พระปิดตาปิดทวารฯ "วัดหนัง" กรุงเทพมหานคร
"วัดโคนอน" ตั้งอยู่ ต.บางหว้า อ.ภาษีเจริญ กทม. ฝั่งธนบุรี พระอารามแห่งนี้ "หลวงปู่รอด" ผู้เป็นพระอาจารย์ผู้เลื่องชื่อในไสยเวทของ "หลวงปู่เอี่ยม" มาครองอยู่นับแต่ถูกถอดสมณะศักดิ์ จาก "พระภาวนาโกศลเถระ" (รอด) ให้เป็นพระธรรมดา และเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว หลวงปู่เอี่ยมซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิคนโปรดของท่าน ก็เป็นเจ้าอาวาส "วัดโคนอน" องค์ต่อมา โดยทั้งพระอาจารย์และศิษย์ต่างก็ได้สร้างวัตถุมงคลไว้ที่วัดนี้ ในลักษณะที่คล้ายๆ กันด้วย
"วัดหนังราชวรวิหาร" หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "วัดหนัง" นี้เดิมเป็นวัดเก่าแก่มาแต่ครั้งสมัยอยุธยายุคปลาย ตั้งอยู่ในคลองด่านฝั่งเหนือ ต.บางค้อ อ.บางขุนเทียน กทม. ฝั่งธนบุรี ต่อมา พระอารามแห่งนี้ได้ถูกรื้อถอน แล้วเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) พระองค์ก็ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เสียใหม่ แล้วยกให้เป็นพระอารามหลวงตั้งแต่นั้นมา จนถึงสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) พระองค์ก็ได้โปรดให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง....ที่วัดหนังนี้เดิมหลวงปู่รอด ซึ่งเคยเป็นฐานานุกรมของเจ้าอาวาสวัดหนังองค์แรกมาก่อน แล้ว จึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนอง และก็นี่เองหลวงปู่เอี่ยมซึ่งเคยเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโคนอน ก็ได้ย้ายมาที่วัดหนังนี้อีกครั้งจนถึงมรณภาพเช่นกัน
ครับ, ที่ต้องนำประวัติของ "สองวัดและสองหลวงพ่อ" นี่ขึ้นมากล่าวไว้ก่อนเช่นนี้ ก็เพื่อชาวพระเครื่องชั้นหลังจะได้ไม่ต้องนั่งปวดหัว "เรื่องวัดกับพระเครื่อง" ซึ่งเดี๋ยวไปอยู่วัดโน้นและมาพบวัดนี้ ว่ากันให้วุ่นทั้งๆ ที่หลักฐานก็อ่อนเหลือเกิน สรุปแล้วถ้าพระเครื่องพิมพ์ใดผิดวัดไปบ้าง ก็ให้ถือเสียว่านั่นเป็นของแท้ที่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง หรือวัดโคนอน ท่านสร้างไว้โดยไม่ใช่ของพระอาจารย์อื่นก็แล้วกัน สำหรับผู้เขียนก็เชื่อว่า พระเครื่องเพียง 25% เท่านั้น ที่หลวงปู่เอี่ยมสร้างเป็นประเดิมไว้ที่วัดโคนอน แต่อีก 75% เชื่อว่าได้สร้างไว้ที่วัดหนังเสียส่วนมาก เพราะหลวงปู่เอี่ยมท่านครองวัดหนังอยู่ถึง 27 ปี จึงมรณภาพ จึงมีเวลาเหลือเฟื่อสำหรับการสร้างพระพิมพ์เยี่ยมๆ และเหรียญซึ่งดังเกรียวกราวมากในขณะนี้ นับเป็นธรรมดาของผู้คงแก่เรียน ซึ่งอิ่มในวิททยาคมขลัง ท่านมักจะนิยมสร้างวัตถุกันไส้ในบั้นปลายชีวิตเสียเป็นส่วนมากด้วย....เอาละครับ, ต่อไปนี้ขอนำท่านเข้าสู่ประวัติหลวงปู่แห่งวัดหนังโดยสังเขปต่อไปอีกครั้ง
"หลวงปู่เอี่ยม" หรือ "เจ้าคุณเฒ่า" หรือ "พระภาวนาโกศล" (เอี่ยม) ท่านเป็นชาวบางขุนเทียนมาแต่กำเนิ เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2375 (สมัย ร.3) เป็นบุตรของนายทองและนางอู่ เมื่อถึง พ.ศ. 2387 โยมทั้งสองได้นำท่านไปฝากเรียนอยู่ที่สำนักวัดหนัง จนถึง พ.ศ. 2397 ท่านจึงทำการอุปสมบท ณ ที่วัดราชโอรส ท่านเคร่งและศึกษาด้านปริยัติธรรมมาก และชั่วระยะหนึ่งท่านก็ย้ายไปอยู่ที่วัดนางนอง โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับ "หลวงปู่รอด" ซึ่งกำลังเลื่องชื่อมากในด้านวิทยาอาคมขลัง หลวงปู่เอี่ยมได้หันมาสนใจในด้านไสยเวท จนถึงขนาดได้เป็นศิษย์เอกที่พระอาจารย์รักมาก ครั้นต่อมาในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) "หลวงปู่รอด" ได้ถูกถอดจากสมณะศักดิ์เดิม ให้เป็นพระสงฆ์ธรรมดาๆ หลวงปู่รอดจึงได้ย้ายพระอารามไปครองอยู่ที่วัดโคนอน โดยมีเจ้าคุณเฒ่าตามไปรับใช้อยู่ที่วัดโคนอนด้วย ต่อมาไม่นานนักหลวงปู่รอดได้ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดโคนอนสืบแทนพระอาจารย์ต่อไป
เมื่อถึง พ.ศ. 2441 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าให้ "หลวงปู่เอี่ยม" ไปครอง "วัดหนัง" ต่อไป และรุ่งขึ้นอีก 1 ปี องค์สมเด็จพระปิยะมหาราชก็ได้พระราชทานสมณะศักดิ์ให้แก่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง เป็นพระราชาคณะที่ "พระภาวนาโกศล" (เอี่ยม) ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับพระอาจารย์ของท่านนั่นเอง ท่านได้ครองวัดหนังอยู่ถึง 27 ปีเศษ จึงถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2469 รวมอายุได้ 94 ปี
พระปิดทวาร "ยันต์ยุ่ง" และ "พิมพ์ประกบ" ของหลวงปู่เอี่ยม ประมาณว่าได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 ณ ที่ "วัดหนัง" นั่นเอง สำหรับพระปิดตาเนื้อไม้ เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อโลหะต่างๆ แบบหน้าเดียวและพระกริ่ง รวมทั้งเนื้อผงบางชนิด ก็ได้มีสร้างมาก่อนที่วัดโดนอนแล้ว เมื่อมาอยู่วัดหนัง หลวงปู่เอี่ยมท่านได้นำมาสร้างและแก้ไขใหม่อีกครั้ง เรื่องราวของพระปิดทวารยันต์ยุ่งนี้ นับเป็นการสร้างที่ต้องใช้ความประณีตแบบพระวัดทองของหลวงพ่อทับ (สร้างองค์ต่อองค์) มีลักษณะที่คล้ายกันก็จริง แต่ขนาดจะไม่เท่ากัน มีสร้างไว้ทั้งชนิดเนื้อสัมฤทธิ์แก่เงิน และเนื้อโลหะแก่ทอง (ที่ทำเป็นเนื้อผงสีน้ำตาลก็มี แต่หาชมได้ยากมาก) พระวัดหนังยันต์ยุ่งของวัดหนังเป็นพระปิดทวารที่อลังการไปอีกแบบหนึ่งโดยองค์จะบางกว่าพระวัดทอง
ขณะนี้ "พระปิดทวารยันต์ยุ่ง" ของวัดหนังซึ่งหาชมหรือมาเช่าได้ยากที่สุดนั้น ได้มีการทำปลอมกันไว้มากควรระวังไว้ด้วย สำหรับพุทธคุณของพระปิดทวารพิมพ์ยันต์ยุ่งนี้ ก็ไม่ผิดไปกว่าพระแร่บางไผ่ หรือพระปิดทวารวัดทองเลย นั่นก็คือเยี่ยมด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และดีทางมหาอุตม์ด้วยครับ
ดังได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องพระปิดทวาร "ยันต์ยุ่ง" ว่าพระ "ภควัมบดี" ที่หลวงปู่เอี่ยมสร้างไว้มีมากพิมพ์ ประมาณจำนวนกันไม่ได้ แต่ก็เชื่อกันว่าพระเพียง 25% เท่านั้นที่ท่านอาจสร้างไว้เป็นครั้งแรกที่ "วัดโคนอน" สำหรับอีก 75% เข้าใจว่าใครสร้างที่ "วัดหนัง" เป็นส่วนใหญ่...."หลวงปู่เอี่ยม" แห่งวัดหนังราชวรวิหารองค์นี้ นับเป็นผู้เรืองวิทยาคมในระดับเดียวกับหลวงปู่รอด ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านทีเดียว
กล่าวกันว่าเมื่อท่านมาอยู่วัดหนังได้ระยะหนึ่ง คือประมาณ พ.ศ. 2448 ท่านก็เริ่มสร้างพระเนื้อไม้แกะ และพระปิดตาฐานบัว ที่เคยสร้างไว้ที่วัดโคนอนต่อไปอีก สลับด้วยพระกริ่ง พระอุดก้นด้วยชันโรง พระปิดทวารยันต์ยุ่ง พระปิดทวารนะหัวเข่า พระปิดทวารหัวบานเย็น พระปิดตาหมากทุย พระปิดทวารพิมพ์ประกบ พระปิดตาพิมพ์ข้าวตอกแตก พระตาพิมพ์สังฆาฏิ และพระปิดตาปิดทวารพิมพ์เล็กจิ๋วอีกหลายแบบ รวมทั้งเป็นองค์พระ (ไม่ใช่พระปิดตา) ที่ประมาณพิมพ์ไม่ได้อีกด้วย หลวงปู่เอี่ยมได้สร้างพระแบบ "องค์ภควัมบดี" ดังกล่าว เป็นลำดับไปด้วยเนื้อไม้ เนื้อสัมฤทธิ์แก่เงิน (พิมพ์ยันต์ยุ่งและพิมพ์ประกบ นิยมกันมากและแพง) เนื้อสัมฤทธิ์แก่ทอง เนื้อชินเงิน เนื้อตะกั่วผสมชิน เนื้อเมฆพัด (มีน้อย) เนื้อผงสีต่างๆ เนื้อผงคลุกรัก และเนื้อผงใบลานเผาก็มีสร้างไว้
สรุปจากพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ที่หลวงปู่เอี่ยมได้สร้างไว้ ปัจจุบันจะหาชมได้เพียงบางพิมพ์เท่านั้น และขณะนี้ก็นับว่าได้สนนราคาเช่ากันสูงพอสมควรทีเดียว (พระปิดตา "ข้าวตอกแตก" เล็กจิ๋วกับพระปิดทวารเล็กจิ๋วเนื้อดินเป็นพระที่นิยมกันมาก) เรื่องราวจากพระปิดตาและปิดทวารของหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง ยังคงมีปรากฏพิมพ์แปลกตาผ่านสนามพระเข้ามาอยู่เสมอ (จากรังเก่าเก็บบางบ้าน) จึงเป็นเรื่องไม่ยุติสำหรับพระของหลวงปู่เอี่ยมเพราะยังมีของดีซ่อนเร้นอยู่อีกมากที่เรายังจะต้องศึกษาต่อไปอีก.....
ครับ, แน่นอนเหลือเกินที่พระปิดตาและปิดทวารฯ ดังได้กล่าวไปแล้วนี้ พุทธคุณท่านมีดีครบ 3 ประการ เช่นพระเครื่องทั้งหลาย และยังเป็นพระที่ให้โชคให้ลาภอีกทางหนึ่งด้วยครับ
ขอบคุณเวป http://www.tumnan.com/ ที่แนะนำประวัติหลวงปู่น่ะครับ...