กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ, กฎแห่งกรรม และ ประสบการณ์วิญญาณ => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ => ข้อความที่เริ่มโดย: รวี สัจจะ... ที่ 26 ก.ค. 2554, 07:27:33

หัวข้อ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ กค. ๕๔...
เริ่มหัวข้อโดย: รวี สัจจะ... ที่ 26 ก.ค. 2554, 07:27:33
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
อังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
           ฝนตกลงมาในขณะที่ออกรับบิณฑบาต เปียกชุ่มไปทั้งตัว มองโลกในเชิงบวก
เป็นโอกาสดีที่จะได้ซักผ้า ฤดูเข้าพรรษาถ้าฝนไม่ตกลงมานั้นเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ
เมื่อใจยอมรับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ ใจนั้นก็ไม่มีความทุกข์
ใจเป็นสุขอยู่ภายใน เดินยิ้มไปกลางสายฝน นั้นคือผลของการมองโลกในเชิงบวก
เป็นการรักษาจิตให้อยู่กับความคิดที่เป็นกุศล ไม่เอาตัณหาความอยากของตนมา
ตัดสินในปัญหาว่ามันดีหรือมันเลว ความพอใจและไม่น่าพอใจในอารมณ์ทั้งหลาย
ที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นจากตัณหาคือความต้องการของเรานั้น จะได้รับการสนองตอบ
หรือไม่ ถ้าได้รับการสนองตอบตามที่เราต้องการ เราก็จะมีความยินดีและพอใจในสิ่งนั้น
แต่ในทางกลับกัน ถ้าความต้องการของเรานั้นไม่ได้รับการตอบสนอง ใจของเรานั้นก็จะ
ขุ่นมัว เกิดปฏิฆะ เกิดอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจขึ้นมา สิ่งนี้คือฐานเวทนาในสติปัฏฐาน ๔
คือความยินดีและไม่น่ายินดีในอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย เมื่อเรารู้และเข้าใจควบคุมได้
ในอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานี้ จิตนั้นก็มีธรรมะคุ้มครองอยู่...
            การตามดู ตามรู้ ตามเห็น ความเป็นไปของปัจจุบันธรรมนั้น คือการเจริญสติ
และสัมปชัญญะ คือหลักธรรมะที่ว่าด้วยการน้อมเข้ามาสู่ตัว คือการเอาสติมาระลึกรู้
อยู่กับกาย อยู่กับจิต อยู่กับความคิดของตัวเราเอง รู้ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น รู้ในสิ่งที่
กำลังเป็นอยู่ รู้ในสิ่งที่กำลังจะดับไป รู้จักการหักห้ามใจไม่คล้อยตามกิเลสฝ่ายต่ำทั้งหลาย
แยกแยะกุศลและอกุศลออกจากกันได้ ดำรงทรงไว้ซึ่งจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิทั้งหลายให้เกิดขึ้น
ดำเนินชีวิตไปตามแนวทางแห่งอริยมรรค ๘ เป็นการฝึกหัดขัดเกลาชำระจิตใจ สร้างความเคย
ชินตัวใหม่ให้กับจิต ฝึกให้คิดและพิจารณา น้อมจิตเข้าหาธรรม รักษาทรงไว้ซึ่งสภาวธรรม
ทั้งหลายที่เป็นกุศล เมื่อเรารักษาธรรม แล้วธรรมนั้นจะรักษาเรา...
           การปฏิบัติธรรมนั้นอุปมาได้ว่า เหมือนกับการฝึกเขียนหนังสือ คือต้องเริ่มจากรูปแบบ
และพื้นฐาน เริ่มจากครูบาอาจารย์จับมือให้เขียนตามลากเส้นตาม มาสู่การเขียนตามแบบที่
ครูบาอาจารย์ท่านได้กำหนดไว้ จากตัวบรรจงเต็มบรรทัด ฝึกคัดลายมือจนชำนาญ เข้าสู่การ
เขียนและเรียนรู้มาเป็นตัวครึ่งบรรทัด จากอักษรตัวบรรจงมาเป็นอักษรตัวหวัด ล้วนเกิดจาก
ฝึกหัดและฝึกฝนจนชำนาญ สั่งสมประสบการณ์จนเป็นลายมือเฉพาะตน จนรู้ได้เฉพาะตน
ทุกอย่างนั้นต้องเริ่มจากเบื้องต้นพื้นฐานตามรูปแบบ การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เราต้องเริ่มต้น
จากพื้นฐานตามรูปแบบ จนมีความชำนาญในพื้นฐานและรูปแบบดีแล้ว ชัดเจนแล้ว จึงจะเข้าสู่
การเรียนรู้หาความเหมาะสมสำหรับตน การที่จะไร้รูปแบบได้นั้นเราต้องผ่านการเรียนรู้รูปแบบพื้นฐานมามาเสียก่อน
 “ ที่สุดของกระบวนท่า คือการไร้ซึ่งกระบวนท่า ที่สุดของอาวุธ คือการไม่มีอาวุธ ที่สุดของกระบี่ คือกระบี่อยู่ที่ใจ
ที่สุดของรูปแบบ คือการไร้ซึ่งรูปแบบ เพราะรูปแบบนั้นอยู่ที่ใจ “ ที่จะถึงซึ่งจุดนั้นได้ก็ต้องเริ่มต้นมาจากพื้นฐาน
การมีรูปแบบมาทั้งสิ้น....
                              เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                                   รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๗.๑๖ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
หัวข้อ: ตอบ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ กค. ๕๔...
เริ่มหัวข้อโดย: saken6009 ที่ 26 ก.ค. 2554, 08:36:44
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ รักษาดูแลสุขภาพด้วยนะครับ :054: :054:
   
ขอบพระคุณ ท่านพระอาจารย์ สำหรับคำสอนดีๆ ที่นำมาให้พี่น้องศิษย์วัดบางพระได้อ่านครับ
                                                                                                                                   
(ขออนุญาตเข้ามาอ่าน ขอบพระคุณครับ) :054: :054:
หัวข้อ: ตอบ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ กค. ๕๔...
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 26 ก.ค. 2554, 08:39:51
กราบนมัสการท่านพระอาจารย์ฯ :054:

ธรรมะที่ท่านสอนช่างง่ายดาย เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย ปฏิบัติได้จริงๆครับ

อ้างถึง
การตามดู ตามรู้ ตามเห็น ความเป็นไปของปัจจุบันธรรมนั้น คือการเจริญสติ
และสัมปชัญญะ คือหลักธรรมะที่ว่าด้วยการน้อมเข้ามาสู่ตัว คือการเอาสติมาระลึกรู้
อยู่กับกาย อยู่กับจิต อยู่กับความคิดของตัวเราเอง รู้ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น รู้ในสิ่งที่
กำลังเป็นอยู่ รู้ในสิ่งที่กำลังจะดับไป รู้จักการหักห้ามใจไม่คล้อยตามกิเลสฝ่ายต่ำทั้งหลาย
แยกแยะกุศลและอกุศลออกจากกันได้ ดำรงทรงไว้ซึ่งจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิทั้งหลายให้เกิดขึ้น
ดำเนินชีวิตไปตามแนวทางแห่งอริยมรรค ๘ เป็นการฝึกหัดขัดเกลาชำระจิตใจ สร้างความเคย
ชินตัวใหม่ให้กับจิต ฝึกให้คิดและพิจารณา น้อมจิตเข้าหาธรรม รักษาทรงไว้ซึ่งสภาวธรรม
ทั้งหลายที่เป็นกุศล เมื่อเรารักษาธรรม แล้วธรรมนั้นจะรักษาเรา...
หัวข้อ: ตอบ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ กค. ๕๔...
เริ่มหัวข้อโดย: boomee ที่ 26 ก.ค. 2554, 08:54:20
ขอบพระคุณท่านพระอาจารย์ สำหรับคำสอนดีๆ ครับ :001:
หัวข้อ: ตอบ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ กค. ๕๔...
เริ่มหัวข้อโดย: derbyrock ที่ 26 ก.ค. 2554, 09:14:08
เมื่อใจยอมรับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ ใจนั้นก็ไม่มีความทุกข์
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ในระยะหลังของชีวิต ความทุกข์ลดน้อยลงไปมากสาเหตุเพราะใจยอมรับความเป็นจริงมากขึ้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย รวย จน สมหวัง ผิดหวัง ถ้ายอมรับและมีสติกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คงบอกลาความทุกข์และทักทายกับความสุขได้กับทุกวันของชีวิต
หัวข้อ: ตอบ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๕ กค. ๕๔...
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 27 ก.ค. 2554, 08:41:24
เมื่อใจยอมรับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ ใจนั้นก็ไม่มีความทุกข์
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ในระยะหลังของชีวิต ความทุกข์ลดน้อยลงไปมากสาเหตุเพราะใจยอมรับความเป็นจริงมากขึ้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย รวย จน สมหวัง ผิดหวัง ถ้ายอมรับและมีสติกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คงบอกลาความทุกข์และทักทายกับความสุขได้กับทุกวันของชีวิต

เห็นจริงด้วยครับท่าน :015: