ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย  (อ่าน 3763 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด




หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นบุตรของ คุณพ่อคำฝอย วรบุตร ลูกชายเจ้าเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว และ เจ้าแม่นางกวย (สุวรรณภา) วรบุตร ธิดาของผู้มีอันจะกินเขตเมืองเลย

ท่านถือกำเนิดเมื่อ วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2444 เวลารุ่งอรุณจวนสว่าง ได้ชื่อว่า วอ มีพี่สางต่างบิดา 1 คน และ น้องชายร่วมบิดามารดาอีก 1 คน

เมื่อเข้าโรงเรียน ท่านมีนิสัยช่างซักช่างเจรจา ออกความเห็นเหมือน ครูบา จึงถูกเรียกว่า บา ท่านมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนวัดศรีสะอาดจนจบชั้นประถมปีที 3 ซึ่งขณะนั้นถือเป็นการศึกษาชั้นสูงสำหรับเมืองชายแดน

ต่อมาท่านได้ทำงานเป็นเสมียนกับพี่เขยที่เป็นสมุห์บัญชีสรรพากร อำเภอเชียงคาน และเมื่อปี 2464 ได้ย้ายไปทำงานที่อำเภอแซงบาดาล (ธวัชบุรี) และที่ห้องอัยการภาค จังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยการอุปถัมภ์ของอัยการภาคร้อยเอ็ด

ขณะที่อยู่ที่เชียงคาน ด้วยวัยหนุ่มคะนอง มีการติดต่อกับฝรั่งฝั่งลาว ท่านจึงรู้จักวิธีผสมสุราอย่างฝรั่งเศส และศึกษาศาสนาคริสต์อยู่ 5 ปี จนคุณพระเชียงคาน ลุงของท่าน เรียกท่านว่า เซนต์หลุย หรือ หลุย ท่านจึงถูกเรียกชื่อว่า หลุย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ชีวิตราชการของท่านไม่ค่อยราบรื่นนัก ท่านจึงรู้สึกอึดอัดใจในชีวิตฆราวาสอย่างยิ่งประกอบกับรู้สึกเบื่อหน่ายกับการต้องคลุกคลีอยู่กับการจัดอาหารในงานเลี้ยงที่ต้องมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คิดอยากบวชเพื่อแผ่บุญกุศลไปให้สรรพสัตว์ที่ตายไปแล้ว ท่านจึงตัดสิ้นใจลาออกจากชีวิตราชการเข้าสู่พิธีอุปสมบท เป็นพระมหานิกาย ณ อำเภอแซงบาดาล จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปีพุทธศักราช 2466 โดยมีอัยการภาคเป็นเจ้าภาพบวชให้

ระหว่างพรรษาแรกที่ธวัชบุรี ท่านได้พยายามศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติ ครั้นถึงคราวออกพรรษา ท่านได้ลาพระอุปัชฌาย์ไปเข้าร่วมการคัดเลือกเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลย และได้เดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม ระหว่างทางได้พบพระธุดงค์กัมมัฏฐานรูปหนึ่งมาจากอำเภอโพนทอง รู้สึกถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ท่านได้ร่วมถวายภาวนาเป็นพุทธบูชา ณ ลานพระธาตุพนมตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ กายลหุตา จิตลหุตา คือ กายเบา จิตเบา จึงตั้งสัจจาอธิษฐานว่าจะบวชกัมมัฏฐานตลอดชีวิต

ระหว่างทางสู่จังหวัดเลย เมื่อมาถึงบ้านหนองวัวซอ ท่านได้มีโอกาสฟังธรรมเทศนาจาก ท่านพระอาจารย์บุญ ปญฺญาวโร รู้สึกเลื่อมใสมาก จึงขอถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ได้แนะนำให้ขอญัตติเป็นธรรมยุตที่จังหวัดเลย หลังจากเกณฑ์ทหารแล้วท่านจึงได้ขอญัตติจตุตถกรรมใหม่ เป็นพระธรรมยุตที่วัดศรีสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดเลย

ต่อมาท่านได้กลับมาอยู่กับ พระอาจารย์บุญ ที่วัดหนองวัวซอ และติดตามไปวัดพระพุทธบาทบัวบก ซึ่ง ณ ที่นี้เอง ท่านได้พบกับ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และอยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจาก พระอาจารย์เสาร์ โดยมี พระอาจารย์บุญ เป็นพระพี่เลี้ยง จากนั้น ก็ได้ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มหาเถระที่ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้อยู่อบรมรับฟังโอวาทและฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่น จวบจนเข้าพรรษา จึงกลับมาจำพรรษาต่อกับ พระอาจารย์เสาร์ ที่วัดพระพุทธบาทบัวบก

ในพรรษานี้ ท่านได้ภาวนาจนจิตรวมแล้วเกิดอาการสะดุ้ง พระอาจารย์บุญ จึงให้ญุตติจตุถกรรมใหม่ที่ วัดโพธิสมพรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2468 โดยมี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูสังฆวุฒิกรป็นพระอุปัจฌาย์ และ ท่านพระอาจารย์บุญ ปญญาวโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ท่านจึงได้บวชถึง 3 ครั้ง คือ ปี 2466, 2467 และ 2468

พรรษาที่ 1-6 ( พ.ศ. 2468-2473) ท่านจำพรรษาอยู่กับ ท่านพระอาจารย์บุญ ปญฺญาวุโธ พ.ศ.2468 จำพรรษา ณ วัดพระบาทบัวบก อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2469-2473 จำพรรษา ณ วัดป่าหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดบัญญานุสรณ์) และในปี พ.ศ. 2473 พระอาจารย์บุญ ปญฺญวุโธ มรณภาพ ซึ่งในปีนี้ ท่านได้จำพรรษาอยู่ร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
พรรษาที่ 7-8 พ.ศ. 2474 ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้างเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบัน คือ วัดป่าวิเวกธรรม) ร่วมกับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญพโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ชอบ ฐานสโมและหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ปี พ.ศ. 2475 ได้ร่วมกับคณะไปส่งสตรีกัมมัฏฐานที่ นครราชสีมา และ ร่วมสร้างวัดป่าสาลวัน และได้จำพรรษาที่ วัดป่าศรัทธา ร่วมกับ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์ภูมี จิตฺตธมฺโม พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ พระอาจารย์คำดี ปภาโส

พรรษาที่ 9-10 (พ.ศ.2476-2477) ท่านได้ร่วมเดินธุดงค์กับ พระอาจารย์เสาร์ และได้วิชาม้างกายจากท่านอาจารย์ ในปีนี้ท่านได้จำพรรษา ณ ถ้ำบ้านโพนงาม-หนองสะไน ตำบลผักคำภู อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ 11 (พ.ศ.2478) เป็นปีที่สร้างวัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หรือ วัดภูริทัตตถิราวาส และท่านได้ออกอุบายให้ชาวบ้าน อาราธนานิมนต์ ท่านพระอาจารย์ฝั้น มาจำพรรษาที่นี่นานถึง 5 ปี
พรรษาที่ 12 (พ.ศ.2479) อยู่จำพรรษากับ พระอาจารย์เสาร์ ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ 13-14 (พ.ศ.2480-2481) กลับมาสู่แผ่นดินถิ่นกำเนิด จำพรรษา ณ ป่าช้าหนองหลางฝาง ถ้ำผาปู่ และ ถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 15 (พ.ศ.2482) ธุดงค์แสวงหาที่ว่างปฏิบัติธรรมในเขตป่าดงเถื่อนถ้ำ จังหวัดเลย จำพรรษา ณ ถ้ำผาปู่ และ พักเจริญธรรมบ้านหนองบง
พรรษาที่ 16 (พ.ศ.2483) เกิดอัศจรรย์ในดวงจิต จำพรรษา ณ โพนสว่าง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร (โพนงาม. หนองสะไน) ได้โสรจสรงอมฤตธรรม ครั้นออกพรรษา ได้ไปนมัสการ หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี
พรรษาที่ 17-19 ใน พ.ศ.2484 ได้ร่วมอยู่ในรัศมีบารมีบูรพาจารย์ ขณะที่ หลวงปู่มั่น จำพรรษา ที่โนนนิเวศน์

พ.ศ.2485-2486 จำพรรษาที่ บ้านอุ่นโคก และ ป่าใกล้วัด ป่าบ้านนามน จังหวัดสกลนคร

พรรษา ที่ 20-25 ใน พ.ศ.2487-2488 ทำหน้าที่เปรียบได้ดังนายทวารบาล แห่งบ้านหนองผือ จำพรรษา ณ บ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร

พ.ศ.2489-2490 จำพรรษา ณ บ้านอุ่นดง จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2491 จำพรรษา ณ บ้านโคกมะนาว จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2492 จำพรรษา ณ บ้านห้วยป่น ตำบลนาใน อำเภอพรรณนิคม สกลนคร ขณะที่หลวงปู่มั่น จำพรรษาช่วงปลายชีวิต ณ วัดป่าหนองผือ ท่านจึงอยู่พรรษากับบูรพาจารย์ใหญ่ ในช่วงนี้ โดย เฉพาะในปีนี้ มี พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พระอาจารย์มนู พระอาจารย์อ่อนสา พระอาจารย์เนตร ตนฺติสีโล พระอาจารย์วัน อุตฺตโมร่วมจำพรรษาด้วย

พรรษาที่ 26-31 พ.ศ.2493 หลังจากประทีปแก้วของพระกัมมัฏฐานได้ดับลง ณ วัดป่าสุทธาวาส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 และได้ถวายเพลิงในต้นปี 2493 หลังจากนั้น ท่านได้ออกธุดงค์เรื่อยไป จำพรรษาที่วัดศรีพนมมาศ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

พ.ศ. 2494 จำพรรษา ณ ถ้ำพระนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2495 จำพรรษา ณ วัดป่าเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น กับ เจ้าคุรอริยคณาธาร
พ.ศ. 2496 จำพรรษา ณ วัดดอนเลยหลง อำเภอเมือง จังหวัดเลย และถ้ำผาปู่
พ.ศ. 2497 จำพรรษา ณ บ้านไร่ม่วง (วัดป่าอัมพวัน) กับ หลวงปู่ชา อจฺตฺโต ผู้เคยร่วมธุดงค์กันหลายครั้ง และในปีนี้ ด้มาที่ท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
พ.ศ. 2498 จำพรรษา ณ สวนพ่อหนูจันทร์ บ้านฝากเลย จังหวัดเลย

พรรษาที่ 32 พ.ศ.2499 อยู่บ้านกกกอก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย (ปัจจุบัน คือ วัดปริตตบรรพต) และ ผจญพญานาคที่ภูบักบิด
พรรษาที่ 33-35 พ.ศ.2500 จำพรรษาร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ วัดป่าแก้วชุมพล สว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

พ.ศ. 2501-2502 ร่วมจำพรรษา และ ร่วมสร้าง วัดถ้ำกลองเพล กับ หลวงปู่ขาว

พรรษาที่ 36 พ.ศ. 2503 จำพรรษา ณ ถ้ำมโหฬาร ตำบลหนองหิน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และ ในเขตป่าเขาถ้ำเถื่อน ในเขตจังหวัดเลย
พรรษาที่ 37 พ.ศ. 2504 จำพรรษา ณ ถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ตำบลผาน้อย อำเภอสะพุง จังหวัดเลย ในปีนี้ ได้พบงูใหญ่มาอยู่ใต้แคร่
พรรษาที่ 38 พ.ศ. 2505 จำพรรษาที่ เขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
พรรษาที่ 39 พ.ศ. 2506 ได้อุบายธรรม เนื่องจากการจำพรรษากับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ณ ถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
พรรษาที่ 40 พ.ศ.2507 จำพรรษาที่ บ้านกกกอก ตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 41-42 พ.ศ.2508-2509 เสวยสุขจำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้งบ้านนาแก ตำบลผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 43-48 พ.ศ. 2510-2515 จำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้ง สร้างวัดผาบิ้งและเริ่มรับนิมนต์โปรดพุทธชนภาคอื่นๆ ขณะมีอายุกว่า 70 ปีแล้ว
พรรษาที่ 49-50 พ.ศ. 2516-2517 กลัปไปบูรณะ บ้านหนองผือ และถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ 51 พ.ศ. 2518 จำพรรษา ร สวนบ้านอ่าง อำเภอบะขาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อโปรดชาวภาคตะวันออก
พรรษาที่ 52 พ.ศ.2519 เดินทางไปโปรดชาวภาคใต้ และ จำพรรษา ณ วัดกุมภีร์บรรพต นิคมควนกาหลง จังหวัดสตูล วัดควนเจดีย์ จังหวัดสงขลา
พรรษาที่ 53-57 โปรยปรายสายธรรม

พ.ศ.2520 จำพรรษาที่ สวนปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
พ.ศ. 2521 จำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ อุดรธานี
พ.ศ. 2522 จำพรรษาที่ โรงนายาแดง คลอง 16 อำเภอองครักษ์ นครนายก
พ.ศ. 2523 จำพรรษาที่ วัดอโศการาม อำเภอเมือง สมุทรปราการ
พ.ศ. 2524 จำพรรษา ณ ที่พักสงฆ์ บ้านคุณประเสริฐ โพธิ์วิเชียร อำเภอศรีราชา ชลบุรี

พรรษาที่ 58 พ.ศ.2525 พิจารณาธาตุขันธ์จะแตกดับ จำพรรษา ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ 59-65 (พ.ศ.2526-2532) เป็นช่วงแสงตะวันลำสุดท้ายของชีวิต ในช่วงปี พ.ศ. 2526-2528 ท่านจำพรรษาที่ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) กิ่งอำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. 2529-2532 จำพรรษาที่พักสงฆ์ ก.ม.27 ดอนเมือง กรุงเทพมหานครกับ ที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ อำเภอท่าหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในบรรดาศิษย์ของ หลวงปู่มั่น นั้น หลวงปู่หลุย เป็นผู้ทีสันโดษ มักน้อย ประหยัดมัธยัสถ์ที่สุด ท่านเป็นผู้ละเอียดละออมาก เป็นนักจดบันทึก มีบันทึกหลายสิบเล่มเกี่ยวกับหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อการค้นคว้าศึกษาสำหรับสาธุชนคนรุ่นหลังรวมทั้ง ธรรมโอวาท ของท่านเองด้วย

ธรรมโอวาท
ธรรมเทศนาของหลวงปู่มีมากมายหลายร้อยหลายพันกัณฑ์ เพราะท่านได้เทศน์โปรดญาติโยมลูกศิษย์มากกว่าครึ่งศตวรรษ และกระทำเรื่อยมาจนกระทั่งคืนสุดท้าย ก่อนจะมรณภาพเพียงหนึ่งชั่วโมง ท่านก็ยังอบรมสั่งสอนศิษย์อยู่ ท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของ การรักษาศีล โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ ท่านจะเน้นให้บรรดาศิษย์รักษาเพิ่มจาก ศีล 5 เป็น ศีล 8 ท่านได้อธิบายอานิสงส์ของศีลให้ฟังว่า ศีล 5 นี้ พระพุทธเจ้า ท่านมีเมตตาต่อผู้ครองเรือน ผู้รักษาศีล 5 ย่อมสำเร็จโสดาบันได้ สำหรับศีล 8 ย่อมช่วยให้สามารถสำเร็จถึงอนาคามีได้

พระธรรมเทศนาของท่าน จะย้ำเสมอเรื่องการบริจาคทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา ท่านมักจะเน้นเรื่องศีลอยู่เสมอ เพราะ ศีล แปลว่า ความปกติ เป็นการรักษาใจให้ปกติ อันเป็นบาทเบื้องต้นของการภาวนา หากรักษาศีลได้บริสุทธิ์ การภาวนาก็จะก้าวหน้ารวดเร็ว ผู้มีศีลย่อมต้องมีจิตใจผ่องใส เป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย ในสังคมที่อยู่ร่วมกันนี้ ถ้าทุกคนรักษาศีล 5 บ้านเมืองก็จะสงบราบรื่น ปราศจากขโมย ไม่มีการฆ่าฟันกัน อานุภาพแห่งศีล ย่อมรักษาตัวผู้รักษาศีล และ สังคมโดยรอบได้ หลังจากได้ฟอกจิตด้วยการรักษาศีลแล้ว การบำเพ็ญทาน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้จิตใจโน้มน้าวตัดความตระหนี่ให้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงกัน

ส่วนเรื่อง จิตภาวนา นั้น ท่านจะเน้นว่ามีอานิสงส์มาก ท่านกล่าวเสมอว่า กิเลสมีร้อยแปดประตู แต่พุทโธมีประตูเดียว เพราะฉะนั้น ให้ฝึกหัดปฏิบัติให้คุ้นเคย วาระที่เราจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ดังนั้นจงเพียรฝึกจิตให้คุ้นไว้กับพุทโธ ท่านละเอียดพิถีพิถันมากในทุกเรื่อง เป็นต้นแบบให้สาธุชนรู้จักฝึกตนให้รู้จักการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ อย่างถูกต้อง คือ นอกจากเข่าทั้งสอง มือทั้งสอง ศอกจรดพื้น หน้าผากต้องแตะถีงพื้นด้วย จึงจะเป็นท่ากราบที่งดงาม

ในการกราบครั้งที่หนึ่งให้มีน้อมจิตรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า กราบครั้งที่สองให้นึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของท่านที่สืบต่อพระศาสนามาจนทุกวันนี้ กราบครั้งที่สามให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสมมติสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการกราบทุกครั้ง ต้องน้อมจิตให้รำลึกด้วยเสมอ จิตจะเอิบอาบในการบุญ จะเป็นจิตที่อ่อนน้อมควรแก่การงาน หากฝึกเช่นนี้เสมอ จะเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน ให้ดูจิตของตัวเอง ภาวนาให้จิตใจสงบ มัธยัสถ์ปัจจุบัน ม้างกายให้มาก จะช่วยให้หมดความกำหนดหลงติดในสีสันของกามวัตถุ ให้หมั่นมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย อานิสงส์ของการช่วยชีวิตสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่า มีผลทำให้อายุยืน แม้ยามตกทุกข์ได้ยาก ก็จะมีคนมาช่วยเหลือ ไม่ติดคุกติดตาราง

หลักการม้างกาย ของท่าน คือ การพิจารณาปล่อยวางธาตุขันธ์ ส่วนการภาวนาหรือทำจิตทำใจ ให้ดูอาการของจิต ก่อนตาย อย่าไปดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว เวลาธาตุจะตีลังกาเปลี่ยนภพ จิตจะออกจากร่าง ให้พิจารณาตามจิต จะเห็นว่า จิตจะออกจากร่างอย่างไร ไปอย่างไร จิตจะเข้าๆ ออกๆ อย่างไร จะมืดๆ สว่างๆ อย่างไร จะมีอาการเหนื่อยหอบมาก ให้กำหนดตามจิต จะเห็นอาการจิตชัด แต่หากตามไม่ทัน ก็ให้ปล่อยไปให้ได้ปัจจุบันขณะ ท่านจะย้ำเสมอว่า อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียวและ ขอให้เร่งทำความเพียร มีความสามัคคี กลมเกลียวกัน

ปัจฉิมบท
ในวันที่ 7 ตุลาคม 2532 ท่านรำพึงระหว่างที่พักอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ กม.27 ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ความว่า

"แก่ ชรา มานานเท่าไร พึงภาวนาให้คุ้นเคยกับความตาย เพราะจะต้องตายอยู่แล้ว เตรียมตัวไว้ก่อนตาย รอรถ รอเรือ ที่จะต้องขึ้นไหสวรรค์พระนิพพาน หูยิ่งหนวกหนักเข้าทุกวัน ตายิ่งไม่เห็นหน ตีนเท้าอ่อนเพลีย หันไปหาความตายเสมอไป ถือภาวนาใน ไตรลักษณ์ ทุกขอนิจจัง อนัตตา มีเกิดแล้วย่อมมีตาย เพราะโลกไม่เที่ยงอยู่แล้ว แปรปรวนไปต่างๆ สังขารเราบอกเช่นนั้น เที่ยงแต่พระนิพพานอย่างเดียว"

เช้าวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2532 หลวงปู่ยังคงเดินจงกรมตามปกติ หลังจากนั้นได้เรียกพระเณรมาขอนิสัยใหม่ แล้วท่านก็ได้อบรมธรรมะ โดยให้พระเณร ภาวนาดูจิตนเอง ภาวนาให้จิตสงบ ม้างกายให้มาก ท่านปรารภถึงความตาย จนเวลา 13.00น. ท่านเรียกพระอุปัฏฐากขึ้นไปพบและปรารภให้ฟังว่า รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ลมตีขึ้นเบื้องบน แล้วบอกให้ช่วยนวดขา ครั้นเวลาผ่านไปถึง 16.00น. อาการกำเริบหนักท่านหายใจไม่ออก พระอาจารย์อุทัย สิริธโร และ บรรดาลูกศิษย์จึงขอนิมนต์ท่านไปโรงพยาบาล แต่ท่านบอกว่า "หมอก็ช่วยไม่ได้ ขอตายที่หัวหิน ไม่ยอมเข้ากรุงเทพฯ เพราะสถานที่ไม่สงบ จะทำให้เข้าจิตไม่ทัน" ลูกศิษย์จึงไปตามแพทย์มาดูอาการและวินิจฉัยว่า เป็นอาการของโรคหัวใจ และ อาหารไม่ย่อย ตรงตามที่ท่านได้บอกกับลูกศิษย์ไว้ก่อนที่หมอจะมา

ท่านขอแสดงอาบัติ และ บอกบริสุทธิ์ต่อท่ามกลางสงฆ์ ด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใสยิ่งพร้อมแสดงธรรม ปฏิญานปลงอายุสังขารแล้วปรารภปัจฉิมเทศนาในเรื่องการทำกิจ การภาวนา การดูอาการของจิตก่อนตาย ย้ำว่า อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว

ท่านเปี่ยมล้นด้วยเมตตาธิคุณ กรุณาธิคุณ โดยไม่อ้างกาลเวลา แม้อาพาธอย่างหนักก็ยังปรารภปัจฉิมเทศนาเป็นครั้งสุดท้าย จวบจนเวลา 23.30 น. ท่านได้กล่าวว่าท่านประคองธาตุขันธ์ต่อไปไม่ไหว คงจะปล่อยวางแล้ว ขอเอาจิตอย่างเดียว และขอขอบใจที่พระเณรได้ช่วยกันอุปัฏฐากท่าน หากได้ล่วงเกินซึ่งกันและกัน ก็ขอให้อโหสิกรรมให้แก่กันและกันด้วย กระทั่งถึงเวลา 00.43น. ของ คืนวันที่ 24 ล่วงเข้าสู่ วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2532 หลวงปู่ได้กล่าวเป็นคำสุดท้ายว่า "เอาขันธ์ไว้ไม่ไหวแล้ว"

หลวงปู่ได้จากไปพร้อมอาการสงบด้วยสติ รวมสิริอายุได้ 88 ปี 65-67 พรรษา


ขอขอบคุณที่มา...http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=67&sid=cdc6b83db689b11dc58bc1535da1db57