ผู้เขียน หัวข้อ: ปราชญ์แห่งล้านนาหลวงปู่จันทร์วัดเจดีย์หลวง  (อ่าน 2955 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ umpawan

  • ก้นบาตร
  • *****
  • กระทู้: 3112
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์วัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด



เจริญ พร สาธุชนทุกท่าน วันนี้ได้มีโอกาสเปิดคอลัมน์ “คิดทาง...ธรรม” ซึ่งจะมีประจำทุกวันศุกร์ โดยจะร่วมกันคิดพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสังคมที่น่าสนใจ

เพื่อหาทางออกให้กับ สังคม โดยอ้างอิงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาว่า เรื่องหรือปัญหาดังกล่าว ทางธรรมคิดอย่างไร มีมุมมองอย่างไร ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากการคิดทางโลก หรืออาจจะคล้ายกัน หรือเหมือนกันก็ได้

 โดยเฉพาะสาธุชนผู้สนใจในธรรม หรือมีความรู้ทางโลก สามารถที่จะนำเสนอแนววิธีคิด มุมมองที่อาจจะแตกต่างออกไป หรือเหมือนกัน มาที่คอลัมน์นี้ก็ได้ เพื่อการมีส่วนในการเรียนรู้ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่องค์รวมของความรู้อันถูกต้องโดยธรรม อันร่วมกัน และจะนำไปสู่การแก้ไข  หรือพัฒนาการ ให้สังคม ประเทศชาติ ก้าวย่างไปสู่ความเจริญเติบโต เข้มแข็ง และทันสมัยดังนานาอารยประเทศ

 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ให้บังเอิญไปตรงกับวันพระราชทานเพลิง หลวงปู่จันทร์ กุสโล หรือ พระพุทธพจนวราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของอาตมา โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุชั่วคราว วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่ ยังความซาบซึ้งแก่คณะศิษย์ศรัทธาพุทธศาสนิกชนในพระมหากรุณาเป็นอย่างยิ่ง





 หากจะกล่าวพรรณนาถึงเกียรติคุณ ความดี บุญบารมีของหลวงพ่อ (หลวงปู่จันทร์) คงยากที่จะกล่าวได้หมด ได้แต่ขอยกถ้อยวลีธรรมของท่านผู้ทรงคุณ-สูงค่า ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสังฆบิดาของคณะสงฆ์ไทย ได้แก่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ที่เคยทรงประทานกล่าวมุทิตากับหลวงพ่อว่า

 “ท่านเจ้าคุณ เป็นปราชญ์แห่งล้านนา”

 ซึ่งเป็นความจริง ที่ปรากฏมีผลงานทางธรรมมากมาย เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาโดยตลอดสมัยของการสืบเนื่องอยู่ในสมณะวิสัยของ หลวงพ่อ จนถึงกาลละสังขารเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๘.๓๓ น.

 โดยปฏิปทาของหลวงพ่อนั้น แม้มีวัตรปฏิบัติด้านคามวาสี แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ส่งเสริมฝ่ายอรัญวาสี ทรงเห็นคุณค่าของการอบรมจิตตภาวนา ดังสมัยที่อาตมาไปเจริญธรรมอยู่วัดป่าบ้านเหล่า อ.เวียงชัย จ.เชียงราย กับ หลวงปู่ขาน (ละสังขารไปแล้ว) ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่สายตรง หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นพระอาจารย์ที่อาตมาได้ถวายพานธูปเทียน ปวารณาตนเป็นศิษย์สายพระป่า และได้ให้นำพานธูปเทียนไปถวายบูชา หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี เพื่อจะได้ถึงความเป็นศิษย์สายพระป่ากรรมฐานอย่างแท้จริง

 โดยหลวงปู่ขานเป็นผู้พิจารณารับไว้เป็นศิษย์...และเมื่อกลับมากราบหลวงพ่อ (หลวงปู่จันทร์) ณ วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในสมัยนั้น อาตมาได้กราบถวายผลการปฏิบัติ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

 “ขออนุโมทนาในปัญญา ที่เกิดจากการภาวนาอบรมจิต อันเป็นภาวนามยปัญญา”

 แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพของหลวงพ่อ ที่มีจิตใจกว้างขวาง เห็นคุณประโยชน์ในทั้ง ๒ ด้าน ให้การสนับสนุนแด่คณะสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย อย่างเสมอกัน ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งฝ่ายปกครองสงฆ์ (ธรรมยุต) จนถึงความเป็นเจ้าคณะภาค ๔, ๕, ๖, ๗ ซึ่งตรงกับคำกล่าวของ หลวงตามหาบัว ที่ว่า   “พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ในภาคเหนือของเรานี่ ก็ได้อาศัยบารมีของท่านเจ้าคุณฯ นี่แหละ ที่ได้ช่วยเกื้อหนุนจุนเจือ เอื้อเฟื้อ ให้อยู่ได้ทั้งหมด นี่ถ้าไม่มีท่านเจ้าคุณฯ ช่วยเหลือ คงอยู่ไม่ได้จริงๆ ลัทธิอื่นมันคอยแทรกซึมอยู่นะ เป็นบุญของพระที่ได้มาอาศัยท่านนะ”

 อย่างไรก็ตาม คงจะไม่แปลกที่หลวงพ่อมีความยินดีสนับสนุนในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย แม้ว่าหลวงพ่อจะมุ่งเน้นไปทางปริยัติธรรม หรือคามวาสี แต่ก็เป็นผู้มั่นคงในการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง แม้จะมุ่งเพียรหนักอย่างครูบาอาจารย์สายพระป่า ด้วยภาระการสงเคราะห์-การปกครองสงฆ์เป็นสำคัญ  แต่ในทุกค่ำคืน เมื่ออาตมาได้ถวายการอุปัฏฐากเป็นส่วนตัว ในกาลที่มาพักอยู่ ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย อ.เมือง จ.ลำพูน โดยท่านจะกำหนดมาพักเดือนละ ๑ ครั้ง ครั้งละ ๒-๓ วัน หรือจะมากกว่านั้น ก็แล้วแต่ความประสงค์

 ทั้งนี้ เพราะในสมัยแรกที่รับการยกฐานะเป็นวัดป่าพุทธพจน์ฯ หลวงพ่อได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธ) ให้ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของอาตมา เพื่อต้องการให้หลวงพ่อกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดในบ้านเกิด (จ.ลำพูน) ของท่าน

 จึงเป็นโชควาสนาของอาตมาที่ได้รับการอบรมสั่งสอนโดยตรงจากหลวงพ่อ ไม่ว่าจะเป็นการเทศนาธรรม การสวดมนต์ แม้กระทั่งอุบายวิธีในการปฏิบัติกรรมฐาน และการเจริญสมาธิ ด้วยการนับลูกประคำ (ตกลูกประคำ) ซึ่งท่านจะกระทำเป็นปกติก่อนจำวัด

 สำคัญที่สุด คือ การถ่ายทอดนิสัยความเป็นเจ้าอาวาสให้โดยตรงว่า ควรประพฤติตน-พัฒนาตนอย่างไร โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ข้อวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์ สายพระกรรมฐาน ได้แก่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ของหลวงพ่อ สมัยที่หลวงปู่มั่นดำรงฐานะเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ซึ่งหลวงตามหาบัวเคยกล่าวหยอกเย้าหลวงพ่อว่า

 “เรากับท่านเจ้าคุณนี่สนิทกันมาตั้งแต่เป็นมหาเปรียญ เป็นลูกศิษย์ในพระอาจารย์เดียวกัน คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต....”

 ในเรื่องดังกล่าว อาตมามีหลักฐานยืนยันถึงความผูกพันของหลวงพ่อต่อหลวงปู่มั่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทิตา ต่อครูบาอาจารย์สายพระป่า






 เมื่อหลวงพ่อบัญชาให้ อาตมาสร้างวัดป่าพุทธพจน์ฯ ประดิษฐานไว้ในพระพุทธศาสนา และให้สืบทอดปฏิปทาสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งอาตมาก็ได้น้อมรับด้วยความรู้สึกยินดียิ่ง เพราะอาตมาเป็นพระป่ากรรมฐาน สายตรงทางหลวงปู่ขาน-หลวงปู่ขาว อยู่แล้ว จึงได้ก่อร่างสร้างวัด  อบรมพระเณร ถือข้อวัตรปฏิบัติสายพระป่ามาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

 เมื่อหลวงพ่อได้ละสังขาร โดยเก็บสรีระไว้ในหีบศพ ณ พระวิหารวัดเจดีย์หลวง (พระอุโบสถ)  อาตมาจึงได้ขออนุญาต พระพุทธิสารโสภณ เจ้าคณะจังหวัด ประธานสงฆ์ พิจารณาผ้ามหาบังสุกุลจากร่างของท่านที่นอนนิ่งอยู่ในหีบศพ โดยนำผ้าไตรจีวรชุดใหม่ ที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ประทานถวาย มาบูชาสักการะ

 และอาตมาได้นำผ้าห่อร่างของท่านทั้ง ๓ ผืน ไปกระทำพิธีซักผ้ามหาบังสุกุล ณ แม่น้ำกวง ใกล้บ้านเกิดของท่าน (อ.ป่าซาง จ.ลำพูน) ซึ่งบัดนี้ อาตมาได้นำมาอธิษฐาน เป็นผ้ามหาบังสุกุล  ใช้นุ่งห่มอยู่จนถึงปัจจุบัน เพื่ออุทิศบุญกุศลในการทรงผ้ามหาบังสุกุล เป็นวัตร อันเป็น ๑ ใน ๑๓ ข้อของธุดงควัตรของพระสงฆ์ ซึ่งทรงคุณเป็นอย่างยิ่ง ต่อการยกระดับจิตใจด้วยความหมาย ความเป็นอนุสติของมรณะ ที่มีอยู่ทุกขณะที่สัตว์ทั้งหลายไม่ควรประมาท เพราะเบื้องหน้า คือ ความตายที่จะต้องพบเสมอเหมือนกัน

 จึงขอบูชาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม อันเป็นเลิศ มีเมตตากรุณาอย่างต่อเนื่อง มีวัตรปฏิบัติที่ทรงคุณค่า สมกับความเป็นพระสงฆ์สาวกในพระพุทธศาสนาที่แท้จริง เนื่องในวันพระราชทานเพลิงศพ  หลวงพ่อ พระพุทธพจนวราภรณ์ หรือ หลวงปู่จันทร์ กุสโล ของศิษยานุศิษย์ ตลอดจนถึงพุทธศาสนิกชนในทั่วทุกภาค อาตมาจึงขอกราบสักการะด้วยการน้อมนำมากล่าวบูชาใน คอลัมน์ “คิดทาง…ธรรม” เพื่อสืบสานเจตนาเผยแพร่ธรรมของหลวงพ่อสืบต่อไป

 ขอกล่าวบูชาด้วยบทธรรมตอนหนึ่ง ที่อาตมาลิขิตไว้ว่า...
 คุณความดี คุณธรรม  ไม่จางหาย
 ชนทั้งหลาย น้อมเคารพ ระลึกถึง
 แม้ตัวตาย  ดุจกายอยู่  ยังตราตรึง
 ชนคำนึง  น้อมกราบไหว้ คุณธรรม

       ขอเจริญพร