ผู้เขียน หัวข้อ: “วันมาฆบูชา” วันแห่งพระธรรม  (อ่าน 3018 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)
“วันมาฆบูชา” วันแห่งพระธรรม
« เมื่อ: 24 ก.พ. 2556, 11:59:57 »

********************************************

ความหมายของวันมาฆบูชา

   วันมาฆบูชาจัดเป็น “วันแห่งพระธรรม” เพราะเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก ซึ่งประกอบด้วยอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการของพระพุทธศาสนา ส่วน “วันแห่งพระพุทธ” คือ วันวิสาขบูชา เพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และ “วันแห่งพระสงฆ์” คือ วันอาสาฬหบูชา เพราะเป็นวันที่บังเกิดมีพระสงฆ์ครบองค์พระรัตนตรัยเป็นครั้งแรกในโลก

   คำว่า “มาฆะ” เป็นชื่อของเดือนสาม ย่อมาจากคำว่า “มาฆปูรณมี” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนสาม การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือนแปด ๒ ครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ วันมาฆบูชาตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์
ประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา
   
   ภายหลังจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วเป็นเวลา ๙ เดือน ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง ๔ ประการ ในวันมาฆบูชา ได้แก่

   (๑) วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

   (๒) พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อถวายสักการะแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

   (๓) พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญาหก

   (๔) พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา

   และเพราะเหตุอัศจรรย์ ๔ ประการข้างต้นนี้ จึงทำให้วันมาฆบูชามีอีกชื่อหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีความหมายดังนี้คือ จตุร แปลว่าสี่, องค์ แปลว่า ส่วน, สันนิบาต แปลว่า การประชุม รวมความแล้วหมายถึง การประชุมที่ประกอบด้วยองค์สี่

ความสำคัญของวันมาฆบูชา

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกในวันมาฆบูชา เป็นปาฏิโมกข์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงด้วยพระองค์เองท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอดปฐมโพธิกาล คือ ๒๐ พรรษาแรก หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง “อาณาปาติโมกข์” อย่างปัจจุบันนี้แทน

   โอวาทปาติโมกข์หรือโอวาทสาม คือคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ซึ่งเป็นแม่บทในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของพระพุทธศาสนา

   โอวาทปาติโมกข์ แบ่งโครงสร้างออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ คือ

   ๑. พระพุทธพจน์คาถาแรก ทรงกล่าวถึงอุดมการณ์

   ๒. พระพุทธพจน์คาถาที่สอง ทรงกล่าวถึงหลักการ

   ๓. พระพุทธพจน์คาถาที่สาม ทรงกล่าวถึงวิธีการ

   ๑. อุดมการณ์ คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิต มี ๓ ประการ ได้แก่

   ๑). ความอดทน คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิต ความอดทน เป็นตบะที่ดีที่สุดในการเผากิเลสให้หลุดจากใจ

   ๒). นิพพาน พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรม เป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ

   ๓). ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนผู้อื่น

   ๒. หลักการ คือ หัวใจของคำสอนที่ควรปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เพื่อบรรลุอุดมการณ์ ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มี ๓ ประการ ได้แก่

   ๑). การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นต้น

   ๒). การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นต้น

   ๓). การทำจิตใจให้ผ่องใส ได้แก่ การเจริญสมาธิภาวนา ทั้งสมถภาวนา (จิตภาวนา) และวิปัสสนาภาวนา (ปัญญาภาวนา) เป็นต้น

   ซึ่งหลักการทั้งสามข้างต้นสามารถสรุปเป็นคำขวัญได้ว่า “ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส”

   ๓. วิธีการ คือ แนวทางการปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตน และเป็นแนวทางที่พระภิกษุที่เป็นพระธรรมทูตผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งมีเป็นจำนวนมากใช้เหมือนกัน เพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและถูกต้องเป็นธรรม ได้แก่วิธีการทั้ง ๖ ดังนี้
   
   ๑). การไม่กล่าวร้าย

   ๒). การไม่ทำร้าย

   ๓). ความไม่สำรวมในปาติโมกข์ คือ รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส

   ๔). ควรเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร คือ เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณ

   ๕). อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อให้ตนเองมีโอกาสในการประกอบความเพียรในอธิจิตได้เต็มที่

   ๖). ประกอบความเพียรในอธิจิต เพื่อบรรลุอุดมการณ์ คือ มรรค ผล นิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

   เนื่องจากวันมาฆบูชาเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกท่านจึงควรถือโอกาสวันหยุดราชการนี้ปรารภเหตุในการทำความดีทุกรูปแบบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยปฏิบัติตนตามคำสอนทุก ๆ ข้อ ทั้ง ๑๒ ข้อ ในโอวาทปาติโมกข์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันได้แก่ อุดมการณ์สาม หลักการสาม และวิธีการหก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ตลอดจนสังคมและประเทศชาติ

   นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ รัฐบาลไทยยังได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกด้วย ดังนั้น จึงควรที่สาธุชนจะกระทำการกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ โดยพาไปวัดเพื่อประกอบการบุญการกุศลพร้อมหน้ากันอย่างอบอุ่นทั้งครอบครัว

*****************************************************************

ที่มา : วารสารอยู่ในบุญ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๒๔ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ หน้า ๕๖-๖๐ บทความบุญ เรื่องโดย พระกฤตยะ สิทฺธมโน



กิจกรรมงานบุญของวัดบางพระเนื่องในวันมาฆบูชา ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

- ปฏิบัติธรรมรักษาศีล ๘ ณ หอสวดมนต์

- ฟังธรรม ถวายภัตตาหารเช้า ณ ศาลาการเปรียญ

- ภาคค่ำ เวียนเทียนรอบอุโบสถ.

ออฟไลน์ ۞เณรน้อยเส้าหลิน۞

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 1560
  • เพศ: ชาย
  • ไม่สู้ ไม่หนี ทําดีเรื่อยไป
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: “วันมาฆบูชา” วันแห่งพระธรรม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 25 ก.พ. 2556, 12:29:01 »

วันนี้ถือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางอุดมการณ์  หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปสู่มวลมนุษยชาติ ณ วัดเวฬุวัน วัดแรกของพระพุทธศาสนา

 โอวาทปาติโมกข์ แบ่งโครงสร้างออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ คือ

   ๑. พระพุทธพจน์คาถาแรก ทรงกล่าวถึงอุดมการณ์

   ๒. พระพุทธพจน์คาถาที่สอง ทรงกล่าวถึงหลักการ

   ๓. พระพุทธพจน์คาถาที่สาม ทรงกล่าวถึงวิธีการ




ขอกราบอนุโมทนาบุญกับท่านปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)ด้วยครับ สาธุ สาธุ สาธุ



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 ก.พ. 2556, 12:32:40 โดย ۞เณรน้อยเส้าหลิน۞ »
ครูผู้บริสุทธิ์ ครูผู้หมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง
ครูผู้มี"พระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ" อย่างประมาณมิได้
บรมครูผู้นั้นคือ "สมเด็จพระพุทธเจ้า"
ขอนอบน้อมกราบกรานพระบรมศาสดา