กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 ... 3 4 5 6 7 8 9 [10]
91


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๕๑...

...ชีวิตที่ดำเนินมานั้น ได้สร้างสรรค์
สิ่งที่ดีงามต่อสังคม ตามวิถีโลกและ
วิถีธรรม ไม่ได้ทำเพื่อสนองตัณหา
ของตนเอง แต่เป็นไปด้วยจิตสำนึก
แห่งคุณธรรม ทำไปตามกำลังเท่าที่
จะทำได้ สิ่งที่ได้รับนั้นหรือคือความ
ปีติสุขใจ จากสิ่งที่คิดและกิจที่ได้ทำ
...ไม่ได้หวังจะดังเด่นจึงมาเป็นสมณะ
เพียงหวังจะลดละซึ่งมานะและอัตตา
ท่องไปบนโลกกว้างบนเส้นทางแสวงหา
ก้าวผ่านกาลเวลาพิสูจน์ค่าคำว่าคน...
...ใบไม้
ยามเจ้าอยู่บนกิ่งใบ
เจ้านั้นช่วยสร้างสีสัน
และมีประโยชน์อนันต์
ต่อพืชพรรณและธรรมชาติ
ถึงคราวที่เจ้าร่วงหล่น
เจ้ายังมีผลประโยชน์ต่อพื้นดิน
ย่อยสะลายเป็นปุ๋ยให้พืชได้ดูดกิน
เจ้าไม่เคยสิ้นประโยชน์เลย...ใบไม้เอย
...คนเอย
วันเวลาที่ผ่านไป
เจ้าได้สร้างประโยชน์อะไรแล้วรึยัง
เพื่อให้คนข้างหลังได้ภาคภูมิใจ
เจ้าได้สร้างทำประโยชน์อะไร
ให้กับตนเองและสังคมรอบข้าง
ให้เขาทั้งหลายได้ชื่นชมยินดี
หลังจากเจ้านั้นได้ตายไปแล้ว
หรือให้เจ้าได้ภาคภูมิใจก่อนตาย
...คนเอย
อย่าให้ชีวิตไร้ค่ากว่าใบไม้
อย่าให้เวลาที่ผ่านไปนั้นเปล่าประโยชน์
สร้างแต่สิ่งที่เป็นโทษอันก่อให้เกิดบาปกรรม
เจ้าควรที่จะคิดและควรทำในสิ่งที่เป็นกุศล
ให้เป็นมงคลแก่ชีวิตให้เป็นนิมิตที่ดีแกตนเอง
จงใคร่ครวญทบทวนในสิ่งที่เจ้านั้นได้ผ่านมา
อย่าให้ชีวิตของเจ้านั้นไร้ค่ากว่าใบไม้...คนเอย

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๙ มกราคม ๒๕๖๕...
92


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๕๐...

...บุคคลใดมีนิสัย ขี้เกียจ มักง่าย
ไร้ความคิดสร้างสรรค์ บุคคลผู้นั้น
ยากที่จะพบกับความสำเร็จในชีวิต...
...การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น เราต้องมี
มนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชนและคน
รอบกาย พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ก่อนที่เราจะร้องขอจากเขานั้น
เราต้องแบ่งปันและให้เขาก่อน
จงเป็นผู้ให้แล้วท่านจะรับการ
ให้ตอบแทน เป็นคำสอนของ
ครูบาอาจารย์
...การมีน้ำใจต่อหมู่คณะนั้นจะทำให้
ท่านได้รับความเกรงใจ สรุปลงได้ใน
หลักธรรมเรื่อง “ พรหมวิหาร ” ซึ่ง
แปลว่าเป็นธรรมอันเป็นเครื่องอยู่
ของพรหม ธรรมอันเป็นหลักประจำใจ
ของผู้ใหญ่ ธรรมที่ผู้ใหญ่ควรประพฤติ
พรหมวิหารนั้นเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในใจ
เป็นธรรมที่กระตุ้นให้เกิดการกระทำ
เช่น สงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น...

...ความร่วมมือร่วมใจ นำไปสู่ความสำเร็จ...

๐ วันเวลา ผ่านไป ไม่หยุดนิ่ง
มีหลายสิ่ง ที่ทำ ตามสมัย
ให้เข้ากับ เหตุการณ์ ที่เป็นไป
และทรงไว้ ซึ่งธรรม แห่งสัมมา
๐ มรรคองค์แปด คือทาง ที่วางไว้
ก้าวเดินไป ตามทาง เพื่อค้นหา
ให้รู้จัก ตัวตน คืออัตตา
รู้จักว่า ตัวกู และของกู
๐ รู้อะไร ไม่รู้เท่า เข้าใจจิต
รู้ความคิด น้อมธรรม นำมาสู่
ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เอาเป็นครู
สอนให้รู้ สอนให้ทำ ในกรรมดี
๐ ประสานใจ ประสานชน คนรุ่นใหม่
ให้ร่วมมือ ร่วมใจ ในทุกที่
ให้เกิดความ รักใคร่ สามัคคี
สอนให้มี น้ำใจ ช่วยเหลือกัน
๐ ต้องเลือกธรรม นำมาใช้ ให้เหมาะสม
กับสังคม ที่อาศัย ให้สร้างสรรค์
ให้มีความ เอื้อเฟื้อ และแบ่งปัน
ให้ร่วมกัน ทำความดี เพื่อสังคม
๐ เพราะร่วมมือ ร่วมใจ จึงสำเร็จ
งานจึงเสร็จ ทำไป ได้เหมาะสม
จึงทำให้ มีคนชอบ และชื่นชม
เพราะสังคม เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือกัน...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๘ มกราคม ๒๕๖๕...
93


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๙...

...ในความเคลื่อนไหว ขอให้ใจสงบนิ่ง...
...ชีวิตคนเรานั้น มันไม่ได้สลับซับซ้อน
อะไรมากมาย มันเป็นชีวิตที่เรียบง่าย
ถ้ารู้จักความพอดีและพอเพียง ยินดีใน
สิ่งควรเป็นและควรได้ เข้าใจในบทบาท
หน้าที่ของตนเองและเคารพในบทบาท
และหน้าทีของผู้อื่น
...แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตนั้นสับสนวุ่นวาย
ก็คือตัวกิเลสตัณหา ความทะยานอยาก
ที่ไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดการก้าวก่ายใน
บทบาทหน้าที่ของผู้อื่น ก้าวล่วงไปใน
สิ่งที่ควรมีและควรเป็นของตนเอง ล้ำไป
ในสิ่งที่ผู้อื่นนั้นควรจะได้รับ ชีวิตนั้นจึง
สับสนและวุ่นวาย เพื่อให้ได้มาซึ่งความ
สมปรารถนาของตนเอง หลงติดอยู่ใน
สิ่งสมมุติทั้งหลาย เวียนว่ายอยู่ในวังวน
ของกิเลสตัณหาไม่มีวันสิ้นสุด ชีวิตไป
ยึดถือและยึดติดในสิ่งที่สมมุติขึ้นมา
ทั้งหลาย
...สังคมมนุษย์จึงสับสนวุ่นวายไม่มี
ที่สิ้นสุด เพราะว่ามนุษย์นั้น ไม่รู้จัก
คำว่าพอประมาณในการใช้ชีวิต
โลกนี้มันจึงเป็นเช่นนั้นเอง...
...สรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง
คือความจริง ที่เห็น และเป็นอยู่
ใช้สติ ใคร่ครวญ ทบทวนดู
ก็จะรู้ และเข้าใจ ในหลักธรรม
...มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป เหมือนเช้า-ค่ำ
มีสีขาว ก็ย่อมมี ทั้งสีดำ
เพื่อเตือนย้ำ ความแตกต่าง สองอย่างกัน
...และเมื่อเรา วางใจ ไม่ยึดถือ
สิ่งนั้นคือ ของเรา เข้าถือมั่น
เมื่อใจว่าง ก็วางได้ โดยเร็วพลัน
สิ่งสำคัญ คือใจ เป็นประธาน
... เริ่มที่ใจ ที่จิต ต้องคิดก่อน
โดยการย้อน มองสิ่ง ที่พ้นผ่าน
เอาเป็นครู เรียนรู้ ประสพการ
นั้นคืองาน ของจิต ที่คิดทำ
...การทำดี ต้องเริ่มที่ การฝึกคิด
ฝึกทำจิต คิดดี หลายทีซ้ำ
คิดอะไร ก็ให้ดี มาชี้นำ
คือฝึกทำ ฝึกจิต ให้คิดเป็น
...คิดเพื่อหา เหตุผล ต้นความคิด
ต้องฝึกจิต ให้รู้ ดูให้เห็น
ทำประจำ จากเช้า จนถึงเย็น
ไม่ว่างเว้น ฝึกทำ จนชำนาญ
...ให้ใจเรา นั้นอยู่ กับกุศล
เป็นมงคล ชีวิต จิตอาจหาญ
ทำสิ่งใด ก็รู้เท่า ทันเหตุการณ์
นี่คืองาน ฝึกสติ ให้รู้ทัน
... ระลึกรู้ ให้เห็น ความเป็นอยู่
โดยตามดู ความคิด จิตเรานั้น
แยกถูกผิด ชั่วดี ออกจากกัน
ให้ใจนั้น มีสติ อยู่คุ้มครอง

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๗ มกราคม ๒๕๖๕...
94


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๘...

...ท่ามกลางความหนาวเย็นของค่ำคืน
รู้สึกตัวตื่นขึ้นมารับลมหนาวที่พัดผ่าน
นั่งจิบกาแฟร้อนๆเพื่อผ่อนคลาย
มองดูความเคลื่อนไหวที่มากมาย
ลมหนาวพัดมาต้องกายให้หนาวสั่น
กายนั้นหวั่นไหว แต่ใจนั้นนิ่งสงบ
ทบทวน ใคร่ครวญ พิจารณา อยู่กับธรรม...
...ยามอุษาฟ้าสว่างที่วัดลาดเค้า...
...คือแสงธรรม แสงทอง ที่ส่องมา
เปิดม่านฟ้า ที่มืดมิด ให้สดใส
ปลุกพลัง แรงกาย และแรงใจ
เช้าวันใหม่ ชีวิตใหม่ ต้องก้าวเดิน
...นิ่งสงบ เหมือนหลัก ที่ปักไว้
นิ่งสงบ ภายใน ไม่เก้อเขิน
เจริญสุข เจริญธรรม จิตเพลิดเพลิน
เพราะก้าวเดิน ตามมรรค องค์สัมมา
...ฟ้ากับน้ำ ยามเช้า ช่วยปลุกจิต
ปลุกชีวิต ให้เร่งรีบ แสวงหา
ให้รู้จัก ตัวตน คืออัตตา
ทั้งกิเลส ตัณหา ที่มันมี
...ดูกายใจ กายจิต คิดวิเคราะห์
ดูให้เหมาะ ให้เห็น ในสิ่งนี้
เดินตามทาง ตามมรรค ทุกวิธี
ทำให้มี ทำให้เห็น ความเป็นจริง
...สรรพสิ่ง ล้วนแล้ว เกิดและดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป ในทุกสิ่ง
ตามหลักธรรม นำสร้าง และอ้างอิง
เมื่อจิตนิ่ง ใจสงบ ก็พบธรรม
...ธรรมทั้งหลาย อยู่ที่กาย และที่จิต
เพ่งพินิจ มองให้เห็น ความลึกล้ำ
ไปตามแรง แห่งกุศล ผลของกรรม
สิ่งที่ทำ นั้นเริ่ม จากตัวเรา...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๖ มกราคม ๒๕๖๕...
95


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๗...

...ในความเคลื่อนไหว ขอให้ใจสงบนิ่ง...
...ชีวิตคนเรานั้น มันไม่ได้สลับซับซ้อน
อะไรมากมาย มันเป็นชีวิตที่เรียบง่าย
ถ้ารู้จักความพอดีและพอเพียง ยินดีใน
สิ่งควรเป็นและควรได้ เข้าใจในบทบาท
หน้าที่ของตนเองและเคารพในบทบาท
และหน้าทีของผู้อื่น
...แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตนั้นสับสนวุ่นวาย
ก็คือตัวกิเลสตัณหา ความทะยานอยาก
ที่ไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดการก้าวก่ายใน
บทบาทหน้าที่ของผู้อื่น ก้าวล่วงไปใน
สิ่งที่ควรมีและควรเป็นของตนเอง ล้ำไป
ในสิ่งที่ผู้อื่นนั้นควรจะได้รับ ชีวิตนั้นจึง
สับสนและวุ่นวาย เพื่อให้ได้มาซึ่งความ
สมปรารถนาของตนเอง หลงติดอยู่ใน
สิ่งสมมุติทั้งหลาย เวียนว่ายอยู่ในวังวน
ของกิเลสตัณหาไม่มีวันสิ้นสุด ชีวิตไป
ยึดถือและยึดติดในสิ่งที่สมมุติขึ้นมา
ทั้งหลาย
...สังคมมนุษย์จึงสับสนวุ่นวายไม่มี
ที่สิ้นสุด เพราะว่ามนุษย์นั้น ไม่รู้จัก
คำว่าพอประมาณในการใช้ชีวิต
โลกนี้มันจึงเป็นเช่นนั้นเอง...
...สรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง
คือความจริง ที่เห็น และเป็นอยู่
ใช้สติ ใคร่ครวญ ทบทวนดู
ก็จะรู้ และเข้าใจ ในหลักธรรม
...มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป เหมือนเช้า-ค่ำ
มีสีขาว ก็ย่อมมี ทั้งสีดำ
เพื่อเตือนย้ำ ความแตกต่าง สองอย่างกัน
...และเมื่อเรา วางใจ ไม่ยึดถือ
สิ่งนั้นคือ ของเรา เข้าถือมั่น
เมื่อใจว่าง ก็วางได้ โดยเร็วพลัน
สิ่งสำคัญ คือใจ เป็นประธาน
... เริ่มที่ใจ ที่จิต ต้องคิดก่อน
โดยการย้อน มองสิ่ง ที่พ้นผ่าน
เอาเป็นครู เรียนรู้ ประสพการ
นั้นคืองาน ของจิต ที่คิดทำ
...การทำดี ต้องเริ่มที่ การฝึกคิด
ฝึกทำจิต คิดดี หลายทีซ้ำ
คิดอะไร ก็ให้ดี มาชี้นำ
คือฝึกทำ ฝึกจิต ให้คิดเป็น
...คิดเพื่อหา เหตุผล ต้นความคิด
ต้องฝึกจิต ให้รู้ ดูให้เห็น
ทำประจำ จากเช้า จนถึงเย็น
ไม่ว่างเว้น ฝึกทำ จนชำนาญ
...ให้ใจเรา นั้นอยู่ กับกุศล
เป็นมงคล ชีวิต จิตอาจหาญ
ทำสิ่งใด ก็รู้เท่า ทันเหตุการณ์
นี่คืองาน ฝึกสติ ให้รู้ทัน
... ระลึกรู้ ให้เห็น ความเป็นอยู่
โดยตามดู ความคิด จิตเรานั้น
แยกถูกผิด ชั่วดี ออกจากกัน
ให้ใจนั้น มีสติ อยู่คุ้มครอง
...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...

...๕ มกราคม ๒๕๖๕...
96


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๖...

...ธรรมทั้งหลายนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ
เป็นของที่อยู่คู่กับธรรมชาติ คู่โลกกันมา
เพียงแต่การใช้ภาษาในการสื่อนั้น อาจจะ
แตกต่างกันในสำนวนและลีลา แต่เนื้อหา
และความหมายต่างก็ไปในทิศทางเดียวกัน
คือการสร้างสรรค์ให้โลกนี้สงบและร่มเย็น
ชี้ให้เห็นคุณและโทษของกิเลสทั้งหลาย
เป็นไปเพื่อความจางคลายในทิฏฐิมานะ
อัตตา ตัณหาและอุปาทาน ธรรมนั้นจึง
ไม่ควรมีการสงวนลิขสิทธิ์ยึดถือมาเป็น
ของผู้ใดแต่ผู้เดียว ทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่
กับความรู้สึกนึกคิดและจิตสำนึกของ
แต่ละคน ที่จะแสวงหาผลประโยชน์
จากธรรมนั้น
...ชีวิตในแต่ละวัน ต้องพบปะและสื่อสาร
กันกับผู้คนมากมาย แม้นจะหลบหลีก
มาอยู่ในที่ ห่างไกลจากชุมชนแล้วก็ตาม
ก็ยังมีคนพยายามที่จะไปมาหาสู่ ขึ้นมา
เยี่ยมเยือนพบปะพูดคุย ที่อยู่ห่างไกล
ก็ใช้การสื่อสารสมัยใหม่ในยุคไอที
เพื่อที่จะได้คุยกัน โลกและธรรมนั้น
จึงต้องดำเนินไปคู่กัน
...จึงเอาปัจจุบันธรรมมาพิจารณาเป็น
อารมณ์กรรมฐาน พิจารณาสิ่งทั้งหลาย
ที่ได้เห็นให้เป็นธรรมะ พิจารณาให้เห็น
ถึงคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่
ประโยชน์ในสิ่งนั้น พิจารณาลงไปใน
อริยสัจ ๔ให้เห็นปัญหา ให้เห็นที่มา
เห็นที่ดับและทางไปอันได้แก่ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค โดยใช้หลักของ
พระไตรลักษณ์มาเป็นพื้นฐาน เห็นความ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณา
ให้เห็นและเข้าใจจนเกิดความเบื่อหน่าย
จางคลาย ในทิฏฐิมานะ อัตตา ตัณหา
และอุปาทาน เห็นการเกิดดับของ
โลกธรรมทั้ง ๘ จนจิตจางคลายไม่เข้าไป
ยึดถือในสิ่งนั้น วางจิตเป็นกลางและมอง
ทุกอย่างเป็นธรรมะ แล้วจะเกิดการลดละ
ด้วยสภาวะจิตที่เข้าถึงธรรม...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๔ มกราคม ๒๕๖๕...
97


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๕...

...บอกให้จำ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น
สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย สอนให้
เป็นคนดี เป็นพระที่ดี เพื่อจะได้
ไม่เป็นภาระของสังคม แต่เมื่อขาด
จิตสำนึกแห่งการใฝ่ดี ก็ต้องปล่อยไป
ตามกรรมของสัตว์โลก เพราะเราทำ
หน้าที่ของเรานั้นสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว
ไม่ได้เก็บเอาอกุศลกรรมของผู้อื่น
มาเศร้าหมอง เพราะตัวผู้ประกอบ
อกุศลกรรมเองนั้น ยังไม่รู้สำนึก
ยังยินดีเพลิดเพลินในอกุศลกรรม
ที่ตนทำ...

...สรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง
คือความจริง สัจจะ ในวันนี้
และปัญหา หลายหลาก ที่มากมี
คือสิ่งที่ ต้องคิด พิจารณา...
...ทุกอย่างนั้น ล้วนเกิด จากต้นเหตุ
ควรสังเกต วิเคราะห์ หมั่นศึกษา
ทุกอย่างนั้น มีเหตุ ให้เกิดมา
จงมองหา ให้เห็น ความเป็นจริง...
...เมื่อรู้เห็น และเข้าใจ ในที่เกิด
จิตบรรเจิด ย่อมเข้าใจ สรรพสิ่ง
เห็นเหตุผล และปัจจัย ใช้อ้างอิง
เพราะทุกสิ่ง ล้วนเกิดดับ ธรรมดา...
...มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป ตามเนื้อหา
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ธรรมดา มันเป็น เช่นนั้นเอง...
...เมื่อจิตรู้ และเข้าใจ ในสิ่งนี้
ก็ไม่มี อะไร ไปข่มเหง
เกิดละอาย ในสิ่งชั่ว และกลัวเกรง
จิตก็เก่ง มีสติ ใช้ตริตรอง...
...เมื่อมองโลก มองธรรม นำมาคิด
ชำระจิต ชำระใจ ไม่เศร้าหมอง
ดำเนินจิต ก้าวไป ในครรลอง
เพียรเฝ้ามอง กายจิต คิดถึงธรรม...
...มีสติ ระลึกรู้ อยู่ทั่วพร้อม
จิตก็น้อม พาใจ ไม่ใฝ่ต่ำ
จิตก็เดิน ไปใน โลกและธรรม
เพราะน้อมนำ ธรรมะ มานำทาง..
...เดินตามธรรม นำทาง สว่างจิต
นำชีวิต ก้าวไป ใจสว่าง
รู้จักลด รู้จักละ รู้จักวาง
ไม่หลงทาง เพราะมี ธรรมนั้นนำไป...

...สุภาษิตจีนบทหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
“เดินทางร้องลี้ ดีกว่าอ่านหนังสือ
หมื่นเล่ม “ จากประสบการณ์ที่ผ่าน
มาทั้งในทางโลกและในทางธรรม
ช่วงหนึ่งของชีวิตแห่งการเดินทาง
ได้ประสพพบเห็นอะไรมามากมาย
เก็บบันทึกไว้ในความทรงจำ น้อมนำ
มาพิจารณามองหาที่มาและที่ไป
ของมัน ทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุ
และมีปัจจัยเป็นตัวประกอบ ค้นหา
ให้เห็นซึ่งที่มา ว่าเป็นมาอย่างไร
ก่อนที่เราจะได้รู้และได้เห็น ว่ามัน
ดำเนินไปเช่นไรและจะจบลงที่จุดไหน
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปนั้น
เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ในทาง
พระพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นกฎ
พระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง
ความเป็นทุกข์ ความเป็นสิ่งสมมุติ
ทั้งหลาย ยึดถือไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา เป็นธรรมดาของสรรพสิ่ง
ในโลกนี้...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๓ มกราคม ๒๕๖๕...
98


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๔...

...เตือนตนด้วยพุทธสุภาษิต
ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ...
" ภิกษุทั้งหลาย! เราประพฤติพรหมจรรย์นี้
มิใช่เพื่อหลอกลวงคน เพื่อให้คนบ่นถึง
เพื่อผลคือลาภสักการะและชื่อเสียง
เพื่อเป็นเจ้าลัทธิ เพื่อให้คนทั้งหลายรู้จักเรา
ก็หามิได้ แต่ที่จริงแล้ว
เพื่อความสังวรระวัง เพื่อละกิเลส
เพื่อคลายกิเลส และเพื่อดับกิเลสเท่านั้น "
" นยิทํ ภิกฺขเว พฺรหฺมจริยํ วุสฺสติ
ชนกุหนตฺถํ น ชนลปนตฺถํ
น ลาภสกฺการสิโลกานิสํสตฺถํ
น อิติวาทปฺปโมกฺขานิสํสตฺถํ
น อิติ มํ ชโน ชานาตูติ
อถโข อิทํ ภิกฺขเว พฺรหฺมจริยํ วุสฺสติ
สํวรตฺถํ ปหานตฺถํ วิราคตฺถํ นิโรธตฺถนุติ "
...พุทธสุภาษิต พรหมจริยสูตร ๒๑/๒๙...
...ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เพื่อนสหธรรมิก
และญาติโยมได้โทรศัพท์มาอวยพรปีใหม่
และสอบถามสารทุกข์สุกดิบด้วยความ
ห่วงใย ขอบคุณทุกกำลังใจและความ
หวังดีของบรรดาท่านทั้งหลาย
... " ไม่ว่าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด
แล้วแต่บุญแต่กรรมที่ทำมา " ตั้งสติ
อยู่ในความไม่ประมาท ไม่หวั่นไหว
ต่อภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นทุกสิ่ง
ทุกอย่าง เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ
มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่เที่ยงแท้
และแน่นอน อะไรจะเกิด ก็ให้มันเกิด
ขอเพียงเรามีสติและสัมปชัญญะตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหว ทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วยดี
ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ที่สุดดีที่สุด
เท่าที่เราจะทำได้ ผลจะเป็นอย่างไร
เป็นเรื่องของวิบากกรรม เมื่อใจเรายอมรับ
ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ตื่นตกใจ ใจเราก็ไม่
หวั่นไหว ใจเราก็ไม่เป็นทุกข์ ทุกสิ่ง
ทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแล้วไปตามกฎ
ของพรไตรลักษณ์คือความเป็น อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา...
...วันเวลา ผ่านไป ไม่หยุดนิ่ง
สรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ในทุกหน
แม้นแต่จิต และใจ ภายในตน
ยังดิ้นรน ไขว่คว้า หาทางไป
...ภายนอกนั้น อาจจะดู ว่าสงบ
แต่ค้นพบ ว่าจิตนั้น ยังหวั่นไหว
กระแสโลก ที่กระทบ จบที่ใจ
จิตหวั่นไหว เพราะว่าใจ ไม่มั่นคง
...จึงตามดู ตามรู้ ดูที่จิต
ดูความคิด ของจิต เมื่อมันหลง
ดูให้เห็น ความเป็นอยู่ แล้วก็ปลง
จิตมั่นคง เมื่อมีธรรม นั้นนำทาง
...ความเคยชิน ที่สะสม มานมนาน
เพราะว่าผ่าน หลายเรื่องราว ในโลกกว้าง
การจะลด การจะเลิก การจะวาง
ทุกสิ่งอย่าง ด้วยสิ่งใหม่ ไปทดแทน
...นั้นคือการ ละลาย พฤติกรรม
ที่เคยทำ จนเกาะกุม เป็นปึกแผ่น
จึงต้องสร้าง สิ่งใหม่ ไปทดแทน
แม้นจะแสน ยากนัก จักต้องทำ
...ทุกอย่างนั้น มีแนวทาง จะแก้ไข
อยู่ที่ใจ ของเรา จะหนุนค้ำ
ยอมแก้ไข ในสิ่ง ที่เคยทำ
พฤติกรรม เก่าเก่า ยอมละวาง
...ยอมลดละ อัตตา และมานะ
ยอมลดละ ทำใจ ให้เปิดกว้าง
โลกทัศน์ ชีวทัศน์ ต้องจัดวาง
เปลี่ยนทุกอย่าง ที่เคยทำ กรรมไม่ดี
...ไม่มีคำ ว่าสาย หากเริ่มต้น
ความหลุดพ้น มีได้ ในทุกที่
เริ่มจากใจ จากจิต คิดให้ดี
ต้องเริ่มที่ ใจของเรา เท่านั้นเอง...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒ มกราคม ๒๕๖๕...
99


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๓...

...ใกล้จะสิ้นไปอีกปีแล้ว วันเวลาผ่านไป
ตามปกติ ไม่เคยหยุดนิ่ง สรรพสิ่ง
แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เป็นไป
ตามกฎพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา ผ่านมาแล้วจากไป สิ่งที่เหลือ
ไว้นั้นคือความทรงจำ ประทับใจบ้าง
ขัดข้องขุ่นใจบ้าง ตามกิเลสตัณหา
และอารมณ์ของแต่ละคน แต่ละท่าน
และมุมมองที่แตกต่างกัน
..." มันเป็นเช่นนั้นเอง " ปีเก่าหรือ
ปีใหม่ล้วนแล้วแต่เป็นสมมุติบัญญัติ
ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อให้รู้ว่า เวลานั้น
ผ่านไปเท่าไหร่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญ
นั้นคือ ทุกวันทุกเวลาทุกขณะและ
ทุกโอกาส เราได้ทำหน้าที่ของเรา
ให้ถึงพร้อมสมบูรณ์แล้วหรือยัง
...ทบทวนใคร่ครวญพิจารณาว่าวัน
เวลาที่ผ่านไปนั้น เราได้สร้างสรรค์
สิ่งที่ดีให้แก่ชีวิตของเราแล้วรึยัง
สมบูรณ์แล้วหรือยัง ลองชั่งดูระหว่าง
บุญและบาปที่เราได้กระทำมาแล้วนั้น
ที่เราพอจะระลึกได้ว่าอย่างไหน
จะมีกำลังมากกว่ากัน
...ลองคิดสมมุติดูว่า ถ้าเราไม่มีโอกาส
ที่จะได้ลืมตาตื่นและหายใจในวันพรุ่งนี้
เราจะไปอยู่ที่ไหน เราจะเป็นอย่างไร
กรรมที่เราได้เคยกระทำมา จะเป็นตัว
ส่งผลให้จิตของเราไป กรรมที่เป็น
กุศลย่อมส่งผลไปสู่สุขคติคือไปใน
ทิศทางที่ดี กรรมที่เป็นอกุศลย่อม
ส่งผลไปสู่ทุคติคือทิศทางที่ไม่ดี
...วันสิ้นปีจึงเป็นวันที่เราควรทบทวน
สรุปการกระทำของเราที่ผ่านมาว่า
อะไรคือความเจริญก้าวหน้า อะไรคือ
ความเสื่อมถอย จงเอาอดีตที่ผ่านมา
เป็นบทเรียนของชีวิต คิดและพิจารณา
เพื่อกำหนดอนาคตในภายภาคหน้า
ของชีวิตเรา ว่าจะเดินไปในทิศทางใด
และอย่างไร...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔...
100


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๔๒...

...บางครั้งในการบรรยายธรรมนั้น
เราต้องละทิ้งรูปแบบในพยัญชนะ
มาเน้นในเรื่องความหมายความเข้าใจ
ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความรู้ความ
เข้าใจในธรรมะทั้งหลาย เพื่อให้ฟัง
แบบสบายๆ ไม่เกร็งไม่เคร่งและไม่เครียด
ในการสนทนาธรรม จึงเป็นที่มาของ
คำว่า " ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ " คือ
การถ่ายทอดธรรมะเพื่อให้ง่ายแก่
การเข้าใจโดยไม่ยึดติดในรูปแบบ
ซึ่งทุกอย่างต้องใช้การคิดและการ
พิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ทบทวน
อยู่ตลอดเวลา ปรับเข้าหาหลักธรรมะ
เพื่อความเหมาะสม มองทุกสิ่งทุกอย่าง
รอบกายให้เป็นธรรมะ ใช้หลักแห่ง
ความเป็นจริงตามหลักของธรรมชาติ
โดยการลดละซึ่งอัตตาและคติ
ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาใช้
ในการคิดและวิเคราะห์ แล้วเราจะ
เข้าถึงสภาวะแห่งธรรมะที่แท้จริง...

๐ จากถิ่นฐาน นานมา สู่ป่ากว้าง
ไปตามทาง ที่ใจ นั้นใฝ่หา
ออกเผชิญ ต่อโลก แห่งมายา
แสวงหา แนวทาง เพื่อสร้างธรรม
๐ ผ่านร้อยภู ร้อยป่า ร้อยนาคร
ผ่านขั้นตอน ทดสอบ เพื่อตอกย้ำ
ผ่านเรื่องราว มากมาย ที่ได้ทำ
ผ่านชอกช้ำ และสำเร็จ เสร็จในงาน
๐ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่าง
ในการสร้าง การสอน เพื่อสืบสาน
ได้เรียนรู้ มากมาย จากอาจารย์
สิ่งที่ท่าน สอนสั่ง ยังฝังใจ
๐ "เมือเสียหนึ่ง อย่าให้ถึง ต้องเสียสอง
เมื่อเสียของ เสียแล้ว จงหาใหม่
เสียอะไร เสียได้ อย่าเสียใจ
เมื่อเสียแล้ว เสียไป ใจอย่าเสีย"
๐ คือคำสอน คำสั่ง ที่ฝังจิต
นำมาคิด ยามจิต นั้นละเหี่ย
ปลุกกายใจ ยามที่ เราอ่อนเพลีย
ไม่ให้เสีย กำลังใจ ในการงาน
๐ มารไม่มี บารมี นั้นไม่เกิด
คือการเปิด โลกทัศน์ ที่อาจหาญ
ชีวิตนี้ อุทิศ แก่การงาน
เพื่อสืบสาน สายธรรม นั้นสืบไป
๐ ในวันนี้ ได้กลับ คืนสู่ถิ่น
สู่แดนดิน ถิ่นที่ เคยอาศัย
มาเพื่อปลุก ศรัทธา ทั้งกายใจ
เพื่อวันใหม่ ข้างหน้า ที่มาเยือน
๐ หยุดทบทวน ใคร่ครวญ สิ่งที่ผ่าน
ทั้งหมู่มิตร บริวาร และผองเพื่อน
ทุกเหตุการณ์ ผ่านมา นั้นช่วยเตือน
มิลืมเลือน มิตรภาพ และไมตรี...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔...
หน้า: 1 ... 3 4 5 6 7 8 9 [10]