หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคใต้

ชีวประวัติ หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล พระอริยะสงฆ์ ๕ แผ่นดิน (๒)

(1/4) > >>

ทรงกลด:
ประวัติย่อของหลวงปู่สุภา โดยคุณ topcat
หัวข้อ...หลวงปู่สุภา กันตสีโล พระเกจิ5แผ่นดิน วัดสีลสุภาราม ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต
http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=12027.0
ผมเคยอ่านประวัติของท่านแล้วรู้สึกสนุกได้สาระความรู้ แต่เท่าที่หาได้ในอินเตอร์เนต ไม่ค่อยจะละเอียดนัก
ด้วยการเดินทางแสนไกลของท่านในสมัยก่อนหลายสิบปีมาแล้ว จากไทยไปพม่า อินเดีย หิมาลัย อาหรับ ปารีส จีน ลาว เขมร เป็นต้น
แต่จะพยายามรวบรวมมาแบ่งปันกันอ่านและศึกษา หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเสริมก็ยินดีมาปันนะครับ :054:

ประวัติย่อ โดยคุณ topcat

--- อ้างจาก: topcat ที่ 01 ก.ย. 2552, 09:37:24 ---ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก  http://www.phuket-it.com/index.php?option=com_content&task=view&id=489&Itemid=123

หลวงปู่สุภา กันตสีโล พระเกจิ5แผ่นดิน วัดสีลสุภาราม ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต

"ถ้าเสียสัตย์ ก็เสียศีล เสียศีลแล้ว ธรรมก็ไม่บังเกิด"

"ฆ่าจิตของเราให้มันตาย อย่าให้มีโกรธ อย่าให้โลภ อย่าให้มีหลง"

ปาฐกถาธรรมอันสะท้อนถึงแก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนา โดยพระมงคลวิสุทธิ์ หรือที่ชาวภูเก็ตหรือพุทธศาสนิกชนชาวไทยรู้จักกันดีในนามของ "หลวงปู่สุภา กันตสีโล" พระเถระเจ้าอาวาสที่มีอายุยืนที่สุดในโลก

ปัจจุบัน หลวงปู่สุภา สิริอายุ 112 พรรษา 92 เป็นเจ้าอาวาสวัดสีลสุภาราม หมู่ที่ 6 ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต

อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า สุภา วงศ์ภาคำ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พุทธศักราช 2438 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ณ บ้านคำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร โยมบิดาชื่อขุนพลภักดี ผู้ใหญ่บ้านคำบ่อ ชื่อเดิม นายพล วงศ์ภาคำ โยมมารดาชื่อ นางสอ วงศ์ภาคำ มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน คือ

1. นางสี วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
2. นายเสน วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
3. นามผม วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
4. นางเกตุ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
5. นายจันทร์เพ็ง วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
6. หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล
7. นางมาลีจันทร์ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
8. นางกา วงศ์ภาคำ

  หลวงปู่สุภา เป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัว เมื่อตอนเป็นเด็กท่านอ้วนท้วนสมบูรณ์ ผิวขาว หน้าตาน่ารักน่าชัง ท่านใช้ชีวิตอย่างเช่นเด็กทั่วๆ ไป ในสมัยนั้นคือ เที่ยววิ่งซุกซนไปตามประสา จะมีโอกาสเรียนเขียนอ่านก็ต่อเมื่อ พ่อแม่พาไปฝากวัดให้พระท่านสอน หรือไม่ก็ให้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ที่รู้หนังสือสอนให้ วัดจึงเป็นสถานที่แห่งเดียวที่เด็กชายไปแสวงหาความรู้ เช่นเดียวกับคนอีสานส่วนใหญ่สมัยนั้น คือมักจะให้ลูกบวชเป็นเณร

  เมื่อหลวงปู่สุภาอายุได้ 7 ขวบ วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านและเพื่อนๆ ออกไปวิ่งเล่นที่ริมทุ่งชายป่า ได้พบกับพระธุดงค์รูปหนึ่ง มาปักกลดพักอยู่ใต้ต้นตะแบกใหญ่ เด็กคนอื่นๆ ที่เห็นพระรูปนั้นไม่ได้สนใจ ต่างพากันวิ่งเล่นกันต่อ เว้นไว้แต่เด็กชายสุภา ซึ่งมีจิตใจโน้มมาทางธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย จะเห็นได้จากการที่ชอบเข้าใกล้พระ ชอบไปวัด ดังนั้นเมื่อท่านเห็นพระธุดงค์รูปนั้นปักกลดพักอยู่ ก็แยกตัวออกจากเพื่อนๆ ตรงเข้าไปกราบ เมื่อพระภิกษุชราที่นั่งพักอยู่ภายในกลดเห็นเด็กชาย หน้าตาน่ารักเข้ามากราบอย่างสวยงาม เหมือนกับได้รับการสั่งสอนมาเป็นอย่างดี จึงมองเด็กน้อยคนนั้นด้วยความเมตตา เพิ่งดูลักษณะอยู่ครู่เดียว จึงบอกเด็กน้อยว่า ต่อไปภายหน้าจะได้บวช เมื่อบวชแล้วอย่าลืมไปหาท่าน พระภิกษุรูปนี้คือ หลวงปู่สีทัตต์ จำพรรษาอยู่ที่วัดท่าอุเทน จังหวัดนครพนมนั้นเอง แต่ในเวลานั้น เด็กชายสุภายังไม่ได้นึกอะไร ได้แต่นั่งคุยกับหลวงปู่สีทัตต์อยู่ครู่หนึ่ง จึงนมัสการลากลับ ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ

  เมื่อหลวงปู่สุภามีอายุได้ 9 ขวบ บิดามารดาได้นำท่านบวชเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์สอน เป็นพระอุปัชฌาย์ สามเณรสุภาได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์สอน เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นท่านได้เดินทางไปเรียนมูลกัจจายน์ที่วัดไพรใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอาจารย์มหาหล้า และฆราวาสชื่อ อาจารย์ลุย เป็นผู้สอน สามเณรสุภาได้ใช้เวลาศึกษามูลกัจจายน์อยู่ที่วัดไพรใหญ่ เป็นเวลาหลายปี เมื่อเรียนจบแล้วได้กราบลาอาจารย์เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม จึงได้ออกเดินทางมานมัสการ หลวงปู่สีทัตต์ ที่วัดท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม หลวงปู่สีทัตต์ ท่านเป็นพระป่า มีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน และทรงวิทยาคม ทางด้านคาถาอาคมไสยเวท ซึ่งท่านได้ศึกษาวิชาอาคมด้านต่างๆ มาจากสมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว สมเด็จลุน ท่านเป็นสุดยอดปรมาจารย์ของประเทศลาว พระเกจิอาจารย์ทางภาคอีสาน แถบลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังล้วนฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านทั้งสิ้น สมเด็จลุนท่านมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมาย เหลือจะบรรยายเป็นตัวอักษรได้ จะขอกล่าวไว้พอเป็นสังเขป สมเด็จลุนท่านสามารถเดินข้ามแม่น้ำโขงด้วยเท้าเปล่า และบางครั้งท่านจะไปนั่งสรงน้ำกลางแม่น้ำโขง นี่คืออิทธิปาฏิหาริย์ของท่าน

  และในบรรดาลูกศิษย์ของสมเด็จลุน หลวงปู่สีทัตต์ ถือเป็นศิษย์เอกที่ได้รับการถ่ายทอดตำราวิทยาคม จากสมเด็จลุนจนหมดสิ้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ลูกไม้จะหล่นไกลต้น

  เมื่อสามเณรสุภา ได้กราบนมัสการหลวงปู่สีทัตต์แล้ว ได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่สีทัตต์ได้รับสามเณรสุภาเป็นศิษย์ด้วยความยินดี นับว่าหลวงปู่สีทัตต์เป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานองค์แรก ของสามเณรสุภา

  สามเณรสุภาได้เริ่มฝึกรรมฐาน และออกธุดงค์กับหลวงปู่สีทัตต์ ซึ่งท่านได้พาสามเณรสุภาธุดงค์ข้ามไปฝั่งลาว หลวงปู่สีทัตต์ได้พาไปที่ถ้ำภูเขาควาย เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีความสวยงามน่าอยู่ ในถ้ำแห่งนี้มีพระสงฆ์ไปปฏิบัติธรรมรวมกันมาก ถ้ำภูเขาควายเปรียบเสมือนถ้ำสำนักตักศิลา ที่มีพระสงฆ์ลาวและไทย ไปจำพรรษาและแลกเปลี่ยนวิชาอาคม หนทางที่จะไปถ้ำถูเขาควายลำบากมาก เต็มไปด้วยสิ่งเร้นลับ พระธุดงค์ที่เดินทางไปถ้ำภูเขาควาย ถ้ามีวิชาอาคมไม่แก่กล้าพอ มักจะเอาชีวิตไปทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก

  สามเณรสุภา ได้ติดตามหลวงปู่สีทัตต์ไปธุดงค์จนอายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ. 2459 หลวงปู่สีทัตต์จึงได้อุปสมบทให้สามเณรสุภา ภายในถ้ำภูเขาควาย โดยมีหลวงปู่สีทัตต์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเถระที่ไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดถ้ำภูเขาควายเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “กนฺตสีโล”

  หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปู่สุภา ได้อยู่ปฏิบัติธรรมต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้นได้ติดตามหลวงปู่สีทัตต์กลับมาจำพรรษาที่ วัดท่าอุเทน เพื่อดำเนินการก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทน เมื่อมีเวลาว่างท่านจะพา หลวงปู่สุภา และลูกศิษย์ออกธุดงค์แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดท่าอุเทน จนกระทั่งสร้างพระธาตุท่าอุเทนเสร็จเรียบร้อย

หลวงปู่สุภา ได้อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงปู่สีทัตต์ เป็นเวลานานถึง 8 ปี

  เมื่อปี พ.ศ. 2463 หลวงปู่สุภา ได้กราบลา หลวงปู่สีทัตต์ เพื่อเดินทางธุดงค์วัตร และออกจากถ้ำภูเขาควาย เดินทางกลับตามที่หลวงปู่สีทัตต์ แนะนำ และ หลวงปู่สีทัตต์ ท่านยังได้บอกว่าท่านจะได้พบกับอาจารย์ที่เก่งมากองค์หนึ่ง

  หลวงปู่สุภา ออกเดินทางไปตามเส้นทางที่ หลวงปู่สีทัตต์ แนะนำ เมื่อถึงจังหวัดหนองคายก็ออกธุดงค์เข้ากรุงเทพฯ เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ท่านได้สอบถามพระเกจิอาจารย์ ที่เก่งทางด้านวิปัสสนากรรมฐานด้านพุทธาคม มีคนเล่าลือว่า อาจารย์ศุข (หลวงปู่ศุข) อยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ท่านจึงได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ จนมาถึงอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เมื่อมาถึงวัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านได้คลานเข้าไปกราบหลวงปู่ศุข ซึ่งขณะนั้น หลวงปู่ศุข ท่านทราบแล้วว่า จะมีพระภิกษุมาจากประเทศลาว หลวงปู่ศุขจึงถามท่านว่ามาจากประเทศลาวใช่หรือไม่? ท่านจึงตอบและกราบเรียน หลวงปู่ศุข ว่า ท่านมีความประสงค์ที่จะมาศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิชาอาคม หลวงปู่ศุข จึงรับไว้เป็นศิษย์ หลวงปู่สุภา ได้ศึกษาวิชาต่างๆ จาก หลวงปู่ศุข เป็นเวลา 3 ปี หลวงปู่ศุข ได้ถ่ายทอดวิชาด้วยความเมตตาต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ถึงแม้ หลวงปู่สุภา จะบวชเป็นพระภิกษุนานถึง 4 พรรษาแล้วก็ตาม แต่ หลวงปู่ศุข ก็ยังเรียกท่านว่า “เณรน้อย” ในขณะที่ หลวงปู่สุภา ได้มอบตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ศุข ท่านมีอายุมากแล้ว แต่ท่านยังปฏิบัติธรรม และนั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ ทุกวัน

หลวงปู่สุภา ให้ความเคารพนับถือ หลวงปู่ศุข เป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่ศุขจึงนับเป็นพระอาจารย์องค์ที่สองของท่าน ต่อจาก หลวงปู่สีทัตต์

  ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาคม หลวงปู่ศุข ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาต่างๆ ให้กับ หลวงปู่สุภา เมื่อ หลวงปู่ศุข นั่งกรรมฐาน หลวงปู่สุภา ท่านก็นั่งด้วย หากติดขัดปัญหาธรรม ก็ไปกราบเรียนถามท่าน ก็เมตตาแนะนำให้ทุกครั้ง ท่านจะปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้ลูกศิษย์ศึกษาทำความเข้าใจ หลวงปู่สุภา ท่านค่อยๆ ศึกษาดูว่า หลวงปู่ศุข ทำอย่างไร? ในเวลาที่ท่านปลุกเสกวัตถุมงคลก็ไปคอยสังเกต พระคาถาต่างๆ หลวงปู่ศุข ก็สอนให้บ้าง จดจำเองบ้าง และไปขอท่านบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีลูกศิษย์คนใดจะปฏิบัติจนบรรลุได้เหมือน หลวงปู่ศุข บางครั้งเวลาลงยันต์ทำตระกุด ต้องลงไปทำในใต้น้ำไม่มีใครเห็น จะเห็นก็ต่อเมื่อตอนท่านขึ้นจากน้ำแล้ว
  หลวงปู่สุภา ท่านศึกษาวิทยาคม จากการอ่านตำราที่ท่านจดเขียนไว้บ้าง ดูจากกรรมวิธีที่ หลวงปู่ศุข ทำให้ดูบ้าง เรียนถามท่านบ้างท่านก็แนะนำให้พอสมควร ใครสนใจมากก็ได้มาก ใครไม่สนใจก็ไม่ได้เลย แต่ส่วนใหญ่ หลวงปู่ศุข ท่านจะเน้นเรื่องการรักษาศีล และการกฏิบัติมากกว่า เพราะท่านสอนว่า ถ้าศีลบริสุทธิ์ คุณวิเศษจะมีมาเอง หลวงปู่สุภา ได้ศึกษาธรรม และวิทยาคมต่างๆ มากมายโดยเฉพาะความรู้ในทางธรรม และวิทยาคมต่างๆ ในครั้งนั้นมีพระภิกษุไปปฏิบัติธรรม และเรียนวิชาอยู่กับหลวงปู่ศุข ด้วยกันหลายสิบรูป ซึ่งปัจจุบันมรณภาพกันไปหมดแล้ว เท่าที่ทราบในเวลานี้ มีเพียง หลวงปู่สุภา เพียงรูปเดียวในบรรดาศิษย์รุ่นเดียวกัน ที่ยังมีชีวิตอยู่นับถึง

  ล่าสุด ได้มาสร้างวัดแห่งหนึ่ง และได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า วัดสีลสุภาราม และหลวงปู่สุภายอมรับเป็นเจ้าอาวาสเป็นวัดแรกในชีวิต

  หลวงปู่สุภา นับเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติอยู่ในความเพียร ความวิริยะ อุตสาหะ ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม   แม้วัยล่วงเลยมากว่าหนึ่งศตวรรษ แต่หลวงปู่สุภา ไม่เคยย่อท้อในชีวิตของท่าน มีแต่คำว่าให้และสร้างทุกอย่างสำเร็จ  ด้วยเมตตาบารมีธรรมของท่าน

--- End quote ---

ทรงกลด:
หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล ท่านได้ถือกำเนิด ที่บ้านคำบ่อ ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2439 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ปัจจุบัน อายุ 115 ปี



คำสั่งพระอาจารย์สีทัตต์

พุทธศักราช ๒๔๖๓ หลวงปู่สุภาได้ตัดสินใจธุดงค์เดี่ยว จึงมากราบลาพระอาจารย์สีทัตต์เพื่อออกธุดงค์ พระอาจารย์สีทัตต์ได้สั่งสอนว่า
“ไปให้ดีเถอะเณรน้อย เดินให้สม่ำเสมอ จิตรู้อารมณ์ อย่าเร็วนัก อย่าช้านัก ให้อยู่ในกลาง ๆ โบราณาจารย์ได้สั่งสอนศิษย์เป็นคติสอนใจว่า อยากถึงเร็วให้คลาน อยากถึงนานให้วิ่ง รู้ไหม หมายความว่าอย่างไร อยากถึงเร็วให้คลาน คือไปแบบไม่รีบร้อนด่วนได้ จะถึงจุดหมายแบบปลอดภัย ให้ลุกลี้ลุกลนเกินไป ก็จะเหมือนคนวิ่งไปด้วยความคะนอง สะดุดล้ม แข้งขาหัก เดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องช้าไปอีกนานทีเดียว”

เมื่อหลวงปู่สุภาพร้อมที่จะเดินทาง พระอาจารย์สีทัตต์ได้กล่าวคล้ายคำสั่งเสียด้วยความห่วงใยว่า
“เณรน้อยจงไปภูเขาควาย ออกจากภูควายแล้ว ให้ไปท่าเดื่อ จากท่าเดื่อไปหนองคาย ที่นั่นเธอจงสละธุดงควัตร แล้วเร่งเดินทางไปทางเหนือ ที่นั่นเธอจะได้พบพระอาจารย์องค์หนึ่ง มีความเชี่ยวชาญด้านกสิณและวิชชาแปดประการ มีอภิญญาสูงมาก เธอจะได้รับความรู้จากท่านเป็นอันมาก ที่ต้องให้สละธุดงควัตร เพราะท่านเหลือเวลาไม่มากแล้วในการสั่งสอนเณรน้อย หากเดินธุดงค์แบบธรรมดาน่าจะสายเกินไป”

จากภูควาย หลวงปู่สุภาข้ามมาท่าเดื่อ แล้วอธิษฐานจิตออกจากธุดงควัตรที่ตัวจังหวัดหนองคาย ฝากบริขารธุดงค์ไว้กับพระที่คุ้นเคยในระหว่างธุดงค์ภูควาย และจับรถไฟเข้ามากรุงเทพฯ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการไปสู่ภาคเหนือเพื่อแสวงหาพระอาจารย์ตามคำสั่งของพระอาจารย์สีทัตต์ เหมือนโชคชะตาเป็นใจให้หลวงปู่สุภา เพราะในขณะที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านก็ได้ข่าวพระอาจารย์รูปหนึ่งที่แถววังนางเลิ้ง เขาบอกกันว่า

“ท่านพระครูวิมลคุณากร หรือหลวงปู่ศุข เกสโร แห่งวัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ซึ่งเสด็จในกรมฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเลื่อมใส ถวายตัวเป็นศิษย์ถึงที่วัดทีเดียว”
หลวงปู่สุภา จึงเดินทางไปวัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ด้วยการเดินทางสมัยนั้นยังลำบากและเหน็ดเหนื่อย แต่พอเดินทางมาถึงวัดอู่ทอง เมื่อพอเข้าเขตวัด หลวงปู่รู้สึกว่าเยือกเย็นและมีอะไรบางอย่างที่บอกว่า ที่นี่แหละคือที่ ๆ พระอาจารย์สีทัตต์กำหนดให้มา

เบื้องหน้าผู้สำเร็จวิชชาแปดประการ

เมื่อหลวงปู่สุภาเดินทางมาถึงวัดอู่ทอง จึงเดินทางไปกุฏิ พอเห็นกุฏิหลวงปู่ศุข ก็จะขึ้นไปนมัสการ ขณะล้างเท้า เสียงของหลวงปู่ศุขก็ดังมาจากชั้นบนของกุฏิ “มาถึงแล้วหรือพ่อเณรน้อย กำลังรออยู่พอดี ล้างเท้าแล้วขึ้นมาเห็นหน้าเห็นตากันหน่อย”
มีแต่เสียงทักทาย แต่ไม่ปรากฏหลวงปู่ศุขที่นอกชาน เมื่อมองขึ้นไปไม่เห็นใคร จึงได้คิดในใจว่า ... นี่คือพลังปราณของผู้ที่สำเร็จ สามารถออกเสียงให้ดัง ค่อย หรือไกล ใกล้แค่ไหนก็ได้ ขึ้นไปชั้นบนของกุฏิแล้ว ก็เห็นพระภิกษุรูปร่างสันทัด ผอมเกร็ง แต่ผิวพรรณวรรณะผุดผ่อง คล้ายกับทาด้วยขมิ้น ทว่า เมื่อคลานเข้าไปกราบต่อหน้าท่านและลุกขึ้นนั่งพนมมือ ได้สังเกตใกล้ ๆ พบว่า ไม่ใช่ขมิ้น แต่เป็นแสงอะไรบางอย่างที่เรื่อเรืองอยู่บนผิวพรรณของหลวงปู่ศุข ที่ทำให้เกิดความสง่าคล้ายทาขมิ้น หลวงปู่ศุขได้มองมาที่หลวงปู่สุภาและเอ่ยขึ้นว่า
“นี่เอง เณรที่ท่านสีทัตต์ได้บอกไว้ในฌาน เป็นคุณนี่เอง เณรน้อยต้องการอะไร จะเรียนอะไรก็บอกมาได้ไม่ขัดข้อง ท่านสีทัตต์ฝากมาแล้วนี่”
คำว่า “ฌาน” คำว่า “ฝากมาแล้วนี่” ทำให้หลวงปู่สุภาประจักษ์ว่า อภิญญาจิต การถอดกายทิพย์ การใช้โทรจิต มีจริง ก่อนที่ท่านจะมานมัสการหลวงปู่ศุข ทางพระอาจารย์สีทัตต์ได้ถอดกายทิพย์มาฝากฝังหลวงปู่สุภากับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ไว้เรียบร้อยแล้วนั่นเอง หลวงปู่สุภาจึงไม่กล้าที่จะเอ่ยว่า จะมาเรียนอะไร นอกจากจะกล่าว
“กระผมขอให้เป็นเรื่องที่ท่านอาจารย์จะเมตตาอบรมสั่งสอนก็แล้วกันขอรับ เห็นว่าอะไรเหมาะ อะไรควร ก็สั่งสอนให้กระผมก็แล้วกัน”

เมื่อหลวงปู่ศุขได้ยินดังนั้น ก็หัวเราะ หึ หึ ด้วยความพอใจ แล้วกล่าวกับหลวงปู่สุภาว่า
“สมแล้วที่เป็นศิษย์ท่านสีทัตต์ มีความสงบเสงี่ยมเจียมตัวใช้ได้ หลายรูป มาถึงไม่ดูวาสนาบารมีตนเองว่าจะสามารถรองรับได้หรือไม่ จะเรียนโน่น จะเรียนนี่ สุดท้ายก็กลับไปมือเปล่า เพราะขาดวาสนาบารมี เพราะเมื่อขาดวาสนาบารมีและการเจียมตัวแล้ว อะไรก็ไม่สำเร็จ เอาละ ไปพักผ่อนก่อน ถึงเวลา จะเรียกมาสอบฐานความรู้และประสิทธิประสาทวิชาต่อไป”

เมื่อถึงเวลา หลวงปู่ศุขก็ได้สอบอารมณ์กรรมฐานและดูพื้นฐานการศึกษาวิชาอาคมของท่าน ที่ร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์สีทัตต์ เมื่อทดสอบแล้วเห็นว่าบกพร่องตรงไหน ก็ช่วยแก้ไขให้ถูกต้อง ปรับระดับการเข้าฌาน การทำกสิณและการเพ่งด้วยกสิณเป็นประการต่าง ๆ หลวงปู่ศุขสอนว่า
“มีวิชาหลายอย่างที่ปู่สำเร็จ แต่บารมีเณรน้อยนั้นเรียนไม่ได้ โดยเฉพาะวิชชาแปดประการที่เณรน้อยต้องการจะเรียน วาสนาบารมีของเณรน้อยไปไม่ได้ จะให้วิชาสำคัญ คือ การลงนะหน้าทอง และการเสกให้ทองเข้าไปแทรกในอณูภายในร่างกาย เขาเรียกว่า เป่าทองเข้าตัว”

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-supa-hist.htm

ทรงกลด:

--- อ้างถึง ---หลวงปู่สุภา ให้ความเคารพนับถือ หลวงปู่ศุข เป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่ศุขจึงนับเป็นพระอาจารย์องค์ที่สองของท่าน ต่อจาก หลวงปู่สีทัตต์

ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาคม หลวงปู่ศุข ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาต่างๆ ให้กับ หลวงปู่สุภา เมื่อ หลวงปู่ศุข นั่งกรรมฐาน หลวงปู่สุภา ท่านก็นั่งด้วย หากติดขัดปัญหาธรรม ก็ไปกราบเรียนถามท่าน ก็เมตตาแนะนำให้ทุกครั้ง ท่านจะปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้ลูกศิษย์ศึกษาทำความเข้าใจ หลวงปู่สุภา ท่านค่อยๆ ศึกษาดูว่า หลวงปู่ศุข ทำอย่างไร? ในเวลาที่ท่านปลุกเสกวัตถุมงคลก็ไปคอยสังเกต พระคาถาต่างๆ หลวงปู่ศุข ก็สอนให้บ้าง จดจำเองบ้าง และไปขอท่านบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีลูกศิษย์คนใดจะปฏิบัติจนบรรลุได้เหมือน หลวงปู่ศุข บางครั้งเวลาลงยันต์ทำตระกุด ต้องลงไปทำในใต้น้ำไม่มีใครเห็น จะเห็นก็ต่อเมื่อตอนท่านขึ้นจากน้ำแล้ว

หลวงปู่สุภา ท่านศึกษาวิทยาคม จากการอ่านตำราที่ท่านจดเขียนไว้บ้าง ดูจากกรรมวิธีที่ หลวงปู่ศุข ทำให้ดูบ้าง เรียนถามท่านบ้างท่านก็แนะนำให้พอสมควร ใครสนใจมากก็ได้มาก ใครไม่สนใจก็ไม่ได้เลย แต่ส่วนใหญ่ หลวงปู่ศุข ท่านจะเน้นเรื่องการรักษาศีล และการปฏิบัติมากกว่า เพราะท่านสอนว่า ถ้าศีลบริสุทธิ์ คุณวิเศษจะมีมาเอง หลวงปู่สุภา ได้ศึกษาธรรม และวิทยาคมต่างๆ มากมายโดยเฉพาะความรู้ในทางธรรม และวิทยาคมต่างๆ ในครั้งนั้นมีพระภิกษุไปปฏิบัติธรรม และเรียนวิชาอยู่กับหลวงปู่ศุข ด้วยกันหลายสิบรูป ซึ่งปัจจุบันมรณภาพกันไปหมดแล้ว เท่าที่ทราบในเวลานี้ มีเพียง หลวงปู่สุภา เพียงรูปเดียวในบรรดาศิษย์รุ่นเดียวกัน ที่ยังมีชีวิต
--- End quote ---
ที่มา
http://www.nakusol.com/

วิชาเป่าทองเข้าตัว / อภิญญจิตตัวสำคัญ

หลวงปู่ศุขได้เมตตาอธิบายให้เข้าใจถึงหลักของการเป่าทองเข้าตัวอย่างละเอียด ซึ่งหลวงปู่สุภาได้บันทึกไว้ว่า
“วิชาเป่าทองเข้าตัว มิใช่เพื่อมหานิยม แต่ยังสามารถป้องกันอันตรายต่าง ๆ ทั้งจกคมหอก คมดาบ ปละปืนไฟ ไปจนถึงมีมหาอำนาจแล้วแต่จะประสิทธิ์ประสาทในด้านใด ต้องพิจารณาบุคคลแต่ละบุคคลที่จะลงแผ่นทองหรือเป่าทองให้ ว่าเป็นอย่างไร บารมีพอที่จะรับทองได้กี่แผ่น แต่ละคนล้วนมีข้อปลีกย่อยผิดแผกออกไป แล้วแต่กรณีต้องดูว่าจะลงให้ทางไหน ตามที่กำหนดไว้ในตำรับของครูบาอาจารย์เท่านั้น จะนอกเหนือหรือขาดตกบกพร่องไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว
การที่ทองจะแทรกเข้าไปในสู่ทุกอณูไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่ต้องมีหัวใจสองอย่างคือ น้ำมันว่าน และเกสร ๑๐๘ ชนิด เคี่ยว ผสมด้วยพระเวทย์อาคมที่ต้องแก่กล้าด้วยพลังอภิญญาเท่านั้น หากทำไม่ถูกต้อง จะไม่สามารถเปิดรูขุมขนของผู้ที่จะเป่าทองเข้าตัวได้ การเป่าก็จะไม่ได้ผลทั้งสิ้น ไม่เกิดพลังใด ๆ เป็นสูญเท่านั้น การจุดเหล็กจาร ที่จุ่มน้ำมันว่านและเกสร ๑๐๘ ชนิด และการเป่าภาวนาเพื่อดันทองเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่จะลง และให้กำหนดให้ผู้รับการลง หรือเป่าทอง กำหนดจิตอธิษฐานเอาเอง การเรียนการสอนทำได้เฉพาะตอนกลางคืนที่เป็นเวลาสงัด เพราะตอนกลางวันไม่สามารถจะเรียนได้ ด้วยมีคนมานมัสการหลวงปู่ศุข ขอโน่นขอนี่ จนท่านไม่มีเวลาจำวัด เรียกว่า หัวบันไดไม่แห้ง แต่หลวงปู่ศุขก็ไม่เคยท้อถอย หรือแสดงอาการไม่พอใจแต่อย่างใด

หมากหินยอดของขลัง

หลวงปู่สุภามีหน้าที่คอยอุปัฏฐากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าด้วยการตำหมากถวาย ที่หลวงปู่ศุขเคี้ยวหมากติดต่อกัน ไม่ใช่ว่าท่านเคี้ยวหมากจนติด แต่ที่ท่านต้องเคี้ยวติดต่อกัน ก็เพราะ ญาติโยมที่มานั้น จะจ้องขอชานหมากของหลวงปู่ศุขที่เคี้ยวแล้ว เพื่อติดตัว นำไปป้องกันอันตราย เมื่อหลวงปู่ศุขพูดคุยกับญาติโยมไป ท่านก็เคี้ยวหมากไปเรื่อย ๆ พอเขาจะลากลับ ก็จะขอชานหมากของท่าน ท่านก็จะคายชานหมากออกมาที่ฝ่ามือ จัดให้เป็นก้อนกลม ๆ ด้วยการปั้น ชานหมากที่ปั้นแล้วท่านจะเอามาไว้ในฝ่ามือที่พนม หลับตาภาวนาคาถาของท่านครู่ใหญ่ จึงเป่าลมปราณลงไปในฝ่ามือที่แบออกดัง “เพี้ยง” จากนั้นก็ยื่นให้กับญาติโยมที่ขอคนละเม็ด

ตอนแรกหลวงปู่สุภาก็คิดว่าเป็นชานหมากเสกธรรมดา แต่มีหลายคนที่รับมาแล้ว ไม่ได้ระวัง เลยหลุดจากมือ ตกลงกระทบพื้นเสียงดัง “แป๊ก” คล้ายกับลูกหิน หรือลูกกระสุนยิงนกที่ปั้นด้วยดินเหนียวตากแห้งตกกระทบพื้น ก็ชานหมากธรรมดาน่ะ นุ่ม แม้ตากแห้งก็ร่วนกรอบ แต่นี่หลวงปู่ศุขเสกแล้วหล่นลงพื้นดัง แป๊ก จึงรู้สึกแปลกใจ เมื่อมีเวลา เลยแอบขอญาติโยมดูด้วย แล้วพิจารณา หลวงปู่สุภาท่านบอกว่า
“ลูกอมชานหมากที่หลวงปู่ศุขปั้นแล้วเสกเพี้ยง แทนที่จะมีสภาพเป็นชานหมากนุ่ม ๆ กลับเปลี่ยนสภาพเป็นชานหมากที่แข็งมาก บีบดูเหมือนบีบลูกหิน หากไม่ได้ลูบ ก็ต้องบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปแล้ว หลวงปู่ศุขเปลี่ยนสภาพจากชานหมากนุ่ม ๆ ให้เป็นชานหมากหินไปได้ในเวลาเพียงหนึ่งอึดใจเท่านั้น”

เมื่ออยู่กันสองต่อสอง เวลาเรียน หลวงปู่ศุขก็พูดกับหลวงปู่สุภาว่า เณรน้อยสนใจไม่ใช่หรือ หมากหินน่ะ เห็นไปแอบขอญาติโยมดู พลังจิตของเณรสามารถทำได้นะ แต่ต้องได้รับคำแนะนำอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำได้แล้ว หลักไม่มีอะไรมากหรอก เป็นการใช้อำนาจปฐวีกสิณ เปลี่ยนชานหมากที่เป็นของเหลว หยุ่น ธาตุน้ำ ให้แข็งเป็นหิน เป็นดิน เขาเรียกว่า “เคลื่อนย้ายถ่ายเปลี่ยนธาตุ” โดยหลวงปู่สุภาก็ได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่ศุขจนสามารถเสกชานหมากได้ในที่สุด โดยการเจริญสมาธิ เข้าฌานและเข้ากสิณ จนถึงการภาวนา และเปลี่ยนจนชานหมากแปรสภาพไปในที่สุด จนเสกให้หยุ่นเหมือนกับลูกยางก่อน แล้วจึงเร่งพลังขึ้นไปจนถึงที่สุด หลวงปู่สุภาเล่าตอนนี้ว่า
“เสกได้จริง แต่ไม่เหมือนกับหลวงปู่เสก คือของหลวงปู่ศุขเป็นหินจริง ๆ แต่ของท่านเสกให้แข็งได้แต่ภายนอก แต่ภายในยังไม่แข็ง เรียกว่า บีบแรง ๆ กระแทก ๆ ก็จะแตกเห็นเป็นชานหมากธรรมดาที่แห้ง ไม่แข็งเป็นหินทั้งหมด ด้วยบารมีท่านไม่อาจสู้หลวงปู่ศุขได้ เหมือนคำโบราณ ‘ศิษย์ไม่อาจคิดสู้ครูได้’ “

หลวงปู่สุภาทำหน้าที่คอยอุปัฏฐากหลวงปู่ศุขจนได้เวลาอันสมควร หลวงปู่ศุขจึงได้เรียกให้หลวงปู่สุภามาพบ และได้บอกว่า เณรน้อยได้เรียนมาพอสมควรแล้ว วิชาที่เรียนไปก็พอจะช่วยเหลือคนได้ เณรน้อยทิ้งธุดงควัตรมานานแล้ว เณรเหมาะกับธุดงค์ เณรชอบของเณรอย่างนั้น ปู่เองก็เคยเป็นนักธุดงค์ แต่เมื่อโยมแม่ขอให้อยู่ใกล้ชิด ก็เลยแขวนกลดแต่นั้นมา เณรน้อยเตรียมตัวให้พร้อม ปู่จะสอนวิชาที่ไม่เคยมีผู้ใดได้เล่าเรียนมาก่อน และวาสนาบารมีของเณรน้อยเรียนวิชานี้ได้

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-supa-hist.htm

ทรงกลด:
สุดยอดเคล็ดวิชา สำนักวัดปากคลองมะขามเฒ่า

   หลังจากที่หลวงปู่ศุขปรารภ ให้หลวงปู่สุภากลับสู่เส้นทางธุดงค์ โดยได้กำหนดวันเดินทางไว้แล้ว แต่ก่อนการเดินทางเพียงสองวัน หลวงปู่ศุขได้ให้หลวงปู่สุภาเตรียมตัวเรียนวิชาที่เป็นสุดยอดเคล็ดวิชาที่ท่านบอกว่า หลวงปู่สุภาจะเป็นคนแรกและคนสุดท้าย ด้วยหาผู้มีวาสนาบารมีจะเรียนได้ยากเต็มที ดอกไม้ธูปเทียน หมากพลูบุหรี่ ถูกลูกศิษย์หลวงปู่ศุขเตรียมไว้ให้หลวงปู่สุภาเรียบร้อย เพื่อเป็นเครื่องบูชาครูกับหลวงปู่ศุข หลวงปู่ได้นำไปไว้บนที่บูชาพระ และบอกกับหลวงปู่สุภาให้รอเวลาตอนสงัดคน จะสอนเคล็ดวิชาให้จนหมด พร้อมกับมอบตำราให้ไปติดตัว วิชานี้เรียกว่า “แมงมุมมหาลาภ” ต่อไปเณรน้อยจะต้องสงเคราะห์ผู้คนอีกมาก ความจน ความขัดข้อง การทำมาหากินฝืดเคือง เป็นทุกข์อย่างยิ่งสำหรับฆราวาส นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ทางโลก

   ทำไมจึงต้องเป็นแมงมุม มีเรื่องราวที่เณรน้อยควรจะรู้ไว้เป็นเครื่องประเทืองปัญญา เณรน้อยเคยเห็นแมงมุมตัวไหนอดอยากปากแห้ง ตายคาใยที่มันขึงไว้ดักอาหารหรือไม่ แมงมุมเป็นสัตว์ขยันและสะอาด แมงมุมไม่ออกล่าเหยื่อในที่ต่าง ๆ เหมือนสัตว์ทั่วไป แต่แมงมุมจะชักใยสร้างเป็นอาณาเขตเอาไว้เพื่อดักแมลง ใยแมงมุมของแมงมุม กว่าจะได้ต้องมีความมานะพยายามอย่างยิ่ง ที่ว่าแมงมุมเป็นสัตว์สะอาดก็คือ มันจะไม่ออกไล่ล่าเหยื่อนอกเขตใยของมัน มันจะไม่ไล่แมลงตกใจบินหรือคลานมาติดที่ใยของมัน แต่มันจะรออยู่กับที่ รอให้เหยื่อเข้ามาติดใยของมัน มันจึงออกมาพันซ้ำด้วยใย และจับกิน พูดให้ฟังง่าย ๆ ก็คือ แมงมุมจะกินสัตว์ที่ถึงฆาต หรือถึงแก่วาระหมดชีวิต ถือว่าหลงเข้ามาในใยที่ดักไว้ คือแมลงที่หมดเวลาอยู่บนโลกนี้ ถือว่าหมดเวลา ถึงที่ตายแล้ว จึงมาติดใย ไม่ต้องออกล่าเหยื่อ ก็มีแมลงหลงเข้ามาให้กิน จนเจ้าแมงมุมหมดบุญคือตายจากโลกตามเวลาสมควร

   การเปิดร้านค้าขาย เปิดบริษัทขายสินค้าเช่นกัน เหมือนกับแมงมุม คือดักใยล่อเอาไว้ หากไม่มีลูกค้า หรือแมลงมาติด ก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ คือกิจการต้องล้มไปในที่สุด การทำแมงมุมชักใย คือการใช้คาถาอาคมสร้างแมงมุมและใยอาคม เพื่อให้บริษัทห้างร้านที่มีแมงมุมชักใยอาคมนี้มีลูกค้ามาติดต่อ มาซื้อ มาขาย มาเปลี่ยนอย่างคึกคัก มีกำรี้กำไรสมดังที่คิดไว้ นี่แหละคือหัวใจสำคัญของแมงมุมอาคมที่แจะสอนเจ้าให้เอาไว้ช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า ให้ร่ำรวยมีฐานะดีต่อไปในภายภาคหน้า ปู่มอบให้เณรน้อยเป็นวิชาสุดท้ายก่อนจากกัน และเป็นศิษย์คนแรกและคนสุดท้าย ด้วยว่าชีวิตของฉันไม่ยืนยาวพอที่จะหาศิษย์มาสืบทอดวิชาแมงมุมนี้ได้อีก

หัวใจสำคัญของวิชาแมงมุมนั้น แบ่งออกเป็นสองขั้นตอนของการสร้าง

๑. ตัวแมงมุม ต้องสร้างให้มีลักษณะคล้ายกับแมงมุม ทั้งสัดส่วน ลำตัว และส่วนที่เป็นขา ใส่นัยน์ตาและเขี้ยวให้พร้อม เรียกว่า ต้องให้ดูออกว่า เหมือนแมงมุมจริง ๆ เรียกธาตุทั้ง ๔ ลงอักขระปลุกเสกจนแมงมุมขยับตัวในอุคหนิมิต ถึงจะสำเร็จตามที่ต้องการ

๒. ส่วนที่เป็นใย ต้องเอาสายสิญจน์ หรือด้ายที่เตรียมไว้มาเสกให้ได้ที่เสียก่อน จึงเริ่มชักใยแมงมุม หำหรับนำแมงมุมไปเกาะไว้บนใย

๓. ลงอักขระเรียกสูตร เรียกนามจนครบตามตำรับที่ฉันสอนให้ทุกอย่าง เมื่อประกอบเรียบร้อยแล้ว ปลุกเสกให้เห็นแมงมุมเคลื่อนไหวไปมาบนใยในอุคหนิมิต จึงเป็นเสร็จตามขั้นตอน เอาไปติดไว้ในร้านที่ผู้คนมองเห็นได้ถนัด นั่นแหละคือมนต์เรียกคนเข้าร้าน จะว่าเป็นมนต์จินดามณีก็คงจะได้กระมัง
เมื่อถึงเวลาที่จะออกเดินทาง หลวงปู่สุภาก็มากราบนมัสการลาหลวงปู่ศุข ซึ่งอวยชัยให้พรและประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล แล้วหลวงปู่ศุขก็กล่าวว่า
“ไม่ไปส่งเณรน้อยละนะ ไปตามทางที่เณรน้อยมา ต่อไปเราจะไม่ได้พบกันอีก นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่แจะได้พบกับเณรน้อย อายุของปู่ใกล้จะแตกดับแล้ว รู้สึกยินดีที่ได้รับเณรน้อยไว้เป็นศิษย์ในภายภาคหน้า เณรน้อยคือผู้สืบทอดตำราของปู่ในด้านแมงมุมคนแรกและคนเดียว หากเณรน้อยไม่ประสิทธิ์ประสาทต่อไปก็จะสิ้นสุดลงในมือของเณรน้อยนั่นเอง”

เมื่อถึงตอนนี้ หลวงปูสุภาต้องหยุดเล่าเรื่อง เหมือนกับว่า ท่านจะระลึกถึงหลวงปู่ศุข พระอาจารย์ของท่าน แล้วรู้สึกตื้นตันใจ จนต้องหยุดรำลึกถึงความปีติ ท่านได้เล่าต่อไปว่า
“เกือบลืมไป ยังมีวิชาอีกอย่างหนึ่งที่ใช้คู่กับแมงมุม คือ การลงอักขระบนผืนผ้า ท่านเรียกว่า ‘ยันต์รับทรัพย์’ ผ้ายันต์รับทรัพย์ที่ลงอักขระแล้วปลุกเสก จะเหมือนการปูผ้าไว้รอรับเงินที่จะมีผู้มากองให้ บูชาติดตัวเป็นมหานิยม อยู่ในร้านค้าก็เรียกลูกค้า ใช้ติดกับคันธง ปักไว้ให้ชายปลิวไปตามลม ปลายธงสะยัดไปทางไหน ก็มีผู้คนแห่ไปทางนั้น ทำมาค้าขายก็รับทรัพย์เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี”

การที่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้พูดว่าจะพบกันเป็นครั้งสุดท้าย ก็เป็นจริง เพราะหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงปู่สุภา อยู่ระหว่างการออกธุดงค์ และมารู้ข่าวก็เมื่อมีการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ศุขไปแล้ว

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-supa-hist.htm

คาถาแมงมุมมหาลาภ หลวงปู่สุภา วัดสีลสุภาราม

ภาพจาก http://www.krusiam.com/

นะโม (3 จบ)

สุวัณณะรัชชะตัง มหาสุวัณณะรัชชะตัง
อังคะตะเศรษฐี มหาอังคะตะเศรษฐี
มิคะตะเศรษฐี มหามิคตะเศรษฐี
ปุริเศษสาวา อิตถีวา พรหมณีวา มะอะอุมานิมามา

ที่มา: http://www.pornkruba.net


 หลวงปู่ศุขบอกสรรพคุณของผ้ายันต์รับทรัพย์นี้ว่า

"ผู้ใดมีผ้ายันต์รับทรัพย์นี้ติดตัว จะมีเสน่ห์เมตตามหานิยม อาหารการกินไม่ขาดแคลน อยากกินอะไรก็ได้กิน ทำมาค้าขายก็ค้าขายดี มีแต่คนมาซื้อข้าวของบอกแพงนิดแพงหน่อยก็ไม่ต่อไม่ตาม หรือตามบ้างก็พอเป็นพิธี ข้าวของขายดิบขายดีมีแต่คนเมตตา เรียกว่าเหมือนปูผ้าเอาไว้แล้วมีคนโยนเงินทองข้าวของมาใส่ เป็นสุดยอดแห่งผ้ามหานิยม"
ที่มา
http://modamulet.tarad.com/

ทรงกลด:
เส้นทางสู่โลกที่สาม

   เมื่อกลับมาจากเรียนวิชากับหลวงปู่ศุข หลวงปู่สุภาได้กลับเข้าสู่การออกธุดงค์อีกครั้งโดยรับบริขารธุดงค์ที่เคยฝากไว้ เพื่อกลับสู่เส้นทางของการแสวงหาความวิเวก ท่านได้เดินทางไปทางภาคเหนือ และข้ามชายแดนสู่ประเทศพม่า ว่าจะไปนมัสการเจดีย์ชะเวดากองและพระมุเตาในหงสาวดี แต่ท่านก็มิได้ไปด้วย ท่านตัดทางเข้าสู่ป่าทึบ และได้พบกับพระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่าที่ปลีกวิเวกไปแสวงหาความสงบบนถ้ำ เทือกเขาลึก
หลวงปู่สุภาดั้นด้นไปจนพบที่จำศีลภาวนาของพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระชาวพม่า ได้พบว่าเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่การบูชา ทว่าการสอนวิปัสสนาผิดแผกแตกต่างไปจากของทางฝ่ายไทย ซึ่งสอนเป็นแบบที่เรียกว่า กำหนดหนอ คือจิตอยู่ อิริยาบถ ๔ หรือที่ไทยเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ คือ นั่ง ยืน เดิน นอน ซ้ายหนอ ขวาหนอ เข้าหนอ ออกหนอ ซึ่งเมื่อหลวงปู่สุภาเข้าเรียนตามแบบที่พระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่าสอนก็รู้สึกได้ว่า “ไม่ถูกกับอัธยาศัย” เรียกว่าไม่สามารถเล่าเรียนได้ เพราะขัดกับรากฐานทางกรรมฐานที่ได้เล่าเรียนมาจากพระวิปัสสนาจารย์ทางฝั่งไทย จึงได้กราบนมัสการลาพระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่า แล้วออกแสวงหาความวิเวกไปตามลำพัง ตามป่าเขาลำเนาไพรในพม่า ได้ผจญภัยนานัปการ จนท่านพูดได้ว่า เป็นธุดงค์ที่ตื่นเต้นและเสี่ยงที่สุดตั้งแต่เดินทางธุดงค์เดี่ยวมาเป็นเวลาพอสมควร

ระหว่างที่ธุดงค์อยู่ในพม่า ได้พบกับพระธุดงค์ไทยหลายรูป บางรูปบอกว่าท่านจะธุดงค์ออกจากพม่าไปอินเดีย เพื่อไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จึงจะกลับ ท่านจึงครุ่นคิดว่า การธุดงค์มาประเทศพม่า ถือเป็นประเทศที่ ๒ หากเดินทางต่อไปยังอินเดีย ก็เป็นโลกที่ ๓ และเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาเสียด้วย อย่ากระนั้นเลย หาวัดจำพรรษาเสียก่อน พอออกพรรษาแล้วค่อยแบกกลดธุดงค์สู่โลกที่ ๓ ต่อไป เพราะท่านชอบการเดินธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ จนกล่าวได้ว่า เข้าไปในสายเลือดเลยทีเดียว เส้นทางสู่โลกที่สามยาวไกล แจะสิ้นสุดตรงไหนก็แล้วแต่ว่า หลวงปู่สุภาจะหยุดลงด้วยตัวของท่านเอง
ออกพรรษา เวลาแห่งการจาริกสู่โลกที่สาม เริ่มขึ้นแล้ว ณ บัดนี้

ท่องไปในโลกกว้าง

   ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่สุภาเตรียมบริขารธุดงค์ออกจากป่ามายังเมืองท่าในพม่า ซื้อตั๋วเรือเดินทะเลเพื่อออกจากพม่าไปยังดินแดนอันเป็นพุทธภูมิ คือ ประเทศอินเดีย ท่านต้องรอนแรมอยู่ในทะเล ผจญคลื่นทะเลอยู่ ๑ เดือน ๒๕ วัน เรือจึงจอดเทียบท่าที่ประเทศอินเดีย เมื่อลงจากเรือ ก็ธุดงค์ต่อไปเรื่อย ๆ ผจญความยากลำบากแสนเข็ญ เพราะคนอินเดียส่วนใหญ่เป็นฮินดู ที่เป็นพุทธอยู่น้อย ก็ต้องแสวงหาสัปปายะด้วยความยากลำบาก ได้ฉันบ้าง อดบ้างไปตามแกน แต่ดีที่ท่านไม่เจ็บป่วยถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ จึงทำให้ท่านสามารถผ่านเส้นทางอันทุรกันดารไปได้จนตลอดรอดฝั่งในที่สุด

จากดินแดนอันแผดเผาด้วยเปลวแดด สู่ดินแดนอันเหน็บหนาวของหิมพานต์ที่ชาวอินดูเชื่อว่า เป็นที่สถิตของจอมเทพ ผู้มีพระนามว่า “องค์ศิวะมหาเทพ” ซึ่งในประเทศไทยเรียกว่า “พระอิศวร” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของมหาเทพของฮินดู ภูเขาหิมาลัยสูงเสียดฟ้า ยอดปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี ตลอดชาติ เป็นแหล่งรวมของฤๅษีจากทั่วสารทิศ จะมาชุมนุมกันที่นี้ เรียกกันว่า “เมืองฤๅษีเกษ” อยู่ชานภูเขาหิมาลัย เมืองนี้เป็นเมืองของฤๅษีที่ล้วนมีฤทธิ์อย่างถึงที่สุดของอำนาจต่าง ๆ เป็นนานาประการ ความหนาวเหน็บ ทำให้หลวงปู่สุภาได้รับทุกขเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ต้องอาศัยเตโชกสิณในการช่วยสร้างความอบอุ่น เวลาออกบิณฑบาต ก็ต้องเดินทางระยะไกล กว่าจะเจอบ้านที่มีอัธยาศัยในการทำทาน ก็ต้องเดินกันกว่า ๘ กิโลเมตร ฝ่าความหนาวไปบิณฑบาตเพียง ๓ วันครั้ง บางครั้งถึง ๗ วัน แต่ท่านก็อดทน :054:

   สามปีในแดนพุทธภูมิ ท่านได้แวะนมัสการสังเวชนียสถาน จนพบกับอาจารย์วงศ์ ได้พูดคุยกันในเรื่องธรรมะและวิชาอาคม ในที่สุดท่านก็บอกว่า ท่านอยู่ในอัฟกานิสถาน (ตอนยังไม่มีสงครามกลางเมือง) อยู่กับพวกศาสนิกชนที่นั่น ให้ตามไปแลกเปลี่ยนความรู้กันที่นั่น ท่านจึงเดินทางผ่านช่องแคบไคเบอร์ เข้าสู่อัฟกานิสถาน จนพบพระอาจารย์วงศ์ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กันพอสมควร จึงเดินทางผ่านช่องแคบไคเบอร์กลับอินเดีย และเดินทางต่อไปที่ประเทศจีน ตามเส้นทางสำคัญจากอินเดียด้วย ท่านได้รู้จากพุทธศาสนิกชนชาวจีนท่านหนึ่งที่มีรกรากเดิมอยู่ปักกิ่ง เขาบอกกับท่านว่า

“ที่ซิมซัวเป็นภูเขาสูง เป็นที่อยู่ของอาจารย์ตัน ฮกเหลียง พระอาจารย์รูปนี้เชี่ยวชาญในการเดินลมปราณรักษาโรค เพื่อกำหนดจิตใจ การเข้าฌานชั้นสูง หากต้องการศึกษาต้องไปที่นั่น”

เหมือนถูกท้าทาย หลวงปู่สุภาจึงได้ธุดงค์ข้ามจีน ไปจนถึงปักกิ่ง ได้ค้นหาซิมซัวจนพบ และขึ้นไปหาอาจารย์ตัน ฮกเหลียง เพื่อขอเรียนวิชาลมปราณ ท่านอาจารย์ตัน ฮกเหลียง ได้เมตตาสอนให้ทั้งที่สังขารของท่านไม่สมบูรณ์นัก พอจบหลักสูตรท่านอาจารย์ตัน ฮกเหลียงก็ถึงแก่กรรม รวมเวลาการเรียนได้ ๓ เดือนเต็ม จากปักกิ่ง ท่านได้เดินทางรอนแรมไปจนถึงยุโรป ได้ไปอยู่ที่มหานครปารีสระยะหนึ่ง และเดินทางข้างไปฝั่งยุโรปตะวันออกหลายประเทศ เป็นการหาประสบการณ์ในโลกใบใหม่ที่สมณะอย่างท่านต้องการจะเรียนรู้ ท่านย้ำว่า
“ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ธุดงควัตรของท่านไม่เคยบกพร่อง บิณฑบาตทานสัปปายะจนได้ ไม่เคยละเว้นแม้แต่ครั้งเดียว เพราะถือว่านั่นคือกฎระเบียบและหัวใจของพระธุดงค์” :054:

จากยุโรปตะวันออก ท่านกลับทางเส้นทางเดิม ผ่านจีน ผ่านอินเดีย ผ่านพม่า เข้าไทยทางภาคเหนือ แล้วตัดเข้าสู่อีสาน โดยข้ามจากเขตประเทศลาวเข้าสู่ดินแดนไทยทางด้าน อ.เดชอุดม จ. อุบลราชธานี ต่อมา ท่านได้ยินว่า ในประเทศเวียดนามมีผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรของเอเซีย เป็นหมอยาที่มีชื่อเสียงมาก หลวงปู่สุภาจึงธุดงค์เข้าไปเวียดนาม ไปเล่าเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจนสำเร็จ

พบพระอาจารย์ชื่อดังยุคอินโดจีน

หลวงปู่สุภาท่านเป็นผู้ชอบเล่าเรียนศึกษา ได้ยินว่าที่ใดมีพระอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมและวัตรปฏิบัติดี ท่านก็มักจะไปขอเล่าเรียนวิชาการ รายนามพระอาจารย์เท่าที่หลวงปู่สุภาจำได้ก็มี
หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา
หลวงพ่อทบ วัดชนแดน
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และอีกหลายรูป

   หลวงปู่สุภาได้วิชาของแต่ละสำนักมาเพิ่มเติมจนมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก เป็นศิษย์ที่มีครูบาอาจารย์และมีวิชาอาคมสาขาต่าง ๆ เป็นอันมาก แม้แต่เคยดั้นด้นไปขอเรียนวิชาปรอทสำเร็จจาก หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค แต่มีเหตุให้ไม่ได้เรียน โดยหลวงพ่อปานได้ออกจากที่นัดหมาย และเขียนบอกไว้ว่า อย่าตามไป เพราะกันดารและวาสนาที่เรียนนั้นไม่มี แม้แต่หลวงพ่อโอภาสี หลวงปู่สุภาก็เคยพบปะสนทนาธรรมและแลกเปลี่ยนวิชาความรู้มาแล้วอย่างโชกโชน

   ไม่ว่าจะธุดงค์ไปที่ใดในประเทศไทย หลวงปู่จะสร้างความเจริญไว้เสมอ เช่นสร้างวัด สร้างศาลาการเปรียญ สร้างสำนักสงฆ์ สร้างเสนาสนะต่าง ๆ ในถิ่นทุรกันดาร ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสาธุชน หลายครั้งหลายหนที่มีผู้คนศรัทธาเหนี่ยวรั้งให้ท่านหยุดธุดงค์มาปักหลักเป็นเจ้าอาวาสวัด ให้พวกเขา เป็นที่พึ่งทางใจ แต่หลวงปู่เปรียบเสมือนโคถึกที่เคยเที่ยวอยู่ในเถื่อนถ้ำเขาลำเนาไพร ย่อมไม่ยินดีในการที่จะถูกกักขังไว้ในล้อมคอกอันคับแคบและอึดอัด ท่านแบกกลดธุดงค์จากมา ท่ามกลางน้ำตาอาลัย ชีวิตของท่านคุ้นเคยกับเปลวแดด การจำวัดกลางดิน ฉันกลางทราย แสวงหาความวิเวกในป่า เจริญภาวนาหลีกเร้นจากผู้คน การที่จะต้องมานั่งจำเจ มาคลุกคลีกับผู้คน ย่อมไม่ถูกกับอัธยาศัยของท่าน จึงไม่มีผู้ใดสามารถทัดทานให้ท่านได้หยุดการออกธุดงค์แล้วแขวนกลด ท่านเคยบอกว่า หากว่าสังขารของท่านยังอำนวยให้การเดินธุดงค์แล้ว ท่านจะไม่หยุดธุดงค์เป็นเด็ดขาด

    หลวงปู่สุภาจากบ้านเกิดไปตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ และเป็นพุทธบุตรที่เดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพรมาตลอด เมื่อมีโอกาสจึงระลึกถึงบ้านเกิดที่ อ.วาริชภูมิ โดยปรารภว่า บัดนี้ญาติของเราทั้งฝ่ายบิดาและมารดาไม่เคยได้พบเห็นเราในสภาพของพระภิกษุ เพราะตั้งแต่บวชแล้วก็ออกธุดงค์มาโดยตลอด หากไม่กลับไปโปรดญาติโยมและเคารพอัฐิของโยมบิดามารดาแล้ว ก็จะผิดวิสัยบุตรอันมีกตัญญูกตเวที ท่านจึงยุติการธุดงค์ลงชั่วคราว เพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดที่ อ. วาริชภูมิ เพื่อโปรดญาติโยมของท่าน

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-supa-hist.htm

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version