กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 2 3 4 5 [6] 7 8 9 10
51


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๙...

...ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ล้วนแล้วมีที่มา
และมีที่ไป มีเหตุและปัจจัยในการเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ แล้วดับไป มีการเสื่อมสลายไป
ตามกาลเวลา มิอาจจะตั้งอยู่ได้นาน
ตลอดไป
...บุคคลจึงควรทำใจให้รับกับสภาพ
ที่จะแปรเปลี่ยนไปทั้งหลายนั้นให้ได้
อย่าไปยึดติดมากเกินไปกับภาพ
แห่งอดีตทั้งหลายที่ได้จดจำมา
เพราะกาลเวลานั้นได้ผ่านเลยไป
สิ่งทั้งหลายย่อมแปรเปลี่ยนตาม
ซึ่งเราไม่อาจห้ามไม่ให้มันเปลี่ยน
แปลงไปไม่ได้ เพราะทุกสรรพสิ่ง
ในโลกนี้ย่อมเป็นไปตามกฎของ
พระไตรลักษณ์ คือความไม่เทียงแท้
ที่นำมาให้เกิดความทุกข์ทั้งหลาย
เพราะไม่อาจจะเข้ายึดถือให้มัน
คงสภาพอยู่เช่นเดิมตลอดไปได้
ทุกอย่างย่อมจะเปลี่ยนแปลงไป
ไม่มากไม่น้อยตามระยะเวลา
...บุคคลจึงควรฝึกทำใจให้รับได้กับ
สภาพที่จะเกิดขึ้นได้ต่อการสูญเสีย
การพลัดพราก การจากไปและการ
เสื่อมสลายที่จะมาถึง ซึ่งวันหนึ่งนั้น
ย่อมจะต้องเกิดขึ้นกับเราและเมื่อเรา
ทำใจยอมรับได้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้น
เมื่อถึงวันที่สิ่งนั้นมาถึง ใจของเรานั้น
ย่อมจะทุกข์น้อยลง...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
52


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๘...

...สมัยที่เริ่มปฏิบัติธรรมใหม่ๆอยากมี
ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์จึงฝึกจิตเชิงพลังงาน
ทำให้จิตนั้นหยาบกระด้าง อวดดี
มีทิฏฐิมานะแรงกล้า ใช้จิตในทางที่ผิด
ลบหลู่ครูบาอาจารย์หลงติดอยู่กับ
อิทธิปาฏิหาริย์ ชื่นชมอยู่กับสิ่งนั้น
คนอื่นๆก็พลอยชื่นชม ก่อเกิดลาภ
สักการะและชื่อเสียง หลงทางไปสู่
ความเสื่อมในธรรม จนวันหนึ่งได้คิด
พิจารณา ถึงจุดหมายปลายทางของ
การเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา
ว่าที่สุดแล้วเรานั้นปรารถนาสิ่งใด
สิ่งที่ผ่านมานั้นใช่หรือไม่ จึงได้เข้าใจ
ว่าเรานั้นยังไม่ได้ขวนขวายเพื่อ
ความสิ้นไปแห่งกิเลสตัณหา
เพราะจุดหมายปลายทางของ
พระพุทธศาสนานั้นคือ วิมุตติ
ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง
ไม่ใช่เรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์
ซึ่งมันเป็นเพียผลพลอยได้ของการ
เจริญสมาธิ เป็นเพียงบาทฐานไปสู่
ปัญญาและไปสู่วิมุตติความหลุดพ้น
ต่อไป แต่สิ่งเหล่านั้นถ้ารู้จักนำมาใช้
ก็จะมีประโยชน์มากมายในการเผยแผ่
พระพุทธศาสนา เพราะจะเป็นเครื่องมือ
ที่ใช้กับผู้ที่ยังกระด้าง อวดดี
ยังมีทิฏฐิมานะที่แรงกล้าให้เกิดความ
เลื่อมใสศรัทธา ได้เข้ามาใกล้ชิดธรรม...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
53



...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๗...

...เมื่อยังไม่ถึงกาลเวลาที่เหมาะสม
จิตย่อมเข้าไม่ถึงธรรม
จึงยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้
อดทนรอให้เขามีความพร้อม
จึงกล่าวธรรม...

...ตราบใดที่ยังมีหนทางไป
ใจย่อมไม่นึกถึงพระธรรม
แต่เมื่อคุณชอกช้ำ
พระธรรมคือที่พึ่งสำหรับคุณ....

...กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป
ไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุด
แต่จิตของมนุษย์
สิ้นสุดได้ ถ้ารู้จักพอ...

...ชีวิตคือการเดินทาง
ทุกย่างก้าวที่เราเดินผ่าน
คือตำนานของชีวิต
ที่เราลิขิตขึ้นมาเอง
ไม่ใช่โชคชะตา ไม่ใช่ฟ้าลิขิต
ไม่ใช่นิมิตแห่งสรวงสวรรค์
ไม่ใช่เทพหรือพรหมนั้นบันดาล
แต่สิ่งที่ชีวิตต้องประสพพบพาน
ล้วนแล้วเกิดมาจากกรรม...

...เมื่อใจเรายอมรับ
ในอุปสรรคและปัญหาที่เข้ามา
มันก็ไม่อาจทำให้เราทุกข์
หรือเมื่อในยามที่เราสุขสมหวัง
ก็ไม่อาจทำให้เราหลงระเริง
เพราะเราเข้าใจในชีวิต
ที่ถูกลิขิตบนเส้นทางพระไตรลักษณ์
เดินอยู่บนหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สิ่งที่นำมาและติดตัวไปได้
สิ่งนั้นไซร้คือกรรมที่ทำมา...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
54


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๖...

...การทำงานทุกอย่างนั้นต้องมี
แผนงาน มีแบบแผนและโครงสร้าง
ที่เราต้องวางไว้ล่วงหน้า ซึ่งที่ผ่าน
มานั้นเกิดจากการคิดและวิเคราะห์หาความเหมาะสมกับเวลา โอกาส
สถานที่ บุคคล เอามาเป็นเหตุ
และผลของการกำหนดแผนงาน
วางใจให้เป็นกลาง มองทุกอย่าง
โดยความเป็นจริง ไม่เอาความคิด
ของตนเองมาเป็นบรรทัดฐานใน
การคิดและวิเคราะห์ เพื่อให้เกิด
ความเหมาะสมกับเหตุและปัจจัย
ที่มีและเป็นอยู่ คิดงานจากพื้นฐาน
ที่มีอยู่ " คือคิดได้และทำได้ด้วย "
ไม่ใช่คิดไปแบบจินตนาการคือการ
ที่คิดได้แต่ทำไม่ได้ เพราะขาดซึ่ง
เหตุและปัจจัย มันเป็นเพียงความคิด
ความฝันที่เลื่อนลอย ไม่สามารถทำ
ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ แต่ถ้าเรา
คิดงานจากเหตุและปัจจัยที่มีอยู่
สิ่งที่เราคิดนั้นสามารถที่จะทำให้เป็น
รูปธรรมได้ขึ้นมาทันที เพราะคิดจาก
สิ่งที่มีและที่เป็น ไม่ได้ไปคอยเหตุ
และปัจจัยในอนาคตที่ยังไม่มีและยัง
ไม่มา สิ่งที่คิดจึงสามารถที่จะทำได้
สิ่งที่สำคัญในการคิดก็คือการรู้จัก
กำลังของตนเอง รู้ประมาณในกำลัง
ความรู้ความสามารถและโอกาส
ที่ตนมี ไม่ทำในสิ่งที่เกินกำลังของ
ตนเอง เพราะการทำงานที่เกินกำลัง
ของตนเองนั้นอาจนำมาซึ่งความ
ทุกข์กายและทุกข์ใจ....

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
55


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๕...

...บริหารกาย บริหารจิต จัดตารางชีวิต
ก้าวไปบนสายทางแห่งโลกและธรรม
ซึ่งต้องเป็นไปโดยพร้อมกัน ตราบใดที่
ยังไม่บรรลุซึ่งโลกุตรธรรม...

...ชีวิตมันเป็นเช่นนั้นเอง...

๐ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
หมุนสลับ กันไป ทุกแห่งหน
เพราะว่ายัง เวียนว่าย ในวังวน
ยังไม่พ้น จากวัฏฏะ สังขารา

๐ เก่าดับไป สิ่งใหม่ ก็แทนที่
เป็นอย่างนี้ มานาน กันหนักหนา
เพราะโลกนี้ ล้วนแล้ว แต่มายา
จึงเวียนว่าย กันมา ไม่หมดกรรม

๐ เมื่อมีเกิด ก็ย่อม จะมีดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป ให้น่าขำ
เพราะกิเลส ตัณหา ชักพานำ
ก่อเกิดกรรม เวียนว่าย ในสายธาร

๐ คือสายธาร ของมนุษย์ ไม่หลุดพ้น
จึงเวียนวน เกิดดับ กับสังขาร
ไม่สิ้นสุด เวียนว่าย มานมนาน
คือสังขาร วัฏฏะ ที่หมุนวน

๐ แต่แนวทาง พุทธะ นั้นละได้
โดยฝึกใจ ให้ชอบ ประกอบผล
ละกิเลส ตัณหา และตัวตน
ก็หลุดพ้น จากกรรม ที่ทำมา

๐ ไม่ต้องกลับ มาเกิด ประเสริฐสุด
ก็เพราะหลุด จากกิเลส และตัณหา
เพราะเห็นทุกข์ เห็นภัย ในมายา
ละอัตตา ละมานะ ละตัวตน

๐ ไม่ก่อกรรม ทำบาป ที่หยาบช้า
ปรารถนา อยู่กับ บุญกุศล
เพิ่มกำลัง บารมี ให้แก่ตน
และฝึกฝน เจริญจิต ภาวนา

๐ มีสติ อยู่กับตัว รู้ทั่วพร้อม
แล้วก็น้อม ตั้งจิต ปรารถนา
ดูความคิด ดูกาย ที่เป็นมา
ให้ปัญญา เห็นทุกข์ และเข้าใจ

๐ เมื่อเห็นทุกข์ เห็นธรรม เพราะทำจิต
เปลี่ยนความคิด ตั้งจิต กับสิ่งใหม่
อยู่กับธรรม มีธรรม ประจำใจ
ก้าวเดินไป ตามทางธรรม พระสัมมา

๐ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
เอาเป็นเหตุ ฝึกฝน และค้นหา
เพื่อให้เกิด สมาธิ และปัญญา
จะนำพา ชีวิต พ้นวังวน...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
56


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๔...

...การฝึกจิตนั้นต้องกระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ไม่มีเวลาหยุดพัก เพราะการเจริญสติ
นั้นต้องทำในทุกโอกาส เพื่อให้สติ
นั้นมีกำลังเพิ่มยิ่งๆขึ้น เพื่อให้เห็น
การเกิดดับของสรรพสิ่งและละวาง
อารมณ์ที่เป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้น
ให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งนั้นต้อง
อาศัยกำลังของสติสัมปชัญญะ
และองค์แห่งคุณธรรมเป็นตัวเข้าไป
จัดระบบความคิดทั้งหลายของจิต
โดยต้องมีสมาธิคือจิตที่สงบนิ่ง
เป็นบาทฐานแห่งการพิจารณา ทุกเวลา
ที่ผ่านไปนั้น จึงเป็นการปฏิบัติธรรม...
...บริหารกาย บริหารจิต จัดตารางชีวิต
ก้าวไปบนสายทางแห่งโลกและธรรม
ซึ่งต้องเป็นไปโดยพร้อมกัน ตราบใดที่
ยังไม่บรรลุซึ่งโลกุตรธรรม...

...ชีวิตมันเป็นเช่นนั้นเอง...

๐ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
หมุนสลับ กันไป ทุกแห่งหน
เพราะว่ายัง เวียนว่าย ในวังวน
ยังไม่พ้น จากวัฏฏะ สังขารา

๐ เก่าดับไป สิ่งใหม่ ก็แทนที่
เป็นอย่างนี้ มานาน กันหนักหนา
เพราะโลกนี้ ล้วนแล้ว แต่มายา
จึงเวียนว่าย กันมา ไม่หมดกรรม

๐ เมื่อมีเกิด ก็ย่อม จะมีดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป ให้น่าขำ
เพราะกิเลส ตัณหา ชักพานำ
ก่อเกิดกรรม เวียนว่าย ในสายธาร

๐ คือสายธาร ของมนุษย์ ไม่หลุดพ้น
จึงเวียนวน เกิดดับ กับสังขาร
ไม่สิ้นสุด เวียนว่าย มานมนาน
คือสังขาร วัฏฏะ ที่หมุนวน

๐ แต่แนวทาง พุทธะ นั้นละได้
โดยฝึกใจ ให้ชอบ ประกอบผล
ละกิเลส ตัณหา และตัวตน
ก็หลุดพ้น จากกรรม ที่ทำมา

๐ ไม่ต้องกลับ มาเกิด ประเสริฐสุด
ก็เพราะหลุด จากกิเลส และตัณหา
เพราะเห็นทุกข์ เห็นภัย ในมายา
ละอัตตา ละมานะ ละตัวตน

๐ ไม่ก่อกรรม ทำบาป ที่หยาบช้า
ปรารถนา อยู่กับ บุญกุศล
เพิ่มกำลัง บารมี ให้แก่ตน
และฝึกฝน เจริญจิต ภาวนา

๐ มีสติ อยู่กับตัว รู้ทั่วพร้อม
แล้วก็น้อม ตั้งจิต ปรารถนา
ดูความคิด ดูกาย ที่เป็นมา
ให้ปัญญา เห็นทุกข์ และเข้าใจ

๐ เมื่อเห็นทุกข์ เห็นธรรม เพราะทำจิต
เปลี่ยนความคิด ตั้งจิต กับสิ่งใหม่
อยู่กับธรรม มีธรรม ประจำใจ
ก้าวเดินไป ตามทางธรรม พระสัมมา

๐ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
เอาเป็นเหตุ ฝึกฝน และค้นหา
เพื่อให้เกิด สมาธิ และปัญญา
จะนำพา ชีวิต พ้นวังวน...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
57


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๓...

...คือกระแสธรรมแห่งกาลเวลา...
...เรียนรู้ทางโลกมามากมาย
แต่ล้วนแล้วเป็นไปเพื่อความ
อยากมี ความอยากได้และความ
อยากเป็น ส่งจิตออกจากตัวเอง
ตลอดเวลา แสวงหาสิ่งนอกกาย
เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนกิเลส
ตัณหาอัตตาและมานะ เรียนไปๆ
กิเลสก็ยิ่งหนา มิได้เบาบางลง
...เรียนรู้ทางธรรม เป็นไปเพื่อ
ความลดละซึ่งความโลภ โกรธ
หลง ละกิเลส ตัณหาและอุปาทาน
ให้มันเบาบางลง เป็นการศึกษา
จากภายนอกเข้ามาสู่ภายในจิต
ในกายของเรา น้อมจิตเข้าสู่ตัวเรา
เรียนรู้ให้รู้จักตัวเราเอง
...ทุกคืนก่อนที่จะหลับไปนั้นจะ
ทบทวนใคร่ครวญ พิจารณาถึง
สิ่งที่ผ่านมาในแต่ละวัน เริ่มจาก
ตั้งแต่ตื่นนอนมาจนกระทั้งจะ
นอนใหม่ ว่าเรานั้นได้ทำอะไร
มาบ้าง อารมณ์ความรู้สึกเป็น
อย่างไร เวลาที่ผ่านไปใจเรา
เป็นกุศลหรืออกุศล อะไรเป็น
เหตุเป็นปัจจัยให้จิตแปรเปลี่ยน
ไปทั้งในทางกุศลและอกุศล
ให้คะแนนความประพฤติแต่ละวัน
ที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นความก้าวหน้า
หรือว่าความเสื่อมของตัวเรา
เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเพียรของเรา
...ความเพียรทั้ง ๔ ประการอันได้แก่...
๑.เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น
ในจิตของเรา เรียกว่า"สังวรปธาน"
๒.เพียรพยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
ในจิตของเรา เรียกว่า"ปหานปธาน"
๓.เพียรพยายามทำให้กุศลเกิดขึ้น
ในความคิดในจิตของเรา เรียกว่า
"ภาวนาปธาน"
๔.เพียรพยายามรักษากุศลที่
เกิดขึ้นแล้วในความคิดในจิต
ของเราไม่ให้เสื่อมไป เรียกว่า
"อนุรักขนาปธาน"
...เป็นความเพียรในมรรคองค์แปด
ที่เรียกว่า"สัมมาวายาโม" คือความ
เพียรชอบ สิ่งนี้เราได้ทำแล้วและ
จะกระทำต่อไป เพื่อให้ทรงไว้ซึ่ง
ความเจริญในธรรม...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
58


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๒...

...การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น
เราต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
ต่อชุมชนและคนรอบกาย
เพื่อพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ก่อนที่เราจะร้องขอจากเขานั้น
เราต้องแบ่งปันและให้เขาก่อน
จงเป็นผู้ให้แล้วท่านจะรับการ
ให้ตอบแทน เป็นคำสอนของ
ครูบาอาจารย์ การมีน้ำใจต่อ
หมู่คณะนั้น จะทำให้ท่านได้รับ
ความเกรงใจ
...สรุปลงได้ในหลักธรรมเรื่อง
"พรหมวิหาร " ซึ่งแปลว่าเป็นธรรม
อันเป็นเครื่องอยู่ของพรหม
ธรรมอันเป็นหลักประจำใจ
ของผู้ใหญ่ ธรรมที่ผู้ใหญ่
ควรประพฤติ พรหมวิหารนั้น
เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในใจ
เป็นธรรมที่กระตุ้นให้เกิด
การกระทำ เช่น สงเคราะห์
ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ซึ่งมี
อยู่ ๔ ประการอันได้แก่...
๑.เมตตา คือความรัก ความปรารถนาดี
ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข
๒.กรุณา คือ ความหวั่นไหว ความ
สงสารเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์
คิดจะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์
๓.มุทิตา คือ ความพลอยยินดี
ความดีใจด้วย ที่ผู้อื่นมีความสุข
ได้รับความสำเร็จ
๔.อุเบกขา คือความวางใจ
เป็นกลาง ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ
เมื่อผู้อื่นได้รับความวิบัติ
...ธรรมในหมวดพรหมวิหารนี้ จึงเป็น
สิ่งที่ผู้ใหญ่หรือผู้นำต้องกระทำ ต้องมี
เพื่อให้เกิดความพอดี เสมอกันของ
ผู้ร่วมงาน เป็นธรรมที่จะประสานใจ
ทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีของ
หมู่คณะ...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
59


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๑...

...การที่เราจะคิดพิจารณาก่อนที่จะกล่าว
วาจาได้นั้น มันต้องผ่านการฝึกสติการระลึกรู้
การรู้ตัวทั่วพร้อมมาก่อน ให้สติมีกำลังพอ
ที่จะยับยั้งความเคยชินที่เคยกระทำมา
ดั่งคำโบราณที่กล่าวเป็นคำกลอนสอน
สืบต่อกันมาว่า " อันอ้อยตาล หวานลิ้น
ยังสิ้นซาก แต่ลมปาก หวานหู ไม่รู้หาย "
การกล่าวปิยะวาจาจึงเป็นสิ่งที่สมควร
กระทำให้สม่ำเสมอ เมื่อเราอยู่กับผู้คน
ในสังคมที่หลากหลาย...
...กวีธรรม " รอยธรรมและรอยทาง "...
๐ รอยทาง และรอยธรรม
รอยลำนำ คำกวี
รอยทาง นั้นบ่งชี้
ว่าทางนี้ คือทางธรรม
๐ แนวทาง มีมากมาย
ที่จะให้ เรานั้นทำ
เรียนรู้ และจดจำ
แล้วน้อมนำ มาทำตาม
๐ ก้าวพ้น ออกจากทุกข์
ได้พบสุข ทุกโมงยาม
ทางธรรม นั้นงดงาม
ก้าวเดินตาม เส้นทางธรรม
๐ ทางธรรม นำชีวิต
ไม่พลาดผิด จิตใฝ่ต่ำ
กิเลส ไม่ครอบงำ
เพราะมีธรรม นั้นนำทาง
๐ นำทาง สว่างจิต
นำชีวิต ให้ออกห่าง
จากชั่ว คือละวาง
ทำทุกอย่าง ในทางดี
๐ ทางดี คือกุศล
จะเพิ่มผล บารมี
เอาธรรม มานำชี้
สร้างความดี ไว้แก่ตน
๐ ความดี ของชีวิต
เป็นนิมิต แห่งกุศล
ความดี คือมงคล
ติดตามตน ทุกภพไป
๐ ชีวิต ที่ผ่านมา
สร้างคุณค่า แล้วหรือไร
ชีวิต ก่อนสิ้นไป
จงสร้างไว้ ซึ่งความดี...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
60


...บันทึกเส้นทางบนสายธรรม บทที่ ๙๐...

..." บัณฑิตควรตั้งตนไว้
ในคุณธรรมก่อน แล้วจึง
ค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง
ตนจึงจะไม่มัวหมอง "
... อตฺตานเมว ปฐมํ
ปฏิรูเป นิเวสเย
อถญฺญมนุสาเสยฺย
น กิลิสฺเสยฺย ปญฺฑิโต ...
...วันเวลาที่ผ่านไปสำหรับวันๆหนึ่ง
มีสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน อดีตที่ล่วง
ไปแล้วนั้น ผุดขึ้นมาบ้างในบางคราว
ส่วนอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ก็มีบ้างที่ยัง
คิดกังวล แต่ก็ไม่ทำให้ถึงกับทุกข์
...มีสติอยู่กับปัจจุบันธรรมมากกว่า
หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ ลมหายใจ
มันสั้นก็รู้ ลมหายใจยาวมันก็รู้ หายใจ
โปร่งโล่งเบาสบายก็รู้ อยู่กับลมหายใจ
เพียงเท่านั้นก็เพียงพอต่อการปฏิบัติ
สติและปัญญาจะแก่กล้าขึ้นมาเอง
ถ้าเราได้กระทำและฝึกฝนอยู่อย่าง
สม่ำเสมอ ไม่ทอดทิ้งธุระ
...เมื่อเราอยู่กับธรรม ธรรมนั้นก็อยู่
กับเรา เมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้น
จะรักษาเรา ธรรมะคือตัวเรา ตัวเรา
คือธรรมะ เพราะธรรมะนั้นคือธรรมชาติ
ที่เป็นจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕...
หน้า: 1 2 3 4 5 [6] 7 8 9 10