หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคอีสาน

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

(1/2) > >>

ทรงกลด:
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ในยุคปัจจุปัน

โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๒
รศ.ดร.ปฐม - ภัทรา นิคมานนท์ เรียบเรียง

e ๑ f

บรรดาศิษย์สายกรรมฐานส่วนใหญ่มักจะคุ้นชื่อและได้ยินกิตติศัพท์ของ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นอย่างดี ท่านมีปฏิปทาที่แปลก น้ำใจเด็ดเดี่ยว โผงผาง ตรงไปตรงมา มีแง่มุมต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์มักจะกล่าวถึงเสมอๆ และเล่าถ่ายทอดต่อกันมา ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นที่น่าสนใจทั้งผู้เล่าและผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง

จัดได้ว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม  เป็นพระป่าที่ดังมากองค์หนึ่ง ในบรรดาศิษย์รุ่นแรกๆ ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่ตื้อ เป็นศิษย์องค์หนึ่งที่ออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่มั่น ไปหลายปี ในแถบป่าเข้าทั้งทางภาคอีสานและภาคเหนือ

ท่านเป็นศิษย์องค์หนึ่งที่หลวงปู่มั่นไว้วางใจ และมักพูดกับสานุศิษย์ทั้งหลายว่า “ใครอย่าไปดูถูกท่านตื้อนะ ท่านตื้อเป็นพระเถระ”

บรรดาศิษย์รุ่นหลังจะรู้จักหลวงปู่ตื้อดี เพราะท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

หลวงปู่ตื้อ กับ หลวงปู่แหวน มักจะเดินธุดงค์ไปด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่อุปนิสัยของหลวงปู่ทั้งสององค์นี้ผิดกันไกล แต่ท่านก็ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี

หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่แหวน และหลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านสนิทสนมกันมากที่สุด นี่ว่าตามคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ ท่านว่าไว้อย่างนั้น

จุดเด่นที่ทำให้หลวงปู่ตื้อ เป็นที่กล่าวขวัญกันมากคืออุปนิสัยขวานผ่าซากในวาจา ท่านมีนิสัยโผงผางไม่กลัวใคร มีเทศนาโวหารที่ไม่เคยไว้หน้าใครไม่ว่าคนมั่งมีหรือยาจกท่านใช้คำพูดเหมือนกันหมด พูดตรงๆ ไม่ต้องเสกสรรปั้นแต่ง

ท่านบอกว่า ท่านเทศน์ตามความจริง ไม่ได้เทศน์เพื่อเอาสตางค์หรือเทศน์เพื่อเอาใจใคร ญาติโยมบางคนบอกว่า หลวงปู่ตื้อ เทศน์หยาบคาย รับไม่ได้ก็มี

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ กำลังแสดงธรรมเทศนาอยู่ ท่านเทศน์ผ่านเครื่องขยายเสียง มีญาติโยมบางกลุ่มคุยกันจ๊อกแจ๊ก แข่งกับการเทศน์ของท่าน ในขณะที่ท่านหลับตาเทศนาอยู่ ท่านได้หยุดเทศน์ฉับพลัน แล้วพูดผ่านไมโครโฟนเสียงดังว่า

“เอ้า ! หลวงตาตื้อเทศน์ให้ฟัง พวกสูบ่ฟัง เอ้า ! ฟังตดซะ”

แล้วก็มีเสียงประหลาดดังผ่านลำโพงออกมาสองสามชุด ทุกคนเงียบกริบ โยมคนหนึ่งตั้งสติได้ก่อนเพื่อน จึงพูดเสียงดังว่า “ขอให้หลวงตามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์”
แล้วโยมคนอื่นๆ ก็ยกมือ และกล่าวพร้อมกับว่า “สาธุ !”

ในการเทศน์อีกครั้งหนึ่ง ได้มีกลุ่มพระภิกษุหนุ่ม เป็นมหาเปรียญและได้รับการศึกษาที่ทันสมัย ตามมาฟังเทศน์ด้วยในระหว่างที่หลวงปู่ตื้อขึ้นเทศน์ พระภิกษุหนุ่มเหล่านั้นซุบซิบกันพอได้ยินในกลุ่ม ไม่สามารถได้ยินไปถึงหลวงปู่ได้อย่างแน่นอน

บรรดาพระหนุ่มซุบซิบกันว่า หลวงปู่ตื้อไม่พัฒนา เทศน์โบราณ มีแต่ของเก่าๆ ไม่ทันยุคทันสมัยเลย

หลวงปู่ ท่านหยุดเทศน์ เดินตรงไปยังพระรูปนั้น ท่ามกลางความงุนงงของบรรดาญาติโยม ท่านนิมนต์พระภิกษุหนุ่มรูปนั้นขึ้นเทศน์ แล้วท่านก็พูดเสียงดังชัดเจนว่า “เอ้า ! หลวงตาจะคอยฟังคุณเหลน คุณมหา ขอให้เทศน์เอาแต่ของใหม่ๆ นะ...”

พระมหาหนุ่มรูปนั้นก็เดินขึ้นธรรมาสน์ด้วยความมั่นใจ คงคิดที่จะเทศนาธรรมแบบใหม่ตามยุคสมัย ตามแบบพระผู้มีปริญญามหาเปรียญ
เมื่อพระมหาหนุ่มขึ้นต้นว่า “นะโม...” เท่านั้น หลวงปู่ตื้อ ท่านก็บอกให้หยุดเทศน์

“หยุด หยุด คุณเหลน หยุด ไม่เอา - ไม่เอา นะโม มันของเก่า มีมากว่าสองพันปีแล้วคุณเหลน...”
ญาติโยมทั้งศาลาหัวเราะกันฮาครืน ! :004:

หลวงปู่ตื้อ ท่านคุ้นเคยกับ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺธโร) แห่งวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เวลาเข้ากรุงเทพฯ หลวงปู่จึงมาพักที่วัดแห่งนี้เสมอ

ท่านสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าวถึงหลวงปู่ตื้อ ว่า “หลวงปู่ตื้อนี้ ท่านไม่กลัวใคร ไม่ว่าสมเด็จฯ หรือแม้แต่ท่านอาจารย์มั่น ท่านก็ไม่กลัว ท่านเป็นพระที่จัดว่าดื้อทีเดียว...”

เรื่องที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม  ชอบทำอะไรแปลกๆ ผิดไปจากสมณะรูปอื่นนี้ หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

“พระอรหันต์นั้น เปลี่ยนวาสนาเดิมไม่ได้ นอกจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงจะเปลี่ยนวาสนาเดิมได้ แม้แต่พระสารีบุตร ท่านก็ยังเดินเหินไม่เรียบร้อย กระโดกกระเดก” (เพราะในอดีตชาติพระสารีบุตรเคยเป็นลิงป่ามาก่อน บุคลิกลักษณะเดิม หรือที่พระท่านเรียกว่า วาสนาเดิมจึงยังติดตัวอยู่ ละได้ไม่หมด__ผู้เขียน)

หลวงปู่หลุย ได้เล่าต่อไปว่า : -

“เมื่อครั้งพุทธกาล มีพระอรหันต์รูปหนึ่งไปเรียกผู้อื่นว่า บุรุษถ่อย ผู้ถูกเรียกก็พากันกราบทูลพระพุทธองค์ พระองค์ตรัสว่า มันเป็นนิสัยเดิม เปลี่ยนไม่ได้ แต่จิตของพระรูปนั้นท่านไม่มีเจตนาที่จะดูถูกใครว่าเป็นคนเลว ทว่ามันติดปาก เลิกไม่ได้”

ผู้เขียนเคยกราบเรียนถาม หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ในปัญหาเดียวกันนี้ คำตอบโดยสรุปท่านว่า “พระอรหันต์ท่านไม่มีมายา ยังมีเหลือแต่กริยา ซึ่งไม่ต้องปรุงแต่ง แสดงออกไปตรงๆ ตามวาสนาเดิมของท่าน ไม่สามารถแก้ให้หายได้ นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น...”

หลวงปู่เพ็งท่านยังยกตัวอย่างหลวงปู่บุดดา ถาวโรแห่งวัดกลางชูศรีเจริญสุข จังหวัดสิงห์บุรีว่า “...มีอีหนูพยาบาลคอยเช็ดเนื้อเช็ดตัว เช็ดขี้ เช็ดเยี่ยวให้ท่าน จะหาว่าท่านอาบัติไม่ได้หรอก เพราะจิตของท่านพ้นสมมุติไปแล้ว เรื่องเพศชาย-หญิงไม่สามารถทำให้ท่านเกิดกามกิเลสได้ ไม่เหมือนกับจิตปุถุชนทั่วไป...”

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องน่าคิดสำหรับผู้สนใจใฝ่ธรรม เรื่องศีล เรื่องวินัย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดก็จริง แต่เมื่อดวงจิตหลุดพ้นจากสมมุติแล้ว เรื่องกรอบของศีลของวินัยก็มิใช่เรื่องจำเป็นสำหรับท่านแล้ว

แต่...ถ้าอยู่ในสังคมก็เป็นจุดที่ทำให้ผู้ที่ไม่รู้ยกขึ้นมาเป็นประเด็นตำหนิเพ่งโทษได้ ทำให้ผู้ไม่รู้บาปได้เหมือนกัน
จึงต้องระวัง ! :069:

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-01.htm

ทรงกลด:
e ๒ f
ชาติกำเนิด


บ้านโยมพ่อโยมแม่ของหลวงปู่

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านพักจำพรรษาประจำที่และอยู่นานที่สุดที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ ต.สันมหาพน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่บนเส้นทางเชียงใหม่-เชียงดาว อยู่ตรงมุมทางแยกขวาเข้าเขื่อนแม่งัด ทางไปวัดอรัญญวิเวก ของหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป นั่นเอง

ครั้งสุดท้ายท่านกลับไปจำพรรษาที่บ้านเกิด ที่วัดป่าอรัญญวิเวก บ้านข่า ต.บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม และมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ เวลา ๑๙.๐๕ ณ  สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม นามเดิมว่า ตื้อ นามสกุล ปาลิปัตต์ เกิดในครอบครัวชาวนา เมื่อวันจันทร์ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๑ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๕๐ ณ บ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

บิดาของท่านชื่อ นายปา มารดาชื่อ นางปัตต์

หลวงปู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน เป็นชาย ๕ หญิง ๒ คนโตเป็นหญิงชื่อ นางคำมี คนที่สองเป็นชาย ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก คนที่สามชื่อ นายทอง คนที่สี่ชื่อ นายบัว ส่วนหลวงปู่เป็นบุตรคนที่ห้า คนที่หกชื่อนายตั้ว และคนสุดท้ายเป็นหญิงชื่อ นางอั้ว ทีสุกะ พี่น้องทุกคนรวมทั้งหลวงปู่มรณภาพหมดแล้ว เป็นไปตามวัยและตามธรรมดาของสังขาร ที่ยังเหลืออยู่ก็มีแต่ความดี และความชั่ว ยังให้คนระลึกถึงพูดถึงไปอีกนาน

e ๓ f
ครอบครัวที่ใกล้ชิดกับวัด

ในบรรดาเครือญาติของหลวงปู่ตื้อ นับเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกับวัด ใฝ่ใจต่อการศึกษาในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาผู้ชายล้วนแต่ได้บวชเป็นพระภิกษุ และถ้าเป็นหญิงก็สละบ้านเรือน มาบวชชีจนตลอดชีวิตก็มีหลายคน

หลวงปู่ จึงได้รับการปลูกฝังให้สนใจการบวชเรียน สนใจศาสนาโดยสายเลือดก็ว่าได้

ท่านเป็นศิษย์วัด รับใช้พระเณรตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเคยบวชเณรมาครั้งหนึ่ง ท่านจึงมีความคุ้นเคยกับวัด คุ้นเคยกับพระกับเจ้าเป็นอย่างดี และปรารถนาที่จะได้บวชเป็นพระภิกษุเมื่อถึงเวลาอันควร ท่านคิดเรื่องการบวชอยู่ตลอดเวลา

e ๔ f
ศุภนิมิตก่อนบวช

ก่อนที่หลวงปู่จะได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ในคืนหนึ่ง ท่านฝันว่าได้มีชีปะขาว (ตาผ้าขาว) ๒ คนเข้ามาหาท่าน คนหนึ่งแบกครกหิน อีกคนถือสากหิน เอามาวางไว้ตรงหน้าท่าน

ตาผ้าขาวคนแรกพูดว่า “ไอ้หนู แกยกสากนี่ออกจากครกได้ไหม”

หลวงปู่ ตอบโดยไม่ต้องคิด ว่า “ขนาดเสาเรือนผมยังแบกคนเดียวได้ ประสาอะไรกับสากเพียงแค่นี้”

แล้วหลวงปู่ก็ลงมือยกทันที ยกสองครั้งสากก็ไม่เขยื้อน เมื่อพยายามครั้งที่สาม จึงยกสากหินนั้นขึ้นได้
หลวงปู่ มองเห็นมีข้าวเปลือกอยู่เต็มครก ท่านจึงลงมือตำจนข้าวเปลือกนั้นกลายเป็นข้าวสารไปหมด แล้วตาผ้าขาวทั้งสองก็หายไป
ทันใดนั้น ปรากฏว่าท่านเห็นภิกษุ ๒ รูป มีผิวพรรณผ่องใส กิริยาอาการน่าเคารพเลื่อมใส หลวงปู่มั่นใจว่าจะต้องเป็นพระผู้วิเศษจึงตรงเข้าไปกราบ

พระภิกษุองค์หนึ่งพูดกับหลวงปู่ว่า “หนูน้อย เจ้ามีกำลังแข็งแรงมาก ”

พูดเพียงแค่นั้น พระท่านก็หายไป แล้วหลวงปู่ก็ตื่น ท่านมั่นใจว่าเป็นฝันดี จะต้องมีเหตุการณ์ที่ดีเกิดขึ้นกับท่านอย่างแน่นอน หรือว่าท่านจะได้บวชตามที่ใจปรารถนา จะได้มีโอกาสประพฤติธรรมอย่างจริงจัง ต่อไป

e ๕ f
คุณปู่ขอร้องให้บวช

ในตอนเย็น เมื่อกลับจากท้องนา และต้อนวัวควายเข้าคอกเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อของท่านก็บอกว่า

“ไอ้หนู เมื่อตอนกลางวัน ปู่จารย์สิม ท่านมาที่บ้าน ถามหาเจ้า เห็นว่ามีธุระสำคัญจะพูดด้วย กินข้าวอิ่มแล้วให้ไปบ้านปู่ ดูซิ ว่าท่านมีเรื่องอะไร ”

(คำว่า อาจารย์ พ่อจารย์ ปู่จารย์ ทางอีสาน หมายถึง ผู้ใหญ่ที่เคยบวชพระหลายพรรษา หรือเคยเป็นเจ้าอาวาสแล้วสึกออกมาครองเรือน ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรม เป็นครู-อาจารย์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ)

เมื่อหลวงปู่ตื้อทานข้าวเสร็จแล้ว ก็รีบไปพบ ปู่จารย์สิม ทันที ปู่จารย์สิมเรียกให้หลานชายเข้าไปข้างในเรือน เมื่อเปิดประตูเข้าไปเห็นมีผ้าไตรจีวร บาตร และบริขารสำหรับบวชพระ เตรียมไว้อย่างเรียบร้อย

ปู่จารย์สิม ได้มอบขันดอกไม้ที่เตรียมไว้ให้หลานชายแล้วพูดว่า

“ปู่เห็นมีหลานคนเดียวเท่านั้นที่ควรจะบวชให้ปู่ ปู่ได้เตรียมเครื่องบวชไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ปู่อยากให้หลานบวชให้ปู่สัก ๑ พรรษา หรือ บวชได้สัก ๗ วันก็ยังดี ก็ให้บวชให้ปู่ก็เป็นพอ จะนานเท่าไรก็ได้ ไม่เป็นไร

หลวงปู่ตื้อท่านปลื้มใจมาก ตอบรับปากปู่ของท่านในทันที แต่ต้องไปขออนุญาตและบอกลาพ่อแม่ก่อน
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ของท่านทราบเรื่อง ก็รู้สึกดีใจกับลูกชาย ทั้งสองท่านอนุญาต และกล่าวคำอนุโมทนาสาธุการกับลูกชายของตน

e ๖ f
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

ต่อจากนั้น หลวงปู่ตื้อ ก็ได้เข้าไปอยู่เป็นศิษย์วัด ไปเรียนรู้ธรรมเนียมพระ และฝึกขานนาคเตรียมตัวที่จะบวช
ในบันทึกไม่ได้บอกถึงวันเวลาและสถานที่บวช ทราบแต่ว่า ท่านบวชในฝ่ายมหานิกาย บวชกับพระอุปัชฌาย์คาน ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ตามประวัติ บอกไว้ว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ ๒๑ ปี บวชครั้งแรกในฝ่ายมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ บวชอยู่นานถึง ๑๙ พรรษา จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิศาลสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูนพีสีพิศาลคุณ (ทอง โฆสิโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลวงปู่ตื้อ อยู่ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๔๖ พรรษาจวบจนท่านละสังขารเมื่ออายุ ๘๖ ปี รวมอายุพรรษาทั้งสองนิกาย ๖๕ พรรษา
หลังจากที่หลวงปู่ เข้าพิธีอุปสมบทที่อำเภอท่าอุเทนแล้ว ท่านก็กลับไปจำพรรษาที่วัดบ้านเกิด เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยขั้นต้น และท่องบ่นบทสวดมนต์ต่างๆ ตามที่พระเณรใช้สวดกันเป็นประจำ

เมื่อหลวงปู่ตื้อ บวชครบ ๗ วัน ปู่จารย์สิมของท่านได้มาที่วัด ถามพระหลานชายว่าต้องการจะสึกหรือยังไม่สึก ถ้าสึกจะได้กลับไปจัดเสื้อผ้ามาให้
หลวงปู่ตื้อ ท่านรู้สึกลังเลในตอนนั้น ใจหนึ่งก็อยากจะสึก ใจหนึ่งก็ไม่อยากสึก แต่มาคิดได้ว่า ถ้าสึกในขณะนั้น ชาวบ้านจะพากันเรียกว่า “ไอ้ทิด ๗ วัน” ทำให้อับอาย จึงบอกปู่จารย์สิมว่า

“อาตมายังไม่อยากสึก ขออยู่ไปก่อน รอให้ออกพรรษาก่อนเถิด”

หลวงปู่ตื้อ ท่านก็บวชอยู่ได้จนครบพรรษาแรก ได้หัดท่องหัดสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน จนจำได้ขึ้นใจ ออกไปสวดงานต่างๆ ในหมู่บ้านรวมกับพระอื่นๆ ได้ พอออกพรรษาแรกได้เดือนเศษ ปู่จารย์สิมก็มาถามอีกว่าอยากจะสึกแล้วยัง พระหลานชายก็ทำเฉยเสีย เพราะรู้สึกว่าใจคอรู้สึกสงบสบายดีอยู่ ท่านคิดในใจว่า ท่านบวชเรียนแค่พรรษาเดียว การเล่าเรียนพระธรรมยังไม่ได้อะไรเลย การอาราธนาศีล ๕ ศีล ๘ อาราธนาเทศน์ ก็ยังทำได้ไม่คล่อง จำได้ผิดๆ ถูกๆ เมื่อสึกออกไป ถ้าถูกไหว้วานให้นำอาราธนาต่างๆ ถ้าว่าไม่ได้คงจะอายเขาแน่

หลวงปู่ตื้อ ท่านบอกปู่จารย์สิม ว่าตอนนี้ท่านยังรู้สึกสบายดีอยู่จะขอบวชไปเรื่อยๆ ก่อน
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-01.htm

ทรงกลด:
e ๗ f
เข้าเรียนในหลักสูตรนักปราชญ์

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มีอุปนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้อยู่ในตัวท่าน ต้องการศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งกว้างขวางออกไป

การศึกษาธรรมะในทางพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเป็นสุดยอดในสมัยนั้นเรียกกันว่า “เรียนสนธิ เรียนนาม มูลกัจจายน์” คือหัดอ่านเขียนภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการเผยแพร่ และจารึกคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ผู้ที่สนใจศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งถึงแก่น จึงจำเป็นต้องรู้ภาษาบาลีอย่างแตกฉาน

“การเรียนสนธิ เรียนนาม มูลกัจจายน์” ซึ่งเป็นการเรียนที่ยากนั้น ผู้เขียนต้องมีความเฉลียวฉลาด ขยัน และอดทนอย่างแท้จริง ถ้าหากใครเรียนจบตามหลักสูตรดังกล่าวจัดว่าเป็น “นักปราชญ์” คือเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง

หลังจากออกพรรษาแรกได้เดือนเศษ อยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ หลวงปู่ได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนธรรมที่สำนักเรียน วัดโพธิชัย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
วัดโพธิชัย เป็นสำนักเรียนสนธิ เรียนนาม มูลกัจจายน์ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น มีท่านพระอาจารย์คาน เป็นเจ้าสำนักเรียน

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ออกเดินทางจากวัดบ้านเกิด เดินทางด้วยเท้าไปเป็นระยะทางกว่า ๕๐ กิโลเมตร ต้องบุกป่าฝ่าดงไปด้วยความยากลำบาก
หลวงปู่ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง ใช้เวลารวม  ๔ ปี จึงจบตามหลักสูตร จัดว่าเป็น “นักปราชญ์” ที่มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีในสมัยนั้น

เมื่อเรียนความรู้จบตามที่ต้องการแล้ว หลวงปู่ ก็กราบลาพระอาจารย์เจ้าสำนัก เดินทางกลับมาอยู่ที่สำนักเดิม คือ วัดบ้านข่า บ้านเกิดของท่านนั้นเอง

e ๘ f
ตั้งใจศึกษาต่อทางปริยัติธรรม

ดังกล่าวแล้วว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มีนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้อยู่ในสายเลือด ท่านประสงค์จะศึกษาค้นคว้าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งต่อไป
หลังจากที่ท่านกลับมาอยู่วัดบ้านข่าได้เพียง ๓ วัน เท่านั้น ท่านก็ออกเดินทางโดยมุ่งไปเรียนพระปริยัติธรรมที่บางกอก หรือกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาที่เจริญที่สุดของประเทศ

หลวงปู่ ออกเดินทางด้วยเท้า ร่วมกับพระภิกษุรุ่นราวคราวเดียวกันอีกรูปหนึ่ง ออกเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆ ค่ำที่ไหนก็หยุดจำวัดและทำสมาธิภาวนาที่นั่น เดินทางหลายวัน แล้วไปหยุดพักที่จังหวัดอุดรธานีเป็นด่านแรก


พระอุโบสถวัดโพธิสมภรณ์ในปัจจุบัน

เมื่อเดินทางถึงอุดรธานีแล้ว พระภิกษุที่ร่วมเดินทางเกิดคิดถึงบ้าน เปลี่ยนใจอยากกลับบ้านมากกว่าที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ ตามที่ตกลงกันไว้ แม้จะพูดชี้แจงอย่างไร ท่านก็ไม่ยอม ต้องการเดินทางกลับบ้านอย่างเดียว

หลวงปู่จึงต้องจำใจเดินทางกลับไปส่งเพื่อนพระที่บ้านเดิม ท่านเดินทางไปส่งถึงอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เห็นว่าพระเพื่อนสามารถเดินทางกลับวัดบ้านข่าตามลำพังได้แล้ว จึงได้แยกทางกันหลวงปู่เดินทางกลับอุดรธานี ไปพักที่ วัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง
วัดโพธิสมภรณ์ หรือแม้แต่ตัวจังหวัดอุดรธานีในสมัยนั้นยังมีสภาพเป็นป่าอยู่ ยังไม่มีบ้านเรือนมากมายเหมือนสมัยปัจจุบัน

e ๙ f
เปลี่ยนใจออกปฏิบัติธุดงค์กรรมฐาน

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ไปอาศัยพำนักที่วัดโพธิสมภรณ์ระยะหนึ่ง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำสมาธิภาวนา การปฏิบัติธุดงค์กรรมฐาน รู้สึกว่าถูกกับอุปนิสัยของท่าน ท่านจึงเลิกล้มความตั้งใจที่จะเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนมาเป็นการออกปฏิบัติกรรมฐานแทน


พระพุทธบาทบัวบก

หลวงปู่ มีความเห็นว่า การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นการเดินทางเส้นตรงต่อการบรรลุธรรมอย่างแท้จริง

หลังจากที่หลวงปู่ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติภาวนาเรียนรู้ข้อวัตรูปฏิบัติเกี่ยวกับการเที่ยวธุดงค์กรรมฐานพอสมควรแล้วท่านก็พร้อมที่จะออกธุดงค์ต่อไป
เป้าหมายแรกท่านมุ่งออกธุดงค์ไปทางฝั่งประเทศลาว เพราะเป็นที่ที่พระธุดงค์ในสมัยนั้นไปกันมาก เพราะมีความเหมาะสมในการบำเพ็ญภาวนาหลายประการ
หลวงปู่ เดินทางออกจากจังหวัดอุดรธานี มุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย แวะพักปฏิบัติภาวนา พร้อมกับโปรดญาติโยมชาวบ้านป่าไปเป็นระยะๆ ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักภาวนาที่นั่น

หลวงปู่ไปแวะพักที่พระบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี หยุดบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่นั่นหลายวัน แล้วจึงเดินทางมุ่งไปทางฝั่งประเทศ ลาว

--------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติม : พระพุทธบาทบัวบก ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ประดิษฐานในพระธาตุเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม คล้ายพระธาตุพนม พระพุทธบาทที่เห็นเป็นรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งสร้างขึ้นทับรอยพระพุทธบาทเดิม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ของเดิมมีลักษณะเป็นแอ่งลึกลงไปประมาณ ๕๐ – ๖๐ ซม. ประทับบนแผ่นหิน ยาวประมาณ ๓ เมตร กว้าง ๙๐ เซนติเมตร เดิมก่อสร้างเป็นมณฑปครอบไว้ ต่อมาจึงรื้อสร้างเป็นพระธาตุ หรือเจดีย์ขึ้นแทน _____ ปฐม นิคมานนท์

e ๑๐ f
ได้ครูผึ้งมาสอนกรรมฐาน

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปทางฝั่งลาวได้พักบำเพ็ญเพียรบริเวณนครเวียงจันทน์เป็นเวลาหลายเดือน
หลวงปู่ตื้อ เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ท่านได้ไปทำความเพียรที่เชิงภูเขาควายอยู่ ๔ เดือนเต็ม

คืนแรกที่ไปถึงภูเขาควาย ได้ไปนั่งภาวนาภายในถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่ง เมื่อเริ่มนั่งสมาธิไปได้หนึ่งชั่วโมงเศษ ก็ได้ยินเสียงดังอู้ๆ มาแต่ไกล คล้ายเสียงลมพัดอย่างแรง เมื่อลืมตาดูก็ไม่เห็นอะไร ท่านก็หลับตาทำสมาธิต่อ  ปรากฏว่ามีผึ้งเป็นหมื่นๆ แสนๆ ตัวมาบินวนเวียนเหนือศีรษะท่าน เสียงคล้ายกับเครื่องบิน อย่างไม่คาดคิด ทันใดนั้นฝูงผึ้งก็บินลงมาเกาะตามผ้าจีวรของท่านเต็มไปหมด ท่านต้องเปลื้องจีวรออก ถอดผ้าอังสะออก เหลือนุ่งผ้าสบงผืนเดียว รวบชายสบงด้านหน้า เอาลอดหว่างขาแล้วมาเหน็บไว้ที่ขอบเอวด้านหลัง คล้ายนุ่งผ้าโจงกระเบน รัดขอบขาให้ตึงเพื่อกันไม่ให้ผึ้งชอนไชเข้าไปในผ้าได้

ในบันทึกไม่ได้กล่าวว่า ท่านนั่งสมาธิต่อ หรือทำประการใด บอกแต่เพียงว่าฝูงผึ้งตอมไต่ยั้วเยี้ยไปตามเนื้อตัวของท่านเต็มไปหมด ไม่มีตัวใดต่อยเนื้อตัวท่านเลย ท่านสงบนิ่งไม่เคลื่อนไหว ใช้ความอดทนรอดูมัน ประมาณ ๒๐ นาที ฝูงผึ้งก็พากันบินจากไป จัดว่าผึ้งฝูงนี้มาเป็นครูสอนกรรมฐานฝึกความอดทนให้หลวงปู่ได้เป็นอย่างดี
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-01.htm

ทรงกลด:
e ๑๑ f
เทวดามาบอกที่ซ่อนทองคำ

หลังจากที่ฝูงผึ้งกลับไปหมดแล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ก็นั่งสมาธิต่อ
เมื่อท่านนั่งไปได้สองชั่วโมงเศษๆ ได้นิมิตเป็นศีรษะคนมีขนาดใหญ่มาก มองเห็นแต่ไกล ค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจนเห็นเต็มร่าง ซึ่งมีรูปร่างใหญ่โตมาก มาหยุดยืนดูท่านอยู่นานพอสมควรโดยไม่ได้พูดจาอะไร หลวงปู่ก็สงบนิ่งดูอยู่

บุรุษนั้นยืนจ้องท่านนานพอสมควร แล้วก็หันหลังกลับเดินออกไปในทิศทางที่โผล่มา ดูคล้ายกับเดินลึกลงไป ร่างกายส่วนล่างหายไปตามลำดับ แล้วศีรษะอันใหญ่โตก็ลับหายไปอย่างรวดเร็ว

หลวงปู่ไม่ได้มีอาการหวั่นไหวแต่อย่างใด ท่านนั่งสมาธิภาวนาอยู่ในที่เดิม นั่งอยู่ไม่นานก็ปรากฏเป็นเทวดา ๒ องค์ ใส่มงกุฎสวยงามเข้ามาหาท่าน
เทวดาองค์หนึ่งพูดขึ้นว่า “ท่านอาจารย์ ห่างจากนี้ไม่ไกลนักมีพระพุทธรูปทองคำ ๑๐ องค์ พระพุทธรูปเงิน ๑๕ องค์ฝังอยู่ ขอให้ท่านอาจารย์ไปเอาขึ้นมา เพื่อให้คนทั้งหลายได้กราบไหว้สักการบูชา เพราะตอนนี้ไม่มีใครอยู่เฝ้ารักษาแล้ว”

พูดบอกเท่านั้น แล้วเทวดาทั้งสองก็หายไป

หลวงปู่ ไม่ได้ออกค้นหาพระพุทธรูปตามที่เทวดาบอก เพราะท่านไม่มีความประสงค์ที่จะเสาะแสวงหาทรัพย์สมบัติ แต่มุ่งค้นหาสัจธรรม ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

e ๑๒ f
ภาวนาบนเส้นทางช้างศึก

แถวใกล้นครเวียงจันทน์ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ไปปักกลดภาวนาบนเส้นทางช้างศึกของเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์ในประวัติศาสตร์ของลาว
ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นเส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุวงศ์ในอดีต หลวงปู่ได้ปักกลดภาวนาอยู่บนเส้นทางนั้นหลายคืน ไม่ทราบว่าท่านมีจุดประสงค์ภายในใจอะไร ความจริงพอจะเดาได้ แต่ไม่อยากเดา

หลวงปู่เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า มีคืนหนึ่ง ท่านได้นิมิตว่ามีวิญญาณหลงทางมาหามากมายจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นทหารหนุ่มๆ ทั้งสิ้น เดินผ่านมาทางที่ท่านพักปักกลดอยู่  ที่ท่านเรียกว่าวิญญาณหลงทาง ก็คือ เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้จักกราบพระไหว้พระ บางคนก็ยืนมองพระเฉยๆ บางคนก็สนุกสนานเฮฮาไปตามเรื่อง

หลวงปู่ ได้แผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลไปให้ ปรากฏว่าไม่ได้ทำให้พวกเขาสามารถระลึกและคลายมานะทิฏฐิได้เลย วิญญาณเหล่านั้นได้แต่มาปรากฏให้เห็นเท่านั้น ก็ได้แสดงกริยาอะไรกับท่านเลย คล้ายกับเป็นวิญญาณที่มืดบอดจากคุณธรรมความดี ท่านจึงเรียกว่าเป็นวิญญาณหลงทาง ยังไม่สามารถชี้แนะในทางดีได้ ท่านก็ปล่อยให้วิญญาณเหล่านั้นผ่านไป

e ๑๓ f
เดินธุดงค์ไปทางหลวงพระบาง

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม  ได้ปักกลดภาวนาในที่ต่างๆ แถวนครเวียงจันทน์อยู่ ๔ เดือนเศษ มีโยมมาขอให้ท่านพักอยู่นานๆ พวกเขาจะสร้างกุฏิถวาย แต่ท่านไม่รับนิมนต์ บอกชาวบ้านเหล่านั้นว่า ท่านตั้งใจจะเดินธุดงค์ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ เป้าหมายอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคนถิ่นนั้นรู้จักเชียงใหม่ว่าเป็น “เมืองเหนือของไทยใหญ่”

หลวงปู่ตื้อ ตั้งใจจะไปเสาะหาและฟังคำสอนของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่พำนักอยู่ตามป่าเขาแถบจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายในขณะนั้น
หลวงปู่ตื้อ เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า การออกธุดงค์ครั้งนั้นไปกัน ๖ องค์ แต่ไม่ได้เดินทางไปด้วยกัน ต่างแยกย้ายกันไปแสวงหาที่บำเพ็ญภาวนาตามนิสัยของตน หลายๆ วันจึงจะพบปะกันบ้าง ไต่ถามเรื่องราวกันและกัน แล้วแยกกัน ต่างองค์ต่างไป
นอกจากพระไทยแล้ว บางครั้งก็พบกับพระพม่าซึ่งท่านเหล่านั้นก็ออกท่องเที่ยวธุดงค์ไปเหมือนกัน

ออกจากเวียงจันทน์ หลวงปู่ ธุดงค์ไปทางหลวงพระบาง หนทางเดินลำบากที่สุด สภาพทั่วไปเป็นป่าทึบและภูเขาสูงๆ มากมาย บางวันเดินขึ้นเขาสูงๆ แล้วเดินลงไปอีกด้านหนึ่งใช้เวลาทั้งวันก็มี พอตกเย็นค่ำมืด ท่านก็ปักกลดพักผ่อน ทำความเพียรภาวนา เมื่อได้อรุณก็ตื่นและออกเดินทางต่อไป
บางวันหลวงปู่ ไม่ได้บิณฑบาตและไม่ได้ฉันอาหารเลยเพราะไม่พบบ้านเรือน ต้องเดินทางไปข้างหน้าเรื่อยๆ ท่านบอกว่าถนนหนทางแถวนั้นยากที่สุด รถยนต์ไม่มีโอกาสเข้าไปได้เลย แม้จะเดินเท้าก็ยังยาก รถราไม่เคยมีในถิ่นนั้น

e ๑๔ f
พบชีปะขาวพาไปดูสมบัติในถ้ำ

จากบันทึกของลูกศิษย์บอกว่า ในช่วงที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เดินธุดงค์จากหลวงพระบาง ไปใกล้จะถึงเมืองแมด เมืองกาสี ท่านเดินออกจากเขาลูกหนึ่ง บริเวณเชิงเขาเป็นป่าละเมาะ มีต้นไม้เตี้ยๆ เดินทางไม่ลำบากเหมือนช่วงที่ผ่านมา
หลวงปู่ เดินไปเรื่อยๆ ไม่นานก็มองเห็นเขาอีกลูกหนึ่งข้างหน้า ไกลออกไปท่านมองเห็นชีปะขาวนั่งสมาธิอยู่บนก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง ท่านจึงเดินตรงเข้าไปหา พอหลวงปู่เดินเข้าไปใกล้จะถึง ก็มองเห็นชีปะขาวนั่งสมาธิอยู่ไกลออกไปเช่นเดิม ท่านก็เดินเข้าไปหาอีก นึกแปลกใจว่าทำไมหินก้อนนั้นจึงเคลื่อนที่ออกไปได้ ท่านเพ่งมองแล้วก็เดินเข้าไปหาต่อไป

เมื่อเข้าไปใกล้ ปรากฏว่าไม่ใช่ชีปะขาว แต่กลายเป็นก้อนหินที่มีรูปร่างเหมือนคนนั่งสมาธิอยู่ ใกล้ๆ กันนั้นมีแอ่งน้ำธรรมชาติ มีน้ำใสไหลเย็น ประกอบกับเป็นเวลาเย็นใกล้ค่ำ หลวงปู่ จึงตัดสินใจกางกลดเพื่อพักบำเพ็ญเพียร ณ ที่นั้น เพราะท่านรู้สึกเหนื่อยอ่อนมาหลายวัน
ตกกลางคืน ขณะที่ท่านนั่งสมาธิกำหนดจิตอยู่ ได้เกิดนิมิตเห็นชีปะขาวเหมือนที่พบเมื่อตอนกลางวัน เข้ามาหา แล้วบอกหลวงปู่ว่า

“ขอนิมนต์ท่านอยู่ที่นี่นานๆ ข้าน้อยจะสอนวิชาเดินป่าที่ไม่รู้จักอดอยากให้ และจะพาไปดูสมบัติต่างๆ ภายในถ้ำ ท่านอยากได้อะไรก็จะมอบให้หมด”

หลวงปู่ ได้ถามชีปะขาวว่า “เมื่อกลางวัน โยมนั่งสมาธิอยู่บนก้อนหินนั้นใช่ไหม?”
ชีปะขาวกราบเรียนว่าใช่ แต่ที่ทำหายตัวห่างออกไปเรื่อยๆ นั้นเพราะ “ต้องการให้ท่านได้มาหยุดพักผ่อนตรงนี้ พวกข้าน้อยนี้เป็นพวกกายทิพย์ มีวิมานอยู่ในสถานที่นี้”

หลวงปู่ได้กล่าวขอบใจ และอนุโมทนากับความหวังดีของชีปะขาวแล้วท่านบอกเขาว่า
“อาตมาเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า กำลังปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์ ไม่ต้องการสมบัติทั้งหลายที่ท่านจะมอบให้หรอก ขณะนี้เราต้องการรู้เพียงว่า จะเดินไปทางไหนจึงจะถึงบ้านคนได้ง่าย เพระเราไม่ได้ฉันอะไรเลยเป็นเวลา ๕ วันมาแล้ว”

ชีปะขาวตอบว่า “สิ่งที่ท่านต้องการยังอยู่ไกลมาก แต่ถ้าท่านพยายามเดินทางให้เร็ว ก็จะถึงเร็ว”
กราบเรียนดังนั้น แล้วชีปะขาวก็หายไป

e ๑๕ f
ได้ฉันอาหารวันแรกหลังออกจากหลวงพระบาง

เมื่อภาพนิมิตชีปะขาวหายไปแล้ว หลวงปู่ตื้อก็ยังอยู่ในสมาธิต่อไป พอลืมตาขึ้นท้องฟ้าก็สว่างได้อรุณวันใหม่
หลวงปู่ รีบออกเดินทางตามที่ชีปะขาวบอก เดินไปไม่ไกลก็พบหมู่บ้านชาวป่า มีประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน เมื่อท่านหาที่พักบริขารได้แล้วก็เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน มีคนมาใส่บาตรท่าน ๕-๖ คน แสดงว่าหมู่บ้านแห่งนี้เคยมีพระธุดงค์มาโปรดสั่งสอนแล้ว แม้พูดกันไม่รู้เรื่อง พวกเขาก็ยังรู้จักใส่บาตรพระ
นับเป็นวันแรกที่หลวงปู่ได้ฉันอาหาร นับตั้งแต่เดินทางออกจากหลวงพระบางเมื่อ ๕ วันที่แล้ว

พวกชาวบ้านป่าเรียกตนเองว่า “พวกข้า” พวกเขาได้แสดงอาการขอให้หลวงปู่พักอยู่ด้วยนานๆ แต่ท่านก็แสดงอาการให้รู้ว่า ท่านขอบอกขอบใจ และไม่สามารถอยู่ด้วยได้ ท่านมีกิจต้องเดินธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ ก็ออกธุดงค์ต่อไป

e ๑๖ f
ธุดงค์เข้าไปในเขตพม่า

เมื่อหลวงปู่ตื้อฉันอาหารจากการบิณฑบาตในวันนั้นแล้ว ท่านก็เดินทางต่อไป ท่านเดินไปตามภูเขาและดงไม้เข้าถึงเมืองทั้งห้าทั้งหก แล้วเข้าสู่เขตพม่า ในบริเวณเมืองเชียงตุง ในสมัยนั้น ประชาชนชาวพม่าเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก พระสงฆ์องคเจ้าก็มีมากและได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูจากประชาชนเป็นอย่างดี

หลวงปู่ออกธุดงค์ตามป่าเขา หลีกเร้นจากการเข้าพักบริเวณบ้านผู้คน นอกจากเข้าไปบิณฑบาตพอได้อาศัยเท่านั้น
หลวงปู่ ได้พบปะกับพระพม่าอยู่บ่อยๆ พระเถระผู้เฒ่าก็มี สามเณรก็มี พวกท่านเหล่านั้นกางกลดบำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่าเขาห่างไกลบ้านผู้คน

บางครั้งหลวงปู่ได้ปักกลดภาวนาด้วยกันกับพระพม่าก็มี ท่านเล่าว่าชนชาวพม่าก็สนใจในธรรมกรรมฐานมากพอสมควร พระสงฆ์และสามเณรชาวพม่าบางท่านได้ออกเดินธุดงค์กรรมฐาน ชนิดไม่กลับวัดเลย คือหายสาบสูญไปเลยก็มีมาก
หลวงปู่ บอกว่า พระพม่านี้เก่งในทางคาถาอาคมมาก บางครั้งเมื่อพบกัน พระชาวพม่ามักสอนคาถาต่างๆ ให้ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร

e ๑๗ f
เดินทางกลับประเทศไทย

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้เล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า ช่วงเดินธุดงค์ในเขตพม่านั้นเป็นการเดินทางที่ยากลำบากที่สุด รวมทั้งไม่สะดวกหลายอย่างเกี่ยวกับการถือเคร่งตามพระวินัย
เส้นการเดินทางที่สบายๆ ไม่มีเลย ถ้าวันไหนได้เดินไปตามเชิงเขาแล้วก็รู้สึกสบายบ้าง แต่มักจะเป็นระยะสั้นๆ แค่ ๒-๓ กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนมากมีแต่ขึ้นเขา เข้าป่ารก เฉลี่ยการเดินทางในวันหนึ่งๆ ได้เพียง ๗-๑๐ กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าหากสุขภาพไม่แข็งแรงและจิตใจไม่เข้มแข็งจริงๆ แล้ว ก็คงต้องอาพาธป่วยไข้ ทำให้ลำบากและทุกข์ทรมานมากขึ้น

หลวงปู่บอกว่า การภาวนาตามป่าเขานั้น จิตสงบดีมาก แม้การเดินทางจะลำบาก แต่ก็สัปปายะดี สำหรับเรื่องสัตว์ร้าย ผีสางเทวดานั้นไม่มีปัญหาอันใดเลย กลับได้อารมณ์กรรมฐานดีเสียอีก ได้ประโยชน์ในการบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างมาก

อุปสรรคสำคัญในการเดินธุดงค์ในเขตพม่าได้แก่ ความไม่สะดวกเกี่ยวกับเรื่องพระวินัยบางข้อ หลวงปู่จึงได้ธุดงค์มุ่งกลับมาเมืองไทย ท่านเข้ามาทางจังหวัดน่าน ลงไปเขตเมืองแพร่ แล้วเดินธุดงค์ไปบริเวณจังหวัดเลยตอนเหนือ ระยะการเดินทางนับร้อยๆ กิโลเมตร พบที่ใดเหมาะสมก็ปักกลดภาวนาที่นั่น บำเพ็ญเพียรอย่างไม่มีการลดละเลย เป็นช่วงที่บำเพ็ญเพียรได้ดีมาก สุขภาพก็แข็งแรงไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยเลย

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-01.htm

ทรงกลด:
e ๑๘ f
พบหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ


หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม กับ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นสหธรรมิกที่รักใคร่ชอบพอกันมาก ท่านทั้งสองเคยร่วมธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ หลายต่อหลายแห่ง ในสมัยที่ยังเป็นพระหนุ่ม
พระธุดงค์หนุ่มทั้งสองรูปได้ไปพบกันครั้งแรกที่ป่าภูพาน ขณะนั้นหลวงปู่ตื้อ จาริกธุดงค์มาจากพระบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่ทั้งสององค์ได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความรู้กัน เป็นที่ชอบอัธยาศัยถูกใจกันยิ่งนัก
หลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวนในสมัยเป็นพระธุดงค์หนุ่ม ท่านมีปฏิปทาที่ตรงกัน แม้บุคลิกภายนอกจะแตกต่างกันอย่างมาก แต่ก็เข้ากันได้ดี ทั้งสองท่านเป็นพระหนุ่มฝ่ายมหานิกาย ที่ท่องธุดงค์แต่ลำพังอย่างโดดเดี่ยวกล้าหาญโดยไม่มีครูอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานคอยกำกับชี้ทางเลย

หลวงปู่แหวน ท่านเคยเข้ากราบ ได้ถวายตัวเป็นศิษย์และได้รับคำชี้แนะจากหลวงปู่มั่นมาก่อนแล้ว ในครั้งที่หลวงปู่มั่นท่องธุดงค์อยู่แถวจังหวัดอุดรธานี ครั้งที่หลวงปู่แหวนยังเป็นสามเณรอยู่ แต่พอหลวงปู่มั่นท่านไปธุดงค์ทางภาคเหนือ หลวงปู่แหวนก็ไม่มีครูบาอาจารย์กรรมฐานคอยชี้แนะท่านอีก ต้องดั้นด้นฝึกฝนปฏิบัติอยู่ตามป่าเขาตามลำพัง ด้วยตัวของท่านเอง

ทางด้านหลวงปู่ตื้อ ก็ใฝ่ใจปรารถนาอยากจะพบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ให้ได้เหมือนกัน เพราะได้ยินกิตติศัพท์เลื่องลือเกี่ยวกับปฏิปทา จริยาวัตร ของพระอาจารย์มั่นมามาก แต่ก็ยังไม่ได้พบท่านสมใจหวังสักที ทั้งหลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน ต่างก็ปรารถนาที่จะได้พบและได้รับการชี้แนะจากหลวงปู่มั่น พระอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน หลวงปู่ทั้งสองตกลงกันว่า หากวาสนายังมีคงจะได้พบกับพระอาจารย์ใหญ่สมใจหวัง “เราอย่าเร่งรัดตัวเองและกาลเวลาเลย ถ้าไม่ตายเสียก่อน จะต้องได้สดับธรรมจากพระอาจารย์มั่นเป็นแม่นมั่น ในระหว่างนี้เราควรจะจาริกธุดงค์ไปตามมรรคาของเราก่อน”

หลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน เริ่มต้นเดินธุดงค์เข้าไปทางฝั่งลาว ทางด้านอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย พอข้ามแม่น้ำโขงไปแล้วก็พบแต่ป่าทึบ ต้องเดินมุดป่าไปเรื่อยๆ เป้าหมายอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง
ในการเดินทางเท้านั้น ตลอดทางหลวงปู่ทั้งสองได้พบสัตว์ป่าจำนวนมาก อาศัยเดินมุดป่าไปตามรอยช้างไปเรื่อยๆ เพราะสะดวกสบายกว่าบุกเข้าไปในป่าที่รกชัฏ

e ๑๙ f
หาเรือข้ามแม่น้ำโขง

ตอนที่หลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่แหวนพบกัน และเริ่มออกธุดงค์ด้วยกันใหม่ๆ ทั้งสององค์ได้มุ่งหน้าข้ามแม่น้ำโขงไปทางสุวรรณเขต ในประเทศลาว
ตอนจะข้ามแม่น้ำโขง หลวงปู่ตื้อได้แสดงอะไรบางอย่างให้หลวงปู่แหวนดู
เรื่องมีอยู่ว่าทั้งสององค์หาเรือข้ามฟากไม่ได้ แม่น้ำโขงก็ไหลเชี่ยวจัด เพราะเป็นคุ้งน้ำไหลผ่านช่องเขาค่อนข้างแคบ หมู่บ้านใกล้สุดก็อยู่ห่างออกไปไม่น้อยกว่าหนึ่งกิโลเมตร มองไม่เห็นเรือนแพอยู่แถวนั้นเลย

หลวงปู่ตื้อบอกว่า “ท่านแหวนไม่ต้องวิตก เดี๋ยวก็มีเรือมารับเราข้ามฟากไป” แล้วท่านก็ยืนนิ่งหลับตา บริกรรมคาถา เพียงอึดใจใหญ่ๆ ก็ลืมตาขึ้น พูดยิ้มๆ ว่า “เดี๋ยวเรือจะมารับ”
อีกสักพักก็มีเรือหาปลาพายผ่านมา พอเห็นพระหนุ่มทั้งสองรูปยืนอยู่ที่ท่าน้ำ ก็พายเรือเข้ามารับพาข้ามฟาก
ชายคนนั้นบอกว่า ขณะที่เขาหาปลาอยู่ กลางแม่น้ำรู้สึกสังหรณ์ใจว่ามีพระกำลังรอเรือข้ามฟาก จึงได้พายเรือมาดู ก็พบพระคุณเจ้าทั้งสองจริง นับว่าน่าอัศจรรย์มาก

หลวงปู่ตื้อ พูดยิ้มๆ ว่า “โยมได้บุญกองใหญ่แล้วคราวนี้ ที่เอาเรือมารับเราข้ามฟาก ขอให้หมั่นทำความดีไว้ ถ้าจะเลิกจับปลาฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลยได้ก็จะดีมาก”
คนหาปลาถามว่า “ถ้าไม่จับปลา แล้วจะให้ข้าน้อยทำมาหากินอะไร?”

หลวงปู่ตื้อ บอกว่า ทำไร่ทำนาหากินโดยสุจริตก็ดีแล้ว ต่อไปชีวิตครอบครัวจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ดีกินดี อาตมาขอให้พร”
คนหาปลามีความศรัทธาพระธุดงค์ทั้งสององค์เป็นอย่างมาก ต่อมาภายหลังทราบว่าเขาได้เลิกหาปลา แล้วหันมาทำนาทำไร่ เลิกการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ชีวิตครอบครัวเขามีความเจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขายขึ้นจนมั่งมีเงินทอง สามารถสร้างวัดได้ ๒-๓ แห่ง

ทั้งนี้ คงเป็นด้วยอานิสงส์ผลบุญที่เขาเอาเรือมารับพระภิกษุผู้ครองศีลบริสุทธิ์ข้ามแม่น้ำ ตนเองเชื่อมั่นในพรที่พระท่านให้ และเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตโดยแท้จริง

e ๒๐ f
ชาวป่าถวายอาหารยามวิกาล

หลวงปู่ตื้อ กับ หลวงปู่แหวน ซึ่งเป็นพระหนุ่ม ร่วมเดินทางไปตลอดทั้งกลางวัน พอพลบค่ำก็เลือกอาศัยพักใกล้หมู่บ้านคน พอได้อาศัยโคจรบิณฑบาตในตอนเช้า
หลวงปู่ตื้อ ได้เล่าถึงชาวป่าเผ่าหนึ่ง ที่ท่านทั้งสองได้พบระหว่างทางในตอนใกล้พระอาทิตย์ตกดินในวันหนึ่ง ชาวป่าเหล่านั้นได้พากันเอากระติ๊บข้าวเหนียวมาถวาย เดินแถวเข้ามานับสิบ แสดงความประสงค์จะถวายอาหารด้วยความศรัทธา
ชาวป่าเหล่านั้นไม่ทราบว่าพระภิกษุรับอาหารยามวิกาล คือหลังเที่ยงวันไปแล้วไม่ได้ แต่พวกเขามีศรัทธา ร้องบอกท่านทั้งสองว่า “งอจ้าวเหนียว งอจ้าวเหนียว”

แม้ไม่รู้ภาษากันก็พอเดาความประสงค์นั้นได้ หลวงปู่ทั้งสองบอกด้วยอาการปฏิเสธว่า อาหารไม่ขอรับ ขอรับเพียงน้ำร้อนก็พอ ท่านพยายามสื่อความหมายด้วยท่าทางจนรู้เรื่องกันได้
พอรุ่งเช้า หลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน ได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ต้องทำการบิณฑบาตด้วยวิธีโบราณ คือ ไปหยุดยืนอยู่หน้าบ้าน ทำเป็นกระแอมไอเพื่อส่งเสียงให้เขาออกมาดู พวกเขาไม่เข้าใจ ก็ทำนิ้วชี้ลงที่บาตรจึงพอได้ข้าวมาฉัน

พวกคนป่าเผ่านั้นคงไม่เคยรู้จักพระมาก่อน จึงไม่รู้ธรรมเนียมพระ และไม่รู้วิธีอุปถัมภ์พระ

e ๒๑ f
สามเณรเชือดไก่แล้วย่างมาถวาย

ทั้งหลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวนได้เดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีวัดประจำหมู่บ้าน แต่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ มีเพียงสามเณรอยู่รูปเดียว
สามเณรดีใจมากที่เห็นพระอาคันตุกะสองรูปมาแวะเยี่ยม ได้จัดหาที่พักนอน และหาน้ำร้อนมาถวาย เสร็จแล้วสามเณรก็หลบออกไป

สักพักหลวงปู่ทั้งสองก็ได้ยินเสียงไก่ร้องกระโต๊กกระต๊ากแล้วก็เงียบเสียงลง สักครู่ใหญ่ๆ ก็มีกลิ่นไก่ย่างโชยมาตามลม หลังจากนั้นไก่ย่างร้อนๆ ก็ถูกนำมาวางตรงหน้าหลวงปู่ทั้งสอง
สามเณรเข้าประเคนถาดอาหารด้วยความนอบน้อม “นิมนต์ท่านครูบาฉันไก่ก่อน ข้าวเหนียวก็กำลังร้อนๆ นิมนต์ครับ”

หลวงปู่ทั้งสองรับประเคนอาหารจากเณร ให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม แล้วท่านจะฝืนพระวินัยฉันไก่ย่างร้อนๆ นั้นได้อย่างไร? เพราะเป็นอุทิศมังสะ เป็นการจงใจฆ่าสัตว์เพื่อทำอาหารถวายท่านโดยตรง ถึงแม้ท่านทั้งสองจะไม่เห็น แต่ท่านก็รู้และก็ได้ยิน ท่านจึงละเว้นการฉันไก่ย่าง ฉันแต่ข้าวเหนียวเปล่าๆ เท่านั้น

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-02.htm

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version