แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - nsp8428

หน้า: [1]
1
  เสือครูนี้ที่รอคอยมานานก็ได้สมใจปรารถนาแล้วค่ะ

  ด้วยความเมตตาจากท่านอาจารย์หนวด






  ขอบพระคุณท่านอาจารย์หนวดมากๆค่ะที่เมตตาเสมอมา

2





          เรื่องการเข้าวัดนี่  มีทัศนคติที่ไม่ค่อยเหมือนกัน
          .......บางคนถามว่า........

          "เข้าวัดแล้วได้อะไร"
          .......บางคนก็ว่า..........
          ไม่ต้องไปเข้าหรอก  เข้าแล้วไม่ได้อะไร
           วัดกับบ้านก็เหมือนกัน
            ถ้าเราเป็นคนดีเสียอย่าง

           ไม่ใช่นะ ไม่ใช่เลย และถ้าท่านทั้งหลายจะเข้าวัด
            ก็ต้องรู้ว่าเราจะเข้าเพื่ออะไร จะได้ตอบเขาได้

           อาตมาประมวลอย่างนี้ การเข้าวัดนั้น.......

            ๑. เปลี่ยนสังคม
            ๒. ใช้สังขาร
            ๓. ฝึกสันดาน
            ๔. ประหารกิเลส
            ๕. พบความวิเศษ คือ สติปัญญา


           *เปลี่ยนสังคม  คนเรานี่ถ้าจะทำความดีก็ต้องเข้าสังคมดี จะมาบอกว่าอยู่บ้านได้เท่ากับวัด...ไม่จริง
แต่ถึงแม้จะเข้าวัด ก็เลือกวัดเข้า  ตรงนี้จะให้ผลที่แตกต่างกัน ถ้าอยากสนุกก็ต้องเข้าเธค คลีบ ผับ บาร์....สิ
ถ้าสถานที่นั้นไม่สนุกด้วย บรรยากาศก็ไม่สนุก มันก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร
           ดังนั้น สังคมแต่ละอย่าง ให้อารมณ์ให้ประโยชน์แต่ละอย่างไป และสังคมแต่ละอย่างก็ให้ ความดี
ความเลว แตกต่างกันไป การเข้าวัดเป็นการเปลี่ยนสังคม

           *ประการที่สอง ใช้สังขาร สังขารเรานี่มันจะเปลี่ยนอยู่แล้ว เปรียบเสมือนบ้านเก่า เรือนเ่ก่า จิตมันก็
จะออกไปจากตัวเราแล้ว ก็ต้องใช้สังขารให้เป็นประโยชน์ต่อการทำความดี
           งาน"กรรมกร" ทำกันมาตลอดชีวิต เข้าวัดลองทำงาน "กัมมัฏฐาน" ดู
           กรรมกร...ก็งาน  กัมมัฏฐาน....ก็งาน
           แต่กรรมกร งานทางกาย  กัมมัฏฐาน งานทางจิต
           
           ดังนั้นเราจึงใช้สังขาร และเมื่อเข้่าวัดนี่ สังขารใช้มาก ใช้อะไร...ใช้พิจารณา  "วิปัสสนากัมมัฏฐาน"
นี่เขาเรียกว่า "ใช้สังขารให้เป็นประโยชน์"

           *ฝีกสันดาน สันดานที่ไม่ดีนี่มีอยู่แล้ว แล้วก็อารมณ์ไม่ดี กิเลสที่ไม่ดี มีอยู่แล้ว "แขกดีมาปีละหน
สองหน แขกฉิบหายขายตนมาทุกวันๆ" คือความคิดดีๆ และบุญกุศลมาไม่มาก มาปีละสองหน

           แต่ที่ว่า "แขกฉิบหายขายตนมาทุกวันๆ" คือความเกียจคร้าน ความเอาแต่ใจ ความอยากได้ใคร่ดี
ความอิจฉาริษยา นี่มันมาทุกวัน ถ้ามาแล้วมันจะเป็นสันดาน เหมือนสันดอนกลางแม่น้ำ เป็นอันตรายมาก
ดังนั้น ก็เป็นการที่เรียกว่า "ฝีกสันดานเสีย กำจัดสันดอน" อันเป็นกิเลสนอนเนื่อง ที่เขาเรียกว่า "สันดาน"

           *ประหารกิเลส กิเลสอะไรก็แล้วแต่ เมื่อเข้าวัดแล้ว ก็รับฟังคำแนะนำ ประหารเสีย

           แล้วพบความวิเศษ คือ สติปัญญา แต่ว่าความวิเศษนี้ ไม่ใช่เหาะเหินเดินเวลาได้  อย่าไปอยาก
เหาะได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นนก ไปบินทับหัวชาวบ้าน ไปขี้รดหัวชาวบ้านเขา

           อย่าไปอยากดำน้ำได้ ปลามีอยู่แล้ว...ดำน้ำได้
           อย่าไปอยากดำดินได้ ไส้เดือนมีอยู่แล้ว
           อย่างนั้นไม่ใช่วิเศษ ถ้ามีจิตคิดอย่างนั้น ตายไปก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ว่า ความวิเศษนั้นเกิดขึ้น
ไม่ได้เลย  ถ้าไม่มีความวิสุทธิ คือ ความหมดจดจากกิเลส

           ดังนั้น ปัญญานั่นแหละเป็นเหตุให้พบสิ่งที่วิเศษที่สุดก็คือความวิสุทธิ ได้แก่ ความหมดจดของ
พวกเรา นี่คือ ประโยชน์ของการเข้าวัด

           เพราะฉะนั้น เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่อยากเข้าวัด "วัดเลือกคน  คนเลือกวัด" วัดก็เลือกคนเข้า
คนก็เลือกวัดเข้า และเมื่อจะเข้าแล้ว ได้อะไรก็เรียงลำดับ


               เปลี่ยนสังคม  ใช้สังขาร
           ฝึกสันดาน     ประหารกิเลส
           พบความวิเศษ คือสติปัญญา

           ตรงนี้คือ...ประโยชน์ของการเข้าวัด   





   ขอขอบคุณที่มา จาก หนังสือ คติธรรมนำชีวิต  "ชีวิตลิขิตเอง" พระราชวิจิตรปฏิภาณ (พิพิธธรรมสุนทร)
   

3
บทความ บทกวี / แง่คิดดีๆมากมาย
« เมื่อ: 10 ต.ค. 2553, 06:20:26 »
พอดีอ่านเจอในเว็บเลยเก็บมาฝากค่ะ (ขออภัยหากมีใครเคยโพสต์ไว้แล้ว)


หน้านอกบอกความงาม หน้าในบอกความดี หน้าที่บอกความสามารถ หน้านอกแต่งให้พอดี หน้าในและหน้าที่ แต่งให้มากๆ
โลกกลมๆ ใบนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ
ของฟรีไม่เคยมี  ของดีไม่เคยถูก
อยู่ให้ไว้ใจ  ไปให้คิดถึง
คนเราต้องเดินหน้า  เวลายังเดินหน้าเลย
ไม่ต้องสนใจว่าแมวจะสีขาวหรือดำ  ขอให้จับหนูได้ก็พอ
ยิ่งมีใจศรัทธา  ยิ่งต้องมีสายตาที่เยือกเย็น
ในโลกกลม ๆ ใบนี้ ไม่มีคำว่า }แน่นอน~
คนเราเมื่อ ตัวตายก็ต้องลงดิน
ท้อแท้ได้ แต่อย่าท้อถอย อิจฉาได้ แต่อย่าริษยา  พักได้ แต่อย่าหยุด
เหตุผลของคน ๆ หนึ่ง อาจไม่ใช่ของคน อีกคนหนึ่ง
ถ้าไม่ลองก้าว  จะไม่มีวันรู้ได้เลยว่า  ข้างหน้าเป็นอย่างไร
หนทางอันยาวไกลนับหมื่นลี้  ต้องเริ่มต้นด้วยก้าวแรกก่อนเสมอ
ปัญหาทุกอย่าง  อยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้น
จะเห็นค่าของความอบอุ่น  เมื่อผ่านความเหน็บหนาวมาแล้ว
อันตรายที่สุดคือ การคาดหวัง
เริ่มต้นดีแล้ว  ลงท้ายก็ต้องดีด้วย
อย่ายอมแพ้ ถ้ายังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่
จงใช้สติ  อย่าใช้อารมณ์
เบื้องหลังความเข้มแข็ง  สมควรมีความอ่อนโยน
ไม่มีคำว่า บังเอิญ ในเรื่องของความรัก  มีแต่คำว่า ตั้งใจ
ยินดีกับสิ่งที่ได้มา  และยอมรับกับสิ่งที่เสียไป   
 
หลังพายุผ่านไป  ฟ้าย่อมสดใสเสมอ
หลังผ่านปัญหา  จะรู้ว่าปัญหานั้นเล็กนิดเดียว
ไม่เป็นขุนนางนะ ได้  แต่ไม่เป็นคนไม่ได้
มีแต่วันนี้ที่มีค่า  ไม่มีวันหน้า  วันหลัง   
เมื่อวานก็สายเกินแล้วพรุ่งนี้ ก็สายเกินไป
อย่าหวังว่าจะได้รับความรัก จากคนที่คุณรัก
เพราะคนที่คุณรัก ไม่ได้รักคุณ หมดทุกคน

เพื่อนทั่วไป ไม่เห็นคุณร้องไห้
เพื่อนแท้ มีหัวไหล่ไว้คอยซับน้ำตาให้
เพื่อนทั่วไป ถือขวดไวน์ติดมือมางานปาร์ตี้ของคุณ
เพื่อนแท้ จะมาแต่หัววันเพื่อช่วยเตรียมงาน
เพื่อนทั่วไป คาดหวังให้คุณเคียงข้างเขาเสมอ
เพื่อนแท้ คาดหวังที่จะอยู่เคียงข้างคุณตลอดไป
 เพื่อนทั่วไป เข้าหาผลประโยชน์ ที่ได้รับจากเรา






โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
ขอบคุณที่มา www.108health.com

4
          ชีวิตของทุกๆคนที่ผ่านพ้นไปในรอบปีหนึ่งๆ นับว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง เมื่อถึงวันเกิดบรรดาผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา
จึงถือเป็นปรารถเหตุทำบุญน้อยหรือมาก เพื่อฉลองอายุที่ผ่านมาและเพื่อความเจริญอายุพร้อมทั้งวรรณ สุข พล ยิ่งขึ้น
ความเจริญอายุ วรรณ สุข พล เป็นพรที่ทุกๆ คนปรารถนา แต่พรเหล่านี้หาได้เกิดขึ้นด้วยลำพังความปรารถนาเท่านั้นไม่
ย่อมเกิดขึ้นจากการทำบุญ ฉะนั้นคนไทยเราส่วนมากจึงยินดีในการทำบุญ และยินดีได้รับพรอนุโมทนาจากพระสงฆ์หรือ
ผู้ใหญ่ และยินดีรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในที่สุดแห่งการทำบุญถือว่า เป็นสิริมงคล

          พิจารณาดูถึงพฤติกรรมในเรื่องนี้โดยตลอดแล้ว จะเห็นว่าพึงเป็นสิริมงคลจริง เพราะสาระสำคัญของเรื่องนี้ อยู่ที่
ว่าได้ทำบุญแล้วคำอวยพรต่างๆจึงตามมาทีหลังสนับสนุนกันให้จิตใจมีความสุขขึ้ันในปัจจุบันทันที ความสุขอันบริสุทธิ์
นี้แหละคือบุญ 
ดังมีพุทธภาิษิตตรัสไว้แปลความว่า "ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข"
หมายถึงความสุขที่บริสุทธิ์ คือความสุขอันเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์ ซึ่งก็เรียกว่าบุญเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
แปลความว่า "ผู้ที่ได้ทำบุญไว้ บันเทิงเบิกบานเพราะเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตน ผู้ที่ทำบาปไว้อับเศร้า เห็นเพราะ
ความเศร้าหมองแห่งกรรมของตน"

          อันกรรมที่บริสุทธิ์เกิดจากจิตใจที่บริสุทธิ์ เพราะสงบความโลภ โกรธ หลง ประกอบด้วยธรรมมีเมตตากรุณาเป็นต้น
จะเห็นได้จากจิตใจของผู้ที่ทำการบริจาคในการทำบุญต่างๆ ของผู้ที่รักษาศีล และอบรมจิตใจกับปัญญา ใครๆ ที่เคยทำทาน
รักษาศีล และอบรมจิตกับปัญญาดังกล่าว ย่อมจะทราบได้ว่ามีความสุขอย่างไร

          ตรงกันข้ามกับจิตใจที่เร่าร้อนด้วยกิเลสต่างๆ และแม้จะได้อะไรมาด้วยกิเลสมีความสุขตื่นเต้น ลองคิดดูให้ดีแล้ว
จะเห็นว่าเป็นความสุขจอมปลอม เพราะเป็นความสุขของคนที่หลงไปแล้ว เหมือนความสุขของคนที่ถูกเขาหลอกลวงนำไป
ทำร้่ายด้วยหลอกให้ตายใจและดีใจด้วยเครื่องล่ออย่างใดอย่างหนึ่ง คนที่ตายใจเสียเพราะเหตุนี้คือคนที่ประมาทไปแล้ว
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "คนประมาทแล้วเหมือนคนตาย" ไม่อาจจะเห็นสัจจะคือความจริงตามธรรมของพระพุทธเจ้า
อาจคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ อย่างที่คิดว่าตนฉลาด ไม่มีอะไรจะช่วยบุคคลประเภทนี้ได้ นอกจากการทำบุญ
เพราะการทำบุญทุกครั้งไปย่ิอมเป็นการฟอกชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดขึ้นทุกที เหมือนอย่างการอาบน้ำชำระร่างกาย
ซึ่งทำให้ร่างกายสะอาดสบาย เมื่อจิตใจมีความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นตามสมควรแล้วจะมองเห็นได้เองว่าความสุขที่บริสุทธิ์
แท้จริงนั้นเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้น
จะได้ปัญญาซาบซึ้งถึงคุณพระทั้งสามว่า "ความเกิดขึ้นของพระพุทธะทั้งหลาย
ได้เกิดสุขจริง ความพร้อมเพรียงของสงฆ์คือหมู่ให้เกิดสุขจริง ความเพียรของหมู่ที่่พร้อมเพรียงกันให้เกิดดฃสุขจริง"

          ผู้ที่มีจิตใจดี กรรมและความสุขที่บริสุทธิ์ดังนี้ ชื่อว่าผู้มีบุญ อันได้ทำแล้วในปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในตนเอง
อย่างที่ใครๆ หรืออะไรจะทำลายมิได้ และจะเจริญพรคือ อายุ วรรณ สุข พล ยิ่งๆ ด้วยเดชบุญ













     ขอขอบคุณที่มา จากหนังสือชีวิตลขิตได้ พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก



5
เข้ากระดานสนทนาแล้ว ไม่มีรูปที่มุมบนด้านซ้ายขึ้นเลยค่ะ เป็นมาหลายวันแล้ว
ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใดคะ รบกวนผู้ดูแลระบบช่วยแนะนำด้วยค่ะ

                                                              ขอบคุณมากค่ะ

6

          คนเรานั้นเกิดมาแล้วก็โตวันโตคืน แก่วันแก่คืน อายุปีหนึ่ง สองปี สามปี เรื่อยๆไป ไม่นานเท่าไหร่ก็ถึงสิบปี ยี่สิบ
เป็นหนุ่ม เป็นสาว ร่างกายจิตใจเติบโตเจริญในระยะนี้ จิตใจท่องเที่ยวไปกับอารมณ์ทั้งหลายเต็มที่ บางทีก็ดีใจ บางทีก็
เสียใจ บางทีก็เฉยเมย แต่โลกนี้ไม่เคยทำให้ใครดีใจโดยส่วนเดียว ในทางตรงกันข้ามก็ไม่เคยทำให้ใึครเสียใจ โดยส่่วน
เดียวเหมือนกัน ทั้งก็ไม่เคยทำให้ใครเฉยเมยเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
เว้นแต่ท่านผู้มีจิตสูงพ้นจากโลก พระพุทธเจ้าจึงได้
ตรัสไว้ว่า คนนี้มีที่่่ท่องเที่ยวไปของใจ ๑๘ อย่างคือ เรื่องรูปที่ตามองเห็นอยู่ เสียงที่หูได้ิยินอยู่ กลิ่นที่จมูกสูดดมอยู่ รสที่
ลิ้นลิ้มอยู่ สิ่งถูกต้องที่กายถูกต้องอยู่กับเรื่องรูปเสียงเป็่นต้น เหล่านี้ได้ประสบมาแล้วที่ใจเก็บมาคิด เรื่องเหล่านี้รวมเป็น ๖
บางอย่างเย้ายวนให้ดีใจ บางอย่างบดบีบให้เีสียใจ บางอย่างกลับให้เฉยเมย แบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิด ดังนี้ จึงรวมเป็น ๑๘
เรียกว่า "มโนปวิจารที่ท่องเที่ยวไปของใจท ๑๘"

          คนหนุ่มสาวสมมุติว่าอายุ ๑๘ ปี กำลังอยู่ในวัยที่มีจิตใจกำลังท่องเที่ยวของใจทั้ง ๑๘ นี้เต็มที่ ถึงที่ดีใจ ก็ดีใจ
เหมือนอย่างว่าน่ารักน่ายินดีทั้งหมด ถึงที่เสียใจ ก็เสียใจเหมือนอย่างว่าทุกอย่างน่าเกลียดน่าชังไปทั้งนั้น ถึงที่เฉยเมย
ก็เฉยเมยไม่สนใจ ด้วยจิตใจกำลังตื่นตัวในเรื่องทั้งหลาย ถ้าขาดสติปัญญารักษาตน รักษาใจอยู่อย่างเพียงพอ ก็น่ากลัว
อันตราย เพราะจะเห็นเป็นจริงจังไปกับเรื่องที่ไม่จริงจังเหล่านั้น แต่ถ้ามีสติปัญญาเพียงพอ ก็จะรักษาใจให้สงบ รักษาตน
ให้สวัสดีได้ ไม่ใช่จำเพาะคนหนุ่มสาวเท่านั้น ถึงคนปูนอื่นทุกปูนอายุก็ต้องพบกับเรื่องที่น่าดีใจเสียใจและที่ทำให้เฉยเมย
เหล่านั้นและจำต้องมีสติปัีญญาเป็นเกราะป้องกันเหมือนกัน

          พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ไม่ควรเผลอปัญญาควรตามรักษาสัจจะ ควรพอกพูนการสละ ควรศึกษาสันติ" เพราะถ้า
ไม่เผลอปัญญา พร้อมทั้งสติหมั่นคิดพิจารณาว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง จะรู้ได้ว่าอะไรเป็นจริงที่ควรรักษาไว้ อะไรที่ไม่จริง
เป็นอสัตย์อธรรมก็สละออกไปให้หมดไม่ให้เข้ามาสิงสถิตอยู่ในจิตใจ ดังนี้จึงจะได้สันติ คือ ความสงบของใจ

          คนที่มีจิตใจเร่าร้อนอยู่ด้วย โลภ โกรธ หลง ไม่สงบ เพราะว่ามีผีสิงอยู่ในใจ คือความผูกพันอยู่กับสิ่งอสัตย์อธรรม
ทั้งปวง บิดผัีนครอบงำจิตใจให้วิปริต เหมือนอย่างคนถูกผีสิง ส่วนคนที่มีจิตใจสงบเพราะไม่ยอมให้ ผีอสัตย์สถิตย์อธรรมสิงใจ
ทำการสละออกไปให้เหลือแต่ของจริงแท้เป็นสัตย์เป็นธรรม และรักษาไว้ ด้วยปัญญาที่เลือกเฟ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่เผลอปััญญา












     ขอบคุณที่มาจาก หนังสือชีวิตลิขิตได้ั พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

7
บทความ บทกวี / ทำไมต้องเกิด ?
« เมื่อ: 03 ต.ค. 2553, 01:34:06 »
         
          พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แปลความว่า "ตัณหา (ความอยาก) ยังคนให้เกิด" และว่า "โลกคือหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม"
จึงสรุปกล่าวได้ว่า "เราเกิดมาเพื่อสนองความอยาก และสนองกรรมของตนเอง แต่การกล่าวดังนี้ เป็นการกล่าวครอบคลุมทั้งหมด
เหมือนอย่างที่เรียกว่า พูดอย่างกำปั้นทุบดิน เพราะยังอาจกล่าวจำแนกออกไปได้อีกหลายลักษณะหลายประการ

          ตัวอย่างในด้านดี เช่นบางคนเป็นผู้เหมือนอย่างคำเก่าที่เรียกว่า ฟ้าดินส่งมาให้เกิด เพื่อดับทุกข์ยุคเข็ญในโลก หรือเพื่อ
เป็นประมุขแห่งประชาชน

          ในคติของพราหมณ์ก็มีเรื่องนารายณ์อวตาีร เมื่อเกิดยุคเข็ญแก่เทพและมนุษย์ ไม่มีใครจะแก้ไขได้ พระนารายณ์ก็ได้รับ
อัญเชิญให้อวตารลงมาเกิดในโลก เพื่อปราบยุคเข็ญเสียคราวหนึ่ง

          ในเรื่องทางพระพุทธศาสนาเอง ก็มีแสดงว่า พระโพธิสัตว์ประทับอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงได้รับอัญเชิญจากทวยเทพ
ให้จุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลก

          ในประวัติของชาติไทยเอง ถึงคราวที่ประเทศชาติเกิดยุคเข็ญ ก็ได้เกิดคนดีเข้ามาแก้ไขเป็นคราวๆ เช่นเมื่อกรุงศรีอยุธยา
เสียแก่พม่าข้าศึกครั้งแรก ก็ได้สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า กับพระเอกาทศรถ พระอนุชาธิราชทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติกลับคืน
มาได้ และทรงรวบรวมประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่นแข็งแรง ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกเผาพินาศ ก็ได้เกิดสมเต็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพกลับคืน
มาได้ และได้ทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นใหม่ ทรงรวบรวมประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่นแข็งแรงขึ้นอีก จึงได้มีคำกล่าวว่า
"กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี"

          แม้ในสมัยต่อมาถึงปัจจุบันก็ปรากฏว่าได้มีบุคคลที่เหมือนอย่างเป็นผู้ที่ดินฟ้าส่งมาให้เกิด เพื่อป้องกันหรือแก้หรือปราบ
และเพื่อดำรงรักษาประเทศชาติสืบต่อกันมา

          ส่วนตัวอย่างในด้านร้าย เช่น บางคนผู้เหมือนผีปีศาจร้ายมาิเกิด เพราะก่อยุคเข็ญเดือดร้อนขึ้นมากมาย ดังที่กล่าวใน
ทางคติชาวจีนว่า ดาวร้ายจุติมาเกิดหรือปีศาจหนีมาเกิด ดูเหตุการณ์ในโลก จะเห็นว่ามีดีกับร้ายหรือร้ายกับดีเกิดเป็นคู่กันอยู่เสมอ

          ว่าถึงคนมีคนดีเกิดมาทำประโยชน์เกื้อกูล ก็มีคนร้ายมาก่อทุกข์โทษเดือดร้อน แล้วมีคนดีมาปราบมาแก้ให้สงบเรียบร้อย
แล้วก็มีคนร้ายมาก่อความเดือดร้อนขึ้นอีก

          เหตุการณ์เหล่านี้เองส่องให้เห็นเหมือนกับว่าคนร้ายย่อมมีกำหนดให้เกิดมาเพื่อก่อการร้าย ส่วนคนดีย่อมมีกำหนดให้เกิด
มาเพื่อปราบหรือแก้ไขให้กลับคืนดี เมื่อทำกิจเหมือนดังที่ได้รับกำหนดมาเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ได้รับการพักผ่อนอยู่ในโลกนี้ หรือ
ต้องกลับไป ถ้่าว่าตามคติอวตาร  สำหรับคนดีก็กลับไปสู่ทิพยสถานตามเดิม สำหรับคนร้าย เช่น ผี ปีศาจ ก็ถูกมาตามพบและถูก
จับตัว (วิญญาณ) กลับไปสู่สถานที่ตนหนีมา  จึงได้มีคติความเชื่อของคนดังเช่นที่กล่าวมานี้ก็มี










   ขอขอบคุณที่มา จากหนังสือชีวิตลิขิตได้  พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

8
          ความเชื่อของคนในโลกนี้ ว่าตายเกิดน่าจะมากกว่าตายสูญมากนัก และเมื่อเชื่อว่าตายเกิด จึงมีคติความเชื่อต่างๆ
ที่เกี่ยวกับเรื่องเกิดอีกมาก เช่น ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคล ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จนถึงกลุ่มใหญ่ในอดีตชาติ
ซึ่งให้ผลสืบมาถึงปัจจุบันชาติ และความเชื่อว่ามีสิ่งหรือเครื่องกำหนดให้เกิดมาเพื่อทำหน้าที่อย่างหนึ่งเป็นต้น ก็เป็นเรื่อง
สืบเนื่องมาจากอดีตนั่นเอง

          แม้ีึความเชื่อในเรื่องอวตารก็แสดงว่ามีอดีต คำว่า อวตาร ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำแปลว่า
"การลงมาเกิด การแบ่งภาคมาเกิด" ตามคำแปลหลัง แสดงว่าไม่ได้มาทั้งหมด แต่แบ่งภาค คือ แบ่งส่วนใดส่วนหนึ่ง
มาิิเกิด คือยังมีตัวเดิมอยู่ในที่ของตน สมมุติว่าอยู่สวรรค์ชั้นหนึ่ง ส่วนที่มาเกิดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเดิม เมื่อสิ้นวาระ
ในโลกนี้แล้ว ก็กลับไปรวมเข้ากับตัวเดิม จะแปลความอย่างนี้หรือจะแปลความว่าแบ่งภาค ก็คือ แบ่งภาค (ส่วน) ของ
เวลา มาเกิด หมายความว่า เวลาของตนในที่นั้น สมมุติว่าสวรรค์ชั้นหนึ่งนั้นยังไม่หมด ยังจะอยู่ต่อไปอีกนาน หรืออยู่ไป
เป็นนิรันดร ตามความเชื่อของบางลัทธิ เช่น พระนารายณ์ของฮินดู แต่แบ่งเวลาส่วนหนึ่งลงมาเกิดในมนุษย์ โดยตัวเิดิม
นั้นแหละลงมาเิกิด ไม่ใช่แบ่งตัวเล็กตัวน้อยลงมา เมื่อทำธุระเสร็จแล้ว ตัวเดิมก็กลับไปยังที่ของตน คำว่าแบ่งภาค จึงยัง
มีปัญหา จนกว่าจะมีผู้รู้มาแสดงให้เชื่อว่าอย่างไรแน่

          คัมภีร์พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้อย่างไร ถ้าจะให้ตอบตามคัมภีร์ ก็ควรจะกล่าวก่อนว่า คัมภีร์ต่างๆ แต่งกัน
หลายยุคหลายสมัย ปรากฏว่ามีคติความเชื่อต่างๆ แทรกเข้ามาเป็นอันมาก แต่ก็ยังไม่พบเรื่องแบ่งภาคมาเกิด เรื่องทำนอง
แบ่งภาคเวลา มีอยู่เรื่องหนึ่งในอรรถกถาธรรมบท ถึงดังนั้นก็ไม่ทิ้งหลักกรรมและความตั้งปรารถนา

          นิทานธรรมบทนั้่นมีความย่อว่า เทพธิดาองค์หนึ่งกำลังชมสวนกับเทพบุตรผู้สามีกับหมู่เทพธิดาทั้งปวง จุติลงมา
เกิดเป็นนางมนุษย์ในขณะนั้น ระลึกชาติได้ จึงตั้งความปรารถนาไปเกิดอยู่กับสามีตามเิดิม และได้ทำบุญกุศลต่างๆ
ถึงแก่กรรมแล้วก็ไปเิกิดในสวนสวรรค์นั้นอีก ขณะที่ไปเกิดนั้นหมู่เทพก็ยังชมสวนกันอยู่ แสดงว่าเวลานานหลายสิบปี
ในมนุษย์เท่ากับครู่หนึ่งของสวรรค์

          เรื่องนี้เข้าทำนองแบ่งภาคแห่งเวลามาเิิกิดอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็กล่าวว่าได้อธิฐานใจตั้งความปรารถนา (นับว่า
เป็นตัณหาอย่างหนึ่ง) และทำบุญกุศลเพื่อให้ไปเกิดเป็นเทพ (นับว่าเป็นกรรมที่เป็นชนกกรรม คือ กรรมที่ให้เกิด) จึงเข้า
หลักพระพุทธพจน์ที่แปลความว่า "ตัณหายังให้คนเกิด โลกคือหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม"













  ขอขอบคุณที่มา จากหนังสื่อชีวิตลิขิตได้ พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

9
        เรื่องบุญบาป   หรือความดีความชั่ว เป็นเรื่องที่น่าทำความเข้าใจกันให้ดี เพราะเป็นเรื่องสำหรับภูมิปัญญาของมนุษย์
พวกสัตว์ดิรัจฉาน ท่านว่าเป็นอเหตุกสัตว์ คือทำอะไรไม่เป็นบุญบาป เช่นเสือกินสัตว์เป็นอาหาร ไม่มีอาหารอย่างอื่น
แมวกัดหนูกินเพราะไม่มีความรู้จักบาปบุญ คือมีความรู้ต่ำเสียเหลือเกิน ถึงเป็นมนุษย์จำพวกเป็นบ้าไม่มีสติทำอะไรก็
ไม่เป็นบาป เพราะไม่มีความรู้สึกในการทำนั้น กฎหมายก็ยกเว้น ฉะนั้น ที่จำทำอะไรเป็นบุญบาปจึงต้องมีความรู้ขั้นปกติชน
คือรู้จัก บาปบุญดีชั่ว พูดง่ายๆคือ รู้ว่าทำสิ่งนี้ดี ทำสิ่งนี้ไม่ดี อย่างที่คนทั่วๆไปรู้กัน

          ถ้าจะมีปัญหาว่าคนทั่วไปรู้กันอย่างไร ก็ตอบได้ว่ารู้เช่นว่าช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นดี ก่อทุกข์แก่กันเป็นชั่ว
ประจักษ์พยานในเรื่องนี้คือ ตนเองของทุกๆ คน เมื่อมีใครมาช่วยเหลือเกื้อกูล หรือแม้เพียงเขาไม่มาเบียดเบียนก็ว่าดี
แต่เมื่อมีใครมาทำร้ายก็ว่าชั่ว ไม่ดี นอกจากนี้คนทั่วไปยังรู้จักภาวะต่างๆ ของจิตใจ เช่น ที่พูดว่าใจดี ใจร้าย โดย
จับจากอาการที่แสดงออกหรือกรรมที่ทำเพราะเนื่องด้วยจิตใจ คนที่มีใจโลภโกรธหลงแรงมาก ก็ว่ากันว่าเป็นคนใจร้าย
ใจดำ คนที่มีใจสงบกิเลสเหล่านี้ ประกอบด้วยเมตตา กรุณา ก็ว่ากันว่าคนใจดีใจบริสุทธิ์ คนทั่วไปย่อมรู้รับรองกันดังนี้
ทุกประเทศในโลกจึงมีหลักกฎหมายใหญ่ๆ คล้ายคลึงกัน ไม่ต้องพูดถึงศาสนาต่างๆ ซึ่งแสดงหลักของความดีความชั่ว
ละเอียดกว่า เพราะคนมีภูมิปัญญารู้จักบุญบาปดีชั่วดังนี้แหละ ทำอะไรไปจึงรู้ว่านี่ดีนี่ไม่ดี นี่แหละคือบุญบาป ถึงแม้ว่า
จะมีความเห็นผิดหรือเข้าใจผิด ทำไม่ดีด้วยเข้าใจว่าดี ก็คงเป็นบาปอยู่นั้นเอง เพราะมีความรู้ที่เป็นตัวเจตนา คือ
ความจงใจทำ และก็ควรจะรู้หากเป็นผู้ไม่ประมาท เมื่อควรจะรู้ได้แต่ไม่รู้เพราะได้ประมาทไปเสีย จึงไม่ใช่เป็นข้อยกเว้น
เป็นบ้าไปเสียต่างหาก ซึ่งอยู่ในฐานะที่ไม่ควรจะรู้ได้จึงเป็นบุคคลยกเว้น

         เรื่องบุญบาปจึงเป็นเรื่องสำหรับปกติชนที่มีปัญญาอย่างสามัญชนทั่วไป ไม่ใช่เรื่องลุ่มลึกอันใด และทุกๆ คน
ก็มีความสำนึกรู้กันอยู่น้อยหรือมาก ถ้ามีปัญหาว่า เมื่อรู้แล้วทำไมจึงทำบาปหรือทำชั่วก็ตอบได้ว่าเพราะ อกุศลมูล คือ
มีจิตประกอบด้วยรากเหง้าของอกุศล ๓ อย่าง ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หรือที่พูดกันว่า โลภ โกรธ หลง จึงทำให้
มีความคิดเห็นวิปริตผิดไป ต่างจากเมื่อจิตสงบ ไม่มีรากเหง้าเหล่านี้ ฉะนั้น ย่อมจะได้ความสำนึกเมื่อได้ทำไปแล้ว
และจิตใจกลับมาสู่ความสงบ

          ทุกๆ คนที่มีปัญญาเพียงของมนุษย์จึงปฏิเสธบุญบาปมิได้ ความรู้สึกของตนเองนั้นแหละรับรอง เว้นไว้แต่
จะเป็นคนบ้าไปเสีย หรือภูมิปัญญาต่ำเสียเหลือเกิน หรือน่าจะเพิ่มอีกพวกหนึ่งว่ามีกิเลสหนามากจนไร้ความรู้สึก
สำนึกของมนุษย์ อันไม่น่าจะเรียกว่า มนุษย์
















  ขอขอบคุณที่มา จากหนังสือชีวิตลิขิตได้  พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

10
          พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า กรรมมีสองอย่าง คือ ปุราณกรรม ได้แก่ กรรมเก่า และ นวกรรม ได้แก่ กรรมใหม่
และได้ตรัสอธิบายว่า กรรมเก่า ได้แก่ อายตนะ ทั้ง๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนกรรมใหม๋ก็ได้แก่ การงานที่
ทำ พูด คิด   ด้วยมีเจตนาอยู่ในปัจจุบัน

          ลองคิดว่าทำไมจึงตรัสอายตนะทั้ง๖ว่า เป็นกรรมเก่า ก็เพราะทุกๆคน ได้มาตั้งแต่เกิด คือ เกิดมา ถ้าไม่
พิกลพิการ ก็มีตา มีหู เป็นต้น มาด้วยกันทุกคน และเมื่อมีมาแล้ว ก็ต้องเห็น ก็ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องได้รส
ต้องถูกต้อง และต้องคิดบางคราวไม่อยากดูก็ต้องดู ไม่อยากฟังก็ต้องฟัง แม้ไม่อยากคิดก็ต้องคิด คือว่าจะเลือก
เอาตามใจชอบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ทั้งนี้ เพราะมีตาจนถึงมีใจติดตัวมาแล้ว ทั้ง๖ นี้จึงว่าเป็นกรรมเก่า
ซึ่งทุกๆคน จะต้องเสวยกรรมเก่าของตนคือ ต้องเป็นสุขเป็นทุกข์ไปต่างๆ เพราะตา หู ตลอด ถึงเพราะใจของตนเอง
ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ยังต้องยอมรับความเกิดความเสื่อมอันเกี่ยวกับตาหูของตนอีกด้วย เช่น ถ้าสายตาสั้น
ก็มองเห็นสั้นใกล้ ถ้ายิ่งตาบอดด้วยเลย ก็มองไม่เห็น ต้องทนเป็นคนตาบอดมองไม่เห็นต่อไป เมื่อมีกายก็ต้องยอม
รับทุกๆสิ่งที่มาถูกต้องกาย บางทีก็เป็นที่สบาย บางทีก็ไม่เป็นที่สบาย ถ้าถูกไฟไหม้ หรือถูกอาวุธก็บาดเจ็บ จนถึง
ตายไปก็ได้ ใครๆ คงไม่อยากจะให้มีอะไรมาต้องกายในทำนองนั้น แต่เมื่อกายก่อเกิดมาด้วยกันแล้วก็จำต้องรับ
คิดดูดังนี้จะเห็นว่า เป็นกรรมเก่าจริงๆ ซึ้งติดตัวมาตั้งแต่เกิดจนถึงตายรวมความว่า คือ ตัวของเราเองหรือกายใจของ
เราเองนี้แหละเป็นกรรมเก่า


          คนเรามักกลัวกรรมเก่ากัน แต่ไม่รู้ว่ากรรมเก่าที่กลัวนั้นคืออะไร คิดปั้นเอาว่า คือสิ่งที่มีอำนาจเหนือตนซึ่ง
จะมาให้ทุกข์อย่างแสนสาหัส ความเชื่ออย่างนี้จึงเป็นเหมือนเชื่อในเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์เป็นแต่เพียง เปลี่ยนจาก
พูดว่า เทพเจ้ามาว่าเป็นกรรมไปเท่านั้น ตกว่าเชื่อในสิ่งที่ไม่รู้ กลัวในสิ่งที่ไม่รู้ ส่วนพระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงกรรมเก่า
ก็ทรงชี้ให้ใครๆ เห็นได้ด้วยว่ากรรมเก่าคืออะไร เพราะอายตนะทั้ง๖ เหล่านี้มีอยู่ด้วยกันทุกๆคนแล้ว หากเชื่อ
พระพุทธเจ้า ก็ไม่ต้องไปกลัวกรรมเก่าที่ไหนอีก ถ้าจะกลัวก็ให้กลัว ตา หู ตลอดถึงใจของตนนี่แหละ ที่จะก่อทุกข์
ให้แก่ตน หากขาดสังวร คือ ความระมัดระวัง

          พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้สังวร ตา หู ตลอดถึงใจ คือ ให้มีสติระมัดระวังในเวลาที่เห็นอะไร ได้ยินอะไร
ตลอดถึงคิดอะไรต่างๆ เพื่อมิให้สิ่งที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นนั้น มาก่อความชั่วขึ้นในใจ หรือว่าผูกพันใจไว้ให้เป็นทุกข์
เดือดร้อน ถ้ามีสังวรใจอยู่ดังนี้ได้ ก็ไม่ต้องกลัวกรรมเก่า

          ส่วนกรรมใหม่นั้นเห็นได้ชัดอยู่แล้ว และทุกคนจะทำกรรมใหม่ขึ้นได้ก็ด้วยกรรมเก่านั้นแหละ ทั้งทางดีและ
ทางชั่ว เพราะต้องอาศัยตาหูเป็นต้น ทั้งในฐานะเป็นเครื่องมือ ทั้งในฐานะเป็นเหตุก่อเจตนา ถ้ามีความสังวรดีอยู่
ก็จะก่อเจตนาที่เป็นบุญกุศลแต่อย่างเดียว















   ขอบคุณที่มา จากหนังสือ ชีวิตลิขิตได้ พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

11
          "เราเกิดมาเพื่อทำความดี"  "เราเกิดมาเพื่อเพิ่มพูนปัญญาคือความรู้ความฉลาด"
 ความสำนึกเข้าใจตนเองไว้ดังนี้ ย่อมมีประโยชน์ไม่มีโทษ เพราะจะทำให้ขวนขวายทำความดี
และศึกษาเพิ่มความรู้ของตนอยู่เสมอ

          แต่ชีวิตของคนเราก็ยังเนื่องด้วยกรรมเก่า และยังเนื่องด้วยกิเลสในจิตใจ สิ่งที่ทุกคนได้มา ตั้งต้นแต่ร่างกาย และชีวิตนี้
เป็นวิบากคือผลของกรรมและกิเลสของตน แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่ง คือความดีที่แต่ละคนได้รับอบรมสั่งสมมา อันเรียกว่า "บารมี"
คือความดีที่เก็บพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งเสริมจิตใจให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง และดำเนินไปในทางที่ถูก

          ท่านกล่าวไว้ว่ามนุษย์เกิดมาด้วยอำนาจของกุศลคือ กุศลจิตและกุศลกรรม ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจนอย่างไร
เพราะมนุษย์ภูมิเป็นผลของกุศล ทุกคนจึงชื่อว่ามีกุศลหนุนให้เกิดมาด้วยกันทั้งนั้น

          ฉะนั้น จึงได้ชื่อว่ามนุษย์ ที่แปลอย่างหนึ่งว่า ผู้มีจิตใจสูง คือ มีความรู้สูง ดังจะเห็นได้ว่า คนเรามีพื้นปัญญาสูงกว่า
สัตว์ดิรัจฉานมากมายสามารถรู้จักเปรียบเทียบในความดีความชั่ว ความควรทำ ไม่ควรทำ รู้จักละอาย รู้จักเกรง รู้จักปรับปรุง
สร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรม" "อารยธรรม" "ศาสนา" เป็นต้น แสดงว่ามีความดีที่ได้สั่งสมมาโดยเฉพาะปัญญาเป็นรัตนะ
อันส่องแสงสว่างนำทางแห่งชีวิต ถึงดังนั้นคนเราก็ยังมีความมืดที่มาเกิดกำบังจิตใจให้เห็นผิดเป็นชอบ ความมืดที่สำคัญนั้น
ก็คือกิเลสในจิตใจและกรรมเก่าทั้งหลาย

          อะไรคือกรรมเก่า ไม่มีอธิบายอื่น จะอธิบายอย่างมองเห็น เช่น พระพุทธาธิบายที่ตรัสไว้ความว่า "กรรมเก่า" คือ
ตา หู จมูก ลิ้น และ มนะ (ใจ)"
กล่าวคือร่างกายที่ประกอบด้วย อายตนะทั้ง๖ นี้แหละเป็นตัวกรรมเก่า เป็นกรรมเก่าที่ทุกๆคน
มองเห็น นอกจากนี้ยังเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งกรรมใหม่ทั้งปวงอีกด้วย เพราะกรรมที่ทำขึ้นในปัจจุบันจะเป็นกายกรรม วจึกรรม
มโนกรรม ก็ตาม ก็อาศัยกรรมเก่านี้แหละเป็นเครื่องมือกระทำทั้งกรรมเก่านี้ยังเป็นชนวนให้เกิดเจตนาที่ทำกรรมใหม่ๆ ทั้งหลายด้วย
เพราะตา หู เป็นต้น มิใช่ว่าจะมีไว้เฉยๆ ต้องดู ต้องฟัง แล้วก็ก่อกิเลส เช่น ราคะ (ความติดความยินดี) โทสะ (ความขัดเคือง)
โมหะ (ความหลงใหล) ให้เกิดขึ้น

         ขณะที่ร่างกายเจริญในวัยหนุ่มสาว ซึ่งกล่าวได้ว่า กรรมเก่ากำลังเติบโตเป็นหนุ่มสาว ตา หู เป็นต้นก็ยิ่งเป็นสื่อแห่งราคะ
โทสะ และเป็นสื่อแห่งกรรมต่างๆ ตามอำนาจของจิตใจที่กำลังระเริงหลง จึงจำต้องมีการควบคุม ปกครอง จะปล่อยเสียหาได้ไม่
ถ้าตนเองควบคุมตนเองได้ก็เป็นวิเศษที่สุด

          แต่ถ้าควบคุมตนเองไม่ได้ก็ต้องมีผู้ใหญ่ เช่น มารดา บิดา และผู้ใหญ่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควบคุม ให้อยู่ในระเบียบวินัย
ที่ดีงาม ให้เกิดความสำนึกว่า "เรานี่เกิดมาเพื่อทำความดี"
















  ขอขอบคุณที่มาจาก หนังสือ ชีวิตลิขิตได้ พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

12
          ชีวิตของคนเรานี้ ผู้ถือทางไสยกล่าวว่ามีพรมลิขิตคือพระพรหมกำหนดเหมือนอย่างเขียนมาเสร็จว่าจะเป็นอย่างไร
แต่ผู้ถือทางพุทธมักใช้ว่ากรรมลิขิต คือกรรมกำหนดมา โดยผลก็เป็นอย่างเดียวกัน คือ มีสิ่งกำหนดให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
น่าพิจารณาว่าทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้จริงๆอย่างไร

          ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า "มา กตเหตุ อย่าถือว่าเพราะเหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้" คืออย่าถือว่าทุกๆอย่างที่
จะได้รับ มีเพราะเหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เพราะถ้าถืออย่างนั้นก็จะไม่ต้องทำอะไรขึ้นใหม่ รออยู่เฉยๆอย่างเดียว
เพื่อให้กรรมเก่าสนองผลต่างๆ ขึ้นเอง ถือเอาความดังนี้ก็เท่ากับไม่ให้ถือกรรมลิขิตนั่นเอง

          มีปัญหาว่าถ้าเช่นนั้นพระพุทธศาสนา แสดงเรื่องกรรมไว้ทำไม พิจารณาดูจะตอบได้ว่า แสดงเรื่องกรรมไว้เพื่อ
ให้รู้ว่า กรรมเป็นเหตุให้วิบากคือผลตั้งแต่ให้ถือกำเนิดเกิดมา และติดตามให้ผลต่างๆแก่ชีวิต ทำนองกรรมลิขิตนั้นแหละ
แต่กระบวนของกรรมที่ทำไว้มีสลับซับซ้อนมาก ทั้งเกี่ยวกับเวลาที่กรรมให้ผลและข้อที่สำคัญที่สุดคือ เกี่ยวกับความ
ประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคลในปัจจุบัน คือทางพระพุทธศาสนาสอนให้ไม่เป็นทาสของกรรมเก่าเช่นเดียวกับให้
ไม่เป็นทาสของตัณหา แต่ให้ละกรรมชั่ว กระทำกรรมดี และ ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาดตามหลักพระโอวาท๓
 หรือกล่าวโดยทั่วไป มีกิจอะไรที่ควรทำก็ทำโดยไม่ต้องนั่งรอนอนรอผลของกรรมเก่าอะไร
ความพิจารณาเพื่อให้รู้กรรมและผลของกรรมนั้น ก็เพื่อให้จิตเกิดอุเบกขา ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหลือที่จะช่วยแก่ทั้งคนที่เป็นที่รัก
และที่ชัง กับเพื่อจะได้ปฏิบัติตนตามหลักพระโอวาท ๓ ข้อนั้น

          ทั้งคนเรามีจิตใจที่เป็นต้นเดิมของกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าเก่าหรือใหม่เพราะจะต้องมีจิตเจตนาขึ้นก่อนแล้วจึงทำกรรมอะไรออกไป
ฉะนั้นจึงสามารถจะทำอธิฐานคือ ตั้งใจว่าจะประสงค์ผลอันใด เมื่อประกอบกรรมให้เหมาะแก่ผลอันนั้น ก็จะได้รับความสำเร็จและจึง
สามารถตอบปัญหาว่า "เราเกิดมาทำไม" ได้อีกว่า "เราเกิดมาตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาทำ" เป็นอันไม่พ้นไปจากคำตอบที่ว่า "เราเกิดมา
เพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง"

          แค่คนดีๆ ย่อมมีอธิฐานใจที่ดี ดังพระโพธิสัตว์ทรงอธิฐานพระหทัยเพื่อบำเพ็ญพระบารมี ความเกิดมาของพระองค์ในชาติทั้งหลาย
จึงเพื่อบำเพ็ญบารมี คือ ความดีต่างๆ ให้บริบูรณ์

          อันที่จริงทุกๆ คนมีสิทธิ์ที่จะถือว่าตนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญความดีให้มากขึ้นและสามารถที่จะบำเพ็ญความดีได้















ขอบคุณที่มา จาก หนังสือ ชีวิต ลิขิตได้
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

13
        คนเราเกิดมาทำไม  ปัญหานี้ถ้าตั้งขึ้นมาคิดก็น่าจะจน เพราะขณะเมื่อทุกคนเกิดนั้นไม่มีใครรู้
มารู้เมื่อเกิดมา และพอรู้เดียงสาแล้วว่ามีตัวเราขึ้นคนหนึ่งในโลก

        แต่ทุกๆคนย่อมมีความไม่อยากตาย กลัวความตาย อยากจะดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน
นอกจากนี้ยังมีความอยากในสิ่งต่างๆ อีกมากมาย  คล้ายกับว่าความที่ต้องเกิดมานี้
ไม่อยู่ในอำนาจของตนเอง มีอำนาจอย่างหนึ่งทำให้เกิดมา ตนเองจึงไม่มีอำนาจ หรือไม่มีส่วน
ที่จะตั้งวัตถุประสงค์แห่งความเกิดของตนว่า เกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ หรือเพื่อเป็นอย่างนั้น อย่างนี้
ดูคล้ายๆ กับจะเป็นดั่งที่ว่ามานี้ ที่ว่าดูคล้ายๆ ก็เพราะความไม่รู้ หรือจะเรียกว่า "อวิชชา" ก็น่าจะได้
แต่ถ้าจะยอมจนต่อความไม่รู้ก็ดูจะมักง่ายมากไป น่าจะลองทำตามหลักอันหนึ่ง ที่ว่าอนุมานและศึกษา
คือสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาก็รู้ได้ง่าย แต่สิ่งที่ไม่ประจักษ์แก่สายตาก็ใช้อนุมาน โดยอาศัยการสันนิษฐาน
และใช้ศึกษาในถ้อยคำของท่านผู้ตรัสรู้

        พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ตรัสไว้แปลความว่า "ตัณหา (ความอยาก) ยังให้คนเกิด
และว่า "โลกคือหมู่สัตว์ ย่อมเป็นไปตามกรรม"

        ลองอนุมานดูตามคำของท้านผู้ตรัสรู้นี้ดูในกระแสปัจจุบัน ก่อนว่า สมมุติว่าอยากเป็นผู้แทนราษฎร
ก็สมัครรับเลือกตั้ง และทำการหาเสียง เมื่อได้ชนะคะแนน คือการทำต่างๆตั้งต้นแต่การสมัคร การหาเสียงเป็นต้น
ซึ้งเป็นเหตุผลให้ได้รับผล คือ ได้เป็นผู้แทน หรือแม้ไม่ได้เป็น ถ้าจะตัดตอนเอาเฉพาะความเกิดมาในช่วงแห่งชีวิต
ตอนนี้ ก็จะตอบปัญหาข้างต้นนั้นได้ว่า  "เกิดมาเพื่อสนองความอยากและสนองกรรมของตนเอง"
ถ้าจะแย้งว่าตอบอย่างนั้นฟังได้สำหรับกระแสชีวิตปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดมาทีแรกยังมองไม่เห็น เพราะไม่รู้จริงๆ
ถ้าแย้งดังนี้ก็ต้องตอบว่า ฉะนั้นจึงว่าต้องใช้วิธีอนุมานโดยสันนิษฐานถ้ารู้จริงแล้วจะต้องอนุมานทำไม และก็อาศัยคำ
ของท่านผู้ตรัสรู้เป็นหลัก ดังจะลองอนุมานต่อไปว่า

        จริงอยู่เมื่อเกิดมาไม่รู้  แต่เมื่อรู้ขึ้นแล้วก็มีความกลัวตาย อยากดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน แสดงว่าทุกคน
มีความอยากที่เป็นตัวตัณหานี้ประจำเป็นจิตสันดาน ความอยากเกิดย่อมรวมอยู่ในความอยากดำรงอยู่นี้
เพราะความตายเป็นความสิ้นสุดแห่งชีวิตในภพชาติอันหนึ่งๆ เมื่อยังมีความอยากดำรงอยู่ตามที่อยากนั้น ทั้งก็ต้อง
เกิดตามกรรมเป็นไปตามกรรม

        ฉะนั้น  จึงสรุปได้ว่า "เราเกิดมาด้วยตัณหา (ความอยากและกรรม) เพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง"
ตัณหาและกรรมจึงเป็นตัวอำนาจหรือผู้สร้างให้เกิดมา ใครเล่าเป็นผู้สร้างตัวอำนาจนี้ ตอบได้ว่าคือตนเอง
เพราะตนเองเป็นผู้อยากเองและเป็นผู้ทำกรรม  ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ตนเองนี้แหละเป็นผู้สร้างตนเองให้เกิดมา










ขอบคุณที่มา จาก หนังสือ ชีวิตลิขิตได้  พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

14
 ไม่ทราบว่าอาการที่รู้สึก เจ็บแปล๊บ ๆ ตรง ยันต์เก้ายอด มีความหมายว่าอย่างไรคะ

 เพราะรู้สึกยิ่งใกล้วันคล้ายวันเกิดหลวงปู่ ก็ยิ่งรู้สึกถี่ขึ้นน่ะค่ะ แต่ไม่ตลอดเวลา

 เคยรู้สึกแบบนี้มาครั้งนึกก็ตอนวันไหว้ครูที่ผ่านมาน่ะค่ะ

 รบกวนท่านผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยนะคะ

                                                                       ขอบคุณมากค่ะ

หน้า: [1]