ผู้เขียน หัวข้อ: อานุภาพแห่งการเจริญสติ : ช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย  (อ่าน 2126 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
อานุภาพแห่งการเจริญสติ : ช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 1)

นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 128
เดือน-ปี : 12/2532
คอลัมน์ : ธรรมโอสถ
นักเขียนหมอชาวบ้าน : จำเนียร ช่วงโชติ

การเจริญสติมีอานุภาพช่วยตนพ้นทุกข์

   เมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ.2530 ดิฉันได้เข้ารับการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากพบว่ามีเนื้องอก ก่อนเข้าโรงพยาบาลได้ตั้งปณิธานอย่างแรงกล้าจะใช้ธรรมปฏิบัติที่ได้ฝึกฝนจากคุณแม่สิริ กรินชัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนในยามในยามเจ็บป่วย

ดิฉันได้เตรียมหนังสือธรรมะ เทปธรรมะมากมาย แต่ไม่ค่อยได้อ่านได้ฟังมากนัก กลับทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อการปฏิบัติ โดยเดินจงกรม (มีสติรู้ที่การเคลื่อนของเท้า) นั่งสมาธิ (มีสติรู้ที่การพองยุบของท้อง) และมีสติกำหนดรู้อิริยาบถต่างๆ ดูความเคลื่อนไหวของกายและจิตเป็นปัจจุบัน เพราะตระหนักดีว่า การปฏิบัติธรรมด้วยวิธีดังกล่าว จะให้อานิสงส์อันมหาศาลแก่ตนเอง และก็ได้พบว่า เป็นความจริงแท้แน่นอน

ในขณะทำการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดแล้ว ดิฉันต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเตียง จึงปฏิบัติด้วยการเจริญสติ กล่าวคือ มีสติกำหนดรู้อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวทางกายและสภาวธรรมที่เข้ามาปรากฏทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจอย่างเป็นปัจจุบัน ส่วนการเดินจงกรมและนั่งสมาธิทำน้อยมากหรือเกือบไม่ได้ทำเลย ทั้งนี้เพราะโอกาสไม่อำนวยให้กระทำ

ต่อมาเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไปอีก เพื่อรับการฉายรังสีและฝังแร่ ก็ยิ่งพากเพียรกำหนดรู้และเจริญสติมากยิ่งขึ้น จนตนเองสามารถมีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของกายและใจได้อย่างละเอียดต่อเนื่องกันทั้งกลางวันและกลางคืน แม้เวลาหลับก็หลับอย่างมีสติ อานิสงส์แห่งการเจริญสตินี้ยิ่งใหญ่มาก เพราะส่งผลให้ดิฉันสามารถต่อสู้เอาชนะความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสที่เกิดขึ้นที่กายและใจ ในขณะเดียวกัน ก็รู้ว่าความเศร้าสลดหดหู่และหม่นหมองได้หลุดพ้นออกไปอย่างสิ้นเชิง น่าอัศจรรย์ใจมาก จนถึงขั้นที่สภาวะทางจิตหรือใจของตนเองนั้นรู้ว่า “พ้นทุกข์”

   ผลที่เกิดขึ้นต่อมา ก็คือ ร่างกายที่เจ็บป่วยกลับฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้รวดเร็ว และสำคัญที่สุดคือ รู้ว่าสภาวจิตในขณะนั้นมีธรรมชาติเป็นอิสระจริงๆ ไม่เกาะเกี่ยว ไม่ยึดติด ไม่มีการปรุงแต่งให้รู้สึกนึกคิดแต่อย่างไร มีความเป็นอุเบกขาโดยสมบูรณ์ มีลักษณะใสสะอาด โปร่งเบา ตื่นตัว เบิกบาน และแจ่มจ้า สภาวจิตเช่นนี้เองที่เรียกว่า “จิตผ่องแผ้ว ขาวรอบ และบริสุทธิ์” เพราะปลอดจากกิเลส ซึ่งได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะนั่นเอง นับเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ที่ดิฉันได้ประสบ รับรู้ และบังเกิดความซาบซึ้งประทับใจมาก จนสุดจะพรรณาออกมาเป็นคำพูดได้

   ดิฉันกล้ากล่าวด้วยความมั่นใจอย่างยิ่งว่า นี่แหละคือ อานุภาพแห่งการเจริญสติ สตินี้ถ้าบังเกิดขึ้น มีขึ้นหรือเจริญขึ้นในบุคคลใด บุคคลนั้นย่อมพึงได้รับอานิสงส์นานัปการ ดังเช่นที่ดิฉันได้รับมาแล้ว โดยข้อเท็จจริง ดิฉันไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่า จะมาได้รับรสแห่งธรรมะอย่างสมบูรณ์จากการเจ็บป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล คงเป็นด้วยตนเองเรียนรู้ฝึกปฏิบัติการนั่งสมาธิและเจริญสติมาหลายปี เห็นผล เกิดศรัทธา จึงพากเพียรปฏิบัติเก็บเล็กผสมน้อยเรื่อยมา แต่ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ที่การปฏิบัติขาดตอน เพราะต้องวุ่นอยู่กับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในทางโลก

   เมื่อต้องมาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล รู้แต่ว่าตนเองมีใจจดจ่อ เพ่งเพียร พยายามกำหนดรู้ และทำความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลากับสิ่งที่เกิดขึ้นทางกายและใจเป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งหลงลืม ก็รับรู้ และตั้งต้นใหม่...กำหนดรู้ใหม่... ตั้งต้นใหม่...กำหนดรู้ใหม่... ทำอยู่เช่นนี้... ก็รู้สึกตัวเองว่า การตามรู้ของจิตที่เกิดขึ้นเป็นปัจจุบันนั้นค่อยๆ เกิดขึ้น...เกิดขึ้น...ละเอียดขึ้น...ละเอียดขึ้น...และเป็นไปโดยอัตโนมัติในที่สุด

  ดิฉันคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างสมส่วน เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน ซึ่งก็คงเนื่องมาจากเหตุปัจจัย 3 ประการ คือ

1. ดิฉันได้เคยเรียนรู้ ฝึกฝน และได้สะสมธรรมะคำสอนของพระพุทธองค์ต่อเนื่องกันมาหลายปี

2. การมีความเพียร พยายาม ใจจดจ่อที่จะระลึกรู้สภาวธรรมที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเป็นปัจจุบัน

3. สภาพแวดล้อมที่ห้องพักในโรงพยาบาลมีสัปปายะดีมาก กล่าวคือ อยู่คนเดียว มีการบริบาลดูแลเรื่องความเจ็บป่วย อาหาร และความเป็นอยู่ บรรยากาศเงียบสงบละวางจากการงานและภาระหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งมวล

  อย่างไรก็ดี ต้องขอสารภาพว่า ดิฉันรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณความเจ็บป่วยของตนเองในครั้งนี้เป็นอันมาก นอกจากช่วยให้ดิฉันได้สร้างบุญกุศลให้กับตนเองแล้ว ยังนำทางให้ดิฉันมีดวงตาเข้าถึงธรรม และบังเกิดความเข้าใจชัดแจ้ง ตรงกับข้อความดังปรากฏในหนังสือกตัญญูกตเวทิตาธรรม ชุด “เพื่อนใจผู้ใฝ่ธรรม” หน้า 27 ความว่า...

การปฏิบัติธรรม มิใช่เพื่อความได้ ความมี หรือความเป็นใดๆ ทั้งสิ้น จุดหมายที่แท้เพื่อความไม่ “ทุกข์ใจ” อย่างเดียวเท่านั้น และสุดท้ายของการปฏิบัติ ก็คือ การรับรู้ว่าตัวเรานั้นสามารถ

- อยู่กับกิเลสได้โดยใจไม่เป็นทาสของกิเลส

- อยู่กับทุกข์กายโดยไม่ทุกข์ใจ

- อยู่กับงานวุ่นโดยใจไม่วุ่น

- อยู่กับการรีบด้วยใจสบาย

- อยู่กับความสมหวังและความผิดหวังได้ด้วยใจไม่ทุกข์อีกต่อไป

- อยู่กับโลกได้ด้วยใจเป็นธรรม กายส่วนกาย ใจส่วนใจ ต้องอาศัยกันอยู่เท่านั้น

- อยู่กับหน้าที่โดยไม่ยึดหน้าที่ เพียงแต่จะทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เท่าที่ตนจะทำได้ในขณะปัจจุบันเท่านั้นเอง ที่ทำไม่ได้ก็ปล่อยไป

- อยู่คนเดียวเหมือนอยู่หลายคน อยู่หลายคนก็เหมือนอยู่คนเดียว...เพราะมีธรรมะเป็นเพื่อนคู่ใจนั่นเอง (ข้อนี้ตนเองรู้สึกเช่นนั้น)

ผลแห่งการเจริญสติ สร้างความเชื่อมั่นในการช่วยผู้ป่วย

  จากการที่ดิฉันได้เคย “รู้แจ้ง” ในอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน ด้วยการมีสติสัมปชัญญะ คือ การระลึกรู้สึกตัวทั่วพร้อมกับสภาวธรรมที่เข้ามาปรากฏทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ของตนเองนี่เอง จึงเกิดความคิดขึ้นในใจอย่างฉับพลันว่า ดิฉันน่าจะสามารถช่วยบุคคลที่มีทุกข์ อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยได้ โดยการเจริญสติ กำหนดรู้การเคลื่อนไหวของกายและจิตตามแบบฉบับการสอนของคุณแม่สิริ กรินชัย ดังที่ดิฉันได้ประสบและปฏิบัติมา และแล้วความคิดของการอยากช่วยคนมีทุกข์เพราะเจ็บป่วย ก็เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ดิฉันในเวลาต่อมา ซึ่งดิฉันจะกล่าวต่อในครั้งหน้า

ที่มา
http://www.doctor.or.th/node/4716
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 มิ.ย. 2554, 09:21:07 โดย ทรงกลด »
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
อานุภาพแห่งการเจริญสติ : ช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 2)
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม : 129

   บุคคลแรกที่ดิฉันจะต้องกล่าวถึงด้วยความเคารพยิ่ง ซึ่งบัดนี้เธอได้เสียชีวิตไปแล้ว ด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก เธอเป็นบุคคลแรกที่มีส่วนผลักดันให้ดิฉันมีความกล้าหาญในการใช้วิชาการเจริญสติสอนให้เธอปฏิบัติ แม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น แต่ก็มีผลทำให้เธอมีจิตใจสงบ เป็นกุศลพ้นจากความทุกข์ได้ในบางขณะระหว่างที่เธอเจ็บป่วย

การสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยธรรมโอสถ (รายที่ 1)
เรื่องมีอยู่ว่า ในขณะที่ดิฉันอยู่ในระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อนสนิทที่มาเยี่ยมเป็นประจำได้ทราบถึงการที่ดิฉันใช้ธรรมโอสถช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ทางใจจากการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง จึงขอร้องให้ดิฉันไปเยี่ยมสตรีท่านหนึ่งซึ่งเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นครั้งที่ 2 ตอนนั้นดิฉันนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร เพราะรู้อยู่แก่ใจตนเองว่า การปฏิบัติธรรมต้องใช้เวลาสร้างเหตุ คือฝึกฝนปฏิบัติมากจนเป็นอุปนิสัย แล้วผลจึงจะเกิดเป็นอัตโนมัติ แต่คนเจ็บรายนี้ยังไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อน

   แต่มาตระหนักใจว่า เมื่อเพื่อนขอร้อง ก็แสดงว่า เขาต้องศรัทธาเราและเห็นผลที่เกิดขึ้นในตัวเราแล้ว จึงตอบตกลง ตลอดเวลาที่เดินทางไป สารภาพจริงๆ ว่ายังคิดไม่ออกว่าจะให้เขาปฏิบัติอย่างไร ในระยะเวลาอันน้อยนิด และให้บังเกิดผล แต่เมื่อไปเห็นสภาพเขาแล้ว ก็เกิดรู้โดยอัตโนมัติว่าจะช่วยเขาอย่างไร

ในห้องพักผู้ป่วย มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สวยงามมากตั้งอยู่เหนือเตียง ญาติพี่น้องแวดล้อมอยู่เต็ม ดอกไม้นานาพรรณสดใส ข้าวของจากการเยี่ยมอุดมสมบูรณ์ คนดูแลเรียนจบ ปกศ.สูง ได้รับการว่าจ้างเป็นพิเศษให้อยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เมื่อมองมาที่ผู้ป่วย เธอเป็นสุภาพสตรีโสด อายุ 52 ปี เดินเหิน กินได้ ร่างกายโดยทั่วไปเป็นปกติ หากแต่มองลึกลงไป พบว่า สภาพจิตใจมีกังวล หม่นหมอง ห่อเหี่ยว ท้อแท้ กลัว และสิ้นหวัง ตามลักษณะของคนที่รู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็ง และก็คงจะรู้ต่อไปอีกว่า ความเจ็บป่วย ทรมาน และความตายกำลังรออยู่

   ความรู้สึกแวบหนึ่งเข้ามาในจิต บอกว่าตนเองโชคดีมหาศาล ที่ยังไม่ประมาทต่อกาลเวลา ได้มารับการฝึกอบรมวิปัสสนาและการเจริญสติจากคุณแม่สิริ กรินชัย และปฏิบัติตลอดมาจนอยู่ในสภาพที่สามารถช่วยตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เนื่องมาจากความเจ็บป่วยได้ จึงเริ่มต้นแนะนำเขากินยาอย่างมีสติ โดยสาธิตให้ดูและปฏิบัติตาม กล่าวคือ จับแก้วก็ให้ใจรู้ตามการสัมผัสนั้นๆ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ยกแก้ว กินน้ำ กลืนยา ก็ให้ใจตามรู้การกระทำนั้นๆ ดิฉันใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงเต็ม ฝึกเขาให้มีสติตามรู้สิ่งที่เข้ามาปรากฏในทวารทั้ง 6 ด้วยการกำหนด เห็นหนอ ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ สบายใจหนอ เจ็บปวดหนอ และฝึกการกำหนดอิริยาบถการเคลื่อนไหวในการยืน เดิน นั่ง นอน และอิริยาบถย่อยต่างๆ อย่างติดต่อเนื่องกัน จนเขาทำตามได้ และดิฉันก็รับรู้ได้ว่าเขาได้อารมณ์จากการได้อยู่กับปัจจุบันจนทำให้เขามีใจสงบ เยือกเย็น เป็นสุข พ้นสภาวะของความเครียดทางใจทั้งหลายได้ชั่วขณะ จึงได้อำลากลับ

จากประสบการณ์ดังได้กล่าวมา ทำให้ดิฉันมั่นใจมากว่า การมีสติกำหนดรู้ที่ดิฉันได้รับการฝึกฝนมานี้สามารถช่วยบุคคลที่มีทุกข์ทางกายและใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งดิฉันเชื่อว่า ทุกคนสามารถทำได้ไม่ยากเลย ขอเพียงแต่ให้เรียนรู้และเข้าใจวิธีการ และมีความเพียรพยายามในการกำหนดรู้เท่านั้น

การสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยธรรมโอสถ (รายที่ 2)
  ผู้ป่วยท่านที่ 2 ที่ดิฉันพบเป็นสุภาพสตรีอายุ 75 ปี โสด เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีจังหวัดสมุทรปราการ ท่านเป็นอาจารย์ของดิฉันตั้งแต่ดิฉันเข้าเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 จนจบมัธยมปีที่ 6 และครอบครัวดิฉันสนิทกับท่านมาก วันหนึ่งพี่สาวดิฉันโทรศัพท์มาเล่าว่า ท่านมีอาการพูดไม่ชัด มือขวาเคลื่อนไหวไม่ได้ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ แพทย์ตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกร้ายที่สมอง เนื่องจากมะเร็งที่ขั้วปอดลุกลามไปที่สมอง แพทย์จึงทำการผ่าตัดเนื้องอกที่สมองโดยด่วน และจะให้การรักษาโดยฉายรังสีกับให้ยาในเวลาต่อมา

   ดิฉันได้ทราบข่าว รู้สึกใจหาย ตกใจมาก ด้วยไม่คาดคิดมาก่อน ดิฉันรีบรุดไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาล เมื่อเห็นท่าน ดิฉันถอนใจโล่งอก ภาพที่เห็นช่างตรงกันข้ามกับที่ดิฉันคิดไว้ในใจจากคำบอกเล่าของพี่สาว เพราะภาพที่เห็น คือ ท่านมีหน้าตาแจ่มใส ยิ้มแย้ม จำทุกคนได้หมด พูดคุยกับแขกที่ไปเยี่ยมอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย แสดงความห่วงใยแขกที่มาเยี่ยม เชื้อเชิญให้แขกกินขนมอยู่ตลอดเวลา ตัวท่านก็กินอาหารทุกอย่างได้ดี พี่สาวท่านเล่าว่า “หนูโชคดีที่มาพบท่านในสภาพที่ฟื้นตัวได้มากที่สุด” อาการของท่านในวันนั้น บอกเราทุกคนในนั้นว่า ท่านจะต้องดีขึ้นเป็นลำดับ

   ดิฉันเข้าไปจับมือท่าน ท่านเอ่ยชื่อดิฉันและกล่าวว่า “จำนง (พี่สาวของดิฉัน) บอกครูว่า หนูชวนเขาเข้าปฏิบัติธรรมกับคุณแม่สิริ กรินชัย ที่บ้านคุณหมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เมื่อเดือนธันวาคม 2531 เขามาชวนครู ไม่ทราบอย่างไร ครูได้ปฏิเสธเขาไป น่าเสียดายนะ”

   ดิฉันถามความรู้สึกของท่านที่เจ็บป่วยอยู่ขณะนี้ ท่านบอกว่า “ครูกลัวจะไม่ได้กลับบ้าน ครูไม่คิดว่าจะต้องเจ็บมากอย่างนี้” ดิฉันปลอบใจและให้กำลังใจว่า “คุณครูต้องไม่เป็นอะไร คุณครูต้องทำใจให้เข้มแข็ง ในชีวิตนี้คุณครูทำแต่ความดีงาม สร้างสรรค์ผู้คน ทำประโยชน์ให้สังคมมากมาย ที่หนูเจริญก้าวหน้าทั้งชีวิตส่วนตัวและราชการ ก็เพราะการอบรมสั่งสอนของคุณครู”

   ดิฉันได้นำท่านให้คิดถึงบุญกุศลที่ท่านได้กระทำมา ท่านเล่าเรื่องหลังเกษียณอายุแล้วว่า “ครูเก็บรวบรวมเงินได้แสนบาท ครูนำเงินนี้ไปถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อเข้ามูลนิธิสายใจไทย ครูได้เข้าเฝ้าเบื้องพระยุคลบาท พระพักตร์ท่านงดงามมาก ครูปลื้มปีติจนบรรยายไม่ถูก ครูดีใจมาก เป็นสุขมาก ครูอยากเก็บเงินทำบุญถวายท่านอีก แต่ครูคงไม่มีโอกาสอีกแล้ว” ตลอดเวลาที่ดิฉันซักถามและท่านตอบนั้น ใบหน้าของท่านละมุนละไม ดวงตาอิ่มเอิบด้วยบุญกุศลอย่างเต็มเปี่ยม

   จากนั้นดิฉันบอกให้ท่านเอาใจตามรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ด้วยการยกมือขึ้น-ลง มือกำ-คลาย เท้างอ-เหยียด เอามือซ้ายซึ่งเคลื่อนไหวได้ดีช้อนมือขวาซึ่งเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย แล้วโยกมือทั้งสอง ขึ้น-ลง ขึ้น-ลง จากคางจรดท้อง ทำเช่นนี้หลายครั้ง ท่านถามดิฉันว่า “จำเนียรให้ครูทำทำไม” ดิฉันตอบว่า “หนูกำลังให้คุณครูทำความรู้สึกตัวกับการเคลื่อนไหวของกายและจิตค่ะ” จากนั้นคุณครูก็เอาใจตามรู้การเคลื่อนของมือและเท้าตามที่ดิฉันบอกท่าน ทำกันไปสักพักใหญ่ คุณครูก็พูดว่า “ดีจริง วิธีของจำเนียรง่ายๆ ครูใจสงบดีมาก” ดิฉันพูดว่าเมื่อดิฉันกลับแล้วขอให้คุณครูทำเช่นนี้บ่อยๆ ใจจะได้สงบสบายและเป็นกุศลมาก คุณครูรับว่าจะพยายามทำ

   ขณะนั้นคุณอำนวยซึ่งเป็นผู้ดูแลคุณครู คงจะเห็นด้วยตาตนเองว่า คุณครูสบายใจมาก จึงสนใจวิธีการที่ดิฉันแนะนำคุณครู ได้เข้ามาซักถามถึงประโยชน์และเรียนรู้วิธีการเพื่อจะช่วยเตือนคุณครูให้ทำบ่อยๆ ดิฉันดีใจมากได้บอกว่า “ถ้าคนเราสามารถทำความรู้สึกตัวทุกขณะของการเคลื่อนไหวของกายและจิตได้ ใจจะเป็นสมาธิ มีความสงบและเกิดสุข เพราะสภาวะนั้นกิเลสเข้าไม่ได้นั่นเอง ผลที่ได้ คือ จิตผ่องแผ้ว และเป็นมหากุศล”

    ดิฉันไม่อาจทราบว่า หลังจากนั้นคุณครูจะมีสติสัมปชัญญะระลึกรู้ได้อีกต่อไปหรือไม่ แต่ดิฉันเชื่อเหลือเกินว่า จิต (ใจ) ของท่านขณะนั้นเป็นกุศลมาก ดิฉันลากลับและคิดว่าจะหาโอกาสกลับมาเยี่ยมท่านอีก แต่น่าเสียดาย เพียง 2 วันหลังจากแพทย์เยียวยาท่านด้วยการฉายรังสีที่สมอง ท่านเริ่มทรุดลง ดิฉันไปเยี่ยมท่าน พบว่า ท่านมีอาการซึม ไม่อยากรับรู้โลกภายนอกอีกแล้ว จะให้ท่านทำความรู้สึกตัวเหมือนเช่นเดิม ท่านก็ไม่เอาแล้ว ดิฉันได้แต่มองหน้าท่าน และแผ่พลังจิตให้ท่านหายหรือคลายจากความเจ็บป่วยโดยเร็ว แต่ไม่เป็นผล พี่สาวดิฉันเล่าว่า อาการท่านทรุดลงทุกวัน จนในที่สุดท่านหมดลมหายใจ ช่างรวดเร็วเหลือเกิน

ที่มา
http://www.doctor.or.th/node/4789

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
อานุภาพแห่งการเจริญสติช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 3)

การสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยธรรมโอสถ (รายที่ 3)

    ผู้ป่วย 2 ท่านแรกที่ดิฉันเล่าให้ฟังในฉบับที่แล้วเป็นสุภาพสตรี ท่านที่ 3 นี้เป็นสุภาพบุรุษ อายุ 39 ปี เป็นทั้งลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานของดิฉัน หลังจากที่จบปริญญาตรี และทำงานที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงหลายปี ก็ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา อยู่ที่นั่น 7 ปี ได้ปริญญาโทและเอก เขาเป็นคนเดียวของครอบครัวที่เรียนสูง พี่น้องช่วยกันส่งเสียด้วยเรื่องการเงิน เรียนจบกลับมาทำงานได้ประมาณ 1 ปี ก็แต่งงาน ภรรยาได้ปริญญาเอกเช่นกัน แต่ทำงานที่มหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง มีลูกอายุ 11 เดือน

   ผู้ป่วยรายนี้เป็นคนดี มีจิตใจงามมาก เป็นที่รักของเพื่อนฝูง ภรรยาเล่าว่า สามีน้ำหนักลดลง ท้องผูกและอืดบ่อย กินอะไรไม่ค่อยได้ จึงพากันไปตรวจที่โรงพยาบาล หลังการตรวจแล้วหมอให้รับการรักษาโดยทันที สองสามีภรรยาจูงมือกันร้องไห้กลับออกมา เมื่อไปถึงบ้านเห็นหน้าลูกก็ร้องไห้อีก กลัวว่าเมื่อเข้าโรงพยาบาลแล้ว จะไม่ได้กลับออกมา จึงขอเวลาถึง 2 สัปดาห์เพื่อทำใจให้ยอมรับได้ และในที่สุดก็ตัดใจเข้ารับการรักษา อยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือนก็เสียชีวิต แพทย์ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหาร ผ่าตัดไม่ได้ กินอะไรไม่ได้ ต้องให้อาหารและการรักษาทางเส้นเลือด

   ดิฉันทราบเรื่องการเจ็บป่วยของเขาเมื่อล่วงเดือนที่ 2 แล้ว คิดจะไปเยี่ยมในทันทีที่รู้ข่าว แต่โรงพยาบาลศิริราชช่างไกลเหลือเกิน จึงโทรศัพท์ไปที่คณะที่เขาทำงาน ถามว่ามีใครไปเยี่ยมบ้างจะขอโดยสารไปด้วย คนที่รับโทรศัพท์รู้จักกัน บอกว่าขณะนี้ไม่มีใครไปเพราะคุมสอบ แล้วเขาก็ให้สติดิฉันว่า

“หนูอยากให้พี่รีบไปเยี่ยมเขา ทุกคนที่ไปเยี่ยมเห็นสภาพของเขาแล้วก็ร้องไห้ ไม่รู้จะช่วยเขาอย่างไร หนูอ่านเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าใช้ห้องพักในโรงพยาบาลเป็นห้องกรรมฐาน” ของพี่ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารหมอชาวบ้านแล้วคิดว่าพี่จะช่วยเขาได้ในเรื่องการทำใจ”

   ดิฉันฟังแล้วก็ได้สติ รีบขับรถไปเยี่ยมเดี๋ยวนั้นเลย สภาพของเขาที่เห็นผ่ายผอมลงไปมาก ยังพูดได้ มีสติดี ลุกเหินเดินเข้าห้องน้ำได้ ใบหน้าหม่นหมอง มีกังวลใจลึกๆ เงียบขรึม คิดคนเดียว ไม่อยากกิน และไม่ยอมกินอะไร หมอให้น้ำเกลือ อาหารเสริม และยาทางเส้นเลือด

   เมื่อดิฉันไปเยี่ยม เขาอยู่ในท่านอน ทันทีที่เขาเห็นดิฉันเขาบอกว่าหมอยังไม่ทราบว่าผมเป็นอะไร ต้องรอการตรวจสอบให้แน่ใจก่อน ดิฉันได้บอกว่า เมื่อหมอเขายังไม่รู้ไม่บอกเรา เราก็อย่าไปรู้เลย พยายามรักษาใจของเราให้ดีที่สุด อย่าเศร้าหมองตกเป็นทาสของความเจ็บป่วย จากนั้นก็ให้เขายกมือเคลื่อนมาวางที่ท้อง เอาใจตามรู้อาการพอง-ยุบ โดยพูดเบาๆ ตามอาการที่เกิดขึ้น แล้วเอาใจตามรู้การกระดิกนิ้วมือลงทีละนิ้วพร้อมกับนับ 1 ถึง 10 ควบคู่กันไปด้วย ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นหงายมือ กำ-คลาย และกำหนดรู้การเห็นที่ตา การได้ยินที่หู การรู้รสที่ลิ้น การรู้กลิ่นที่จมูก และการรู้สัมผัส (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง) ที่กาย

  ต่อมาดิฉันให้ภรรยาเขาคั้นน้ำส้ม 2 ลูก ผู้ป่วยแสดงอาการไม่ต้องการกิน เพราะกลัวลมในท้องจะดันขึ้นมาและทำให้เขาไม่สบายทรุดหนักลงไปอีก ดิฉันให้กำลังใจเขาว่า เราอยู่ใกล้หมอ ไม่ต้องกลัว ต้องพยายามกินเพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับการกินโดยธรรมชาติ ร่างกายจะได้กลับคืนสู่สภาพปกติเร็วขึ้น เขานั่งฟังเงียบๆ และเมื่อดิฉันฝึกให้เขาดื่มน้ำส้มด้วยสติ ด้วยการเอาจิตตามรู้ที่มือที่จับแก้ว เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ให้เขาบอกตามความรู้สึกที่เป็นจริงขณะนั้น แล้วยกแก้วขึ้นดื่ม รสหนอ กลืนหนอ เขาทำตามอย่างช้าๆ ในที่สุดเขาก็ดื่มน้ำส้มอย่างมีสติจนหมดแก้วโดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือแน่นแต่ประการใด หน้าตาเขาเริ่มฉายแสงแห่งความปีติและสบายใจออกมาให้เห็น นี่คืออานุภาพและอานิสงส์แห่งการเจริญสติ

   เมื่อเขาต้องการเข้าห้องน้ำ ก็บอกให้เขากำหนดการเดิน ขวา-ซ้าย ขวา-ซ้าย จากเตียงนอนถึงห้องน้ำ และกลับมายังเตียงนอน กำหนดต่อว่า นั่งหนอ เอนหนอ ถึงหนอ จนหัวถึงหมอน แล้วยกมือวางที่ท้อง กำหนดพอง-ยุบ พอง-ยุบ จนหลับ ภรรยาเขาเห็นสามีมีใบหน้าสดใส กินได้ ก็ดีใจ บอกว่าคนมาเยี่ยมสามีหนูมากมาย ก็เห็นแต่อาจารย์คนเดียวที่ช่วยให้เขากินได้ และมีใจสงบ แจ่มใส หนูต้องขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

   ดิฉันอยู่เยี่ยมเขาถึงครึ่งวัน ด้วยการฝึกสติให้ผู้ป่วยและให้กำลังใจภรรยา เมื่อดิฉันลากลับ ผู้ป่วยลุกนั่งและยกมือดิฉันไปวางบนศีรษะเขา แล้วร้องไห้โฮใหญ่ ทุกคนในที่นั้นมีดิฉัน ภรรยา และพี่ชายเขาก็เลยผสมโรงร้องไห้กับเขาด้วยเป็นความรู้สึกตื้นตัน อึดอัด และรันทดใจอย่างบอกไม่ถูก ก่อนกลับเขาบอกด้วยความเกรงใจมากที่ขอให้ดิฉันมาเยี่ยมเขาอีก

   อีก 2 วันต่อมา ดิฉันได้ไปเยี่ยมเขาอีก ได้ช่วยทบทวนการฝึกสติให้แก่เขา ได้อธิบายเหตุและผลของการมีสติกำหนดรู้ เขามีความเข้าใจมากขึ้น รู้แล้วว่ามันให้ประโยชน์อย่างไรแก่ตัวเขา เขาก็พยายามทำเท่าที่เขาจะทำได้ ก็ช่วยให้เขามีจิตสงบตามอัตภาพที่เขาสามารถกำหนดสติได้ หลังจากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ ดิฉันไปเยี่ยมเขาอีก แต่ก็สายไปแล้ว เขาได้อำลาจากโลกนี้ โดยทิ้งภรรยาและลูกน้อยให้สู้ชีวิตต่อไปโดยลำพัง :065:

ที่มา
http://www.doctor.or.th/node/4866

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
อานุภาพแห่งการเจริญสติ ช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 4)

  การเจริญสติช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วยคร้งนี้เป็นรายที่ 4 แล้ว 3 รายที่ผ่านมานั้น แม้ผู้เขียนจะไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีสติ จิตใจมีความสงบมากขึ้นก่อนจบชีวิตลง ในฉบับนี้ท่านผู้อ่านลองมาติดตามผู้ป่วยด้วยโรคอัมพาตรายนี้ดูว่า การเจริญสติสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจสงบลงได้มากน้อยเพียงใด

การสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยธรรมโอสถ (รายที่ 4)

ผู้ป่วยอีกรายที่ดิฉันจะเล่าให้ฟังนี้เป็นหญิงโสด อายุไม่เกิน 40 ปี ป่วยเป็นอัมพาตนอนบนเตียงมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ภาพที่ดิฉันได้พบ หน้าตาดูแจ่มใส คล้ายทำใจได้เพราะป่วยมานาน แต่ลึกๆลงไปใจยังหม่นหมองและว้าเหว่ ขาทั้ง 2 ข้างลีบบาง หยิกไม่รู้สึกเลย มือแขนซ้ายวางแนบลำตัวขยับไม่ได้ มือแขนข้างขวาเคลื่อนไหวขยับยกขึ้นลงได้ แต่ไม่มีแรงเพียงพอที่จะหยิบจับของที่มีน้ำหนักได้ แต่ที่ฝ่ามือข้างขวาเมื่อทดลองให้จับแก้วใส่น้ำร้อน ไม่รู้สึกถึงความแข็งแรงของแก้วและความอุ่นของน้ำ หูได้ยินเสียงชัดเจน ตาก็มองเห็นดี และพูดจาคล่องแคล่ว

   ดิฉันฝึกให้เธอเคลื่อนมือขวามาวางที่หน้าท้อง แล้วเคลื่อนกลับไปที่เดิม กลับไปกลับมา พร้อมกับเอาใจตามรู้การเคลื่อนนั้นๆ ทำเช่นนี้หลายครั้ง จนใจสงบ ต่อไปฝึกการกำหนดรู้สึกที่ตา หู และจมูก เห็นอะไรก็กำหนด “เห็นหนอ” ได้ยินเสียก็กำหนด “ยินหนอ” ได้กลิ่นอะไรก็กำหนด “กลิ่นหนอ” ให้ดูดน้ำหวานก็ให้กำหนด “รสหนอ” “กลืนหนอ” จากนั้นลองให้ตะแคงตัว เจ้าตัวบอกทำไม่ได้ ไม่มีแรง ก็ให้กำลังใจบอกให้คิดและพูดดังๆ ว่า ต้องทำได้... ต้องทำได้ ในที่สุดก็สามารถตะแคงตัวได้ ทำให้เธอเริ่มเชื่อมั่นตนเองมากขึ้น

   ผู้ป่วยบอกว่าอยากให้สอนสมาธิ ก็บอกว่านี่แหละ ถ้ามีสติกำหนดรู้อย่างที่ให้ฝึกมานี้ทุกๆ ขณะ ก็จะกลายเป็นสมาธินั่นเอง ดิฉันก็อำลากลับ หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ดิฉันกลับมาเยี่ยมอีก ได้นำเทปเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าใช้ห้องพักในโรงพยาบาลเป็นห้องกรรมฐาน” เปิดให้ฟัง เธอตั้งใจฟังมาก แล้วถามคำถามมากมายเกี่ยวกับการกำหนดสติแล้วทำให้พ้นทุกข์อย่างไร ดิฉันก็ตอบคำถามจนเธอสิ้นสงสัย แล้วเราก็ฝึกการเจริญสติกันต่อไป

  เธอเล่าว่า ในขณะที่ฝึกยกแขนขวาเคลื่อนมาวางที่หน้าท้อง และเคลื่อนออกไปนั้น นอกจากเอาใจตามรู้อย่างเงียบๆ แล้ว เธอยังใช้วิธีการนับ 1-10 ประกอบกับค่อยๆ ขยับการเคลื่อนมือเข้าออกอย่างช้าๆ สภาวะเช่นนี้ทำให้ใจจดจ่อต่อการเคลื่อนไหวของมือและแขนอย่างแนบแน่นขึ้น เป็นผลให้มีใจสงบเร็วขึ้น ดิฉันชื่นชมมากที่เธอเข้าใจปรับวิธีการนี้ด้วยตนเอง นั่นก็หมายถึงว่า เธอมีสติกำหนดละเอียดยิ่งขึ้น ผลที่เห็นทันตา ก็คือ มือและแขนข้างขวาเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น มีกำลังดีขึ้น

   เพื่อที่จะหางานให้เธอทำต่อไป จึงช่วยใช้มือขวาช้อนมือซ้ายที่เคลื่อนไหวไม่ได้ แล้วโยกไปโยกมา พร้อมกับเอาใจตามรู้โดยตลอด แรกๆ ต้องช่วยเธอมากฝึกทำกันอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อเธอเริ่มช่วยตนเองได้ดี ก็ปล่อยทำต่อไป สังเกตดูว่าเธอจะทำด้วยใจจดจ่ออยู่นานพอควร ในที่สุดมือและแขนข้างซ้ายเริ่มเคลื่อนไหวได้บ้าง เธอดีใจมาก ดิฉันก็บอกว่า ถ้าเธอเอาใจตามรู้การเคลื่อนไหวของกาย และกำหนดสภาวธรรมที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6 ได้อยู่ตลอดเวลา เธอจะสามารถมีชีวิตอยู่บนเตียงได้อย่างมีอุเบกขา และเมื่อใจเธออยู่กับปัจจุบัน ใจก็จะสงบ เยือกเย็น แจ่มใส ร่างกายก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ

   ตลอดเวลาที่ดิฉันฝึกเธอในเรื่องการเจริญสตินั้นคุณแม่นั่งเฝ้าอยู่ดูแลเธอตลอดเวลา เธอพูดกับดิฉันว่า เธอสงสารคุณแม่มาก คุณแม่ปวดหลังบ่อย ไม่ทราบว่าจะช่วยคุณแม่อย่างไร ดิฉันก็ชวนคุณแม่ทำสมาธิ คุณแม่ปฏิเสธเสียงหลงว่า ทำไม่เป็น... ทำไม่เป็น ดิฉันได้ฝึกวิธีง่ายๆ ทำให้ดูและให้คุณแม่ทำตาม โดยการใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมือขวา คลึงปลายนิ้วก้อยของมือซ้ายแล้วนับ 1 และจากนั้นเลื่อนไปคลึงปลายนิ้วนางจนถึงปลายนิ้วโป้ง และนับต่อกันจาก 1-5 แล้วเปลี่ยนมือกัน โดยใช้ปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมือซ้ายคลึงปลายนิ้วมือของมือขวา และนับต่อเนื่องกันจาก 6-10 แล้วกลับมาคลึงปลายนิ้วเหมือนเดิม นับใหม่ 1-10 ทำอยู่เช่นนี้ประมาณ 5 นาที ในที่สุดใจจะสงบเป็นสมาธิ

   ขณะเดียวกันดิฉันให้คุณแม่เธอรับรู้อีกว่า ถ้าคลึงปลายนิ้วมือทุกๆ วันๆ ละหลายๆ ครั้ง จะช่วยไม่ให้เป็นโรคหัวใจอีกด้วย ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันพูดและฝึกร่วมไปกับคุณแม่ ผู้ป่วยสนใจฟังตลอดเวลา และจะคอยเตือนคุณแม่ให้คลึงนิ้วมือบ่อยๆ ด้วยความรู้สึกอยากให้คุณแม่มีความสงบสุข ดิฉันได้แนะนำให้เขาแผ่เมตตาให้ซึ่งกันและกัน โดยบอกว่าเมื่อใดก็ตามที่เราทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน ด้วยการมีสติกำหนดรู้ ในช่วงเวลาเหล่านั้นจิตของคนเราจะบริสุทธิ์ และมีพลังที่จะถ่ายทอดความเมตตาถึงกันได้ ดิฉันรู้สึกว่า ผู้ป่วยมีกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในตนเองมากยิ่งขึ้น เพราะเธอรู้ว่าตนนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งก็คือคุณแม่ของเธอนั่นเอง หลังจากนั้นดิฉันได้อำลากลับ ด้วยความตั้งใจจะกลับมาเยี่ยมเธออีก

   หลายสัปดาห์ต่อมา ดิฉันได้ไปเยี่ยมเธออีก เธอบอกว่าได้พยายามกำหนดรู้สภาวธรรมที่เข้ามาปรากฏทางทวารทั้งหมด และอิริยาบถต่าง ตามที่เธอได้ฝึกไปจากดิฉันซึ่งทำให้เธอสงบสบายขึ้นมาก แต่ก็ทำได้ไม่ตลอด โดยทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ให้กำลังใจว่าค่อยๆ ทำไป ลืมก็ให้รู้ว่าลืม แล้วกลับมากำหนดใหม่ ทำไปเรื่อยๆ อีกหน่อยก็จะสามารถมีสติกำหนดรู้ดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี ดิฉันดีใจมากที่เธอได้พยายามพากเพียรทำ และรับรู้ว่า ขณะนี้ใจของเธอสงบสบายขึ้นมาก และสามารถพูดคุยถึงความตายเป็นเรื่องธรรมดาโดยไม่กลัวกับมันแล้ว ก่อนกลับได้สัญญาว่าจะกลับมาเยี่ยมอีกพร้อมทั้งจะนำเทปเรื่อง “มรณานุสติ” บรรยายโดยอาจารย์สุเทพ โพธิสัทธามาให้ฟัง

ที่มา
http://www.doctor.or.th/node/4891

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
อานุภาพแห่งการเจริญสติช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนจบ)

ใน 4 ครั้งก่อนได้ยกตัวอย่างของผู้ป่วย 4 รายที่ได้ใช้การเจริญสติช่วยเหลือ ในครั้งนี้จะกล่าวถึงการบริการปรึกษา

การใช้ธรรมปฏิบัติผสมผสานกับเทคนิคการให้บริการปรึกษา : ช่วยผู้มาขอรับความช่วยเหลือ

   ผู้ป่วยรายสุดท้ายที่ดิฉันจะกล่าวถึงนั้น เป็นชายอายุ 20 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง หน้าตาดี ร่างกายแข็งแรง แต่มีปัญหาทางใจ ภาพที่พบในขณะมารับบริการปรึกษาจากดิฉัน ใบหน้าเขาหม่นหมอง กังวลใจลึกๆ เครียดบางขณะ นัยน์ตาร่วงโรย เก็บกด สภาพใจเหมือนถูกบีบคั้นไร้ความสุข หลังจากสร้างสัมพันธภาพกันแล้ว คำพูดต่างๆ ได้พรั่งพรูออกมาเหมือนน้ำไหลผ่านเครื่องกั้นทำนบ

   สรุปปัญหาที่เกิดขึ้น คือ อาการนอนไม่หลับ จิตใจว้าวุ่น ครุ่นคิด ฟุ้งซ่าน อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง เวลาสอบใจไม่เป็นสมาธิ บางเวลาเครียดมาก เนื่องจากมีเสียงเกรี้ยวกราดด่าว่าของแม่ก้องอยู่ในหัวเขาตลอดเวลาว่า “โง่ เซ่อ ไม่เอาไหน ไม่มีวันเจริญหรอกชาตินี้ มีลูกก็ขายหน้าชาวบ้าน” เสียงก้องเหล่านี้เขาได้ยินตลอดตั้งแต่สมัยยังเรียนชั้นประถมศึกษาจนถึงปัจจุบันเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

   สาเหตุของปัญหา ก็คือ ในครอบครัวเขามีพี่น้องหลายคน แม่มีอำนาจมาก มีอารมณ์ฉุนเฉียว เสียงดัง เป็นผู้นำ และรับผิดชอบครอบครัว ลูกๆ ทุกคนทำอะไรไม่ถูกใจ แม่จะเกรี้ยวกราดมาก ด่าว่าลูก และรวมทั้งพ่อด้วย โดยไม่คำนึงว่าลูกจะรู้สึกเจ็บปวดเพียงใด พ่อเหมือนผู้อาศัย เงียบเฉย ไม่มีปากมีเสียง มีท่าทางกลัวและรำคาญแม่ แม่ใช้เสียงข่มพ่อ ไม่ให้เกียรติพ่อ ต่อหน้าลูกหรือใครๆ แม่นึกอยากด่าพ่อ แม่ก็ทำ

   เขาไม่รักและผูกพันแม่เลย มีความเกลียดและกลัว เขาไม่อยากอยู่ใกล้แม่ สำหรับพ่อ เขารู้สึกเวทนาและสมเพช พ่อช่างไม่เอาไหนเสียเลย แต่เขาก็สงสารพ่อ อยากช่วยพ่อ แต่ก็ช่วยอะไรพ่อไม่ได้ เพราะแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้

   เมื่อเล็กๆ เขาเรียนช้ามาก ถ้าทำอะไรไม่ทันใจแม่ แม่จะส่งเสียงด่าว่าเขาโง่เหมือนควาย และยังคงด่าว่าเขาแม้เมื่อเขาโตแล้วก็ตาม เขาอยากจะบอกแม่ให้หยุดทำร้ายเขาด้วยวาจา น้ำเสียง และท่าทางเกรี้ยวกราด คำพูดและภาพเหล่านั้นเขาช่างจดจำไปหมด เขาวิงวอนพ่อให้ช่วยเขา แต่พ่อก็ช่วยเขาไม่ได้ เขาอยากอยู่ให้ไกลจากแม่ แต่เสียงแม่มีอิทธิพลเหลือเกิน มันเข้าไปก้องในหัวเขาตั้งแต่เด็กเรื่อยมาก แม้เมื่อเขาจากบ้านมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เสียงของแม่ยังติดตามมารังควานและรบกวนเขาอยู่ตลอดเวลา และสร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัสให้แก่เขา

   การช่วยเหลือ ดิฉันใช้เทคนิคของการให้บริการปรึกษาที่ฝึกฝนมา ด้วยการให้เขาระบายความรู้สึกที่เก็บอัดไว้ ค่อยๆ ออกมาให้หมดสิ้น และให้เขาเรียนรู้วิธีการที่จะจัดการกับปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น เขารู้สึกสบายใจ มีความหวัง และเห็นแนวทางของการคลี่คลายปัญหาและความทุกข์เหล่านั้น เขาหายไปเกือบ 2 สัปดาห์ แล้วกลับมาอีกด้วยใบหน้าหม่นหมอง ครุ่นคิด เครียด ลักษณะคล้ายกับที่เขามาพบดิฉันในครั้งแรก ดิฉันช่วยเขาด้วยการใช้เทคนิคของการให้บริการปรึกษาเขาอีก ก่อนจากไปเขาเหมือน “หยั่งรู้” ในปัญหาของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาของตนได้ เขาจากไปด้วยความสบายใจ

   หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว เขาก็กลับมาอีก ด้วยความทุกข์อันเนื่องมาจากสาเหตุของปัญหาเช่นเดิม ในตอนนี้ดิฉันเริ่มคิดได้ว่า วิธีการที่ได้ใช้ถึง 2 ครั้งไม่ได้ซักฟอกจิตใจของเขาเลย เขาจะกระจ่างแจ้งในขณะที่เราช่วยเขา แต่หลังจากนั้นแล้ว สภาพจิตก็จะกลับเป็นเช่นเดิมอีก เมื่อเขากลับมาเผชิญกับสิ่งแวดล้อมเก่าๆ ทุกข์ที่เขามีอยู่ เดี๋ยวก็คลาย เดี๋ยวก็เครียด เพราะใจเขาไม่ได้รับรู้อยู่กับปัจจุบัน แต่ฟุ้งซ่านอยู่กับอดีต อยู่กับอนาคต สิ่งที่เห็นชัด คือ พิษร้ายจากลมปากและการกระทำของแม่ ได้ซึมซับเก็บอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้เป็นลูก และค่อยๆ พ่นออกมาเป็นความรู้สึกนึกคิด โดยทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เป็นเสมือนสนิมเหล็กที่คอยกัดกร่อนเนื้อเหล็กให้ย่อยยับลงในที่สุด

   มีหนทางเดียวที่จะช่วยเขาได้ ก็คือ ให้เขาฝึกการเจริญสติ ให้จิตของเขาอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ภาพและคำพูดต่างๆ ในอดีต ซึ่งเปรียบเสมือนพิษร้ายจะได้ค่อยๆ ถูกลบล้างออกไปจนหมดสิ้น ผลก็คือ ปัญหาหรือทุกข์ทางใจของเขาจะถูกขจัดออกไปโดยสิ้นเชิง

   การพบกันในครั้งที่ 3 ดิฉันได้อธิบายถึงวิธีการที่จะช่วยเขาแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด ด้วยการที่เขาจะต้องร่วมมือ มีความพากเพียร ฝึกฝนตนเองเรื่องการเจริญสติ โดยมีดิฉันเป็นผู้ฝึกให้ เขารับคำทันที เพราะเขามีทุกข์มาก เราเริ่มฝึกการเจริญสติกันวันละ 1 ชั่วโมงทุกๆ วัน ด้วยการให้เขามีสติกำหนดรู้สภาวธรรมต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

   ในระยะแรกก็ฝึกกำหนดรู้กันทีละทวารจนคล่องแคล่ว ต่อมาจึงฝึกกำหนดรู้หลายๆ ทวารพร้อมกัน และรวมทั้งฝึกกำหนดรู้การเคลื่อนไหวของกายและอิริยาบถต่างๆ เขาอดทนและพากเพียรดีมาก เราพบกันอยู่นาน จนในที่สุดเมื่อจิตเขารับรู้สภาพธรรมในปัจจุบันได้ ความมายา ฟุ้งซ่าน ว้าวุ่น ไร้สาระในอดีตและอนาคตก็สลายลง ทุกข์ต่างๆ ที่เขาเคยมี เคยได้รับ ก็บรรเทาเบาบาง และคลายลงในที่สุด

ข้อเสนอแนะ

ในการสงเคราะห์ผู้ป่วย หรือผู้มาขอรับบริการ ด้วยการใช้ธรรมปฏิบัติ เพื่อยังประโยชน์ให้บังเกิดมีขึ้นกับผู้ป่วยควรจะมีลักษณะ ดังนี้

1. ผู้ให้การสงเคราะห์ต้องศึกษาและปฏิบัติวิธีการเจริญสติ จนบังเกิดผลของการเห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยตนเองพอสมควรเสียก่อน ข้อนี้สำคัญที่สุด

2. ผู้ให้การสงเคราะห์จำเป็นต้องเข้าใจถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยว่า เขาทั้งหลายนั้นมีทุกข์ทางกายและใจหลายร้อยพันเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ของคนปกติ เพราะไหนจะเรื่องทุกข์ของตนเอง หากยังรวมเอาเรื่องทุกข์ของความรับผิดชอบในครอบครัว การทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ หาเงินค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆ เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องทับถมทวีคูณ อันเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ใหญ่ยิ่ง

3. ผู้ให้การสงเคราะห์จำเป็นต้องมีความเข้าใจผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง ก็คือ การเอาใจของเราเข้าไปรับรู้ถึงความทุกข์ของเขา จนดูประหนึ่งว่าเรานั้นทุกข์เช่นเขา ก็จะช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจ และเข้าถึงใจของเขาได้เป็นอย่างดี และเมื่อนั้นอากัปกิริยา สีหน้า ท่าทาง และคำพูดที่เราสื่อสารไปยังเขาก็จะช่วยให้เขารับรู้ถึงการที่เราให้การยอมรับและเข้าใจเขาอย่างแท้จริง

4. ผู้ให้การสงเคราะห์จำเป็นต้องรู้จักสังเกตอากัปกิริยา สีหน้า ท่าทาง แววตา และความรู้สึกต่างๆที่ผู้ป่วยแสดงออกมา ซึ่งจะช่วยบอกเราว่าเขาอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมหรือยังที่จะรับเอาสิ่งที่เราจะให้แก่เขา ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การสนทนา หรือการนำวิธีการเจริญสติเข้าไปใช้ ถ้าเขายังไม่พร้อมเราก็ต้องถอยออกมาตั้งหลัก และเมื่อเขาพร้อม เราก็เดินหน้าเข้าไปใหม่

5. ผู้ให้การสงเคราะห์จำเป็นต้องใช้เวลามากพอสมควรในการฝึกการเจริญสติ จนกระทั่งผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาได้รับประโยชน์จริงๆ จากการฝึกนั้นๆ กล่าวคือ เมื่อเขาทำแล้ว เขาจะรู้สึกว่าใจสงบสบายเป็นขณะ เพราะการได้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อผลปรากฏแก่เขาแล้ว เขาจึงจะยอมเชื่อถือ และหลังจากนั้นเราจึงค่อยอธิบายถึงเหตุและผลของการที่ให้เขาได้ฝึกปฏิบัติ

   การเยี่ยมผู้ป่วยอยู่เสมอๆ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยทบทวนและย้ำการปฏิบัติของผู้ป่วยให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ถ้าผู้ป่วยคนใดสร้างเหตุของการฝึกปฏิบัติไว้ก่อนแล้ว เมื่อได้รับเทคนิคของการทำให้รู้ตัวทุกขณะหรือเป็นปัจจุบัน การปฏิบัติของเขาจะเข้าถึงจิตใจเร็วขึ้น ซึ่งจะยังผลให้เขาอยู่กับความเจ็บป่วยได้อย่างสบาย เพราะใจเขาไม่เจ็บป่วยนั่นเองสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน ผู้ให้การสงเคราะห์ต้องอดทนและทำใจให้รับรู้ได้ว่า ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยรู้ตัวเองว่าทำแล้วใจสบาย แต่เขาก็ลืมง่ายมาก

6. หลักสำคัญของการสงเคราะห์ผู้ป่วยนั้น พอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ขั้นแรก ต้องสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วย ด้วยการยอมรับเขา และให้เขารู้สึกถึงการยอมรับนั้น ซึ่งก็แสดงออกได้ทั้งภาษา ท่าทาง (เช่น สบตาเขา สัมผัสเขา มองเขาด้วยความรู้สึกเห็นใจในเคราะห์กรรมที่เขาได้รับ มีเมตตาอยากช่วยเหลือจริงๆ เป็นต้น) ภาษาคำพูด (เช่น น้ำเสียงอ่อนโยน พูดคุย สนทนา ซักถามก็ต้องเป็นไปด้วยความเหมาะสม) และต้องให้กำลังใจ ปลุกความรู้สึกของการต่อสู้เพื่อเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ

ขั้นที่สอง ป้อนคำถามให้ผู้ป่วยระบายความรู้สึกของความทุกข์ต่างๆ ที่สะสมหรือสุมอยู่ในใจเขาออกให้หมด จากนั้นก็ร่วมกับผู้ป่วยพิจารณาทุกข์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงสามีหรือภรรยา ลูก บ้าน และอื่นๆ ในแต่ละเรื่องๆ จนหมดสิ้น เพื่อให้เขาหันกลับมาพิจารณาเฉพาะทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาในขณะนี้เท่านั้น

ขั้นที่สาม นำผู้ป่วยให้นึกถึงคุณงามความดี และบุญกุศลที่เขาได้กระทำเอาไว้ ด้วยการป้อนคำถามให้เขาพูดออกมาให้มากที่สุด ขั้นนี้สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้จิตใจผู้ป่วยสบาย มีจิตใจที่ดี อันเนื่องมาจากการได้รำลึกนึกถึงความดีงามและกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่เขาได้สร้างสมมา

ขั้นที่สี่ เป็นขั้นสุดท้าย โดยนำเขาฝึกปฏิบัติการเจริญสติตามวิธีที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยรับรู้ด้วยตนเองว่าเป็นการกระทำง่ายๆ และบังเกิดผลเป็นความสงบขึ้นในจิตใจเขาได้ มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เคยสนใจเรื่องธรรมะมาก่อน ถ้าเรานำเทปธรรมะหรือหนังสือธรรมะ หรือพูดและบรรยายเรื่องธรรมะแก่เขา เขาจะเกิดการต่อต้านในใจ เกิดความรำคาญและไม่ยอมรับ ดังนั้น เราจึงต้องให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ด้วยตนเอง สัมผัสผลที่ได้จากการกระทำของตนเอง เขาจึงจะยอมรับสิ่งนั้นได้ง่าย

ที่มา
http://www.doctor.or.th/node/4918

ออฟไลน์ saken6009

  • อย่ากลัวคนจะมาตำหนิ แต่จงกลัวว่าตัวเองจะทำผิด อย่ากลัวที่จะรับรู้ความบกพร่องของตน แต่จงกลัวว่าตนจะเป็นคนที่ดีได้ไม่จริง
  • ก้นบาตร
  • *****
  • กระทู้: 893
  • เพศ: ชาย
  • ชีวิตของข้า เชื่อมั่นศรัทธา หลวงพ่อเปิ่น องค์เดียว
    • ดูรายละเอียด
อานุภาพแห่งการเจริญสติช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย 25; 25;
                                 
ขอบคุณท่าน ทรงกลด ที่นำบทความที่ดีมากๆมาให้พี่น้องศิษย์วัดบางพระได้อ่านครับ :053: :053:
 
ติดตามอยู่ครับ อ่านแล้วเพลินดีมากๆครับ และ ได้สาระความรู้มากๆครับผม :016: :015:
 
(ขออนุญาตเข้ามาอ่าน เพื่อเป็นความรู้ ขอบคุณครับผม) :033: :033:
   
 

กราบขอบารมีหลวงพ่อเปิ่น คุ้มครองศิษย์ทุกๆท่าน ให้แคล้วคลาด ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง สาธุ สาธุ