกษุในเมืองไทยเป็นผู้นำไป เมื่อเข้าเขตแดนฝั่งมอญมีวัวเกวียนเทียมมารับพาไปถึงหมู่บ้านมอญ และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ประทับตราตรึงใจมิรู้ลืม ชาวบ้านต่างเชิญชวนให้ไปบ้าน รับประทานอาหารและพักผ่อนนอนหลับที่บ้านเขาคนในหมู่บ้านพากันมาพูดคุย นำขนม ผลไม้ และดอกไม้มาให้ไหว้พระ

               ปู่อังเล่าต่อไปว่าพระอาจารย์ชอนเตียะชี้ให้ดูหมู่บ้านที่มีชื่อเหมือนกันกับหมู่บนมอญในเมืองไทย ทำให้นึกย้อนถึงที่มาของบรรพชนมอญบ้านโป่ง การไปนมัสการพระเกศาธาตุและการเยี่ยมเยียนกันเช่นนี้ยังคงมีอยู่ แต่เปลี่ยนการเดินทางจากทางบกเป็นทางอากาศรวดเร็ว สะดวกสบาย และสิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือความงดงามขององค์พระเจดีย์เลียะเกิงรวมทั้งการต้อนรับของพี่น้องในเมืองมอญ

               แม้กาลเวลาที่มอญบ้านโป่งได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานตามลุ่มน้ำแม่กลองเป็นเวลานานร่วม ๓๐๐ ปี แต่คำเล่าขานของบรรพชนยังได้รับการบอกเล่าสืบมา แม้ว่าเป็นชนชาติที่สิ้นแผ่นดิน แต่ไม่สิ้นชาติ ยังคงอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และศาสนา การสวดมนต์ภาษามอญยังมีอยู่ทุกวัด ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานไว้ว่าอย่าให้สูญหาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ชาวมอญบ้านโป่งจดจำและซาบซึ้งในพระมหากรุณามิรู้ลืม

              เหนือสิ่งอื่นใด ในดวงใจของคนไทยเชื้อสายมอญทั้งปวง สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ทรงเมตตาชาวมอญผู้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระราชทานแหล่งที่อยู่อาศัย เรือกสวน ไร่นา ดำรงชีพไดอย่างมั่นคง ปราศจากอันตราย มีความอบอุ่น มีสิทธิเสรีภาพ

              ชาวไทยเชื้อสายมอญทุกคนรักและเทิดทูนแผ่นดินเกิดแห่งนี้และมีความภาคภูมิใจในการ เป็นคนไทยเชื้อสายมอญซึ่งเป็นญาติพันธุ์กับคนไทยเชื้อสายอื่น ๆ เราจักอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง อย่างสงบร่มเย็นและผาสุกตลอดไปในบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์ และเปิดกว้างสำหรับทุกชาติพันธุ์..

 

ขอบคุณที่มา...
ศิลปากร, มหาวิทยาลัย. (๒๕๓๖). ลุ่มน้ำแม่กลอง: พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: พิฆเณศ.
ศูนย์มอญศึกษา. (๒๕๔๗). หนังสือนำชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง, ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม มอญ เตลง เมง รามัญ.
กองพุทธศาสนสถาน, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (๒๕๔๑). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.
กรมศาสนา. (๒๕๔๗). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒๒ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
จวน เครือวิชฌยาจารย์. (๒๕๓๙). ตำนานพระเจดีย์ร่างกุ้ง. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (๒๕๔๗). ประวัติศาสตร่ชาติพันธุ์ "เครือญาติ" มอญลุ่มแม่น้ำแม่กลอง. กรุงเทพฯ : มติชน
สัมภาษณ์
นายอัง สันทอง อายุ ๘๐ ปี หมู่ที่ ๙ ตำบลคุ้งพะยอม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘

ออฟไลน์ ~@เสน่ห์เอ็ม@~

  • ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย พระคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณ แล ครูบาอาจารย์ผู้เกื้อหนุน สาธุ..
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 5894
  • เพศ: ชาย
  • ศิษวัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณพี่ธรรมมะรักโขมากครับ สำหรับข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับ หมู่บ้านมอญในบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ใว้มีโอกาศจะแวะไปเที่ยวบ้างครับ ใกล้ๆแค่นี้เอง อิอิ