ผู้เขียน หัวข้อ: การเสียสละ (คำสอนดีๆ จากพระองค์หนึ่ง)  (อ่าน 2357 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายธรรมะ

  • ดีชั่วอยู่ที่ตัวทํา สูงต่ำอยู่ที่ทําตัว
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 615
  • เพศ: ชาย
  • เหนื่อย ได้แต่อย่า ท้อ
    • ดูรายละเอียด
การเสียสละ (คำสอนดีๆ จากพระองค์หนึ่ง)


คุณธรรม ความดีงาม ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้พุทธศาสนิกชนทุกๆคนไว้เจริญ มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน คือ

๑. ศรัทธาความเชื่อ
๒. จาคะการเสียสละ
๓. ศีลความประพฤติที่ดีงาม
๔. ปัญญาความรู้ความฉลาด

คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นคุณสมบัติของพุทธศาสนิกชนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ ให้ผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นำไปปฏิบัติ เพื่อความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นสิริมงคล ความปราศจากความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะทั้งหลายเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงศึกษา ได้ทรงปฏิบัติ ทรงบรรลุเห็นอย่างชัดแจ้งแล้ว จึงได้นำเอามาสั่งสอนให้กับผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อมีปัญญาความฉลาด ที่สามารถเห็นถึงผลที่ดีที่งามที่จะตามมาจากการปฏิบัติตามที่พรพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนและปฏิบัติมา

ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชน ก็ควรคำนึงถึงคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ถ้ายังไม่มีคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่ได้รับอานิสงส์ผลประโยชน์จากการเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ถ้าได้เจริญคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ก็จะได้รับอานิสงส์อันดีงาม อันประเสริฐของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่มนุษยสมบัติขึ้นไป จนถึงเทวสมบัติ พรหมสมบัติ และอริยสมบัติ คือ มรรคผลนิพพาน ซึ่งล้วนเกิดจากการเจริญคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้

ดังนั้นในทุกๆวันพระหรือทุกๆครั้งที่เรามาวัดกัน ก็จะมีพิธีกรรมที่เสริมสร้างให้เจริญในคุณธรรมทั้ง ๔ เช่น เมื่อมาที่วัดแล้ว ก็จะได้บูชาพระรัตนตรัย เป็นการตอกย้ำศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ตอกย้ำความไม่สงสัยในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ เป็นการเจริญศรัทธา หลังจากนั้นก็มีการทำบุญถวายทาน จตุปัจจัยไทยทาน สังฆทาน เป็นการเจริญจาคะคือการเสียสละ ต่อจากนั้นก็มีการสมาทานศีล เป็นการเจริญศีล ความประพฤติดีทางกาย ทางวาจา แล้วก็มีการแสดงธรรม เป็นการเจริญปัญญาความรู้ ความฉลาด

นี่แหละคือคุณธรรมทั้ง ๔ ประการ ที่พุทธศาสนิกชนทุกครั้งที่มาวัดจะได้เจริญ เมื่อได้เจริญแล้ว ความสุขความเจริญ ความหลุดพ้นจากความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ย่อมเป็นผลที่จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับแห่งการปฏิบัติ จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงอยู่เสมอ ควรเจริญอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมาที่วัดหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่ว่าเวลามาที่วัดจะสะดวกกว่า เพราะมีกิจกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องส่งเสริม ให้ได้เจริญคุณธรรมเหล่านี้

แต่ถ้าไม่ได้มาที่วัด ก็ขอให้มีสติรำลึกรู้ถึงคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ แล้วพยายามเจริญให้มากอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด เวลาใด เมื่อถึงเวลาที่ควรเจริญคุณธรรมเหล่านี้ ก็ควรเจริญไป ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ความเจริญรุ่งเรือง ก็จะเป็นไปตามลำดับ ความเสื่อมก็จะลดน้อยถอยลงไป ความทุกข์ ความวุ่นวายใจก็จะค่อยๆหมดไปๆ จนในที่สุดก็จะไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ภายในใจเลย


นั่นก็เป็นเพราะว่าได้ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้

ซึ่งสรุปลงได้ ๓ ประการ ด้วยกัน คือ

๑. ละการกระทำบาปทั้งปวงเสีย
๒. ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
๓. ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด


นี่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นหัวใจของคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ที่ได้มาตรัสรู้ธรรมในโลก แล้วนำธรรมนี้มาสั่งสอนให้กับสัตว์โลก เพราะธรรมนี้เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นสิริมงคล ความหมดทุกข์หมดภัย หมดความเศร้าโศกเสียใจทั้งหลายได้อย่างแน่นอน ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ จะทรงสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้ปฏิบัติ

ไม่ว่าจะมาตรัสรู้ในเวลาไหนก็ตาม พุทธศาสนิกชนเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ก็จะเกิดศรัทธาความเชื่อขึ้นมา ซึ่งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของพุทธศาสนิกชนที่เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กิเลสตัณหาเป็นพิษเป็นภัยกับใจ ควรชำระ ควรกำจัด ไม่ควรปล่อยให้หลงเหลืออยู่ เมื่อมีความเชื่อในธรรม ก็นำไปปฏิบัติ เช่น การทำความดีทั้งหลาย ก็คือการเสียสละนี้เอง สละความสุข สละประโยชน์ส่วนตนให้กับผู้อื่น แบ่งปันความสุขและประโยชน์ให้กับผู้อื่น

การเสียสละก็มีอยู่หลายระดับ ระดับธรรมดาทั่วๆไป ถึงระดับสูงสุด ระดับทั่วๆไป ก็อย่างที่พวกเราทำกัน เรามีอะไรที่เป็นส่วนเกิน เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ถ้าไม่มีก็ไม่เดือดร้อน เช่น ความสุขบางอย่าง ประโยชน์บางอย่าง สมบัติข้าวของบางอย่างที่เรามีอยู่ ถึงแม้ไม่มีก็ไม่เดือดร้อน เราก็เสียสละให้กับผู้อื่นไป อย่างนี้เป็นการเสียสละธรรมดาๆ ส่วนการเสียสละขั้นอุกฤษฏ์ ขั้นสูงสุดก็คือ ยอมเสียสละแม้ในสิ่งที่มีความจำเป็นต่อความสุขของเรา ต่อชีวิตของเรา แต่เพราะใจมีความแน่วแน่ต่อการบำเพ็ญคุณธรรมข้อนี้ ก็พร้อมที่จะเสียสละ แม้แต่ชีวิตก็สละได้ นี่คือลักษณะของการเสียสละขั้นสูงสุด

ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เสียสละแม้แต่สมบัติ แม้แต่อวัยวะ แม้แต่ชีวิต เพื่อรักษาธรรม คือ จาคะนี้ ซึ่งเป็นธรรมที่ประเสริฐอย่างยิ่ง ผู้ใดได้เจริญแล้ว ความเจริญในใจย่อมปรากฏขึ้นมา ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จอันสูงสุด อย่างที่พระพุทธเจ้าของเราได้บำเพ็ญมาในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็อาจจะคิดว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อ ว่าจะเป็นไปได้ ที่สามารถสละทุกสิ่งทุกอย่างได้ แม้แต่ชีวิต เพื่อให้ได้มาในธรรมที่ประเสริฐที่สุด คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง


พระพุทธเจ้าของเราได้บำเพ็ญมาแล้วในแต่ละภพในแต่ละชาติ เราก็ได้ยินได้ฟังมา สมัยเป็นพระเวสสันดรก็สละราชสมบัติออกบวช สละลูก สละภรรยาเพื่อคุณธรรมนั่นเอง และเมื่อมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้สละอีกเหมือนกัน เพราะนิสัยนี้ได้ถูกปลูกฝังมาจนเรียกว่า เป็นสันดานก็ได้ แต่เป็นสันดานฝ่ายดี เรียกว่าเป็นอริยะสันดาน ผู้ใดถ้าได้เจริญจาคะการเสียสละมาอย่างสม่ำเสมอแล้ว จะเห็นว่าการเสียสละไม่เป็นความทุกข์เลย แต่เป็นความสุขใจอย่างยิ่ง ถ้าไม่เชื่อลองเสียสละในสิ่งที่รัก ที่หวง ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าลองได้เสียสละแล้ว จะได้สัมผัสกับความสุขที่ไม่เคยมาปรากฏขึ้นในใจเลย เพราะสิ่งที่รัก ที่ชอบ ที่หวงแหน ไม่ได้ทำให้ใจเบา ให้ใจสบาย แต่กลับเป็นเครื่องผูกรัดใจ ให้มีความคับแค้น ความคับแคบ ความเห็นแก่ตัว ความเสียดาย แต่ถ้าได้สละสิ่งที่รัก สิ่งที่สงวนมากที่สุดได้ ได้ชนะความหวงแหน ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆแล้ว ใจจะคลายออก จะโล่ง จะเบา จะมีความสุขอย่างยิ่ง

นี่แหละเป็นเหตุที่ทำให้คนอย่างพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย สามารถเสียสละในสิ่งที่พวกเรายังไม่กล้า ยังไม่สามารถที่จะสละได้ เพราะเรายังไม่เคยได้สัมผัสกับผลที่ประเสริฐ ที่จะปรากฏขึ้นในใจของเรา เวลาที่ได้เสียสละในสิ่งที่รัก ที่หวงแหน เราจะพบกับความสุขใจ ความเบาใจ ความภูมิใจ ที่ไม่เคยพบมาก่อนในโลกนี้ ในชีวิตนี้เลย และถ้าได้ลองทำอย่างนี้ไปเพียงครั้งเดียวแล้ว ก็จะเกิดความผูกพัน เกิดความยินดีที่จะทำอย่างนี้ต่อไปอีก แล้วชีวิตของเราก็จะมีแต่ความสุข ความสบายใจมากขึ้นตามลำดับ

ความทุกข์ใจของเราก็ไม่ได้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากความหลงที่ให้ไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล เมื่อไปยึดไปติดแล้ว ใจก็มีความเครียดกับสิ่งเหล่านั้น เครียดจากความห่วง จากความเสียดาย จากความหวงแหนในสิ่งนั้นๆ แทนที่จะมีความสุข กลับต้องมีความทุกข์กับสิ่งเหล่านั้น ไม่เชื่อลองสำรวจดูในตัวของเรา ในใจของเรา กับสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลก็ดี หรือเป็นสิ่งของต่างๆก็ดี ว่าเรามีความโล่งใจ เบาใจกับสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ หรือมีแต่ความห่วงใย มีแต่ความกังวลใจ มีแต่ความเครียด


ถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่า เรามีแต่ความทุกข์กับสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ทั้งสิ้น ความสุขที่ได้รับจากสิ่งเหล่านั้น เป็นเพียงความสุขเล็กๆน้อยๆ และเมื่อได้สัมผัสแล้วไม่นาน ก็เกิดความชินชาจนไม่เห็นความสุขของสิ่งนั้นๆเหลืออยู่เลย มีแต่ความหวง ความห่วง ความยึดติดอยู่ในสิ่งนั้นๆ ทำให้เกิดความคับแค้นใจ ความวุ่นวายใจ ไม่รู้จักจบจักสิ้น

ไม่เชื่อลองพิจารณาดู ทุกวันนี้ทุกข์กับอะไร ก็ทุกข์กับสมบัติที่มีอยู่นั่นแหละ ทุกข์กับครอบครัว ทุกข์กับสามี ทุกข์กับภรรยา ทุกข์กับลูกเต้า ทุกข์กับทรัพย์สมบัติต่างๆที่มีอยู่ เพราะเมื่อมีสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ต้องคอยดูแลรักษา ทำให้ไม่รู้จักพึ่งตัวเอง ไม่รู้จักอยู่โดยปราศจากสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ไม่มีสามี ไม่มีภรรยา เราก็อยู่ได้ ไม่มีลูก เราก็อยู่ได้ ไม่มีสมบัติมากมายก่ายกองเกินความจำเป็น เราก็อยู่ได้ แต่เราไม่เคยอยู่แบบนั้นเลย เพราะว่าตลอดเวลาภายในหัวใจของเรา มีแต่ความหลง มีแต่ความโง่เขลาเบาปัญญา คอยหลอกให้เรากลายเป็นคนพิการไป คือ ไม่ให้พึ่งตัวเราเอง ไม่ให้เราหาความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเรา ไม่ให้มีความมักน้อยสันโดษ มีความพอใจยินดีกับสิ่งที่มีอยู่ กลับสร้างความหิวกระหาย ความอยาก ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงทำให้เราต้องดิ้นรนออกไปหาสิ่งต่างๆภายนอกตัวเรา ไปหาสมบัติข้าวของ หาบุคคลต่างๆ เพราะคิดว่าเมื่อได้สิ่งเหล่านี้แล้ว จะมีความสุข จะไม่มีความทุกข์กัน

แต่เมื่อมีแล้ว ก็มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความกังวล เพราะเมื่อมีแล้ว ก็อาศัยสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ความสุขเล็กๆน้อยๆกับเรา แต่ในขณะเดียวกัน เราก็กลายเป็นคนพิการไป ถ้าเกิดวันใดวันหนึ่งไม่มีสิ่งที่เคยมี เคยใช้อยู่ ก็จะมีความทุกข์อย่างมาก บางครั้ง บางคนอาจจะทนอยู่ไม่ได้ เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านั้น ถึงกับทำร้ายชีวิตของตนไปในที่สุด ก็เพราะปล่อยตัวเองให้ไปยึดไปติด ไปพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอกมาให้ความสุขกับตนนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เวลาไม่มีสิ่งเหล่านั้นมาให้ความสุข ก็เกิดความทุกข์ จนทนอยู่ต่อไปไม่ได้ แต่ถ้าได้ศึกษา ได้ยินได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงสอนว่า ความสุขที่ประเสริฐ ความสุขที่เลิศนั้น อยู่ในตัวของเราแล้ว อยู่ในใจที่สงบ ใจจะสงบได้ ก็จะต้องปล่อยวาง ไม่ไปพึ่งพาอาศัยสิ่งต่างๆภายนอก ยกเว้นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก็คือปัจจัย ๔

ปัจจัย ๔ เป็นสิ่งที่ต้องมี ถ้าไม่มีแล้วร่างกายนี้ ชีวิตนี้ ย่อมอยู่ไปไม่ได้ แต่ความจำเป็น คือความต้องการของร่างกายในปัจจัย ๔ ก็มีไม่มาก เราก็รู้ๆกันอยู่ ถ้ารู้จักความมักน้อยความสันโดษแล้ว ก็จะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปดิ้นรนหาปัจจัย ๔ มาเกินความจำเป็น ให้เหนื่อยยากไปเปล่าๆ เพราะอาหารก็ดี ที่อยู่อาศัยก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี ยารักษาโรคก็ดี ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของราคาแพงๆ ถึงจะมีคุณค่ากับร่างกาย อาหารก็มาจากที่เดียวกัน มาจากตลาด แล้วก็เอามาทำให้เรารับประทาน ราคาจะสูงหรือต่ำก็อยู่ที่สถานที่ที่นำมาขาย ถ้าไปกินอาหารในร้านที่มีการตกแต่ง มีค่าใช้จ่ายสูง อาหารก็จะแพง ถ้าไปซื้ออาหารมาทำรับประทานที่บ้าน ก็เป็นอาหารเหมือนกัน เมื่อรับประทานเข้าไปก็ให้ความอิ่ม รักษาชีวิตให้อยู่ได้ต่อไปเหมือนกัน

ความแตกต่างกันอยู่ตรงที่ราคา ถ้าของหรูหราก็ต้องเสียเงินมาก แล้วเงินก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่งอกมาจากตัวเรา เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องออกไปหากัน เมื่อใช้มาก ก็ต้องหามาก ก็ต้องเหนื่อยมาก ถ้าใช้น้อยก็ไม่ต้องดิ้นรนมาก เราก็หามาน้อยๆพอใช้เท่าที่จำเป็น ปัญหาต่างๆที่เกิดจากการออกไปทำมาหากินก็มีไม่มาก ความสุขกลับมีมากกว่า ความสุขทางจิตใจของคนที่ใช้เงินน้อย จะมีมากกว่าของคนที่ใช้เงินมาก เพราะคนใช้เงินน้อยไม่มีความกดดัน ที่จะต้องคอยไปหาเงินมามากๆ มีอะไรก็ใช้ไปตามมีตามเกิด อย่างนี้มีความเบาใจ มีความสบายใจ มีความสุขใจ

นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง อยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่การกระทำของเรา อยู่ที่ว่ารู้จักสร้างความสุขให้กับใจหรือไม่ ส่วนใหญ่มักจะไปสร้างความทุกข์ให้กับใจด้วยความหลง ทำให้เกิดความอยากความโลภ คิดว่าถ้ามีอะไรมากๆแล้ว จะมีความสุขมาก แต่ไม่เคยหันมาดูที่ใจเลยว่า วันๆหนึ่งใจมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความกังวล มีแต่ความห่วงใย กินไม่ได้นอนไม่หลับ

เศรษฐีบางคนมีเงินทองเยอะแยะ สามารถซื้ออาหารราคาแพงๆมารับประทานได้ แต่ใจกลับไม่มีความสุขกับการรับประทานอาหารนั้นเลย เพราะในขณะที่รับประทานไป ก็มีแต่ความกังวล ห่วงเรื่องดอกเบี้ยบ้าง เรื่องหนี้ที่จะต้องจ่ายบ้าง เรื่องเงินลูกหนี้ที่จะต้องไปตามเก็บบ้าง ล้วนแต่เป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ภายในใจ สู้คนยากจนอย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกไม่ได้ ท่านไม่มีปัญหาเหล่านี้อยู่ในใจของท่านเลย เพราะท่านไม่มีลูกหนี้ ไม่มีเจ้าหนี้ ไม่มีดอกเบี้ยที่จะต้องคอยมากังวล ที่จะต้องคอยผ่อนส่ง วันๆหนึ่งใจของท่านมีแต่ความว่าง เพราะไม่มีสมบัติอะไร ไม่มีเรื่องราวอะไร ที่จะต้องไปห่วง ไปกังวล วันๆหนึ่งก็เพียงแต่มีหน้าที่ดูแลร่างกาย ตอนเช้าก็ออกไปบิณฑบาตหาอาหารมา ตามมีตามเกิด ได้อะไรก็พอใจกับที่ได้มา ก็รับประทานไป ก็อิ่มเหมือนกัน แต่ใจของท่านซิเป็นใจที่เบา เป็นใจที่สุข เป็นใจที่ว่างจากความทุกข์ทั้งปวง เพราะใจได้ถูกชำระด้วยปัญญาแล้ว

ปัญญานี้แหละคือสิ่งที่จะมาทำลายมลทิน ความสกปรก ความเศร้าหมองที่เกิดจากกิเลสตัณหาทั้งหลาย
พวกเราแทนที่จะทำตามอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำ และได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว กลับไม่ได้ทำกัน กลับไปส่งเสริมความเศร้าหมอง ส่งเสริมความสกปรกในใจให้มีมากยิ่งขึ้นไป ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยความอยากต่างๆ

ขอให้จำไว้ว่า ทุกครั้งที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง มีความอยาก ไม่ว่าจะเป็นความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น หรือความอยากไม่มีอยากไม่เป็นก็ตาม ก็เท่ากับว่ากำลังสร้างขยะ สร้างความสกปรกให้มีมากขึ้นไปในใจ ใจก็จะมีความทุกข์มีความเศร้าหมองเพิ่มมากขึ้นไป ทั้งๆที่ได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก ๑๐ ล้าน อีก ๑๐๐ ล้าน มีสามี มีภรรยาเพิ่มขึ้นอีก ๔-๕ คนก็ตาม แต่ใจกลับมีความเศร้าหมองเพิ่มมากขึ้นไปอีก มีความกังวล มีความวุ่นวายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะกำลังสร้างความทุกข์ให้กับใจโดยไม่รู้สึกตัว ทั้งๆที่คิดว่ากำลังสร้างความสุขให้กับตน แต่กลับมีแต่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ

ถ้าไม่เชื่อ ลองเปรียบเทียบดูระหว่างเรากับพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านมีอะไรบ้าง ท่านไม่มีอะไรเลย ในเรื่องสมบัติภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา สมบัติต่างๆ ตำแหน่งต่างๆ ไม่มีอะไรเลย มีสมบัติอยู่เพียง ๘ ชิ้น ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของสมณะเท่านั้น คือมีผ้าไตรจีวร ๓ ผืน บาตรใบหนึ่ง ประคดเอว มีดโกน เข็มกับด้าย และที่กรองน้ำ

นี่คือสมบัติที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของพระ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ท่านอยู่ได้แล้ว ด้วยความสุข ด้วยความเบาใจ ด้วยความสบายใจ เพราะใจของท่านไม่มีภาระ ไม่มีความผูกพันกับอะไรทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าจะมีอะไร ในไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องพลัดพรากจากสิ่งต่างๆที่มีอยู่ทั้งสิ้น เพราะธรรมชาติของชีวิตเป็นอย่างนั้น เราก็เห็นกันอยู่ เวลาเกิด ก็มาตัวเปล่าๆ เมื่อไปก็ไปตัวเปล่าๆ คือใจมาครอบครองร่างกาย

เมื่อตายไปใจก็ทิ้งร่างกายนี้ไป ทิ้งสมบัติ ทิ้งบุคคลต่างๆไปหมด ไม่ได้เอาอะไรไปเลยนอกจากบุญกับบาปเท่านั้น บุญก็คือความฉลาดหรือปัญญา บาปก็คือความโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง ถ้ายังไม่เข้าใจหรือยังไม่เห็น ก็ต้องรีบขวนขวายศึกษา แล้วปฏิบัติตาม อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติมา คือพยายามลดละ ตัดกิเลสตัณหาทั้งหลายให้เบาบางลงไป ให้หมดสิ้นไป

เมื่อทำได้แล้ว จะเห็นความสุขที่แท้จริง ที่ปรากฏขึ้นมาภายในใจ เรียกว่าปัญญา ความสว่าง ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนำธรรมไปปฏิบัติ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังอย่างวันนี้ แล้วก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติ ก็ยังจะไม่เห็นผลของการเสียสละ ของการปล่อยวาง ถ้าลองไปปฏิบัติดู ในเบื้องต้นอาจจะยากหน่อย เพราะเป็นสิ่งที่ฝืนกับนิสัยใจคอ แต่ไม่สุดวิสัย ถ้ามีความเข้มแข็ง มีความอดทนต่อสู้ ในไม่ช้าก็เร็ว ก็จะสามารถปฏิบัติตามอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน ได้ทรงปฏิบัติมา

เมื่อทำได้แล้วก็จะเห็นผล คือความสุข ความเบาใจที่จะปรากฏขึ้นมาในใจ ก็จะรู้ทันทีเลยว่า เรานี้โง่เขลาเบาปัญญามาตั้งนาน มัวแต่หลงแบกกองทุกข์ แบบไม่รู้จักจบจักสิ้น แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ต้องการอะไรแล้ว ในเรื่องสมบัติภายนอก บุคคลภายนอก อยู่ได้โดยลำพัง แม้ไม่มีร่างกายนี้ ก็อยู่ได้ เพราะเห็นใจแล้ว รู้แล้วว่าใจกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน ต่างฝ่ายต่างจริง ใจไม่ต้องพึ่งอะไรเลย จึงสละได้หมดแม้แต่ชีวิต

นายธรรมะ  :054:
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก เว็บบอร์ดพลังจิตด้วยครับ
[shake]ศรัทธา ไม่ใช่ ไสยศาสตร์ ศรัทธา เพื่อ ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีความ ศักดิ์สิทธิ์ ย่อมเกิด ปาฏิหาริย์[/shake]

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: การเสียสละ (คำสอนดีๆ จากพระองค์หนึ่ง)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มี.ค. 2554, 09:44:04 »
ขอบคุณครับ
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ arada

  • เรียนๆ รักๆ ปากกาถูกลัก ไม่พักเรียน
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 1111
  • เพศ: ชาย
    • MSN Messenger - nuk_b@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: การเสียสละ (คำสอนดีๆ จากพระองค์หนึ่ง)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 19 มี.ค. 2554, 12:09:24 »
ขอบคุณมากครับผม
ธรณีนี่นี้             เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์    หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร     เราชอบ

เรา บ่ ผิดท่านมล้าง    ดาบนั้นคืนสนอง

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: การเสียสละ (คำสอนดีๆ จากพระองค์หนึ่ง)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 19 มี.ค. 2554, 10:59:40 »
ยิ่งขุดยิ่งเจอทางสว่าง
[youtube=425,350]qtOKTI72RHg[/youtube]