กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ, กฎแห่งกรรม และ ประสบการณ์วิญญาณ => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ => ข้อความที่เริ่มโดย: รวี สัจจะ... ที่ 30 ก.ค. 2553, 07:29:52

หัวข้อ: รอยทางและรอยธรรม...๒๙ ก.ค.๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: รวี สัจจะ... ที่ 30 ก.ค. 2553, 07:29:52
(http://img412.imageshack.us/img412/2074/s1035540.jpg)

ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง......
                    หยุดพักงานโยธากรรมฐาน รองบประมาณชุดใหม่ ทำให้มีเวลาพักผ่อน
เตรียมงานใหม่ เขียนแบบ ถอดแบบ สร้างถังเก็บน้ำและที่สรงน้ำพระ คำนวนวัสดุอุปกรณ์
และราคาที่จะต้องใช้ในการก่อสร้าง วางแผนงานอบรมนักศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยจะส่งมา
ใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่่กับเขียนโครงงาน เพื่อให้ออกมาเหมาะสมที่่สุด โดยการตั้งสมมุติฐาน
มองให้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น และถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร มองทั้งสองด้าน
คือในเชิงบวกและในเชิงลบ เพื่อที่จะรับมือกับปัญหา ถ้ามันเกิดขึ้น  การวางแผนตระเตรียม
งานไว้ล่วงหน้านั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการทำงาน เพราะจะทำให้งานนั้นเดินไปได้
ตามที่เรากำหนดไว้ และเมื่อมีปัญหาเราก็จะแก้ไขได้ทันที เพราะว่ามีแผนรองรับอยู่แล้ว
 " มองงานให้แตก แยกงานให้เป็น มองให้เห็นปัญหา เตรียมการล่วงหน้า จดบันทึกไว้ "
นี้คือแนวทางในการทำงานที่ยึดถือปฏิบัติมา
....รอยธรรม.....
                     ทำงานไปด้วยการเจริญสติไปในตัว เจริญสติในฐานกาย ดูลมหายใจ
ดูการเคลื่อนไหว ดูในอิริยาบททั้งหลาย แล้วแต่จังหวะ เวลา โอกาศ สถานที่และบุคคล
พิจารณาอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้ง ๙ อย่างในฐานเวทนา พิจารณาจิตที่เป็นอยู่ทั้ง ๑๖ อย่าง
พิจารณาธรรมทั้งหลายที่เกิดกับกายและจิต ลดเรื่องสมาธิ เหลือเพียงสติและสัมปชัญญะ
พยายามยกจิตให้เป็นวิปัสสนา คือการตามดู ตามรู้ตามเห็น ความเป็นไปของกายและจิต
ไม่ติดอยู่ในอารมณ์สมาธิคือความนิ่งสงบ  ความสงบนั้นคืออารมณ์ของสมาธิ ซึ่งต้องอาศัย
เหตุและปัจจัย คือความวิเวก สถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก ทำให้เกิดอุปธิวิเวก แต่อารมณ์
วิปัสสนานั้นอาศัยผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัย มองให้เห็นการเกิดดับของสรรพสิ่ง จากอย่างหยาบ
ไปสู่อย่างละเอียด จากสิ่งที่เป็นรูปไปสู่สิ่งที่เป็นนาม คือสิ่งที่สามารถเห็นได้ สัมผัสได้ ไปสู่สิ่ง
ที่เป็นเพียงความรู้สึก  อารมณ์ของสมาธินั้นเป็นไปในองค์ของฌานทั้ง ๔ แต่อารมณ์ของวิปัสสนานั้น
เป็นไปในญาณ ๑๖ เมื่อแยกอารมณ์ออกจากกันได้ชัดเจนแล้ว ก็จะทำให้ไม่หลงอารมณ์ปฏิบัติ
วิปัสสนูกิเลสก็จะไม่เกิดขึ้น วิปัสสนูกิเลสนั้น เกิดขึ้นเพราะผู้ปฏิบัติหลงในอารมณ์กรรมฐาน
.....รอยกวี.....
                  เตรียมกาย  เตรียมจิต  คิดทำ
                  น้อมนำ   ทำด้วย   สติ
                  ทำจิต     ให้เป็น   สมาธิ
                  ดำริ        คือคิด    ก่อนทำ
                          มองงาน   ให้แตก   แยกงาน
                          อย่าผ่าน    พินิจ      คิดซ้ำ
                          มองงาน    มองด้วย  หลักธรรม
                          เพลี่ยงพล้ำ  ไม่เกิด   แก่เรา
                 รู้เห็น    เข้าใจ   ปัญหา
                 ปัญญา   ทำให้   ไม่เขลา
                 ทำกาย   ทำจิต   โปร่งเบา
                 รู้เท่า      รู้ทัน     อารมณ์
                          ชีวิต    คือการ   ทำงาน
                          ต้องผ่าน  ซึ่งการ  สะสม
                          เรียนรู้     สู่โลก   สังคม
                          เหมาะสม  กับวัน  เวลา
                 รู้โลก    รู้ธรรม   นำจิต
                 พินิจ    และหมั่น  ศึกษา
                 เจริญ    สติ      ภาวนา
                 ปัญญา  เกิดได้  จากธรรม....
               .....................................
               เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                        รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๓๐ น. ณ ศาลาน้อย ริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๒๙ ก.ค.๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: ~เสน่ห์ack01~ ที่ 30 ก.ค. 2553, 07:59:57
" มองงานให้แตก แยกงานให้เป็น มองให้เห็นปัญหา เตรียมการล่วงหน้า จดบันทึกไว้ "

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ขอบพระคุณสำหรับแนวคิดครับ
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๒๙ ก.ค.๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: derbyrock ที่ 30 ก.ค. 2553, 09:01:28
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ กราบขอบพระคุณที่สอนสั่งย้ำเตือนหลักการคิด ให้คิดรอบด้านเพราะคนเรามักมองอะไรด้านเดียว พอเจอปัญหาอีกด้านก็สับสนทำอะไรไม่ถูก เหตุเพราะไม่เคยคิดแผนเผื่อไว้ล่วงหน้าครับ
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๒๙ ก.ค.๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: ~@เสน่ห์เอ็ม@~ ที่ 30 ก.ค. 2553, 09:15:24
กราบมนัสการพระอาจารย์ที่เคารพ   :054:

กราบขอบพระคุณ สำหรับเรื่องราว รอยทาง รอยธรรม รอยกวี และคำสอน

ศิษย์ขอน้อมศึกษาใว้เป็นแนวทางต่อไป   :054: