ผู้เขียน หัวข้อ: หอไตรกลางน้ำ วัดคูยาง ศิลปะท้องถิ่น-อายุ100ปี  (อ่าน 1488 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ umpawan

  • ก้นบาตร
  • *****
  • กระทู้: 3112
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์วัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด


"หอ ไตรกลางน้ำวัดคูยาง" เมืองกำแพง เพชร มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี อยู่คู่วัดคูยางแห่งนี้มาช้านาน อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี

เชื่อว่า มีอีกหลายๆ ท่าน ที่เดินทางมาเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชรหรือแม้กระทั่งชาวเมืองกำแพงเพชรเองก็ ตาม อาจจะยังไม่ทราบและไม่รู้ถึงความเป็นมาของหอไตรกลางน้ำวัดคูยาง

หาก ใครได้เดินทางไปที่วัดคูยาง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร จะได้พบกับหอไตรกลางน้ำวัดคูยาง อยู่ในสภาพที่กำลังถูกดำเนินการบูรณะซ่อมแซม

พระเทพปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ในฐานะเจ้าอาวาสวัดคูยาง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร กล่าวถึงที่มาที่ไปของหอไตรแห่งนี้ ว่า ในช่วงนี้หอไตรอยู่ในช่วงบูรณะปรับปรุง เมื่อแล้วเสร็จจะเปิดให้เข้าชม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ทางวัดและทำตามนโยบายของจังหวัด ในเรื่องของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถานและธรรมชาติ โดยเฉพาะในหอไตรแห่งนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งมีการปรับปรุงมาเรื่อยๆ ภายในมีตู้พระธรรมลายรดน้ำ มีเอกสารโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จทันวันวิสาขบูชา หรือวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือนหก

หอไตร เป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญอย่างหนึ่งภายในวัด นิยมสร้างอยู่ในเขตพุทธาวาส (สถานที่ประ กอบสังฆกรรม) มากกว่าในเขตสังฆาวาส (ที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์) ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก หรือพระธรรมคัมภีร์ จึงเรียกกันโดยย่อว่า "หอไตร" ในอดีตมักสร้างหอไตรไว้กลางสระน้ำ เพื่อป้องกันแมลง เช่น ปลวก แมลงสาบ มด มากัดกินทำลายคัมภีร์ เมื่อประสงค์จะนำคัมภีร์ธรรมต่างๆ ออกไปใช้นอกหอไตร ก็จะชักสะพานและบันไดเชื่อมข้ามไป เมื่อเลิกใช้ก็จะดึงสะพานและบันไดออก




โดยทั่วไปรูปแบบหรือรูปทรงของหอไตร มักมีลักษณะเป็นทรงไทยตามแบบประเพณีนิยมของแต่ละจังหวัดหรือแต่ละภาค เช่น หอไตรวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบล ราชธานี หอไตรวัดหน้าพระธาตุ (วัดตะคุ) จังหวัดนครราชสีมา และหอ ไตรวัดสันกำแพง จังหวัดลำพูน เป็นต้น

ลักษณะหอไตรวัดคูยาง เป็นอาคารทรงไทยพื้นถิ่นกำแพงเพชร สร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด ใต้ถุนสูง กว้าง 6 ม. ยาว 12 ม. ตั้งอยู่กลาง คูน้ำเดิม ภายในอาคารเป็นโถงโล่ง โถงกลางมีเสากลมรองรับด้านละ 3 ต้น

หลังคา โถงกลางเป็นทรงจั่ว มีช่อฟ้าหางหงส์ทำด้วยปูนปั้น ประดับอยู่รอบจั่วทั้งสองด้าน มีหลังคาปีกนกคลุมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ฝาผนังเป็นแบบฝาปะกน ฝาผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ 4 ช่อง ฝาผนังด้านหน้าและหลังมีประตูด้านละ 1 ช่อง และมีหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง มีพาไล (มุขที่มีชายคาคลุมและมีเสารองรับ) ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พาไลเป็นชั้นลดลงมาจากโถง มีบันไดขนาด 3 ขั้นพาดขึ้นไปสู่โถงใน ทั้งด้านหน้าและหลัง เฉพาะพาไลด้านหน้ามีนอกชานยื่นออกไปตรงกลางใช้เป็นที่พาดบันไดขนาด 7 ขั้น เชื่อมต่อกับสะพานไปยังพื้นดิน

ภายในหอไตรแห่งนี้ มีโบราณศิลปวัตถุที่สำคัญ และทรงคุณค่ายิ่ง ประกอบไปด้วย ตู้พระธรรมลายรดน้ำลงรักปิดทองโดยรอบ เขียนเป็นภาพต่างๆ ด้วยฝีมือช่างราวสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 3 ถึง 5 ที่ประณีตงดงามมาก จำนวน 5 หลัง หีบพระธรรม มีลายรดน้ำลงรักปิดทอง และเป็นแบบเหล็ก อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึง 5 ธรรมาสน์เท้าสิงห์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ทำด้วยไม้ลงรักปิดทอง เป็นเครื่องสังเค็ด หรือ ทานวัตถุที่ถวายแด่สงฆ์เมื่อเวลาปลงศพหรือมีงานศพ เอกสารโบราณ บรรจุอยู่ในตู้และหีบ มีทั้งที่เป็นใบลานและสมุดข่อย ผ้าห่อคัมภีร์ เป็นผ้าพิมพ์ลายอย่างลายไทย พระบฏ เป็นแผ่นผ้าฝ้ายสีขาว เขียนสีเป็นภาพเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก จำนวน 13 กัณฑ์ ใช้ในงานเทศกาลเทศน์มหาชาติกลางเดือน 10 ของวัดคูยาง แต่ขณะนี้มีเหลืออยู่เพียง 9 กัณฑ์เท่านั้น

ด้วยหลักฐาน ความสำคัญ และเหตุผลต่างๆ หอไตรวัดคูยาง จึงนับว่าเป็นโบราณสถานที่มีค่าหายากและมีเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัด กำแพงเพชร

จึงอยากให้ทุกคนใส่ใจในการอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญใน ท้องถิ่น ให้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป


ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์