กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด มิตรไมตรี => บทความ บทกวี => ข้อความที่เริ่มโดย: N!c ที่ 20 เม.ย. 2552, 06:21:09

หัวข้อ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: N!c ที่ 20 เม.ย. 2552, 06:21:09
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต



บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ มาถึงข้ออุปาทาน และข้ออุปาทานนี้ก็กำลังอธิบายทิฏฐุปาทาน ความยึดถือทิฏฐิคือความเห็น และก็ได้แสดงถึงทิฏฐิคือความเห็นผิดต่างๆ ที่เป็นอย่างรุนแรง เป็นนิยตะมิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งลง คืออกิริยะทิฏฐิความเห็นว่าไม่เป็นอันกระทำ คือไม่มีบุญไม่มีบาป อเหตุกะทิฏฐิความเห็นว่าไม่มีเหตุ คือผลที่ได้ต่างบังเกิดขึ้นตามคราวแห่งโชคเราะห์ นัตถิกะทิฏฐิความเห็นว่าไม่มี เป็นการปฏิเสธสมมติสัจจะความจริงโดยสมมติ ปฏิเสธคติธรรมดาเช่นคติกรรมและผลของกรรม เป็นความเห็นที่ผิดหลักพุทธศาสนาสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงแสดงว่าความเห็นผิดทั้ง ๓ นี้ ห้ามทั้งสุคติคือคติที่ดี ห้ามทั้งมรรคผลนิพพาน และได้แสดงต่อไปถึงทิฏฐิคือความเห็น ๒ อย่าง ๒ คือสัสสตทิฏฐิความเห็นว่าเที่ยง อุจเฉททิฏฐิความเห็นว่าขาดสูญ กล่าวสั้นง่ายๆ คือเห็นว่าตายเกิด กับเห็นว่าตายสูญ แต่ต้องเข้าใจว่าเห็นว่าตายเกิดที่เป็นสัสสตทิฏฐินั้น คือต้องเกิดกันร่ำไปไม่มีสิ้นสุด แต่กล่าวสั้นว่า เห็นว่าตายเกิด กับเห็นว่าตายสูญ วิภัชวาทะ อันความเห็นดั่งนี้เป็นความเห็นที่ผิดจากสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ คือสัมมาทิฏฐิในองค์มรรค สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบในองค์มรรคในอริยสัจจ์นี้ แสดงเป็นวิภัชวาทะ คือกล่าวจำแนกตามเหตุและผล ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ ทุกข์กับสมุทัยเป็นผลและเหตุ ในด้านก่อทุกข์ นิโรธกับมรรคเป็นผลและเหตุ ในด้านดับทุกข์ สำหรับในด้านก่อทุกข์นั้น คือทุกข์กับสมุทัย ทุกข์นั้นก็ดังที่ได้สวดได้ทราบกันอยู่แล้วเนืองๆ เริ่มต้นด้วย ชาติปิทุกขา แม้ความเกิดเป็นทุกข์ คือชาติเป็นทุกข์ และสมุทัยนั้นก็ได้แก่ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ฉะนั้น เมื่อยังมีตัณหาเป็นสมุทัยอยู่ ก็จะต้องมีทุกข์ มีชาติความเกิดเป็นต้น กล่าวสั้นเมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ต้องเกิด ส่วนนิโรธและมรรคนั้น เป็นผลและเหตุในด้านดับทุกข์ นิโรธคือดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ได้ กล่าวโดยตรงก็คือเมื่อดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติคือความเกิดได้ ฉะนั้นเมื่อดับตัณหาได้ ก็ไม่เกิดอีก แต่ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติในเหตุคือมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้นตามหลักพุทธศาสนาจึงไม่ยืนยันตายตัวว่าตายเกิด และไม่แสดงว่าตายสูญ แต่แสดงไปตามเหตุผล เมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ยังต้องเกิด เมื่อดับตัณหาได้ สิ้นตัณหาเสียได้ ก็สิ้นชาติคือความเกิด คือไม่เกิดอีก

๓ พุทธศาสนาไม่แสดงว่าตายสูญ ฉะนั้น ตามหลักพุทธศาสนาจึงตายเกิดกันตลอดเวลาที่ยังมีตัณหา แต่เมื่อดับตัณหาได้ จึงจะไม่เกิดอีก แต่แม้ไม่เกิดอีกก็ไม่แสดงว่าตายสูญ ดังได้มีเรื่องเล่าว่ามีพระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้เที่ยวกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรได้เรียกเอาพระรูปนั้นมา และก็ได้ถามว่าเธอเที่ยวพูดดั่งนั้นจริงหรือ พระรูปนั้นก็ตอบรับว่าจริง เที่ยวพูดไปอย่างนั้นจริงว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่าอะไรเป็นพระอรหันต์ รูปเป็นพระอรหันต์หรือ พระรูปนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ ท่านก็ถามไปโดยลำดับ และพระรูปนั้นก็ตอบไปโดยลำดับดั่งนี้ เวทนาเป็นอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สัญญาเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สังขารเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ วิญญาณเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า ก็เมื่อเธอได้ตอบว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ มิใช่เป็นพระอรหันต์ ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ
พระรูปนั้นจึงได้ยอมรับว่าที่กล่าวไปนั้น เป็นการกล่าวไปด้วยความไม่รู้ และมิได้เฉลี่ยวคิดตามที่ท่านพระสารีบุตรได้ถาม และตนก็ได้ตอบไปนั้น พิจารณาดูตามคำถามและคำตอบนี้ก็จับความได้ว่า ที่เรียกว่าตายนั้นก็คือขันธ์ ๕ แตกทำลาย แต่เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ครั้นขันธ์ ๕ แตกทำลาย ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้เฉลยว่า เมื่อไม่ตายสูญแล้วเป็นอย่างไร แต่ว่าได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้โดยอุปมา ว่าเหมือนอย่างไฟที่ต้องลมพัดดับไป หรือว่าไฟที่สิ้นเชื้อดับไป อันไฟนั้นเมื่อมีเชื้อก็ติดขึ้นมาอีก และเมื่อสิ้นเชื้อก็ดับ ๔ และเมื่อไม่มีเชื้อที่จะก่อให้เกิดไฟขึ้นอีก ไฟก็ไม่เกิด แต่ว่าไฟนั้นก็ไม่ควรจะกล่าวว่าสูญ เพราะเมื่อมีเชื้อไฟก็เกิดขึ้นอีก หากไม่มีเชื้อ ไฟจึงจะไม่เกิดขึ้นมาอีก พระอรหันต์นั้นสิ้นกิเลสซึ่งเป็นเชื้อให้เกิดแล้ว ยกตัณหาขึ้นมาเป็นข้อแสดง ก็คือสิ้นตัณหาแล้ว สิ้นเชื้อที่ให้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่เกิดอีก แต่ก็ไม่สูญ พิจารณาดูเทียบกับธาตุไฟ เทียบกับไฟดังที่กล่าวมานั้น ตัวธาตุไฟนั้นไม่สูญ คือหมายถึงตัวธาตุที่เป็นธาตุแท้ เมื่อไม่มีเชื้อก็ไม่ติดเป็นไฟขึ้นอีก แต่ว่าธาตุที่เป็นธาตุแท้นั้นก็ไม่ปรากฏ

เมื่อเป็นดั่งนี้ พระอรหันต์จึงไม่มีวิญญาณ เมื่อท่านดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีวิญญาณที่จะท่องเที่ยวอยู่ เมื่อมีวิญญาณที่ยังท่องเที่ยวอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังต้องถือภพถือชาติ คือเกิดในภพชาติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ดังได้มีเรื่องที่เล่าว่า เมื่อพระอรหันต์บางรูปท่านดับขันธ์ปรินิพพาน มารได้ค้นหาวิญญาณของท่าน ว่าวิญญาณของท่านไปในที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่ามารไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ ก็เช่นเดียวกับไม่สามารถที่จะพบรอยต่างๆ เช่นรอยมือรอยเท้าในอากาศได้ เพราะท่านไม่เกิดเป็นอะไรอีก และก็มีแสดงว่า เมื่อดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็พ้นสมมติบัญญัติ พ้นทางของถ้อยคำ ที่จะพูดถึงอีกต่อไปว่าเป็นอะไร เพราะเมื่อพูดถึงได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ก็ต้องแสดงว่าต้องมีภพ มีชาติ จึงยังเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ เมื่อไม่มีภพมีชาติ ไม่เป็นโน่นเป็นนี่อะไรทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีที่ตั้งของถ้อยคำอะไรที่จะยกขึ้นมาพูดได้ เรียกว่าวิญญาณก็ไม่ได้ จิตก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ๕ เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ที่ยังมีความคิดเห็น ว่ายังสามารถจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าพระอรหันต์ได้ในที่นั้นที่นี้ จึงไม่ตรงกับหลักแห่งพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ท่านไม่มีภพมีชาติเป็นนั่นเป็นนี่ ที่จะไปเฝ้าได้ มีทางเดียวก็คือเห็นธรรมะ ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ก็คือเห็นธรรมะด้วยปัญญา เห็นสัจจะคือความจริงด้วยปัญญา ดังที่ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม ได้บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เห็นเกิดเห็นดับ ของสิ่งที่เกิดดับทั้งหลาย เห็นสัจจะคือความจริงดั่งนี้ชื่อว่าเห็นธรรม และเมื่อเห็นธรรมดั่งนี้ก็เห็นพระพุทธเจ้า คือย่อมรู้ย่อมเห็นว่าพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสแสดงธรรมะข้อนี้ไว้เป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้จริง ดั่งนี้ คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นดั่งนี้ก็คือเป็นการเห็นสัจจะธรรม

เอื้อเฟื้อข้อมูล : http://board.dserver.org/e/easydharma/00000207.html (http://board.dserver.org/e/easydharma/00000207.html)
หัวข้อ: ตอบ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: •••--สายัณ--••• ที่ 20 เม.ย. 2552, 06:40:25
นิพพาน ดับสูญหรือไม่  ไม่มีใครตอบได้ นอกจากคนที่ไปนิพพานแล้ว
ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ก็อีกแบบ มีแดนนิพพาน
ครูบาธรรมชัย ก็มีแดนนิพพาน
หลวงปู่อิสระมุนี ก็อีกแบบหนึ่ง
และ อีกหลายครูบาอาจารย์ ก็ต่างกันไป
สรุป เร่งเพียรภาวนา ให้ไปนิพพานโดยไว จะได้รู้
หัวข้อ: ตอบ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: อชิตะ ที่ 20 เม.ย. 2552, 06:58:57
นิพพานตีความไม่ได้ตามคัมภีร์พระไตรปิฏกแน่นอนครับ 

ต้องผู้ที่เข้าถึงธรรมภายใน จากหลวงปู่ หลวงพ่อต่างๆ    ทุกท่านยืนยันว่า แดนนิพพานมีอยู่จริง แบบที่พี่สายัณนำมาบอกเล่าครับ

สบายใจได้ครับ   :016: :016: :016:


หัวข้อ: ตอบ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: ~@เสน่ห์เอ็ม@~ ที่ 20 เม.ย. 2552, 07:15:37
ผมคนนึงที่เชื่อ ครับ ว่ามีอยู่จริง ...
หัวข้อ: ตอบ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: ۞เณรน้อยเส้าหลิน۞ ที่ 20 เม.ย. 2552, 07:31:47
ผมเห็นด้วยกับพี่สายัณ  พี่อชิตะ นะครับ  การปฏิบัติเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ได้จริง  ปัจจัตตัง จริงๆครับเรื่องนี้ 
แต่ผมเห็นว่ามีเวปหนึ่งรวบรวมการกล่าวถึงพระนิพพานจากคำของครูบาอาจารย์หลายๆท่านครับ ผมจึงขอยกตัวอย่าง

(http://www.geocities.com/pranipan/small_ubali.jpg)
พระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจนฺโท จันทร์
พระอาจารย์ของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล  โดยพระอาจารย์เสาร์เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตอีกทีครับ

"พระนิพพานเป็นพระมหานครอันใหญ่เป็นที่บรมสุขหาที่เปรียบมิได้ อย่าเข้าใจว่าจะไปนิพพานด้วยกำลังกาย"

............................................................

(http://www.geocities.com/pranipan/small_toe1.jpg)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี

"นิพพาน คือว่างจากกิเลส จิตวิญญาณของพระอรหันต์ไม่สูญ ที่วิญญาณสูญนั่นคือวิญญาณในขันธ์ ๕ เท่านั้น "

............................................................

(http://www.geocities.com/pranipan/small_lpsod.jpg)
พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 

"ส่วนกายพระอรหัต ถ้าถึงพระอรหัตละก็ นิจจัง สุขัง อัตตาแท้ๆ กายธรรมมีขันธ์เหมือนกัน แต่เป็นธรรมขันธ์ ท่านไม่เรียกเบญจขันธ์ เป็นธรรมขันธ์เสีย มีธาตุเหมือนกัน เป็นวิราคธาตุ เป็นวิราคธรรม"

............................................................

(http://www.geocities.com/pranipan/small_luesri.jpg)
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ  วัดท่าซุง อุทัยธานี

"องค์สมเด็จพระบรมครูตรัสว่า ...โมกขราช เรากล่าวว่า นิพพานนั้นหมายถึงกิเลสดับ และขันธ์ ๕ ดับ... พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า จิตดับ"

............................................................

(http://www.geocities.com/pranipan/small_ariya.jpg)
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)  วัดเขาสวนกวาง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น 
(ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  ท่านเขียนหนังสือไว้มากมายในยุคปีพ.ศ.2400 ปลายๆครับ)

" พระธรรมกาย ได้เแก่พระกายอันบริสุทธิ์ ไม่สาธารณะแก่เทวา และมนุษย์ หมายถึงจิตที่พ้นจากกิเลสแล้ว เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ไม่สูญสลาย อินทรีย์ของพระอรหันต์ประณีตสุขุม แม้ตาทิพย์ของเทวดาก็มองไม่เห็น"

............................................................

(http://www.geocities.com/pranipan/small_bua0.jpg)
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

"ดวงจิตนี้ไม่เคยสูญ แดนพระนิพพานมีจริง หลวงปู่มั่นเล่าว่า พระพุทธเจ้าหลายพระองค์   เสด็จมาเยี่ยมท่าน"

............................................................

(http://www.geocities.com/pranipan/small_budda.jpg)
หลวงปู่บุดดา ถาวโร

"นิพพานไม่สูญ เป็นแต่อาสวะกิเลสสูญ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม วิบาก มันสูญ แต่ สังคตะธรรม อสังคะธรรม วิราคะธรรม มันไม่ได้หมดไปด้วย"

............................................................


ขอยกตัวอย่างคำกล่าวของพระเถรานุเถระที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือกัน มาให้อ่านกันแค่นี้ก่อนครับ  ส่วนถ้าท่านใดต้องการอ่านเพิ่มเติม  ผมได้นำลิ๊งค์มาให้ด้านล่างแล้วครับ

ที่มา  http://www.geocities.com/pranipan/ (http://www.geocities.com/pranipan/) 
หัวข้อ: ตอบ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์) ที่ 20 เม.ย. 2552, 07:56:14
ขอบคุณมากครับผม นิพพาน มีทางไปหลายทาง แต่จุดมุ่งหมายเดียวกัน " หยุด เป็นตัวสำเร็จ "  :054:
หัวข้อ: ตอบ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: tum72 ที่ 20 เม.ย. 2552, 09:12:59
ดับสูญหรือไม่ผมไม่ทราบได้
แต่ผมว่าที่ไม่ดับสูญและหายไปคือ คำสอนของพระพุทธองค์ และคำสอนของหลวงพ่อท่าน ยังไม่หายไปไหน
ถึงแม้วันเวลาจะหมุนเวียนผ่านไปเท่าไหร่ก็ตาม คำสอนเหล่านั้นก็สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราๆได้อยู่เสมอ
หัวข้อ: ตอบ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: ~เสน่ห์ต้นน้ำ~ ที่ 20 เม.ย. 2552, 09:30:27
ผมยังเชื่อนะว่ายังมีอยู่
หัวข้อ: ตอบ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: กวงเจา ที่ 20 เม.ย. 2552, 10:41:18
ถ้ามีผู้สนใจปฏิบัติ มรรคผลนิพพานไม่สิ้นจากโลก  


กิเลสก็สดๆ ร้อนๆ อยู่กับเราทุกวันนี้ มันล้าสมัยไปที่ไหน กิเลสน่ะ ความโลภก็เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง คงเส้นคงวา เป็นกิเลสอยู่ตามธรรมชาติของตนแต่ไหนแต่ไรมา มันล้าสมัยไปไหน แล้วธรรมะที่จะมาแก้กิเลสนี้จะล้าที่ไหนที่นี่


ศีล สมาธิ ปัญญา สรุปความลงคือว่า มรรค ๘ เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ล้าสมัยที่ไหน กิเลสตายด้วยเครื่องมือเหล่านี้ ตายด้วยมัชฌิมาปฏิปทานี้ ฉิบหายไปจากใจจากพระทัยของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายด้วยมัชฌิมาปฏิปทานี้ทั้งนั้น และมัชฌิมาปฏิปทานี้ทำไม จะล้าสมัยแก้กิเลสไม่ได้ เมื่อกิเลสมันก็มีอยู่ในปัจจุบัน ธรรมเหล่านี้ก็ผลิตขึ้นในปัจจุบัน ทำไมแก้กันไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็หาความบริสุทธิ์ไม่ได้


คำว่า่ สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว นั่นเห็นไหมรับรองอยู่นั่น เป็นนิยยานิกธรรม นำผู้ปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ไปได้โดยลำดับจนพ้นจากทุกข์โดยเด็ดขาด พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้า เพราะพระอานนท์ฉลาด ถ้าพระอานนท์โง่ ถามอย่างนั้นไม่ได้นะ พระอานนท์ฉลาดมาก เป็นอุบายวิธีอย่างหนึ่งที่ทูลถามพระพุทธเจ้าเพื่อได้แง่แห่งความคิด ดังที่ท่านเขียนไว้ในตำรับตำราว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วนานสักเท่าไรมรรคผลนิพพานถึงจะหมดจะสิ้นไป ?


หือ ! อานนท์ ทำไมถามโง่ๆ อย่างนี้ล่ะ ก็ธรรมทั้งหมดที่สรุปลงแล้วเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือ มรรค ๘ นี้เราตถาคตสอนไว้เพื่อแก้กิเลสให้สิ้นไปแล้ว ก็เพื่อมรรคผลนิพพานในขณะเดียวกัน ถ้าผู้ยังมีความแน่นหนามั่นคงอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาอยู่แล้ว มรรคผลนิพพานเราหรือว่าพระอรหันต์ไม่สิ้นจากโลก อานนท์ แต่ถ้าไม่มีผู้สนใจปฏิบ้ตินี้ แม้ขณะนี้ก็ไม่มีมรรคผลนิพพานเกิดแก่ผู้นั้น ไม่ต้องพูดถึงกาลหน้ากาลหลังเลย อานนท์ เพราะกิเลสอยู่กับหัวใจคน ถ้าคนไม่แก้ มันก็ไม่หมดไม่สิ้น อยู่ที่ตรงนี้ไม่อยู่ที่อื่น



หนังสือมัชฌิมาปฏิปทา หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี  
หัวข้อ: ตอบ: พระอรหันต์ ดับสูญหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: ๛][รัตu:][๛ ที่ 20 เม.ย. 2552, 10:50:01
 :016: ขอบคุณมากนะครับ ที่นำสาระดีๆมาฝากกัน  :015: