ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติเเละปฏิปทา หลวงปู่เณรคำ วัดป่าขันติธรรม อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ  (อ่าน 12464 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด


ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์ วิรพล ฉัตติโก (หลวงปุ่เณรคำ)
วัดป่าขันติธรรม บ้านยาง ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ


อัตตโนประวัติ

“พระอาจารย์วิรพล ฉัตติโก” หรือ “หลวงปู่เณรคำ”ประธานสงฆ์แห่งวัดป่าขันติธรรม บ้านยาง ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เป็นพระนักปฏิบัติจิตบำเพ็ญภาวนากัมมัฏฐานรุ่นใหม่ พระนักพัฒนา และพระนักเทศน์ชื่อดัง ที่มีความตั้งใจจะเป็นแบบอย่างที่ดีของพุทธศาสนิกชนชาวเมืองศรีสะเกษ สร้างแรงศรัทธาเลื่อมใสให้กับชาวบ้านศรัทธาญาติโยม ให้ประพฤติปฏิบัติในหลักธรรมคำสอนแห่งพระพุทธองค์

พระอาจารย์วิรพล มีนามเดิมว่า วิรพล สุขผล เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2522 ตรงกับวันอังคาร แรม 12 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแม ณ บ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ คุณพ่อรัตน์ และคุณแม่สุดใจ สุขผล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 5 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด ท่านเป็นบุตรคนที่ 4


การศึกษาเบื้องต้น

อายุ 7 ขวบ ได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ก็มีศรัทธาในการปฏิบัติจิต บำเพ็ญภาวนากรรมฐานมาโดยตลอด ซึ่งทุกวันพระจะหยุดเรียนและนุ่งขาวห่มขาว เข้าไปถือศีลบำเพ็ญภาวนาในวัด ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ จะมีอิริยาบถแห่งการปฏิบัติธรรมอยู่ตลอด ไม่มีด่างพร้อย ไม่มีการพลั้งเผลอแม้แต่น้อย ทั้งวันจะเดินจงกรมสลับกับการนั่งภาวนาใต้ร่มไทร


ช่วงกลางวันจะไปนอนในป่าช้า ตรงที่เป็นโบกปูนใช้สำหรับเผาผี โดยไม่เคยมีความกลัวหรือหวั่นวิตกอะไร จิตนั้นนิ่งโดยตลอด ทั้งๆ ที่ไม่เคยบำเพ็ญมาก่อนเลยในชาตินี้ ในปัจจุบันชาติเพิ่งจะเริ่มต้น แต่ผลของการปฏิบัติมันก็เกิดขึ้นทันที นี่เป็นสัญญาณบ่งบอก เป็นหมายเหตุบอกถึงความจริงในการบำเพ็ญบารมีของแต่ละคนว่า “แม้เราบำเพ็ญในชาตินี้หรือว่าชาติไหนๆ ผลของการปฏิบัติบำเพ็ญนั้นมันยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่เสื่อมไปไหน” วันธรรมดาก็ไปโรงเรียน พอพักเที่ยงจะไปนั่งสมาธิใต้ร่มไม้ เลิกเรียนจะเข้าไปไหว้พระก่อนกลับจากโรงเรียน และเดินจงกรมกลับบ้านทุกวันเป็นกิจภายในที่ไม่มีใครรู้ได้นอกจากตัวเอง

เมื่ออายุ 12 ปี ได้เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตั้งใจบวชเป็นสามเณร แต่โยมบิดาได้ขอร้องไว้โดยขอให้เรียนต่อมัธยมศึกษาตอนต้นเสียก่อน พอเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา คิดอยู่เสมอว่า “ถ้าเสร็จจากภารกิจทางโลกแล้ว เราจะไม่กลับมาทางโลกอีก เราคงเคยเกิดมาหลายชาติแล้ว เราคงพอแก่การเกิดได้แล้วในชาตินี้ เห็นอะไรก็เกิดความสลดสังเวชไปหมด จึงเป็นแนวทางทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า เรารู้มาก่อน เห็นมาก่อน ตั้งแต่อดีตชาติ เหมือนกับเราจะได้ต่อเติมเส้นทางแห่งการปฏิบัติธรรมการบำเพ็ญเพียรเพื่อให้หลุดพ้น”

หลังเลิกเรียน จึงไปปักกลดนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่กระท่อมกลางน้ำที่ปลายนาของโยมบิดามารดาทุกวัน บางครั้งก็นั่งบำเพ็ญภาวนาทั้งคืนจนสว่าง ส่วนในวันพระจะถือกลดไปโรงเรียนด้วย พอเลิกเรียนจะเข้าไปปักกลดบำเพ็ญภาวนาที่วัด ปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ


การบรรพชาและอุปสมบท

จากการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องมาตลอด ครั้นอายุย่าง 15 ปี ท่านได้ตัดสินใจที่จะออกบวชและได้บวชผ้าขาวที่วัดป่าดอนธาตุ บ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยมีหลวงปู่สมบูรณ์ ขันติโก เป็นผู้บวชผ้าขาวให้ ต่อมาเมื่ออายุได้ 15 ปี ท่านได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาแก้ว ต.พิบูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยมีพระครูพิบูลธรรมภาณ (หลวงปู่โชติ อาภัคโค) เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมา ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ญัตติธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดภูเขาแก้ว โดยมีพระครูพิบูลธรรมภาณ (หลวงปู่โชติ อาภัคโค) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ฉตฺติโก”

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ไปพำนักจำพรรษา ณ วัดป่าดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี ระยะหนึ่ง จากนั้นเดินทางจาริกธุดงค์ ปักกลดอยู่ถ้ำภูตึก บ้านคุ้มปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ขณะนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ในถ้ำภูตึกนั้น มีงูเหลือมตัวหนึ่งเลื้อยมาพาดขาบ้าง พาดตักบ้าง บางคืนนอนอยู่งูเหลือมจะเลื้อยมาขดอยู่บนหน้าอก หนักมาก แต่จิตไม่มีการวิตกกังวล หรือกลัวอันใดเลย เพราะชีวิตนี้บูชาคุณพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นใหญ่ที่สุด พระธรรมเป็นใหญ่ที่สุด พระอริยสงฆ์เป็นใหญ่ที่สุด ตอนนั้นท่านคิดแต่ว่า เราต้องทำหน้าที่ให้ถึงซึ่งพระพุทธเจ้า ให้ถึงซึ่งพระธรรม ให้ถึงซึ่งความเป็นพระอริยสงฆ์ ความกลัวทั้งหลายจึงไม่มี และได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในถ้ำภูตึกนั้นคนเดียว เป็นเวลานานถึง 3 เดือน

ต่อจากนั้นก็ลงจากถ้ำภูตึกไป และจาริกธุดงค์ไปเรื่อยๆ ไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏว่าเริ่มเห็นสิ่งอัศจรรย์เยอะแยะมากมายเกิดขึ้น เช่น สิ่งลี้ลับต่างๆ ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น มองเห็นมุมโลกสองมุม คือ มุมมืดและมุมสว่างแห่งการเวียนวายตายเกิด มองเห็นสวรรค์ มองเห็นอบายภูมิ ประกอบด้วยนรก เปรต และอสุรกาย และเริ่มออกทำการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน


การสร้างวัดป่าขันติธรรม

ต่อมาได้รับนิมนต์จากชาวบ้านยาง ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ให้ไปพำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านยาง ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 โดยมีเพียงกุฏิและศาลาเล็กๆ พออยู่อาศัยได้ ก่อนขยับขยายวัดไปอยู่ที่แห่งใหม่ ทั้งนี้ ได้ก่อสร้างวัดป่าขึ้นใหม่ชื่อว่า “วัดป่าขันติธรรม” โดยมีคุณป้าทองมี วุฒิยาสาร (แม่เหนาะ) อุบาสิกาแห่งพระพุทธศาสนาผู้มีจิตใจอันประเสริฐยิ่ง เกิดมาเพื่อสร้างสมบารมีอันยิ่งใหญ่ ได้สร้างมหากุศลโดยบริจาคที่ดินจำนวน 9 ไร่ ถวายแด่ หลวงปู่เณรคำ เพื่อสร้างวัดป่าขันติธรรมไว้เป็นสถานที่ให้บุคคลกระทำความเพียร บำเพ็ญภาวนา เพื่อระงับกิเลสตัณหาให้น้อยลงจนถึงความหลุดพ้นจากกองกิเลส ตามพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2550 ได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินเพิ่มอีกจำนวน 2-1-00 ไร่ รวมที่ดินที่บริจาคทั้งสิ้น 11-1-00 ไร่

พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลสวงปู่สมบูรณ์ ขันติโกวัด ป่าดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี ได้มองเห็นถึงความอดทน ความอดกลั้น อันเป็นตบะเดชะสูงสุดเด่นชัดที่สุดของหลวงปู่เณรคำ ที่ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งอายุยังน้อยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งองค์หลวงปู่เณรคำ เองท่านได้ผ่านพญามารมาเยอะแยะมากมาย มารทั้งหลายปรากฏเกิดขึ้นที่ใด ท่านก็ดับมารไว้ที่ใจดับไว้ตรงนั้นเลย ดับที่ใจด้วยขันติ พระเดชพระคุณหลวงปู่สมบูรณ์จึงได้ตั้งชื่อให้นามว่า “วัดป่าขันติธรรม”

“ผู้มีขันติอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่แคบ ที่โล่ง ที่กว้าง ป่าดงรกชัฎ ผู้ที่ได้ศึกษาในเส้นทางของเรา (หลวงปู่เณรคำ) ขอให้มีขันติธรรมในใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวเหมือนกับเราได้บำเพ็ญในครั้งนี้ ทุกคนต้องทำได้เราเคยทำมาแล้ว ทุกคนต้องทำได้อย่างนั้น”

วัดป่าขันติธรรม ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยพลังศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนชาวศรีสะเกษและทั่วประเทศที่ได้เข้ามาร่วมในการพัฒนาวัดอย่างเต็มที่


ที่มาของชื่อ หลวงปู่เณรคำ

เมื่อครั้งพระเดชพระคุณท่าน หลวงปู่เณรคำ ท่านไปจาริกเดินธุดงค์อยู่แถวจังหวัดกาฬสินธุ์ ศรัทธาญาติโยมชาวบ้านแถวนั้นได้พากันไปกราบนมัสการ และได้มองเห็นองค์หลวงปู่ซึ่งท่านนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ในกลดบางๆ เป็นพระแก่ชรา แต่พอท่านเปิดกลดออกมา ก็กลับกลายเป็นสามเณรน้อยออกไปบิณฑบาต ขากลับจากบิณฑบาต ศรัทธาญาติโยมบางคนได้มองเห็นองค์หลวงปู่ท่านเป็นพระแก่ชรา อายุราว 80 ถึง 90 ปี ผมหงอก หลังค่อม เหี่ยวย่น หนังยาน บางคนฝันเห็น หลวงปู่เณรคำไปยืนอยู่บนหัวเตียง เดี๋ยวเป็นสามเณรอายุน้อยๆ เดี๋ยวก็กลายเป็นพระ ที่เเก่ชรามากบ้าง ตั้งเเต่นั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีคนเรียกขานชื่อของท่านตามที่เขาเห็นว่า

“หลวงปู่” หรือ “หลวงปู่เณรคำ” ฉายาของท่านคือ “ฉตฺติโก” อ่านว่า ฉัตติโก


สร้างพระแก้วมรกตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 4 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาตี 2 ท้าวสักกเทวราช มหาราชองค์อินทร์ จอมเทวดาผู้ยิ่งใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย ได้มาอาราธนาให้พระอาจารย์วิรพล ฉัตติโก (หลวงปู่เณรคำ) นำพาสาธุชนชาวพุทธได้ร่วมกันสร้างองค์พระแก้วมรกตจำลอง ปูนปั้นหน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 18 เมตร โดยมหาราชองค์อินทร์จะเป็นผู้ช่วยอำนวยการสร้างให้ราบรื่น ให้แล้วเสร็จลงด้วยพลังใจ ด้วยพลังจิตอันยิ่งใหญ่ ของทั้งเทวดาและมนุษย์มิตรทั้งหลาย

“ได้ถึงกาลอันสมควรแล้ว ที่พระคุณเจ้าจะต้องทำการสร้างสิ่งที่เคารพบูชาอันยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งอันควรในการสักการบูชาของเหล่าอินทร์ พรหม เทวดา มนุษย์มิตรทั้งหลาย เนื่องจากปัจจุบันในโลกมนุษย์ ชนทั้งหลายได้มีใจห่างเหินจากธรรมคำสอนขององค์พระศาสดาเป็นอย่างมาก พระคุณเจ้าผู้เจริญ บารมีพระคุณเจ้ามีพอแก่การสร้างมาแล้ว พอแก่การทำให้อายุพระศาสนาวัฒนาถาวรแล้ว แม้อายุยังน้อย แต่ได้บำเพ็ญสมณธรรมมามากต่อมากชาติจนนับไม่ถ้วน จนถึงชาติปัจจุบัน การสร้างบารมีของพระคุณเจ้ามีมามากแต่ชาติปางก่อน จึงไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ขอพระคุณเจ้าจงตริตรองด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่เองเถิด



เมื่อถึงกาลนี้ ข้าพเจ้าจึงได้เสด็จลงมาด้วยปรารถนาจะขออาราธนาพระคุณเจ้าผู้เจริญ ได้นำพามวลมนุษย์ชนทั้งหลาย สร้างองค์พระแก้วมรกตรัตนปฏิมากรจำลองคล้ายองค์จริง เพื่อเป็นพุทธบูชา ถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐในไตรโลกทั้งหลาย และเพื่อยังอายุพระศาสนาให้วัฒนาถาวรยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อสืบทอดอายุพระศาสนาให้ครบ 5,000 ปี เพื่อเป็นที่อันควรสักการบูชาของเหล่าอินทร์ พรหม เทวดา มนุษย์มิตรทั้งหลาย”

ขณะนี้ หลวงปู่เณรคำ กำลังดำเนินการก่อสร้างพระแก้วมรกตจำลองขนาดใหญ่และสวยงามมากที่สุดในโลก ณ วัดป่าขันติธรรม ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ปูนปั้นหน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 18 เมตร โดยองค์พระแก้วมรกตจำลองที่จะสร้างขึ้นจะมี 5 ชั้น มีลิฟต์ขึ้นลง ชั้นล่างสุดจะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ชั้นบนสุดคือส่วนพระเศียรมีบุษบก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วนหัวใจของพระแก้วมรกตจำลอง จะเป็นพิพิธภัณฑ์เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ส่วนยอดชฎาบนเศียรพระแก้วมรกตทำด้วยทองคำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม สูง 7 เมตร เครื่องทรงสามารถถอดเปลี่ยนได้ ทำด้วยทองเหลือง เมื่อแล้วเสร็จจะทำการเปลี่ยนเครื่องทรง 3 ฤดู ตามหลังพระแก้วมรกตองค์จริง 1 วัน มูลค่าการก่อสร้างจนกว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา แด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550

บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ได้ให้การยอมรับและเคารพนับถือ หลวงปู่เณรคำ เป็นอย่างยิ่งว่า เป็นพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จนบรรลุถึงความสิ้นไปแห่งกองทุกข์ ตามแนวทางคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

พระธรรมเทศนา

หลวงปู่เณรคำ ท่านมีเมตตาธรรมต่อสานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทุกท่าน อยากให้ทุกคนได้เข้าถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ ท่านจึงได้นำเอาแนวทางการปฏิบัติ ที่ท่านเคยบำเพ็ญมาตั้งแต่เป็นเด็กจนถึงปัจจุบัน มาสอนให้เราท่านทั้งหลายออกจากความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายและจิตใจ สอนให้เป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งตามหลักการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงความหลุดพ้นตามธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

ธรรมะและแนวทางการปฏิบัติ ที่หลวงปู่ได้เมตตานำมาสอนนั้น เป็นแนวทางลัดในการปฏิบัติ ให้บรรลุธรรมกันได้ง่ายขึ้น สามารถเข้ากับจริตของทุกๆ คน ทุกๆ จิตใจ ถ้ามีความเพียร ถ้ามีความศรัทธาในองค์พระรัตนตรัยอย่างแท้จริง ความเพียรและความศรัทธาที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงนั้น จะเป็นกำลังผลักดันให้เรามีตบะเดชะในใจ สามารถบำเพ็ญจนสำเร็จเป็นมรรคเป็นผลได้ในที่สุด นี่แหละ คือ เมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่ที่หลวงปู่ท่านได้หยิบยื่นให้แก่เราท่านทั้งหลาย


ต่อไปนี้คือหลักคำสอน ของ หลวงปู่เณรคำ

- พระอริยเจ้าละสังขาร ไม่มีแดนเกิดแห่งกายนี้อีก ไม่ว่าจะเป็นกายสัตว์ กายอะไรก็ช่าง กายละเอียดกายหยาบไม่มีอีกต่อไป

- นักปฏิบัติต้องกำหนดรู้อยู่ในกายให้มาก ให้เห็นแจ้งรู้จริงในกาย เมื่อกำหนดรู้ในกายเด่นชัดแล้ว ก็จะรู้เองโดยอัตโนมัติว่า จิตเป็นยังไง กายเป็นยังไง ไม่ต้องไปถามใคร

- นักปฏิบัติต้องทบทวนดูพฤติจิตของตนเองให้ดี ให้เด่นชัด ให้ละเอียด เพราะกลเกมกลลวงของกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันเฉียบคม

- ขึ้นชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติแล้ว อย่าเลือกที่ปฏิบัติ ที่ไหนๆ ก็ปฏิบัติได้ทั้งนั้น ปฏิบัติให้ตื่นรู้อยู่ในกายทุกอากัปกิริยา

- ขึ้นชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติแล้ว ไม่พึงแสวงหาวัตถุอย่างอื่นอันนอกเหนือจากความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

- การปฏิบัติธรรมนั้น แม้เกิดก็เกิดคนเดียว การจะเข้าถึงมรรคผลก็เข้าถึงคนเดียว ธาตุขันธ์จะแตกดับก็แตกดับคนเดียว

- การธุดงค์ป่านอกไม่มีผลสำเร็จดีเท่ากับเดินจาริกอยู่ในป่ามหานครกายและป่าใจของตัวเอง

- จงดำเนินองค์สติให้ตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว ควบคุมความคะนองทางใจ สำรวมระวังความคิด เจริญกองบุญกุศลให้ถึงพร้อม และให้ละบาปอกุศลให้สิ้น

- ไม่ยึดถือเอาสัญญาเป็นเจ้าของ หลุดพ้นออกจากสัญญาแล้วความขุ่นข้องหมองใจ ความพยาบาทปองร้ายก็ดับไป

- พอใจในสิ่งที่เรามี พอใจในสิ่งที่ตนได้ ถ้าดิ้นรนมาก ก็จะกลายเป็นกิเลส ตัณหา

- ท่านทั้งหลายที่เป็นสาธุชนนั้น ต้องอาศัยการให้ทาน ต้องอาศัยวัตถุทาน เป็นตัวนำจิตให้เข้าถึงบุญกุศล เป็นสิ่งที่ทำง่ายสำหรับท่านทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจของท่านทั้งหลายยิ่งใหญ่ขึ้นในภายภาคหน้า

- การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารภพน้อยภพใหญ่นี้ มันทุกข์ร้อนมากๆ ผู้ไม่ปรารถนาที่จะมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ต้องปฏิบัติตนรักษาศีล บำเพ็ญภาวนา ตั้งศรัทธาให้มั่นคง ปฏิบัติธรรมกำหนดรู้ ถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งปวง ถอดถอนความยึดถือในโลกทั้งปวง ในธรรมทั้งปวง ความเป็นตัวเป็นตน ความแบกหาม เอาสมมุติทั้งหลายทิ้งไปให้หมด สละไปให้หมด จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

- ท่านผู้มีปัญญาย่อมมีธรรมปรากฏอยู่ในจิตใจเสมอ ปัญญาธรรมคือสิ่งที่เลิศที่สุดในชาติปัจจุบัน

- ธรรมทั้งปวงนั้นคือ เครื่องเตือนให้ท่านทั้งหลายตื่นจากการหลับใหลในความยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ให้รู้จักส่งคืนสิ่งยึดติดทั้งปวง ด้วยธรรมอันจิตไม่ยึดมั่น เห็นเด่นชัดนั่นเป็นสักแต่ว่า

- นักปฏิบัติต้องใช้สติปัญญาที่เฉียบคม ทบทวนดูผลของการปฏิบัติที่ผ่านมาให้ละเอียดมากลงไปเรื่อยๆ ว่ากิเลส ตัณหา อุปาทานที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจนั้น มันหมดไปมากน้อยแค่ไหน และทบทวนดูสภาพจิตของตัวเองให้ลุ่มลึกลงไปให้มาก ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างต้องดับไป

- นักปฏิบัติต้องทบทวนดูสิ่งที่ตนเห็นให้ดี เพราะสิ่งที่เห็น คือ อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น เมื่อเห็นแล้วเดินจิตปลงลงสู่ความไม่ยึดถือ เดินกระแสจิตเข้าสู่ความดับ พอมันหลุดไปหมดแล้ว จะเห็นอะไรมันก็เห็นเป็นปกติ

- นักปฏิบัติต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูรูป เวทนา ให้เด่นชัด เมื่อเด่นชัดแล้ว จิตก็จะถอดถอนออกโดยอัตโนมัติ เห็นเป็นเพียงสมมุติเท่านั้น

- สาธุชนทั้งหลายอย่าเห็นเรื่องฤทธิ์เดชเหล่านั้น สำคัญกว่าการละกิเลสให้ได้เด็ดขาดอย่างแท้จริง

- ท่านทั้งหลาย เราอย่าเข้าใจว่าพระพุทธเจ้านั้นสอนให้เราสร้างแต่บุญเพื่อไปเกิดในสวรรค์อย่างเดียว แต่หัวใจของพระพุทธเจ้าที่เน้นหนักลงมา คือ ให้เราได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดตามพระองค์

- อุเบกขานั้นไม่ใช่การวางเฉยไปเลย แต่เป็นการเฝ้าดูโดยความสงบนิ่งของจิต ไม่มีอารมณ์อื่นแทรกแซง ท่านทั้งหลายจงมีอุเบกขาแบบอุเบกขาผู้มีปัญญา อุเบกขาแบบผู้มีปัญญาคือ การเฝ้าดูอยู่ไม่ให้ตนเองพลาดพลั้ง ไม่มีสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีสิ่งที่เป็นอกุศล

- เนื้อแท้ของธรรมชาติในโลกวัฏฏทุกข์นั้น ล้วนแล้วไม่ยั่งยืน แปรปรวนอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย จึงให้ทุกท่านเข้าไปรู้ความจริงของธรรมชาติแห่งวัฏฏทุกข์นั้น ด้วยสติปัญญาอันสุขุมละเอียด และด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว ความจริงแจ้งชัดหายสงสัยปรากฏอย่างที่สุด หลุดพ้นทันที

- ความโง่ในโลกที่เราโดนหลอกเอย คนนั้นหลอก คนนี้หลอก มันไม่ใช่ความโง่ที่เรียกว่าหนักหนาอะไร แต่ที่หนักคือ เราโง่ให้กิเลสมาสับรางจิตใจของเราให้ไปผิดทาง

- ยุคนี้ คือ ยุคที่เราจะทำให้เป็นดั่งสมัยพุทธกาล คือ ให้มีผู้บรรลุสำเร็จเป็นอรหันต์มากที่สุด ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

- จิตที่หลงยึดติดว่าเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราบรรลุแล้วจบสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว จิตที่หลงนี้ต้องกลับมาเกิดใหม่ และนำเอาจริตเดิม สันดานเดิมที่หลงติดไปด้วย


- ถ้าเรารักษาศีลไม่ดีก็เท่ากับว่าเรายังไม่แจ้งในศีล ถ้าเราบำเพ็ญภาวนาไม่ดีก็เท่ากับว่าเราไม่แจ้งในสติ ถ้าเราไม่มีความตั้งมั่นเพียงพอเท่ากับเราไม่ตั้งมั่นในสมาธิ ถ้าเราไม่มีความรู้เท่าทันกิเลสตัณหาอุปาทานเท่ากับเราไม่รู้แจ้งในปัญญา

- ถ้าเราได้จาบจ้วงพระอริยเจ้าองค์หนึ่ง ก็เหมือนเราได้จาบจ้วงทั้งหมด ทั้งพระพุทธเจ้าทั้งพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลจนถึงปัจจุบันกาลนี้ ผลกรรมนั้นมันหนักหนาสากรรจ์มาก

- ให้เฝ้าดูอาการของจิตจนรู้จิตเด่นชัด การบรรลุธรรมจะปรากฏ รู้จิตเห็นธรรม

- จิตที่หลุดพ้นนั้น เหนือบุญ เหนือบาปทั้งปวง

- ทุกคนจงมาทำให้แจ้งในปัจจุบันนี้เลย อย่าทำเพื่อชาติหน้า อย่าทำเพื่ออนาคตอันยืดเยื้อยาวไกลไปมาก ทำปัจจุบันให้มันแจ้ง แจ้งทั้งกาย ให้มันแจ้งทั้งจิตใจ อย่าให้มีข้อลังเลสงสัย อย่าให้มันเกิดการพวักพวง ให้มันแจ้งไปหมด

- การขับเคลื่อนของสติปัญญานั้น ต้องเดินอย่างต่อเนื่อง

- เมื่ออำนาจสติมีกำลังพอเพียง จะสามารถเห็นความเป็นจริงได้ว่า สภาพจิตและกายไม่ได้เป็นเนื้ออันเดียวกัน มันแยกกันอยู่

- สัญญานั้นเหมือนเพลิงที่มาเผาจิตของเวไนยสัตว์ไม่ให้หลุดพ้น ออกจากกองทุกข์

- คำว่าขณะที่ปฏิบัตินี่ ไม่ใช่เฉพาะชั่วโมงนั้นชั่วโมงนี้นะ มันทุกอากัปกิริยา ทุกสภาวะในปัจจุบันนั้นๆ แต่ละลมหายใจเข้า-ออก แต่ละเวลา แต่ละชั่วโมง แต่ละนาที สภาพปัจจุบันด้วย

- ยศถาบรรดาศักดิ์ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณทั้งหมด เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ เราก็ไม่ได้เอาไปด้วย เป็นสักแต่ว่าสมมุติในโลกนี้แค่นั้น ท่านจะเป็นมนุษย์ผู้มีสมบัติใหญ่โต มีชื่อแปลกๆ มีรถยนต์ นั่นคือเครื่องสมมุติ ผู้ที่บำเพ็ญตนให้พ้นจากกิเลสตัณหา เห็นสมมุติเหล่านั้นให้เด่นชัด เห็นทุกอย่างเป็นสมมุติ รู้สมมุติเหล่านั้นแล้วทิ้งสมมุติเป็นแดนเกิด ภพชาติจึงดับไป

- หัวใจแก่นแท้ของนักปฏิบัติธรรมตามธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ความไม่ยึดถือเอาเป็นเจ้าของในสิ่งทั้งปวง

- คำว่าปฏิบัติให้ดี ปฏิบัติให้ต่อเนื่อง คือ ไม่ให้เผลอ ไม่ให้หลงลืม ไม่ให้ด่างพร้อยไปตามอารมณ์

- การบำเพ็ญต้องบำเพ็ญด้วยสติล้วนๆ ปัญญาล้วนๆ ไม่ไปหลงกับอำนาจสมาธิ อำนาจความสุข ความปิติบางอย่าง ต้องตั้งสติให้มั่นคงเด็ดเดี่ยวขึ้นกว่าเดิม ตั้งกำลังปัญญาให้มันแกร่งขึ้นมากกว่าเดิม พิจารณาให้มันแตกฉานไปเสียหมดเลย จึงจะหลุดพ้น

- การบำเพ็ญนั้น ต้องบำเพ็ญด้วยความเด็ดเดี่ยว คำว่าเด็ดเดี่ยวหลักสำคัญ คือ ไม่ต้องไปลังเลสงสัยกับคนอื่น ไม่ต้องไปสนใจกับเรื่องอื่น ให้นั่งทำใจของตนให้สงบระงับ ไม่ฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปตามอารมณ์ต่างๆ

- การบำเพ็ญต้องหลีกเว้นออกจากสิ่งที่เคยยึดถือยึดมั่นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หนัง เอ็น กระดูก เป็นตัวเริ่มต้นเลยในการถอน เมื่อเราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น เป็นเนื้อ หนัง เอ็น กระดูกแล้ว อย่างอื่นมันไม่ยึดถือกันอัตโนมัติ

- สภาพสติปัญญาที่จะน้อมนำธรรมคำสอนเข้าฝังในหัวใจ จะเข้าไปในจิตใจมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกำลังสติปัญญาของแต่ละคนแต่ละท่านที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาตินี้ เพราะว่าการบำเพ็ญบารมี ไม่ว่าจะเป็นการบำเพ็ญด้วยการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ของแต่ละคน แต่ละท่านนั้น สะสมกำลังบารมีส่วนนี้มาแตกต่างกัน

- ยิ่งรู้แจ้งในกายมากเท่าไหร่ สติปัญญายิ่งมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น

- ยอดที่สำคัญที่สุด คือ จิตใจของสาธุชนทั้งหลายนั้น ต้องให้ถึงที่สุดแห่งองค์พุทธะ ให้ถึงที่สุดแห่งองค์ธรรมะ และให้ถึงที่สุดแห่งองค์พระสังฆอริยเจ้า ด้วยเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตนี้รวมเป็นหนึ่งหมุนเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้านั้น นั่นแหละคือว่าเราได้ทำให้ถึงยอดของพระพุทธศาสนา

- นิพพานนั้นไม่มีแดนเกิด นิพพานนั้นดับได้หมดเลย นิพพานเหนือโลกทั้งมวล เหนือโลกแห่งการเวียนว่ายตายเกิดทั้งหมด

- สาธุชนท่านใดปรารถนาให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายในการเกิด ต้องทำให้แจ้งในมหานครกายและมหานครใจ แจ้งจนหายสงสัย เมื่อหายสงสัยแล้ว ส่งคืนไม่ยึดถือเอาเป็นเจ้าของ

- แม้ว่าเราจะอยู่ในวัตถุของโลก แต่จิตเราไม่ยึดติดในวัตถุของโลก เหมือนกับน้ำบนใบบอนที่ใสสะอาด แม้อาศัยอยู่ในใบบอน แต่ก็ไม่ได้ติดด้วยใบบอนนั้น

- ถ้าจะหลุดพ้นแท้ๆ คือ ไม่เป็นในสิ่งที่เป็น ไม่มีสิ่งที่เป็นยึดถือในหัวใจ

- หลุดพ้นออกจากความหลุดพ้น นี่คือ ที่สุดของการปฏิบัติ

- การบรรลุมรรคผล จิตนั้นจะไม่มีอะไรแทรกแซงในจิตเลย แม้แต่ความเห็นว่าจิตของตนนั้นใสดั่งแก้ว ก็ไม่มีเลย

- การเดินย่ำไปในโลกธรรม ถ้าจิตเหนื่อยล้าก็จงพักเอากำลังแห่งสติปัญญาอันกล้าหาญ ไม่หวั่นไหวในสภาพทั้งปวง โลกธรรมมันยาวไกลไม่สิ้นสุด จิตหลุดพ้นแล้ว แม้โลกธรรมจะแสนไกลไร้ความหมาย เจริญธรรมอันเลิศแด่ท่านผู้ประเสริฐ

- ความเชื่อในทางโลกนั้นมีกำลังมากกว่าความเชื่อในทางธรรม เพราะว่าทางโลกนั้นมีรูปธรรมสัมผัสได้จับต้องได้ แต่ทางธรรมนั้นต้องใช้สติปัญญา มันจับต้องไม่ได้ด้วยมือเปล่า แต่กำหนดรู้เข้าไปที่จิตสำนึกได้เท่านั้น ผู้ที่จะเข้าถึงธรรมได้ ต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติตั้งมั่นศรัทธาในศาสนาจนแก่กล้าจึงจะเข้าถึงรากได้

- เราก็ขอทุ่มเทให้กับพระพุทธศาสนาในปัจจุบันชาติ แม้ว่าเราจะอาศัยเป็นบ้านเกิดหลังสุดท้าย แต่เราก็ขอทำคุณงามความดีให้แก่บ้านเกิดหลังสุดท้ายอย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายได้พึ่งพาต่อไปภายภาคหน้า ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตต่อไป คุณงามความดีจักประจักษ์เด่นชัดในใจของเรานี่เอง ถ้าเราทำดี ความดีก็มีในใจของเรา ไม่ต้องไปโอ้อวดใครทั้งสิ้น

- นับเป็นชาติสุดท้ายที่เรานำท่านทั้งหลายสร้างบุญบารมีที่ยิ่งใหญ่ จะไม่มีชาติอื่นปรากฏแก่เราอีกต่อไป ทำไปเถิด เมื่อมีโอกาสได้ทำ

- ท่านทั้งหลายอย่ายึดติดในอารมณ์ทั้งปวงเลย ทั้งร้อนและเย็นมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น อารมณ์เปรียบดั่งทะเลเพลิง ถ้าจิตเหนืออารมณ์ ก็พ้นจากทะเลเพลิง ได้ถึงความหลุดพ้นในที่สุด

- ชีวิตทั้งหลายโดยมากลุ่มหลงในตน ยึดถือตนเป็นแก่นสาร เอาความเป็นตัวเป็นตนครอบงำจิต ชีวิตเหล่านั้นจึงเป็นทุกข์โดยไม่รู้ตัว จงดับความยึดถือในตน ทุกข์โดยไม่รู้ตัวจักดับไป

- ธรรมอันบริสุทธิ์คือ เครื่องตื่น ผู้รู้แจ้งในธรรมทั้งปวง เปรียบดั่งว่าเป็นผู้ตื่นแล้วจากโลกมืด อันเป็นบาปอกุศล อุปาทาน กิเลส ตัณหาทั้งปวง เมื่อตื่นแล้วหลุดพ้นถึงซึ่งความเกษมบันเทิงใจในธรรม จนดับขันธ์นิพพานไป ไม่หวนกลับมาเวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป

- ให้ตัดความกังวล ให้ตัดความยึดถือทั้งปวง เพื่อจะได้หลุดพ้นต่อไปในภายภาคหน้า

- ให้มีพรหมวิหารธรรมที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ด้วยใจที่บริสุทธิ์ ด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว เมตตาก็เมตตาด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว กรุณาก็กรุณาด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว มุทิตาก็มุทิตาด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว อุเบกขาก็อุเบกขาด้วยใจที่เด็ดเดี่ยวด้วย

- อุเบกขาที่มีปัญญาจะช่วยเราไปตลอดชีวิต นักปฏิบัติทุกวันนี้ รู้แต่ว่าการปล่อยวาง ปล่อยวาง นั่นสักแต่ว่าก็แค่นั้นเอง แต่ไม่รู้ว่าสักแต่ว่าแบบมีปัญญาเป็นยังไง

- เมื่อสติ สมาธิ ปัญญา มีในหัวใจแล้ว เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีในหัวใจแล้ว อุเบกขามีหน้าที่ซุ่มดู เฝ้าระวังไม่ให้จิตใจตนเองเกิดอะไรขึ้นมาอีกเหมือนเดิม แล้วคอยประคองรักษาสภาพจิตนั้น ให้มันสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

- นักบุญทั้งหลายจงจำไว้เถิดว่า ให้ทำกุศลฝ่ายในและกุศลฝ่ายนอกให้บริบูรณ์ เมื่อบริบูรณ์คราใด บารมีจักเกิดครานั้น จงพิจารณาธรรมเหล่านี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเถิด

- ชนทั้งหลายผู้จักได้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้น ต้องหนักแน่นในศีลแลให้ทานพร้อมทั้งภาวนา ผลคือดวงจิตดวงนี้เกิดมีความปิติสุขโล่งเบาโดยตลอด ไม่ด่างพร้อย เมื่อถึงวันธาตุขันธ์ดับแล้ว จิตวิญญาณเหล่านั้นหมุนเข้าสู่สุขคติสวรรค์ทันที อย่างไม่ลังเลสงสัย

- จิตที่หลุดพ้นนั้น เหนือบุญ เหนือบาปทั้งปวง

- สติปัญญาของท่านผู้ปฏิบัตินั้น แจ้งกำหนดรู้ไปยังที่ใจ ย่อมรู้แจ้งแจ่มชัดในที่นั้นอย่างหายสงสัย เพราะอำนาจสติปัญญามีกำลังเพียงพอ อันเกิดจากความเพียรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ท่านทั้งหลายจงแสวงหาและสร้างสติปัญญาของตนให้เด่นชัดในหัวใจ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างเต็มตัว หายสงสัยในสิ่งทั้งปวง

- ผู้มีปัญญาแก่กล้านั้น เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งใดแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากสิ่งนั้นด้วย โดยไม่ยึดไม่ถือเอาเป็นเจ้าของ ส่งคืนไปตามสภาพสมมุติหมด

- การบำเพ็ญเพียรเพื่อให้หลุดพ้น ต้องทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว ด้วยใจที่เต็มความภาคภูมิ เต็มไปด้วยความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามพระธรรมคำสอนขององค์พระบรมศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ให้ด่างพร้อย ไม่ให้พลั้งเผลอเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าผลของการปฏิบัตินั้นจะมีมากเพียงใดก็ตาม

- บุญในอดีตชาติรวมเป็นหนึ่งกับบุญในปัจจุบันชาติ จักเกิดบารมีอันยิ่งใหญ่ สำเร็จประโยชน์ดังตั้งใจ

- สติ สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน รวมลงที่ใจโดยฝ่ายเดียว แต่ไม่ให้ยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ส่งคืนตามสภาพความเป็นจริงนั้นให้หมด

- ถ้าศีลไม่สะอาด มันจะรวมสติ สมาธิ ปัญญา ลงไปที่ใจไม่ได้ รวมไม่ได้เลย

- ปฏิบัติตนให้รู้แจ้งเห็นจริง รู้แจ้งในศีล รู้แจ้งในสติ สมาธิ ปัญญา

- แม้ว่าเราจะอยู่ในวัตถุของโลก แต่จิตเราไม่ยึดติดในวัตถุของโลก เหมือนกับน้ำบนใบบอนที่ใสสะอาด แม้อาศัยอยู่ในใบบอน แต่ก็ไม่ได้ติดด้วยใบบอนนั้น

- โลกยังคงหมุนไปตามธรรมชาติ สรรพสิ่งในโลกยังคงหมุนไปตามกรรม เรามาดับกิเลสตัณหาอุปาทานเพื่อระงับกรรมเหล่านั้น เหตุที่ทำให้กรรมยุติเบาบางลง คือ การดับกิเลส ตัณหา อุปาทานทั้งปวง

- การออกจากทุกข์ก็คือ เราอย่าไปมองแค่สวรรค์ เป็นนักปฏิบัติต้องมองถึงพระนิพพาน อย่าไปยุติไว้แค่สวรรค์ แม้ว่าไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ไม่ว่าจะสูงส่งมากแค่ไหน เมื่อบุญหมด บารมีหมด ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่อีกไม่จบสิ้น แต่ที่มันจบก็คือความหลุดพ้น หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิเหล่านี้

- ให้เข้าใจถึงธาตุขันธ์ร่างกายโดยรวมคือ ธรรม จิตที่อาศัยร่างกายอยู่ก็คือธรรม ผู้ที่จะเข้าถึงความหลุดพ้นสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดถึงพระนิพพานนั้น ต้องมีความแจ่มแจ้งหายสงสัยในธรรมเหล่านี้ ธรรมเหล่านี้ก็คือร่างกายและจิตใจ เพราะเหตุเหล่านี้แหละ เพราะความยึดถือในร่างกายและจิตใจนี้แหละ สัตว์โลกทั้งหลายจึงต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างไม่จบไม่สิ้น

- รีบทำในวันนี้ อย่ารอวันพรุ่งนี้

- คำว่า “ขันติธรรม” นี้ ยิ่งใหญ่มาก เป็นคุณธรรมชั้นสูง

- การตั้งจิตอยู่ ปัญญาอยู่ ให้ถึงพร้อมทั่วทั้งกายดีที่สุด ทำให้ได้

- ฝึกจิตให้แก่กล้า ชนะอารมณ์ เป็นคนดีของสังคม

- สิ่งที่ดีที่สุดคือ ปัญญาของเรา ทำให้แจ้งทั้งหมดเลย ไม่แจ้งเฉพาะที่ตรงใดตรงหนึ่ง เอาจิตเข้าไปตามรู้ทันให้หมด

- แก่นแท้ของจิตนั้น เป็นอาการที่คิดปรุงแต่ง รับรู้อารมณ์ทั้งปวงที่ปรากฏ

- อำนาจจิตที่แก่กล้ามีพลังนั้น เกิดจากความเพียรในปัจจุบันกาล เรียกว่า สภาวะปัจจุบันนั้นมีองค์มหาสติครอบคลุมอยู่ตลอด อย่างไม่ด่างพร้อย จึงไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในอิริยาบถใด อิริยาบถหนึ่ง ไม่จำกัดกาล เวลา และสมัย เมื่อสติปรากฏแจ่มชัด ชื่อว่าท่านเป็นผู้มีความเพียร จิตจะแก่กล้าขึ้นโดยอัตโนมัติ

- พระอริยเจ้าเป็นผู้มีจิตที่เป็นกลาง ไม่แบกหามเอาสมมุติใดๆ ทั้งสิ้น มาหนักจิต แม้จิตนั้นดับไป ไม่มีเหลือ ไม่ได้ยึดถือจิตนั้นเป็นตัวเป็นตน วิญญาณนั้นก็ไม่มี ดับสิ้นไม่มีเหลือ สมมุติทั้งหลายสิ้นไปหมด ไม่มีอีกแล้ว หยุดลงแค่นั้น พรหมจรรย์ทั้งหลายก็ยังเป็นสมมุติแห่งพรหมจรรย์ เมื่อพรหมจรรย์จบสิ้นแล้ว สมมุตินั้นก็จบสิ้นไปด้วย ความยึดถือในพรหมจรรย์ทั้งหลาย แดนเกิดแห่งพรหมจรรย์จึงไม่มีอีกแล้ว เพราะพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ฉะนั้น เราต้องเข้าใจความเป็นจริงของสมมุตินั้น

- ยุคนี้พระอริยเจ้ายังไม่สิ้นนะ พระอริยเจ้ายังคงอยู่ยังคงมี ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ยังไม่สิ้นพระอริยเจ้า ปฏิบัติจริงก็ได้ของจริง เห็นของจริง

- เกลี้ยงทั้งใจ ใสทั้งกระดูก ชื่อว่าพระอริยเจ้าที่แท้จริง

- จะไปปฏิบัติยังไงก็ตาม เราอย่าไปเลือกที่ปฏิบัติ ที่ไหนที่ลมหายใจมันหมุนเข้าออกอยู่นั่นแหละ ปฏิบัติได้ตลอดไป ปฏิบัติได้ตลอดไม่จำเป็นต้องรอเวลาที่จะนั่งบำเพ็ญภาวนา รอเวลาที่จะต้องเดินจงกรม จะนั่งอยู่ที่ไหน จะเดินอยู่ที่ไหน ก็ต้องทำความเพียรได้ทั้งนั้นแหละ มันเป็นสากลไปเลยความเพียรอันนั้น

- บุคคลใดยังความทุกข์ ความลำบากให้แก่ผู้อื่น ความทุกข์ ความลำบากก็ย้อนกลับมาเป็นผลแก่ผู้นั้น แต่หากบุคคลใดยังความสุข ความสะดวกให้แก่ผู้อื่น ความสุข ความสะดวกก็จะย้อนกลับมาเป็นผลแก่ผู้นั้นเช่นกัน






ท่านใดสนใจและต้องการ CD พระธรรมเทศนาของ หลวงปู่เณรคำ วัดป่าขันติธรรม

สามารถเข้าไปโพสต์ชื่อที่อยู่ได้ ฟรี

ตามลิงค์นี้ครับ

http://board.palungjit.com/showthread.php?t=140960

หรือ

http://larndham.net/index.php?showtopic=32550&st=0

ออฟไลน์ berm

  • สิ่งที่ควรทำคือความดี..สิ่งที่ควรมีคือคุณธรรม..สิ่งที่ควรจำคือ...บุญคุณ
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 1008
  • เพศ: ชาย
  • อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่กับมิตรระวังวาจา
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
 :054:สาธุพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เดินตามรอยพระบรมศาสดาอีกหนึ่งรูปครับ :054: :054: :054:
ทุกคนย่อมมีปัญหาของตัวเองเกิดขึ้นตลอดเวลา  อยู่ที่ใครเลือกที่จะเดินหนีปัญหา...หรือเลือกที่จะแก้ไขปัญหา