กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ, กฎแห่งกรรม และ ประสบการณ์วิญญาณ => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ => ข้อความที่เริ่มโดย: รวี สัจจะ... ที่ 09 ต.ค. 2553, 08:16:30

หัวข้อ: รอยทางและรอยธรรม...๘ ต.ค. ๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: รวี สัจจะ... ที่ 09 ต.ค. 2553, 08:16:30
(http://img137.imageshack.us/img137/6522/s1035553.jpg)

ตถตาอาศรม ริมฝั่งโขง
 ๙ ตุลาคม ๒๕๕๓
.....รอยทาง.....
                     เมื่อวานนี้ ( ๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ )เป็นวันพระใหญ่ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ตื่นนอนตามเวลาปกติ ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเช้าบนศาลาที่พัก เสร็จแล้วลงไปจัดสถานที่
ให้ญาติโยมที่จะมาทำบุญตักบาตรที่วัด ออกไปรับวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ญาติโยมถวายและส่ง
มาจากกรุงเทพฯที่ บ.ข.ส. เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้่ที่จะนำไปติดตั้งในพระอุโบสถและพระธาตุเจดีย์
กลับมาจากไปรับของแล้ว ชักชวนญาติโยมให้ไปช่วยกัน " ยาเรือ " อุดรอยรั่วของเรือหางยาว
ตอนบ่ายนำพระไปลงอุโบสถเพื่อฟังพระปาฏิโมกข์ ร่วมกับพระภิกษุที่จำพรรษาในเขตตำบล
เดียวกัน กลับจากฟังพระปาฏิโมกข์ถึงวัดประมาณบ่ายสองกว่าๆ  มาเปิดกล่องวัสดุอุปกรณ์ไ้ฟฟ้า
ที่โยมส่งมาจากกรุงเทพฯเพื่อตรวจเช็ครายการที่ระบุมาในใบส่งของ ปรากฏว่าถูกต้องครบทุกรายการ
ได้เวลาจึงไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นนั่งสมาธิ อธิษฐานจิต แผ่เมตตา ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง
เปิดฟังเสียงธรรมบรรยายของหลวงพ่อพุทธทาสในขณะที่เดินจงกรม ใช้เวลาในการเดินจงกรมประมาณ
๒ ชั่วโมงจึงได้หยุดพักมานอนพิจารณาร่างกาย ทำกายคตานุสติกรรมฐาน คือการดูร่างกายของตนเอง
จนสมควรแก่เวลาจึงได้จำวัตรพักผ่อน
.....รอยธรรม.....
                    การเดินจงกรมนั้น เป็นการเจริญสติและสัมปชัญญะพร้อมกันไปในตัว เป็นได้ทั้งสมถะ
และวิปัสสนา ซึ่งถ้าจะให้เป็นสมถะนั้นเราก็เน้นที่สติ คือสติอยู่กับองค์ภาวนาในขณะที่เรากำลังก้าวเดิน
แต่ถ้าจะให้เป็นวิปัสสนานั้น เปลี่ยนมาเป็นการใช้สตินั้นพิจารณาตามดู ตามรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกาย
มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิต ปัญหาของผู้ปฏิบัติธรรมที่มักจะเกิดขึ้นนั้น คือขาดความต่อเนื่องในอารมณ์
กรรมฐาน ไม่เสมอกันในอิริยาบท เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน คิดว่าการเสมอกันในอิริยาบทนั้นคือการที่
ปฏิบัติในอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ในระยะเวลาที่เท่ากัน ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะความหมาย
ของคำว่า " การเสมอกันในอิริยาบท "นั้น หมายถึงการปฏิบัติในกรรมฐานกองเดียวกันในอิริยาบททั้งหลาย
คืออารมณ์กรรมฐานนั้นเสมอกันในทุกอิรยาบท เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของอารมณ์กรรมฐานตามหลักของ
" อิทธิบาท ๔ "  อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิต วิมังสา  ซึ่งเราต้องค้นหาตัวเองให้ได้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
ต้องการเพียงความสงบ เพื่อหลบปัญหา หรือว่าปรารถนาซึ่งความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย เพื่อ มรรค
ผล นิพพาน หรือเพื่อความต้องการที่จะมีอิทธิฤทธิ์  เราต้องถามตนเองให้ได้คำตอบเสียก่อนว่า " เราทำเพื่ออะไร "
และเมื่อได้คำตอบให้ตนเองแล้ว จึงมาคิดต่อไปว่าทำอย่างไร ศึกษาหาข้อมูลของการปฏิบัติธรรม ว่าควรทำอย่างไร
ถามผู้รู้ ดูตำรา หาครูบาอาจารย์ นั้นคือแนวทางต่อไป และสิ่งที่จะทำให้เกิดความเจริญในธรรมได้เร็วนั้น ก็คือแนวทาง
ที่จะปฏิบัตินั้น ต้องเหมาะสมกับจริตของเรา " ธรรมะสัปปายะ " อันมี " ฉันทะ " ความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ เป็นพื้นฐาน
คือการมีศรัทธาในสิ่งที่กระทำ มีความเพียรพยายามที่จะกระทำในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่ใช่ ตั้งใจทำไปโดยไม่ทอดทิ้งธุระ
กระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ มีการคิดพิจารณาใคร่ครวญว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันเป็นอย่างไร  สิ่งนี้คือ   " อิทธิบาท ๔ "
สิ่งนี้คือแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทั้งหลาย...

(http://img203.imageshack.us/img203/6766/s1036047.jpg)

.....รอยกวี.....
                   มองผ่าน  ช่องหน้าต่าง
               เห็นฟ้ากว้าง  และทางไกล
               มองเมฆ      ที่ลอยใหล
               ทำให้ใจ      ไร้กังวล
                              ปล่อยจิต   และปล่อยใจ
                           ปล่อยออกไป ไม่สับสน
                           ผ่อนคลาย     ไร้กังวล
                           ปล่อยตัวตน   ไม่กดดัน
                                              ปล่อยใจ    ให้จิตว่าง
                                            หยุดทุกอย่าง ที่คิดฝัน
                                              อยู่กับ      ปัจจุบัน
                                            ไม่เฝ้อฝัน   จนเกินจริง
                                                           เรียนรู้     การเกิดดับ
                                                         เรียนรูู้กับ    สรรพสิ่ง
                                                         วางใจ       ให้หยุดนิ่ง
                                                        พบความจริง สัจจธรรม
                                                                        สัจจะ   ที่แอบแฝง
                                                                      มีทุกแห่ง ให้จดจำ
                                                                      ให้คิด     และน้อมนำ
                                                                     เอามาทำ  ให้เป็นจริง
                                                                                  ธรรมะ     ต้องกระทำ
                                                                               เพียงแต่จำ  จิตไม่นิ่ง
                                                                               จิตนั้น       เหมือนกับลิง
                                                                              ไม่หยุดนิ่ง   ล่อหลอกเรา
                                                                                                 ตามดู     ให้รู้เห็น
                                                                                               รู้ที่เป็น      ไม่โง่เขลา
                                                                                              เรียนรู้         จากจิตเรา
                                                                                             เพื่อให้เข้า    ใจในธรรม....
                                     ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
                                            รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม
 ๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๔๕ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายขอบประเทศไทย   
                  
  
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๘ ต.ค. ๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: ~@เสน่ห์เอ็ม@~ ที่ 09 ต.ค. 2553, 09:21:26
กราบมนัสการพระอาจารย์ที่เคารพ  :054:

กราบขอบพระคุณเรื่องราว รอยทาง รอยธรรม รอยกวี คำสอน  :054:

เราต้องถามตนเองให้ได้คำตอบเสียก่อนว่า " เราทำเพื่ออะไร "
และเมื่อได้คำตอบให้ตนเองแล้ว จึงมาคิดต่อไปว่าทำอย่างไร ศึกษาหาข้อมูลของการปฏิบัติธรรม ว่าควรทำอย่างไร

สำหรับศิษย์แล้วสมัยก่อนต้องการที่จะมีอิทธิฤทธิ์ แต่ก็ได้มาพิจณาดูว่าเป็นสิ่งไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้เลย แถมเป็นการเพิ่มอัตตาและความทุกข์มากยิ่งขึ้น ตอนนี้ศิษย์จะพยายามศึกษาหาความรู้เชื่อครูบาอาจารย์เพื่อดำเนินทางการพ้นทุกข์ต่อไป  :054:
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๘ ต.ค. ๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: NONGEAR44 ที่ 09 ต.ค. 2553, 09:43:03
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ขอบพระคุณมากครับสำหรับคำสอนครับ
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๘ ต.ค. ๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: berm ที่ 09 ต.ค. 2553, 09:47:39
 :054:กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ....คำสอนของพระอาจารย์เป็นประโยชน์อย่างสูงสำหรับคนที่เิ่ริ่มปฏิบัติธรรมหรือภาวนา
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๘ ต.ค. ๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: viriya ที่ 09 ต.ค. 2553, 10:29:04
     ตามดู       ให้รู้เห็น
   รู้ที่เป็น        ไม่โง่เขลา
   เรียนรู้         จากจิตเรา
   เพื่อให้เข้า   ใจในธรม
    กราบนมัสการขอรับพระคุณเจ้า  กระผมยังโง่เขลามากเลยขอรับ
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๘ ต.ค. ๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: nsp8428 ที่ 09 ต.ค. 2553, 09:57:56
                             ปล่อยจิต   และปล่อยใจ                         
                          ปล่อยออกไป ไม่สับสน
                             ผ่อนคลาย     ไร้กังวล
                           ปล่อยตัวตน   ไม่กดดัน
                                              ปล่อยใจ    ให้จิตว่าง
                                            หยุดทุกอย่าง ที่คิดฝัน
                                              อยู่กับ      ปัจจุบัน
                                            ไม่เฝ้อฝัน   จนเกินจริง


กราบนมัสการพระอาจารย์และกราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๘ ต.ค. ๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: หลังฝน.. ที่ 10 ต.ค. 2553, 01:07:00
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ เป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติธรรมได้ดีมากๆเลยครับ กราบขอบพระคุณพระอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ :054:
หัวข้อ: ตอบ: รอยทางและรอยธรรม...๘ ต.ค. ๕๓
เริ่มหัวข้อโดย: derbyrock ที่ 10 ต.ค. 2553, 05:36:47
ตามดู     ให้รู้เห็น
รู้ที่เป็น      ไม่โง่เขลา
เรียนรู้         จากจิตเรา
เพื่อให้เข้า    ใจในธรรม....

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ชีวิตทุกวันนี้พอเข้าใจในธรรมมากขึ้นทำให้ชีวิตไม่วุ่นวายเหมือนก่อน ไม่ซับซ้อน คิดอ่านอย่างมีสติ กราลชอบพระคุณที่เมตตาสั่งสอนเสมอมาครับ