ผู้เขียน หัวข้อ: วิสาขมหามงคลพุทธศาสนิกชนบำเพ็ญธรรม  (อ่าน 1503 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)

        พรุ่งนี้ก็จะเป็นวาระมหามงคลสำหรับเหล่าพุทธศาสนิกชนอีกครั้งหนึ่งนั่นคือ วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ฉะนั้น วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่เราควรมาตรึกระลึกนึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระ พุทธองค์จะได้เกิดความปีติใจว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาได้สั่งสมบุญกุศลที่จะนำตนไปสู่สวรรค์นิพพาน เพราะพุทธบารมีธรรมอันไม่มีประมาณนี่เอง


ความหมายของวันวิสาขบูขา


        คำว่า วิสาขบูขา แปลว่า"การบูชาพระพุทธเจ้า เนื่องในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ"ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติของไทยซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหนก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๗ หรือราวเดือนมิถุนายน วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ ๓ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน๖ แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ ๓ ประการ ได้แก่

๑. วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ

        “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เอกบุรุษเมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มากเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเอกบุรุษผู้เลิศ คือ พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

        จากถ้อยคำดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงคุณอันไม่มีประมาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกเพื่อแสดงธรรมยังสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารอันเป็นที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งปวง

        เมื่อ ๒,๖๓๖ ปี (๒,๕๕๖+๘๐) ล่วงมาแล้วพระมหาโพธิสัตว์ผู้ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อมุ่งหวังพระสัมมาสัมโพธิญาณได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา ณบัดนี้เองที่กล่าวได้ว่าเอกบุรุษผู้เลิศได้อุบัติเกิดขึ้นบนโลกนี้แล้ว

        เมื่อพระนางสิริมหามายาพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะคลอดพระนางเสด็จแปรพราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อทรงให้กำเนิดพระราชโอรสในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณสวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระราชโอรสใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน๖ ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ"แปลว่า"ผู้มีความสมหวังดังใจปรารถนา"

        เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตาบสผู้มีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า เมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า"พระราชกุมารนี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้า"แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกเปี่ยมล้นด้วยปีติถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส

        เป็นอันว่าความสำคัญของวันวิสาขบูชาประการแรกนี้คือเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ

๒. วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

        เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัยขึ้นครั้งหนึ่งได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะก็ทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแสวงหาทางพ้นทุกข์ในคืนที่พระนางพิมพาทรงคลอดพระราหุลราชกุมารนี้เองก็ทรงตัดสินพระทัยหนีออกจากวังแล้วทรงผนวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์โดยศึกษาหาความรู้กับอาจารย์ต่างๆ

        หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี มีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า"พุทธคยา" เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

        สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ คือ อริยสัจ ๔เป็นความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนได้บรรลุญาณ ๓ คือ ยามต้น:ทรงบรรลุ"ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงระลึกชาติในอดีตได้ ยามสอง:ทรงบรรลุ"จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยามสาม:ทรงบรรลุ"อาสวักขยญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วยอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัยนิโรธ มรรค ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ และนี้ก็คือความสำคัญประการที่สองของวันวิสาขบูชา

๓. วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

        เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง๔๕ ปี จนมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลีแคว้นวัชชี ระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ขณะเดียวกันพระองค์ได้เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายแล้วเกิดอาพาธ แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน

        เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน

        บางท่านอาจจะเคลือบแคลงสงสัยต่อไปว่าในเมื่อพระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว อะไรเล่าจักเป็นศาสดาแทน? ข้อนี้พระอานนท์ก็เคยทูลถามพระพุทธองค์ก่อนที่จะทรงปรินิพพานเช่นกันโดยพระพุทธองค์ทรงตอบกับพระอานนท์ว่า

โยโว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา.

(ที.ม.๑๐/๑๔๑/๑๗๘)

        แปลว่า : ดูกรอานนท์ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลายธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายในเมื่อเราล่วงลับไป

        ด้วยเหตุนี้พระธรรมวินัยจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสดาเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าการรวบรวมรักษาไว้ซึ่งพระธรรมคำสอนก็ปรากฏมีหลายครั้งในรูปของการสังคายนาพระไตรปิฎกอันเป็นแบบแผนในการศึกษาพระพุทธศาสนาที่มั่นคงในปัจจุบันอันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขเมื่อศาสนิกชนนำไปประพฤติปฏิบัติตาม

        สรุปความได้ว่า วันวิสาขบูชาคือวันแห่งการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่วงมากว่า๒,๖๐๐ ปี ที่เกิดมีขึ้นในวันเดียวกันคือ เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งถือได้ว่าพระพุทธศาสนาก็ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับพระองค์ด้วยเฉกเช่นเดียวกันการดำรงรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาก็มีความต่อเนื่องตั้งแต่บัดนั้นมาจวบจนกระทั่งในปัจจุบันสมัยโดยพระภิกษุสามเณรผู้ซึ่งเป็นสาวกผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาและนำมาเผยแผ่ต่อยังพุทธศาสนิกชนให้ตั่งมั่นอยู่ในคุณงามความดีประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อยังประโยชน์ให้บังเกิดขึ้นแก่ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อม

 

หน้าที่ของพุทธศาสนิกชน

        ก่อนอื่นขอนิยามความหมายของ “พุทธศาสนิกชน”ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน “พุทธศาสนิกชน”แปลว่า คนที่นับถือพระพุทธศาสนา หรือคนที่ตกลงใจน้อมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำตัวประจำชีวิตยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เต็มใจที่จะปฏิบัติตามหลักธรรมคือ เว้นจากการทำความชั่วทำแต่ความดี และทำจิตใจให้หมดจดจากกิเลส ด้วยการบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา เช่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาเพื่อขัดเกลา อบรม บ่มเพาะกาย วาจาใจให้งดงามเรียบร้อย ให้สงบนิ่ง และให้พ้นจากความเศร้าหมองต่างๆ พุทธศาสนิกชนที่พึงประสงค์คือผู้ปฏิบัติตนให้เป็นผู้รู้ผู้ฉลาด ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่งมงาย ไม่ประมาทมัวเมา ไม่หลงไปตามกระแสกิเลส ฯลฯ

        ในวันมงคลเช่นนี้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนก็ควรน้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหลายมาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และเพื่อยังประโยชน์อันสูงสุดขั้นปรมัตถ์ซึ่งได้แก่การหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงในเบื้องปลาย

        ถามว่าในเมื่อหลักธรรมทั้งหลายมีอยู่อย่างมากมายเหลือเกินแล้วอย่างนี้จะน้อมนำธรรมข้อไหนอย่างไรมาปฏิบัติดีเล่า?คำตอบของปัญหานี้ก็ตอบได้ว่า จริงอยู่ที่หลักธรรมทั้งหลายนั้นมีอยู่มากมายแยกย่อยออกไปกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์การที่จะน้อมนำมาปฏิบัติทั้งหมดนี้จึงอาจจะดูเป็นเรื่องยากเกินวิสัยแต่หากเราจับหลักใหญ่ๆ ได้เสียแล้วก็จะง่ายขึ้น

        โดยทั้งหมดทั้งมวลของพระธรรมคำสอนนี้สามารถสรุปย่อรวมลงมาเหลือเพียง ๓ ข้อใหญ่ๆ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมเรียกว่า “ไตรสิกขา”พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่รวบรวมมาเป็นพระไตรปิฏก รวมทั้งสิ้น ๘๔,๐๐๐พระธรรมขันธ์ แยกเป็น วินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ สุตตันตปิฎก๒๑,๐๐๐ และอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐พระธรรมขันธ์ ที่กล่าวว่าพระธรรมวินัยทั้งหมดนี้ย่นย่อลงมาเหลือเพียง ๓ ประการ คือศีล สมาธิ ปัญญา ในไตรสิกขานั้น ก็เทียบได้จาก ศีลอยู่ในส่วนของพระวินัยปิฎกสมาธิอยู่ในส่วนของพระสุตตันตปิฎก และปัญญาอยู่ในส่วนของพระอภิธรรมปิฏกนั่นเองดังนั้นจึงสรุปได้ว่า พระธรรมวินัยทั้งหลายจึงรวมอยู่ใน “ไตรสิกขา” ไตร แปลว่า ๓ สิกขาแปลว่า ศึกษา “ไตรสิกขา” จึงหมายถึง การศึกษาใน ๓ ส่วน คือ ศึกษาในศีลศึกษาในสมาธิ และศึกษาในปัญญา การศึกษาทั้ง ๓ประการนี้จะเป็นไปเพื่อยังมรรคให้เกิดมีขึ้น โดยคำว่า มรรค แปลว่า ทางชีวิต,หนทางหรือแนวปฏิบัติสำหรับดำเนินไปสู่ความดับทุกข์  เราสิกขาหรือศึกษาอย่างไร เราก็มีมรรคคือวิถีชีวิตที่ดีงามขึ้นอย่างนั้นเมื่อสิกขามากขึ้นวิถีชีวิตของเราก็กลายเป็นมรรคมากขึ้น ฉะนั้น มรรคก็เป็นเรื่องเดียวกับไตรสิกขา หรือเป็นอีกด้านหนึ่งของไตรสิกขานั่นเอง

        มรรค ดังความหมายข้างต้นเป็นหนึ่งในอริยสัจ (อริยะ = ประเสริฐ, สัจจะ = ความจริง) คือความจริงอันประเสริฐที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี อันเป็นหนทางที่ทำให้ผู้ดำเนินตามเป็นพระอริยบุคคลได้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง

๒. สัมมาสังกัปปะความดำริถูกต้อง

๓. สัมมาวาจา วาจาถูกต้อง

๔. สัมมากัมมันตะ การงานถูกต้อง

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพถูกต้อง

๖. สัมมาวายามะ ความเพียรถูกต้อง

๗. สัมมาสติ ความระลึกถูกต้อง

๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจถูกต้อง

        ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้เป็นสามัคคีธรรมต่างสนับสนุนซึ่งกันและกันทำให้มีกำลังมาก สามารถให้ผู้ปฏิบัติบรรลุผลชั้นสูงคือ อริยมรรค อริยผล และพระนิพพานได้ เมื่อ “มรรค” เป็นจุดหมายของไตรสิกขา ดังนั้น พระธรรมปิฎก (๒๕๔๔ : ๒๒๖-๒๒๗) ได้กล่าวว่า ไตรสิกขา เป็นการปฏิบัติที่ต้องเริ่มจากศีล ซึ่งเป็นการเตรียมกายวาจา ให้อยู่ในสภาพปกติ ไม่เดือดร้อน รำคาญแนวทางของมรรคเพื่อให้เกิดความปกติเป็นศีล จึงตรงองค์มรรค ในเรื่อง สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) และ สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)  หมาย ความว่าการประพฤติปฏิบัติในเรื่องใดก็ต้องประพฤติปฏิบัติไปโดยชอบไม่ผิดหลักศีลธรรมจะพูดจาอะไรก็ต้องพูดโดยไม่ให้กระทบกระเทือนหรือสร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น รวมทั้งการหาเลี้ยง ชีพก็ต้องเป็นอาชีพที่สุจริตไม่คดโกงไม่ประกอบอาชีพที่ผิดศีลธรรม ก็จะก่อให้เกิดความสุข ความสบายใจ เมื่อกาย ใจอยู่ในอาการปกติแล้ว จิตก็พร้อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเป็นจิตตสิกขาในหลักไตรสิกขาเป็นองค์มรรคในข้อ สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และ สัมมาสมาธิ(ตั้งใจ มั่นชอบ)นั่นคือมีความพยายามที่จะระลึกให้ได้ว่าสรรพสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่รอบๆตนล้วนเป็นสุญญตาและอนัตตา มีความตั้งใจมั่นที่จะตัดอุปาทานและตัณหาที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยปัญญาที่เรียกว่าปัญญาสิกขาในหลักไตรสิกขา เป็นองค์มรรคในข้อสัมมาทิฏฐิ(มีความเห็นชอบ) และสัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) สามารถพ้นทุกข์ได้ในที่สุด

        การเปรียบเทียบองค์ธรรมในไตรสิกขา กับ มรรค ๘ และ โอวาทปาติโมกข์ แสดงให้เห็นว่า ศีล สมาธิ และ ปัญญาอันเป็นองค์ธรรมในไตรสิกขานั้น เป็นเรื่องเดียวกันกับ องค์มรรค ในอริยสัจ และโอวาทปาติโมกข์  ดังนั้นมนุษย์ที่ได้รับการฝึกฝนอบรม ตามหลักไตรสิกขา ก็จะมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่ประเสริฐมีความเจริญงอกงามก้าวไปใน มรรค คือ วิถีทางแห่งการดับทุกข์ และ ได้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

        หากเราผู้ทีได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนมีความตั้งมั่นที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนตามหลักไตรสิกขาหรือตามหลักมรรคองค์ ๘ ดังนี้แล้ว ก็ควรตั้งต้นเริ่มเสียตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเพื่อยังความไม่ประมาทในชีวิตที่เสื่อมลงเป็นธรรมดาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจะตายจากดับไปในวันไหนเมื่อไหร่ก็ไม่อาจทราบได้วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกท่านได้มีโอกาสมาฟังธรรมบรรยายเนื่องในวาระวันวิสาขบูขาอันเป็นวันสำคัญสูงสุดวันหนึ่งของทางพระพุทธศาสนาเมื่อรับฟังแล้วก็ควรน้อมเข้ามามนสิการพิจารณาในใจพินิจตรึกตรองถึงเหตุปัจจัยและผลที่จะได้จากการน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติอันจะยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมทั้งแก่ตนเอง ผู้อื่น และส่วนรวม

        ประโยชน์หรือความสำเร็จจากการปฏิบัติธรรม,จากกิจการหน้าที่การงานทั้งหลายนี้จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยอาศัยองค์ธรรม ๔ ประการคือ

๑. ฉันทะ ความพึงพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

๒. วิริยะ ความเพียรประกอบในสิ่งนั้น

๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ

๔. วิมังสา การหมั่นตรึกตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ทำ เป็นการใช้ปัญญาในการทำงาน

        ทั้ง ๔ ประการนี้ รวมเรียกว่า “อิทธิบาทธรรม”อันหมายถึง องค์ธรรมที่เป็นคุณเครื่องให้สำเร็จตามต้องการหรือหลักธรรมที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติตามถึงความสำเร็จได้โดยสมประสงค์ ทั้งนี้อิทธิบาทธรรมทั้ง ๔ ข้อ ต้องหนุนเนื่องกัน จึงต้องปฏิบัติให้ครบทุกข้อถึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ไม่ว่าจะเป็นการงานของชาวโลกและเป็นองค์ประกอบที่ทำให้บรรลุมรรคผลด้วยอีกประการหนึ่งอีกทั้งยังสามารถเป็นเหตุให้ความปรารถนาที่จะมีชีวิตยืนยาวก็สามารถทำให้สำเร็จตามประสงค์ได้ดังตัวอย่างในปัจฉิมโพธิกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับณ ปาวาลเจดีย์ โดยมีพระอานนท์เป็นผู้ปฏิบัติตาม ณ ที่ตรงนี้พระองค์ประสงค์จะให้พระอานนท์อาราธนาให้พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ต่อจึงทรงทำนิมิตโอภาสโดยตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์ เมื่อไพศาลีนี้เป็นสถานที่รื่นรมย์ ทัศนีภาพสวยงาม มีทั้งปาวาลเจดีย์และโคตมเจดีย์ถ้าบุคคลได้เจริญอิทธิบาท ๔และมีความปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ต่อชั่วกัปหรือมากกว่านั้น ย่อมสามารถทำได้”ดังนี้เป็นต้น

        เราท่านทั้งหลายผู้เป็นศาสนิกชนในพระพุทธศาสนาหากประสงค์ที่จะมีชีวิตยืนยาว เอาไว้ใช้สร้างบุญบารมีนานๆ ก็สมควรน้อมนำหลักอิทธิบาทธรรมนี้มาใช้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันสมัยคือ องค์สมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวภูมิพลพระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ที่เจริญด้วยทศพิธราชธรรมอันเป็นธรรมสำหรับพระราชาอยู่เป็นเนืองนิตย์เหตุที่ท่านพระชนม์มายุยืนเพราะเหตุใดลองพิจารณา แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม สมควรแก่ความประพฤติของตน อันจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญในบวรพระพุทธศาสนาสืบไป
 
        วิสาขบูชาวันแห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนาให้เป็นแสงสว่างส่องนำทางสรรพสัตว์ไปสู่สวรรค์นิพพาน

        วิสาขบูชาวันที่พระพุทธเจ้าทรงมีชัยชนะเหนือหมู่มารและมีชัยชนะที่ไม่มีวันกลับมาแพ้

        วิสาขบูชา วันที่พวกเราเหล่าพุทธบริษัทจะได้ทำทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาต่อองค์พระบรมศาสดา ด้วยการเข้าวัดฟังธรรม ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญ ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาดำเนินตามรอยบาทพระศาสดา เพื่อความสิริสวัสดิ์มหามงคลตนและสรรพชีวิต และรักษาวันแห่งความมหัศจรรย์นี้ไว้ให้เป็นประเพณีอันดีงามยืนยงคงอยู่เคียงคู่โลกตลอดไป.

“วิสาขมหามงคล พุทธศาสนิกชนบำเพ็ญธรรม”


:001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001:


บทความนี้ข้าพเจ้าเรียบเรียงถวายพระครูโกวิทสุตการ (พระมหาระพิน อภิชาโน) เจ้าคณะตำบลศรีมหาโพธิ์
เจ้าอาวาสวัดโคกเขมา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อใช้แสดงธรรมในโอกาสวันวิสาขบูชา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๖
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ พุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม .


ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)
๒๓ พ.ค. ๕๖ เวลา ๑๙.๐๑ น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 พ.ค. 2556, 07:28:30 โดย ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์) »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: วิสาขมหามงคลพุทธศาสนิกชนบำเพ็ญธรรม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 23 พ.ค. 2556, 10:50:52 »
ขอบคุณครับ :077:
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ berm

  • สิ่งที่ควรทำคือความดี..สิ่งที่ควรมีคือคุณธรรม..สิ่งที่ควรจำคือ...บุญคุณ
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 1008
  • เพศ: ชาย
  • อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่กับมิตรระวังวาจา
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: วิสาขมหามงคลพุทธศาสนิกชนบำเพ็ญธรรม
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 24 พ.ค. 2556, 10:07:48 »
ท่านสิบทัศน์ผู้รอบรู้ :054:
ทุกคนย่อมมีปัญหาของตัวเองเกิดขึ้นตลอดเวลา  อยู่ที่ใครเลือกที่จะเดินหนีปัญหา...หรือเลือกที่จะแก้ไขปัญหา

ออฟไลน์ เด็กวัดหนัง

  • ของดีมาอยู่กับตัว จงรักษาไว้ ตามเท่าชั่วชีวิต.
  • ฉัฏฐะ
  • *
  • กระทู้: 453
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
    • MSN Messenger - P_1_P_2_880@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: วิสาขมหามงคลพุทธศาสนิกชนบำเพ็ญธรรม
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 24 พ.ค. 2556, 08:08:42 »
ขอบคุณครับ
พระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร)