ผู้เขียน หัวข้อ: ความสามัคคี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)  (อ่าน 1522 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ NONGEAR44

  • นวมะ
  • ****
  • กระทู้: 669
  • เพศ: ชาย
    • MSN Messenger - en2005f@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
                                                  ความสามัคคี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)


ความสามัคคี
โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕


จงตั้งใจฟังพระธรรม เทศนา วันนี้จะอธิบายถึงเรื่องความสามัคคี เพราะเราทั้งหลายมาประชุมกันในที่นี้ ล้วนแล้วแต่มาคนละทิศละทาง ต่างจิตต่างใจต่างพ่อต่างแม่ต่างตระกูลกันทั้งนั้น ย่อมมีกิริยาอาการทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการไม่เหมือนกัน ในที่สุดแม้แต่ตัวของเราเอง ซึ่งมองดูแล้วก็ไม่ถูกต้องตามความต้องการของตนก็มีเยอะ ฉะนั้นความสามัคคีจึงได้ชื่อว่า เป็นคุณธรรมอันสูงส่งสำหรับพวกเราที่อยู่ด้วยกัน ความสามัคคีเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข พระพุทธองค์ตรัสว่า

“สุขา สํ ฆสฺส สามคฺคี”
ความพร้อมเพรียงของในหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข

ดังนี้ ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ตั้งแต่สองคนขึ้นไปเรียกว่า คณะ สี่คนขึ้นไปเรียกว่า หมู่ ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะเป็นความสุขอย่างยิ่ง คนยิ่งมากขึ้นไปจะเป็น ๒๐–๓๐–๔๐ หรือ ๕๐ คนหรือตั้ง ๑๐๐–๒๐๐ คน มีความสามัคคีกัน ยิ่งได้ความสุขมาก ดูแต่ตัวของเราคนเดียวก็แล้วกัน ถ้าไม่สามัคคีกันก็ไม่ได้ความสุขเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ใจคิดอย่างหนึ่ง มือไม้ไม่ทำ ขาไม่เดิน ง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นอัมพาตไป มันก็ไม่สบายใจ

ปากท้องของเราก็เหมือนกัน เราหาอาหารมาให้รับประทานลงไป ปากมันก็เคี้ยวกลืนลงไป แต่ลำไส้มันไม่ทำงาน มันไม่พร้อมเพรียงสามัคคีกัน มันจะต้องปวดท้อง อึดอัด เดือดร้อนแก่เราเพียงใด คิดเอาเถอะ ส่วนร่างกายของเราก็เหมือนกัน ทุกชิ้นทุกส่วนถ้าหากขาดความสามัคคีนิดเดียว เป็นต้นว่าแขนทั้งสองหยุดไม่ทำงาน เท่านั้นแหละเป็นอันร้องอู๊ยเลยทีเดียว

เหตุนั้น เราควรอดควรทนต่อเหตุการณ์ เมื่อมีจิตใจต่างกัน มีกิริยาอาการต่างกัน จึงควรอดอย่างยิ่ง อย่าเอาอารมณ์ของตนควรคิดถึงอกเราอกเขาบ้าง ถ้าหากเราเอาแต่อารมณ์ของตนแล้ว จะแสดงความเหลวไหลเลวทรามของตนแก่หมู่คณะเป็นเหตุให้เสียคน เพราะชื่อเสียงยังกระจายออกไปทั่วทุกทิศ เสียหายหลายอย่างหลายประการ สิ่งใดที่ไม่สบอารมณ์ของเรา อย่าผลุนผลันหันแล่น จงยับยั้งตั้งสติตั้งจิต พิจารณาให้ดีเสียก่อนว่าสิ่งนั้นถ้าเราพูดหรือทำลงแล้ว มันจะเป็นผลดีและผลเสียแก่เราและหมู่คณะน้อยมากเพียงใด

เบื้องต้นให้ตั้งสติกำหนดคำว่า “อด” คำเดียวเท่านั้นเสียก่อน จึงคิดจึงนึกและจึงทำจึงจะไม่พลาดพลั้งและจะไม่เสียคน อดที่ไหน อดที่ใจของเรา “อด” คำนี้กินความกว้างและลึกซึ้งด้วย เมื่อเราพิจารณาถึงความอดทนแล้วก็จะเห็นว่า สรรพกิเลสทั้งปวงที่จะล้นมาท่วมทับมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ในโลกนี้แหลกละเอียดเป็นจุลวิจุลไปก็เพราะความอดนี้ทั้งนั้น

เช่น โกรธจะฆ่ากัน แต่มีสติอดทนอยู่ได้จึงไม่ฆ่า เห็นสิ่งของเขา คิดอยากจะลักขโมยของ เขา มีสติอดทนยับยั้งไว้ เพราะกลัวเขาจะเห็นหรือกลัวโทษ จึงไม่ขโมย เห็นบุตรภรรยาสามีคนอื่นสวยงาม เกิดความกำหนัดรักใคร่ คิดอยากจะประพฤติผิดในกาม มีสติขึ้นมาแล้วอดทนต่อความกำหนัดหรือกลัวว่าเขาจะมาเห็น กลัวต่อโทษในปัจจุบันและอนาคต แล้วอดทนต่อความกำหนัดนั้น การที่จะพูดเท็จ พูดคำไม่จริง หรือดื่มสุราเมรัยก็เช่นกัน เมื่อมีสติขึ้นมาแล้วก็อดทนต่อความชั่วนั้นๆ ได้ แล้วไม่ทำความชั่วนั้นเสีย

ความอดทนเป็นคุณธรรม ที่จะนำบุคคลในอันที่จะละความชั่วได้ทุกประการ และเป็นเหตุให้สมานมิตรกันทั้งโลกได้อีกด้วย ถ้าเราไม่มีการอดทนปล่อยให้ประกอบกรรมชั่วดังกล่าวมาแล้ว โลกวันนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ แตกสลายไปเลย

โทษ ๕ ประการดังอธิบายมานี้ เป็นเหตุให้มนุษย์สัตว์โลกแตกความสามัคคีปรองดองซึ่งกันและกัน วิวาททุ่มเถียงฆ่าตีซึ่งกันและกัน โลกซึ่งเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะโทษ ๕ ประการนี้ทั้งนั้น


ความอดทนมีคุณอานิสงส์อันใหญ่หลวง เป็นเหตุให้แผดเผากิเลสน้อยใหญ่ทั้งปวง ซึ่งเกิดจากใจของมนุษย์คนเรา เมื่อมันเกิดที่ใจของคนเรา คนเราคุมสติไม่อยู่ปล่อยให้มันลุกลามไปเผาผลาญคนอื่น จึงรีบดับด้วยสติตัวเดียวเท่านั้น ก็อยู่เย็นเป็นสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ผู้ที่ทำความเพียรภาวนาทั้งหลายล้วนแล้วแต่ใช้ความอดทนนี้ทั้งนั้น คนเราอยู่เฉยๆ จะดีเองไม่ได้ ต้องอดทนต่อความเจ็บหลังปวดเอวในการนั่งสมาธิภาวนา อดทนต่อการรักษาศีลตามสิกขาบทนั้นๆ ที่พระองค์บัญญัติไว้ จะเอาตามใจชอบของตนไม่ได้ ถ้าเอาตามใจชอบของตน ถ้ามันดีแล้ว มนุษย์ชาวโลกดีกันหมดแล้วแต่นาน เหตุที่มันดีนั่นแหละจึงหันมาอดทนทำตามพระพุทธเจ้า

ความสามัคคีเป็นคุณธรรมอันใหญ่ยิ่ง สามัคคีของหมู่คณะนั้นแต่สองคนขึ้นไปอย่างน้อยก็ได้พูดคุยกันพอแก้ความเหงา แต่สี่คนขึ้นไปอย่างน้อยก็จะแบกได้หามในกิจธุระการจำเป็นเกิดขึ้น ถ้าเป็นพระก็พอจะได้ทำสังฆกรรมให้สำเร็จได้ในเมื่อต้องการ ถ้ามากคนขึ้นไปความสามัคคีก็ยิ่งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การงานทุกสิ่งทุกอย่างย่อมสำเร็จมากเป็นเงาไปตามตัว

บ้านเมืองมีคนหมู่มากอยู่ด้วยกัน มีความสามัคคีด้วยกายทำอะไรสามัคคีพร้อมกัน มีจิตใจไม่แก่งแย่งแข่งดีซึ่งกันและกัน มีความรักใคร่ซึ่งกันและกันเห็นบ้านเมืองเป็นของทุก ๆ คนที่จะต้องปกป้องรักษาเป็นที่หวงแหนของคนทุกคน ทิฐิความเห็นก็ไม่ดื้อรั้นเอาแต่ความเห็นส่วนตัว ไม่ยอมใครทั้งสิ้น เห็นความคิดความเห็นของคนอื่นผิดทั้งหมด ของเราถูกคนเดียว

พุทธศาสนาที่ยั่งยืนมานานจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะความสามัคคีนี้เอง ทีแรกพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วทรงสอนความสามัคคี ให้แก่เหล่าภิกษุพุทธบริษัท เมื่อภิกษุพุทธบริษัทเชื่อฟังคำตามมากเข้าจนเกิดเป็นหมู่คณะแล้ว จนทรงเห็นว่าพอจะรักษากันได้แล้ว จึงทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์เพื่อรักษากันเอง

แม้แต่ธรรมะอันสูงที่พระองค์ทรงสอนอันจะ พึงเห็นด้วยใจของตนเอง ก็ไม่พ้นจากความสามัคคีนี้เหมือนกัน เช่น อริยมรรค แต่ละมรรคเมื่อจะเข้าถึงมรรคนั้นๆ ต้องรวมลงสู่ มัคคสมังคีรวมเอาธรรมทั้งปวงที่เป็นปัจจัยของมรรคนั้นๆ มาลงสู่มัคคสมังคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวเสียก่อน จึงจะถึงภูมินั้นๆ ได้


ธรรมที่มีอยู่ในตัว ของคนเราทุกวันนี้ ก็ต้องมีความสามัคคีกันจึงจะอยู่ได้ เช่น ตา หู จมูก ลิ้นและกาย แต่ละอย่างธรรมชาติแบ่งให้ทำงานอย่างละหน้าที่ของตนๆ ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ต่างมีความซื่อสัตย์สุจริตตรงต่อจิตคนเดียว ถ้าจะเปรียบก็เปรียบเหมือนรัฐบาลแบ่งออกเป็น ๕ กระทรวง แต่ละกระทรวงก็ทำตามหน้าที่ของตน ที่รัฐบาลแบ่งงานออกให้รับผิดชอบ

กระทรวงตา ก็รับผิดชอบทางเห็นรูป บรรดาสรรพรูปทั้งปวง จะรูปหยาบรูปละเอียด รูปดีรูปชั่ว แม้แต่รูปที่น่าอุจาดน่ารังเกียจที่สุดก็ต้องจำดูให้เห็น ตามคำบัญชาของจิตที่ต้องการ

กระทรวงหู รับทางได้ยินเสียง จะเป็นเสียงเพราะไม่เพราะ พึงพอใจหรือไม่พึงพอใจ จำต้องฟังตามคำบัญชาของจิตทั้งนั้นแม้แต่คำพูดด่าแช่งก็ต้องฟัง

กระทรวงจมูก สำหรับไว้ดมกลิ่น นี้ยิ่งร้ายกว่ากระทรวงอื่นๆ กลิ่นเหม็นกลิ่นหอม กลิ่นอะไรทั้งหมดก็ต้องยอมรับเอาทั้งนั้น และยอมรับเอาตลอดเวลาไม่มีเวลาพักผ่อน แม้แต่นอนหลับไปแล้วก็ต้องรับเอาอยู่ (คือลมหายใจยังมีอยู่)

กระทรวงลิ้น สำหรับไว้รับรสชาติ เผ็ด เค็ม หวาน เปรี้ยว กระทรวงนี้ค่อยยังชั่วหน่อย มีเวลาได้พักผ่อน แต่ก็ยังมีการงานเพิ่มเติมอีกมาก นอกจากจะมีไว้สำหรับรับรสชาติแล้ว ยังมีไว้ให้พูดคุยกัน เพื่อให้รู้จักภาษาสำเนียงเสียงสูงเสียงต่ำอีกด้วย ถ้าไม่มีลิ้นแล้วคนเราก็พูดอะไรไม่ได้ เหมือนกับหัวหลักหัวตอ จะหาความสนุกมาจากไหน

กระทรวงกาย สำหรับไว้รับรู้สัมผัส เย็น ร้อน นุ่มนวล อ่อน แข็ง กระทรวงนี้ค่อยยังชั่วหน่อย แต่งเอาได้ตามต้องการแต่รับภาระตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถไหนก็ตาม ต้องรับภาระสัมผัสอยู่อย่างนั้น แล้วก็เป็นตัวยืนของกระทรวงทั้งสี่ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอีกด้วย ถ้ากระทรวงนี้ไม่มีแล้ว กระทรวงทั้งสี่นั้นก็มีไม่ได้

ตา หู จมูก ลิ้นและกาย ทั้ง ๕ อย่างนี้ ย่อมรับภาระหน้าที่แต่ละอย่างต่างๆ กัน ทำการงานเพื่อเสริมความสุขสามัคคีให้แก่จิตผู้เดียว ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกันและไม่ทะเลาะทุ่มเถียงแก่งแย่งแข่งดีซึ่งกันและกัน หากกระทรวงใดจำเป็นไม่สามารถจะทำหน้าที่ของตนนั้นๆ ได้แล้ว ตัวรัฐบาล (คือจิต) ก็จะเข้ารับภาระทำแทน เช่น ตาบอดลงมองไม่เห็นแล้ว จิตก็จะใช้มือหรือสิ่งอื่นอะไรพอจะสัมผัสแทนได้แล้ว จิตก็จะใช้ตรึกตรองจดจำเอาตามสัมผัสนั้นๆ

ไม่เหมือนรัฐบาลไทยเรา ทุกๆ คนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลต่างก็ทำเพื่อชาติเพื่อประชาชน แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วส่วนมาก ก็กอบโกยเอาเพื่อเข้ากระเป๋าตนเองทั้งนั้น เป็นผู้แทนแล้วก็อยากเป็นผู้ช่วย เป็นผู้ช่วยแล้วก็อยากเป็นเลขา เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ตนเป็นแล้วก็อยากให้พวกพ้องพี่น้องญาติมิตรเป็นอีกไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ทราบว่าคุณวุฒิของตนจะมีเพียงพอหรือไม่ ขอให้ได้เป็นก็แล้วกัน มันจึงต้องยุ่งกันไม่มีที่สิ้นสุดได้ แต่ก็ยังดีที่มีนักการเมืองบางคนทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนจริงๆ จึงเป็นเครื่องยึดรั้งคนที่เห็นแก่ตัวไว้บ้าง ประเทศชาติจึงได้เป็นมาจนทุกวันนี้

สามัคคีธรรมนี้ถ้าหากผู้มีปัญญาสามารถนำไปใช้เป็นแล้ว ก็จะเกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่มหาศาลแก่ทางโลกและทางธรรม ธรรมแท้คือความสามัคคี ที่ทั้งโลกยึดถือไว้เป็นที่พึ่งใช้ตลอดกาล ความหายนะของโลก นับแต่กลุ่มเล็กที่สุดจนกระทั่งกลุ่มโตเป็นโลก ได้แก่ ความแตกแยกของสามัคคี


นั่งสมาธิ

จงตั้งใจภาวนากัน เราทุกคนเป็นลูกศิษย์พระกรรมฐานแล้ว จงตั้งใจภาวนาให้เป็นซิ ภาวนาคือตั้งสติกำหนดจิตให้เป็นหนึ่ง สติอันหนึ่ง จิตอันหนึ่ง สติคือผู้ทำการควบคุมจิต จิตคือผู้ส่งส่ายคิดนึกปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ทั้งปวง เมื่อสติควบคุมจิต จิตจะต้องหยุดนิ่งอยู่ในที่เดียวนั่นแหละเป็นใจ สติ จิต รวมเข้ามาเป็นใจ แท้จริงก็ออกมาจากใจ จิตก็ออกมาจากใจ เมื่อรวมมาเป็นใจแล้ว ก็หมดเรื่องกันที

สิ่งเหล่านี้ทุกๆ คนก็มีกันทั้งนั้น เว้นแต่ไม่พากันพิจารณาจึงไม่เห็นจิต และไม่ตั้งสติรักษาจิตเท่านั้น ถ้าไปเห็นตัวจิตผู้คิดเมื่อไรแล้ว จะหยุดคิดนิ่งแน่วทันที อีกนั่นแหละบางคนกลับเห็นเป็นของไม่ดีเลยเป็นทุกข์เดือดร้อนว่า ภาวนามาจนจะล้มจะตาย ครูบาอาจารย์ที่ไหนดีๆ อยู่ไกลแสนไกลก็ไปให้ถึงจนได้ ภาวนาไปๆ ก็ได้เพียงแค่นิ่งเฉยเท่านั้น ขี้เกียจไม่เอาละ ความสุขของผู้มีกิเลส คือ ความวุ่นวายกับลูกหลาน การงาน ยึดว่าเป็นของกูๆ นั่นเป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ว่างหมดไม่มีอะไรจะยึดถือ เลยเข้าใจว่าไม่ดีเป็นทุกข์ น่าเห็นใจมากทีเดียว

ผู้ไม่มีปัญญาเหมือนกับโบราณว่า เหมือนกับลิงได้แก้ว หรือไก่ได้พลอย สู้เมล็ดข้าวสารเมล็ดเดียวก็ไม่ได้ ถ้าผู้มีปัญญาแล้ว เมื่อจิตรวมมาเป็นใจแล้ว จะต้องตั้งสติกำหนดเอาผู้รู้นั้นไว้ว่าผู้รู้หรือธาตุรู้ ว่าเฉยนั้นยังมีอยู่ เมื่อกำหนดเอาผู้รู้หรือธาตุรู้ไว้ได้แล้ว ความรู้อันนั้นก็จะกว้างออกไป ความรู้อันนั้นก็จะแปลกต่างออกไปมากกว่าแต่ก่อนมากทีเดียว

ของเหล่านี้พูดยากพูดให้ฟังเฉยๆ ยากที่จะเข้าใจ ถ้าไม่ทำให้เห็นด้วยตนเองแล้ว จะพูดให้ฟังยังไงๆ ก็พูดไม่ถูก ฉะนั้นจงพากันทำภาวนาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง เพื่อจะให้หายความสงสัยต่อไป

   ขอบคุณที่มา เว็บบอร์ด พลังจิต

ออฟไลน์ กวงเจา

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 369
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงพ่อเปิ่นองค์เดียวกัน
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: ความสามัคคี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 01 ต.ค. 2553, 01:10:23 »
อนุโมทนากับกุศลอันเป็นธรรมทานในครั้งนี้ด้วยครับ   :054: