ผู้เขียน หัวข้อ: วัดโพธิ์ชัย อ. เมือง จ. หนองคาย  (อ่าน 6290 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
 



 

 

หลวงพ่อพระใส’
วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย

“หลวงพ่อพระใส” เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย
หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณะงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ คืบ ๘ นิ้ว
ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ ๔ คืบ ๑ นิ้ว ของช่างไม้
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย
เป็นพระพุทธรูปที่ชาวเมืองนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่ง

มีความเชื่อกันว่า หลวงพ่อพระใส ทำการหล่อในสมัยเชียงแสน
ชั้นหลังพระใสเป็นพระพุทธรูปล้านช้าง สมัยนั้นประเทศล้านช้างยังรุ่งเรืองอยู่
และพระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง
พระเจ้าแผ่นดินทรงสนพระทัยในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง



พระใส เป็นพระพุทธรูปที่หล่อคราวเดียวกันกับพระเสริม และพระสุก
และคู่เคียงกันมาเสมอ พระใสเป็นพระพุทธรูปที่ผู้หล่อประสงค์จะให้
เป็นพระสำหรับแห่มาแต่เดิม สังเกตได้จากห่วงกลม ๓ ห่วง
โตกว่านิ้วมือติดอยู่กับพระแท่น (หล่อติดกับองค์พระ)
สำหรับผูกสอดเชือกขันกับยานแห่ เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมาแล้ว
พระเกศเดิมซึ่งเป็นของที่มีราคามาก ได้ถูกขโมยลักเอาไป
พระเกศของพระใสที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้เป็นพระเกศใหม่

ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัยนั้น จะมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง
ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติความเป็นมาของการหล่อพระสุก
พระเสริม และพระใส จำนวน ๒๐ ภาพ มีใจความว่า

ในรัชสมัยของ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ช่วงปี พ.ศ.๒๐๙๓-๒๑๑๕
แห่งอาณาจักรล้านช้างศรีสัตนาคณหุต ทรงมีพระราชธิดา ๓ พระองค์
ทรงพระนามว่า สุก, เสริม และใส



พระราชธิดาทั้งสามพระองค์มีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา
จึงร่วมพระทัยขอพรจากพระราชบิดา สร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์
มีข้าราชการ ชาวบ้าน และทางวัดได้ระดมช่างและคนมาช่วยกันอย่างมากมาย
ในการหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ก็มีเหตุอัศจรรย์
การหลอมทองเป็นไปด้วยความยากลำบากใช้เวลาช่วยกันสูบเตาหลอมทอง
อยู่ถึง ๗ วัน แต่ทองก็ยังไม่ละลาย ล่วงเข้าวันที่ ๘ ตอนใกล้เพล
ขณะที่หลวงตากับสามเณรช่วยกันสูบลมหลอมทองอยู่
ปรากฏว่ามีชีปะขาวคนหนึ่งอาสามาช่วยงาน
หลวงตากับสามเณรหยุดพักขึ้นไปฉันเพลบนศาลา
ชาวบ้านมองเห็นชีปะขาวจำนวนมากช่วยกันเททองหล่อพระพุทธรูป
แต่หลวงตากลับเห็นเพียงคนเดียว เมื่อฉันเพลเสร็จหลวงตาลงมาดู
ก็พบว่าทองทั้งหมดถูกเทลงในเบ้าทั้งสามเรียบร้อยแล้ว
ส่วนชีปะขาวที่มาอาสาช่วยสูบเตาหลอมทองแทนก็หายตัวไป

จนเมื่อการสร้างพระพุทธรูปเสร็จสิ้น พระราชธิดาทั้งสาม
จึงถวายนามของตนเองให้เป็นนามของพระพุทธรูป
โดย พระเสริม เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์พี่
พระสุก เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์กลาง
และ พระใส เป็นพระพุทธรูปประจำพระราชธิดาองค์สุดท้อง

พระพุทธรูปทั้งสามองค์ประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
เจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างแห่งเมืองเวียงจันทน์ ก่อกบฏ
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
เป็นแม่ทัพยกทัพไปปราบจนสำเร็จ ในครั้งนั้นจึงได้อัญเชิญ
พระพุทธรูปมาจากเมืองเวียงจันทน์จำนวนหนึ่งกลับมายังฝั่งไทย
และในจำนวนนั้นก็มี พระเสริม พระสุก และพระใส รวมอยู่ด้วย

การเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้มายังฝั่งไทย
โดยอัญเชิญมาจากภูเขาควาย นำขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่
ซึ่งผูกติดกันอย่างมั่นคง แล้วอัญเชิญมาทางลำน้ำงึมออกลำน้ำโขง
เมื่อแพล่องมาถึงตรงบ้านเวินแท่นในขณะนั้น
บริเวณปากน้ำงึม เยื้องกับบ้านหนองกุ้งเมืองหนองคาย
(ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย) ก็ได้เกิดอัศจรรย์
มีพายุใหญ่พัดแรงจัด ฝนตกหนัก เสียงฟ้าคำรามคะนองร้องลั่น
พัดแท่นที่ประดิษฐานพระสุกจมน้ำหายไป สถานที่นั้นต่อมาจึงเรียกว่า
“เวินแท่น” ส่วนองค์พระสุกก็จมหายไปในแม่น้ำโขง
สถานที่นั้นต่อมาจึงเรียกว่า “เวินพระสุก” หรือ “เวินสุก”

 

ส่วน พระเสริมและพระใส นั้น ก็สามารถล่องแพ
ข้ามมายังฝั่งไทยที่เมืองหนองคายได้อย่างปลอดภัย

โดยได้อัญเชิญ “พระเสริม” ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย
ส่วน “พระใส” ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ที่วัดหอก่อง
หรือปัจจุบันคือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ เมืองหนองคายเช่นกัน
แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าในรัชกาลที่ ๔
ทรงมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญ “พระเสริม”
มาประดิษฐานยังพระบวรราชวัง หรือวังหน้า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ
ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญ พระเสริมและพระใส
ลงมายังพระนคร ในการอัญเชิญครั้งนั้นปรากฏว่า
ขบวนเกวียนที่ประดิษฐาน “พระใส” จากวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ (วัดหอก่อง)
ขณะกำลังเดินมาหยุดอยู่ตรงหน้า วัดโพธิ์ชัย ก็เกิดเหตุขัดข้อง
เกวียนไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ท้ายที่สุดเกวียนก็หักลง เมื่อซ่อมแล้วก็หักอีก
แม้จะนำเกวียนมาเปลี่ยนใหม่แต่ไม่เป็นผล วัวลากเกวียนก็ไม่ยอมเดิน
ซึ่งแม้จะทำพิธีบวงสรวงแล้วก็ไม่สามารถเดินทางต่อได้

ดังนั้นจึงอัญเชิญพระใสขึ้นประดิษฐานที่ “วัดโพธิ์ชัย” แทน

 

ความอัศจรรย์ของพระใสจนได้สมญาว่า “หลวงพ่อเกวียนหัก”
หลวงพ่อพระใสก็กลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย
มานับแต่นั้น เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวอีสานและชาวลาว

ส่วนเกวียนที่ประดิษฐาน พระเสริม นั้นไม่มีปัญหาใดๆ
จึงสามารถอัญเชิญไปจนถึงพระนคร ไปประดิษฐานอยู่ในพระบวรราชวัง
แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระเสริมจากพระบวรราชวังหรือวังหน้า
ไปประดิษฐานยัง พระวิหารวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
และประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้นจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน

ชาวอีสานและชาวหนองคายมีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อพระใส
เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า
ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนเป็นสำคัญ
และจากความศรัทธาเลื่อมใสนี้
มักจะมีประชาชนมาบนบานขอพรต่อองค์หลวงพ่อพระใส
โดยส่วนใหญ่มักจะบนบานให้แคล้วคลาด เดินทางปลอดภัย

 

นอกจากนี้ ยังมีการบนบานเกี่ยวกับสุขภาพ หน้าที่การงาน
เมื่อบนบานและสัมฤทธิผลแล้วก็จะมาแก้บนในช่วงสงกรานต์
โดยนำปราสาทเงิน ปราสาททอง (ปัจจัย) โพธิ์เงิน โพธิ์ทอง ๑ คู่,
พวงมาลัย ๙ พวง, แผ่นทองเปลว ๙ แผ่น และผ้าอังสะ ๓ ผืน
มาทำการแก้บน ซึ่งจะมีพระสงฆ์พาประกอบพิธี

พิเศษที่สุด คือ การบนบานขอลูกจากหลวงพ่อพระใส
คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกและขอพึ่งบารมีหลวงพ่อพระใส
จะต้องมาประกอบพิธีบนบานต่อหน้าหลวงพ่อพระใส
เตรียมขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ขันหมากเบ็ง เทียนเงิน เทียนทอง
โดยมีพระสงฆ์นำประกอบพิธี ๔ รูป

หลังจากเสร็จพิธี ในวันพระสามีภรรยาต้องนุ่งขาวห่มขาว
งดร่วมเพศเด็ดขาด จะต้องถือศีล ๘ อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีลูก
และเมื่อสัมฤทธิ์ดังประสงค์แล้ว รอให้คลอดลูกก่อน
แล้วนำลูกน้อยนั้นมาทำพิธีแก้บน โดยจะมีพระสงฆ์ ๔ รูป
นำประกอบพิธีต่อหน้าหลวงพ่อพระใสและผูกแขนทารกแรกเกิดให้

ถือว่าเป็นการปวารณาเป็นลูกของหลวงพ่อ มีข้อห้าม คือ
เด็กที่เกิดจากการบนบานขอพรจากหลวงพ่อพระใส จะเป็นเด็กซนมาก
แต่ฉลาด พ่อแม่ห้ามตีเด็ดขาด หากวันใดตีเด็ก
เด็กจะป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุทันทีและต้องมาทำพิธีขอขมาองค์หลวงพ่อ

 

สำหรับงานประเพณีสำคัญเกี่ยวกับองค์หลวงพ่อพระใส
ชาวหนองคายจะยึดถือเอาวันสงกรานต์ของทุกปี
จัดงานสมโภชหลวงพ่อพระใส
โดยในวันที่ ๑๓ เมษายน จะเป็นวันทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส
ลงจากพระแท่นแห่รอบพระอุโบสถ เวียนประทักษิณ ๓ รอบ
แล้วอัญเชิญขึ้นสู่ราชรถ เป็นองค์พระประธานนำพระพุทธรูป
จากชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย
แห่ไปรอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล

และในวันสุดท้าย จะมีพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส
กลับขึ้นประดิษฐานบนพระอุโบสถเช่นเดิม
เป็นอันเสร็จสิ้นงานประเพณีสมโภชองค์หลวงพ่อพระใสในรอบปี

คาถาบูชาหลวงพ่อพระใส ตั้งนะโม ๓ จบ
อะระหัง พุทโธ โพธิชโย เสยยะคุโณ โพธิสัตโต
มหาลาโภ ปิยัง มะมะ ภะวันตุโน โหตุ สัพพะทา

 
สงกรานต์หนองคาย ณ วัดโพธิ์ชัย                                                                                                                                                                            ขอขอบคุณที่มาจาก...http://www.agalico.com