ผู้เขียน หัวข้อ: พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล-พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ  (อ่าน 3154 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน

“พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล” องค์สีน้ำตาล ประดิษฐานอยู่บนที่สูงสุดในพระราชอาณาจักรไทย เคียงคู่กับ “พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ” องค์สีม่วงอมชมพู ตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ ๔๑.๕ ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล สร้างถวาย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ และพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ สร้างถวาย “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕

เป็นเวลากว่า ๒๐ ปีแล้ว ที่พระมหาสถูปเจดีย์อันยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดินองค์นี้ ได้ประดิษฐานอย่างสง่างาม เป็นที่เคารพสักการะของชนชาวไทย ณ ยอดดอยอินทนนท์ อันเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือสูงเกือบ ๘,๐๐๐ ฟุต

 

ที่มาของพระมหาสถูปเจดีย์นั้น เนื่องด้วยในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นปีเดียวกันกับที่กองทัพอากาศ มีอายุครบ ๗๒ ปี ดังนั้น กองทัพอากาศจึงได้เห็นพ้องกันว่า สมควรร่วมใจบริจาคทรัพย์ทำบุญสร้างอนุสารณียวัตถุขึ้นเป็นที่ระลึกวาระสำคัญของกองทัพอากาศ และเฉลิมพระเกียรติน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลในศุภวาระมงคลนี้

จึงได้จัดสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยเหตุผลว่า คงจะไม่มีสิ่งอื่นใดเทียบเท่าการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กอปรทั้งปวงอาณาประชาราษฎร์ต่างเห็นประจักษ์แจ้งว่า นอกจากจะทรงดำรงฐานะแห่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก โดยเฉพาะทรงช่วยอภิบาลบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสถาพรยิ่งกว่าในกาลรัชสมัยใดแล้ว ยังทรงเจริญพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวดอีกด้วย ทั้งไม่แต่การถวายพุทธสักการะเป็นอามิสบูชา แม้การปฏิบัติบูชาก็ทรงมีพระราชศรัทธาบำเพ็ญภาวนาให้ทรงบรรลุและสำเร็จได้จริงจัง

 

เหตุที่เลือกดอยอินทนนท์ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระมหาธรรมิกราชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพ และพระบารมีแผ่ไพศาลสุดแผ่นดินและจดแผ่นฟ้า ดังนั้น สถานที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์นี้ จึงควรสถิตอยู่ ณ จุดที่สูงสุดบนผืนแผ่นดินไทย เพื่อให้สมกับพระมหากรุณาธิคุณ พระมหาเมตตาธิคุณ และพระมหาบริสุทธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้สถิตอยู่สูงสุด และในดวงใจของปวงพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

“พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล” มีความหมายว่า “พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน” มีความสูง ๖๐ เมตร เพื่อเป็นนิมิตรหมายการสร้างเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา องค์พระมหาสถูปเจดีย์มีสัณฐานทรงระฆัง ๘ เหลี่ยม มีลวดลายแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง แทนพระบารมี ๓ ขั้นตอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญ อันประกอบด้วย บารมีขั้นแรก ๑๐ ขั้น อุปบารมี ๑๐ ขั้น และปรมัตถบารมี ๑๐ ขั้น รวมเป็น บารมี ๓๐ ทัศ

  
 

ส่วนที่เหนือรูปทรงระฆัง เป็นรูปบัวหงาย ๘ กลีบ หมายถึงมรรคมีองค์ ๘ และส่วนบนสุดขององค์พระมหาสถูปเจดีย์ มีรูปทรงเป็นยอดปลี ซึ่งหมายถึงการตรัสรู้สู่พระนิพพาน และที่ปลายยอดปลีกั้นด้วยฉัตรโลหะสีเงิน ๙ ชั้น ฉลุลายสีเงิน มียอดเป็นสีทอง อันหมายถึง อุดมมงคลอันสูงสุด และเป็นร่มเกล้าที่พระมหากษัตริยาธิราช รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงเป็น “นวราชบพิตร” ถวายเป็นพุทธบูชา

ส่วนพื้นฐานอันเป็นที่ตั้งขององค์พระมหาสถูปเจดีย์ เป็นลานประทักษิณ ๒ ชั้น ซึ่งมีซุ้มภาพปั้นด้วยดินเผาด่านเกวียน เป็นศิลปะแบบนูนต่ำ ภาพทศชาติชาดก ภาพธรรมชาติของป่าหิมพานต์ และสัตว์ในป่าหิมพานต์ และที่หน้าบันซุ้มทางเข้าภายในองค์พระมหาสถูปประดิษฐาน พระปรมาภิไธย ย่อ ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ

 

ภายในองค์พระมหาสถูปเจดีย์ เป็นห้องโถงโล่งทรง ๘ เหลี่ยม เพดานสูง ตรงกลางห้องประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร จำหลักด้วยหินแกรนิต ส่วนผนังห้องโถงประดับด้วยภาพศิลาจำหลัก แบบนูนต่ำ ๔ ภาพใหญ่ แสดงพุทธประวัติ ๔ ตอนสำคัญ คือ ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน สำหรับพระพุทธรูปปางประทานพรนี้ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว ตามจำนวนพระชนมพรรษา สูง ๘๗ นิ้ว หนัก ๖ ตัน โดยแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวอมเทาของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกองทัพอากาศได้ว่าจ้างช่างแกะสลักชาวอินโดนีเซีย แกะสลักพระพุทธรูปปางประทานพรองค์นี้

การแกะสลักพระพุทธรูปแล้วเสร็จ และทำพิธีรับมอบเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๐ (ตรงกับวิสาขบูชา) และได้อัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปนี้ว่า “พระพุทธบรมศาสดา นวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” อันมีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดา สร้างเป็นอนุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา”

 

ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้อัญเชิญประกอบพิธีพุทธาภิเษกเบิกพระเนตร พร้อมกับพระพุทธรูปจำลองเนื้อโลหะหน้าตัก ๙ นิ้ว จำนวน ๙๙๙ องค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๐

ในส่วนของพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานภายในยอดปลีพระมหาสถูปเจดีย์นี้ กองทัพอากาศได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่วนหนึ่ง รับจากพระสังฆมหานายกะ สิริมัลวัตตะ อนันดา วัดมัลวัตตะ เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกาส่วนหนึ่ง และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดไว้ในเจดีย์หินอ่อน และพระราชทานให้ พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ในขณะนั้น) ได้นำไปประดิษฐาน ณ พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล

 

พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลองค์นี้ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๙ เวลา ๑๐.๑๙ น. โดยมีพล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ในขณะนั้น) เป็นประธานก่อสร้าง ต่อมา พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี เป็นกรรมการอำนวยการสร้าง, พล.อ.ท.เกริกชัย หาญสงคราม เป็นประธานอนุกรรมการควบคุมการก่อสร้างและตกแต่ง, อ.ไขศรี ตันศิริ และนายสันติ ชยสมบัติ เป็นสถาปนิก, นายกัญจนจักก์ สถาปนสุต เป็นวิศวกร

ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงรับและทรงเปิดพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล รวมระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๓๖๐ วัน สิ้นเงินค่าใช้จ่ายรวม ๔๕ ล้านบาทเศษ

พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนี ถือเป็นพระมหาสถูปเจดีย์องค์แรกที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือบนยอดดอยอินทนนท์ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เคียงคู่กับ “พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ” ซึ่งกองทัพอากาศจัดสร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒

 




พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ เป็นกำลังแห่งฟ้า เป็นสิริแห่งดิน

ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ อันเป็นปีมิ่งมหามงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ กองทัพอากาศจึงได้ดำริที่จะก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ไว้บนดอยอินทนนท์ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล และเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดังนั้น ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๒ กองทัพอากาศจึงได้เริ่มดำเนินการออกแบบและเตรียมพื้นที่ จนกระทั่งการก่อสร้างได้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๖

“พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ” มีรูปทรง ๑๒ เหลี่ยม แสดงความหมายถึงอัจฉริยธรรม ๑๒ ประการ อันเกิดแก่พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา มีระเบียงกว้างโดยรอบเป็น ๒ ระดับ ความกว้างที่ระดับระเบียงล่าง ๓๗ เมตร แสดงความหมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ที่ขอบระเบียงแต่ละระดับมีซุ้มรูปกลีบบัวประดับอยู่ ๖ ซุ้ม องค์พระมหาธาตุมีความสูงจากชานพักชั้นล่างถึงยอดปลี ๕๕ เมตร

 

สำหรับรูปลักษณ์ขององค์เจดีย์นั้น แสดงความหมายถึงโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ องค์เจดีย์ประดับโมเสกแก้วสีม่วงอมชมพูสีเดียวกันตลอดทั้งองค์ ที่ส่วนยอดขององค์เจดีย์เป็นยอดปลีล้อมด้วยกลีบดอกบัวตูม ประดับด้วยโมเสกแก้วสีทอง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กั้นด้วยฉัตรสีเงิน ๙ ชั้น

ที่ผนังด้านนอกขององค์พระมหาธาตุเจดีย์และซุ้มระเบียง ประดับด้วยภาพปั้นดินเผา เป็นเรื่องราวของพระภิกษุณี ผู้เป็นเอตทัคคะ, เรื่องราวของอุบาสิกา ผู้เป็นเอตทัคคะ และภาพสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ส่วนที่ด้านบนของซุ้มประตูทั้ง ๓ ด้าน มีพระนามาภิไธยย่อ สก. ประดิษฐานไว้

ภายในเจดีย์เป็นโถงเพดานสูง มีพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่บนแท่นกลางโถง เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง ซึ่งเป็นพระประจำวันศุกร์ อันเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แกะสลักด้วยหินหยกขาว จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ขนาดความสูงเฉพาะองค์พระ ๓ เมตร ๒๐ ซม. ประทับยืนบนดอกบัว มีชายสังฆาฏิพาดอยู่บนบัลลังก์ หนักประมาณ ๕ ตัน

 

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นพระพุทธรูปหินหยกขาวที่มีขนาดใหญ่และงามที่สุดองค์หนึ่ง ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า “พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นสิริมงคล และทรงเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ”

ผนังตอนบนโถงประดับด้วยภาพพุทธประวัติ ทำด้วยโมเสกแก้วสี ซึ่งออกแบบการจัดภาพและสีด้วยคอมพิวเตอร์ สั่งทำพิเศษจากอิตาลี เป็นภาพแสดงเรื่องราวของพระนางสิริมหามายา, พระนางมหาปชาบดีโคตมี, พระนางยโสธราพิมพา และนางวิสาขามหาอุบาสิกา ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นในโลก รวมทั้ง ได้ทะนุบำรุงให้มีการสืบทอดพระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

ส่วนผนังตอนล่างประดับด้วยภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นภาพแบบผสมนูนต่ำและนูนสูง แกะสลักด้วยหินแกรนิตสีขาว

 

โดยรวมแล้วรูปลักษณ์ของพระมหาธาตุเจดีย์ นั้นแสดงความหมายถึงองค์ประกอบที่ส่งเสริมให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนการตกแต่งแสดงถึงบทบาทของสตรีที่มีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนให้พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลก สีสันและวัสดุที่ใช้ประดับทั้งภายในและภายนอกองค์เจดีย์ มีลักษณะที่แสดงถึงความอ่อนช้อยงดงามตามลักษณะความงามของสตรีไทย

ในวันพุธที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ณ พระตำหนักภูพิงราชนิเวศน์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ในขณะนั้น) และคณะ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดปลีพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ทรงสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ และบรรจุลงพระกรัณฑ์ทองคำด้วยพระองค์เอง

ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้อัญเชิญ “พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล” ขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริแล้ว ประกอบพิธีพุทธาภิเษกเบิกพระเนตร เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ เวลา ๐๙.๐๙ น. พร้อมกับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดปลีองค์พระมหาธาตุเจดีย์นี้ด้วย

 

พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริองค์นี้ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๑๒.๒๙ น. โดยมีพล.อ.อ.สมศักดิ์ กุศลาศัย เป็นประธานกรรมการอำนวยการสร้าง มีคณะผู้ออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลชุดเดิมร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงรับและทรงเปิดพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งได้พระราชทานนามว่า “พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ” (อ่านว่า นะ-พะ-พน-พู-มิ-สิ-ริ) อันมีความหมายว่า “เป็นกำลังแห่งฟ้า เป็นสิริแห่งดิน” รวมระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๙๐๐ วัน สิ้นเงินค่าใช้จ่ายรวม ๑๓๕ ล้านบาท

พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ เป็นหนึ่งในพระมหาสถูปเจดีย์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนที่สูงที่สุดในพระราชอาณาจักรไทย เคียงคู่กับ “พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล” ซึ่งกองทัพอากาศจัดสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในมหามงคลเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ณ ยอดดอยอินทนนท์ แห่งนี้

 
  พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ-พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล
 

ขอขอบคุณที่มา...หนังสือพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล
และพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ จัดทำโดย กองทัพอากาศ
โดย ผู้จัดการออนไลน์