ผู้เขียน หัวข้อ: พระปิดทวาร  (อ่าน 4083 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ karnpong

  • ขยัน อดทน อดกลั้น มีสติ
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 98
  • เพศ: ชาย
  • 23 ตุลาคม 2554
    • ดูรายละเอียด
พระปิดทวาร
« เมื่อ: 21 ธ.ค. 2554, 12:02:48 »
ขออนุญาตนำเนื้อหาสาระดีมาเผยแพร่ต่อครับ........
                 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เลิกใหม่ ๆ เช้าวันหนึ่ง เศรษฐีผู้หนึ่งขับรถรุ่นใหม่ที่เพิ่งซื้อ เพื่อไปเที่ยวลพบุรีกับเพื่อนอีก ๓ คน พอสายก็ได้กลิ่นควันดำจากรถคันหน้า เมื่อเร่งเครื่องขึ้นหน้า เพื่อนเศรษฐีก็ตะโกนต่อว่าที่ปล่อยควันดำใส่รถคนอื่น รถคันนั้นนั่งกันอยู่ ๒ คน สภาพเก่ามาก ถ้าเทียบความเร็วก็เหมือนกระต่ายกับเต่า ชายหนุ่มผู้ขับรถคันนั้น แม้จะถูกตะโกนใส่หน้าก็ตอบอย่างสุภาพ และขอโทษที่เติมน้ำมันเครื่องมากไป
                  เมื่อคนในรถใหม่จอดพักกินข้าวเช้า รถเก่าก็แซงขึ้นหน้า ต่อมารถใหม่ก็ตามทันพอจะผ่าน คนในรถใหม่พากันพูดดูถูกรถเก่าต่าง ๆ นานา คนในรถเก่าก็รับฟังอย่างยิ้มแย้ม เมื่อแซงแล้ว คนหนึ่งในรถใหม่ได้พูดอย่างขบขันว่า รถจะเป็นศพอยู่แล้ว ยังอุตส่าห์เอามาใช้ ถ้าพังลงกลางทางจะสมน้ำหน้า
                  ขากลับจากลพบุรีก็แวะเที่ยวตลาดสระบุรี ได้พบรถเก่า จึงพากันพูดเยาะเย้ยรถเก่าอีกทั้งที่คนขับรถเก่าก็อยู่ในร้านที่จอดรถนั่นเอง เมื่อเที่ยวตลาดแล้ว รถใหม่ก็กลับกรุงเทพ เจ้าเต่าคันนั้นก็ยังจอดอยู่ที่เดิม ในเวลานั้นถนนสายกรุงเทพ-สระบุรียังไม่เรียบร้อยนัก บางแห่งกำลังลงหินใหญ่ รถใหม่จึงถูกก้อนหินครูดใต้ท้องหลายครั้ง แต่ก็วิ่งได้สะดวก เมื่อเลยบางปะอินมาไม่นาน รถใหม่ก็หยุดวิ่งเครื่องดับ แก้เท่าไรก็ไม่ติด นาน ๆ จะมีรถผ่านสักคัน คนในรถที่ผ่านก็พากันหัวเราะ ไม่มีใครมีแก่ใจลงมาถามเลย เมื่อใกล้จะมืด ทุกคนก็หน้าซีดด้วยความกลัว เพราะแถวนั้นในระยะนั้นเคยมีรถยนต์ถูกจี้ปล้นกันบ่อย ๆ เศรษฐีซึ่งตอนแรกมีทิฏฐิไม่ยอมขอให้ใครช่วย ก็หมดทิฏฐิแล้ว คิดว่า ถ้ามีรถผ่านมาก็จะโบกมือขอความช่วยเหลือ ถ้าใครแก้ได้ จะเอารางวัลสัก ๕๐๐ บาทหรือมากกว่าก็จะทูนหัวให้ ขอให้ได้กลับบ้านวันนี้ก็แล้วกัน
                  ขณะนั้นรถคันหนึ่งกำลังวิ่งมาใกล้ อ้ายเต่า นั่นเอง เศรษฐีคิดว่า แม้ขอความช่วยเหลือเขาก็คงไม่ช่วย ซ้ำจะเยาะเย้ยให้ได้อายอีก คิดแล้วจึงเอาหัวซุกเข้าไปในกระโปรงเครื่อง ทำทีว่ากำลังแก้เครื่อง ส่วนคนอื่น ๆ ก็หลบเข้าไปนั่งในรถหลับตาพิงเบาะ ทุกคนต่างก็อยากให้อ้ายเต่าผ่านไปเสียเร็ว ๆ แต่แทนที่จะได้ยินเสียงรถผ่านไปพร้อมกับตะโกนหัวเราะเยาะ กลับได้ยินเสียงเครื่องยนต์หยุด แล้วได้ยินเสียงคนเปิดประตูรถลงมา จากนั้นก็ได้ยินเสียงถามอย่างสุภาพว่า รถคุณเป็นอะไร มีอะไรจะให้ช่วยบ้างไหม
                  เศรษฐีฟังแล้วเกือบจะร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจ น้ำเสียงนั้นเป็นเสียงที่ถามอย่างบริสุทธิ์ใจไม่มีการเยาะเย้ยแฝงอยู่   ทำให้เศรษฐีหายอายจึงตอบว่า รถแล่นมาดี ๆ ก็หยุดลงเฉย ๆ แก้เท่าไรก็ไม่ตก ชายผู้นั้นจึงเข้าไปตรวจดู ในที่สุดพบว่า ถังน้ำมันรั่ว จึงอุดรอยรั่วในถังชั่วคราวแล้วเติมน้ำมันพอให้ไปถึงกรุงเทพได้ เมื่อเครื่องยนต์ติดดีแล้ว เศรษฐีก็หยิบซองธนบัตรเพื่อจะให้รางวัล ชายผู้นั้นก็รีบปฏิเสธเพราะตั้งใจช่วยโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เศรษฐีจึงล้วงไปในคอเสื้อ หยิบพระสมเด็จเลี่ยมทองที่ห้อยคออยู่พร้อมทั้งสายสร้อยทองคำ ส่งให้ด้วยความรักในน้ำใจ แต่ชายผู้นั้นก็ปฏิเสธอีกอย่างสุภาพ
                 เศรษฐีจึงพูดว่า พระของคุณคงไม่ใช่พระสมเด็จแน่ โปรดรับไว้เถิด
                 ชายผู้นั้นตอบว่า ของเขาไม่ใช่พระสมเด็จ เป็นพระปิดทวารมีองค์เดียวก็พอ ขอให้มีใจสุจริตเคารพท่านจริง ๆ พวกปล้นมีพระห้อยคอพวงใหญ่ แต่ก็ป้องกันอะไรไม่ได้เพราะใจไม่สุจริต หากินโดยการปล้น ของเขามีองค์เดียวบูชาไว้ที่บ้าน เมื่อมีเรื่องอะไรก็นึกถึงท่าน เช่น เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ดี ก็นึกถึงท่าน เห็นท่านปิดหู เขาก็ไม่ฟังเสียงนั้น ไม่นำมาใส่ใจ เมื่อเพื่อนชวนให้ดื่มสุรา เขานึกถึงท่าน เห็นท่านปิดปาก เขาก็ไม่ดื่ม เมื่อมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นเขาก็นึกถึงท่านทุกครั้ง ท่านก็สอนให้อดทน เขาก็ทำตาม จิตใจจึงสบายไม่มีกังวล

               เศรษฐีฟังแล้วก็ตื้นตันใจ อยากจะร้องไห้ อยากจะเอาผ้าปูแล้วกราบความดีของชายผู้นั้น
                                                                                        (กฎแห่งกรรม โดย ท. เลียงพิบูลย์)

                  ประตูเรือนเป็นสถานที่สำคัญที่จะต้องดูแลรักษาให้ดี ฉันใด อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางสำหรับให้อารมณ์ต่าง ๆ ผ่านเข้ามาสู่ใจ ก็เป็นสถานที่สำคัญที่จะต้องสำรวม คือต้องดูแลรักษาให้ดี ฉันนั้น
                 ชายหนุ่มในเรื่องนี้ไม่โกรธแม้จะถูกเยาะเย้ยชนิดที่เรียกว่า ขุดด้วยปาก ถากด้วยตา (หมายถึง เหยียดหยามทั้งด้วยวาจาและสายตา) เพราะสามารถสำรวมอินทรีย์ได้ดี เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ดี เขาก็ระลึกถึงพระปิดทวารที่ตนเคารพบูชา เห็นท่านปิดหู ก็มีสติสัมปชัญญะรู้ว่า
                เสียงไม่ดีนั้นก็สักว่าเสียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จึงไม่ควรนำมาใส่ใจ เมื่อระลึกได้อย่างนี้ ความโกรธเคือง ความไม่พอใจ ความแค้นใจ ก็ไม่เกิดขึ้น สามารถรับฟังเสียงไม่ดีได้อย่างยิ้มแย้ม
                สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ที่เราไม่รู้ไม่เห็นยังมีอีกมาก แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่เราจะต้องไปรู้ไปเห็นให้หมด ดังนั้นในบางครั้ง แม้จะเห็นก็ควรแกล้งทำเป็นไม่เห็น แม้จะได้ยินก็ควรแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน เมื่อรู้จักปิดหูปิดตาตัวเองเสียบ้าง เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็จะลดน้อยลง ชีวิตก็จะเป็นสุขขึ้นกว่าเดิม

                            ปิดหู ซ้ายขวา        ปิดตา สองข้าง
                            ปิดปาก เสียบ้าง    แล้วนั่ง สบาย


ชาตรี แคล้วคลาด กันภัย มหาระงับ ดับทุกข์ สุขล้น พ้นสังขาร การงานรุ่ง พยุงดวง

ออฟไลน์ karnpong

  • ขยัน อดทน อดกลั้น มีสติ
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 98
  • เพศ: ชาย
  • 23 ตุลาคม 2554
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: พระปิดทวาร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 21 ธ.ค. 2554, 12:20:21 »
นำสาระดีมาเผยแพร่ต่อครับ :054: :054: :054:
พระปิดทวารสอนอะไร..........
ความสบายที่แท้จริงนั้น มันต้องเกิดจากจิตใจที่สบายจิตใจที่สงบ ซึ่งความจริงนั้นมันมีอยูู่่ตามธรรมชาติ แต่ว่าเราไม่ให้มันโผล่ออกมาได้ เพราะว่าเราเอาความวุ่นวายไปปิดมันเสีย เรานึกไปแต่เรื่องภายนอก นึกไปในเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสิ่งที่ถูกต้องทางกายประสาทอยู่ตลอดเวลา ความสงบไม่มีเวลาที่จะโผล่ออกมา ทีนี้เราลองปิดเสียบ้าง ลองปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปากเสียบ้าง เรียกว่าเป็นพระปิดทวารเสียบ้าง

พระเครื่องมีอยู่องค์หนึ่ง เขาเรียกว่า พระปิดทวารทั้งเก้า เขาทำรูปมีมือปิดตาปิดหูปิดจมูกปิดทวารหนักปิดทวารเบา ความจริงหนักกับเบาไม่ต้องปิดอะไรก็ได้มันไม่ยุ่งอะไร มันมีแต่เรื่องออก เรื่องเข้ามันไม่มีอย่างนั้น แต่ว่าทวารนี้แหละสำคัญคือ ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท สิ่งนี้ควรปิดแล้วก็ปิดใจเสียด้วย

เขาว่าพระปิดทวารใครๆ ก็อยากได้ เพราะถ้าได้องค์นี้แขวนคอแล้ว ยิงไม่เข้าแทงไม่เข้า อะไรก็ไม่เข้า นั่นเขาพูดเป็นภาษาชาวบ้านมากไปหน่อย หาว่าวัตถุอื่นไม่เข้าร่างกาย แต่ ความจริงนั้นที่เขาทำพระปิดทวารทั้งเก้าก็เพื่อจะสอนคนนั่นเอง เพื่อให้คนรู้จักปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปาก ปิดกาย ปิดใจ ไม่รับอารมณ์ต่างๆ

อารมณ์คือสิ่งที่จรเข้ามากระทบตา หู จมูก อันนี้มันของมาจากข้างนอก ไม่ใช่ของมีอยู่ข้างใน ทีนี้ท่านให้ปิดเสียอย่าไปมอง หรือมองก็ได้แต่มองด้วยปัญญา ฟังก็ได้แต่ฟังด้วยปัญญา ดมกลิ่นก็ดมด้วยปัญญา ลิ้มรสก็ลิ้มด้วยปัญญา ร่างกายจะไปแตะต้องสิ่งใด ก็แตะต้องด้วยปัญญา ที่ว่าด้วยปัญญาคือด้วยความรู้ รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น เราไม่มองด้วยความหลง ไม่ฟังด้วยความหลง ไม่ดมกลิ่นลิ้มรสถูกต้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยความหลงใหลมัวเมา หรือด้วยความเพลิดเพลิน

เช่นเราไปดูหนังมักจะดูด้วยความเพลิดเพลิน ปล่อยใจไปตามภาพบนจอ บางทีหนังมันแสดงเศร้าโศกเราพลอยเศร้าโศกไปด้วย ร้องไห้ไปด้วย ทำไมจึงร้องไห้ นี่แหละเขาเรียกว่า ปล่อยใจไปตามสิ่งนั้น ลืมไปว่านั่นเป็นละครเป็นลิเก เป็นเรื่องเสกสรรปั้นแต่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องเนื้อแท้ แต่ว่าการแสดงของคนเหล่านั้น เขาแสดงแนบเนียน ทำให้คนดูมองเห็นว่าเป็นความจริง แล้วก็นึกว่าเป็นเรื่อง จริง จิตใจก็คล้อยตามเรื่องนั้นไปด้วย เวลาเรื่องน่าโกรธ ก็โกรธ เวลาน่าเกลียดก็เกลียด เรื่องน่ารักน่าเศร้าใจก็รักก็เศร้าใจ ร้องไห้ร้องห่ม นี่เรียกว่าไม่ดูด้วยปัญญา ไม่ได้ใช้ปัญญาว่านี่มันละคร นี่มันลิเก หรือว่าเป็นเรื่องหนัง ที่เขาทำเป็นภาพขึ้น คนเหล่านั้นมันไม่ได้โกรธไม่ได้เคืองกัน แต่เราลืมไปเพราะเราเพลิดไปกับสิ่งเหล่านั้น เมื่อเพลินไปก็นึกว่ามันเป็นความจริง เลยไปโกรธกับเขาด้วย ไปรักกับเขาด้วย ไปเศร้าโศกเสียใจกับเขาด้วย อย่างนี้เรียกว่ามองด้วยไม่มีปัญญา ไม่มีสติกำกับการมอง

พระ พุทธเจ้าสอนว่าให้มองอะไรด้วยปัญญา ฟังอะไรก็ฟังด้วยปัญญา ไปได้กลิ่นอะไรก็ต้องใช้ปัญญา ไปลิ้มรสอะไรก็ต้องปัญญา ไปจับต้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้า ก็ต้องใช้ปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาอยู่ว่า สิ่งนี้คืออะไร มันมาจากอะไร มันให้ทุกข์ให้โทษให้ประโยชน์อย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ในรูปใด ให้พิจารณาตามไปด้วย เรียกว่าดูไป มีปัญญาติดตามไป มีสติติดตามไป สิ่งนั้นจะไม่ครอบงำเรา จะไม่ทำเราให้ตื่นเต้น หรือว่าให้เสียอกเสียใจ หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ให้ขึ้นไม่ให้ลงตามอารมณ์ที่มากระทบจิตใจเราที่คงที่

คนที่มีสภาพจิตใจคงที่อย่างนี้ เหมาะที่จะไปสู่สมรภูมิชีวิต คือจะไปสู่สิ่งใดอะไรก็ตาม สิ่งนั้นจะไม่ทำร้ายไม่ทำให้เดือดร้อน เหมือนกับสัตว์ป่า ที่เราเอามาหัดจนเชื่องเช่นว่า ช้างป่า เขาจับมาได้ก็เอามาหัดจนเชื่อง พอเชื่องดีแล้วเขาขับเข้าไปในเมืองได้ เอาเข้าไปในเมืองใหญ่คนพลุกพล่านช้างก็ไม่ตื่นเต้น ได้ยินเสียงรถก็ไม่ตื่นเต้น คนโห่ก็ไม่ตื่นเต้น แสดงว่าช้างนั้นเป็นช้างที่ได้ฝักฝนอบรมดี แล้ว เอาไปสู่นครเมืองใหญ่ได้

คนเราจึงต้องหัดบังคับควบคุมจิตใจไว้เราจะไปไหน เราต้องเตรียมวางแผนไว้ว่า เราไปในที่นั้น เราจะสู้กับอารมณ์อย่างไร เช่นเราจะไปพูดกับคนบางประเภท ไปพูดกันในเรื่องสลักสำคัญ จิตใจของเราจะเข้มแข็งพอไหม เย็นพอไหม อดทนเพียงพอไหม ในการที่จะต่อสู้กับคนเหล่านั้น มีสติมีไหวพริบเพียงพอไหม ที่เขาจะพูดยั่วให้เราโกรธ ยั่วให้เราเกิดความน้อยอกน้อยใจ หรือว่าเสียอารมณ์ไป เสียใจไป ถ้าว่าเขาทำให้เราเป็นอย่างนั้นได้กำลังมันก็หมดไป กำลังในการต่อสู้ไม่มี เพราะเราเป็นคน หวั่นไหวง่ายต่ออารมณ์เหล่านั้น เขาทำให้เราหวั่นไหวเสียสมาธิ ไม่มีกำลังใจที่จะต่อสู้ หาคำพูดที่หลักแหลมคม คายมาต่อสู้กับเขาไม่ได้ ก็นับว่าพ่ายแพ้ ใจไม่เย็นพอ

แต่ถ้าเราเป็นคนเตรียมใจดี จิตใจมั่นคงเข้มแข็ง เราจะไปกระทบอารมณ์อะไรก็เฉยๆ เขาพูดให้กระเทือนใจ เราไม่กระเทือน เพราะเราคอยรู้ว่า คำนี้เขาพูดให้เรากระเทือนใจ เราต้องโต้กลับไป โต้กลับไปด้วยสติปัญญา ด้วยใจคอที่สงบเยือกเย็น เราจะไม่โต้ตอบด้วยอารมณ์เสีย เช่นเขาด่าเรา เราจะไม่ด่าตอบ แต่เราจะยิ้มรับคำด่า ยิ้มด้วยปัญญา ด้วยความรู้ว่า เขาว่าเรา แต่เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น คนที่ว่านั้นมันใส่ความเรา เราไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องโกรธไม่ต้องเคือง เพราะถ้าเราโกรธเรามีปมด้อย ทำให้คนที่เป็นข้าศึกของเรา มองเห็นว่าเราโกรธ

คนโกรธนั้นเสียสมาธิ ขาดความสงบใจ ขาดไหวพริบ ขาดปัญญาที่จะคิดอ่าน มันก็แพ้อยู่ในตัวแล้ว เราแพ้อยู่ในตัวแล้ว แต่ถ้าเราไม่โกรธไม่เคือง เรายิ้มอยู่ตลอดเวลา เราก็สามารถสู้เขาได้ ใจเราสงบคงที่ จิตที่สงบนั้นแหละ มันทำให้เกิดปัญญาเกิดความคิดความอ่าน แต่ถ้าจิตไม่ สงบ มันก็ไปไม่รอด

ออฟไลน์ toomeras

  • ฉัฏฐะ
  • *
  • กระทู้: 51
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: พระปิดทวาร
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 21 ธ.ค. 2554, 07:14:08 »
สาธุ...เมื่ออ่านแล้วควรนำไปปฏิบัติตามอย่างยิ่งครับ